โพธิสัตตบูรณา:เทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 46)
46. ความเป็นมาของทุนนิยมสามานย์ในประเทศไทย กับภารกิจทางประวัติศาสตร์ของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ต่อ)
ปริศนาทางปัญญาประการหนึ่งใน “สงครามครั้งสุดท้าย” ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็คือ เพราะเหตุใด ปัญญาชนระดับหัวกะทิ และมีภาพลักษณ์ว่าก้าวหน้าและอยู่ฝ่ายประชาชนมาโดยตลอดจำนวนหนึ่ง จึงมีท่าทีที่ “เย็นชา” หรือแม้กระทั่งในบางครั้งถึงกับ “ไม่เป็นมิตร” ต่อการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่ขบวนการนี้ก็เป็นขบวนการภาคประชาชนประเภทหนึ่งเช่นกัน
วาทกรรมที่ปัญญาชนกลุ่มนี้ใช้ในการ “ อธิบาย” สังคมไทยปัจจุบัน โดยมี นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นตัวแทนหลัก สามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้
...เนื่องจากในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมานี้ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในภาคชนบท ทำให้การผลิตในภาคเกษตรลดความสำคัญลง ขณะที่การทำงานนอกภาคเกษตรของชาวชนบทได้ขยายตัวขึ้นมาก จนได้กลายมาเป็นแหล่งที่มาของรายได้หลักในการดำรงชีวิต ชาวชนบทกลุ่มใหญ่กลุ่มนี้ จึงได้กลายมาเป็น “คนชั้นกลางระดับล่าง” ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของชนบทไทย พวกเขาเริ่มมี “ความคาดหวังทางการเมืองในระดับชาติ” เหมือนกับชนชั้นกลางไทยในเขตเมือง
กล่าวคือ พวกเขาเริ่มเรียกร้องนโยบายสาธารณะที่ตอบรับผลประโยชน์ของพวกตน แม้ว่าพวกเขาจะไม่มีเครื่องมือทางการเมือง ไม่มีสื่อ ไม่มีพื้นที่ทางสังคมที่จะแสดงออก และเข้าไปกำหนดนโยบายสาธารณะใดๆ เลยก็ตาม
การปรากฏตัวของนโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2544 ได้เข้ามาถูกจังหวะพอดี เพราะนโยบายเหล่านี้ที่กระทบต่อชนบท ไม่ว่าจะเป็นนโยบายกองทุนหมู่บ้าน กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ตอบสนองต่อชนชั้นกลางระดับล่างสุดในชนบททั้งสิ้น พวกเขาจึงกลายเป็นฐานเสียงที่แน่นหนาของพรรคไทยรักไทยในเวลาต่อมา
ขณะเดียวกัน การก่อตัวของ “ระบอบทักษิณ” ได้ทำให้ อำนาจในการควบคุมการเมืองของชนชั้นกลางไทยในเขตเมือง ตั้งแต่ระดับกลางขึ้นไป ได้หมดไปโดยปริยายจนมิอาจสามารถโค่นล้มรัฐบาลได้ตามใจเหมือนแต่ก่อนอีก อันที่จริงชนชั้นกลางไทยในเขตเมืองคือ กลุ่มคนที่ตื่นตัวทางการเมืองมากกว่าคนกลุ่มอื่นใดในสังคม พวกเขาเป็นผู้ที่ได้รับผลโดยตรงจากการขยายตัวของประชาธิปไตยนับจาก 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา พวกเขาเป็นผู้ที่ได้รับข่าวสารข้อมูลจากสื่อระดับชาติที่หลากหลาย และมีการศึกษา จึงสามารถมีจิตสำนึกที่เชื่อมโยงในระดับสากล อีกทั้งมีความเข้าใจในมาตรฐานแบบตะวันตกทั้งในทางสังคม และทางการเมือง พวกเขาจึงสามารถสร้างแรงกดดันทางการเมืองได้สูง หากไม่พอใจก็สามารถรวมพลังกดดันจนรัฐบาลอยู่ไม่ได้
แต่การปรากฏตัวของระบอบทักษิณได้ไปทำลายอำนาจในการควบคุมทางการเมืองระดับชาติ โดยเฉพาะอำนาจในการตั้งและล้มรัฐบาลของชนชั้นกลางไทยในเขตเมืองที่เคยมีให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง มิหนำซ้ำระบอบรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่พวกเขาได้มีส่วนในการผลักดันอย่างแข็งขัน กลับดึงเอาอำนาจทางการเมืองที่พวกเขาเคยมีไปจากพวกเขาเสีย รัฐบาลทักษิณที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้อยู่ในความควบคุมของพวกเขาอีกแล้ว พวกเขาจึงไม่อาจเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะได้เหมือนแต่ก่อน
มิหนำซ้ำการคอร์รัปชันเชิงนโยบายอย่างมโหฬารของระบอบทักษิณ ก็ไม่สนใจไยดีกับเสียงก่นด่าของพวกชนชั้นกลางไทยในเขตเมือง เพราะมันไม่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาลอีกต่อไปแล้ว ตราบเท่าที่รัฐบาลทักษิณยังสามารถรักษาเสียงของชาวชนบทในภาคอีสาน และภาคเหนือเอาไว้ได้ ความไม่ยี่หระของรัฐบาลทักษิณ จึงเท่ากับเป็นการท้าทายอำนาจของชนชั้นกลางไทยในเขตเมืองโดยตรง
ความหงุดหงิดใจ ว้าวุ่นใจ ขัดเคืองใจของชนชั้นกลางไทยในเขตเมืองได้ผลักดันพวกเขาทำให้ พวกเขากลายมาเป็นพันธมิตรกับทุกฝ่ายที่มีผลประโยชน์เหนียวแน่นอยู่ในระบบการเมืองแบบเดิม ก่อนการก่อเกิดระบอบทักษิณ ซึ่งก็คือระบอบอำมาตยาธิปไตย เพราะฉะนั้น ชนชั้นกลางไทยในเขตเมือง จึงกลายมาเป็นพันธมิตรกับ กองทัพ หรือ ทหาร ทั้งๆ ที่ผ่านมาพวกเขาได้เคยลุกขึ้นสู้เพื่อลดอำนาจของกองทัพในการเมืองมาแล้ว
พวกเขาได้กลายมาเป็นพันธมิตรกับ ฝ่ายจารีตนิยม ทั้งๆ ที่พวกเขาได้เคยแอบซุบซิบเสียดสีมาก่อน
พวกเขาได้กลายมาเป็นพันธมิตรกับ ฝ่ายตุลาการ กับนายทุนนักธุรกิจบางกลุ่ม และแม้แต่กับ ระบบราชการ ซึ่งพวกเขาเคยเห็นว่าไร้สมรรถภาพ และได้แต่เป็นเครื่องมือของนักการเมือง
เพราะฉะนั้นในเชิงอุดมการณ์ ชนชั้นกลางไทยในเขตเมือง จึงยังไม่ต้องการให้ประชาธิปไตยขยายตัวมากไปกว่านี้ เพราะพวกเขาไม่ไว้ใจกระบวนการของประชาธิปไตยในประเทศนี้ ซึ่งพวกเขามองว่าเป็น “การเมืองเก่า” และหวาดระแวงว่า กระบวนการแบบ “การเมืองเก่า” นั้นจะบ่อนทำลายสถานะของพวกเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ “การเมืองใหม่” และ “การปฏิรูปการเมือง” จึงได้กลายมาเป็นคำขวัญ และคำปลุกใจของชนชั้นกลางไทยในเขตเมือง ซึ่งได้มารวมตัวสำแดงพลังกันในนามของ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ...(สรุปความจาก นิธิ เอียวศรีวงศ์ “การปรับระบบการเมือง” (4 ตอน) ในหนังสือพิมพ์ มติชน, 25 ส.ค., 1 ก.ย., 8 ก.ย. และ 15 ก.ย. 2551)
จาก วาทกรรมของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ข้างต้น ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็น ตัวแทนหลักแห่งชุดความคิด ของปัญญาชนหัวก้าวหน้ากลุ่มหนึ่งที่มองการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอย่าง “เย็นชา” นั้น มี ผลสรุปเชิงตรรกะ ที่น่าพิจารณาดังต่อไปนี้
(1) พวกเขาไม่เห็นว่า “ระบอบทักษิณ” เป็นหายนภัยของประเทศนี้
ถ้าจะมองว่า ระบอบทักษิณ “เลว” พวกเขาก็มองว่า ระบอบการเมืองแบบเดิมก่อนการเกิดระบอบทักษิณ มันก็ “เลว” พอๆ กัน หรือเลวคนละแบบกัน แต่ระบอบทักษิณหาได้เลวกว่าเป็นพิเศษไม่ ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงไม่ค่อยได้วิพากษ์ระบอบทักษิณอย่างรุนแรงนัก ถึงจะวิพากษ์วิจารณ์บ้าง ก็ไม่เคยเอาเป็นเอาตายกับระบอบทักษิณแต่ประการใด
(2) ในกลุ่มพวกเขาบางคน มีบางคนที่สุดโต่งถึงกับปฏิเสธไม่ยอมรับการดำรงอยู่จริงของระบอบทักษิณ อย่างเช่น ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ที่ยืนยันว่า
“วาทกรรม “ระบอบทักษิณ” เป็นเรื่องที่ปัญญาชนสร้างขึ้นในช่วง 2-3 ปีมานี้ (ก่อน 2549) ทั้งๆ ที่คำนี้ไม่เคยมีมาก่อน แต่ปัญญาชนสร้างมันขึ้นมาเพื่อให้เกิดความรู้สึกว่า ทักษิณมีเครือข่ายฝังแน่นในกองทัพ มีเครือข่ายกับตำรวจและข้าราชการระดับสูง มีเครือข่ายกับนักธุรกิจข้ามชาติและนายทุนใหญ่...การสร้างวาทกรรม “ระบอบทักษิณ” ให้คุณทักษิณดูใหญ่เกินตัว ทั้งๆ ที่คุณทักษิณเริ่มสร้างเครือข่ายอย่างจริงจังก็ในช่วง 3 ปี หลังจากที่ขึ้นมามีอำนาจเท่านั้นเอง เวลาเพียง 3 ปีไม่สามารถทำให้เกิดระบอบอะไรขึ้นมาได้ มันเป็นเวลาที่สั้นเกินไป” (ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, ประชาธิปไตยไม่ใช่ของเรา, สำนักพิมพ์ Openbooks, น. 92, พ.ศ. 2550)
(3) สำหรับพวกเขาที่ยอมรับการดำรงอยู่ของระบอบทักษิณ ส่วนใหญ่ก็มักจะยอมรับในเชิงบวก โดยให้เหตุผลว่า เพราะระบอบทักษิณได้เปิด “พื้นที่ทางการเมือง” และสนองนโยบายสาธารณะให้แก่คนจนหรือคนชั้นกลางระดับล่างในภาคชนบท อันเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ไม่เคยมีมาก่อน อย่างเช่น ยศ สันตสมบัติ ที่กล่าวว่า
“การที่ชาวชนบทหลากหลายกลุ่มนิยมชมชอบคุณทักษิณ จึงมิได้เป็นเพราะความโง่เขลา สิ้นคิด ไม่รู้จักเลือกนักการเมืองที่ดี เหมือนอย่างที่ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ เข้าใจ หากแต่เป็นเพราะนโยบายประชานิยมสอดคล้องกับความใฝ่ฝัน และความต้องการของชาวชนบทต่างหาก...การทำความเข้าใจกับประเด็นปัญหานี้อย่างลึกซึ้ง จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาระบบการเมืองของเราให้ก้าวไปข้างหน้าได้”
(ยศ สันตสมบัติ, “บทเรียนจากวิกฤตการเมือง” หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ, 15 กันยายน 2551)
(4) เพราะฉะนั้นแล้ว สำหรับพวกเขาการปกป้องระบอบทักษิณ จึงเท่ากับการปกป้องระบอบประชาธิปไตย หรือระบบเลือกตั้งที่ให้ความสำคัญกับความเสมอภาคทางการเมืองระหว่างคนชนบทกับคนชั้นกลางในเมืองโดยปริยาย อย่างเช่น ธงชัย วินิจจะกุล ที่กล่าวว่า
“ประชาชน (หมายถึง คนชั้นกลางระดับล่างในภาคชนบท:ผู้อ้าง) หลายสิบล้านที่กำลังเฝ้าดูพันธมิตรและปัญญาชนชาวกรุงอยู่ จะให้พวกเขาเข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไรกัน พวกเขาย่อมคิดว่า ประเทศชาติไม่ใช่ของเขา แต่เป็นของเทวดาชาวกรุง (หมายถึง ชนชั้นกลางในเขตเมือง:ผู้อ้าง) ที่เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจตัวเอง...พวกเขากำลังอัดอั้นตันใจจนกำลังจะระเบิดสักวันว่า พวกเขาเป็นแค่ไพร่ทาส เป็นพลเมืองชั้นต่ำกว่าพันธมิตรฯ และปัญญาชนชาวกรุงหรืออย่างไร”
(ธงชัย วินิจจะกุล, “ทางออกธรรมดาๆ ที่ตรงไปตรงมา”, หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ, 5 กันยายน 2551)
(5) จึงไม่แปลกที่พวกเขามองและกล่าวหาว่า พวกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นพวกที่ไม่ไว้วางใจประชาชน อย่างเช่น ประภาส ปิ่นตบแต่ง ที่กล่าวว่า
“พันธมิตรฯ มองเหตุแห่งปัญหาอยู่ที่ประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่อาศัยการหย่อนบัตรเลือกตั้ง เลือกผู้แทนผ่านพรรคการเมือง และที่สำคัญคือมองว่า คนชนบทเป็นไพร่ในระบบอุปถัมภ์ของนักเลือกตั้งผ่านการขายเสียง และเงินฟาดหัวผ่านประชานิยม คนพวกนี้จึงร่วมกันขายชาติ เพราะเป็นฐานค้ำยันให้กับระบอบทักษิณ/ระบอบทุนนิยมสามานย์...การมองแบบนี้ เป็นการมองที่ไม่เชื่อในความเสมอภาค ความเท่าเทียมกันของผู้คนในสังคมไทย”
(ประภาส ปิ่นตบแต่ง, “ข้องใจประชาธิปไตยของแกนนำพันธมิตรฯ”, หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ, 17 กันยายน 2551)
(6) ในกลุ่มพวกเขาบางคน มีบางคนที่สุดโต่งถึงกลับประณามว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นปรากฏการณ์ที่อุบาทว์สุดๆ ของความเปลี่ยนแปลงในบรรดาปัญญาชนฝ่ายซ้ายหลัง 6 ตุลา และฝ่ายขวาหลัง 6 ตุลา อย่างเช่น ธงชัย วินิจจะกุล ที่กล่าวว่า
“กลุ่มพันธมิตรฯ เป็นพวกนิยมศักดินาที่แบ่งชนชั้นทางสังคมอย่างฝังลึก” (บทสัมภาษณ์กับ The New York Times, 10 กันยายน 2551) และ
“ถ้าการเปลี่ยนแปลงสำคัญของปัญญาชนฝ่ายซ้าย หลัง 6 ตุลา คือ คืนดี กับสถาบันกษัตริย์ การเปลี่ยนแปลงสำคัญของฝ่ายขวาหลัง 6 ตุลาคือ การหย่าร้าง เอาใจออกห่างจากฝรั่งตะวันตก และไม่ไว้ใจฝรั่งตะวันตกรุนแรงยิ่งขึ้น...อย่างน้อยสิบกว่าปีมาแล้ว ที่ฝ่ายขวาเดิม และฝ่ายซ้ายหลัง 6 ตุลา ถือตรงกันว่า การต่อสู้กับทุนนิยมโลกาภิวัตน์ เป็นวาระทางสังคมการเมืองสำคัญที่สุด...
ความหมายทางการเมืองของเพลงหนักแผ่นดิน เราสู้ และแองเตอร์นาซิอองนาล ฯลฯ ที่เราได้ยินเพลงเหล่านี้เคียงคู่กันอย่าง อุบาทว์ บนเวทีพันธมิตรฯ ในปี 2551 จึงเป็นเครื่องบ่งบอกว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นปรากฏการณ์อุบาทว์สุดๆ ของความเปลี่ยนแปลงซ้าย-ขวา สามัคคีที่ว่านี้”
(ธงชัย วินิจจะกุล, “ทำความเข้าใจซ้าย-ขวาสามัคคี”, เว็บหนังสือพิมพ์ออนไลน์, ประชาไท, 27 กรกฎาคม 2551)
เป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่า ผลสรุปเชิงตรรกะ 6 ข้อข้างต้นนี้ ได้นำไปสู่ “ความแตกแยกทางความคิด” ครั้งใหญ่ในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันเป็น “ความเห็นต่าง” หรือ “การประเมินคุณค่า” ที่ต่างกันระหว่าง วาทกรรม ของปัญญาชนหัวก้าวหน้ากลุ่มนี้ที่มี นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นตัวแทนหลักกับ วาทกรรมแบบราชาชาตินิยม ของฝ่ายแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่มี สนธิ ลิ้มทองกุล เป็นตัวแทนหลัก
ความแตกแยกทางความคิดเช่นนี้ มีทางที่จะเยียวยาได้หรือไม่?
หากพิจารณาเฉพาะ ตัวบททางความคิด แต่เพียงอย่างเดียว โดยตัดอคติในเรื่องส่วนตัว และนิสัยใจคอของแต่ละคนออกไปแล้วหันมาพิจารณาจากทางฝ่ายของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในฐานะที่เป็น ขุมอำนาจเกิดใหม่ ที่เพิ่งผุดบังเกิดขึ้นมาในสังคมไทย และมีพลังอำนาจและศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ ผู้เขียนคิดว่า ถ้าหากฝ่ายพันธมิตรฯ สามารถนำเสนอ บททดลองเสนอแนวทางไปสู่ “การเมืองใหม่” ที่
(1) สนับสนุนให้เปิด พื้นที่ทางการเมืองที่สนองนโยบายสาธารณะ ให้แก่คนจนหรือชนชั้นกลางระดับล่างในภาคชนบท โดย ตัดขาด หรือ แยกขาด จากอิทธิพลของระบอบทักษิณโดยสิ้นเชิงได้
(2) ธำรงไว้ซึ่ง ความเสมอภาคทางการเมือง ระหว่างคนชนบทกับคนชั้นกลางในเมือง ภายใต้ ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นธรรม และโปร่งใส
(3)ขจัดระบอบทักษิณ โดยผ่าน กระบวนการทางกฎหมายที่เข้มแข็งและเที่ยงตรง
(4) เปลี่ยนแปลงสังคมโดย ประชาภิวัฒน์ โดยไม่สนับสนุนการรัฐประหารโดยกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดๆ ก็ตาม
หากฝ่ายพันธมิตรฯ นำเสนอแนวทางสู่การเมืองใหม่เช่นข้างต้นนี้ บางทีความแตกแยกทางความคิดในครั้งนี้ ก็อาจจะพอเยียวยาได้บ้าง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้เขียนเห็นว่า ความแตกแยกทางความคิดครั้งนี้ มันเป็นสิ่งที่ยากจะเยียวยาในระยะเวลาอันสั้นได้ เพราะมันเป็นความแตกแยกที่เกิดจากการปะทะกันระหว่าง โลกทัศน์ และระหว่าง มีม (Meme) ที่มี ระดับจิต อันหลากหลายที่แตกต่างกัน มิหนำซ้ำตัวปัญญาชนและผู้นำทางความคิดเองก็ยังอยู่ในระดับจิต ที่มีข้อจำกัดอยู่ในตัว จึงทำให้ไม่สามารถเสนอหรือชี้ “ทางสว่าง” ให้แก่สังคม จนสามารถปรองดอง และเยียวยาความแตกแยกทางความคิดในครั้งนี้ได้