จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (13)
"ความตายคือ การเกิดใหม่อีกไม่นาน อารยธรรมใหม่
ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากยุคปัจจุบัน จะปรากฏให้เราเห็น"
ยุค ศรีอาริยะ, 2548
13. อวสานของยุคน้ำมันกับทางตันของแนวทางบริโภคนิยม
เมื่อ 400 ล้านปีก่อน ในยุคที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า ยุคคาร์บอนนิเฟอเรียส (Carboniferous) อันเป็นยุคที่บนโลกเต็มไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศโลก ซึ่งทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกที่รุนแรง อุณหภูมิของโลกในยุคนั้นจึงสูงกว่าในยุคปัจจุบันมาก ยุคคาร์บอนนิเฟอเรียสนี้ดำรงอยู่ยาวนานกว่า 70 ล้านปี
โลกเรามี 25% เป็นแผ่นดิน ขณะที่ 75% ที่เหลือเป็นมหาสมุทร ในตอนนั้นโลกเรามีทวีปใหญ่อยู่เพียงทวีปเดียวเท่านั้น ที่นักภูมิศาสตร์เรียกว่า แพนเกีย (Pangaea) ทวีปนี้ดำรงอยู่มายาวนานก่อนกำเนิดนก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หรือแม้แต่ก่อนกำเนิดของไดโนเสาร์เสียอีก สิ่งมีชีวิตบนโลกในขณะนั้นจึงมีแต่พืช ปลา แมลง และสัตว์เลื้อยคลานชนิดเล็กๆ เท่านั้น
ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในอากาศ ได้กลายเป็นวัตถุดิบให้พืชต่างๆ ดูดซับจนมันขยายตัวอย่างรวดเร็วและอุดมสมบูรณ์ เป็นที่คาดกันว่า ทวีปแพนเกียในตอนนั้นถูกปกคลุมด้วยผืนแผ่นของพืชอย่างหนาแน่น และสูงเสียดฟ้าหลายร้อยฟุต ขณะที่บนพื้นดินของทั้งทวีปก็สุมหนาไปด้วยซากพืชเน่าที่สุมกองทับซ้อนกันเป็นชั้นๆ จนลึกหลายร้อยฟุต หรือหลายพันฟุตในบางแห่ง กระบวนการนี้ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานถึง 70 ล้านปี
จนกระทั่งเมื่อ 300 ล้านปีก่อน เกิดการชนของลูกอุกกาบาตบนโลกนี้ที่ทำให้แผ่นเปลือกโลกปริแตก ทวีปแพนเกียจึงถูกฉีกแยกออกเป็นหลายส่วน เกิดการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมของโลก ที่สำคัญกองพืชหมักหมมเป็นซากหนาจำนวนมหาศาลได้จมลงสู่ใต้ดินลึก
50 ล้านปีต่อมา ไดโนเสาร์เริ่มปรากฏทวีปหลักๆ บนโลกมีอยู่สองทวีปซึ่งนักภูมิศาสตร์เรียกว่า ทวีปเลาราเซีย (Laurasia) กับ ทวีปกอนวานาแลนด์ (Gonwanaland) โลกเข้าสู่ยุคจูราสสิก (หรือยุคเมโสโซอิก) ซึ่งดำรงอยู่อย่างยาวนานจนมาสิ้นสุดเมื่อ 65 ล้านปีก่อน และไดโนเสาร์ที่เคยครองโลกตลอดยุคเมโสโซอิกนี้ ก็ต้องสูญพันธุ์ไปเพราะโดนลูกอุกกาบาตถล่มอีกเช่นกัน หลังจากนั้นจึงปรากฏ 5 ทวีปใหญ่ที่เรารู้จักกันดี และดำรงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ ในระหว่างนั้น กองพืชซากหนาหมักหมมได้ถูกแรงกดอัดจำนวนมหาศาลอย่างยาวนาน จนกระทั่งกลายสภาพเป็นของเหลวที่ต่อมาชาวโลกรู้จักกันดีในชื่อของ "น้ำมัน"
ก่อนที่ชาวโลกจะรู้จักนำเอา "น้ำมัน" มาบริโภค ชาวโลกรู้จักบริโภค "ถ่านหิน" ก่อนตั้งแต่เมื่อ 900 ปีก่อน อันที่จริง ถ่านหินก็คือ เปลือกนอกสุดของกองพืชซากหมักหมมที่ดูดซับพลังงานจากแสงอาทิตย์มาสะสมเอาไว้ในตัวเอง ตั้งแต่เมื่อ 300 ล้านปีก่อนนั่นเอง
ก่อนหน้าที่ชาวโลกจะค้นพบถ่านหิน ชาวโลกดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการบริโภค พลังงานจากแสงอาทิตย์รายวัน (เข้าป่าไปเก็บฟืนมาให้พลังงานหุงต้ม) เป็นหลัก การหันมาบริโภคถ่านหินทำให้มนุษย์ลดการพึ่งพา แสงอาทิตย์รายวัน (current sunlight) ลงได้มาก พวกเขาจึงสามารถขยายการเพาะปลูกได้มากขึ้น ผลิตอาหารได้มากขึ้น ผลที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ ประชากรโลกซึ่งมีแค่ 500 ล้านคนในปี ค.ศ. 1000 ได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 1 พันล้านคนในปี ค.ศ. 1800
นี่เป็นจุดหักเหครั้งใหญ่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เพราะ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ชาวโลกได้เริ่มใช้ชีวิตโดยการเอา "พลังงานจากแสงอาทิตย์สะสม" มาใช้ในการสร้างระบอบเศรษฐกิจและสร้างอารยธรรมของตน เพราะฉะนั้นพวกมนุษย์ที่ "ฉลาดขึ้น" เหล่านี้ จึงเริ่มสามารถบริโภคทรัพยากรได้ มากขึ้น และ มากกว่าปริมาณพลังงานจากแสงอาทิตย์รายวันที่มอบให้ในแต่ละวัน การที่ชาวโลกเริ่มก้าวเดินบนแนวทางบริโภคนิยมเช่นนี้ได้ก็เพราะพวกมนุษย์เริ่ม "กินบุญเก่า" คือเริ่มบริโภคพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่ได้สะสมไว้ในกองพืชซากหมักหมมเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อนนั่นเอง
แนวโน้มใหม่ ที่เริ่มเกิดขึ้น หลังจากที่บรรพบุรุษของชาวโลกเริ่ม "เสพติด" ถ่านหินแล้วก็คือ การที่สามารถบริโภคเชื้อเพลิง (ถ่านหิน) ได้อย่างไม่อั้นได้นำไปสู่การขยายตัวของประชากรโลกอย่างก้าวกระโดด และ ชาวโลกทั้งหมดจะลำบากอย่างสาหัส ถ้าขาดเชื้อเพลิงให้บริโภคอีกต่อไป ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม สรุปง่ายๆ ก็คือ ถ้าถ่านหินหมดโลก ธรรมชาติที่ถูกชาวโลกทำร้ายสูบรีดจะเริ่มเอาคืน และจะนำไปสู่การจำกัด และลดจำนวนประชากรอย่างแน่นอน
บรรพบุรุษของชาวโลกได้แก้ไขวิกฤตของการขาดแคลนเชื้อเพลิงถ่านหินในครั้งนั้น ด้วยการสูบ "น้ำมัน" ซึ่งก็เป็นพลังงานจากแสงอาทิตย์สะสมตั้งแต่เมื่อ 300 ล้านปีก่อน เข้ามาใช้แทน
น้ำมัน ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1850 ที่โรมาเนีย แต่ที่เริ่มบูมจริงๆ นั้นคือปี ค.ศ. 1859 เมื่อมีการขุดพบน้ำมันที่เพนซิเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา การค้นพบปริมาณน้ำมันจำนวนมหาศาลที่สะสมอยู่ใต้พื้นผิวโลกได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นปฏิวัติในระบบเศรษฐกิจของมนุษย์ อย่างเทียบไม่ได้เลยกับการค้นพบถ่านหิน
เพราะเมื่อย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 มนุษย์ยังได้ค้นพบอีกว่า "น้ำมัน" เป็นมากกว่าเชื้อเพลิง เพราะน้ำมันสามารถถูกนำไปแปรรูปเป็นใยสังเคราะห์ (ไนลอน) เป็นเรซินสำหรับสร้างที่อยู่อาศัย เป็นพลาสติกสำหรับผลิตสินค้าต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก จึงไม่เป็นที่ต้องสงสัยเลยว่า การบริโภคของชาวโลกได้เพิ่มขึ้นอย่าง "มูมมาม" ในศตวรรษที่ 20 ประชากรโลกก็เพิ่มขึ้นเป็น 2 พันล้านคนในปี 1930
การแปรรูปน้ำมันให้กลายเป็นปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลงทำให้มนุษย์สามารถผลิตอาหารได้มากขึ้นอย่างเหลือเชื่อ พร้อมๆ กับมนุษย์ก็เลิกใช้แรงงานสัตว์ในการเพาะปลูก แต่หันมาใช้เครื่องจักร (รถแทรกเตอร์) อย่างเป็นล่ำเป็นสันแทน
กว่าที่ประชากรโลกจะมีจำนวนถึง 1 พันล้านคน ในปี 1800 นั้น ต้องใช้เวลาถึง 200,000 ปี
กว่าที่ประชากรโลกจะมีจำนวนเป็น 2 พันล้านคน ในปี 1930 นั้น ใช้เวลา 130 ปี
แต่มนุษย์ใช้เวลาเพียง 30 ปีเท่านั้น ในการเพิ่มประชากรเป็น 3 พันล้านคน ในปี 1960 และใช้เวลาเพียง 14 ปีเท่านั้น ในการเพิ่มประชากรเป็น 4 พันล้านคน ในปี 1974 และเป็น 5 พันล้านคน ในอีก 13 ปีต่อมา ในปี 1987 สุดท้ายกลายเป็น 6 พันล้านคน ในปี 1999 หรืออีก 12 ปี หลังจากนั้นเท่านั้น!
การแพร่ขยายของประชากรโลกอย่างรวดเร็วนี้จะเป็นไปไม่ได้เลย หากมนุษย์มิได้บริโภค "น้ำมัน" ซึ่งเป็น "มรดกโบราณ" ที่จักรวาฬมอบให้แก่มนุษย์อันเป็นพลังงานจากแสงอาทิตย์สะสมตั้งแต่เมื่อ 300 ล้านปีก่อน แต่ด้วย ความโลภของเหล่ามนุษย์ที่ไม่รู้จักพอ ที่ไม่รู้จักบันยะบันยังในการบริโภคน้ำมัน จึงใช้มันอย่างพร่ำเพรื่อราวกับน้ำมันเป็น "มรดกที่ไม่มีวันหมดสิ้น" ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่เลย
ขณะนี้ชาวโลกใกล้กำลังจะเผชิญกับวิกฤตการขาดแคลนน้ำมันในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้านี้ เหมือนกับที่ชาวโลกเคยเผชิญกับวิกฤตการขาดแคลนเชื้อเพลิงถ่านหินมาแล้ว
เอากันง่ายๆ ถ้าสมมติให้อัตราการเติบโตของประชากรโลก (และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ) ยังเป็นอยู่ในระดับปัจจุบัน ประชากรโลกจะถึงหลัก 1 หมื่นล้านคน ในปี 2030 และถึงหลัก 2 หมื่นล้านคน ในปี 2070 หรือแม้กระทั่งถึงหลัก 8 หมื่นล้านคน ในปี 2150!
จะมีใครสักกี่คนกันที่เชื่อว่า ตัวเลขการเติบโตเช่นข้างต้นนี้จะเป็นไปได้?
จะมีทางเป็นไปได้แค่ไหนกันที่ชาวโลกจะรักษาอัตราการขยายตัวของประชากร และเศรษฐกิจในระดับนี้ไปได้อีกหลายสิบปี หลังจากนี้ไป?
วิกฤตการขาดแคลนน้ำมัน หรือปัญหาน้ำมันหมดโลก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง อวสานของยุคน้ำมัน ที่จะมาถึงในอีก 40 ปีข้างหน้าโดยประมาณ จะกลายเป็น "ขีดจำกัดของการพัฒนา และการบริโภคแบบทุนนิยม" อย่างแน่นอน
หากโลกในยุคหลังน้ำมัน หรือในยุคที่ชาวโลกไม่อาจพึ่งพาพลังงานจากแสงอาทิตย์สะสมตั้งแต่เมื่อ 300 ล้านปีก่อนได้อีกต่อไป เป็นโลกที่ต้องหันกลับมาใช้ พลังงานจากแสงอาทิตย์รายวัน อีกครั้งหนึ่งเหมือนในช่วงก่อนมีการค้นพบถ่านหินและน้ำมัน โดยที่ โลกที่ปราศจากน้ำมันก็มีศักยภาพในการเลี้ยงดูประชากรโลกได้ประมาณ 1 พันล้านคนเท่านั้น นั่นก็หมายความว่า จำนวนประชากรอีกหลายพันล้านคนที่เหลือจะอยู่ในสภาวะ "อดอยาก" และมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเกิดสงครามแย่งชิงทรัพยากรที่สำคัญเพื่อความอยู่รอดของกลุ่มคนต่างๆ ตามที่ต่างๆ ทั่วโลกในอนาคตอันใกล้
หากเป็นเช่นนั้น ทางตันของแนวทางบริโภคนิยม และทุนนิยมย่อมมาถึงพร้อมๆ กับอวสานของยุคน้ำมันเป็นแน่ จึงเห็นได้ว่า การพัฒนาแบบยั่งยืน และแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จะต้องเป็นแนวทางหลักของยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อเตรียมรับมือกับการมาเยือนของอวสานแห่งยุคน้ำมันในอีก 40 ปีข้างหน้า จากมุมมองเช่นนี้ เราคงเห็นได้ชัดแล้วกระมังว่า แนวทางแบบทักษิโณมิกส์ หรือแนวทางที่ส่งเสริมบริโภคนิยม ไม่ว่าจะนำเสนอออกมาในรูปแบบไหนหรือโดยใคร มิใช่แนวทางที่น่าเชื่อถืออีกต่อไปแล้ว
แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายอีกเช่นกันว่า มี "ผู้นำ" น้อยคนนักที่อยู่ในอำนาจที่สามารถมองการณ์ไกลได้ขนาดนี้ และมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะ "หันเห" ทิศทางการพัฒนาแบบทุนนิยม และบริโภคนิยมไปสู่ การพัฒนาแบบยั่งยืน และแบบเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็น "ทางรอด" ของโลกในยุคหลังน้ำมันหมดโลก