วิกฤตพลังงานกับยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ (3)
49. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.)
วิชันพันธมิตรฯ กับอัจฉริยะแห่งจิต
เราได้กล่าวไปแล้วว่า ความเสี่ยงที่กรุงเทพฯ จะจมน้ำในอนาคตอันใกล้ อันเนื่องมาจากภัยพิบัติจากโลกร้อนนี้ จะมาจากระดับน้ำทะเลที่จะสูงขึ้น และน้ำทะเลจะกัดเซาะแผ่นดินในแถบบางขุนเทียน (ซึ่งปัจจุบันได้กัดเซาะแผ่นดินไปกว่า 300 ตร.กม.แล้ว) อย่างรวดเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ในอดีตไว้มาก จนบางขุนเทียนจะกลายเป็น “รูโหว่ใหญ่” ให้น้ำทะเลทะลักเข้าท่วมทุกเขตของกรุงเทพฯ ในที่สุด เรายังได้นำเสนอไปแล้วว่า การสร้างเขื่อนคอนกรีตขนาดยักษ์ปิดปากอ่าวไทย หรือปิดกั้นแถบบางขุนเทียนไปจนถึงปากน้ำ เป็นวิธีการป้องกันระดับน้ำทะเลที่ไม่คุ้มค่า เพราะนอกจากจะมีค่าก่อสร้างมหาศาลแล้ว ยังสร้างความเสียหายให้แก่ระบบนิเวศทางทะเลอย่างประเมินค่าไม่ได้อีกด้วย
เราจึงได้เสนอไปว่า เขื่อนป้องกันระดับน้ำทะเลที่เราเรียกว่า “เขื่อนเขียว” ซึ่งเป็นการพัฒนาจากเขื่อนสลายกำลังคลื่น “ขุนสมุทรจีน 49A2” น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดจากมุมมองเชิงบูรณาการในการป้องกันการสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลไม่ให้เข้าท่วมทะลักสู่กรุงเทพฯ และเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนไปพร้อมๆ กันด้วยในเวลาเดียวกัน เพราะจากโครงการแบบจำลอง “ขุนสมุทรจีน 49A2” ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีนั้น ได้ปรับปรุงบริเวณชายฝั่งหลังแนวเขื่อนสลายกำลังคลื่นที่สร้างไว้ จนมีตะกอนเต็มเขื่อน และ สามารถปลูกป่าชายเลนได้เต็มพื้นที่ 500 เมตรของโครงการ จากนั้นได้มีการสร้างแนวถนนหรือคันป้องกันน้ำทะเลท่วมหลังแนวป่าชายเลนอีกทีหนึ่ง
โดยวิธีนี้จะทำให้คลื่นลมหลังเขื่อนไม่รุนแรง เพราะโครงสร้างสลายกำลังคลื่น ทำให้ป่าชายเลนสามารถเจริญเติบโตได้ และเรายังสามารถปรับตัวโดยการขยับยกถนนหรือคันป้องกันน้ำทะเลให้สูงขึ้นตามระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นได้อีกด้วย
ข้อดีของเขื่อนเขียวนี้ นอกจากสามารถทำให้พื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นตลอดแนวเขื่อนแล้ว ยังพบว่า ความอุดมสมบูรณ์บริเวณอ่าวไทยตอนบนจะเพิ่มขึ้นอีกมากมาย เพราะจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า หากเราสามารถพัฒนาเขื่อนเขียวตลอดแนวชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน ตั้งแต่ปากน้ำบางปะกงจนถึงปากน้ำเพชรบุรีได้ เราจะได้พื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นอีก 38,250 ไร่
เมื่อเปรียบเทียบในแง่งบประมาณการลงทุน จะพบว่า ราคาการติดตั้งเขื่อนสลายกำลังคลื่นต่อ 1 หน่วยกิโลเมตร (ในปี พ.ศ. 2550) จะอยู่ที่ระดับปานกลางคือ 40 ล้านบาทต้นๆ เท่านั้น ซึ่งเท่ากับราคาของโครงการถุงทรายกันคลื่นนอกชายฝั่งทะเลของกรมขนส่งทางน้ำ และพาณิชยนาวี จากการคำนวณเบื้องต้นยังพบอีกว่า ถ้าจะสร้างเขื่อนสลายกำลังคลื่นรอบอ่าวไทยตอนบนจะใช้เงินลงทุนเพียงหกพันล้านบาทเท่านั้น แต่เราจะได้พื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มมากขึ้นประมาณ 38,250 ไร่ และจะกลายเป็นผืนป่าชายเลนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศต่อไปในอนาคต ซึ่งเท่ากับเราลงทุนเฉลี่ยไร่ละไม่ถึงสองแสนบาทเท่านั้น
จะเห็นได้ว่า หากเราต้องการจะป้องกันกรุงเทพฯ ไม่ให้จมน้ำเพราะถูกน้ำทะเลกัดเซาะ เราจะต้องแก้ไขปัญหาด้วยการสร้าง “เขื่อนเขียว” รอบอ่าวไทยตอนบนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยเราจะต้องผลักดันโครงการป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ จากภาวะโลกร้อนด้วย เขื่อนเขียวนี้ให้กลายเป็นวาระแห่งชาติโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
เมื่อมองในเชิง ยุทธศาสตร์ความมั่นคงเรื่องอาหาร ที่จะกลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตายระดับโลกเลยทีเดียว หากภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นถึงระดับ 3 องศา เราจะพบว่า ไม่เพียงที่ดินเพื่อการเกษตรจะมีค่ายิ่งกว่าทองคำในอนาคตอันใกล้เท่านั้น แต่ฝั่งทะเลไทยจักเป็นพื้นฐานความมั่นคงของชาติด้านอาหารด้วย เพราะประเทศไทยมีฝั่งทะเลยาวเหยียด
ทางด้านตะวันตกติดกับชายแดนพม่าลงไปทางใต้ตลอดแนวทะเลติดกับทะเลอันดามัน สามารถออกไปสู่มหาสมุทรอินเดียได้ มิหนำซ้ำยังเป็นฝั่งทะเลที่อุดมสมบูรณ์ และแตกต่างจากอีกฝั่งหนึ่งเพราะพื้นทะเลเป็นพื้นทราย ขณะที่ ฝั่งอ่าวไทยเป็นพื้นทรายปนดิน จึงเป็นแหล่งสัตว์น้ำอันอุดม จึงมีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งอาหารทะเลใหญ่ของโลกแห่งหนึ่งได้ ถ้าประเทศเรามียุทธศาสตร์การสร้างปะการังเทียมรอบบริเวณฝั่งอ่าวไทยเสียแต่บัดนี้ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ “ทะเลกรด” หากโลกร้อนขึ้น 2 องศาในอีก 20-30 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้สัตว์ทะเลที่มีเปลือก (แคลเซียมคาร์บอเนต) อย่างปู และหอยทะเลอยู่ไม่ได้
พื้นที่อ่าวไทยของประเทศเรา เริ่มจากทางฝั่งตะวันออกของด้ามขวานทอง จากใต้สุดที่ติดกับชายแดนมาเลเซียขึ้นไปทางเหนือจนถึงกรุงเทพฯ วกไปทางขวามือสู่ตะวันออกจนจดกับชายแดนเขมร สามารถออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิกอันกว้างใหญ่ไพศาล เป็นแหล่งสัตว์น้ำอันอุดมที่มีลักษณะพิเศษเพราะเป็นพื้นทรายปนดิน ทำให้สามารถใช้ประโยชน์ทางทะเล และการประมงได้ตลอดทั้งปี เพราะอาณาบริเวณชายฝั่งทะเลอันยาวเหยียดของประเทศไทยมีความปลอดภัยโดยธรรมชาติจากพายุ เมื่อเทียบกับประเทศใกล้เคียง
จะเห็นได้ว่า สองฝั่งทะเลไทยสามารถเป็นรากฐานอันมั่นคง และยิ่งใหญ่ของประเทศเราได้ หากทั่วโลกต้องผจญกับหายนภัยจากภาวะโลกร้อนที่จะรุนแรงมากในอีก 20-30 ปีข้างหน้า นอกจากสองฝั่งทะเลอันอยู่ด้านนอก ประเทศไทยยังมี ทะเลสาบสงขลาที่เคยอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำ สามารถบำรุงเลี้ยงผู้คนในภาคใต้ได้อย่างเต็มที่ เพราะทะเลสาบสงขลานั้นยังเชื่อมโยงกับทะเลน้อย และแหล่งชุ่มน้ำขนาดใหญ่ พรุควนเคร็งทะเลสาบสงขลานั้น มีลักษณะพิเศษกว่าทะเลสาบอื่นเพราะมีน้ำธรรมชาติอยู่ร่วมกันถึง 3 ชนิดคือ
น้ำเค็ม ตั้งแต่ปากอ่าวสงขลาจนถึงปากรอ จากปากรอจนมาถึงบริเวณเกาะสี่ เกาะห้าอันเป็นแหล่งรังนกนางแอ่นที่ดีเลิศของโลกเป็น น้ำกร่อย ถัดจากนี้ไปยังฝั่งพัทลุง และระโนดเป็นน้ำจืด ยามฤดูฝน น้ำจืดหลั่งไหลมาจากทุกสารทิศ พื้นที่น้ำจืดก็จะขยายไปจนถึงปากรอ พื้นที่น้ำกร่อยก็จะขยับขยายไล่น้ำเค็มออกไปจนใกล้ปากอ่าวสงขลา จากนั้นก็เป็นน้ำเค็ม แต่ในฤดูแล้ง น้ำจืดเหือดแห้งลง น้ำทะเลก็หนุนเข้ามา พื้นที่น้ำเค็มก็ขยายไล่น้ำกร่อยจนมาถึงเกาะสี่ เกาะห้า พื้นที่น้ำกร่อยก็ไล่น้ำจืดไปจนถึงบริเวณเกาะใหญ่
สภาพธรรมชาติของทะเลสาบสงขลาเป็นไปอย่างพิสดารเช่นนี้ แต่ที่ผ่านมา เราไม่เข้าใจธรรมชาติกลับทำลายธรรมชาติ และทอดทิ้งละเลยมัน เพราะมุ่งแต่จะ “พัฒนาเศรษฐกิจ” โดยไม่ลืมหูลืมตา จนในวันนี้ ทะเลสาบสงขลา ทะเลน้อย และพรุควนเคร็งกำลังประสบชะตากรรมดุจคนป่วยหนักใกล้ตายเต็มที
“การปฏิรูปทะเลไทย” ที่ผมอยากนำเสนอในฐานะ เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ระดับประเทศเพื่อรับมือกับหายนภัยจากภาวะโลกร้อนในอนาคตอันใกล้ จึงประกอบด้วย
(1) การสร้างเขื่อนป้องกันน้ำทะเลหรือเขื่อนเขียวรอบบริเวณอ่าวไทยตอนบน เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนอีก 38,250 ไร่ และเพื่อป้องกันกรุงเทพฯ ไม่ให้จมน้ำ
(2) การสร้างปะการังเทียมตลอดแนวฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย และตลอดแนวฝั่งทะเลด้านอันดามัน เพื่อความมั่นคงด้านอาหารทะเลของประเทศ และเพื่อทำให้ฝั่งทะเลไทยกลายเป็นแหล่งผลิตอาหารทะเลที่ยิ่งใหญ่ของโลก ในขณะที่มหาสมุทรทั่วโลกจะเผชิญกับภาวะ “ทะเลกรด” อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนขึ้น 2 องศา ในอีก 20-30 ปีข้างหน้า
(3) ฟื้นฟูทะเลสาบสงขลาทะเลน้อย และพรุควนเคร็งที่ปัจจุบันเต็มไปด้วยมลพิษ ทั้งทางน้ำและทางบกให้กลับกลายมาเป็นแหล่งสัตว์น้ำอันอุดมสมบูรณ์ของผู้คนในภาคใต้อีกครั้ง
(4) จะต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการในการหยุดการทำลายฝั่งทะเลไทยทุกวิถีทาง ภาคใต้วาทกรรม “การพัฒนาเศรษฐกิจ” ที่เต็มไปด้วยความละโมบ แต่หันมาฟื้นฟูยุทธศาสตร์ การทำให้ฝั่งทะเลไทยกลายเป็นแหล่งอาหารอันอุดม โดยพวกเราต้องจำเริญรอยตามพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของพวกเราได้ทรงริเริ่มไว้แล้ว เพราะสถานการณ์โลกในอนาคตอีก 20-30 ปีข้างหน้า จะเปลี่ยนไปจากสถานการณ์ในปัจจุบันอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ กล่าวคือ มันจะไม่ใช่ยุคการ “เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ” เป็นใหญ่เหมือนอย่างในยุคปัจจุบันอีกต่อไปแล้ว แต่มันจะเข้าสู่ ยุคขาดแคลนอาหารและน้ำทั่วโลก สืบเนื่องมาจากหายนภัยจากภาวะโลกร้อน ดังที่เริ่มปรากฏเค้าลางให้เห็นในปัจจุบันจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นถี่ขึ้น และรุนแรงขึ้นทั่วโลกอยู่ในขณะนี้
เพราะจากการวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลังช่วง 8 ปีระหว่างปี พ.ศ. 2545-2553 พบว่า ผลกระทบจากเอลนีโญที่ทำให้เกิดภาวะฝนแล้งในประเทศไทย จากเดิมที่เคยมา 3 ปีต่อครั้ง บัดนี้ได้กลายมาเป็น 1.6 ปีต่อครั้ง ส่วนผลกระทบจากลานีญาที่ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมในประเทศไทยจากเดิมที่เคยมา 4.6 ปีต่อครั้ง บัดนี้เป็น 2.6 ปีต่อครั้ง ลองคิดดูสิว่า หากแนวโน้มยังเป็นเช่นนี้ต่อไปอีก 10-20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยของเราจะเผชิญผลกระทบจากภาวะฝนแล้ง และภาวะน้ำท่วมพร้อมๆ กัน และเป็นประจำทุกปีอย่างเป็นโครงสร้างที่เรื้อรังเลยทีเดียว
เพราะฉะนั้น เหล่า “ผู้นำ” ในทุกภาคส่วนของสังคม จะใช้วิธีคิดแบบเดิมหรือกระบวนทัศน์ในการ “พัฒนาเศรษฐกิจ” แบบเดิมๆ ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว พวกคุณจะมัวแต่หมกมุ่นเร่ง “หาเงิน” เข้าบ้านอย่างเดียวแล้วปล่อยให้เกิดไฟไหม้บ้านคุณทุกๆ ปีอย่างงั้นหรือ มันได้ไม่คุ้มเสียหรอก แต่สิ่งที่ประเทศไทยกำลังทำอยู่ในขณะนี้มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ