“ผมใช้เวลานานพอควรทีเดียว กว่าที่ผมจะตระหนักว่า วิถีชีวิตที่ผมเลือกเดินมาในช่วง 10 กว่าปีนั้น จริงๆ แล้วจัดอยู่ในแนวทางเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกนี้... ผมมีความเห็นว่าคนที่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ และมีชีวิตอยู่เพื่อคุณธรรม ความดีงาม ไม่ว่าจะเป็นเขาหรือเธอ ล้วนแล้วแต่เป็น “มังกร” ในสายตาของผมทั้งสิ้น โดยไม่จำเป็นว่าพวกเขาเหล่านั้นหรือพวกเธอเหล่านั้นจะต้องมีพลังฝีมือหรือไม่ด้วย เพราะถึงแม้ในมือของพวกเขาไม่มีกระบี่ แต่ใจของพวกเขาก็เป็นกระบี่ไปแล้ว และถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว “มังกร”จะสูญสิ้นไปจากโลกนี้ได้อย่างไรกัน โลกนี้จะไม่สิ้นมังกร !! DRAGONS ARE FOREVER !! สุวินัย ภรณวลัย จากหนังสือ “มวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า”
ตามตำนานมวยตระกูลหงมีต้นตอมาจากวัดเส้าหลินใต้ โดยที่หลวงจีนจี้เซนถ่ายทอดวิชามวยเส้าหลินใต้ให้กับศิษย์ฆราวาสสองคนคือ “หงซีกวน” กับ “ปึงเซี่ยวเง็ก” แต่ปึงเซี่ยวเง็กเสียชีวิตตั้งแต่วัยหนุ่มฉกรรจ์ ขณะที่หงซีกวนมีอายุยืนยาวร่วมเก้าสิบปี จึงเป็นผู้เผยแพร่วิชามวยเส้าหลินใต้ให้ขจรไกลไปทั่วมณฑลกวางตุ้ง “ลู่อาไฉ่” ได้เรียนมวยเส้าหลินใต้มาจากหงซีกวนโดยตรงและได้ถ่ายทอดวิชานี้ให้แก่ “หวงฉีอิง” ผู้เป็นบิดาของ “หวงเฟยหง” ผู้โด่งดัง
ท่านอาจารย์หลิวหยุนเฉียว เกิดในตระกูลขุนนางผู้มั่งคั่งแห่งเมืองซางโจว บรรพบุรุษของท่านเป็นขุนนางมาหลายชั่วอายุคนแล้ว หลิวหยุนเฉียวเป็นบุตรชายคนเดียวของตระกูล ในวัยเด็กท่านมีร่างกายอ่อนแอและขี้โรค บิดาของท่านห่วงใยในสุขภาพของลูกรักจึงให้หลิวหยุนเฉียวเรียนมวยเหนือกับครูมวยแซ่จางท่านหนึ่งตั้งแต่เล็กจนมีร่างกายแข็งแรง แต่ครูมวยท่านนี้สูงวัยมากแล้วและเสียดายพรสวรรค์ที่มีอยู่ในตัวของหลิวหยุนเฉียวจึงปรารภกับบิดาของท่านว่า ถ้าหากหลิวหยุนเฉียวได้ฝึกวิชาฝีมือกับครูดีเขาจะต้องมีฝึมือล้ำเลิศเป็นแน่ บิดาของหลิวหยุนเฉียวถามว่าควรจะเชิญใครมาเป็นครูมวยดี ครูมวยท่านนั้น เสนอให้เชิญจอมยุทธ์ลิโฉะบุนแห่งมวยแปดสุดยอดผู้มีฉายา “ทวนเทพยดาแซ่ลี้” เป็นครูมวยที่มีชื่อเสียงที่สุดของมณฑลหูเป่ยและจีนตอนเหนือ
กลางศตวรรษที่ 18 ประเทศจีนภายใต้การปกครองของราชวงศ์เช็ง กำลังตกอยู่ในภาวะตกต่ำเสื่อมถอยจนถึงที่สุด ดุจต้นไม้แห้งที่รอวันโรยรา ประชาชนอดอยากแร้นแค้นไปทั่วทุกหย่อมหญ้า บาดแผลทางสังคมปรากฏให้เห็นทั่วทุกหนแห่ง ในปี ค.ศ.1860 เกิดภัยแล้วต่อเนื่องติดต่อกัน 2 ปีซ้อน พืชไร่เก็บเกี่ยวไม่ได้ผล ผู้คนจึงประสบกับความเดือดร้อนในการดำรงชีพอย่างแสนสาหัส ณ หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลหูเป่ย หมู่บ้านนี้มีครัวเรือนอาศัยอยู่ราวๆ 110 หลัง ในนั้นมีชาวนาแซ่ซุนผู้หนึ่งร่วมอยู่ด้วย เนื่องจากปีนั้นนายซุนประสบกับปัญหาการทำนาไม่มีเงินพอจ่ายค่าภาษี เขาจึงจำต้องขายที่นาผืนเล็กที่ได้รับมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษไป
อนุสนธิจากการที่ผม (สุวินัย) ได้เขียน “มูซาชิฉบับท่าพระจันทร์” ออกมาทำให้ผมมีความปรารถนาที่จะถ่ายทอดชีวิตจริงของเจ้าสำนักคาราเต้ชาวญี่ปุ่น ผู้หนึ่งที่มีฉายาว่า “มูซาชิแห่งยุคโชวะ" (ช่วง ค.ศ.1925-1988) แต่ผมชอบที่จะ เรียกเขาคนนี้ว่า “บูรพาไม่แพ้” มากกว่า ในไดอารี่ของเขาคนนี้เมื่อวันที่ 27 เดือนธันวาคม ค.ศ.1959 เขาได้เขียนถึง “มิยาโมโต้ มูซาชิ” ผู้เป็นอาจารย์ทางใจ ของเขาว่า “เมื่อยามจับดาบ ท่านอาจารย์มูซาชิจะเป็นดุจพระอจลนาถ ซึ่งเป็นที่ครั่นคร้ามของพวกมาร แต่ในยามปกติดูเหมือนว่าอาจารย์จะเป็นคนเงียบขรึม พูดจาด้วยเสียงต่ำและเบาๆ ชีวิตของอาจารย์เป็นชีวิตของจอมยุทธ์ผู้โดดเดี่ยวและเดียวดายอย่างแท้จริง มรรคาแห่งชีวิตของท่านมีแต่การมุ่งแสวงหาความเป็นเลิศในวิถีของตนอย่างเดียวเท่านั้นโดยไม่เคยวอกแว่กไปในทางอื่นใดๆ ทั้งสิ้น ฟ้าไม่เคยให้ใครมากกว่าสองเพราะฟ้าไม่ลำเอียงต่อผู้ใด ชีวิตของอาจารย์มูซาชิจึงเริ่มต้นอย่างโดดเดี่ยวและก็จบลงอย่างโดดเดี่ยว หากเปรียบกับชีวิตของจอมดาบคนอื่นในสมัยเดียวกับอาจารย์มูซาชิอย่าง "ยางิว มุเนโนริ" ซึ่งโด่งดังและประสบความสำเร็จในชีวิตทางสังคม จนได้เป็นถึงครูดาบของโชกุน ทั้งๆ ที่ฝีมือดาบของอาจารย์มูซาชิเหนือกว่า ก็จะแลเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ชีวิต ของอาจารย์มูซาชิได้จบลงในบั้นปลายอย่างแทบไม่มีใครเหลียวแลเลย”