(17/5/2554)
คนไข้มะเร็งรุ่นแรกของอาจารย์สาทิส อินทรกำแหง ที่หายเป็น “ปลิดทิ้ง” ในช่วงกลางทศวรรษ 2530 ไม่ได้มีแค่คุณสุภาพรเท่านั้น ตามที่ปรากฏรายชื่ออยู่ในหนังสือ “กูไม่แน่” (พ.ศ. 2548) ของเขา ยังมีอาจารย์เปรื่อง คุณป้อม คุณพิศมัย คุณหน่ำ คุณปู คุณนุช คุณอัญชัน คุณวิจารณ์ คุณสุรีย์ คุณประกิต คุณอนุชา คุณหรรษา คุณเดือนเพ็ญ และคุณหลีอีกด้วย บุคคลที่อาจารย์สาทิสเอ่ยถึงเหล่านี้ ล้วนหายจากมะเร็งมาเกินกว่าห้าปีแล้วทั้งสิ้น
จากกรณีเหล่านี้ทำให้น่าคิดว่า แนวทางแบบชีวจิตในการรักษามะเร็ง น่าจะมีประสิทธิผลในระดับหนึ่งอย่างแน่นอน และส่งผลให้ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2541 รายการโทรทัศน์ “เจาะใจ” โดยคุณสัญญา คุณากร ได้เชิญอาจารย์สาทิสไปออกรายการพร้อมกับคุณจตุพร ช่างสกล เพื่อนำเสนอวิธีการใช้ชีวิตในแนวทางชีวจิตสำหรับการดูแลสุขภาพเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งกายและใจ โดยมีคุณจตุพรเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน วันรุ่งขึ้นหลังจากออกอากาศ ปรากฏการณ์ “ชีวจิตฟีเวอร์” ก็เกิดขึ้นทั่วประเทศในพริบตา ที่สำคัญก็คือ คุณชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ อดีตประธานบริหารบริษัทเครืออมรินทร์ ซึ่งป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2539 หลังจากรักษาตามกระบวนการทางแพทย์แผนปัจจุบันด้วยการทำเคมีบำบัด และฉายรังสีเป็นเวลาหกเดือนเต็มแล้วประสบปัญหาข้างเคียงที่มีอาการท้องผูกสลับกับท้องเสียตลอดเวลาทำให้ทุกข์ทรมานมาก แต่แล้วมะเร็งก็ยังกลับมาใหม่โดยไปโผล่ที่ปอดทำให้คุณชูเกียรติตัดสินใจที่จะไม่รับการรักษาแบบเดิม แล้วหันมารักษาตามแนวทางชีวจิตแทน
สิ่งที่เห็นผลทันทีทันใดอย่างชัดเจนก็คือ ปัญหาเรื่องระบบขับถ่ายหมดไป ทำให้คุณชูเกียรติมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าเดิมทั้งกายและใจ คุณชูเกียรติและครอบครัว จึงได้กลายมาเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของ ขบวนการสุขภาพชีวจิต ในประเทศไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แม้ว่าคุณชูเกียรติจะไม่หายจากโรคมะเร็ง และเสียชีวิตในเวลาต่อมาก็ตาม
ส่วน คุณสุภาพร พงศ์พฤกษ์ ผู้เป็นคนไข้มะเร็งกรณีแรกๆ ที่รักษาด้วยแนวทางแบบชีวจิตล้วนๆ หลังจากที่ “หาย” จากโรคมะเร็งเต้านมเกินกว่าห้าปีแล้ว เธอก็ไม่ได้ดูแลตัวเองมากนัก เธอหันกลับไปทำงานหนัก และใช้ชีวิตในการกินการอยู่อย่างไม่ถูกต้องอีกเหมือนในช่วงก่อนเป็นมะเร็งครั้งแรก ทำให้มะเร็งกลับมาอีกแล้วกระจายไปที่เต้านมอีกข้าง
อาจารย์สาทิสเคยแนะนำให้เธอรักษาด้วยวิธีผสมผสานคือ ควรจะใช้การฉายรังสีหรือเคมีบำบัดผสมกับวิธีชีวจิต เพราะประเมินแล้วว่าครั้งนี้จะใช้วิธีชีวจิตเพียงลำพังคงเอาไม่อยู่แล้ว แต่คุณสุภาพรปฏิเสธเด็ดขาด ไม่ยอมใช้วิธีผสมผสาน แต่เธอกลับไปทำโปรแกรมการรักษาด้วยวิธีของเธอเอง ปัญหาก็คือ คุณสุภาพรได้ใช้วิธีการแพทย์ทางเลือกแบบของเธอเองที่ค่อนข้างจะ “งมงาย” โดยเธอได้ทดลองด้วยวิธีต่างๆ หลายสิบวิธี ใช้แม้กระทั่งน้ำมนต์ คาถาบำบัดต่างๆ โดยไม่ได้วิเคราะห์ประเมินว่าวิธีไหนได้ผล วิธีไหนไม่ได้ผล ทุกอย่างจึงดูสับสนไปหมด สุดท้ายคุณสุภาพรก็จากไป
คนไข้มะเร็งรุ่นแรกๆ ของอาจารย์สาทิสที่หายเป็น “ปลิดทิ้ง” เกินกว่าห้าปี แต่กลับมาเป็นมะเร็งใหม่แล้วเสียชีวิตไปอย่างรวดเร็วนั้น นอกจากคุณสุภาพรแล้ว ยังมีอาจารย์เปรื่องกับคุณป้อม อาจารย์เปรื่องเป็นศิลปินแห่งชาติด้านภาพสีน้ำที่มีอารมณ์ขัน อารมณ์ดีเสมอ ระยะแรกที่อาการของอาจารย์เปรื่องดีขึ้นจนดูเหมือนอาจารย์เปรื่องหายจากมะเร็งเป็นปกติแล้วนั้น อาจารย์เปรื่องกลับไม่ได้ดูแลตนเองเลย คือไม่ได้ดูแล ระบบภูมิชีวิต (Immune System) ให้อยู่ในระดับสมบูรณ์แข็งแรงคงที่เลย แต่กลับปล่อยปละละเลยให้ระบบภูมิชีวิตอ่อนแอลงอีกจนมะเร็งกลับมาใหม่ คราวนี้แม้จะพยายามช่วยกันสักเพียงใดก็แก้ไม่ทันแล้ว กรณีของคุณป้อมก็เช่นกัน ที่พอหายดีจากโรคมะเร็งแล้ว ก็คงเข้าใจผิดคิดว่าหายแล้วหายเลย จึงไม่ได้ดูแลหรือระวังตัวอะไรอีก จึงทำให้มะเร็งกลับมาใหม่ และเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว
จากกรณีของคุณสุภาพร อาจารย์เปรื่อง และคุณป้อมที่มะเร็งกลับมาใหม่แล้วก็เสียชีวิตไปอย่างรวดเร็วนั้น ล้วนมาจากสาเหตุเหมือนๆ กันคือ เข้าใจผิดคิดว่า หายแล้วหายเลย จึงไม่ดูแลตัวเองในเชิงป้องกันอีกต่อไป ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นสิ่งที่ต้องทำไปตลอดทั้งชีวิต จึงทำให้ระบบภูมิชีวิตกลับมาอ่อนแออีกครั้ง และเสียชีวิตอย่างรวดเร็วโดยแก้ไขไม่ทันแล้ว
อย่างไรก็ดี คนไข้มะเร็งรุ่นแรกๆ ของอาจารย์สาทิส คนอื่นที่เหลืออีกสิบกว่าคนยังอยู่ดีกันทุกคนคือ หายจากโรคมะเร็งมากว่า 15 ปีแล้ว (ตอนที่อาจารย์สาทิสเขียนหนังสือ “กูไม่แน่” ออกมาในปี พ.ศ. 2548) ซึ่งถ้าคิดตามสถิติการแพทย์ก็ต้องถือว่า หายเป็นปกติแล้ว แม้แต่กลุ่มคนไข้มะเร็งรุ่นหลังๆ ของอาจารย์สาทิส ก็ยังอยู่ดีกันเป็นส่วนมาก ทำให้น่าจะสรุปเป็น บทเรียน ได้ว่า
การสร้างระบบภูมิชีวิตด้วยแนวทางแบบชีวจิต หรือแนวทางดูแลสุขภาพแบบองค์รวมหรือแบบบูรณาการ ที่เน้นการเปลี่ยน “วิถีชีวิต” โดยเฉพาะในเรื่องอาหารการกิน น้ำดื่ม การนอน การออกกำลังกาย การฝึกหายใจ (ฝึกลมปราณ) การทำสมาธิ การผ่อนคลาย การบริหารความเครียด และการล้างพิษนั้น ทำให้ สามารถยกระดับภูมิชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้ จนเป็นที่น่าพอใจ (แม้อาจจะไม่ได้ผลทุกรายก็ตาม) และ เมื่อบำบัดระบบภูมิชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้นจนเหมือนเป็นปกติได้แล้ว ผู้นั้นก็ควรที่จะต้องรักษา “สุขภาวะ” และความแข็งแรงของภูมิชีวิตนี้ไว้ให้ได้ไปจนตลอดชีวิตตราบสิ้นอายุขัย มิฉะนั้นแล้วโอกาสที่จะกลับมาเป็นมะเร็งใหม่ และเสียชีวิตอย่างรวดเร็วนั้นมีได้เสมอ
ผลสะเทือนในเชิงบวกที่ ขบวนการสุขภาพชีวจิต มีต่อการแพทย์แผนปัจจุบันในประเทศไทยนั้น เริ่มปรากฏเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 2540 เป็นต้นมา แพทย์หญิงเจรียง จันทรกมล กรรมการผู้อำนวยการโรงพยาบาลในเครือบางปะกอก ผู้เขียน “คำนิยม” ให้แก่หนังสือ “กูไม่แน่” (2548) ของอาจารย์สาทิสได้กล่าวว่า เธอได้มีโอกาสรู้จักกับชีวจิต เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2540 เธอเป็นหมอรักษาโรคมะเร็งแบบแผนปัจจุบันที่ได้เห็นความสิ้นหวัง ท้อแท้ ทุกข์ใจของคนไข้ เมื่อแพทย์แจ้งให้ทราบว่า คนไข้เป็นมะเร็ง และอาจจะมีชีวิตอยู่ได้อีกเพียง 1-2 ปีเท่านั้น เธอรู้สึกหดหู่ เพราะเธอเองก็ไม่ทราบว่าจะช่วยได้อย่างไร
ต่อมาเธอได้พบอาจารย์สาทิส และเข้ารับการอบรมวิถีชีวิตแนวชีวจิต ทำให้เธอคิดว่าแนวทางนี้แหละที่จะสามารถช่วยคนไข้โรคมะเร็งได้ เธอจึงแนะนำคนไข้ให้ เปลี่ยนแนวทางการดำเนินชีวิต ให้ลดสารพิษที่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดมะเร็ง ลดความเครียด ลดอาหารเนื้อสัตว์ ทำจิตใจของคนไข้ให้สงบด้วยการให้นั่งสมาธิ ให้กำลังใจ รวมทั้งให้ออกกำลังกายอย่างเข้มแข็ง เพื่อสร้างภูมิต้านทานให้คนไข้
ปรากฏว่า เธอได้เห็น “ความอัศจรรย์” ที่เกิดขึ้นกับคนไข้ที่มีกำลังใจที่จะมีชีวิตอยู่ และผลของการสร้างภูมิต้านทาน (ภูมิชีวิต) กับการลดสารพิษ ทำให้คนไข้มีอายุยืนขึ้น จากที่แพทย์เคยบอกว่าจะอยู่ได้เท่านั้นเท่านี้ ก็อยู่นานขึ้นอย่างที่คนไข้เองก็คาดไม่ถึง ส่วนการใช้เคมีบำบัดกับการฉายรังสี ก็มีการปรับให้เข้ากับคนไข้แต่ละคนตามสภาพของคนไข้ที่จะรับได้ โดยใช้ร่วมกับการสร้างภูมิต้านทานโดยหลักของชีวจิตเป็นระยะๆ ทำให้เธอเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้อย่างชัดเจน เพราะคนไข้ที่เป็นมะเร็งในระยะขั้น 3 ขั้น 4 ซึ่งปกติจะอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือนหรือ 1 ปี ตามที่แพทย์ทำนาย แต่คนไข้อยู่ได้นานเกินห้าปีได้ก็มีเป็นจำนวนไม่น้อย สิ่งนี้เธอจึงถือว่าเป็น ความสำเร็จของการรักษามะเร็งตามแนวผสมผสาน หรือแบบบูรณาการนี้ ซึ่งเธอเชื่อมั่นว่า จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการแพทย์แผนปัจจุบันไปสู่ทิศทางของ การแพทย์แบบองค์รวม หรือ การแพทย์แบบบูรณาการ และ จะหันมาให้ความสำคัญของการป้องกันโรคมากกว่าการรักษาโรคอย่างแน่นอน
สิ่งที่ผมให้ความสนใจเป็นพิเศษจากกรณีศึกษาต่างๆ ข้างต้นของคนไข้มะเร็งที่รักษาด้วยแนวทางแบบชีวจิตแล้ว “ดีขึ้น” ในแง่คุณภาพชีวิตทั้งกายใจเป็นจำนวนมากนั้นก็คือ เราจะสามารถอธิบายเหตุผลของการ “ดีขึ้น” นี้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสุขภาพได้อย่างไร?