32. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 32) 4/11/2551

32. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 32) 4/11/2551

โพธิสัตตบูรณา:เทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 32)

32. จอมคนเทียนแห่งธรรม (ต่อ)

ชีวิตจะกลายเป็นเรื่องวิเศษและบรรเจิดเพียงใด หากคนผู้นั้นสามารถมีชีวิตที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงเปี่ยมไปด้วยพลังที่เหลือล้นราวกับไม่มีวันจบสิ้น และได้ใช้พลังชีวิตที่เหลือล้นนี้ ไปทำงานสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและมวลมนุษยชาติ?

ตลอดชั่วชีวิตแห่งการแสวงหาและการฝึกฝนตนเองเพื่อมุ่งสู่ความเป็น เลิศมนุษย์ ของ “เขา” ตัว “เขา” ได้ค้นพบว่า การทุ่มเทเวลาและพลังงานส่วนใหญ่ในชีวิตของเขาให้กับ การฝึกฝนตนอย่างบูรณาการอย่างหลากมิติ โดยมี การฝึกฝนลมปราณ เป็นรากฐานนั้น มันเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้ตัวเขาสามารถซ้องเสพดื่มด่ำกับชีวิตที่เปี่ยมพลัง เปี่ยมความหมายและสร้างสรรค์เช่นนี้ได้มานานนับเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว แม้กระทั่งบัดนี้

“อายุ” ได้กลายเป็นเพียงแค่ตัวเลขสำหรับ “เขา” เพราะมิเพียง “เขา” ยังมีกำลังวังชา พลังชีวิต และพลังสร้างสรรค์ที่มิได้ลดลงกว่าสมัยหนุ่มฉกรรจ์เท่านั้น อายุที่มากขึ้นกลับเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ความเจนจัดในชีวิต และสั่งสมองค์ความรู้ที่หลากหลายให้แก่ตัวเขามากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตัวเขาก็ได้แต่หวังว่าประสบการณ์ในการฝึกฝนตนเอง และองค์ความรู้เหล่านี้ของเขาจะสามารถเป็นประโยชน์และให้คุณูปการแก่คนรุ่นหลังๆ รวมทั้ง ขบวนการยามเฝ้าแผ่นดิน ที่ตัวเขาได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วยตั้งแต่แรกเริ่มเพื่อการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองนี้อย่างบูรณาการได้

วิธีการเพิ่มพูนพลังชีวิตและพลังสร้างสรรค์ที่ตัวเขาได้ฝึกฝนมานั้นเริ่มต้นจาก การฝึกลมปราณอัดแน่นของวิชามวยไทเก๊ก ที่ตัวเขาได้ฝึกฝนมานานปี ซึ่งมี เคล็ดลับ ดังต่อไปนี้

“...ให้ผู้ฝึกจินตนาการว่าขณะนี้ ตัวเรามีแต่ โครงกระดูก เท่านั้น จากนั้นในตอน หายใจเข้า จงจินตนาการว่า ลมหายใจเข้าของเราดันกระดูกให้อัดแน่นเข้าไปข้างใน เข้าไปจนถึง ไขกระดูก ผู้ฝึกจะต้องฝึกจนกระทั่งผู้ฝึกรู้สึกราวกับว่า โครงกระดูก ของเขาถูกอัดแน่น และจมลึกลงไปทุกครั้งที่ หายใจเข้า การฝึกเช่นนี้เป็นกระบวนการสร้าง กำลังภายใน ชนิดหนึ่ง”

“...หลังจากเริ่มฝึกลมปราณอัดแน่นที่กระดูกท่อนแขนทั้งสองข้างแล้ว ต่อไปก็ให้ขยายการฝึกนี้ไปที่ส่วนอื่นของร่างกายคือ ศีรษะ กระดูกสันหลัง และกระดูกท่อนขาด้วย ผู้ฝึกจะต้องฝึกลมปราณอัดแน่นนี้จนกระทั่งตัวเองรู้สึกราวกับว่า โครงกระดูก ของตนถูกแขวนอยู่โดยไม่ต้องใช้กล้ามเนื้อพยุง”

“...ขณะที่ หายใจเข้า ให้บีบรัดกล้ามเนื้อรอบๆ กระดูกเข้าสู่ ไขกระดูก แต่ ผ่อนคลาย ทั่วร่าง ขณะที่ หายใจออก ผู้ฝึกจะรู้สึกเหมือนกับว่าตัวเองกำลังสะสมพลังงานทั้งหมดทั่วร่างกายเข้าสู่ ไขกระดูก ในทุกครั้งที่หายใจเข้า และรู้สึกผ่อนคลายทั่วร่างในทุกครั้งที่หายใจออก”

“...จากนั้นผู้ฝึกก็ต้องใช้จิตของตนบีบรัด ชี่ หรือ ลมปราณ นี้ให้ไหลซึมเข้าไปใน ไขกระดูก จนเกิดพลังเข้มข้นคล้ายกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ ที่เรียกกันว่า กำลังภายใน ขึ้นภายในร่างกาย จากนั้นผู้ฝึกก็ต้องสะสม กำลังภายใน นี้ให้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งต่อไปผู้ฝึกจะสามารถนำ กำลังภายใน นี้ไปใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าในการต่อสู้หรือการรักษาโรค รวมทั้งการยกระดับจิตวิญญาณของตนเพื่อการรู้แจ้ง” (อนึ่งรายละเอียดและรูปภาพประกอบการฝึกลมปราณอัดแน่นนี้ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากหนังสือของผู้เขียนเรื่อง “ยอดคนวิถีเซน” (สำนักพิมพ์มังกรบูรพา, พ.ศ. 2549)

ประสิทธิผลในการบำบัดโรคของ วิชาลมปราณอัดแน่นอันเป็นวิชาเบื้องต้นของวิชาลมปราณชำระไขกระดูก (ลมปราณล้างไขกระดูก) ซึ่ง “เขา” ได้ข้อสรุปว่า วิชาลมปราณชำระไขกระดูกนี้ เป็นวิชาลมปราณขั้นสุดยอดทั้งของสายเต๋า สายเซน และสายวัชรยาน ซึ่ง คุรุ ของเขาเรียกวิชานี้ว่า วิชาลม 7 ฐาน นั้น ในปัจจุบันก็ได้รับการยอมรับ สนับสนุนและยืนยันจากหลักวิชาการแพทย์ตะวันตกแบบทางเลือกด้วยเช่นกัน โดยวงการแพทย์ตะวันตกได้เรียก วิธีการบำบัดโรคด้วยวิชาลมปราณชำระกระดูกนี้ว่า ออสทีโอพาที (Osteopathy) หรือ หลักการบำบัดด้วยการจัดโครงสร้างกระดูก ซึ่งใน ค.ศ. 1939 ได้ถูกนำเสนอเป็นครั้งแรกในรูปของทฤษฎี “กลไกหายใจปฐมภูมิ” (primary respiration) โดยนายแพทย์วิลเลียม ซุทเธอร์แลนด์ (William Sutherland) จนกลายมาเป็นวิธีบำบัดแบบ “เครเนียล เทอราปี” (cranial therapy) ในปัจจุบัน

ทฤษฎีกลไกหายใจปฐมภูมิของนายแพทย์ซุทเธอร์แลนด์ กล่าวไว้ว่า ระบบประสาทส่วนกลางกับโครงสร้างอื่นๆ ในร่างกายที่เกี่ยวข้อง จะมีการเคลื่อนที่เป็นจังหวะอยู่ตลอดเวลา และการขยับตัวนี้เองที่เป็นหัวใจสำคัญของระบบสุขภาพและการมีชีวิตของมนุษย์เรา

กลไกหายใจปฐมภูมิประกอบด้วยองค์ประกอบ 5 ประการดังนี้คือ

(1) จังหวะของรอยต่อกระดูกกะโหลกศีรษะ ซึ่งประกอบด้วยกระดูก 26 ชิ้น
(2) การยึดและหดตัวของสมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวา
(3) การเคลื่อนไหวในเนื้อเยื่อหุ้มสมอง เยื่อหุ้มไขสันหลัง
(4) คลื่นของเหลวภายในสมองและไขสันหลัง ซึ่งหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง
(5) การเคลื่อนที่อย่างแนบเนียนของกระดูกกระเบนเหน็บที่เป็นไปโดยอัตโนมัติ

นายแพทย์ซุทเธอร์แลนด์ระบุว่า การขยายและการหดตัวเป็นจังหวะขององค์ประกอบ 5 ประการข้างต้นนี้ จะสอดคล้องกับระบบและจังหวะของการหายใจ มิหนำซ้ำกลไกนี้เป็นกลไกที่สำคัญต่อชีวิตมนุษย์มากที่สุด เหนือกว่าการหายใจปกติธรรมดาที่คนเราคุ้นเคยกันเสียอีก กลไกนี้จึงสมควรได้ชื่อว่า “กลไกหายใจปฐมภูมิ” ขณะที่การหายใจแบบที่เรารู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของปอด หน้าอก และกระบังลมควรเรียกว่า “การหายใจระบบรอง” (secondary respiration) เท่านั้น

นายแพทย์ซุทเธอร์แลนด์จึงตั้งสมมติฐานว่า สิ่งที่จำเป็นต่อการมีสุขภาพสมบูรณ์นั้น คือกลไกการหายใจระดับปฐมภูมิ อันเป็นพื้นฐานสำคัญของร่างกายนั้น ต้องเป็นไปอย่างอิสระที่สุด ถ้าหากมีการสะดุดหรือสิ่งขัดข้องใดๆ ทำให้กลไกนี้ไม่เป็นไปโดยราบรื่นแล้ว จะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ เนื่องจากระบบประสาทส่วนกลางเป็นศูนย์ควบคุมอวัยวะทุกส่วน

ความเข้าใจเกี่ยวกับเคล็ดลับการมีสุขภาพที่สมบูรณ์ดังข้างต้นตามแบบหลักวิชาการแพทย์ตะวันตกแบบทางเลือกนี้ จึงสอดคล้องกับเคล็ดการฝึกวิชาลมปราณขั้นสูงอย่างลมปราณชำระไขกระดูก (ลมปราณล้างไขกระดูก) ที่แนะให้คนเรา หายใจผ่านกระดูก (bone breathing) เพื่อบรรลุสุขภาพที่สมบูรณ์อยู่เสมอ

* * *

หลักการฝึก ลมปราณชำระไขกระดูก ที่ คุรุ ของเขาได้ถ่ายทอดให้แก่ลูกศิษย์ของท่านนั้น มีดังต่อไปนี้

ท่านบอกว่า วิชานี้ควรฝึกในท่ายืน โดยผู้ฝึกต้องยืนในท่าที่ผ่อนคลายสมดุลกายเหมาะสม น้ำหนักตัวซ้าย-ขวาเสมอกัน การฝึกวิชานี้ ผู้ฝึกจำเป็นต้องมี “ตัวรู้” หรือ “ผู้รู้” เข้าไปเรียนรู้ ด้วยจิตที่ตั้งมั่น ละเอียด ชำแรกไปในไขกระดูก เมื่อผู้ฝึกมี “ผู้รู้” แล้ว ก็จงหายใจลึกๆ ให้ลมซ่านไปทั่วร่างกายถึงปลายเท้าถึงปลายนิ้วมือ แล้วหายใจออกผ่อนคลาย

ในตอนแรก ผู้ฝึกควรฝึกแค่ตามดูปราณที่ซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย โดยยังไม่ต้องกลั้นลมหายใจ สามารถหายใจเข้าออกสลับกันได้ แต่เมื่อฝึกไปจนชำนาญแล้ว ผู้ฝึกควรฝึกแบบตามดูทั้งปราณ และลมหายใจควบคู่กันไป ถ้าจะให้ผลดีมีพลังมาก ควรจะหายใจแค่หนึ่งครั้งต่อการตามดูหนึ่งปราณที่ซ่านไปทั่วร่างกาย

วิธีฝึกเริ่มจาก หายใจเข้า ตามดูปราณที่ขึ้นจมูก หน้าผากกลางกระหม่อม กะโหลกศีรษะด้านหลัง ต้นคอ หัวไหล่สองข้าง ท่อนแขนด้านบน ข้อศอก ท่อนแขนด้านล่าง ข้อมือ หลังมือ ฝ่ามือ นิ้วมือ หายใจออก ตอนหายใจออกให้ผู้ฝึกรู้สึกว่าพอลมหายใจออก ปราณก็ออกมาทางนิ้วมือด้วย แล้วพอตอนหายใจเข้ามาใหม่ ก็ให้นิ้วมือดูดปราณเข้ามาด้วย การฝึกในขั้นนี้ ต้องฝึกจนเห็นลมเดินไปตามข้อกระดูก ยิ่งเห็นปลายฝ่ามือดึงลมปราณเข้ามาได้ด้วยยิ่งดี

ขั้นต่อไป เป็นการตามดูปราณไปทั่วร่างกาย ซึ่งพัฒนาต่อมาจากขั้นตอนแรกที่ฝึกตามดูปราณเฉพาะร่างกายท่อนบนเท่านั้น โดยเริ่มจากหายใจเข้า ตามดูปราณที่ขึ้นจมูก หน้าผาก กลางกระหม่อม กะโหลกศีรษะด้านหลัง ต้นคอด้านหลัง หัวไหล่สองข้าง สะบัก กระดูกสันหลัง ก้นกบ แยกออกไปสะโพกสองข้าง ท่อนขาด้านบน ข้อพับ ท่อนขาด้านล่าง ส้นเท้า ฝ่าเท้า ปลายนิ้วเท้า หลังเท้า ข้อเท้า หน้าแข้ง หัวเข่า ท่อนขาด้านบน หัวหน่าว สะดือ แยกไปซี่โครงซ้ายขวา รวมกันที่ลิ้นปี่แยกออกไปที่ซี่โครง ขึ้นไปที่หน้าอกราวนมสองข้าง ไหปลาร้า ลำคอ ปลายคาง แล้วหายใจออกทางปาก ตอนหายใจออกต้องผ่อนคลาย

บางครั้ง คุรุ ก็สอนพวกลูกศิษย์ที่ฝึกลมปราณชำระไขกระดูกนี้ให้ส่ง “ตัวรู้” ไปที่ฝ่าเท้า โดยหายใจเข้า แล้วให้ตามลมไปถึงฝ่าเท้า แล้วหายใจออกหรือให้หายใจเข้าจากฝ่าเท้า แล้วตามลมไล่ขึ้นมาที่จมูก แล้วหายใจออก โดยจะกลับขึ้นมาทางกระดูกสันหลังหรือช่องท้องก็ได้

บางครั้ง คุรุ ก็สอนให้ส่ง “ตัวรู้” ไปที่ฝ่ามือ แล้วหายใจเข้าจากปลายนิ้วมือเข้าไป ท่านบอกว่า ต้องหมั่นไล่ลมตามลมไปทั่วร่างให้คล่องสลับไปสลับมาขึ้นลงหมุนเวียนให้ทั่ว จนกระทั่งลมปราณรวมกันเป็นสายเดียวไม่ขาดตอน พอนึกตรงไหน ลมปราณก็เดินได้ไปตรงนั้นทันที จะทำเช่นนั้นได้ ลมปราณกับการกำหนดจิตต้องรวมกันเป็นหนึ่งก่อน

ท่านบอกว่า การจะฝึกวิชานี้ให้รุดหน้า ตอนสูดลมหายใจเข้าจะต้องให้ลมนั้น กว้าง-ลึก-เต็ม-รู้ “กว้าง” ในที่นี้หมายถึงหายใจผ่านทุกรูขุมขน “ลึก” ในที่นี้หมายถึงซึมซ่านไปในไขกระดูก “เต็ม” ในที่นี้หมายถึงเต็มปอด “รู้” ในที่นี้หมายถึง รู้ทั่วสรรพางค์กาย พอหัดจนชำนาญแล้ว ยามหายใจเข้าขอให้ภาวนาว่า “ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุข” และยามหายใจออก ขอให้ภาวนาว่า “ขอสัตว์ทั้งปวงจงพ้นทุกข์”

คุรุ ยังบอกอีกว่า ความวิริยะพากเพียรของโพธิสัตว์ในการฝึกจิตนั้น จะแสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมโดยการฝึกเดินลมย้อนไปย้อนกลับให้ซอกซอนไปตามโครงกระดูกทั่วร่างอยู่เป็นนิจ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อพัฒนาตัวรู้หรือความรู้สึกตัว







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้