หนังสือเล่มนี้ถ้าเปรียบกับการสร้างภาพยนต์ ผม (สุวินัย) ก็เป็นเหมือน ผู้อำนวยการสร้าง ขณะที่เวทินเป็นเหมือน ผู้กำกับการแสดง ผมออกไอเดียสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นกัน แล้วเวทินรับไปเขียนออกมาเป็นรูปเป็นร่าง หลังจากนั้นผมจึงนำมาเขียนใหม่โดย ตัดตอน เรียบเรียงเพิ่มเติมบางส่วนเข้าไปจนสุดท้ายเป็นรูปลักษณ์ดังที่ปรากฏอยู่นี้ หนังสือเล่มนี้จึงไม่ใช่ต่างคนต่างเขียนแล้วมารวมเล่มเข้าด้วยกันเหมือนอย่างเล่มที่แล้ว แต่มันเป็นงานเขียนร่วม และการสร้างสรรค์ร่วมกัน (co-creation) ระหว่างเราสองคนจริง ๆ
จะว่าไปแล้ว ความเป็นมาของหนังสือชุดนี้ที่จะทยอยออกมาเป็นตอน ๆ เหมือนกับงานเขียนชุด "มังกรจักรวาล" ของผม ก็เกิดจากบทเรียนและปัญหาที่พวกเราได้ประสบขณะที่กำลังศึกษาและเข้าร่วมในกระบวนการของการผลิต "มังกรจักรวาล" นั่นเอง เพราะผมได้เคยสรุปให้เวทินฟังครั้งหนึ่งว่า
"คนที่สนใจเรื่องจิตวิญญาณ (spirituality) ในยุคนี้นับว่าทั้งโชคดีและโชคร้าย"
โชคดี คือ เป็นคนที่แลเห็นความไม่จีรังถาวรของเขา ชีวิตบนฝั่ง ไม่ว่าจะเห็นด้วย ประสบการณ์ชีวิต ที่เติบใหญ่จนถึงจุดหนึ่ง หรือเห็นด้วย ความทุกข์ระทม ที่โหมกระหน่ำเข้ามาซ้ำเติมชีวิต จนไม่อยากอยู่กับกองทุกข์เหล่านั้น มีคนไม่น้อยไม่ว่าแก่, หนุ่ม, สาว, เด็ก ที่โถมลงสู่ "ทะเลใจ - ทะเลแห่งจิตวิญญาณ" ด้วยความเชื่อและความปรารถนาที่จะ ข้ามไป ยังอีกฝั่งหนึ่ง
แต่ โชคร้าย ก็คือ พวกเราที่ว่านี้ทุกคนต่างต้องมาลอยคอกันอยู่กลางทะเลแห่งความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณที่มีมากมายหลายหลากโดยที่ "ไม่รู้" ว่าเมื่อไหร่จะถึงฝั่งโน้น จนกระทั่งหลายคนอาจจะเริ่มถามตัวเองว่า จริง ๆ แล้วมันมีอีกฝั่งหนึ่งดำรงอยู่จริงหรือ
ความโชคร้ายที่ซ้ำซ้อนไปกว่านั้นก็คือ พวกเราอาจถูกมองอย่างเย้ยหยันหรือถูกมองด้วยสายตาที่ไม่เข้าใจ สายตาที่แปลกประหลาดใจจาก คนบนฝั่ง พวกเราบางคนบ้างก็ถูกวังน้ำวนแห่งด้านมืดของจิตวิญญาณดูดกลืนให้จมหายไป ไม่ว่าจะออกมาในรูปของการเสียสติ, งมงาย, หลงตัวเองหรือกระทั่งไปรวมกลุ่มกันเป็น "โจรสลัดในทะเลใจ" คอยทำร้ายผู้คนทั้งในทะเลและบนฝั่งด้วยความเคียดแค้น ชิงชัง
ขณะที่พวกเราบางคน บางกลุ่ม ที่ลอยคอกันอยู่กลางทะเลใจก็มีอยู่ไม่น้อยที่เกาะ ห่วงชูชีพ หรือ เรือพาย ของตนไว้อย่างเหนียวแน่น หรือไม่ก็ก่อ สงคราม ทั้งทางความคิดและสงครามจริง ๆ ในการแย่งชิงหนทางหรือแผนที่ไปสู่ อีกฝั่งหนึ่ง กันอย่างไม่ยอมลดราวาศอก แต่ เรือ ลำที่มีชัยในสงคราม ก็ยังล่องลอยต่อไปโดยมี เรือ ไม่น้อยที่อับปางจมลงสู่ก้นมหาสมุทร
เรายังไม่รู้เลยว่าจะมีกี่คนกันที่ได้ไปถึงอีกฝั่งหนึ่งจริง ๆ
หนังสือ "มังกรบูรพากับหลักสรรพศาสตร์วิพากษ์" เล่มนี้เรามิได้คิดจะนำใครไปสู่ฝั่งโน้น และเรื่องของ ฝั่งโน้น หรือ อีกฝั่งหนึ่ง เราก็ยังไม่พูดในเล่มนี้ แน่นอนว่าพวกเรามีคำตอบของตัวเองสำหรับเรื่องนี้ในฐานะผู้ที่ลงมาลอยคอแล้วเหมือนกันและคงได้พูดถึงมันในเล่มหนึ่งเล่มใดของหนังสือชุดนี้ในอนาคตข้างหน้า
แต่ในเล่มนี้เราจะมุ่งไปที่การสำรวจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทะเลแห่งจิตวิญญาณในบริบทของสังคมไทยโดยเฉพาะหลังจากที่มีการผสมผสานไปกับทะเลแห่งวิทยาศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้คือความเปลี่ยนแปลงของโลกทัศน์โดยเฉพาะโลกทัศน์ที่เกี่ยวกับจิตวิญญาณ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็น ราก ของวัฒนธรรม, ประเพณีทั้งหลายของไทยมาแต่เดิม
หนังสือเล่มนี้ เราเขียนขึ้นมาสำหรับท่านผู้อ่านหลาย ๆ กลุ่ม
กลุ่มแรก คือ ผู้แสวงธรรมทั้งหลาย เพราะเราคิดว่าน่าจะเป็นการดีที่เราจะได้ย้อนมาดูถึงความเป็นมาเป็นไปของโลกทัศน์ทางจิตวิญญาณทั้งหลายที่ครอบคลุม ซ้อนทับ ความเข้าใจ ต่อความคิดความเชื่อในหนทางที่พวกท่านกำลังเดินอยู่
กลุ่มที่สอง คือ ผู้สนใจในเชิงวิชาการเกี่ยวกับเรื่องนี้ พวกเราต้องเอ่ยถึงบุคคล 2 - 3 ท่านที่ได้บุกป่าฝ่าพงบนเส้นทางเส้นนี้มาก่อนนั้นคือ อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ ซึ่งแม้ท่านไม่ได้นำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ออกมาอย่างเป็นงานวิชาการ แต่ท่านอาจเป็นบุคคลเพียงไม่กี่ท่านในสังคมนี้ที่พูดถึงเรื่องนี้มาโดยตลอด อีกท่านหนึ่ง คือ พระไพศาล วิสาโล ที่ได้เสนองานในแนวทางเดียวกันนี้อย่างเป็นวิชาการ
พวกเราเองได้ใช้แนวทางที่ท่านทั้งสองได้ถากถางไว้โดยมีความเห็นด้วยกับข้อเสนอครึ่งแรกของท่านทั้งสองที่สนับสนุนโลกทัศน์พุทธฝ่ายโลกกุตรธรรมร่วมสมัย (ของท่านพุทธทาส-พระธรรมปิฏก) แต่เราก็มีส่วนที่เห็นต่างกันคือ
(1) ในขณะที่ท่านทั้ง 2 ใช้ จุดยืนของฝ่ายศาสนามามองประเด็นจิตวิญญาณ
จากศูนย์กลาง "ความรู้" แต่พวกเรากลับใช้ จุดยืนด้านจิตวิญญาณมามองประเด็นศาสนาจากนอกศูนย์กลางความรู้คือแม้เนื้อหาที่เรานำเสนอจะค่อนข้างเป็นวิชาการแต่ทัศนะ ความคิด ความเห็นหลายส่วนของพวกเราล้วนมาจาก ประสบการณ์โดยตรง ในการดิ้นรนไขว่คว้าแสวงหาธรรมของพวกเราในการไปฝึกและเฝ้าสังเกตการณ์แบบมีส่วนรว่มกับสายปฏิบัติหลาย ๆ สายที่ไม่ใช่สายดั้งเดิม (ที่ได้รับการรับรองจากศูนย์กลางความรู้) และจากการได้ไปร่วมทำพิธีไสยศาสตร์ รวมทั้งจากการได้ไปพบปะเรียบรู้จาก พระอริยะของชาวบ้านที่ถูกพวกนักวิชาการมองว่าหรือตีตราว่าเป็น ลัทธิเกจิอาจารย์ แต่คนเหล่านั้นกลับมองอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งต่างไปจากความเข้าใจที่พวกนักวิชาการในศูนย์กลางพยายามยัดเยียดให้คนทั่วไป
(2) ท่านทั้งสองพูดถึงจุดด้อยของพุทธฝ่ายโลกุตรธรรมร่วมสมัยที่เราเรียก
ว่า "พุทธแบบปัญญาชน" น้อยมากราวกับว่ามันถูกต้องสมบูรณ์แล้ว หนังสือเล่มนี้ของเราจึงพยายามชี้ให้เห็นถึงจุดด้อยของพุทธฝ่ายโลกุตรธรรมร่วมสมัยที่ถูกมองข้ามมาโดยตลอด
เพื่อกันความเข้าใจผิด เราต้องขอย้ำอีกครั้งว่า การที่เราชี้จุดด้อยของพุทธฝ่ายโลกุตรธรรมร่วมสมัย ไม่ใช่เพราะเราไม่เห็นด้วย แต่เพราะเราเชื่อว่าการปรากฏตัวของโลกทัศน์ใหม่ ๆ อย่างพุทธฝ่ายโลกุตรธรรมร่วมสมัยมันย่อมมีทั้งข่าวดีและข่าวร้าย ข่าวดี
สำหรับชุมชนพุทธไทยก็คือการปรากฏตัวของพุทธแบบฝ่ายโลกุตรธรรมร่วมสมัยที่นำโดยท่านพุทธทาสมันได้ช่วยยกระดับภูมิปัญญาทางศาสนาให้แก่ประเทศนี้ แต่ ข่าวร้าย ก็คือ การมีใช้อำนาจความถูกต้องของโลกทัศน์แบบนี้ไป เข่นฆ่า (ทางความคิด) ต่อพุทธฝ่ายอื่น ๆ ภายในโลกทัศน์ที่หา "ความเข้าใจร่วมกัน" ไม่ได้ ดังในกรณีของสันติอโศก เป็นอาทิ
เราเชื่อว่าการกระทำเช่นนี้ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามคือ "เผด็จการทางความคิด" อย่างหนึ่งที่อาจทำให้เกิดบาปทางจิตวิญญาณต่อคนไทยอีก 80 % ของประเทศที่เชื่อในเรื่องเทพ, พรหม, ไสยศาสตร์ ฯลฯ ไม่น้อยไปกว่าพวกที่อ้างชื่อพระศาสดามาหากินแบบไดเร็กเซลล์
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการบอกกล่าวของเราที่มีต่อคนอื่น ๆ ที่กำลัง "ลอยคอ" อยู่ด้วยกัน เพื่อจะได้รู้ทิศรู้ทางกันบ้างว่าพวกเรา "ลอยล่อง" มาถึงไหนแล้ว เท่านั้นเอง หากความเห็นโต้แย้งใด ๆ ของเราที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้ได้สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ใดบ้าง เราขอขมาและอโหสิกรรมมา ณ ที่นี้ด้วย พวกเราเขียนหนังสือเล่มนี้ออกมาด้วยความรักใน "พระธรรม" และเพื่อนมนุษย์ผู้ร่วมแสวงหาธรรมทั้งหลายอย่างใจจริงและบริสุทธิ์ใจ
สุวินัย ภรณวลัย และ
เวทิน ชาติกุล
14 ตุลาคม พ.ศ. 2542
..................................................................................
สังคมไทยนี้มีผู้ศึกษา ผู้สนใจเรื่องชีวิตในแนวเร้นลับมากมาย มีความอยากรู้เกี่ยวกับอนาคตของตนเองผ่านทางเส้นลายมือ ฝ่าเท้า ดูดวงชะตา การทำบุญสะเดาะเคราะห์ การทำบุญเพื่อสะสมบุญ การไหว้ศาลพระพรหม พระภูมิ ศาลตายาย ผีบ้านผีเรือน ดูฤกษ์ ดูยาม เหล่านี้ล้วนแต่แทรกซึมอยู่ในจิตสำนึกของคนไทย หรือคนทั้งโลกก็ว่าได้ แต่จะมีปัญญาชนสักกี่คนที่มีความอาจหาญ และมีความสามารถพอที่จะมาเปิดเผยเรื่องราวที่ตนเชื่อ ที่รู้เห็นให้สาธารณชนได้รับรู้ โดยเฉพาะเปิดเผยให้กับคนในระดับปัญญาชนด้วยกัน เพราะเป็นการสุ่มเสี่ยงเหลือเกินที่จะถูกมองจากคนในสังคมระดับเดียวกันหรือสูงกว่าว่าเป็นคนเหลวไหล ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นพวกจิตนิยม หรือกำลังถอยหลังเข้าคลอง
ในสังคมของพวกปัญญาชน เราพูดกันเสมอว่า ให้ยอมรับความคิดที่หลากหลาย ให้เคารพความคิดเห็น ความเชื่อซึ่งแตกต่างกัน เพราะนั่นคือการรวมพลังสมองเพื่อการพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่า แต่เมื่อมีใครสักคนออกมาแสดงความเห็นที่ต่างออกไปและดูไม่เป็นวิทยาศาสตร์ คนผู้นั้นก็จะถูกตราหน้าในทางลบจากสังคมทันที
และก็ในสังคมนี้ ไม่อาจยอมรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมได้
นี้เองที่เป็นสาเหตุให้หลาย ๆ คนที่มีความคิดเห็นที่แปลกแยก ไม่กล้าเปิดเผยความเป็นตัวของตัวเอง
แต่กระแสสังคมแบบนี้ไม่อาจหยุดยั้ง อาจารย์สุวินัย ภรณวลัย และคุณเวทิน ชาติกุล ได้ ทั้งสองเปิดใจให้กับความรู้แปลก ๆ ใหม่ ๆ อย่างมีเหตุมีผล มีจังหวะก้าว เอาตัวเข้าไปศึกษา ทดลองปฏิบัติ กลั่นกรองจนความรู้ตกผลึก เป็นความรับรู้ของตนเอง จึงเป็นพลังสร้างสรรค์ กล้าคิด กล้าทำอย่างนอบน้อมถ่อมตนในการวิพากษ์ความเชื่อเร้นลับของสังคมไทยดังปรากฏในหนังสือเล่มนี้
ความเชื่อในสิ่งต่าง ๆ และความเชื่อมั่นของแต่ละคนต่างก็ถูกหล่อหลอมมาด้วยชาติภูมิ สิ่งแวดล้อมประเพณี การอบรมเลี้ยงดู การศึกษา ประสบการณ์ รวมตัวกันให้เกิดเป็นพื้นฐานแนวคิด เป็นระบบคิดของแต่ละคนซึ่งจะไม่เหมือนกันเลยในรายละเอียด หลายครั้งที่มีการกล่าวหากันว่า อีกฝ่ายมีความเชื่อมั่นในความคิด การกระทำของตนเองมากเกินไป ผู้ที่กล่าวหาว่า ผู้นั้นผู้นี้มีความเชื่อมั่นมากเกินไป คนที่กล่าวหาก็ย่อมจะมีความเชื่อมั่นในตนเองมากเช่นเดียวกัน จึงสามารถมีความเห็นเช่นนั้นได้
ดังนั้นเราจะมีอะไรเป็นตัววัดว่าผู้ที่กล่าวหาและผู้ที่ถูกกล่าวหาใครกันแน่ที่ยึดมั่นในความคิดของตัวเองมากกว่า ใครกันแน่ที่มีความคิดที่ถูกต้องเพราะคำพูด การกระทำของบุคคลหนึ่ง ในสถานการณ์หนึ่ง และในช่วงเวลาหนึ่ง ย่อมมีมาจากเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นก่อน และด้วยระบบคิดที่ถูกหล่อหลอมมารวมกับความรู้ ก็นำมาซึ่งวิธีการจัดการที่แตกต่างกัน ความถูกต้องของความคิดและการกระทำ จึงน่าที่จะดูผลต่อภาพรวมที่ปรากฏว่าส่งผลดีหรือผลร้ายต่อส่วนรวมต่างหาก บนพื้นฐานที่ไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝง
หากเรามองวิวัฒนาการของสังคมอย่างเป็นขบวนการหนุนเนื่องซึ่งกันและกัน เมื่อมองเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมา เราคงไม่อาจกล่าวว่าความเชื่อมั่น หรือความคิดของคนนั้น คนกลุ่มนั้น ถูกหรือผิด เพราะช่วงเวลาหนึ่ง สถานการณ์หนึ่ง วิธีการนั้น วิธีคิดแบบนั้นอาจเหมาะสมแล้ว แต่จะไม่เหมาะสมเมื่อเวลาผ่านไปและเงื่อนไขของสังคมเปลี่ยนไป แต่อย่างไรก็ตาม ความคิดเดิม คติเดิม ก็เป็นฐานของความคิดใหม่ คติใหม่ เพราะทุกสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง ทุกสิ่งล้วนเป็นปัจจัยอิงกันเกิด
หนังสือเล่มนี้ "ความเชื่อเร้นลับในสังคมไทย" ในจุดหนึ่ง เป็นสื่อที่ต้องการตักเตือนสังคมให้เปิดใจรับความหลากหลายทางความคิดเพราะการปิดกั้นแนวคิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่มีผลดีเลยต่อการพัฒนาความคิด พัฒนาจิตใจ
หลาย ๆ บทในหนังสือเล่มนี้ ได้เอ่ยอ้างถึงบุคคลผู้มีชื่อเสียงในเชิงจิตวิญญาณของสังคมไทยด้วยวิธีการทางวิชาการ ปราศจากอคติหรือการตีค่าล่วงหน้า หากผู้ที่ถูกเอ่ยอ้างหรือกลุ่มบุคคลผู้สนับสนุน จะถอนตัวตนของตนเองออกมาก่อนการอ่าน ก็จะพบความจริงใจที่ซ่อนในเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้
ด้วยหวังว่า หากมีการไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของอาจารย์สุวินัย และคุณเวทิน การสื่อสารอธิบายความการตอบโต้ คงเป็นไปในทางสร้างสรรค์ฉันท์พี่น้องผู้ร่วมทุกข์ด้วยกันทุกคน