2. ความมั่งคั่งปฏิวัติกับวิชันของทอฟฟ์เลอร์
วิชันของทอฟฟ์เลอร์ที่ตัวผมเห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่นั้น ตั้งอยู่บนการรับรู้ ความเป็นจริงของโลก ที่ว่านับตั้งแต่ทุนนิยมมีชัยเหนือสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ในปี ค.ศ.1990 เป็นต้นมา และพร้อมๆ กับการเติบใหญ่แบบก้าวกระโดดของพลังโลกาภิวัตน์ โลกใบนี้ก็ถูกปกครองโดยนักเก็งกำไรทางการเงิน และธุรกิจขนาดใหญ่
การรวมศูนย์ของทุนโดยผ่านการควบรวม และผนวกกิจการเพื่อรวมศูนย์อำนาจธุรกิจกลายเป็นเรื่องปกติ ขณะที่ระบบการเงินโลกก็ไร้เสถียรภาพเสียจนพวกนักเก็งกำไร ซึ่งเป็นผู้ก่อให้เกิดความไร้เสถียรภาพ และเป็นผู้หากินทำกำไรจากความไร้เสถียรภาพนั้น ก็ยังรู้สึกหวาดหวั่นกับความไร้เสถียรภาพของระบบที่ไม่อาจควบคุมได้นี้
แต่ วาทกรรมหลัก ที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ “ความเป็นจริงของโลก” ข้างต้นกลับเป็นว่า...หลังจากที่สังคมนิยมได้ล่มสลายลงไปแล้ว ทุนนิยมโลกและโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ-วัฒนธรรมก็กลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่อาจพลิกย้อนกลับได้ เพราะเราไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว ไม่ว่าเราจะชอบมันหรือไม่ก็ตาม จึงมีแต่ต้องเดินหน้าต่อไปร่วมกับลัทธิบริโภคนิยม การค้าเสรี และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าเราจะต้องเผชิญกับ หายนะแห่งการทำลายล้างสิ่งแวดล้อมโลกจากระบบทุนนิยม ก็ตาม แต่เราก็จะได้ ความมั่งคั่งปฏิวัติ เป็นรางวัลตอบแทน เพราะฉะนั้นผู้ที่จะสามารถอยู่รอดได้ และเจริญรุ่งเรืองได้ในเกมนี้ จึงต้องเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ชนะในการแข่งขันระดับโลกนี้ให้จงได้ ไม่ว่าจะต้องใช้วิธีการใดๆ ก็ตาม...
ผมคิดว่า วาทกรรม ของหนังสือ “ความมั่งคั่งปฏิวัติ” ของทอฟฟ์เลอร์ก็จัดอยู่ใน วาทกรรมหลัก ข้างต้นเช่นกัน เพียงแต่ในหนังสือเล่มนี้ ตัวเขามุ่งความสนใจไปที่ การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยพื้นฐานเชิงลึก ซึ่งได้แก่ เวลา พื้นที่ และความรู้ ซึ่งเป็นมุมมองที่ตัวผมคิดว่าน่าสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ ผมจะขอเริ่มจาก “เวลา” ก่อนเป็นอันดับแรก
ทอฟฟ์เลอร์ บอกว่า ประเทศทุนนิยมทั้งหลาย (ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย) กำลังเดินหน้าไปสู่วิกฤตที่ไม่มีประเทศใดต้องการ และเป็นวิกฤตที่ไม่มีผู้นำทางการเมืองคนใดเตรียมรับมือไว้ก่อน วิกฤตที่ว่านี้เป็นผลลัพธ์โดยตรงของปัญหา “การผิดจังหวะ” (desynchronization) ที่เกิดจากการปะทะกันระหว่างความเร็ว เพราะสถาบันหลักๆ ทางสังคมตามไม่ทัน พายุแห่งความเปลี่ยนแปลงที่โหมกระหน่ำเข้ามาอยู่ตลอดเวลา จนทำให้หน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคง หรือหน่วยงานที่ดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกต่อไป อีกทั้งยังตามไม่ทัน และไม่เท่าทันอัตราเร่งที่จำเป็นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนความรู้อีกด้วย
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ในขณะที่ สังคมต้องการสถาบันที่ทำงานทันกับจังหวะเวลา แต่รัฐบาลทั่วโลกกลับมีปัญหากับ “เวลา” เพราะสถาบันบางสถาบันในสังคมวิ่งเร็วเสียจนทิ้งสถาบันสำคัญอื่นๆ ในสังคมไว้เบื้องหลังไกลลิบ ซึ่งทอฟฟ์เลอร์ได้ยกตัวอย่างของประเทศอเมริกามาทำการเปรียบเทียบอย่างเป็นรูปธรรมให้เห็นภาพชัดๆ โดยเปรียบเหมือนกับความเร็วระดับต่างๆ ของรถยนต์บนทางด่วนดังต่อไปนี้
(1) หาก บริษัท หรือ ภาคธุรกิจเป็นสถาบันที่ “เปลี่ยนแปลง” หรือวิ่งด้วยความเร็ว 100 ไมล์ต่อชั่วโมงบนทางด่วน อันเนื่องจากในโลกธุรกิจ เทคโนโลยีก้าวหน้าไปเร็วมาก เร็วกว่าที่ผู้จัดการและพนักงานจะตามทัน มิหนำซ้ำยังสร้างแรงกดดันให้แก่ซัปพลายเออร์ และผู้จัดจำหน่ายต้องเปลี่ยนตาม ซึ่งไปเร่งการแข่งขันให้เข้มข้นยิ่งขึ้นไปอีก
(2) ภาคประชาสังคม (องค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่าย) จะวิ่งด้วยความเร็ว 90 ไมล์ต่อชั่วโมงบนทางด่วน ทั้งนี้เพราะการเคลื่อนไหวที่นำโดยกลุ่มเอ็นจีโอเป็นการเคลื่อนไหวของหน่วยเล็กๆ ที่มีความเร็ว และความยืดหยุ่นสูง ทำงานกันเป็นเครือข่าย พวกเขาจึงสามารถล้อมกรอบบริษัท และหน่วยงานของรัฐทำการประท้วง เรียกร้อง และกดดันได้
(3) รูปแบบครอบครัว (อเมริกัน) คือ สถาบันที่เปลี่ยนแปลงหรือวิ่งด้วยความเร็ว 60 ไมล์ต่อชั่วโมงบนทางด่วน ทำให้ความถี่ของการหย่าร้าง พฤติกรรมทางเพศ ความสัมพันธ์ระหว่างวัย พฤติกรรมการออกเดต การเลี้ยงดูลูก และมิติอื่นๆ ของชีวิตครอบครัวมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
(4) สหภาพแรงงาน คือ สถาบันที่วิ่งด้วยความเร็ว 30 ไมล์ต่อชั่วโมงบนทางด่วน เนื่องจาก “งาน” ได้กลายเป็นสิ่งที่เคลื่อนย้ายง่ายขึ้นเรื่อยๆ เราสามารถทำงานได้บนเครื่องบิน ในรถ ในโรงแรม และในร้านอาหาร แทนที่จะทำงานในองค์กรใดองค์กรหนึ่งเป็นเวลาหลายปีกับเพื่อนร่วมงานชุดเดียว ปัจเจกกลับมีแนวโน้มที่จะทำงานในทีมงานเฉพาะกิจเป็นรายโครงการ และร่วมงานกับผู้ร่วมงานใหม่ๆ อยู่เสมอ แนวโน้มเช่นนี้ทำให้ตัวเลขสมาชิกของสหภาพแรงงานในอเมริกาลดลงอย่างฮวบฮาบ
(5) หน่วยงานราชการและองค์กรกำกับดูแลภาครัฐ คือ สถาบันที่วิ่งด้วยความเร็ว 25 ไมล์ต่อชั่วโมงบนทางด่วน เนื่องจากระบบราชการมีทักษะในการปัดเสียงวิจารณ์ และชะลอการเปลี่ยนแปลงทีละเป็นสิบๆ ปี นักการเมืองจึงรู้ดีว่า การริเริ่มหน่วยราชการใหม่นั้น ง่ายกว่าการปิดหน่วยราชการเดิมมาก แม้ว่าหน่วยงานนั้นจะล้าสมัย หรือไร้ประโยชน์เพียงใดก็ตาม ระบบราชการจึงไม่เพียงกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างเชื่องช้าอย่างเดียวเท่านั้น แต่พวกเขายังกำลังชะลอความเร็วของสถาบันอื่นๆ ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคธุรกิจในการตอบสนองต่อเงื่อนไขตลาดที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วอีกด้วย
(6) ระบบโรงเรียน (ในอเมริกา) คือ สถาบันที่วิ่งด้วยความเร็ว 10 ไมล์ต่อชั่วโมงบนทางด่วน เนื่องจากระบบโรงเรียนในอเมริกาถูกออกแบบมาให้ผลิตแบบแมส ทำงานแบบโรงงาน บริหารจัดการแบบระบบราชการ และได้รับการคุ้มครองโดยสหภาพที่ทรงอิทธิพล และนักการเมืองที่ต้องพึ่งพาคะแนนเสียงของครู ระบบโรงเรียนในอเมริกา จึงเป็นกิจการผูกขาดที่ถูกออกแบบมาสำหรับรับใช้ยุคอุตสาหกรรมมากกว่าที่จะถูกออกแบบมาเพื่อเตรียมความพร้อมของนักเรียนสำหรับงานในเศรษฐกิจความรู้แห่งศตวรรษที่ 21
(7) กลุ่มองค์กรโลกบาล คือ สถาบันที่วิ่งด้วยความเร็ว 5 ไมล์ต่อชั่วโมงบนทางด่วน เนื่องจากโครงสร้างและแบบแผนการทำงานแบบราชการขององค์กรโลกบาลทั้งหลาย โดยเฉพาะสหประชาชาติกับองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ยังเป็นแบบเก่าอยู่
(8) ระบบการเมือง (รัฐสภาและพรรคการเมือง) คือ สถาบันที่วิ่งด้วยความเร็ว 3 ไมล์ต่อชั่วโมงบนทางด่วน เนื่องจากระบบการเมืองปัจจุบันไม่เคยถูกออกแบบมาจัดการกับความสลับซับซ้อน และความเร็วปานสายฟ้าแลบของระบบเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนความรู้ มิหนำซ้ำการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการเมืองยังเกิดขึ้นช้ามากๆ จนแทบมองไม่เห็น
(9) กฎหมาย คือ สถาบันที่เปลี่ยนแปลงช้าที่สุดในบรรดาสถาบันอันเชื่องช้าทั้งหมด เพราะวิ่งด้วยความเร็วแค่ 1 ไมล์ต่อชั่วโมงบนทางด่วนเท่านั้น
การที่สถาบันต่างๆ ในสังคมมีความเปลี่ยนแปลงในอัตราความเร็วที่ไม่เท่ากันดังข้างต้นนี้ ทอฟฟ์เลอร์บอกว่าได้ทำให้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงระหว่างความต้องการของเศรษฐกิจใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็วมากกับโครงสร้างเชิงสถาบันของสังคมที่เชื่องช้า และเฉื่อยชามากกลายเป็นหนึ่งในปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของสังคมทุนนิยมยุคปัจจุบัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันจะกลายเป็น ปัญหาการไม่เข้าจังหวะ หรือ การผิดจังหวะ (desynchronization) ของสถาบันต่างๆ ที่วิ่งด้วยความเร็วที่ไม่เท่ากัน แต่เชื่อมโยงกันเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ระบบโดยรวมไม่ทำงาน หรือทำงานอย่างขาดประสิทธิภาพ
บทบาทของการเข้าจังหวะ (synchronization) ในการผลิต และในการสร้างความมั่งคั่ง จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจ และผู้บริหารประเทศไม่ควรมองข้าม เพราะ “อุตสาหกรรมเข้าจังหวะ” (The Synchronization Industry) จะเป็นอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จในยุคของเศรษฐกิจแห่งความรู้อย่างในยุคปัจจุบัน
ไม่แต่เท่านั้น ระบบการผลิตที่เข้าจังหวะ ก็จะเป็นระบบการผลิตที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง และสามารถอยู่รอดในท่ามกลางความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจได้อีกด้วย เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทอฟฟ์เลอร์พูดถึงน้อยมาก ผมจึงอยากจะขยายความต่อจากทอฟฟ์เลอร์ว่า อุตสาหกรรมเข้าจังหวะ และระบบการผลิตที่เข้าจังหวะนั้น หมายถึงอะไร
สรุปแบบรวบรัดก็คือ ระบบการผลิตแบบโตโยต้า คือ ระบบการผลิตแบบเข้าจังหวะที่พัฒนาที่สุดในปัจจุบัน และอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่เรียกร้องการเข้าจังหวะมากที่สุดอุตสาหกรรมหนึ่งในปัจจุบัน