27. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ)
*กรณีล่มสลายของพวกนอร์สในกรีนแลนด์*
การล่มสลายของพวกนอร์สที่มีบรรพบุรุษเป็นพวกไวกิ้งที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่เกาะกรีนแลนด์ และอยู่ได้ยาวนานถึง 450 ปี ก่อนที่จะล่มสลายไปในที่สุด อันเนื่องมาจากปัญหาสภาพแวดล้อม มีลักษณะคล้ายคลึงกับการล่มสลายของชาวเกาะอีสเตอร์ และสังคมมายาที่ จาเร็ด ไดมอนด์ ผู้เขียนหนังสือ “ล่มสลาย” ได้กล่าวถึง และเราได้นำเสนอไปแล้ว ซึ่งก็มีสาเหตุมาจากปัญหาสภาพแวดล้อมเช่นกัน
แต่การศึกษากรณีล่มสลายของสังคมชาวนอร์สในกรีนแลนด์ มีข้อได้เปรียบหลายประการมากกว่า กรณีล่มสลายของสังคมบนเกาะอีสเตอร์ และกรณีล่มสลายของสังคมมายาตรงที่มีการดำรงอยู่ของบันทึกหรือข้อเขียนจากคนร่วมสมัยหรือผู้เห็นเหตุการณ์ร่วมสมัยเป็นจำนวนไม่น้อย ทำให้นักโบราณคดีสามารถรับรู้เรื่องราวที่ซับซ้อนกว่า และให้บทเรียนที่สมบูรณ์มากกว่า ชะตากรรมของชาวเกาะอีสเตอร์และชาวมายา โดยที่บรรดาชุดปัจจัยทั้งหมด 5 ข้อ ล้วนมีบทบาทต่อการล่มสลายของสังคมชาวนอร์สในกรีนแลนด์ทั้งสิ้น
เพราะพวกเขาได้ทำลายสิ่งแวดล้อมของตนเอง พวกเขาต้องประสบความทุกข์ยากจาก ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ พวกเขา ล้มเหลวในการตอบสนองเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัจจัย 3 ประการนี้ล้วนมีบทบาทในประวัติศาสตร์การล่มสลายของชาวเกาะอีสเตอร์ และสังคมมายามาแล้วด้วยเช่นกัน
ส่วนปัจจัยด้านการค้าขายกับสังคมภายนอกที่เป็นมิตร ก็มีบทบาทสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของกรีนแลนด์ แม้ว่าไม่ได้มีบทบาทในกรณีประวัติศาสตร์ของเกาะอีสเตอร์และสังคมมายา ท้ายที่สุดมีเพียงพวกนอร์ส (พวกไวกิ้ง) ที่เกาะกรีนแลนด์เท่านั้นที่เผชิญกับปัจจัยประการที่ 5 หรือการมีศัตรูจากภายนอก (พวกอินูอิต) ที่เข้ามาแทรกแซงอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง ด้วยเหตุนี้ เรื่องราวการเจริญรุ่งเรือง และล่มสลายของพวกไวกิ้งที่เข้ามาตั้งนิคมในเกาะกรีนแลนด์ จึงเป็นกรณีศึกษาการล่มสลายของสังคมในอดีตที่สมบูรณ์ที่สุด สมควรแก่การได้รับความสนใจอย่างละเอียด และจริงจังจากคนรุ่นหลัง ดังต่อไปนี้...
พวกไวกิ้งซึ่งเป็นพวกโจรสลัด และพวกปล้นสะดมนั้น แต่เดิมคือชาวสแกนดิเนเวียในยุคกลางของยุโรป ที่เริ่มต้นจากการเป็นพ่อค้าขนสัตว์มาก่อน แต่ครั้นเมื่อพวกเขาบางส่วนได้ค้นพบเส้นทางเดินเรือไปหาลูกค้าที่ร่ำรวย ที่สามารถใช้ทอง และเงินมาแลกเปลี่ยนค้าขายกับขนสัตว์ได้ พวกเขาก็เริ่มตระหนักว่า พวกเขาอาจได้เงินและทองมาง่ายๆ โดยไม่ต้องนำสินค้ามาแลกเปลี่ยนด้วย ด้วยการปล้นสะดมแทน พ่อค้าชาวสแกนดิเนเวียพวกนี้จึงกลายมาเป็นพวกไวกิ้งหรือพวกปล้นสะดมในที่สุด เพราะเรือ และลูกเรือของพวกไวกิ้งมีความรวดเร็วมาก เมื่อเทียบกับเรือของดินแดนอื่นๆ ในยุโรป พวกไวกิ้งจึงสามารถหลบหนีการไล่ล่าของบรรดาเรือชาวบ้านในท้องถิ่นที่แล่นช้ากว่าได้ รวมทั้งชาวยุโรปเองในตอนนั้นก็ไม่พยายาม “เอาคืน” หรือไม่เคยพยายามไปปล้นสะดมถิ่นที่อยู่ของชาวไวกิ้งเพื่อทำลายฐานที่มั่นของพวกนี้เลย
การปล้นสะดมของพวกไวกิ้งเริ่มขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนในตอนต้นเดือนมิถุนายน ค.ศ. 793 โดยพวกไวกิ้งได้บุกเข้าโจมตีอารามประจำเกาะลินดิสฟาร์มซึ่งมีฐานะมั่งคั่ง แต่ป้องกันตัวเองไม่ได้ นอกชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษ หลังจากนั้นการปล้นสะดมของพวกไวกิ้งก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงฤดูร้อนเมื่อท้องทะเลค่อนข้างเรียบ และแล่นเรือใบได้ดีกว่าช่วงเวลาอื่น
หลังจากนั้น พวกไวกิ้งก็ได้พัฒนากลยุทธ์การปล้นสะดมของพวกตนให้ซับซ้อน และยืดหยุ่นยิ่งขึ้น โดยการออกไปตั้งถิ่นฐานที่มั่นในฤดูหนาวบนชายฝั่งบางแห่งที่หมายตาไว้ เพื่อที่จะออกไปปล้นสะดมได้เร็วขึ้นในฤดูใบไม้ผลิที่จะมาถึง โดยไม่ต้องเดินทางกลับบ้านเกิดก่อนเหมือนแต่ก่อน จากกลยุทธ์นี้ต่อมาพวกไวกิ้งได้พัฒนาไปสู่การจัดตั้งบรรดารัฐไวกิ้งในต่างแดนในที่สุด
แต่ครั้นเมื่อเวลาผ่านไปนานมากเข้า การปล้นสะดมของชาวไวกิ้งในทวีปยุโรปค่อยๆ ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากชาวยุโรปที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของพวกไวกิ้ง ค่อยๆ รู้ตัว ปรับตัว และเริ่มป้องกันตนเองมากขึ้น ประกอบกับพระราชอำนาจของกษัตริย์อังกฤษ ฝรั่งเศส และจักรวรรดิเยอรมนีเพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ทำให้พวกไวกิ้งเริ่มรบแพ้ และถูกขับไล่จนไม่อาจปล้นสะดมได้ง่ายๆ อีกต่อไป ประจวบกับอาณาจักรสแกนดิเนเวียเองก็ได้วิวัฒนาการตนเองกลายเป็นรัฐปกติทั่วไปที่ทำการค้าขายกับรัฐอื่นๆ มิได้เป็นดินแดนของนักปล้นสะดมเหมือนแต่ก่อน
ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลทำให้พวกไวกิ้งไม่มีที่ยืนในถิ่นกำเนิดของตนเอง จึงต้องอพยพทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนของตนไปเสี่ยงชีวิตในดินแดนที่ยังมีพื้นที่ว่างเปล่าให้ครอบครองได้ในต่างแดน แม้ว่าจะเป็นดินแดนที่มีสภาพแวดล้อมที่ยากเข็ญอย่างเกาะกรีนแลนด์ก็ตาม
แม้ว่า กรีนแลนด์จะมีชื่อที่มีความหมายถึงดินแดนเขียวชอุ่ม แต่ในความเป็นจริง กรีนแลนด์มีสภาพภูมิทัศน์เพียงแค่ 3 สีเท่านั้น ได้แก่ สีขาว สีดำ และสีฟ้า โดยที่สีขาวดูโดดเด่นที่สุด และครอบคลุมบรรยากาศโดยรวม มีความเป็นไปได้ว่า ผู้ก่อตั้งถิ่นฐานชาวไวกิ้งรุ่นแรกๆ บนเกาะกรีนแลนด์เป็นผู้ตั้งชื่อนี้ขึ้นมาอย่างจงใจเพื่อจูงใจให้คนฟังเข้าใจผิดจะได้ชักชวนพวกไวกิ้งคนอื่นๆ ให้อพยพตามมาอยู่ด้วยอย่างต่อเนื่อง เกาะกรีนแลนด์เป็นพื้นที่สีขาวอันกว้างใหญ่ที่ทอดยาวไปไกลสุดสายตา อันได้แก่ พืดน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่สุดในโลกนอกทวีปแอนตาร์กติกาแนวชายฝั่งของเกาะกรีนแลนด์สูงชันจนถึงพื้นที่สูงที่ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง ซึ่งกินเนื้อที่เกือบทั้งเกาะ นอกจากนี้ยังมีธารน้ำแข็งขนาดมหึมาที่เคลื่อนตัวลงสู่ทะเล แต่ในทางชายฝั่งด้านตะวันตกจะมีพื้นที่สีน้ำตาลของพื้นกรวดกับพื้นที่สีเขียวอ่อนซึ่งปกคลุมไปด้วยมอสส์ และไลเคนส์
ด้วยเหตุนี้ ชีวิตในกรีนแลนด์จึงเป็นเรื่องของการหาผืนดินดีๆ ที่มีทรัพยากรซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ได้เป็นหลักใหญ่ เพราะร้อยละ 99 ของเนื้อที่ทั้งหมดของกรีนแลนด์เป็นพื้นที่สีขาวกับสีดำซึ่งไม่อาจอาศัยอยู่ได้ ยกเว้นพื้นที่สีเขียวซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในพื้นที่ที่เป็นระบบร่องน้ำ 2 แห่งเท่านั้น
นิคมของชาวนอร์สซึ่งมีบรรพบุรุษเป็นพวกไวกิ้งบนเกาะกรีนแลนด์นั้น ได้ตั้งอยู่บนถิ่นฐาน 2 แห่งตามแนวชายฝั่งด้านตะวันตกของเกาะกรีนแลนด์ ซึ่งถือว่าเป็นบริเวณที่มีสภาพอากาศที่ดีที่สุด โดยเปรียบเทียบของเกาะกรีนแลนด์ แต่สภาพอากาศบริเวณนี้สำหรับชาวยุโรปเองก็ยังเป็นสภาพอากาศที่หนาวเย็น แปรปรวน ลมแรงและหมอกจัดอยู่ดี สัตว์เลี้ยงที่ถือเป็นอาหารหลักของชาวนอร์สในกรีนแลนด์ได้แก่ แพะกับแกะ ซึ่งสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศแบบนี้ได้ดีกว่าวัว
นอกจากนี้ สัตว์ทั้งสองชนิดนี้ ยังสามารถขุดหาหญ้าใต้กองหิมะในช่วงฤดูหนาวขึ้นมากินเองได้ มิหนำซ้ำการเลี้ยงแกะยังใช้หญ้าแห้งสำหรับเลี้ยงน้อยกว่าวัวมากด้วย ภาระหน้าที่หลักของพวกนอร์สส่วนใหญ่ในกรีนแลนด์ในช่วงฤดูร้อน จึงเป็นการตัด ตาก และเก็บหญ้าแห้งในปริมาณที่มากพอสำหรับเลี้ยงสัตว์ได้ตลอดช่วงฤดูหนาวถัดไป
ช่วงที่พวกนอร์สขยายตัวเติบโตได้ในเกาะกรีนแลนด์นั้น สภาพภูมิอากาศที่นั่นยังบริสุทธิ์อยู่ ยังไม่เคยมีการตัดโค่นไม้ หรือเลี้ยงสัตว์กินหญ้ามาก่อน ขณะที่ดินแดนแห่งนั้นก็เหมาะสำหรับใช้เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ ประจวบกัน พวกเขาเดินทางมาถึงเกาะกรีนแลนด์ในช่วงเวลาที่เกาะกรีนแลนด์อยู่ในยุคที่สภาพอากาศค่อนข้างอบอุ่นไม่หนาวจัดจนเกินไป จึงเป็นช่วงเวลาที่ยังสามารถผลิตหญ้าแห้งได้อย่างเพียงพอแทบทุกปีในสมัยนั้น
แต่ต่อมา ปัจจัยที่เอื้ออำนวยตอนเริ่มตั้งถิ่นฐานใหม่ๆ ค่อยๆ กลับกลายมาเป็นอุปสรรคต่อการดำรงอยู่ในกรีนแลนด์ของพวกนอร์สมากขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญที่สุดคือ ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เข้าสู่ยุคน้ำแข็งน้อยในศตวรรษที่ 14 ที่ทำให้เกิดสภาพอากาศวิปริตผิดปกติ คือ มีฤดูหนาวที่เย็นจัดต่อเนื่องปีแล้วปีเล่ายาวนานนับเป็นสิบปี กับปัจจัยที่เป็นความผิดพลาดของพวกนอร์สเองในการทำลายสิ่งแวดล้อม จนทำให้เกิดความอดอยาก และการล่มสลายของระบบเศรษฐกิจทั้งระบบในที่สุด ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในตอนหน้า