42. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 42) 20/1/2552

42. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 42) 20/1/2552

โพธิสัตตบูรณา:เทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 42)

42. ความเป็นมาของทุนนิยมสามานย์ในประเทศไทย กับภารกิจทางประวัติศาสตร์ของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ต่อ)

ลักษณะพิเศษประการหนึ่งของทุนนิยมสามานย์ไทยก็คือ มันเติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับ การก่อตัวของเศรษฐกิจฟองสบู่ (พ.ศ. 2531-2539) ในประเทศไทยก่อนการเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ในประเทศไทย เศรษฐกิจไทยในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2527-2529 อยู่ในฐานะที่ย่ำแย่ เพราะนอกจากจะประสบกับพลวัตของทุนไทยที่อ่อนแอลงในระดับจุลภาคดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ในระดับมหภาค เศรษฐกิจไทยก็เผชิญกับปัญหาสถาบันการเงิน (“ราชาเงินทุน”) ล้ม จนรัฐบาลไทยต้องแบกหน้าไปขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และจำเป็นต้องหั่นงบประมาณรายจ่ายในปี 2528 และปี 2529 ติดต่อกันเพื่อรักษาวินัยทางการเงิน และการคลังของประเทศเอาไว้

แต่ครั้นพอย่างเข้าปี 2530 เศรษฐกิจไทยก็เริ่มฟื้นตัว เมื่อผู้นำรัฐบาลคนใหม่คือพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้อาศัยบุคลิกอันโดดเด่นเฉพาะตัวไปปลุกเร้าความเชื่อมั่นของนักธุรกิจให้เกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว ภายใต้นโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” เมื่อบรรยากาศการลงทุนเริ่มคึกคักขึ้น ประจวบกับเป็นจังหวะดีที่นักลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากญี่ปุ่นได้ตัดสินใจย้านฐานการผลิตเพื่อการส่งออกมาอยู่ที่ประเทศไทย เพื่อหนีพิษเงินเยนที่สูงขึ้นเท่าตัวในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ตามมาด้วยนักลงทุนจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในเอเชีย อาทิ ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ เป็นต้น จึงส่งผลให้ธุรกิจที่ดินในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางของการพัฒนาประเทศจากประเทศเกษตรกรรมไปสู่ประเทศอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดการขยายตัวทั้งในด้านการค้า การลงทุนภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการอย่างคึกคัก จนกลายเป็นภาวะ “บูม” ทางเศรษฐกิจในเวลาต่อมา

ผลของภาวะบูมดังกล่าวทำให้ความต้องการที่ดินเพื่อนำมาเป็นสถานที่ตั้งโรงงาน สำนักงาน สนามกอล์ฟ รีสอร์ต ที่อยู่อาศัย และโรงแรมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว จนทำให้ธุรกิจซื้อขายที่ดินกลายเป็นธุรกิจใหม่ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำให้พวกนายหน้าค้าที่ดินได้กำไรอย่างงดงามเพียงชั่วข้ามคืน

เกิดเศรษฐีใหม่กว่า 2 แสนคนที่ร่ำรวยจากการค้าที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ และการเล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ผลที่ตามมาก็คือ มีการปั่นราคาที่ดินทำให้ราคาที่ดินมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นสิบเป็นร้อยเท่า บรรดานักเก็งกำไรก็ยิ่งได้ใจจึงไปกว้านซื้อที่ดินมากักตุนไว้เป็นจำนวนมาก เพื่อหวังขายต่อให้แก่นักลงทุนต่างชาติอีกทีหนึ่ง โดยเฉพาะในทำเลที่มีศักยภาพในการลงทุนสูง ผลจากการที่ไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตนเองที่สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ จึงทำให้นักธุรกิจและนายทุนไทยจำนวนไม่น้อยผันตัวเองไปเป็น “นักเก็งกำไร” แทน อันเป็นลักษณะพิเศษของทุนนิยมสามานย์ในประเทศไทย

ประเทศไทยในช่วงนั้น สภาพคล่องทางการเงินมีอยู่สูงมาก “เงินนอก” สามารถเข้าง่ายออกง่าย อัตราดอกเบี้ยในระยะนั้นเพียง 11.5% จึงทำให้ธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายสนับสนุนการปล่อยกู้สินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินอย่างเต็มที่ และเป็นไปอย่างง่ายดายมาก ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งเสริมพวกนักเก็งกำไรให้เข้ามาสู่ธุรกิจฟองสบู่อย่างเต็มตัวเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม โอกาสทองในการลงทุนและเก็งกำไรก็ไม่ได้มีอยู่ตลอดไป

ครั้นพอย่างเข้าต้นปี 2533 ความเคลื่อนไหวของการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็เริ่มแผ่วลง โดยมีปัจจัยมาจากการเกิดปัญหาการขาดแคลนวัสดุก่อสร้างที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ ตามจำนวนโครงการลงทุนที่เริ่มทยอยการก่อสร้าง ประจวบกับเกิดวิกฤตการณ์สงครามอ่าวเปอร์เซีย ในช่วงปลายปี 2533 ทำให้ตลาดเก็งกำไรหดหายไปจากตลาดเป็นการชั่วคราว ความซบเซาจึงเข้ามาแทนที่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ เช่นเดียวกับที่ราคาที่ดินที่เข้าสู่ภาวะทรงตัวและหยุดการเคลื่อนไหวชั่วขณะ

ท่ามกลางปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับนักธุรกิจในประเทศเพราะฟองสบู่ลูกเล็กกำลังจะเริ่มแตก กลับปรากฏว่ามีกลุ่มนักธุรกิจจากต่างประเทศที่มีความพร้อมในเรื่องเงินทุน และเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้ “แห่” เข้ามาลงทุนในประเทศไทยอีกอย่างต่อเนื่อง ตลอดเวลาในช่วงปี 2534 จึงเป็นการช่วย “ต่ออายุ” ให้แก่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย

กลุ่มทุนต่างชาติที่เข้ามาในตอนนั้น ส่วนใหญ่เป็นทุนจากญี่ปุ่นกับฮ่องกง โดยเข้ามาในลักษณะร่วมทุนกับกลุ่มธุรกิจตระกูลดังๆ แม้ว่าเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 จะได้กระหน่ำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้หยุดชะงักอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่กำลังจะเริ่มฟื้นตัวโดยแรงอัดฉีดของทุนต่างชาติ แต่ก็เป็นการชั่วคราวเท่านั้น ภายหลังจากที่เมฆหมอกทางการเมืองเริ่มจางหายไป ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ของไทยและต่างประเทศสามารถเปิดให้ บริการวิเทศธนกิจ (BIBF) ได้เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2536 ซึ่งเป็นบริการให้กู้เงินและรับฝากเงินตราต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา สิ่งนี้ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยมีแหล่งเงินทุนใหม่จากต่างประเทศ ที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่าการกู้เงินในประเทศไทย มากระตุ้นขยาย “ฟองสบู่” ให้พองโตขึ้นมาอีก และใหญ่กว่าเก่าได้อีกครั้ง จะเห็นได้ว่า นโยบายสาธารณะของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถส่งผลให้เกิด “ฟองสบู่” ได้ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

เพราะฉะนั้นตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จึงหันกลับมาทุ่มเทการลงทุนในโครงการใหม่ๆ อีกอย่างบ้าคลั่งยิ่งกว่าเก่า สิ่งที่เกิดตามมาก็คือ เกิดการแห่ซื้อที่ดินเพื่อกักตุนไว้เป็นแลนด์แบงก์ มันเป็นความผิดพลาดและบกพร่องอย่างยิ่งของทางการไทยในสมัยนั้น ที่ดันทุรังดำเนิน นโยบายสนับสนุนฟองสบู่ แทนที่จะผลักดัน นโยบายป้องปรามฟองสบู่ ผลจึงเป็นความหายนะทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในอีก 4 ปี หลังจากนั้นคือ ในปี 2540 เมื่อฟองสบู่ลูกที่สองแตกอย่างถาวรกลายเป็น “วิกฤตต้มยำกุ้ง”

เมื่อฟองสบู่ลูกที่สองเริ่มแตกในปี 2539 มันเริ่มจากภาคอสังหาริมทรัพย์ก่อนเสมอ แล้วจึงค่อยลุกลามไปถึงสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่ออย่างไม่ระมัดระวังเพราะความโลภ หวังดอกเบี้ย เนื่องจากในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ สินเชื่อส่วนใหญ่จะไปกระจุกตัวที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ดิน และหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงในช่วงฟองสบู่พองตัว แต่มันจะกลายเป็นหนี้เสียได้ง่ายในช่วงฟองสบู่แตก หายนะทางเศรษฐกิจจากการแตกของฟองสบู่ในประเทศไทย จึงปรากฏออกมาในรูปของวิกฤตการณ์ของระบบการเงินอันมีผลจากการขาดสภาพคล่องของสถาบันการเงิน และปัญหาหนี้เสีย ที่เพิ่งแผลงฤทธิ์ออกมาในปี 2540 จนทางการต้องประกาศปิดกิจการสถาบันการเงินไปเป็นจำนวนมาก

สาเหตุของวิกฤตการณ์ของระบบการเงินในปี 2540 นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของธนาคารแห่งประเทศไทย ในเรื่องอนุญาตให้เปิดบริการวิเทศธนกิจ (BIBF) กับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่ถูกตรึงไว้ด้วยระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ในระบบตะกร้าเงิน และอิงกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐอเมริกาเป็นเวลายาวนานนับสิบปี อีกทั้งยังล้มเหลวในการส่งสัญญาณเตือนภัยจากเศรษฐกิจฟองสบู่แตกก็จริง แต่ผู้ที่สมควรถูกประณามมากที่สุดในฐานะที่เป็นตัวการที่ก่อให้เกิดหายนะทางเศรษฐกิจในครั้งนั้นก็คือ พวกผู้บริหารสถาบันการเงินทั้งหลาย ที่ทั้งโลภ มักง่าย ขาดความรับผิดชอบในการดูแลบริหารเงิน ขาดความเข้มงวดในการติดตามดูแลคุณภาพสินทรัพย์หรือสินเชื่อที่ปล่อยออกไป อีกทั้งยังขาดความพยายามในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อหาทางเพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียม และค่าบริการให้มีสัดส่วนมากขึ้น แทนที่จะหวังพึ่งรายได้จากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเป็นหลักแบบ “เสือนอนกิน” เหมือนที่แล้วมา

ตลาดหุ้นหรือตลาดหลักทรัพย์ที่เป็น “ลูกแฝดฟองสบู่” คู่กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก็เป็นตัวการและเป็นผู้รับเคราะห์จากเศรษฐกิจฟองสบู่ด้วยเช่นกัน เพราะจากมูลค่าการซื้อขายรวมเฉลี่ยต่อวันแค่ 40 ล้านบาท ในปี 2527 ได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 3,240 ล้านบาทต่อวัน ในปี 2534 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่เคยอยู่ในระดับ 400-500 จุดก่อนเกิดฟองสบู่ก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 1,000 จุด ในช่วงระหว่างปี 2531-2532 เพราะเริ่มมีเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยในปริมาณมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระหว่างปี 2535-2538 ที่เงินทุนจากต่างชาติได้เข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้นไทยอย่างท่วมท้น โดยจะเห็นได้จากดัชนีหุ้นไทยได้ปรับตัวขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 1,700 จุด ในปี 2536 อันเป็นระดับดัชนีราคาหุ้นที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์มา

การที่ตลาดหุ้นพุ่งขึ้นสูงมากในช่วงนี้ ได้ล่อใจนักธุรกิจและนายทุนไทย นอกตลาดหลักทรัพย์ให้เข้ามาเป็นบริษัทจดทะเบียนมากขึ้น เพื่อหวังระดมทุนจากประชาชนที่ทำได้ง่าย และเป็นแหล่งเงินต้นทุนต่ำ เมื่อเทียบกับการกู้เงินจากสถาบันการเงิน แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ มันทำให้นักธุรกิจไทยบางคนกลายเป็น “มหาเศรษฐี” ในชั่วเวลาปีสองปีเท่านั้น หลังจากที่ได้นำบริษัทของตนเข้ามาจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ ในบรรดา “มหาเศรษฐีเกิดใหม่” ในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่นี้ ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ สนธิ ลิ้มทองกุล แห่งเอ็มกรุ๊ปที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดมาจากธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ในเครือผู้จัดการกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ร่ำรวยอย่างมหาศาลจากธุรกิจสัมปทานโทรศัพท์มือถือ เพราะเส้นทางชีวิตของนายทุนสองคนนี้ หลังจากนั้นถือว่ามีลักษณะที่ตรงกันข้ามอย่างเห็นได้ชัด

ในขณะที่ สนธิ ลิ้มทองกุล ร่ำรวยขึ้นมาจากธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ในยุคฟองสบู่ แต่กลับประสบกับการล้มละลาย หลังฟองสบู่แตกจนตัวเขาต้องหันมาทบทวนวิถีชีวิตแบบนายทุนของตัวเองที่ผ่านมา และกลับมาเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาโบราณ โดยเฉพาะภูมิปัญญาตะวันออก จนเริ่มหันมาปฏิบัติธรรม เจริญสติภาวนาอย่างจริงจัง กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงจิตวิญญาณอย่างลึกซึ้ง

ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ร่ำรวยอย่างเหลือเชื่อจากธุรกิจสัมปทานโทรศัพท์มือถือในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ และรอดพ้นจากหายนะทางเศรษฐกิจในช่วงฟองสบู่แตก กลับเบนเข็มมาเล่นการเมืองอย่างเต็มตัวมุ่งเข้าสู่อำนาจรัฐ โดยเห็นว่า มีแต่การยึดกุมอำนาจรัฐเท่านั้น จึงจะสามารถสร้างความมั่นคงให้แก่กลุ่มธุรกิจของตน และสามารถสั่งสมความมั่งคั่งให้ร่ำรวยยิ่งๆ ขึ้นไปอีกต่อไปได้ โดยการใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือ

การเติบใหญ่ทางจิตวิญญาณหลังฟองสบู่แตกของ สนธิ ลิ้มทองกุล ที่แลเห็นถึงความเป็นทุนนิยมสามานย์ในประเทศไทย จากบทเรียนของตัวเขาและของนายทุนหลักคนอื่นๆ ได้นำ สนธิ ลิ้มทองกุล ให้ลุกขึ้นสู้กับทุนนิยมสามานย์ และนำไปสู่การแตกหักกับ ระบอบทักษิณ ในเวลาต่อมาราวกับถูกฟ้าลิขิตให้ต้องเป็นเช่นนั้นก็ไม่ปาน






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้