โพธิสัตตบูรณา:เทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 45)
45. ความเป็นมาของทุนนิยมสามานย์ในประเทศไทย กับภารกิจทางประวัติศาสตร์ของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ต่อ)
ระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย ภายใต้การพัฒนาแบบทุนนิยมสามานย์ตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมานั้น น่าจะจัดอยู่ในประเภท ระบอบประชาธิปไตยระยะผ่าน (Transitional Democracy) กล่าวคือ พ้นจากสภาพระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมาแล้ว แต่การพัฒนาสถาบันการเมือง โครงสร้างการปกครอง รวมทั้งการพัฒนาวัฒนธรรมทางการเมืองกับจิตสำนึกทางการเมืองของผู้คน และนักการเมืองยังไม่หยั่งลึกมั่นคงพอที่จะเรียกว่าเป็น ระบอบประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นแล้วได้ (Established Democracy)
ลักษณะพิเศษของ ระบอบประชาธิปไตยระยะผ่าน ก็คือ รัฐบาลพลเรือน (นายทุน) ที่มาจากการเลือกตั้ง ยังไม่อาจคุมทหารได้เด็ดขาด ตัวรัฐบาลนายทุนเองก็ยังเห็นถึงความสำคัญทางการเมืองของกองทัพ จึงเลือกที่จะผูกพันธมิตรกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่มากกว่าที่จะแตกหัก ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลพลเรือนจึงมีแนวโน้มที่จะสถาปนาระบบที่นายทุน นักการเมือง ขุนศึก ศักดินาและเทคโนแครตสามารถอยู่กันได้อย่างเกื้อกูล จนก่อตัวเป็น ชนชั้นนำคณาธิปไตย กลุ่มหนึ่งที่แผ่เครือข่ายระบอบอุปถัมภ์ครอบคลุมไปทั่ว แต่สมดุลแห่งพลังอำนาจระหว่างนายทุน-นักการเมือง-ขุนศึก-ศักดินา และเทคโนแครตนี้ได้เริ่มสูญเสียไป เมื่อเกิด “ผู้นำที่เข้มแข็งที่เป็นนายทุนผูกขาด” อย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้เข้ามารวบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จตั้งแต่ปี 2544-2549
ประชาธิปไตยในยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงเป็นประชาธิปไตยเพียงแค่รูปแบบที่กระบวนการเลือกตั้งก็เป็นแค่การให้เอกสิทธิ์แก่ประชาชนไทยเพียง 4 วินาที ในการเลือกผู้มาเป็นผู้นำเผด็จการเท่านั้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า สิ่งที่เรียกกันว่า ระบอบทักษิณ นั้นที่แท้ก็คือ ระบอบเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งผุดบังเกิดขึ้นมาจากระบอบประชาธิปไตยระยะผ่านนั่นเอง
ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยระยะผ่านของประเทศไทย ก่อนที่จะผุดบังเกิด ระบอบทักษิณ นั้น ตัวแปรที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอำนาจทางการเมืองคือ ชนชั้นกลางไทย โดยที่ ชนชั้นกลางไทย เป็นกลุ่มชนที่ทรงพลังทางการเมืองที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มชนอื่น แต่แม้กระนั้น ชนชั้นกลางไทย ก็ยังมี ขีดจำกัดทางการเมือง อันเกิดจาก ข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์แบบ “สองนคราประชาธิปไตย” (ทฤษฎีของเอนก เหล่าธรรมทัศน์) ซึ่งอธิบายว่า
ชนชั้นกลางไทย เป็นเพียง ฐานนโยบาย ของพรรคการเมือง แต่ไม่ได้เป็น ฐานเสียง ของพรรคการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาล ในขณะที่ชาวไร่ชาวนาก็เป็นเพียง ฐานเสียง แต่ไม่ได้เป็น ฐานนโยบาย ของพรรคการเมือง (อย่างน้อยก็พรรคการเมืองก่อนหน้าพรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร)
ด้วยเหตุนี้ การเมืองไทยในรอบ 30 กว่าปีที่ผ่านมานี้ ชนชั้นกลางไทย จึงทำได้อย่างมากแค่ ล้ม รัฐบาล แต่ไม่มีพลังอำนาจพอที่จะ ตั้ง รัฐบาลของตนขึ้นมาได้ ขณะที่ชาวนาชาวไร่ไทยก็ทำได้แค่ ตั้ง รัฐบาลแต่ไม่มีศักยภาพ และพลานุภาพมากพอที่จะ ควบคุม และ ถอดถอน รัฐบาลนั้นได้ จึงมีผลทำให้ ระบอบประชาธิปไตยเพียงรูปแบบ ที่ประเทศไทยนำเข้ามาแค่รูปแบบสถาบันตั้งแต่ปี 2475 จึงไม่อาจพัฒนาตั้งมั่นได้อย่างเต็มที่ แต่กลับมีพัฒนาการแบบล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด
โดยเฉพาะระบอบเลือกตั้งที่ได้กลายเป็นระบบการซื้อ และขายเสียงมีการใช้เงินอย่างมหาศาลในการเลือกตั้ง ทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องถอนทุนคืนหลังการเลือกตั้ง จนกลายเป็น วงจรอุบาทว์ของปัญหาคอร์รัปชัน และธุรกิจการเมือง โดยที่ผู้แทนราษฎรก็มักเป็น “ผู้แทน” ของกลุ่มผู้มีอิทธิพลและผู้มีเงินมากกว่าที่จะเป็นตัวแทนผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชน ขณะเดียวกันก็เกิดการเผชิญหน้ากันเป็นระยะๆ ระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับขบวนการภาคประชาชน เนื่องจากรัฐบาลขาดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพวกเขา
การปรากฏตัวของพรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่นำเสนอ แนวทางแบบประชานิยม เมื่อปี 2544 นั้น หากดูเผินๆ จะเหมือนกับว่า พรรคการเมืองพรรคนี้จะพยายามแก้ไขสภาพปมขัดแย้งของ “สองนคราประชาธิปไตย” ข้างต้น เพราะนี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีพรรคการเมืองไทยในระบบรัฐสภาอย่างพรรคไทยรักไทยที่มุ่งใช้ชาวนาชาวไร่ในภาคอีสาน และภาคเหนือเป็น ฐานนโยบาย ของพรรคตน ไม่ใช่เป็นแค่ ฐานเสียง เท่านั้นเหมือนอย่างที่ผ่านมา
แต่ในความเป็นจริง การณ์กลับเป็นว่า ฐานนโยบายเชิงประชานิยมของพรรคไทยรักไทยที่มุ่งเอาใจชาวนาชาวไร่อย่างไม่ลืมหูลืมตานั้น ในด้านหนึ่งมันกำลังสร้างหายนะทางเศรษฐกิจรอบใหม่ให้แก่ประเทศไทยเหมือนอย่างที่ได้เคยเกิดกับประเทศแถบละตินอเมริกามาแล้ว ซึ่งสร้างความวิตกและความไม่พอใจให้แก่ชนชั้นกลางไทยเป็นอย่างมาก เพราะในอีกด้านหนึ่งมันเหมือนกับว่า รัฐบาลพรรคไทยรักไทย กำลังมุ่งที่จะ “ตัดตอน” “เพิกเฉย” “มองข้าม” พลังของชนชั้นกลางไทยไม่ให้มีศักยภาพในการล้มรัฐบาลได้เหมือนที่ผ่านมาอีกต่อไป
สรุปสั้นๆ ก็คือ การมุ่งสลายพลังในการล้มรัฐบาลของชนชั้นกลางไทย โดยมุ่งใช้ชาวชนบทในภาคอีสานและภาคเหนือเป็นทั้งฐานเสียง และฐานนโยบายเชิงประชานิยมไปพร้อมๆ กันของพรรคไทยรักไทย ภายใต้การนำของนายกฯ ทักษิณ ทำให้ การเผชิญหน้ากันทางประวัติศาสตร์ระหว่างชนชั้นกลางไทยกับระบอบทักษิณ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
แรงผลักดันทางประวัติศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลัง การเผชิญหน้ากันระหว่างชนชั้นกลางไทยในนามของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับระบอบทักษิณ ที่เริ่มต้นจาก “ปรากฏการณ์สนธิ” ในเดือนกันยายนปี 2548 นั้น มีที่มาจาก 2 ทาง ทางหนึ่งคือ แรงผลักดันจากโลกาภิวัตน์ อีกทางหนึ่งคือ แรงผลักดันจากการเปลี่ยนแปลงในภาคชนบทไทย
อิทธิพลของโลกาภิวัตน์ซึ่งประกอบขึ้นมาจากเครือข่ายข้อมูลไฮเทคที่มีอำนาจสูง กลไกการกระตุ้นความอยากในการบริโภคขนานใหญ่ และลัทธิเอกนิยมทางวัฒนธรรมแบบป็อป ได้บีบอัดชาติต่างๆ ซึ่งรวมทั้งชาติไทยด้วย ให้เข้าไปมีสัดส่วนในพื้นที่ส่วนหนึ่งในโลกแห่งมายาไร้สาระของโลกาภิวัตน์ที่การสื่อสารข้อมูล ความบันเทิง เศรษฐกิจและการเมืองได้ถูกโยงเข้าด้วยกันเป็นเรื่องเดียว พร้อมๆ กับการครอบงำทางความคิดที่หยั่งลึกด้วย “อำนาจแบบอ่อน” (soft power) ของโลกาภิวัตน์ที่ทำให้ผู้คนยินยอมเห็นชอบด้วยในการที่จะถูกครอบงำโดยไม่รู้ตัวเสียก่อน โดยผ่านกระบวนการทำให้เป็นสากลทางวัฒนธรรมของชาติมหาอำนาจผนวกกับการสร้างชุดกฎเกณฑ์ที่ได้รับการเห็นดีเห็นงาม ในการที่จะควบคุมเชิงสถาบันในพื้นที่ที่เกี่ยวกับกิจกรรมในระดับนานาชาติ
ระบอบทักษิณ ซึ่งเป็นอีกชื่อหนึ่งของ ระบอบเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง (Democratic Authoritarianism) นั้นที่แท้ก็คือ การจับคู่กันหรือการสังวาสสมสู่กันอย่างอัปลักษณ์ระหว่างด้านมืดของโลกาภิวัตน์กับระบบอำนาจนิยมในบริบทของสังคมไทยนั่นเอง
เพราะในด้านหนึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทยได้ใช้เทคโนโลยีเชิงอำนาจแบบอ่อน ในการครอบงำความรู้สึกนึกคิดและจิตใจของชาวชนบทที่เป็นฐานเสียงและฐานนโยบายผสานกับเทคนิคทางด้านการตลาดในการสร้างภาพลักษณ์ให้แก่รัฐบาลและตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ
แต่ในอีกด้านหนึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ และพวกพ้องในรัฐบาลกลับแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนอย่างขาดหิริโอตตัปปะด้วย “ผลประโยชน์ทับซ้อน” กับ “การคอร์รัปชันเชิงนโยบาย” อีกทั้งยังดำเนินนโยบายแบบตามใจชอบอย่างอำนาจนิยมที่เต็มไปด้วยอวิชชา และอัตตามิจฉาทิฐิ จนสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศไทยในแทบทุกๆ ด้าน ดังที่ได้เป็นที่ประจักษ์ในเวลาต่อมา
ภายใต้ระบอบทักษิณนี้ ด้านมืดของโลกาภิวัตน์กับด้านลบของอำนาจนิยมได้สร้างความคับข้องใจ และความไม่สบายใจทางจิตวิญญาณให้แก่ ชนชั้นกลางไทย เป็นจำนวนเพิ่มมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ชนชั้นกลางไทยที่กำลังคับข้องใจเหล่านี้เริ่มรู้สึกว่า ภายใต้ระบอบทักษิณนี้ คุณค่าความหมายทางวัฒนธรรม ทางจิตวิญญาณ ทางศีลธรรม และทางจริยธรรมกำลังถูกดูหมิ่นดูแคลนอย่างร้ายแรง
สิ่งต่างๆ ที่พวกเขาเคยใช้ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นชาติ ศาสนาหรือสถาบันพระมหากษัตริย์ดูเหมือนกำลังถูกโยกคลอนอย่างรุนแรงโดยระบอบทักษิณนี้ พอชนชั้นกลางไทยกลุ่มใหญ่เริ่มเชื่อเช่นนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับมีหน่วยแพร่ “ยีนทางความคิด” ที่ทำงานอย่างแข็งขันอย่างสื่อในเครือผู้จัดการ โดยเฉพาะ ASTV จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่ขุมพลังของชนชั้นกลางไทยอย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในการลุกขึ้นมาโค่นระบอบทักษิณในเวลาต่อมา
นอกจาก แรงผลักดันจากโลกาภิวัตน์ ที่ทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างชนชั้นกลางไทยกับระบอบทักษิณแล้ว แรงผลักดันจากการเปลี่ยนแปลงในภาคชนบทไทย ก็เป็นตัวเสริมความเข้มแข็งให้แก่ระบอบทักษิณ และลดทอนพลังอำนาจของชนชั้นกลางไทยโดยสัมพันธ์ ซึ่งนำไปสู่ “การเผชิญหน้าทางความคิด” อย่างรุนแรงระหว่างชาวชนบทกับชนชั้นกลางไทยในเวลาต่อมา
นับตั้งแต่มีการพัฒนาแบบทุนนิยมสามานย์ในปี 2531 เป็นต้นมา ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมานี้ ชนบทไทยได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดคือ การผลิตในภาคเกษตรลดความสำคัญลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การทำงานนอกภาคเกษตรของชาวนาไทยได้ขยายตัวขึ้นมากจนได้กลายมาเป็นแหล่งที่มาของรายได้หลักในการดำรงชีวิต โดยที่ได้รับการเกื้อหนุนจากรัฐในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเพิ่มขึ้นด้วย อีกส่วนหนึ่งส่งผลทำให้ผลประโยชน์ของรัฐตกถึงมือชาวบ้านโดยตรง โดยผ่านอิทธิพลของนักการเมืองมากขึ้นกว่าสมัยก่อนอย่างเห็นได้ชัด
เพราะฉะนั้น แม้ว่าชาวชนบทไทยจำนวนไม่น้อยจะยังคงทำงานในภาคเกษตร แต่พวกเขาก็ได้กลายมาเป็น “ชาวนาที่ปรับตัวเก่ง” ซึ่งมีอาชีพที่หลากหลาย มีรายได้เพิ่มขึ้นจากหลายช่องทาง มีรสนิยมรูปแบบการบริโภคที่แตกต่างไปจากชาวชนบทสมัยก่อน ทั้งนี้ก็เพราะว่า ผู้คนเหล่านี้ไม่ได้มีชีวิตอยู่แต่ในหมู่บ้านของตนเหมือนอย่างบรรพบุรุษของพวกเขา หากแต่เดินทางเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างเมืองกับชนบท บางคนอาจเคยมีประสบการณ์ของการอยู่ต่างประเทศในฐานะแรงงานข้ามชาติ ผู้คนเหล่านี้จึงให้ความสำคัญกับการศึกษา สนใจติดตามข่าวสารบ้านเมือง และได้รับอิทธิพลจากสื่อของรัฐ โดยเฉพาะฟรีทีวีและวิทยุ จึงเห็นความสำคัญของการติดต่อสื่อสาร และการสร้างเครือข่ายทางสังคมเพื่อประโยชน์ในการทำมาหากิน และเพื่อสร้างช่องทางในการค้าขาย
นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกชาวชนบทกลุ่มนี้ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในภาคเหนือ และภาคอีสานว่า “ชนชั้นกลางระดับล่าง” ผู้ซึ่ง “จงรักภักดี” ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทยของเขาอย่างจริงใจ และรู้สึกว่านี่คือ “ประชาธิปไตย” ที่พวกเขาใฝ่หามาโดยตลอด ไม่ใช่ “ประชาธิปไตย” แบบที่กีดกันพวกเขาออกจากการจัดสรรผลประโยชน์ของรัฐเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา
และแล้ว ชนชั้นกลางไทย กับ “ชนชั้นกลางระดับล่าง” ในภาคเหนือและภาคอีสาน ที่มอง “ประชาธิปไตย” ไม่เหมือนกัน จึงประเมินคุณค่าของ ระบอบทักษิณ ต่างกันอย่างสุดขั้ว ก็นำไปสู่ความขัดแย้งทางความคิดระหว่างปัญญาชน “หัวก้าวหน้า” ในสังคมไทยอย่างรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และทำให้ การต่อสู้ทางวาทกรรม กลายเป็น สนามรบทางการเมืองที่สำคัญที่สุด ใน “สงครามครั้งสุดท้าย” ของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในปี 2551