ความอัศจรรย์ของจักรทั้งเจ็ด

ความอัศจรรย์ของจักรทั้งเจ็ด



ความอัศจรรย์ของจักรทั้งเจ็ด


"ถ้าดักแด้ยังกลายเป็นฝีเสื้อได้
มนุษย์สามัญชนผู้มีความเพียรพยายาม
ก็ย่อมสามารถกลายเป็นบรมคนได้เช่นกัน"
นิรนาม


ตัวอ่อนของแมลงผ่านการลอกคราบ หลายครั้ง ก่อนจะกลายเป็นดักแด้ในขั้นตอนสุดท้าย ก่อนที่ตัวอ่อนของแมลงจะกลายมาเป็นดักแด้นั้น มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นภายในร่างกายของตัวอ่อน นั่นคือ "ฮอร์โมน" ที่ถูกผลิตออกมาเพื่อธำรงรักษาความเป็นตัวอ่อนของแมลงนั้น ค่อย ๆ มีปริมาณลดน้อยลงตามลำดับ ขณะเดียวกันตัวอ่อนก็จะเลิกรับประทานอาหารเข้าสู่สภาพสงบนิ่ง ซึ่งถ้าดูเผิน ๆ จากภายนอก จะเหมือนกับว่าตัวอ่อนกำลังหลับอยู่ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ !


ในขณะนั้น ภายในร่างกายของตัวอ่อนกำลังมีการเคลื่อนไหว อย่างคึกคัก ซึ่งไม่อาจมองเห็นได้จากภายนอก "ฮอร์โมนเก่า" ที่คอยธำรงรักษาความเป็นตัวอ่อน กำลังถูกแทนที่ด้วย "ฮอร์โมนใหม่" ที่แต่เดิมมีบทบาทน้อยมาก "ฮอร์โมนใหม่" นี้ ถูกผลิตออกมาจากต่อมที่มีชื่อว่า PROTHORACIC GLAND จึงมีชื่อว่าฮอร์โมนโปรโธแรชิค (PGH) เมื่อฮอร์โมนนี้ถูกผลิตออกมาจนถึงปริมาณมากสุด ร่างกายของตัวอ่อนจะค่อย ๆ หดแฟบลงเข้าสู่ขั้นตอนก่อนเป็นดักแด้ และกลายเป็นดักแด้ในที่สุด


ช่วงนี้แหละที่ตัวดักแด้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายครั้งมโหฬาร เพราะในขณะที่ฮอร์โมน PGH ถูกขับออกมาจนมีปริมาณมากสุดนั้น เซลล์ของตัวดักแด้ก็จะค่อย ๆ เริ่มสลายตัว กลายเป็นของเหลวด้วยเช่นกัน เพื่อเข้าสู่การลอกคราบครั้งสุดท้าย !!


ใช่แล้ว ตัวอ่อนต้องผ่านการลอกคราบถึงสี่ครั้ง ก่อนจะกลายเป็นดักแด้ในครั้งที่ห้า เมื่อเป็นดักแด้แล้ว จะเกิดการลอกคราบครั้งมโหฬารอีกครั้งเป็นครั้งที่หก เพื่อที่ดักแด้จะกลายเป็น "ผีเสื้อ" โผบินไปสู่ท้องฟ้าได้


เมื่อได้พิจารณากระบวนการ "ลอกคราบ" ของตัวอ่อนแมลงจนกลายไปเป็นผีเสื้อดังข้างต้นนี้ เราได้แง่คิดอันหนึ่งที่สำคัญมากต่อการพัฒนาหลักวิชาของโฮโม - เอ็กเซลเลนส์ นั่นก็คือ


"การลอกคราบของตัวอ่อนนั้น เกิดขึ้นได้ เพราะบทบาทของฮอร์โมน PGH ฮอร์โมน PGH นี้แหละ คือ ฮอร์โมนที่ตัวอ่อนใช้ในการลอกคราบ !!"


การลอกคราบของตัวอ่อนนั้น เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ตามกฏเกณฑ์ของเอกภพ ตัวอ่อนไม่สามารถใช้จิตสำนึกของมันในการควบคุมฮอร์โมนให้หลั่งออกมาตามใจปรารถนาได้ เพราะ "กลไกการควบคุมฮอร์โมน" นั้นเป็นระบบประสาท ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของจิตสำนึกของแมลง และ "กลไกการควบคุมฮอร์โมน" ของมนุษย์โฮโม - เซเปียนส์ก็เช่นกัน !!


หลักวิชาของโยคะ ของเต๋า และของลามะ (นิกายมี่เจี้ยว หรือวัชรยาน ของธิเบต) ก็คือหลักวิชาเพื่อควบคุม "กลไกการควบคุมฮอร์โมน" อีกทีหนึ่งที่จะทำให้ผู้ฝึกสามารถกลายเป็นโฮโม - เอ็กเซลเลนส์ได้นั่นเอง โดยที่ศูนย์กลางแห่งการควบคุมฮอร์โมนที่สำคัญในร่างกายของมนุษย์นั้นมีอยู่ด้วยกันเจ็ดแห่ง ดังตารางและรูปภาพต่อไปนี้คือ



ตาราง (ก) จักรทั้งเจ็ดในร่างกายของมนุษย์

  ชื่อในวิชาโยคะ ต่อมฮอร์โมนที่ควบคุมกับอวัยวะภายใน ตำแหน่งในร่างกาย ชื่อในวิชาเต๋า
1 มูลธาร หรือ
ROOT CHAKRA
(จักรรากเหง้า)
ต่อมเพศ SEX GLAND ไต ฐานใต้สุดของกระดูกสันหลัง จุดเหว่ยลี๋
จุดฮุ่ยอิน
2 สวาธิษฐาน หรือ
SPLENIC CHAKRA
(จักรม้าม)
ต่อมอะดรีนัล ADRGNAL GLAND
ตับอ่อน
ด้านบนของม้าม จุดตันเถียน
จุดเจียเป้ย
3 มณีปุระ หรือ
NAVEL CHAKRA
(จักรสะดือ)
SOLAR PLEXUS
ต่อมอะดรีนัล ตับอ่อน ม้าม
กระเพาะอาหาร ตับ

ตรงสะดือ ส่วนบน
ของ SOLAR PLEXUS
จุดตันเถียน
จุดจงอ่วน
4 อนาหตะ หรือ
HEART CHAKRA
(จักรหัวใจ)
ต่อมไทมัส THYMUS GLAND
หัวใจ ปอด


ส่วนบนของหัวใจ จุดซานจง
5 วิสุทธะ หรือ
THROAT CHAKRA
(จักรคอ)
ต่อมไทรอยด์ THYROID GLAND
ต่อมพาราไทรอยด์ PARATHYROID
ต่อมน้ำลาย

ส่วนหน้าของคอหอย จุดอี้เลิ่น
6 อาชญะ หรือ
BROW CHAKRA
(จักรคิ้ว)
ต่อมพิตทูอิทารี
PITUITARY GLAND
หว่างตา จุดอิ้นถาง
7 สหัสราร หรือ
CROWN CHAKRA
(จักรมงกุฏ)
ต่อมไพนีล PINEAL GLAND
ไฮโพทาลามัส HYPOTHALAMUS
ส่วนบนสุดของศรีษะ จุดหนีอ่วน





"จักร" (CHAKRA) คืออะไร ?
จักรก็คือ ศูนย์พลังงาน (FORCE CENTER) ของมนุษย์ ที่อยู่ในสภาพเป็นวงล้อหรือกงจักรหมุน
จักรคือ สภาพแห่งคลื่นของพลังที่สามารถเปล่งพลังออกมาได้
จักรจึงคือ บ่อน้ำพุที่ให้กำเนิดพลังงานอันแสนมหัศจรรย์ของมนุษย์โดยผ่านการขับฮอร์โมน เอ็นไซม์ และวิตามิน ออกมาช่วยทำให้มนุษย์สามารถธำรงค์รักษากายภาพแห่งความเป็นมนุษย์เอาไว้ได้ หรือเป็นอะไรที่ยิ่งกว่านั้นได้

เราสามารถเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดที่จักรทั้งเจ็ดมีต่อชีวิตมนุษย์นี้ได้ โดยผ่านการทำความเข้าใจถึงการทำงานของต่อมต่าง ๆ ที่เป็นที่ตั้งของจักรทั้งเจ็ด ดังต่อไปนี้คือ (ดูรูปภาพ (ค) ประกอบ)






(1) ต่อมไพนีล PINEAL GLAND

ต่อมนี้ถือเป็น "ต่อมหลัก" ที่ทำหน้าที่ควบคุมต่อมอื่น ๆ อีกที ต่อมนี้ยาวเพียงครึ่งนิ้ว สี
แดง มีลักษณะเหมือนเมล็ดต้นสน หนักเพียง 0.2 กรัม ต่อมนี้จะโตเต็มที่เมื่อมนุษย์มีอายุราว ๆ 7 - 8 ขวบ หลังจากนั้นจะค่อย ๆ เสื่อมสภาพลง เชื่อกันว่า ต่อมไพนีลทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่ควบคุมวุฒิภาวะทางเพศ กิจกรรมทางเพศ และอิริยาบถต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ฮอร์โมนนั้นก็คือ เมลาโทนิน (MELATONIN) นอกจากนี้ต่อมนี้ยังผลิตฮอร์โมนเซราโทนิน (SERATONIN) ที่สัมพันธ์อยู่กับหน้าที่ของความคิดที่เกี่ยวกับเหตุผล

เป็นที่เชื่อกันว่าต่อมไพนีลนี้เป็นต่อมที่มีความฉับไวต่อแสงสว่างเป็นพิเศษ ต่อมนี้คงจะเป็นร่องรอยเดิมของ "ตาที่สาม" ของมนุษย์ที่ค่อย ๆ หายเข้าไปในสมอง เหมือนกับ "ตาที่สาม" ของจิ้งจก ตุ๊กแก ที่อยู่บนศรีษะ ซึ่งทำหน้าที่ฉับไวในการรับแสงสว่างและควบคุมลีลาจังหวะธรรมชาติในวงจรชีวิต เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากที่ตั้งแต่เมื่อหลายพันปีก่อนแล้ว ที่พวกโยคีและพวกเซียนได้พูดถึง "ตาที่สาม" ซึ่งอยู่ "ตรงศูนย์กลางของสมอง" โดยกล่าวว่าเป็น "ดวงตาแห่งปัญญาญาณ" ซึ่งถ้าหากได้ผ่านการฝึกฝนปฏิบัติ และพัฒนาอย่างถูกวิธีตามหลักวิชาโยคะ หรือวิชาเต๋า โดยสามารถควบคุมให้เหมาะสมได้แล้ว ผู้นั้นจะสามารถผนึกตนเองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ "สภาวะที่สูงส่งทางจิตวิญญาณ" ได้

เนื่องจากความฉับไวในการรับแสงของต่อมไพนีลในเวลากลางคืน ท่ามกลางไฟมืด จะทำให้ปริมาณของฮอร์โมนเมลาโทนินที่หลั่งออกมาจากต่อมไพนีลจะสูงมาก ขณะที่ปริมาณที่ถูกขับออกของฮอร์โมนเซราโทนินจะลดต่ำมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะก่อให้เกิดสภาวะแห่งการพักผ่อนและผ่อนคลายของกายและจิต ทำให้ผู้นั้นสามารถหลับได้

แต่พอในตอนกลางวัน สิ่งต่าง ๆ จะเกิดในทางตรงกันข้าม กล่าวคือปริมาณของฮอร์โมนเมลาโทนินจะลดลง ขณะที่ปริมาณของฮอร์โมนเซราโทนินจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดสภาพของความคึกคักเคลื่อนไหวที่ปราศจากการพักผ่อน อนึ่งสีเขียวมีบทบาทสามารถลดปริมาณฮอร์โมนเซราโทนินที่ต่อมไพนีลผลิตออกมาได้ เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความเขียวชอุ่มของต้นไม้ ป่าไม้ จะช่วยส่งเสริมให้อารมณ์ของคนเราสงบ คลายเครียด ได้พัก

การฝึกออกกำลังกายด้วยวิธีโยคะ หรือวิธีเต๋า รวมทั้งการฝึกสมาธิแบบโยคะ หรือเต๋า ก็ส่งผลสะเทือนอย่างสูงต่อการทำงานของต่อมไพนีล ในทิศทางที่ทำให้ฮอร์โมนเมลาโทนินเพิ่มขึ้น และฮอร์โมนเซราโทนินลดลงเช่นกัน เมื่อเป็นดังนั้น จิตและกายก็จะผ่อนคลาย สงบ จมดิ่งลงไปสู่สภาวะของความมีสติสำนึกที่ลึกล้ำยิ่งขึ้น

หลักวิชาของโฮโม-เอ็กเซลเลนส์ จึงมุ่งไปยังการฝึกควบคุมการทำงานของต่อมไพนีล ให้ขับฮอร์โมนเซราโทนินให้น้อยลง เพื่อเข้าสู่สภาวะจิตอันสูงส่งที่จะประสบกับแสงสว่างอันสุกใส รู้สึกสุขอย่งดื่มด่ำล้ำลึกและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจักรวาล อันเป็นสภาวะของการสลายตัวตน (อัตตา) อันเล็กที่ทำลายความแตกต่างแบ่งแยกระหว่างตัวตนของเรากับสรรพสิ่งรอบ ๆ ตัว


(2) ต่อมพิตทูอิทารี PITUITARY GLAND

ต่อมนี้ก็ถือเป็น "ต่อมหลัก" (MASTER LAND) เช่นเดียวกับต่อมไพนีลมีขนาดใหญ่เท่า
กับเมล็ดถั่ว น้ำหนักราว ๆ 0.8 กรัม อันที่จริงหน้าที่ของต่อมพิตทูอิทารีนี้ เป็นเพียงสถานีส่งผ่านถ่ายทอดฮอร์โมนต่าง ๆ ไปยังต่อมอื่น ๆ หรืออวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกายเท่านั้น โดยที่ต่อมพิตทูอิทารีนี้จะต้องรับคำสั่งและข่าวสารจาก "ไฮโพทาลามัส" (HYPOTHALAMUS) อีกต่อหนึ่ง (ดูรูปภาพ (ง) ประกอบ)

"ไฮโพทาลามัส" คืออวัยวะในสมองที่ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างระบบประสาทกับระบบต่อมต่าง ๆ รวมทั้งยังทำหน้าที่ควบคุมปฏิกิริยาของร่างกายที่มีต่อสภาวะอารมณ์อันปั่นป่วนต่าง ๆ ด้วย (อวัยวะ "ไฮโพทาลามัส" นี้มีความสำคัญมากที่สุดในหลักวิชาของโฮโม-เอ็กเซลเลนส์ ซึ่งผมคงจะนำมากล่าวถึงโดยละเอียดในภายหลัง)

ต่อมพิตทูอิทารี สามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ส่วน คือ กลีบหน้า กลีบกลาง และกลีบหลัง ฮอร์โมนที่ถูกขับออกมาจาก "กลีบหน้า" ที่สำคัญมีอยู่ 6 ชนิด ดังต่อไปนี้คือ
(ก) ฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโต (STN)
(ข) ฮอร์โมนกระตุ้นต่อมเพศ (GTH)
(ค) ฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (TSH)
(ง) ฮอร์โมนกระตุ้นต่อมอะดรีนัล (ACTH)
(จ) ฮอร์โมนกระตุ้นต่อมพาราไทรอยด์
(ฉ) ฮอร์โมนกระตุ้นต่อมนม (LTH)

จะเห็นได้ว่าฮอร์โมนที่ถูกขับออกมาจาก "กลีบหน้า" ของต่อมพิตทูอิทารีนั้น ได้ควบคุม
หรือมีบทบาทอย่างสำคัญต่อการทำงานของต่อมหลัก ๆ ในร่างกายเกือบทั้งหมดเลยทีเดียว สำหรับฮอร์โมนที่ถูกขับออกมาจาก "กลีบกลาง" นั้น ที่สำคัญคือ ฮอร์โมนที่ทำให้ผิวหนังเป็นสีดำคล้ำ ส่วนฮอร์โมนที่ถูกขับออกมาจาก "กลีบหลัง" นั้นที่สำคัญมีอยู่ 2 ชนิด คือ ฮอร์โมนที่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นกับดูดซับน้ำ และฮอร์โมนที่ทำให้กล้ามเนี้อบริเวณลำไส้ กระเพาะปัสสาวะหดตัว






(3) ต่อมน้ำลาย SALIVARY GLAND
ต่อมนี้นอกจากจะผลิตน้ำลายแล้ว ยังผลิตฮอร์โมนชนิดหนึ่งออกมาซึ่งทำหน้าที่กระตุ้น
การเจริญเติบโตของอวัยวะที่แข็ง ๆ ในร่างกายคน อย่างกระดูกและฟัน
นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการชะลอความชราอีกด้วย


(4) ต่อมพาราไทรอยด์ PARATHYROID GLAND

ต่อมนี้มีขนาดเล็กเท่ากับเมล็ดข้าว อยู่ติดต่อมไทรอยด์ด้านหลัง ต่อมนี้ผลิตฮอร์โมนออก
มาชนิดหนึ่ง ที่ทำหน้าที่ควบคุมระดับความเข้มข้นของแคลเซี่ยมในกระแสเลือด กับช่วยการเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน ถ้าร่างกายขาดฮอร์โมนประเภทนี้ จะทำให้เกิดโรคทางประสาท โรคตา ผิวหนัง ผมหยาบกระด้าง แต่ถ้าร่างกายมีฮอร์โมนประเภทนี้มากเกินไป ก็จะทำให้เป็นโรคกระดูกเปราะ


(5) ต่อมไทรอยด์ THYROID GLAND
ต่อมนี้มีลักษณะคล้ายผีเสื้อที่เกาะอยู่บนหลอดเสียงบนลำคอ ทำหน้าที่คล้ายกับคันเร่ง
ของรถยนต์ กล่าวคือต่อมไทรอยด์นี้เป็นตัวเร่งการทำงานของร่างกายหรือทำให้ช้าลง โดยผ่านการควบคุมการเผาผลาญอาหารในร่างกายการควบคุมอุณหภูมิในร่างกายให้คงที่ กับควบคุมการผลิตพลังงานในร่างกายให้คงที่ นอกจากนี้ ต่อมนี้ยังทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโต และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ อีกทั้งยังควบคุมกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับของเสียในร่างกายอีกด้วย

เพราะฉะนั้นการที่คนเราจะใช้ชีวิตอย่างซึมเซาไร้ชีวิตชีวา หรือใช้ชีวิตอย่างคึกคัก กระตือรือร้น ก็ขึ้นอยู่กับฮอร์โมนต่อมไทรอยด์ที่ขับออกมานี้ด้วยเช่นกัน โดยปกติในวันหนึ่ง ๆ ฮอร์โมนต่อมไทรอยด์จะถูกขับออกมาราว ๆ 1/100 มิลลิเมตร เมื่อมนุษย์เราเริ่มแก่ตัวลง ต่อมไทรอยด์ก็จะเริ่มเสื่อมถอยลงด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่คนชรามักกลายเป็นคนขี้หนาวทั้งนี้ก็เพราะว่าการเกิดความร้อนในร่างกายเริ่มไม่พอเพียง เนื่องจากการทำงานของต่อมไทรอยด์เสื่อมลง


(6) ต่อมไทมัส THYMUS GLAND
ต่อมนี้ตั้งอยู่บนด้านหลังของกระดูกทรวงอก บริเวณเหนือหัวใจ ในบรรดาอวัยวะภายใน
ทั้งหมด ต่อมนี้เป็นอวัยวะที่เสื่อมถอยเร็วที่สุด กล่าวคือในวัยเด็กทารก ต่อมนี้จะมีขนาดใหญ่มาก แต่เมื่อแตกเนื้อหนุ่มมันจะค่อย ๆ หดเล็กลงเหลือเพียง 1/4 ของขนาดเดิมเท่านั้น ต่อมไทมัสนี้มีบทบาทสำคัญในการควบคุมภูมิคุ้มกันโรคในร่างกายของคนเรา


(7) ตับอ่อน PANCREAS
ตับอ่อนอยู่ในบริเวณเกือบใต้กระเพาะอาหาร ตับอ่อนนอกจากจะหลั่งน้ำย่อยที่ใช้ในการ
ย่อยอาหารลงในลำไส้เล็กแล้ว มันยังหลั่งฮอร์โมนที่มีชื่อว่าอินซูลินออกมาอีกด้วย
อินซูลินมีหน้าที่ช่วยลดปริมาณของกลูโคสในกระแสเลือดให้น้อยลง ความบกพร่องในตับอ่อนจะก่อให้เกิดโรคเบาหวานขึ้นได้


(8) ต่อมอะดรีนัล ADRENAL GLAND

ว่ากันว่าต่อมนี้มีความสำคัญรองจากต่อมพิตทูอิทารีเท่านั้น เพราะเป็นต่อมที่มีบทบาท
เฉพาะยามเกิดเหตุฉุกเฉินวิกฤตที่ทำให้ต้อง "สู้" ต่อมนี้จะผลิตฮอร์โมน ซึ่งให้พลังงานในการต่อสู้หรือมีพฤติกรรมอย่างกล้าหาญในยามฉุกเฉินสูงกว่ายามปกติถึง 10 เท่า
ฮอร์โมนนั้น เรียกว่าอะดรีนาลีน

ในสภาวะวิกฤตที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้กำลังกล้ามเนื้อทุกส่วน สมองของคนเราจะสั่งการฉับพลันส่งข่าวสารนี้ไปยังต่อมอะดรีนัล ต่อมนี้จะผลิตอะตรีนาลีนออกมา ให้เข้าไปในกระแสโลหิต ซึ่งฮอร์โมนนี้จะช่วยกระตุ้นหัวใจ และช่วยขยายเส้นโลหิตที่นำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อให้ใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นต่อมเหงื่อให้ทำงานเพื่อร่างกายจะได้เย็นลง

อะดรีนาลีนยังช่วยถ่วงการเคลื่อนไหวของอวัยวะที่ใช้ในการย่อยอาหารให้ช้าลง และช่วยถ่วงการหดตัวของเส้นเลือดให้ช้าลงด้วย ซึ่งจะไปทำให้ตับต้องปลดปล่อยน้ำตาลสำรองออกมาให้แก่กล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อมีพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างเหลือเฟือในชั่วขณะหนึ่ง อะดรีนาลีนยังทำให้เส้นขนตั้งโด่ชูชันขึ้น และขยายช่องตาดำกับดวงตาให้เบิกกว้าง เพื่อว่าคนผู้นั้นจะได้ดูน่าเกรงขามยิ่งขึ้น

ผู้ที่มีต่อมอะดรีนัล ที่ไม่สามารถหลั่งสารอะดรีนาลีนออกมาได้อย่างเพียงพอ จะไม่สามารถโต้ตอบต่อวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมทันกาลในทางกลับกัน ถ้าคนใดมีต่อมอะดรีนาลีนออกมามากเกินไปคนผู้นั้นก็จะอยู่ในสภาวะของความตึงเครียดทางประสาทอย่างต่อเนื่องยาวนาน


(9) ต่อมให้กำเนิดเซลล์สืบพันธุ์ SEX GLAND

ต่อมให้กำเนิดเซลล์สืบพันธุ์ (ของสตรีคือรังไข่ ของบุรุษคือลูกอัณฑะ) หรือต่อมเพศนี้จะ
ทำหน้าที่ที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศทั้งหมด ต่อมนี้ไม่เพียงแต่จะผลิตเซลล์สืบพันธุ์ออกมาเท่านั้น หากยังผลิตสารฮอร์โมนที่ควบคุมพัฒนาการทางกายภาพของร่างกายเรา กับควบคุมพฤติกรรมทางเพศของเราแต่ละคนด้วย

ต่อมเพศจะหลั่งฮอร์โมนแอนโดรเจน (ANDROGEN) กับฮอร์โมนเอสโทรเจน (ESTROGEN) ออกมาโดยที่แอนโดรเจนเป็นฮอร์โมนเพศชาย และเอสโทรเจนเป็นฮอร์โมนเพศหญิง แอนโดรเจนจะเพิ่มมวลของกล้ามเนื้อในร่างกายให้มากขึ้น และโน้มนำให้เกิดพฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรง ส่วนเอสโทรเจนจะเพิ่มความอ่อนนุ่ม เพิ่มไขมัน และโน้มนำให้เกิดพฤติกรรมที่ใฝ่สันติ ในร่างกายของคนเราทุกคนจะผลิตทั้งแอนโดรเจนและเอสโทรเจนออกมา และความได้สัดส่วนของฮอร์โมนสองชนิดนี้ จะทำให้บุคลิกภาพของคนผู้นั้นมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น (มีเอกภาพระหว่างหยินกับหยัง)

ขั้นแรกของหลักวิชาโฮโม - เอ็กเซลเลนส์ จะเริ่มที่การฝึกฝนจักร "มูลธาร" เพื่อสร้างและพัฒนา "ต่อมเพศ" ให้เข้มแข็งก่อนเป็นสำคัญ เพราะต่อมเพศนี้แหละ คือแหล่งพลังที่สำคัญที่สุดในการดำเนินกิจกรรมทั้งปวงของมนุษย์ หลักวิชาของโฮโม - เอ็กเซลเลนส์นั้น มุ่งที่จะพัฒนาและควบคุมพลังทางเพศที่รุนแรงนี้ ไปในทิศทางที่ก่อให้เกิดสติปัญญา และพลังกายที่เข้มแข็งเพื่อนำไปใช้ในการทำงานที่สร้างสรรค์

ภายหลังจากที่เราได้กล่าวถึงความสำคัญของจักรทั้งเจ็ด โดยพิจารณาจากบทบาทของต่อมต่าง ๆ ในร่างกายแล้ว ต่อไปเราก็จะมาพิจารณาถึงบทบาทการทำงานของจักรทั้งเจ็ดนี้ จากแง่มุมของโยคศาสตร์กันบ้างว่า วิชาโยคะได้อธิบายถึงบทบาทการทำงานของจักรทั้งเจ็ดนี้อย่างไรบ้าง

(หนึ่ง) จักร "มูลธาร"
ผู้ฝึกฝนจักรนี้จะช่วยเพิ่มพลังกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรงไม่เจ็บป่วย และดูอ่อนกว่าวัย
(สอง) จักร "สวาธิษฐาน"
ผู้ฝึกฝนจักรนี้จะช่วยเพิ่มพลังจิตให้เข้มแข็ง กล้าหาญ มั่นคง หนักแน่น ไม่หวาดหวั่นต่อภัยอันตราย และอุปสรรค์ความยากลำบากใด ๆ
(สาม) จักร "มณีปุระ"
ผู้ฝึกฝนจักรนี้จะก่อให้เกิดพลังร้อน (พลังภายใน) ขึ้นที่บริเวณท้อง อันเป็นพลังที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงคน ๆ นั้น ในทางจิตวิญญาณให้ก้าวไปสู่ขั้นที่สูงยิ่งขึ้นไปอีก

(สี่) จักร "อนาหตะ"
ผู้ฝึกฝนจักรนี้จะเพิ่มความสามารถในการอ่านใจคนอื่น กับการสื่อสารกับพลังงาน - ข่าวสารชั้นสูงที่ดำรงอยู่ในเอกภพ
(ห้า) จักร "วิสุทธะ"
ผู้ฝึกฝนจักรนี้จะเพิ่มความสามารถในการ "ฟัง"

(หก) จักร "อาชญะ"
ผู้ฝึกฝนจักรนี้ จะเพิ่มความสามารถในการ "เห็น"
(เจ็ด) จักร "สหัสราว"
ผู้ฝึกฝนจักรนี้ จะเพิ่มความสามารถในการควบคุมจักรอื่น ๆ ทั้งหมดและนำมาซึ่งโพธิปัญญาในที่สุด

เพื่อความกระจ่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับบทบาทการทำงานของจักรทั้งเจ็ดข้างต้น ผมเห็นว่ามีความจำเป็นที่เราจะต้องย้อนกลับไปอ่านคัมภีร์ "โยคสูตร" อีกสามบทที่เหลือ เพื่อให้มีความรับรู้เกี่ยวกับหลักวิชาแขนงนี้ในทางทฤษฏีมากกว่านี้ก่อน


******************


ทุตยบท : ว่าด้วยหลักปฏิบัติแห่งโยคะ (ว่าด้วยฌาน)


2.1 หลักปฏิบัติแห่งโยคะ ประกอบด้วย ตบะ การศึกษาในตนและการมุ่งสู่ความบริสุทธิ์ดุจพระศิวะ
2.2 จุดมุ่งหมายของหลักปฏิบัติแห่งโยคะนั้น เพื่อบรรลุสภาวะจิตแห่งสมาธิ และเพื่อการเสื่อมถอยลงของกิเลส
2.3 กิเลสได้แก่ อวิชชา ความหลงตน ราคะ ความเกลียดชัง และการติดในความมีความเป็น (การติดในชีวิต)
2.4 ในบรรดากิเลสทั้งห้านี้ อวิชชาคือบ่อเกิดของกิเลสอื่น ๆ กิเลสตัวอื่นอาจจะหลับไป หรืออ่อนตัวไป หรือหยุดชะงักไป หรือเติบใหญ่ในบางครั้งแต่ตัวอวิชชาก็จะคงอยู่เพื่อเป็นบ่อเกิดแพร่พันธุ์กิเลสเหล่านี้
2.5 "อวิชชา" คือความเข้าใจที่คิดว่า สิ่งที่ไม่แน่นอนคือความแน่นอน สิ่งที่ไม่สะอาด คือความสะอาด สิ่งที่เป็นทุกข์ คือสุข และสิ่งที่มีตัวตนว่าไม่มีตัวตน

2.6 "ความหลงตน" คือการหลงผิด คิดว่าการรับรู้ (ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) และความรู้สึก ตนของตน
2.7 "ราคะ" คือ สภาวะแห่งจิตที่ยึดติดในความสุขความสำราญ
2.8 "ความเกลียดชัง" คือ สภาวะแห่งจิตที่ยึดติดในความทุกข์
2.9 "การติดในความมีความเป็น" เป็นกิเลสอันประณีต ที่แม้แต่ปราชญ์ผู้ชาญฉลาดก็ยังมีกิเลสประเภทนี้อยู่
2.10 กิเลสทั้งห้าละทิ้งได้ด้วยการเปลี่ยนเป็นตรงกันข้ามของจิต

2.11 พึงละทิ้ง การกำเริบของกิเลสที่เป็นอาการแห่งจิตนี้ด้วย ฌาน

2.12 กรรมทั้งหลาย ทั้งในอดีตชาติ และปัจจุบันชาติ ย่อมมีกิเลสเป็นมูล
2.13 ถ้ายังมีกิเลสเป็นมูลย่อมเกิดมามีอายุ และรับวิบากกรรมนั้น
2.14 การเสวยชาติย่อมยังผลเป็น "ปีติ" และ "โทมนัส" อันเป็นผลแห่งบุญ และบาป
2.15 สำหรับมุนีผู้มีปัญญาย่อมประจักษ์ว่า สรรพสิ่งทั้งปวงคือความทุกข์ ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแปลง ความกลุ้มใจ สังขารการปรุงแต่ง ล้วนนำมาซึ่งความทุกข์ คุณลักษณะที่เรียกว่า ดี-ชั่ว ถูก-ผิด และ ชอบ-ชัง ซึ่งทำงานอย่างขัดแย้งกันก็เป็นตัวทำให้มีทุกข์ ฉะนั้นทุกข์จึงเป็นสิงที่มุนีควรละทิ้ง

2.16 สิ่งที่โยคีพึงขจัดด้วยหลักปฏิบัติแห่งโยคะ คือทุกข์ที่จะเกิดในอนาคต
2.17 สิ่งที่เชื่อมกันที่ถูกปรุงแต่งเข้าด้วยกัน ระหว่างผู้เห็นกับสิ่งที่ถูกเห็น คือสาเหตุแห่งทุกข์ที่ควรละขจัดทิ้ง
2.18 "สิ่งที่ถูกเห็น" คือความปรากฏอยู่แห่งอินทรีย์ในภาวะหยาบ ยังประโยชน์เพียงเพื่อการบริโภค (ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)
2.19 สิ่งที่ถูกเห็น ย่อมปรากฏเป็นสิงที่มีลักษณะจำเพาะบ้าง ไม่จำเพาะบ้าง ปรากฏชัดบ้าง ไม่ปรากฏชัดบ้าง
2.20 "ผู้เห็น" เป็นเพียงการเห็นอย่างบริสุทธิ์ มุนีเมื่อรับรู้ก็สักแต่ว่ารู้


2.21 "สิ่งที่ถูกเห็น" ใช้จุดประสงค์ของ "ผู้เห็น" เป็นธาตุแท้ของมัน

2.22 สิ่งที่ถูกเห็นจะสูญสลายไป เมื่อ "ผู้รู้" บรรลุจุดประสงค์แล้วแต่ก็จะไม่สูญสลายไป เพราะสิ่งที่ถูกเห็นนั้นกลายเป็นสมบัติร่วมของ "ผู้รู้" คนอื่น เพราะฉะนั้นสิ่งที่ถูกเห็นทั้งหลาย แม้ไม่เที่ยงก็ปรากฏเสมือนว่าเที่ยงสำหรับผู้ที่ยึดถือไว้ด้วยอำนาจแห่งความปรารถนา หรืออำนาจแห่งการมีอยู่เป็นอยู่
2.23 เมื่อครอบครอง และยึดถืออยู่จึงเสมือนว่าเป็นเจ้าของสิ่งที่ถูกเห็นนั้น

2.24 สาเหตุแห่งการยึดมั่นถือมั่นนั้นคือ อวิชชา นั่นเอง

2.25 ฉะนั้นเมื่อไม่มีอวิชชา สิ่งยึดเหนี่ยวระหว่าง "ผู้เห็น" กับ "สิ่งที่ถูกเห็น" ก็ย่อมหมดไป กลายเป็นความหลุดพ้นของผู้รู้

2.26 สภาวะแห่งความไม่ยึดมั่นคือ วิเวกอันศานติและสงบระงับ
2.27 ผู้บรรลุวิเวก ย่อมมีแก้วปัญญาเจ็ดประการคือ

(หนึ่ง)
ปัญญารู้สัจจะในโลก
(สอง) ปัญญารู้ความเสื่อมสลายของสายร้อยรัดในโลก
(สาม) ปัญญาแห่งการหลุดพ้น
(สี่) ปัญญาแห่งความแตกฉาน
(ห้า) ปัญญาตั้งมั่นในสมาธิ
(หก) ปัญญารู้แจ้งในทวิคุณ (ดี-ชั่ว, ถูก-ผิด, ชอบ-ชัง)
(เจ็ด) ปัญญาอันดำรงอยู่ในเอกภาพที่เป็นนิรันดร์








 


 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้