บันไดแปดขั้นของหลักปฏิบัติแห่งโยคะ

บันไดแปดขั้นของหลักปฏิบัติแห่งโยคะ


บันไดแปดขั้นของหลักปฏิบัติแห่งโยคะ

 


"เมื่อโยคีเพ่งเพียร และพิจารณาสัจจะจนบรรลุสภาวะดังกล่าว
ย่อมได้สมาธิอันยิ่งใหญ่คือ ราชสมาธิ ร่างกายและความรู้สึก
ย่อมสงบระงับเหมือนพักผ่อนอยู่ จิตใจและปัญญาย่อมรู้อยู่
อย่างเบิกบาน"
โยคศาสตร์


ในบทที่สองของคัมภีร์ "โยคสูตร" ได้กล่าวถึงบันไดแปดขั้นของหลักปฏิบัติแห่งโยคะ ซึ่งมีความสำคัญมากดังต่อไปนี้


ทุติยบท : ว่าด้วยหลักปฏิบัติแห่งโยคะ (ต่อ)


2.28 เมื่อปฏิบัติตามวิถีแห่งโยคะ ผู้นั้นย่อมก้าวล่วงจากความไม่บริสุทธิ์ไปสู่ความบริสุทธิ์ของจิตใจ และยิ่งความไม่บริสุทธิ์ของใจมีน้อยลงเท่าใด แสงสว่างแห่งปัญญาญาณก็จะยิ่งเปล่งแสงเจิดจ้า และนำไปสู่ความวิเวกในที่สุด

2.29 วิถีแห่งโยคะนั้นเป็นดุจบันไดที่มีอยู่แปดขั้น คือ
(1) ศีล
(2) จริยะ
(3) อาสนะ
(4) ปราณยามา
(5) การสำรวมจิต
(6) การเพ่ง
(7) ฌาน
(8) สมาธิ


2.30 "ศีล" มี 5 ประการ คือ อหิงสา ความซื่อสัตย์ การไม่ลักทรัพย์ การประพฤติพรหมจรรย์ และการไม่โลภ
2.31 การประพฤติศีล ย่อมไม่ถูกจำกัดด้วยชาติกำเนิด กาละ เทศะ และความเคยชิน เมื่อใดก็ตามที่สามารถรักษาศีลได้ในทุกสภาวะจิต ย่อมเป็นมหาพรต
2.32 "จริยะ" ก็มี 5 ประการคือ ความบริสุทธิ์ ความสันโดษ ตบะ การศึกษาในตน และการมุ่งสู่สภาวะสูงสุด
2.33 เมื่อใดก็ตามที่เกิดความคิดหลงผิดที่จะทำให้ละเมิดศีล ก็จงเอาจิตเพ่งรวมให้เกิดความคิดที่ต่อต้านกับความคิดหลงผิด นั้น
2.34 อย่างเช่น การระงับความคิดหลงผิดในเรื่องความรุนแรง ก็ควรใช้การคำนึงถึงผลแห่งทุกข์อันนับไม่ถ้วนที่จะเกิดตามมา


2.35 เมื่อโยคีตั้งมั่นใน "อหิงสา" แล้ว ผู้อยู่รอบข้างและสรรพสิ่งทั้งหลายก็จะละความเป็นศัตรูทั้งต่อหน้าและลับหลัง
2.36 เมื่อโยคีตั้งมั่นใน ""ความซื่อสัตย์" แล้ว ย่อมนำมาซึ่งผลสำเร็จทั้งปวง
2.37 เมื่อโยคีตั้งมั่นในการ "ไม่ลักทรัพย์" แล้ว ทรัพย์สินเงินทองทั้งหลายย่อมหลั่งไหลเข้ามาเอง
2.38 เมื่อโยคีตั้งมั่นใน "พรหมจรรย์" แล้ว ย่อมบรรลุพลังอันประเสริฐยิ่ง
2.39 เมื่อโยคีตั้งมั่นในการ "ไม่โลภ" แล้ว ย่อมรู้แจ้งในชาติกำเนิดต่าง ๆ ของตน


2.40 ด้วยการรักษา "ความบริสุทธิ์" โยคีย่อมควบคุมตนได้จากกามรมณ์ใด ๆ
2.41 จิตที่ตั้งมั่นอยู่ในความบริสุทธิ์ ย่อมบังเกิดโสมนัส ความแน่วแน่ การพิชิตอวัยวะประสาทสัมผัส และญานพิเศษ
2.42 ด้วยการรักษา "ความสันโดษ" รู้จักพอ โยคีย่อมบรรลุความสุขอันไม่มีสุขใดอื่นยิ่งกว่า
2.43 ด้วยการฝึกฝน "ตบะ" โยคีย่อมสามารถเผากิเลสอันเป็นมูลเหตุแห่งความไม่บริสุทธิ์ให้เสื่อมสลายไป และยังให้บังเกิด "ฤทธิ์"
2.44 ด้วย "การศึกษาในตน" หมั่นสวดมนต์ภาวนา โยคีย่อมสามารถสมาคมกับเทพเทวดาได้ตามความปรารถนา


2.45 ด้วย "การมุ่งสู่สภาวะสูงสุด" โยคีย่อมสามารถบรรลุสมาธิขั้นสูงได้
(หมายเหตุ : ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นการกล่าวถึง "ศีลสิกขา" ของวิชาโยคะนั่นเอง ต่อไปเป็นส่วนที่กล่าวถึง การนั่ง (อาสนะ) การฝึกหายใจ (ปราณายามา) และการสำรวมจิต อันเป็นบันไดขั้นที่สาม ขั้นที่สี่ และขั้นที่ห้าของวิชาโยคะ)
2.46 อาสนะหรือการนั่ง จะต้องเป็นการนั่งที่มั่นคงและสบาย
2.47 การจะนั่งได้อย่างมั่นคงและสบายนั้น จะต้องผ่อนคลายความเกร็ง แล้วประสานใจให้เป็นหนึ่งเดียวกับภาวะสมาบัติที่ไร้ขอบเขต
2.48 ถ้าทำได้เช่นนั้น โยคีย่อมไม่ถูกรบกวนด้วย "ทวิคุณ" ไม่ว่าจะเป็น หนาว - ร้อน ทุกข์ - สุข สรรเสริญ - ประณาม จน - รวย
2.49 เมื่อนั่งได้เรียบร้อยดีแล้ว โยคีจะเริ่มฝึกหายใจ (ปราณายามา) การฝึกควบคุมการหายใจ คือการละเลิกลมหายใจอย่างหยาบ


2.50 การควบคุมลมหายใจ ประกอบด้วย 1 การหายใจออก 2 การหายใจเข้า และ 3 การกลั้นลมหายใจ ด้วยระดับความประณีต สั้น - ยาว ที่เหมาะสม
2.51 การควบคุมลมหายใจอย่างที่สี่ คือการให้ลมปราณไหลเวียนเองโดยอัตโนมัติอย่างไม่ต้องหายใจ
2.52 เมื่อฝึกฝนการควบคุมลมหายใจ กิเลสที่ปกคลุมครอบงำ ความสว่างของจิตจะค่อย ๆ สูญหายไป
2.53 เมื่อนั้นแหละ จิตถึงจะอยู่ในสภาพที่สามารถ "สำรวมจิต" ได้
2.54 "การสำรวมจิต" คือสภาวะที่อวัยวะแห่งการสัมผัสรับรู้ของมนุษย์ทุกส่วน ขาดความยึดติดถือมั่นกับ "สิ่งที่ถูกรับรู้" และกลายเป็นภาวะจำลองของจิตที่เบิกบาน และตื่นรู้

2.55 เมื่อโยคีหมั่นเพียรฝึกฝน "การสำรวมจิต" นี้ต่อไปด้วยความไม่ย่อท้อ ในที่สุดก็จะสามารถควบคุมอินทรีย์ทั้งหลายของตนได้



****************************


ในบทที่สองของคัมภีร์ "โยคสูตร" ที่ผมนำมาถ่ายทอดนี้ แม้จะให้ภาพที่เป็นระบบเกี่ยวกับหลักการฝึกฝนปฏิบัติของวิชาโยคะก็ตาม แต่ก็ยังไม่ทำให้เราได้ภาพที่ชัดเจนเกี่ยวกับการฝึกฝนจักรทั้งเจ็ด ซึ่งเป็นหัวใจของหลักวิชาโฮโม - เอ็กเซลเลนส์ แต่อย่างใด อย่างไรก็ดีเรื่องนี้หาได้เป็นเรื่องที่น่าผิดหวังแต่ประการใด ไม่เพราะคัมภีร์ "โยคสูตร" ได้กล่าวถึง "เคล็ดวิชา" สำหรับการฝึกฝนจักรทั้งเจ็ดนี้เอาไว้แล้ว ในบทที่สามของคัมภีร์นั่นเอง !!!

 

ตติยบท : ว่าด้วยองค์แห่งความสำเร็จ (ว่าด้วยฤทธิ์)
3.1 บันไดขั้นที่หกของโยคะ หรือ "การเพ่ง" คือการยึดจิตให้ตั้งมั่นอยุ่ในที่เดียว อารมณ์เดียว
3.2 ความเป็นหนึ่งเดียวของจิต คือ "ฌาน" ซึ่งพัฒนาต่อมาจาก "การเพ่ง"
3.3 เมื่อ "ฌาน" พัฒนาต่อไปจนเข้าสู่สภาวะที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสิ่งที่ถูกรู้ถูกคิด และตัวตนของผู้คิดผู้รู้ก็สูญสลายไปด้วย เราจะเรียกสภาวะจิตนี้ว่า "สมาธิ"
3.4 การฝึกฝนทั้งสามขั้นตั้งแต่ขั้นที่หกจนถึงขั้นที่แปด ล้วนเป็นการฝึกจิตให้อยู่ในอารมณ์เดียวทั้งสิ้น จึงสามารถเรียกการฝึกแบบนี้รวม ๆ ได้ว่า "สัมยามา" หรือภาวะที่จิตสำรวมจิตหรือรวมพลังแห่งจิต
3.5 เมื่อฝึก "สัมยามา" ได้แล้ว ย่อมนำมาซึ่งปัญญาที่แท้จริง


3.6 การนำ "สัมยามา" ไปใช้จะต้องคำนึงถึงชั้นตอนและภูมิจิต
3.7 บันไดขั้นที่หกถึงชั้นที่แปดที่สักกัดใน "สัมยามา" นี้ ถือว่ามีความลึกซึ้งกว่าขั้นก่อน ๆ เพราะทำให้บรรลุสมาธิแบบมีเชื้อกิเลสได้
3.8 แต่ก็ยังจัดเป็นองค์ประกอบภายนอกสำหรับสมาธิแบบไร้เชื้อกิเลสหรือสมาธิขั้นสูง
3.9 เมื่อใดปัญญาแห่งจิตอุบัติแล้วดำรงอยู่ เมื่อนั้นย่อมปรากฏ "นิโรธ" ความดับไปแห่งอาการของจิตนั้นแล คือ นิโรธ


3.10 กระแสแห่งความสงบ ย่อมปรากฏแก่จิตในภาวะนิโรธ
3.11 ความหมายแห่งภาษา สิ่งสมมุติย่อมเลือนหายไป ทั้งที่แต่ก่อนเคยมีพลัง
ดึง ดูด เมื่อจิตเข้าสู่สมาธิมุ่งมั่นในอารมณ์เดียว
3.12 เมื่ออารมณ์เก่าดับไป และอารมณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นมาก็ยังเป็นอารมณ์เดียว
นั่นคือจิตในภาวะที่ไม่สั่นคลอน
3.13 การเปลี่ยนแปลงทางรูปลักษณ์ การเปลี่ยนแปลงทางเวลา และการเปลี่ยน
แปลงทางตำแหน่งแห่งที่ ย่อมบังเกิดขึ้น เมื่อภาวะจิตเปลี่ยนแปลงไปเป็น
ดังข้างต้น
3.14 "ตัวตน" จะดำรงอยู่ในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเรียกว่า "สภาพธรรม"


3.15 เป็นดังนี้เนื่องไปในสายธารแห่งการเปลี่ยนแปลงของ "สภาพธรรม"
(หมายเหตุ : ต่อไปคือส่วนสำคัญที่สุดที่กล่าวถึงความสามารถพิเศษที่จะบังเกิดขึ้นเพราะใช้ "สัมยามา" ไปกระตุ้นจักรต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะในส่วนที่ผมใส่เครื่องหมายดอกจันเอาไว้)
3.16 ถ้าหากโยคีใช้ "สัมยามา" (การรวมพลังแห่งจิต) ในการพินิจการเปลี่ยนแปลงทั้งสามโดยละเอียด โยคีย่อมเกิดปัญญาที่จะหยั่งรู้อดีต ปัจจุบัน และอนาคต
3.17 การระคน ถ้อยคำ ความหมาย และความรู้เข้าด้วยกัน ย่อมทำให้ปัญญาสับสน แต่ถ้าใช้ "สัมยามา" (การรวมพลังแห่งจิต) ในการวินิจฉัย จำแนกถ้อยคำ ความหมาย และความรู้ โยคีก็จะสามารถล่วงรู้ภาษาแห่งสรรพสิ่งทั้งปวงได้
3.18 ถ้าหากโยคีใช้ "สัมยามา" ในการเพ่งพิจารณา "สังขาร" (การปรุงแต่ง) โยคีย่อมสามารถหยั่งรู้ความเป็นไปของชาติก่อนได้
3.19 ถ้าหากโยคีใช้ "สัมยามา" ในการเพ่งความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น โยคีย่อมสามารถล่วงรู้จิตใจของผู้อื่นได้


3.20 แต่การล่วงรู้จิตใจของผู้อื่น มิได้ครอบคลุมถึงความหมาย และความรู้ของผู้นั้น เพียงแต่ครอบคลุมความรู้สึกนึกคิดของผู้นั้นเท่านั้น
3.21 ถ้าหากโยคีใช้ "สัมยามา" ในรูปแห่งกาย ขจัดเสียซึ่งผัสสะที่ผู้อื่นจะมองเห็นตน และสลายเสียซึ่งรูปที่จะสัมผัสกับประสาทจักษุของผู้อื่นโยคีย่อมสามารถหายตัวได้
3.22 ถ้าหากโยคีใช้ "สัมยามา" เพ่งพินิจในกรรมสองประเภท คือกรรมที่มีเงื่อนไขจะเกิดวิบาก กับกรรมที่ยังไม่มีเงื่อนไขจะเกิดวิบาก โยคีย่อมสามารถหยั่งรู้วันเวลาตายของตนได้
3.23 ถ้าหากโยคีใช้ "สัมยามา" เพ่งจิตในการเมตตาเป็นอาทิ ย่อมบังเกิดพลังอำนาจต่าง ๆ
3.24 ถ้าหากโยคี ใช้ "สัมยามา" เพ่งจิตใน "พละกำลัง" ก็จะบังเกิดพละกำลังมหาศาล


3.25 ถ้าหากโยคี ใช้ "สัมยามา" เพ่งจิตไปที่แสงสว่างในดวงจิต ย่อมบังเกิดตาทิพย์ สามารถแลเห็นสิ่งที่อยู่ไกลและสิ่งที่ซ่อนเร้นได้
3.26 ถ้าหากโยคีใช้ "สัมยามา" เพ่งจิตไปที่ดวงอาทิตย์ ย่อมสามารถรู้แจ้งในเอกภพและจักรวาล
3.27 ถ้าหากโยคีใช้ "สัมยามา" เพ่งจิตไปที่ดวงจันทร์ ย่อมสามารถรู้แจ้งในดวงดาวทั้งหลาย
3.28 ถ้าหากโยคีใช้ "สัมยามา" เพ่งจิตไปที่สะดือ (จักรสะดือ) ย่อมสามารถรู้ชัดในอวัยวะภายในของร่างกาย
3.29 ถ้าหากโยคีใช้ "สัมยามา" เพ่งจิตไปที่บริเวณใต้ลูกกระเดือก (จักรคอ) ย่อมสามารถดับความหิว และความกระหายได้


3.30 ถ้าหากโยคีใช้ "สัมยามา" เพ่งจิตไปที่ท่อบริเวณใกล้หัวใจ(จักรหัวใจ) จะทำให้ร่างกายและจิตใจบังเกิดความมั่นคงแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
3.31 ถ้าหากโยคีใช้ "สัมยามา" เพ่งจิตไปที่แสงสว่างภายในศรีษะ (จักรมงกุฏ) ย่อมสามารถแลเห็นเทพเทวดา หรือพลังงานชั้นสูงได้
3.32 หรือด้วยการแผ่ปฏิภาณญาณไปที่แสงสว่างภายในศรีษะนี้ ก็จะทำให้สามารถรู้แจ้งในสรรพสิ่งทั้งหลายได้
3.33 ถ้าหากโยคีใช้ "สัมยามา" เพ่งจิตไปที่ขั้วหัวใจ (จักรหัวใจ) จะทำให้สามารถ
รับรู้ "จิต" ของตนได้
3.34 "ผู้รู้" กับ "ความรู้" ความจริงไม่ปนเปกัน แต่เพราะมีความคิดที่ฟุ้งซ่านสับสน ผู้รู้กับความรู้จึงถูกนำมาปรุงแต่งเข้าด้วยกัน กลายเป็น "ประสบการณ์" เมื่อใดก็ตามที่โยคีสามารถละทิ้ง "ความรู้" นอกกายตนและใช้ "สัมยามา" เพ่งจิตไปที่ "ผู้รู้" ภายในตนได้ เมื่อนั้น "โพธิปัญญา" ที่แท้จริงจะบังเกิดขึ้น


3.35 ปฏิภาณญาณ และทิพยอินทรีย์ จักบังเกิดขึ้นจากการใช้ "สัมยามา" เพ่งจิตไปที่ตัว "ผู้รู้" ภายในตนนี้
3.36 ความจิรงอำนาจวิเศษต่าง ๆ ที่บังเกิดจากการใช้ "สัมยามา" อย่างนี้ เป็นอุปสรรคอันละเอียดสำหรับสมาธิขั้นสูง แต่เป็นสิ่งมหัศจรรย์สำหรับปุถุชนผู้ยังมีความคิดที่ฟุ้งซ่านสับสน
3.37 อย่างไรก็ดี การฝึกฝนการใช้ "สัมยามา" จะทำให้เหล่าปัจจัยที่ผูกมัดรัดตรึง
จิตไว้กับภายในร่างกายอ่อนพลังลง จิตจะมีความแจ่มชัดในวิถีแห่งความ
บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น และเป็นอิสระยิ่งขึ้น
3.38 ถ้าหากฝึกฝนการใช้ "สัมยามา" จนสามารถควบคุมลมปราณอุทานะภายในได้อย่างสมบูรณ์แล้ว จะไม่ถูกรบกวนด้วยการเปียกน้ำ เปื้อนโคลน หรือโดนหนามแทง
(หมายเหตุ : ลมปราณ "อุทานะ" (UDANA) คือลมปราณช่วงระหว่างปลายจมูกถึงศรีษะ)
3.39 ถ้าหากสามารถควบคุมลมปราณ "สมานา" (ลมที่เคลื่อนไหวบริเวณหัวใจถึงสะดือ) ก็จะทำให้เกิดความร้อนและแสงสว่างภายในร่างกาย


3.40 ด้วยการใช้ "สัมยามา" ในความสัมพันธ์ระหว่างอวัยวะโสต กับอากาศธาตุ ย่อมบังเกิดหูทิพย์
3.41 ด้วยการใช้ "สัมยามา" ในความสัมพันธ์ระหว่างกายธาตุกับอากาศธาตุ หรือเพ่งจิตไปที่ของเบา ๆ อย่างนุ่น ร่างกายจะเบาหวิว
3.42 ในระหว่างการเข้าฌานสมาบัติ ถ้าอาการของจิตอยู่นอกร่างกายก็จะสามารถถอดกายทิพย์ได้ เพราะอุปสรรคที่ห่อหุ้มแสงสว่างแห่งจิตหมดไปแล้ว
3.43 ด้วยการใช้ "สัมยามา" ในมหาภูติรูปทั้งห้าคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และอวกาศ โยคีย่อมได้ชัยชนะเหนือมหาภูติรูป เหล่านั้น
3.44 เมื่อนั้นย่อมบังเกิดฤทธิ์นานา คือย่อกายให้เล็กลง ทำกายให้เบา ทำกายให้ใหญ่ และพร้อมบริบูรณ์ซึ่ง "กายสมบัติ"


3.45 "กายสมบัติ คือ ความงาม ราศี ทรงพลัง และสมรรถภาพ
3.46 เมื่อใช้ "สัมยามา" ในการควบคุมผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปทาน และภพได้ ย่อมบรรลุความสามารถที่จะมีอำนาจเหนืออินทรีย์ทั้งหลาย
3.47 เมื่อนั้นกายย่อมเป็นไปดังใจ รวดเร็วดังใจ ใจหลุดพ้นจากอินทรีย์ทั้งหลาย สามารถหยั่งรู้ เป็นใหญ่ เหนือโลกีย์วิสัยได้
3.48 จากนั้นย่อมบรรลุความเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง เป็นผู้รู้รอบสามารถกำจัดอวิชชาอันหยาบได้
3.49 เมื่อแม้แต่ความปีติในการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสรรพสิ่งก็ยังสามารถสลัดทิ้งลงไปได้ เมื่อนั้นเชื้อแห่งโทษภัยก็จะอันตรธานไปสิ้น และได้บรรลุ "ความเป็นเอก"



**************************


เมื่ออ่านคัมภีร์ "โยคสูตร" มาถึงตรงนี้แล้ว ไม่ทราบว่า ท่านผู้อ่านมีความคิดเห็นประการใดบ้าง ?
หลายอย่างฟังดูลึกลับ และก็เหลือเชื่อ แม้แต่ตัวผมเองก็ต้องยอมรับเช่นนั้น !! แต่ถ้ากล่าวเฉพาะในส่วนที่พาดพิงถึงการรวมพลังแห่งจิต หรือ "สัมยามา" เพ่งไปที่จุดสำคัญ (จักร) ต่าง ๆ ในร่างกายเพื่อให้เกิด "กายสมบัติ" และ "จิตสมบัติ" ที่เหนือกว่าปุถุชนคนธรรมดานั้น น่าจะเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แม้พิจารณาจากมาตรฐานของวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน และจากประสบการณ์แห่งการฝึกฝนวิชามวยจีนเป็นเวลาหลายปีของผม


อาจมีบางคนที่ตั้งข้อสงสัยกับผมว่า ทำไม และมีความจำเป็นอย่างไรที่ผมจะต้องใช้พลังงาน และเวลาจำนวนมากมายมหาศาล เพื่อมาทุ่มเทให้กับหลักวิชาโฮโม - เอ็กเซลเลนส์ขนาดนี้ ? ทั้ง ๆ ที่หลักวิชาเหล่านี้อาจจะมีคุณค่าน้อยมากในสายตาของมนุษย์ยุคปัจจุบันที่ให้คุณค่ากับ วัตถุ ลาภ ยศ สรรเสริญ เหนือสิ่งอื่นใด


คำตอบของผมที่มีต่อข้อสงสัยเหล่านี้ ผมขอตอบในรูปของบทสนทนาระหว่าง "อาจารย์" กับ "ศิษย์" ซึ่งเป็นตัวละครในนิยายเรื่อง "ความรักกับจอมยุทธ์" ของผม


อาจารย์
: "สันติชาติศิษย์รัก ในโลกนี้ มีเรื่องอยุติธรรมอยู่มากมายนัก ด้วยกำลังอันจำกัดของบุรุษหนุ่มอย่างเธอเพียงคนเดียว จะเกี่ยวข้องกับเรื่องใดได้สำเร็จบ้าง ? สิ่งที่เธอทำได้ในขณะนี้อาจเพียงแค่เบิ่งตาเห็นผู้อื่นประสบผลสำเร็จในแผนการร้าย ในการทำความชั่วช้าสามานย์เท่านั้น"

ศิษย์ : "เอ้อ……... แต่ผมก็ยังสามารถเปิดโปงความเลวร้าย และความอยุติธรรมในโลกนี้ได้ไม่ใช่หรือครับอาจารย์"

อาจารย์ : "เธอยังมีอายุน้อย แค่ยี่สิบกว่าปีเท่านั้น พูดอะไรไปเขียนอะไรไป จะมีใครเชื่อถือสักแค่ไหนกัน อย่าว่าแต่สิ่งที่เธอคิดจะต่อสู้ด้วยนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องใหญ่ ๆ ทั้งนั้น ซึ่งไม่ต่างไปจากแมลงบ่อที่คิดจะขย่มศิลาเลย ยากที่จะทำให้แท่งศิลาหวั่นไหวได้"

ศิษย์ : "………….."

อาจารย
์ : "สันติชาติ ศิษย์รัก หากเธอคิดจะเกี่ยวข้องกับเรื่องความอยุติธรรมในชาวโลก หรือคิดต้องการให้ผู้อื่นเชื่อถือในตัวเธอ ในความคิดความเห็นของเธอ ขั้นแรกเธอควรจะต้องฝึกฝนหลักวิชาและศาสตร์ต่าง ๆ ที่ช่วยยกระดับความสามารถทางกาย ทางจิตใจ ทางคุณธรรม และทางสติปัญญา ของเธอให้เป็นเลิศเสียก่อน จึงจะมีผลได้ และหากเธอคิดจะฝึกปรือวิชาเหล่านี้ให้สำเร็จรุดหน้า ก่อนอื่นเธอจะต้องตั้งอกตั้งใจ มีสมาธิอันแน่วแน่ ซึ่งหมายความว่า เธอจะต้องสละทิ้งเรื่องราวมากหลายในโลกออกไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง อย่าให้มารบ
กวนจิตใจเสียก่อน จากนั้นจึงจะสามารถฝึกฝนตนเองจนมีความเก่งกล้าสามารถไปเกี่ยวข้องกับเรื่องอยุติธรรมต่าง ๆ ในใต้หล้าได้"


****************************


คนเราจะบรรลุความสำเร็จในหลักวิชาแห่งโฮโม - เอ็กเซลเลนส์ นี้ได้อย่างไร ?
บทที่สี่ และเป็นบทสุดท้ายของคัมภีร์ "โยคสูตร" ได้ชี้แนะแนวทางไว้แล้วดังต่อไปนี้


จตุตตถบท : ว่าด้วยการบรรลุ (ว่าด้วยความเป็นเอก)
4.1 ความสำเร็จในฤทธิ์ต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ย่อมบังเกิดได้ด้วย
(1) การมีพรสวรรค์มาแต่กำเนิด
(2) ด้วยยาสมุนไพร
(3) ด้วยมนตรา
(4) ด้วยการบำเพ็ญตบะ
(5) ด้วยการเข้าสู่สมาธิ (ฌาน)
4.2 การแปรเปลี่ยนสู่ "สภาวะใหม่" ของโยคี ย่อมเกิดขึ้นเมื่อกายและจิตเต็มเปี่ยมแล้ว
4.3 นิมิต มิได้เป็นเหตุแห่งการบรรลุ แต่การกำจัดเครื่องขวางกั้น (ตัณหาอุปทาน) ต่างหากคือ วิถีแห่งการบรรลุ
4.4 แท้จริง จิตมีหนึ่งเดียว แต่อาจก่อให้เกิดภาวะหลายภาวะตามสภาพแห่งการดำเนินไป


4.5 ในบรรดาฤทธิ์ต่าง ๆ ที่เกิดจากสาเหตุทั้งห้าที่เพิ่งกล่าวมานี้ ฤทธิ์ที่เกิดจากฌาน หรือสมาธิ เป็นสิ่งที่จะไม่ก่อให้เกิดปัจจัยตกค้างขึ้นภายในจิต
4.6 กรรมของโยคีนั้นเป็นกลาง คือไม่ขาว ไม่ดำ แต่กรรมของบุคคลทั่วไป มีทั้งดี ทั้งชั่ว และไม่ดีไม่ชั่ว
4.7 บุคคลทั่วไปจึงมีพฤติกรรมอันสืบเนื่องมาจากวิบากแห่งกรรมนั้น ๆ
4.8 ชาติ ชรา มรณะ ย่อมไม่อาจปิดกั้นการสืบต่อของจิตใจ และสังขารได้
4.9 เหตุท่การสืบต่อของจิตไม่มีที่สิ้นสุด ก็เพราะมีตัณหาความยึดมั่น ถือมั่นในชีวิต ในความเป็นดำรงอยู่


4.10 ความสืบต่อของจิตจึงดำรงอยู่ได้เพราะมีเหตุ ปัจจัย และอารมณ์ที่อาศัย ถ้าหากสิ่งเหล่านี้หมดไป การสืบต่อของจิตก็ย่อมหมดไปด้วย
4.11 อดีตที่ผ่านไปแล้ว กับอนาคตที่ยังมาไม่ถึงดำรงอยู่จริง แต่ในโลกแห่งสามมิติ (โลกแห่งปรากฏการณ์) ที่มีการจำแนกสถานะทางกาลเวลาจึงทำให้ปรากฏออกมาในรูปลักษณ์ของอดีต ปัจจุบัน อนาคต
4.12 ธรรมชาติทั้งหลายย่อมปรากฏชัดอยู่ด้วยคุณประการต่าง ๆ
4.13 สรรพวัตถุย่อมดำรงอยู่เพราะลักษณะจำเพาะแห่งความแตกต่าง
4.14 ถึงแม้เป็นกายมนุษย์ เป็นวัตถุธาตุอย่างเดียวกันก็จริง แต่เนื่องจากมีความแตกต่างของจิต และวิถีแห่งการดำเนิน รูปลักษณ์ที่ออกมาจึงปรากฏต่างกัน


4.15 วัตถุย่อมมิได้เป็นไปตามอำนาจของจิตโดยสิ้นเชิง แต่ย่อมคงคุณแห่งความเป็นวัตถุไว้โดยธรรมชาติ
4.16 วัตถุอาจถูกรับรู้ หรืออาจไม่ถูกรับรู้ด้วยการเข้าสัมผัส หรือการวางเฉยแห่งจิต
4.17 แต่พฤติกรรมของจิตทั้งหลายย่อมถูกรับรู้ เพราะความมีสติอยู่ของจิตเจ้าของพฤติกรรมนั้น ๆ
4.18 จิตย่อมไม่มีความสว่างในตนได้ หากปราศจากความเป็นหนึ่งในจิต
4.19 จิตย่อมไม่อาจมีญาน และมีอารมณ์ในขณะเดียวกันได้


4.20 ถ้าจิตเกิดแปรปรวนหลายอารมณ์แล้วไซร้ ย่อมมีโทษอันเกิดแต่ความขัดแย้งในความเห็นผิด เห็นถูก และสติจะสับสน
4.21 ด้วยสภาวะจิตที่ไม่แปรปรวน ครั้นบรรลุแล้วย่อมบังเกิดญาณแจ่มแจ้งขึ้น
4.22 จิตอันถูกย้อมด้วยอารมณ์และสติ ย่อมไหลไปกระทบในสภาพแวดล้อมทั้งหลาย
4.23 จิตนั้น แม้อาจจะประกอบด้วยตัณหาอันนับไม่ถ้วน แต่ก็ยังเป็นคุณต่อผู้อื่นได้บ้าง ด้วยการไม่คลุกคลีในประโยชน์ตน
4.24 ความสำนึกว่าตัวตนจะดับลงเมื่อโยคีผู้นั้น รู้ถึงความแตกต่างระหว่างผู้รู้กับการรู้แจ้ง


4.25 เมื่อสภาวะจิตโน้มเอียงไปทางวิเวกญาณ ย่อมเป็นการเดินไปสู่การบรรลุความเป็นเอกขั้นต้น
4.26 ในสภาวะจิตอย่างนี้ ยังมีช่องว่างให้ปัจจัยสังขารอันประณีตมาปรุงแต่งอยู่อีก
4.27 การกำจัดสังขารเหล่านี้ (ความอหังการว่าตนเป็นผู้สำเร็จ) ก็เป็นเสมือนการกำจัดกิเลสอันละเอียด
4.28 เมื่อมีวิเวกญาณโดยประการทั้งปวงของโยคีผู้มีความเพียร "สมาธิอันสงบเย็น" ย่อมบังเกิดขึ้น
4.29 เมื่อนั้นกิเลสและกรรมทั้งหลายย่อมสิ้นสุดลงโดยประการทั้งปวง


4.30 และด้วยความไม่จำกัดแห่งญาณในการรู้แจ้งสรรพสิ่ง จึงไม่มีสิ่งใดให้อยากรู้อีก
4.31 นี่คือการประมวลเหล่าคุณอันมีวัตถุประสงค์เพื่อความเป็นที่สุด
4.32 ลำดับจากนั้นย่อมส่งสู่การเข้าถึงสภาวะอันเป็นไปเอง
4.33 การบรรลุความเป็นเอก คือ ญาณศักดิ์อันโยคีผู้บำเพ็ญเพียรพึงเข้าถึง



*****************************



เป็นยังไงบ้างครับ สำหรับหลักว่าด้วยการบรรลุในคัมภีร์ "โยคสูตร" ดังข้างต้นต่อไป ผมอยากให้ลองนำมาเปรียบเทียบกับหลักปฏิบัติของพุทธธรรมเพื่อการบรรลุความรู้ในพุทธศาสนา ที่เรียกกันว่า "จรณะ 15" ดูบ้างว่าต่างกันอย่างไร
"จรณะ 15" คือ ข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุวิชชา หรือความรู้ในพุทธศาสนา ซึ่งได้แก่
(
1) สังวรศีล
(2) สำรวมอินทรีย์
(3) โภชเนมัตตัญญุตา
(4) ชาคริยานุโยคะ เรียกว่า บจรณะ 4" ถ้าปฏิบัติแล้วจะได้
(5) ศรัทธา
(6) หิริ
(7) โอตตัปปะ
(8) พหุสัจจะ
(9) วิริยะ
(10) สติ
(11) ปัญญา


เมื่อเกิด "สติ" และ "ปัญญา" บริบูรณ์ สิ่งที่จะเกิดจริงเป็นจริงตามมา ก็คือ ความ
เป็น "ฌาน" ซึ่งได้แก่

(12) ฌาน หนึ่ง
(13) ฌานสอง
(14) ฌานสาม และ
(15) ฌานสี่


ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือ "จรณะ 15" ซึ่งจะขอขยายความโดยสังเขป ดังต่อไปนี้

หนึ่ง
"สังวรศีล" คือการเกิดปัญญาโดยการปฏิบัติศีล คนเราปฏิบัติศีลเพื่อให้เกิด
จิต จิตที่เกิดได้แก่ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ พหุสัจจะ จนกระทั่งมีวิริยะ สติ ต่อจากนั้นถึงจะเกิดจิตตัวสำคัญยิ่ง คือ ปัญญา แล้วต่อจากนั้นถึงจะเกิดจิตขั้นลึกซึ้งต่อไปอีก คือฌาน ซึ่งก็เป็นจิตที่ได้มาเพราะการสังวรศีลเหมือนกัน


สอง
"สำรวมอินทรีย์" คือ การสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่าสำรวมอินทรีย์ ทั้ง 6 หรือการระมัดระวังในการเห็นของตา ในการดมกลิ่นของจมูก ในการฟังเสียงของหู ในการรู้รสของลิ้น ในการสัมผัสของกาย และในการคิดของใจ อย่าให้ออกไปในทิศทางที่จะทำให้เกิดโลภ โกรธ หลง รวมทั้งการติดในอบายมุข ถ้าผู้ใดสำรวมอินทรีย์ได้อย่างสมบูรณ์ จะเกิดจิตที่เป็นวิมุติ คือจิตที่หลุดล่อน จิตที่สะอาดบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว


สาม
"โภชเนมัตตัญญุตา" คือการพิจารณาในเรื่องของกิน ของใช้ เครื่องอุปโภค บริโภค อันเป็นสิ่งที่คนเราจะต้องคลุกคลีด้วยในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เรารู้จักประมาณไม่ไปหลงไปละโมบ ในเรื่องเหล่านี้จนตกเป็นทาสของมัน


ี่ "ชาคริยานุโยคะ" คือการกำหนดพิจารณาในเรื่องหลับ เรื่องนอน ควรนอนให้มีสติ และกำหนดการตื่นในการนอน เรียกว่าในนอนมีตื่น และฝึกไปจนถึงขั้นในตื่นมีพักมีหยุดด้วย จะทำให้เป็นผู้มีความรู้สึกแววไว สติมั่นคงและสดชื่นอยู่เสมอ


ห้า
"ศรัทธา" เมื่อปฏิบัติจรณะ 4 ดังข้างต้นแล้ว จะรู้เห็น จะเห็นผล จึงเกิดศรัทธา หรือ "ความเชื่อถือ" ขึ้นมา


หก
"หิริ" พอมีความเชื่อถือเกิดขึ้นมาแล้ว ต่อไปพอรู้เห็นถึงสิ่งที่ชั่วไม่งาม และเป็นบาป ก็จะเกิดหิริ หรือความละอายต่อความชั่ว ความไม่งาม ความบาป ความต่ำเหล่านั้น


เจ็ด
"โอตตัปปะ" พอมีหิริ แล้วยิ่งฝึกฝนตนเองต่อไป จิตก็จะยิ่งรู้ชั่ว รู้บาปชัดมากยิ่ง ๆ ขึ้น จนกระทั่ง จิตของเราไม่กล้าทำความชั่ว หรือเกรงกลัวต่อความชั่ว คือมี โอตตัปปะ เกิดขึ้น


แปด
"หพุสัจจะ" คือการรู้ความจริงแจ้งของชีวิต ของสัจธรรมได้มากขึ้น ได้กว้างขวางขึ้น รู้กิเลสมากขึ้น และละกิเลสได้มากขึ้นด้วย อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการฝึกฝนตนเองจนถึงขั้นนี้


เก้า
"วิริยะ" ยิ่งตัวเราฝึกฝนตนเองจนได้ผลเห็นผล ก็จะยิ่งทำให้มีวิริยะ หรือ "ความเพียร" เพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีก


สิบ
"สติ" หรือการที่จิตอยู่กับเนื้อกับตัวมากขึ้น เพราะความฟุ้งซ่านลดลง ก็จะยิ่งดีขึ้นกลายเป็นจิตที่มีสติอันเป็นจิตที่มีพลัง


สิบเอ็ด
"ปัญญา" หรือความสามารถเห็นแจ้งรู้จริงในความจริงยิ่ง ๆ ขึ้นจะบังเกิด เมื่อจิตมีสติอยู่ในตัวมาก และพร้อมบริบูรณ์ด้วยจรณะทั้ง 11 ที่กล่าวมาทั้งหมดให้เห็นจริง เป็นจริง เป็นที่กระจ่างแจ้งชัดเจน


จรณะ 11 ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ถ้าพิจารณาจากทฤษฎี "ศีล สมาธิ ปัญญา" ของศาสนาพุทธ ก็คือศีลอันยิ่ง หรือ "อธิศีล" นั่นเอง


ส่วน จรณะ 12 - 13 - 14- 15 อันเป็น ฌาน 1 - ฌาน 2 - ฌาน 3 และ ฌาน 4 ซึ่งผมได้เคยกล่าวถึงและอธิบายโดยละเอียดแล้วในหนังสือ "ความรักกับจอมยุทธ์" (สำนักพิมพ์ยินหยาง, 2535) จึงไม่ขอกล่าวซ้ำในที่นี้อีก เพียงแต่จะบอกว่า จรณะ 12 ถึง 15 นี้ ที่แท้ก็คือ จิตอันยิ่ง หรือ "อธิจิต" หรือ "สมาธิ" ในความหมายที่แท้จริงของวิชาโยคะนั่นเอง


เมื่อผู้ใดฝึกฝนตนเองจนถึงพร้อมหมดในจรณะ 15 แล้ว ก็จะมีพื้นฐานที่มั่นคงที่จะไปบรรลุ "อธิปัญญา" หรือความรู้แจ้งอันยอดยิ่งของพระพุทธศาสนาซึ่งเรียกว่า ญาณ 8 หรือวิชชาชั้นเยี่ยมพิเศษ 8 ประการ ซึ่งได้แก่


(1) วิปัสสนาญาณ หรือญานที่มีปัญญาญานอย่างถูกต้องอันเป็นสภาวะจริง ไม่ใช่แค่ภาษาอย่างเดียว และเป็นการรู้ยิ่งของจิต รู้จิตจริง ๆ เกิดความเชื่อมั่นว่าทำได้
(2) มโนมยิทธิ หรือจิตเก่งกล้า มีอิทธิมีความเก่งในการที่จะทำให้จิตหลุดพ้น
(3) อิทธิวิธี หรือการมีวิธีมากขึ้น มีกรรมวิธีแนบเนียนขึ้น ทำได้เก่งขึ้น
(4) โสตทิพย์ หรือความสามารถรู้ลึกซึ้ง คือสามารถรู้ "นาม" จากเพียงการสัมผัส "รูป" สามารถรู้ความละเอียดจากการสัมผัสความหยาบ

(5) เจโตปริยญาณ หรือญาณที่รอบรู้ลึกซึ้งเข้าไปอีกมากยิ่งขึ้น จนเข้าใจถึงฐานของ ราคะมูล โทสะมูล โมหะมูล อันเป็นการรู้พิเศษชนิดที่เป็นจิตที่ลึก มีอำนาจสามารถแยกแยะอย่างซับซ้อนเข้าไปถึงขั้นลึกสุด ละเอียดสุดของจิต
(6) บุพเพนิวาสานุสติ หรือการใช้สติทบทวนดูของเก่าของใหม่ ดูกิเลสจริง ดูความเคยความเป็นมาแล้วจริง ๆ แล้วเทียบกับความหลุดพ้นที่เราเป็นได้ในขณะนี้เพื่อนำมาปรับปรุงตนเองอีก
(7) จุตูปปาตญาณ หรือการรู้แจ้งแทงทะลุเรื่องการเกิด - การดับ อย่างสิ้นสงสัย อย่างเห็นแจ้งในวัฏฏสงสาร
(8) อาสวักขยะญาณ คือการรู้จิตวิญญาณแท้ รู้กิเลสจริง ลึก ละเอียด สุขุม ประณีต จนถึงสภาพแห่งอาสวะ อนุสัย ที่สามารถดับประหารได้อย่างแท้จริง สิ้นสูญเหลือแต่จิตที่สะอาดบริสุทธิ์อย่างที่สุด


หลักจรณะ 15 ที่นำมาอธิบายใหม่ด้วยภาษา และความเข้าใจอย่างคนสมัยนี้
ย่อมได้ถือว่าเป็นหลักประพฤติปฏิบัติที่ประเสริฐโดยแท้ของ "มหาโยคี" ที่ชื่อสิทธัตถะ ผู้ซึ่งรู้แจ้งแทงทะลุในเรื่องจิตวิญญาณ ในเรื่องอำนาจวิเศษ จึงได้วางทฤษฎีวางระบบ "พัฒนาคน" ให้กลายเป็น โฮโม-เอ็กเซลเลนส์ ได้ด้วยการสร้างพลังวิญญาณให้มีพลัง และดีงามประเสริฐยิ่งจนสามารถเป็นที่พึ่งแห่งตนและของสังคมโลกได้


ในความเข้าใจของผม การฝึกที่สำคัญที่สุด ที่เป็นฐานการปฏิบัติของ โฮโม - เอ็กเซลเลนส์ ในระบบทฤษฎีของพระพุทธเจ้า ก็คือ "อานาปานสติ" นั่นเอง อานาปานสตินี้แหละคือ สุดยอดของหลักวิชาโยคะที่ได้รับการพัฒนาโดย "มหาโยคี" ที่ชื่อสิทธัตถะ !!









 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้