การบูรณาการ "สังคมคนสูงวัย" กับสังคมความรู้
"...นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่ประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนมากกว่าประชากรเด็ก"(นิตยสารนิวสวีก)
วิสัยทัศน์เชิงบูรณาการ เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศนี้อย่างรอบด้าน เพื่อมุ่งไปสู่ สังคมความรู้ ในอีกสิบปีหรือยี่สิบปีข้างหน้านี้จะไม่สมบูรณ์เลย หากพวกเรามิได้ตระหนักเสียแต่ตอนนี้ว่า ขณะนี้เมืองไทยของเรากำลังเดินหน้าไปสู่สังคมที่มีคนสูงวัยมากขึ้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า สังคมความรู้ ที่เมืองไทยกำลังวิวัฒนาการไปสู่นั้น มันจะปรากฏขึ้นเคียงคู่กับ การกลายเป็นสังคมคนสูงวัย ของประเทศนี้
แม้ว่าอีก 5 ปีหลังจากนี้ สัดส่วนของประชากรวัยทำงาน (อายุ 23-45 ปี) จะยังเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่หลังจากนั้นเป็นต้นไป สัดส่วนนี้จะค่อยๆ เริ่มลดลง ซึ่งหมายความว่า ประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่ สังคมคนสูงวัย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นที่คาดกันว่า ในปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยจะมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปถึง 12 ล้านคน ขณะที่เด็กเกิดใหม่กลับลดลง โดยที่ในปี พ.ศ. 2558 คาดกันว่า ประชากรในวัยเด็กอายุระหว่าง 0-14 ปีจะลดลงจากร้อยละ 40 เหลือเพียงร้อยละ 20.2 เท่านั้น
ปัจจุบันนี้ คนไทยมีอายุยืนยาวมากขึ้น หญิงไทยมีอายุเฉลี่ย 74.9 ปี ชายไทยมีอายุเฉลี่ย 69.9 ปี ซึ่งหมายความว่า อายุคนไทยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 70-75 ปี หลังจากเกษียณอายุ 60 ปีแล้ว ก็ยังต้องมีชีวิตยืนยาวอยู่ต่อไปอีกอย่างน้อย 10-15 ปีก่อนจะตายไป
ปัญหาคนสูงวัย ที่เป็น เรื่องเร่งด่วนเชิงโครงสร้าง ที่เรื้อรังมานานแล้ว สำหรับประเทศนี้ คือการที่ ในปัจจุบันยังมีคนไทยกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ หรือ 32.8 ล้านคน ที่ยังไม่มีหลักประกันเรื่องรายได้ หากคนเหล่านี้เข้าสู่วัยชราภาพในอีกสิบปีหรือยี่สิบปีข้างหน้า มิได้หมายความว่า คนเหล่านี้ต้องรอวันตายอย่างไร้อนาคตดอกหรือ?
หลักประกันสังคมสำหรับคนไทยที่สูงวัยวันนี้มีแค่ 3 ระบบเท่านั้น และครอบคลุมจำนวนประชากรแค่ 9.2 ล้านคนเท่านั้น คือระบบการสงเคราะห์เบี้ยยังชีพสำหรับคนสูงวัยที่ยากจน ซึ่งช่วยได้แค่ 4 แสนคน ระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการจำนวน 1.8 ล้านคน และระบบประกันสังคมจำนวน 7 ล้านคน (ข้อมูลปี พ.ศ. 2545)
ปัญหาเร่งด่วนสำหรับคนไทยวันนี้ ที่ต้องเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมคนสูงวัยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ก็คือ เราจำเป็นต้อง "ส่งเสริมการออม" เพื่อเป็นหลักประกันและการใช้จ่ายในอนาคตและในยามแก่ตัว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดแต่กลับถูกละเลยที่สุดในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การนำของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่สนับสนุนให้ประชาชนใช้เงินอนาคตเพื่อตอบสนองความอยากบริโภคในปัจจุบัน โดยผลัดการใช้หนี้ไปสู่อนาคต
การกลายเป็นคนสูงวัยของผู้คนจำนวนมากๆ ย่อมมีผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการบริโภคโดยรวมของประเทศอย่างแน่นอน เพราะคนที่อยู่ในช่วงการบริโภคส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยหนุ่มสาวและวัยทำงาน ส่วนคนสูงวัยส่วนใหญ่จะไม่ค่อยบริโภคมาก เนื่องจากมีปัจจัยสี่ครบอยู่แล้วจึงไม่ค่อยใช้จ่าย หรือหากเป็นคนสูงวัยที่ยากไร้ก็ไม่มีกำลังซื้ออยู่แล้ว ดังนั้น การกลายเป็นสังคมคนสูงวัยของสังคมไทยในอนาคตอันใกล้นี้ จึงย่อมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญแน่นอน
ปัญหาคนสูงวัยยังสามารถจำแนกได้ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ระหว่าง กลุ่มคนสูงวัยที่ยากจนและโดดเดี่ยว ซึ่งจะมีจำนวนเป็นสิบล้านคนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า กับ กลุ่มคนสูงวัยที่มีการศึกษาและมีเงิน ซึ่งก็จะมีจำนวนหลายล้านคนเช่นกัน
สำหรับกลุ่มคนสูงวัยที่ยากจนและโดดเดี่ยว คนกลุ่มนี้จำเป็นต้องพึ่งระบบสวัสดิการสังคมของรัฐเป็นหลัก และถ้าเป็นไปได้ก็คงต้องพึ่งพาระบบเครือญาติและชุมชนที่ยังมีความเข้มแข็งอยู่มาคอยเกื้อกูลดูแลแทนรัฐ การที่จะคาดหวังต่อกลุ่มคนสูงวัยกลุ่มนี้ให้มีคุณูปการต่อการสร้างสรรค์ "สังคมความรู้" และ "การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึก" คงเป็นไปได้ยาก
ซึ่งตรงกันข้ามกับ กลุ่มคนสูงวัยที่มีการศึกษา และมีเงิน ผู้เขียนมีความเห็นว่า คนกลุ่มนี้ (อย่างเช่น กลุ่มคนรุ่น 14 ตุลาฯ ในอีกสิบปีหรือยี่สิบปีข้างหน้า) สามารถมีคุณูปการอย่างสูงต่อการพัฒนาสังคมความรู้ขึ้นมาในประเทศนี้ โดยผ่านการยกระดับจิตหรือการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างเชิงลึกของพวกเขา เพราะคนกลุ่มนี้มีศักยภาพมากกว่ากลุ่มอื่นทั้งหมด ในสังคมนี้ที่จะยกระดับจิตสำนึกของตนไปสู่ จิตสำนึกเชิงบูรณาการ (integral awareness) ซึ่งเป็นระดับจิตที่สำคัญในการชี้นำและผลักดันการปฏิรูปเชิงบูรณาการในประเทศนี้
กลุ่มคนสูงวัยที่มีการศึกษาและมีเงินกลุ่มใหญ่หลายล้านคนนี้จะกลายเป็น พลังหลักในการขับเคลื่อนสังคมไทยในอนาคตอันใกล้ อย่างที่ไม่เคยนึกถึงมาก่อน เพราะพวกเขาจะกลายเป็น คนสูงวัยที่ไม่ยอมแก่ พวกเขายังไม่ยอมเฉื่อยชาที่ใช้ชีวิตแบบซังกะตายอยู่ไปวันๆ เพื่อรอวันตายเหมือน คนแก่ในอดีต พวกเขา แค่สูงวัยขึ้นแต่ยังไม่คิดว่าตัวเองแก่เฒ่าจนใช้การไม่ได้ พวกเขาตระหนักดีในตนเองว่า พวกตนมีประสบการณ์ในชีวิตมากมาย การศึกษาก็สูง มีปัญญาในการใช้ชีวิต มีเงินมาก และมีเวลามากด้วย พวกเขาเหล่านี้จะกลายเป็นเป้าหมายใหม่ที่สำคัญของนักการตลาด เพื่อการบริโภคสินค้าและบริการอย่างไม่ต้องสงสัย แต่จะมี ผู้สูงวัยที่มีปัญหาและมีเงินจำนวนไม่น้อย ที่จะไม่ตกหลุมพรางแห่งกับดักของพวกนักการตลาดเจ้าเล่ห์เหล่านี้
พวกเขาเหล่านี้ซึ่งส่วนใหญ่มักเริ่มค้นพบตัวเองตั้งแต่วัยกลางคน แต่ด้วยภาระหน้าที่ทางการงานในตอนนั้น ทำให้ยังไม่มีเวลาพอที่จะทำในสิ่งที่หัวใจของตนเองเรียกร้องปรารถนาได้ แต่ มันจะไม่ใช่เช่นนั้นอีกต่อไป เพราะ พวกเขาจะหันมาประเมินสิ่งที่พวกเขาต้องการจากชีวิตที่ยังเหลืออีกหลายปีใหม่ เพราะพวกเขาตระหนักได้ดีแล้วว่า การมีอายุยืนขึ้นหมายความว่ามีเวลามากขึ้น ทำให้พวกเขาคิดถึงสิ่งที่พวกเขาอยากจะทำจริงๆ กับช่วงเวลาที่เหลืออยู่มากขึ้น
คนสูงวัยบางคนอาจกลับเข้าไปเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัยใหม่ บางคนอาจเรียนศิลปะ บางคนอาจเรียนดนตรี บางคนอาจเรียนภาษาต่างประเทศ บางคนอาจเรียนหมากล้อม บางคนอาจฝึกมวยจีน-ชี่กง-โยคะ บางคนอาจเขียนหนังสือ แปลวรรณกรรม บางคนอาจฝึกสมาธิ บางคนอาจบวช บางคนอาจทำงานอาสาสมัครเพื่อสังคม หรือบางคนอาจทำหลายๆ อย่างข้างต้นพร้อมๆ กัน โดยสิ่งที่พวกเขาจะเรียนรู้ในช่วงสูงวัยนี้ มักเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ได้เรียนรู้มาก่อนในช่วงที่ยังหมกมุ่นกับการทำมาหากิน หรืออาจเคยสนใจแต่ไม่มีเวลาฝึกฝนเต็มที่ เพราะฉะนั้น การเรียนรู้แบบสหวิทยาการ ของกลุ่มคนสูงวัยกลุ่มนี้มันจะไปส่งเสริมความเป็น "พหุปัญญา" ของพวกเขา ซึ่ง ภูมิปัญญาบูรณาการ มองว่า มันเอื้ออำนวยให้เกิดการวิวัฒนาการทางจิต หรือการยกระดับทางจิตของกลุ่มคนสูงวัยกลุ่มนี้ให้ไปสู่ระดับจิตแบบพหุนิยม หรือสูงกว่านั้นได้อย่างไม่ลำบากนัก
จึงเป็นที่คาดการณ์ได้ว่า อีกไม่กี่ปีข้างหน้า สังคมนี้จะมีกลุ่มคนสูงวัยที่มี ระดับจิตขั้นสูง ในระดับ พหุนิยม มากที่สุดเป็นประวัติการณ์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของประเทศนี้ ซึ่งย่อมส่งผลสะเทือนต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ในทุกมิติอย่างแน่นอน
ปัจจุบันนี้ เราสามารถเห็นแนวโน้มของ "ว่าที่ คนสูงวัยในอีกสิบปีหรือยี่สิบปีข้างหน้านี้ ที่เป็น "คนดัง" ของประเทศนี้หลายคนที่เริ่มขยายพรมแดนแห่งการเรียนรู้ของตนในทิศทางที่เป็น "พหุปัญญา" มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น
คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ CEO แห่งเซเว่น-อีเลฟเว่น นักบริหารมืออาชีพระดับต้นๆ ของประเทศนี้ ปัจจุบันนอกจาก หมากล้อม ที่เขาหลงใหลเป็นชีวิตจิตใจแล้ว เขายังเริ่มเรียนชี่กงและมวยไท้เก๊กอีกด้วย
ยุค ศรีอารยะ หรือ ดร.เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ แห่งวิถีทรรศน์ นักวิชาการอิสระชื่อดังก็เริ่มหันมาฝึกฝนชี่กงและสมาธิด้วยตนเอง และเขียนหนังสือในแนวนี้ออกมา นอกเหนือไปจากงานเขียนหนักๆ อย่างเรื่อง ระบบโลก และโลกาภิวัตน์ อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี "ขาประจำ" ชื่อดัง ซึ่งนอกจากจะวิจารณ์การเมืองอย่างแหลมคมแล้ว เป็นที่ทราบกันดีว่า เขาชอบเขียนภาพสีน้ำในยามว่าง เป็นต้น
พื้นฐานของ สังคมความรู้ นั้น มาจาก พหุปัญญา ในขณะที่ระบบการศึกษาในปัจจุบันของเรา ยังให้ พหุปัญญา (ปัญญาทางกาย, ปัญญาทางดนตรี, ปัญญาทางศิลปะ, ปัญญาทางภาษา, ปัญญาทางตรรกะ, ปัญญาทางมนุษยสัมพันธ์, ปัญญาในการทบทวนตัวเอง และปัญญาในการปรองดองกับธรรมชาติ) แก่ลูกหลานเราได้ไม่ครบถ้วนเช่นนี้ บางทีพหุปัญญาอาจจะเกิดขึ้น และงอกงามขึ้นในสังคมนี้ได้ โดยผ่านบทบาทของกลุ่มผู้สูงวัยกลุ่มนี้ก็เป็นได้ในการเผยแพร่องค์ความรู้เชิง "พหุปัญญา" ออกสู่วงกว้าง