พหุปัญญากับวิถีบูรณาการของคนสูงวัย (ตอน 2)
สิ่งที่คนสูงวัย และคนวัยกลางคนผู้มองการณ์ไกลจะต้องตระหนัก หากมีความประสงค์จะยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง ก็คือ ระดับของการสร้างสรรค์ (levels of creation) ในการดำเนินชีวิต นั้นมีอยู่ 4 ระดับด้วยกันคือ
(1) ระดับ จิตใต้สำนึก (the subconscious)
(2) ระดับ จิตสำนึก (the conscious)
(3) ระดับ จิตเหนือสำนึก (the superconscious)
(4) ระดับ อภิจิต (the supraconscious)
จิตของมนุษย์นั้น ทำงานใน 4 ระดับนี้พร้อมๆ กันอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่คนส่วนใหญ่เข้าถึง และรู้ตัวได้แค่ในบางระดับเท่านั้น จิตที่ทำงานในระดับจิตใต้สำนึก จะรับหน้าที่ดูแลระบบการทำงานโดยอัตโนมัติทั้งหมดของ ร่างกาย (body) รวมทั้งทำหน้าที่ สะสม ข้อมูล ประสบการณ์ ความรู้ เหตุการณ์ต่างๆ ทั้งหมด ซึ่งพร้อมที่จะถูกนำมาใช้งานได้โดยผ่านจิตสำนึกของคนเรา
จิตที่ทำงานในระดับจิตสำนึก จะรับหน้าที่ประมวลข้อมูลทั้งหมดโดยรวมในแต่ละปัจจุบันขณะ มันจะทำการวิเคราะห์ข้อมูลในอดีต ทำความเข้าใจและตัดสินใจในปัจจุบัน รวมทั้งการคาดการณ์เกี่ยวกับอนาคตด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการทำงานของ ใจ (mind) จิตในระดับนี้มีความสำคัญที่สุด เพราะ มันเป็นตัวสร้างความรับรู้เกี่ยวกับประสบการณ์แห่ง "ปัจจุบันขณะ" ให้แก่คนเรา การคิดถึงอดีต หรือการคาดหวังในอนาคต แท้ที่จริงก็เป็นประสบการณ์แห่ง "ปัจเจกขณะ" ในตอนนั้นๆ ของคนเรา เพราะ "อดีต" หรือ "อนาคต" มันไม่เคยมีอยู่จริงในเชิงประสบการณ์ มันมีแต่ละปัจจุบันขณะจากขณะหนึ่งไปสู่อีกขณะหนึ่งที่ต่อเนื่องกันไปไม่รู้จบ โดยที่บางขณะใจของเราก็แวบไปสู่ "อดีต" บางขณะก็แวบไปสู่ "อนาคต" คนที่สามารถมีจิตใจจดจ่ออยู่กับ "ปัจจุบันขณะ" ได้อย่างรู้ตัวทั่วพร้อม อย่างต่อเนื่องตลอดเวลานั้น นับว่าหาได้ยาก และจะต้องถือว่าคนผู้นั้นเป็นคนที่มีวิวัฒนาการทางจิตในระดับที่สูงกว่าปุถุชนคนธรรมดามาก
เพราะฉะนั้น จิตที่ทำงานในระดับจิตเหนือสำนึก คือจิตที่รับหน้าที่ในการเจริญสติอย่างรู้เท่าทัน ความคิด จิตใจของตัวเองมันเป็นสภาวะจิตที่แค่ "เฝ้าดู" อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของตนเองโดยไม่เข้าไปปรุงแต่งเป็นหนึ่งเดียวกับมัน เป็นสภาวะจิตที่ "ตระหนักรู้" ถึงความเป็นเอกภาพแห่งกาย-ใจ-ปราณ ในแต่ละปัจจุบันขณะของตนเอง ซึ่งเป็นการทำงานของ วิญญาณ (soul) หรือ "ตัวรู้" อันบริสุทธิ์ของคนเรา
ส่วน จิตที่ทำงานในระดับอภิจิต คือจิตที่ทำงานในการ บูรณาการ ระดับจิตทั้งสามระดับข้างต้น ให้ทำงานอย่างเป็นไปเอง (spontaneous) อย่างผ่อนคลาย อย่างเป็นธรรมชาติโดยไม่ต้องใช้ความพยายาม ความมุ่งมั่น ความตั้งใจใดๆ ทั้งสิ้น (effortless) มันเป็นสภาวะจิตที่สมบูรณ์พร้อมบริบูรณ์อยู่แล้วในตัวมันเอง มันจึงเป็นการทำงานของ ธรรมจิต (spirit) ที่ตระหนักในความเป็นหนึ่งเดียวกันของสรรพสิ่ง หรือตระหนักในความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างตัวเราเองกับจักรวาฬ (Kosmos)
การดำเนินชีวิตอย่างสร้างสรรค์ของคนสูงวัย หรือคนวัยกลางคนที่มีสติปัญญา และมองการณ์ไกล หรือแม้แต่ วิถีชีวิต ของคนวัยหนุ่มวัยสาวที่มีพลังแห่งชีวิตเปี่ยมล้น ที่ต้องการเข้าถึงสุดยอดแห่งความจริง ความดี และความงามของชีวิต จะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติหากเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตของตนเอง ดังต่อไปนี้
หนึ่ง ควร หันมาใส่ใจกับชีวิตภายในของตน หรือ "ด้านใน" ของชีวิตตนให้มากขึ้น อย่าไปหมกมุ่นแต่ชีวิตภายนอกหรือ "ด้านนอก" ของชีวิตมากจนเกินไปจนขาดสมดุล ควรทำให้การเจริญภาวนา และการทำสมาธิกลายมาเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของตน อยากจะบอกพวกท่านว่า แค่เริ่มฝึกเจริญภาวนา ทำสมาธิ 15 นาที ในตอนเช้า และอีก 15 นาทีในตอนกลางคืนก่อนเข้านอน ก็อาจเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนผู้นั้นได้อย่างสิ้นเชิง
สอง ควรหันมา ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ได้แล้ว จิตใจของคนเราจักไม่อาจเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ หากร่างกายของคนผู้นั้นอ่อนเปลี้ยเพลียแรงหรืออุ้ยอ้าย การออกกำลังกายแค่วันละยี่สิบนาที โดยเฉพาะ การออกกำลังกายแนวภูมิปัญญาตะวันออกอย่างโยคะ ชี่กง มวยจีน (ไท้เก๊ก) หรือการว่ายน้ำอย่างสม่ำเสมอก็สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนผู้นั้นได้อย่างสิ้นเชิงเช่นกัน
สาม ควร เลือกกินแต่อาหารที่ดีต่อสุขภาพอย่างเป็นองค์รวม ปัจจุบันนี้มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่กำลังบั่นทอนร่างกายและจิตใจของตนเองด้วยสิ่งที่พวกเขากิน เสพ ดื่มเข้าไป การบั่นทอนนี้มันดำเนินไปอย่างช้าๆ อย่างลับๆ แทบไม่รู้สึกตัว ผู้นั้นจะไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นเลย จนกระทั่งมันได้เกิดขึ้นมาแล้ว (เช่น มะเร็ง) ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น หากจะคิดต่อสู้ทัดทานกระบวนการแห่งความเสื่อมทรุดของสุขภาพนี้ ก็อาจจะสายเกินไปแล้วหรือทำได้ยากลำบากมากเลย ผู้ที่รักษาหายได้จึงถูกเรียกว่าเป็น "ปาฏิหาริย์" ทางการแพทย์ ในบรรดาปัญหาการกินการเสพของคนสมัยนี้นั้น บุหรี่น่าจะเป็นปัญหาเลวร้ายที่สุดยิ่งกว่าสุราเสียอีก ผู้ที่สูบบุหรี่อยู่ควรหันมาทบทวนพฤติกรรมของตัวเองอย่างจริงจังได้แล้ว ก่อนที่จะสายเกินไป
สี่ ควร อ่านหนังสือที่ส่งเสริมการยกระดับจิตใจ และจิตวิญญาณของตนอย่างสม่ำเสมอ และอย่าปิดแคบจำกัดโลกทัศน์ของตนในการอ่าน ทั้งประเภทของหนังสือและผู้แต่ง แต่ควรอ่านอย่างมีวิจารณญาณด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง และไม่เห่อตาม "กระแส" พื้นฐานที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในสังคมแห่งการเรียนรู้ก็คือ คนเราต้องให้การศึกษาตนเองให้จงได้ ทั้งในระดับร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ ทั้งในมิติปัจเจก สังคม วัฒนธรรม และธรรมชาติ การบ่มเพาะนิสัยรักการอ่านหนังสือที่หลากหลาย จึงจำเป็นอย่างยิ่ง
ห้า ควร มี "พื้นที่" ที่ตัวเองจะสามารถสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนให้สามารถยกระดับทางจิต และเติบโตทางจิตวิญญาณไปด้วยกันได้ โดยผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เช่น อ่านหนังสือร่วมกัน ฟังดนตรีร่วมกัน เจริญภาวนาร่วมกัน ทำอาหารร่วมกัน ฟังธรรมร่วมกัน ช่วยเหลือสังคมร่วมกัน ออกกำลังกายร่วมกัน เดินทางไปท่องเที่ยวธรรมชาติร่วมกันเหล่านี้ เป็นต้น
คำแนะนำทั้ง 4 ประการข้างต้น เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเริ่มกระทำได้เลยตั้งแต่บัดนี้ มันเป็น ก้าวแรก ของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึกของคนเรา และจะเป็น ก้าวที่ยิ่งใหญ่ มาก หากผู้นั้น ตัดสินใจก้าวเดินอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่เสียแต่บัดนี้
สำหรับท่านที่สนใจจะเริ่มเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึกพร้อมๆ ไปกับการพัฒนา พหุปัญญา 8 ประเภท ที่ได้กล่าวไปแล้ว ซึ่งได้แก่
(1) ความฉลาดทางภาษา
(2) ความฉลาดทางตรรกะ
(3) ความฉลาดทางมิติสัมพันธ์
(4) ความฉลาดทางกาย
(5) ความฉลาดทางดนตรี
(6) ความฉลาดทางสังคม
(7)ความฉลาดในเชิงญาณทัสนะ และ
(8) ความฉลาดในการรักษ์ธรรมชาตินั้น
จะสามารถ ปฏิบัติได้ โดยผ่านการฝึกฝนศิลปะและศาสตร์ต่างๆ ดังต่อไปนี้คือ หมากล้อม โยคะ ชี่กง มวยจีน (ไทเก๊ก) สมาธิ วาดภาพ ดนตรี (ขลุ่ย, พิณจีนกู่เจิ้ง, ไวโอลิน, ซอ, เปียโน) อ่านคัมภีร์โบราณ และหนังสือคลาสสิก ศิลปะแบบเซน เป็นต้น
ต่อจากนี้ไปผู้เขียนจะขอนำเสนอ เคล็ดและแนวทางต่างๆ สำหรับผู้ที่สนใจจะฝึกฝนศาสตร์ และศิลปะต่างๆ เพื่อการพัฒนาพหุปัญญาเชิงบูรณาการดังข้างต้นนี้ ดังต่อไปนี้
(1) วิถีแห่งตันตระเพื่อการพัฒนาพหุปัญญาเชิงบูรณาการ
ปรัชญาตันตระ ให้ความสำคัญต่อ มรรควิถีแห่งศิลปะต่างๆ ในการยกระดับจิตวิญญาณของผู้คน โดยพยายามเชื่อมโยงสิ่งที่เป็นกิจกรรมประจำวันของคนทั่วๆ ไป แล้วนำมาประยุกต์ใช้เป็นอุบาย หรือวิธีการต่างๆ ในการยกระดับทางจิต เพื่อนำไปสู่การหลุดพ้นนิพพานหรือการเป็นหนึ่งเดียวกับพระผู้เป็นเจ้าได้
"พื้นที่ว่าง" ภายในจิตใจของมนุษย์คือ บ่อเกิดแห่งงานศิลปะทั้งปวง เพราะสิ่งที่เป็นรากฐานของ "รูปธรรม" แห่งศิลปะทั้งหลายนั้น มาจาก "จิตสัญญา" (จิตที่หมายรู้ได้) ของตัวศิลปินเอง จิตสัญญาที่เกิดขึ้นกับงานทางศิลปะนั้น เป็นผลมาจากสภาวะที่จิตของศิลปินผู้นั้นเปี่ยมด้วยสมาธิ ปลอดจากความคิดรบกวนต่างๆ สภาวะดังกล่าวจึงทำให้จิตของศิลปินได้สัมผัสกับ "รูปทรง" บางประการ แล้วจิตก็รับรู้จดจำได้
การรับรู้จดจำได้นี้ ไม่ได้เกิดขึ้นในระดับจิตสำนึกที่สัมผัสกับโลกภายนอกทั่วไป แต่เกิดขึ้นใน จิตระดับเหนือสำนึก หรือ จิตระดับอภิจิต ที่เป็น "พื้นที่ว่างภายในใจ" จากการรับรู้จดจำภายในได้อย่างชัดแจ้งนี้ จึงนำไปสู่การสร้างสรรค์ให้รูปทรงในนิมิตนั้นๆ ปรากฏเป็นจริงอย่างเป็นรูปธรรมผ่านการวาด การเขียน การบรรเลงดนตรี การขับร้อง การร่ายรำ การสลักปั้น และอื่นๆ
รูปทรงอันเป็นที่มาแห่ง ประสบการณ์ด้านความงาม ที่เกิดขึ้นใน "พื้นที่ว่าง" ภายในใจของศิลปินนี้ จะว่าไปแล้ว มิใช่เป็นการสร้างหรือการปรุงแต่งของจิตเสียทั้งหมด ที่ถูก มันน่าจะเป็น การเชื่อมโยงกันระหว่างจิตของศิลปินกับสภาวะอันเป็นปรมัตถ์ ที่เป็นสภาวะความจริงสูงสุดของจักรวาฬมากกว่า เพราะตรงพื้นที่ว่างภายในใจของศิลปินที่ปราศจากการรบกวนของความคิด อารมณ์ ความฟุ้งซ่าน ย่อมเป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างอาณาเขตของจิตมนุษย์กับสภาวะแห่งความจริงสูงสุดของธรรมจิต
ในทัศนะของตันตระ ความจริงสูงสุด พื้นที่ว่างภายในใจ จิตที่เป็นตัวรู้ ศิลปะ ความพึงพอใจ และตัวประสบการณ์ของความงาม-ความจริง ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกจากกันได้ มิหนำซ้ำนิมิตที่เกิดขึ้นยังเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และสมบูรณ์พร้อมในทันที หาได้มีลักษณะใคร่ครวญ ปรุงแต่งพัฒนาไปทีละน้อยแต่ประการใด ซึ่งต่างกับศิลปะเชิงพาณิชย์ หรือเชิงการตลาดที่เห็นกันดาษดื่น
ความรู้สึกถึงความมี "ตัวตน" (อัตตา) ของคนเรา เป็นที่มาของความรู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดายของผู้คน และ ศิลปะ เป็นสะพานที่เชื่อมโยงความรู้สึกอันเกิดจากพื้นที่ว่างกลางหัวใจนั้น สู่โลกภายนอก หรืออาจกล่าวได้ว่า ศิลปะ เป็นเครื่องมือที่จะช่วยทุเลาความรู้สึกเดียวดายของตัวตน และนำพาผู้นั้นออกจากที่คุมขังของตัวตนอันโดดเดี่ยวอ้างว้าง
การต้องเผชิญกับความรู้สึกโดดเดี่ยวด้วยตัวคนเดียว เป็นความรู้สึกที่น่าหวั่นสะพรึง และเป็นสภาวะอารมณ์ที่มนุษย์ทุกคนผู้มีตัวตนอันโดดเดี่ยวล้วนต้องประสบร่วมกัน เหมือนๆ กันทั้งสิ้น โดยไม่เกี่ยวข้องกับฐานะทางสังคมหรือความร่ำรวยยากไร้แต่ประการใด ด้วยเหตุนี้กระมัง ผู้คนจึงต้องหาทางบรรเทาความรู้สึกโดดเดี่ยวนี้ด้วย การออกมาปะปนกับผู้คน มามีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ออกมาจับจ่ายสินค้านอกบ้าน ออกมาเที่ยวกลางคืน ออกมาเล่นการพนัน หรือทำให้ความรู้สึกโดดเดี่ยวนี้เจือจางลงชั่วคราวด้วยการดื่มสุราหรือเสพยากล่อมประสาท
เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการเหล่านี้แล้ว ศิลปะ ที่ออกมาจาก "พื้นที่ว่าง" ภายในใจของมนุษย์ที่ถ่ายทอดออกมา สู่ผู้อื่น มันจะไปเชื่อมโยงกับพื้นที่ว่างภายในของผู้อื่น ให้ผูกโยงความรู้สึกกันชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งจะช่วยบรรเทาความรู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดายของกันและกันได้ ศิลปะต่างๆ จึงมีคุณค่าและความหมายยิ่งนัก สำหรับการพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่แท้ของคนเรา