|
|||
หลักฐานสนับสนุนที่ชัดเจนก็คือ การเจริญเติบโตระหว่าง สหรัฐอเมริกา กับประเทศในทวีปยุโรปยกเว้นอังกฤษในช่วงเวลาประมาณ 200 ปีที่ผ่านมาที่สหรัฐฯ และอังกฤษก้าวหน้ากว่าจนกลายเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งทางเศรษฐกิจของโลก เหตุก็เพราะ 50 รัฐของสหรัฐฯ ก็คล้ายกับ 50 ประเทศที่ไม่มีการกีดกันทางการค้า ในขณะที่รัฐบาล(กลาง)สหรัฐฯ มีบทบาทต่อเศรษฐกิจโดยตรงน้อยมาก แต่ให้กลไกตลาดและเอกชนมีบทบาทมากกว่า เช่นเดียวกับอังกฤษที่หันกลับมาเน้นการค้าเสรีจนกลายเป็นมหาอำนาจในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ขณะที่ประเทศในทวีปยุโรปแม้จะมีจำนวนหลายประเทศแต่กลับยึดลัทธิพาณิย์นิยมปกป้องการค้าของตนเองและไม่จำกัดบทบาทของรัฐในทางเศรษฐกิจ ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจล้าหลังกว่าสหรัฐฯ เป็นอันมากทั้งๆ ที่เป็นประเทศเกิดใหม่ที่มีอายุพอๆ กับกรุงเทพมหานคร ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลอภิสิทธิ์พยายามจะตีตนออกห่างจากนโยบายประชานิยมด้วยประชาวิวัฒน์จึงเป็นการ “สวมตอ” ประชานิยมเพื่อเอาชนะสิ่งที่ทักษิณได้เคยเสนอต่อสังคมไทยเพื่อเป้าหมายคะแนนเสียง แต่ขาดความยั่งยืน และขาดความรับผิดชอบในด้านการเงินของประเทศ เพราะการที่รัฐบาลเข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจด้วยการเข้ามาแทรกแซงโดยไม่มีเหตุจำเป็นเป็นเครื่องชี้ที่ดี มิใช่เรื่องใช้เงินงบประมาณมากหรือน้อยหากแต่เป็นเรื่องรัฐบาลอภิสิทธิ์ทำหน้าที่เกินความจำเป็น อย่าลืมว่าเมื่อรัฐบาลเข้ามาแทรกแซงดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเสียเองแทนที่จะให้เอกชนเขาทำกันเอง สิ่งที่ติดตามมาก็คือ เงิน ที่ต้องใช้ ซึ่งเอกชนมีแนวโน้มที่จะเหนือกว่าในเรื่องประสิทธิภาพในการใช้เงินเพราะมีเจ้าของเงินเป็นตัวเป็นตนที่ชัดเจน ซึ่งต่างจากรัฐบาลที่ไม่ได้ใช้เงินตนเอง ประสิทธิภาพในการใช้เงินเพื่อดำเนินกิจกรรมจึงต่างกัน แท็กซี่เอื้ออาทรในนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณจึงมีความแตกต่างจากแท็กซี่โครงการประชาวิวัฒน์ที่กรณ์บอกตรงที่ใด ต่างก็เป็นการแทรกแซงกลไกตลาดของรัฐบาลโดยให้สถาบันการเงินของรัฐปล่อยสินเชื่อเสียเอง หากเป็นโครงการที่ดีไม่เสี่ยงและมีกำไรพอควร สถาบันการเงินของเอกชนก็คงทำไปแล้ว แต่ที่ไม่ทำก็มีเหตุผลในตัวของมันเองว่าเสี่ยงไม่คุ้ม เช่นเดียวกับโครงการปล่อยสินเชื่อให้รายย่อยทั้งหลายหรือ micro finance เช่น กองทุนหมู่บ้าน ที่สถาบันการเงินเอกชนไม่ทำเพราะต้นทุนการดำเนินงานสูง มิใช่เป็นการคิดใหม่ทำใหม่ของประชานิยมหรือประชาชนคิด-รัฐสนองของประชาวิวัฒน์แต่อย่างใด หากแต่เป็นการคิดนอกคอกต่างหาก ประสบการณ์ที่ผ่านมาของ อาร์เจนตินาและประเทศในละตินอเมริกา หรือประเทศในกลุ่มยูโร เช่น กรีซ หรือไอร์แลนด์ ก็เป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่ดีมิใช่หรือว่า การไม่จำกัดบทบาทด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลในการเอาใจประชาชนจะก่อให้เกิดผลร้ายกับประเทศขนาดไหน มันมิได้เกิดขึ้นโดยฉับพลันทันทีทันใด หากแต่จะเป็นเช่นก้อนหิมะหรือ snow ball ที่เมื่อเวลาผ่านไปปัญหาจะสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จนหยุดยั้งได้ยาก |
|||
ประเทศอังกฤษได้ยกย่องคุณงามความดีของ Adam Smith โดยนำเอารูปภาพไปไว้ในด้านหลังของธนบัตร 20 ปอนด์ กรณ์ และอภิสิทธิ์ ต่างก็เคยที่ร่ำเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์มาจากที่เดียวกันกับที่ Adam Smith เคยเรียน แถมอภิสิทธิ์ยังเคยเป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์เสียด้วยซ้ำ แต่กลายเป็นว่าคุณทั้ง 2 ยอมเป็น Faustian ที่ยอมขายวิญญาณเพื่อแลกกับผลประโยชน์ทางการเมือง ละทิ้งหลักการทางเศรษฐศาสตร์ขั้นพื้นฐานไปอย่างที่ไม่มีนักเศรษฐศาสตร์คนใดจะเห็นดีเห็นงามไปกับประชาวิวัฒน์ของพวกคุณ ผู้อ่านคิดว่าในอนาคตทั้ง 2 คนจะได้ไปอยู่ที่ไหน? |