40. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ)
ชุดวาทกรรมหรือชุดโต้แย้งเพื่อบ่ายเบี่ยง ยื้อฉุด ผัดผ่อน ละเลย เพิกเฉย ความสำคัญและความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อม ยังมีอีกมาก ที่ผ่านมาเพิ่งกล่าวไปได้ 3 ข้อเท่านั้น เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคประชาชนจะต้องรู้ทันชุดวาทกรรมเหล่านี้ให้หมด ดังที่จาเร็ด ไดมอนด์ ผู้เขียนหนังสือ “ล่มสลาย” ได้รวบรวมเอาไว้อย่างหลากหลาย...
(4) “จริงๆ แล้วโลกไม่มีปัญหาด้านอาหารแต่อย่างใด อาหารมีอยู่แล้วอย่างเพียงพอ เราจำเป็นแค่แก้ปัญหาการขนส่งเพื่อกระจายอาหารออกไปสู่สถานที่ที่มีความต้องการอาหารให้ได้เท่านั้น” หรือ “ปัญหาด้านอาหารของโลกกำลังได้รับการแก้ไขอยู่แล้วจากการปฏิวัติเขียวที่พัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ รวมทั้งพืชชนิดอื่นๆ ที่ให้ผลผลิตสูง หรือไม่เช่นนั้นก็จะได้รับการแก้ไขด้วยพืชดัดแปลงพันธุกรรม”
วาทกรรมข้างต้นตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าพลเมืองในประเทศพัฒนาแล้ว มีอัตราการบริโภคอาหารเฉลี่ยต่อหัวในปริมาณที่มากกว่าพลเมืองในประเทศกำลังพัฒนา และประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศก็ผลิตหรือสามารถผลิตอาหารได้ในปริมาณที่มากกว่าปริมาณอาหารที่พลเมืองในประเทศของตนบริโภค คำถามจึงอยู่ที่ว่า ถ้าสามารถแบ่งสรรการบริโภคอาหารให้เสมอภาคเท่าเทียมกันทั่วโลก หรือส่งออกอาหารส่วนเกินที่เหลือจากการบริโภคของประชากรในประเทศพัฒนาแล้วไปยังประเทศที่กำลังพัฒนา จะช่วยบรรเทาสภาวะความอดอยากขาดแคลนอาหารในประเทศกำลังพัฒนาได้จริงหรือ?
จุดอ่อนที่เห็นได้ชัดเจนจากคำกล่าวอ้างครึ่งแรกดังกล่าวก็คือ พลเมืองในประเทศพัฒนาแล้วไม่ได้แสดงให้เห็นว่า ต้องการจะรับประทานน้อยลงเพื่อให้พลเมืองในประเทศกำลังพัฒนาบริโภคได้มากขึ้นแต่อย่างใด
ส่วนจุดอ่อนในคำกล่าวอ้างครึ่งหลังนั้นอยู่ที่ว่า แม้ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายยินดีส่งอาหารเป็นครั้งคราวเพื่อบรรเทาสภาวะอดอยากขาดแคลนอาหารขั้นวิกฤต (เช่น สภาวะภัยแล้ง หรือสงคราม) เข้าไปในประเทศกำลังพัฒนาที่ประสบปัญหา แต่พลเมืองในประเทศพัฒนาแล้วก็ไม่ได้สนใจจ่ายเงินประจำ (เงินสนับสนุนความช่วยเหลือต่างประเทศ และเงินอุดหนุนแก่เกษตรกร) เพื่อเลี้ยงดูพลเมืองในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายจำนวนหลายพันล้านคนอย่างต่อเนื่อง และต่อให้ทำแบบนั้นได้ก็ตาม หากประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้นปราศจากโปรแกรมการวางแผนครอบครัวที่มีประสิทธิภาพ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็จะกลายเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก หรือภาวะหนีเสือปะจระเข้แบบมัลธัส
กล่าวคือ มีการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนของประชากรในแง่ที่ไม่สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของปริมาณอาหาร ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร และภาวะหนีเสือปะจระเข้แบบมัลธัสดังกล่าวยังช่วยอธิบายได้ว่า เหตุใดสภาวะอดอยากขาดแคลนอาหารจึงยังคงเกิดขึ้นแพร่หลายไปทั่วโลก ทั้งๆ ที่การทุ่มเททั้งความหวัง และการลงทุนไปกับการปฏิวัติเขียวและพืชที่ให้ผลผลิตสูงนานาพันธุ์นานหลายทศวรรษมาแล้ว
ข้อควรพิจารณาดังกล่าว หมายความว่า อาหารดัดแปลงพันธุกรรมนั้น โดยตัวของมันเองแล้วก็ไม่น่าจะแก้ปัญหาด้านอาหารของโลกได้พอๆ กัน (โดยมีสมมติฐานว่า จำนวนประชากรทั่วโลกยังคงที่?) นอกจากนั้น พืชดัดแปลงพันธุกรรมที่สามารถผลิตได้ในปัจจุบันก็มีเพียง 4 ชนิดเท่านั้น (ได้แก่ ถั่วเหลือง ข้าวโพด คาโนลาซึ่งเป็นเมล็ดพืชชนิดหนึ่งที่ใช้กลั่นเอาน้ำมัน และฝ้าย) ซึ่งล้วนเป็นพืชที่มนุษย์ไม่ได้รับประทานโดยตรง แต่ใช้เป็นอาหารสัตว์ ทำน้ำมัน หรือทำเสื้อผ้าซึ่งเพาะปลูกและเติบโตได้ในประเทศหรือภูมิภาคที่อยู่ในเขตอบอุ่นเพียง 6 ประเทศหรือภูมิภาคเท่านั้น บรรดาบริษัทที่พัฒนาพืชดัดแปลงพันธุกรรมดังกล่าว ยังไม่มีความสนใจในการลงทุนจำนวนมากเพื่อพัฒนาพืชดัดแปลงพันธุกรรมจำพวกมันสำปะหลัง ข้าวฟ่าง และข้าวเดือยให้แก่เกษตรกรผู้ยากไร้ในประเทศกำลังพัฒนา
(5) “เมื่อวัดจากตัวบ่งชี้ที่เป็นสามัญสำนึกโดยทั่วไป อย่างเช่น ช่วงอายุของคนรุ่นหนึ่งๆ สุขภาพอนามัย และความมั่งคั่ง (ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ) แล้วจะพบว่าในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา สภาวะหลายๆ อย่างเป็นไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ” หรือ “แค่ลองมองไปรอบๆ ตัวคุณดูสิ หญ้ายังคงเขียวขจี มีอาหารมากมายในซูเปอร์มาร์เกต น้ำสะอาดยังคงไหลมาจากก๊อกน้ำ และตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณความล่มสลายในระยะใกล้ๆ ใดๆ ทั้งสิ้น”
วาทกรรมข้างต้นนี้ ตั้งอยู่ในความประมาท จริงอยู่สำหรับพลเมืองผู้มั่งคั่งในประเทศพัฒนาแล้ว สภาวะเงื่อนไขต่างๆ เป็นไปในทางที่ดีขึ้นจริงๆ และมาตรการทางสาธารณสุขในประเทศกำลังพัฒนา ก็ส่งผลให้อายุเฉลี่ยของประชากรในประเทศเหล่านี้ยืนยาวขึ้นด้วย แต่การที่คนเรามีอายุยืนยาวขึ้น ก็ยังไม่ใช่ตัวชี้วัดที่เพียงพอ กล่าวคือ พลเมืองในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกจำนวนหลายพันล้านคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 80 ของประชากรทั่วโลก ยังคงใช้ชีวิตอยู่อย่างยากไร้ และอยู่ใกล้ระดับเส้นความอดอยากขาดแคลนอาหาร มิหนำซ้ำ ข้อเสนอทั้งปวงที่จะช่วยเปลี่ยนสิ่งต่างๆ เหล่านี้ให้ดีขึ้น ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับในทางการเมืองอย่างจริงจัง แม้ในประเทศพัฒนาแล้ว
นอกจากนี้ ความอยู่ดีกินดีของคนเรา มิได้ดูแค่ตัวเลขทรัพย์สินในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังต้องมองดูทิศทางของกระแสเงินสดของผู้นั้นด้วย ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อนำหลักการอย่างเดียวกันนี้ใช้เปรียบเทียบกับระบบเศรษฐกิจระดับประเทศ และแนวโน้มด้านสิ่งแวดล้อมกับประชากร เราจะพบความจริงที่น่าเป็นห่วงมากว่า ความมั่งคั่งซึ่งประเทศพัฒนาแล้ว กำลังเสวยสุขอยู่ในปัจจุบันตั้งอยู่บนพื้นฐานของต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมจนร่อยหรอลงเรื่อยๆ (ทั้งทุนด้านแหล่งพลังงานที่ไม่อาจทดแทนได้ ปริมาณสำรองปลา หน้าดิน ป่าไม้ ฯลฯ)
ต้นทุนดังกล่าวไม่อาจตีความว่าเป็นการลงทุน หรือการสร้างเงินใดๆ ทั้งสิ้น ความพึงพอใจกับความสะดวกสบายในปัจจุบันกำลังกลายเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลไปเสียแล้ว เมื่อเป็นที่แน่ชัดว่า พวกเรากำลังเดินไปตามเส้นทางที่ไม่มีความยั่งยืนในระยะยาว และอาจล่มสลายทั้งอารยธรรมได้
หนึ่งในบทเรียนหลักๆ ที่เราพึงตระหนักอย่างยิ่งจากกรณีศึกษาการล่มสลายของสังคมต่างๆ ในอดีตนั้น ได้แก่ ความตกต่ำลงอย่างฮวบฮาบของสังคมหนึ่งๆ อาจเริ่มขึ้นภายในเวลาเพียงหนึ่งหรือสองทศวรรษ หลังจากที่สังคมนั้นๆ ก้าวไปถึงขั้นที่มีจำนวนประชากร ความมั่งคั่งรุ่งเรืองและอำนาจสูงสุดแล้ว เพราะผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็จะอยู่ในระดับสูงสุดด้วย จนกระทั่งใกล้ถึงขีดจำกัดที่ผลกระทบนั้นมีมากเกินกว่าปริมาณทรัพยากร จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่ความตกต่ำของสังคมต่างๆ มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นเกือบจะในทันทีที่สังคมนั้นๆ ก้าวผ่านจุดสูงสุดแล้ว
(6) ลองดูสิว่า กี่ครั้งกี่หนมาแล้วที่การทำนายซึ่งมองโลกในอนาคตอย่างไร้ความหวังของบรรดานักสิ่งแวดล้อมที่เป็นพวกที่ชอบหากินกับความหวาดกลัวเหล่านั้น ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นการคาดการณ์ที่ผิดพลาด แล้วทำไมครั้งนี้เราถึงต้องเชื่อพวกเขาด้วยเล่า?”
บางทีนี่อาจจะเป็นวาทกรรมที่ฟังแล้วเข้าท่าที่สุดก็เป็นได้ จริงอยู่ที่ว่าคำทำนายของนักสิ่งแวดล้อมในบางครั้งที่ผ่านมาก็ผิดพลาด ตัวอย่างของคำวิจารณ์ที่มักนิยมยกมากล่าวอ้างได้แก่ คำทำนายของสโมสรแห่งโรม (The Club of Rome) ในปี ค.ศ. 1972 เป็นต้น แต่มันจะเป็นความผิดพลาดไปอย่างแรง หากจะเลือกพิจารณาเฉพาะคำทำนายบางอย่างของนักสิ่งแวดล้อมที่ปรากฏว่าผิดพลาด โดยไม่พิจารณาคำทำนายของนักสิ่งแวดล้อมที่ปรากฏว่าถูกต้อง หรือคำทำนายที่ผิดพลาดของผู้ที่คัดค้านแนวคิดนิยมสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นองค์รวม
โดยทั่วไปแล้ว การทำนายของนักสิ่งแวดล้อมที่ปรากฏว่าพลาดไปนั้น กลับกลายเป็นข้อตำหนิว่าเป็นการส่งสัญญาณเตือนภัยที่ผิดพลาด อย่างไรก็ดี สิ่งนี้ก็เหมือนกับการที่องค์กรปกครองในท้องถิ่นของเรารักษาหน่วยดับเพลิงที่มีค่าใช้จ่ายสูงเอาไว้ เพราะคงไม่มีบุคคลที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ คนไหนคิดฝันที่จะยกเลิกหน่วยดับเพลิงในเขตนั้นๆ เพียงเพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่มีเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่เกิดขึ้นเลย แล้วก็คงไม่มีใครตำหนิเจ้าของบ้านที่โทร.เรียกหน่วยดับเพลิงในทันทีที่พบไฟไหม้จุดเล็กๆ แต่ในที่สุดก็ดับไฟได้เองก่อนที่รถดับเพลิงจะมาถึงเป็นแน่ นอกเสียจากว่า สัญญาณแจ้งเหตุที่ผิดพลาดนั้น เกิดขึ้นบ่อยครั้งจนมีสัดส่วนสูงมากจากจำนวนสัญญาณแจ้งเหตุไฟไหม้ทั้งหมด
ฉันใดก็ฉันนั้น เราก็ต้องหวังให้คำเตือนของนักสิ่งแวดล้อมบางครั้งนั้นเป็นเหมือนสัญญาณเตือนภัยที่ผิดพลาด หรือกลัวเกินเหตุดีกว่าจะปล่อยให้สถานการณ์ลุกลามเลวร้ายจนสายเกินแก้
(7) “วิกฤตการณ์ด้านประชากรกำลังแก้ปัญหาโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว เนื่องจากอัตราการเพิ่มของประชากรโลกกำลังลดลง จนกระทั่งอยู่ในระดับคงที่ด้วยจำนวนที่ไม่ถึงสองเท่าของจำนวนประชากรในปัจจุบัน”
ต่อให้คำทำนายนี้มีแนวโน้มว่าน่าจะเป็นจริงก็ตาม เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ในปัจจุบัน ก็ยังไม่ใช่เรื่องที่น่าสบายอกสบายใจนัก กับความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ ด้วยเหตุผลสองประการ กล่าวคือ ประการแรก เมื่อพิจารณาจากเกณฑ์หลายอย่าง แม้กระทั่งจำนวนประชากรโลกเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็อยู่ในระดับที่สภาพแวดล้อมไม่อาจดำรงอยู่อย่างยั่งยืนในระยะยาวอยู่แล้ว
และ ประการที่สอง อันตรายที่ใหญ่หลวงมากกว่าที่เราต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้นี้ มิได้อยู่ที่ว่า จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า แต่อยู่ที่ว่า ผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมที่จะต้องเพิ่มมากขึ้น หากประชากรในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายพากันดำรงชีวิตด้วยมาตรฐานเดียวกับประชากรในประเทศพัฒนาแล้ว