(42) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (18/1/54)

(42) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (18/1/54)


วิชันพันธมิตรฯ กับอัจฉริยะแห่งจิต

42. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.)





ชาวพันธมิตรฯ และชาวพรรคการเมืองใหม่จะต้องเร่งรีบให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับ ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยว่า แยกไม่ออกจากปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ไม่สมดุล ทำให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างเมืองกับชนบท เกิดการแย่งชิงทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ขณะเดียวกันก็เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ มลพิษจากอุตสาหกรรม และความเสื่อมโทรมของเมืองอันเนื่องมาจากการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในฐานะศูนย์กลางทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและบริการ
       

       เมื่อพิจารณาจากมุมมองของภาวะโลกร้อน เราจะต้องให้ความสำคัญกับวิกฤตการณ์ของพื้นที่ป่าในประเทศไทย เป็นอันดับแรก ในช่วงเวลา 100 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ป่าของไทยได้ลดจำนวนลงมาอย่างมาก จากที่เคยมีทั้งสิ้น 224.5 ล้านไร่ หรือประมาณ 70% ของพื้นที่ทั้งหมดที่เป็นส่วนของแผ่นดิน (มีประมาณ 320.7 ล้านไร่) ในปี พ.ศ. 2453 ลดลงเหลือเพียง 80.3 ล้านไร่ หรือ 25% ของพื้นที่ทั้งหมด ในปี พ.ศ. 2540 และยังคงมีแนวโน้มที่พื้นที่ป่าจะลดลงต่อไปในอัตราประมาณ 250,000 ไร่ต่อปี

       
       ที่ผ่านมา การจัดการป่าเมืองไทยอยู่ภายใต้การตัดสินใจของหน่วยงานเดียว คือ กรมป่าไม้ซึ่งจัดการป่าภายใต้แนวทางหลัก 2 แนวทางคือ (1) การจัดการป่าเพื่อเศรษฐกิจ กรมป่าไม้ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2439 มีเป้าหมายหลักเพื่อดูกิจการทำไม้ ผลจากการให้สัมปทานต่อเนื่องยาวนาน ทำให้พื้นที่ป่าที่เคยมีราว 70% ของประเทศลดเหลือเพียง 28% ทางการจึงตัดสินใจปิดป่า ในปี พ.ศ. 2532 ถือเป็นการสิ้นสุดการทำไม้อย่างเป็นทางการ เหลือเพียงส่วนของป่าชายเลนซึ่งสัมปทานได้สิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2549 เมื่อยกเลิกสัมปทานไปหมดแล้ว กรมป่าไม้จึงหันมาใช้แผนใหม่โดยประกาศพื้นที่ป่าที่เหลือทั้งหมดเป็นเขตอนุรักษ์
       

       (2) การจัดการป่าเพื่อการอนุรักษ์ การลดลงของพื้นที่ป่าทั้งจากการทำไม้ที่ถูกกฎหมาย และการลักลอบตัดไม้ ส่งผลให้กรมป่าไม้เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ โดยที่กฎหมายอนุรักษ์พื้นที่ป่าฉบับแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2504 หรือ 64 ปีหลังจากเปิดสัมปทานป่า โดยมีเป้าหมายรักษาป่าให้มีความเป็นธรรมชาติมากที่สุด ผลที่ตามมาคือ การประกาศขยายพื้นที่อนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์เพื่อการท่องเที่ยว ทั้งนี้นโยบายป่าไม้แห่งชาติ ได้กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่า 40% ของพื้นที่ประเทศ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 25% (ประมาณ 80 ล้านไร่) กับพื้นที่ป่าเศรษฐกิจอีก 15%

       
       ในปี พ.ศ. 2504 ประเทศไทยมีประชากร 30 ล้านคน และมีเนื้อที่ป่าในขณะนั้น 171 ล้านไร่หรือ 53.3% ของพื้นที่ทั้งหมด ปีนี้ตรงกับจุดเริ่มต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2509) ในตอนแรกรัฐบาลได้มีนโยบายที่จะกันพื้นที่ป่าเพื่อสงวนเอาไว้เป็น 50% ของพื้นที่ทั้งหมด แต่ยิ่ง “พัฒนา” ไปมากเท่าไร และยิ่งเวลาผ่านไป พื้นที่ป่าของไทยได้ลดลงอย่างรวดเร็วมาก กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2516 หรือเพียงแค่ 12 ปี หลังจากเริ่มต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 พื้นที่ป่าไม้เหลือเพียง 138 ล้านไร่หรือเพียง 43% ของพื้นที่ทั้งหมด

       
       สาเหตุของการสูญเสียพื้นที่ป่าสงวนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ถึง 2516 นั้น นอกจากเพราะมีการตัดถนนเพื่อเชื่อมภูมิภาคต่างๆ ของประเทศแล้ว ได้มีผู้มีอิทธิพลในระบบราชการที่เกี่ยวข้องและทราบข้อมูลการตัดถนน ไม่ว่าจะเป็นพลเรือน ทหาร นักธุรกิจ และนายทุนทั้งจากส่วนกลางและท้องถิ่น พากันจับจองพื้นที่ป่าบริเวณสองข้างที่ถนนจะตัดผ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ทางการยังมิได้ประกาศเป็นเขตป่าสงวน ประกอบกับการขยายตัวของพืชเศรษฐกิจที่ตอบสนองแผนพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงนั้น อย่างข้าวโพด และปอ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พื้นที่ป่าลดลงเป็นอย่างมากในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

       
       รัฐบาลไทยได้แก้ปัญหาพื้นที่ป่าลดลง ด้วยการปรับลดเป้าหมายของพื้นที่ป่าสงวนจากเดิมแทนที่จะเป็น 50% เหลือเพียง 40% ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ แต่พื้นที่ป่าก็ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2526 หรือเพียง 10 ปี หลังจากปี พ.ศ. 2516 พื้นที่ป่าของไทยได้ลดลงอย่างฮวบฮาบเหลือเพียง 94 ล้านไร่ หรือ 29.3% ของพื้นที่ทั้งหมด การลดลงอย่างต่อเนื่องของพื้นที่ป่าในช่วงนี้ นอกเหนือจากประเด็นการขยายพื้นที่ทำการเกษตร และการต่ออายุสัมปทานป่าไม้แล้ว

       
       สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การขยายตัวอย่างรวดเร็วของการสร้างถนนสายยุทธศาสตร์ ในช่วงที่มีการทำสงครามด้วยกำลังอาวุธระหว่างรัฐบาลไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 ถึง 2522 ในภาคอีสาน และพื้นที่เขตติดต่อภาคเหนือซึ่งมีฐานที่มั่นสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์หลายแห่ง ได้มีการสร้างถนนสายยุทธศาสตร์อย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดเพชรบูรณ์ เลย สกลนคร และนครพนม และทุกครั้งที่มีการสร้างถนนสายใหม่ตัดผ่านพื้นที่ป่ามีผลทำให้พื้นที่ป่าในบริเวณดังกล่าว ถูกทำลายลงไปอย่างง่ายดายยิ่งขึ้น
       

       จากการที่พื้นที่ป่าลดลงอย่างต่อเนื่องจนต่ำกว่า 30% เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2526 ทำให้มีการปรับนโยบายเกี่ยวกับป่าที่สำคัญของรัฐบาลไทยอีกครั้งหนึ่ง โดยในปี พ.ศ. 2528 คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบกับนโยบายป่าไม้แห่งชาติ โดยกำหนดให้มีพื้นที่ “ป่าไม้” ทั้งหมด 40% ของพื้นที่ทั้งหมด แต่แยกเป็นพื้นที่ “ป่าเศรษฐกิจ” 25% และ “ป่าอนุรักษ์” 15% จะเห็นได้ว่า นโยบายดังกล่าว เป็นการ “ถดถอย” ต่อไปจากเดิมที่เคยกำหนดพื้นที่ป่าจริงๆ เป็น 40% ของพื้นที่ทั้งหมด มาเป็นพื้นที่ “ป่าไม้” ซึ่งแบ่งเป็นป่าธรรมชาติจริงๆ หรือพื้นที่ป่าอนุรักษ์แค่ 15% และที่เหลืออีก 25% เป็น “ป่าเศรษฐกิจ” ซึ่งหมายถึงพื้นที่ที่ปกคลุมไปด้วยไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะเป็นสวนผลไม้ สวนยางพารา และไม้โตเร็วที่ใช้ทำเยื่อกระดาษ เช่น ยูคาลิปตัส เป็นต้น

       
       วิธีคิดที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ของรัฐบาลไทยในช่วงนั้น คือ คิดว่าการสร้าง “ป่าเศรษฐกิจ” ขึ้นมาเป็นเขตกันชน จะช่วยให้สามารถรักษาพื้นที่ป่าเอาไว้ได้กับช่วยป้องกันราษฎรจากภายนอกมิให้บุกรุกเข้าไปจับจองพื้นที่ทำกินในป่าอนุรักษ์ได้
       

       แต่แนวคิดนี้ไดรับการคัดค้านอย่างรุนแรงจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ต่างๆ ประกอบกับเกิดเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในภาคใต้ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2531 เนื่องจากฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ประกอบกับป่าไม้ถูกทำลาย ทำให้เกิดซุงและโคลนถล่มพังทับบ้านเรือนราษฎร เป็นเหตุให้ราษฎรเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และเกิดน้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่ เป็นเหตุให้รัฐบาลไทยยกเลิกสัมปทานป่าไม้ทั้งหมดโดยสิ้นเชิง ในปี พ.ศ. 2532 พร้อมกันนั้น ก็ได้ มีการปรับเปลี่ยนนโยบายป่าไม้แห่งชาติใหม่ที่ “ดีขึ้น” กว่าเดิม โดยกำหนดให้มีพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเป็น 25% และป่าเศรษฐกิจ 15% ของพื้นที่ทั้งหมด ทำให้มีการประกาศขยายพื้นที่อุทยานแห่งชาติเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในภายหลัง

       
       จะเห็นได้ว่า แนวทางป้องกันการลดพื้นที่ป่าของรัฐบาลไทยได้เปลี่ยนไป จากความพยายามที่จะสนับสนุนให้ธุรกิจเอกชน และบริษัทข้ามชาติทำสวนไม้ยืนต้นในลักษณะป่าเศรษฐกิจเป็นแนวกันชนเพื่อป้องกันพื้นที่อนุรักษ์ มาเป็นการขยายพื้นที่อนุรักษ์ โดยให้กรมป่าไม้เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบอย่างใกล้ชิดเสียเองในที่สุด

       
       หลังจากที่ทางการได้ประกาศ “ปิดป่า” ในปี พ.ศ. 2532 ก็มีการเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็น 37.9 ล้านไร่ หรือ 11.8% ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ โดยจำแนกเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ 19.9 ล้านไร่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 15.4 ล้านไร่ เขตห้ามล่าสัตว์ 2.6 ล้านไร่ ขณะเดียวกันก็มีการเพิ่มพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1B เข้าเป็นพื้นที่อนุรักษ์ด้วย ดังนั้นเมื่อนับรวมพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A และ 1B อีก 9.5% ของพื้นที่ทั้งหมด หรืออีกประมาณ 30.4 ล้านไร่ ก็จะเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทั้งหมด 68.2 ล้านไร่ หรือ 21.3% ของพื้นที่ทั้งหมด เมื่อรวมกับพื้นที่ที่ได้ประกาศเพิ่มเติมเป็นเขตอุทยานแห่งชาติอีกประมาณ 11.5 ล้านไร่ ทำให้พื้นที่เป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์ทั้งหมดในปี พ.ศ. 2532 เพิ่มเป็น 79.7 ล้านไร่ ซึ่งมีพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ป่าที่เหลือในปี พ.ศ. 2532 คือ 89.6 ล้านไร่

       
       สรุปก็คือ นโยบายที่แท้จริงของรัฐบาลคือ การเปลี่ยนพื้นที่ป่าที่เหลือจริงให้กลายเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทั้งหมด พื้นที่อนุรักษ์ที่แสดงโดยกองจัดการที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ กรมป่าไม้ ปี พ.ศ. 2535 โดยอ้างมติคณะรัฐมนตรี เดือนมีนาคมปีเดียวกัน ได้ระบุว่า พื้นที่ป่าเพื่ออนุรักษ์มีทั้งสิ้น 88.2 ล้านไร่ หรือ 27.5% ของพื้นที่ทั้งหมด แต่ข้อมูลปี 2535 กลับบอกว่า พื้นที่ป่าที่เหลือจริงๆ มีแค่ 85.6 ล้านไร่เท่านั้น นี่ย่อมแสดงว่า พื้นที่อนุรักษ์เหล่านี้ น่าจะรุกเข้าไปทับที่ทำกินของราษฎรที่อยู่ในบริเวณเขตป่าสงวนจำนวนมาก ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับรัฐ เพราะบริเวณป่าที่ทางการได้ประกาศเป็นเขตอนุรักษ์มีคนอาศัยอยู่ ทำให้ต้องอพยพคนออกจากป่าเป็นจำนวนมาก
       

       จะเห็นได้จากข้อมูลการสำรวจของกรมป่าไม้ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2544 พบว่าในพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นเขตป่าอนุรักษ์ มีประชากรอาศัยอยู่ไม่น้อยกว่า 4.6 แสนครอบครัว แต่มาตรการประกาศอนุรักษ์ป่าแบบเข้มข้น โดยกันคนออกจากพื้นที่ป่าของรัฐบาลไทย กลับไม่สามารถหยุดยั้งการลดลงของพื้นที่ป่าได้








Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้