แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (3) (14/6/2554)

แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (3) (14/6/2554)


แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ
เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (3)

(14/6/2554)




 *อะไรคือมุมมองใหม่เกี่ยวกับสุขภาพ*



อะไรคือมุมมองใหม่สำหรับการแพทย์แบบองค์รวม ที่ นายแพทย์วิธาน ฐานะวุฑฒ์ ได้เสนอไว้ในหนังสือ “หัวใจใหม่-ชีวิตใหม่” ของเขา ก่อนอื่นเขาเสนอว่า การแพทย์แนวใหม่ไม่ควรเน้นที่ “พยาธิกำเนิด” (Pathogenesis) ที่สนใจเฉพาะเรื่อง “กลไกการเกิดโรค” เหมือนอย่างการแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ การแพทย์แนวใหม่ควรมุ่งเน้นไปที่ “สุขภาวะกำเนิด” (Salutogenesis) ที่เน้นการสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้นด้วยตัวผู้นั้นเอง โดยไม่มอบอำนาจการสร้างสุขภาพที่ดีไปให้คนอื่น ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ในมุมมองใหม่แบบนี้ จะให้ความสำคัญกับปัญหาความเครียด โดยถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด เพราะยาที่ขายดีที่สุดในโลกสามอย่าง ก็ล้วนเป็นยาที่เกี่ยวกับความเครียดทั้งสิ้น ได้แก่ ยากล่อมประสาท ยาลดความดันโลหิต และยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร



นายแพทย์ประเวศ วะสี ซึ่งเป็นผู้นำทางความคิดคนสำคัญของการผลักดันมุมมองใหม่เกี่ยวกับสุขภาพในสังคมไทย ก็ยังบอกว่า ความเครียดนอกจากจะทำให้คนผู้นั้นไม่มีความสุขในตัวเองแล้ว ยังส่งผลกระทบออกมาเป็นความไม่ปกติหรือการขาดดุลยภาพในชีวิต และสังคมด้านต่างๆ อีกด้วย



ในด้านสุขภาพของร่างกาย ความเครียด เป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง หืด เบาหวานกำเริบ ภูมิต้านทานต่ำ โรคติดเชื้อ และโรคมะเร็ง ฯลฯ ในด้านสังคม ความเครียด เป็นตัวการหนึ่งที่นำไปสู่ความเบี่ยงเบนทางพฤติกรรมต่างๆ เช่น ติดยาเสพติด ความรุนแรง การฆ่าตัวตาย และพยาธิสภาพทางสังคมอื่นๆ ความเครียดจึงก่อความเสียหาย และความสูญเสียทั้งทางคุณภาพชีวิต สังคม และเศรษฐกิจอย่างเหลือคณานับ



ความเครียดยังเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งโครงสร้างทางความคิด และโครงสร้างทางสังคมอีกด้วย การที่คนผู้หนึ่งจะดิ้นรนจนหลุดรอดจากกรงเล็บของ “ความเครียด” จึงเป็นเรื่องที่ยากมาก ตราบใดที่คนผู้นั้นยังไม่ได้มีมุมมองใหม่ และวิธีคิดใหม่เพื่อหลุดออกจากโครงสร้างความคิดเก่าๆ อันคับแคบ และบีบคั้นให้เกิดความเครียด แต่ถ้าคนผู้นั้นคิดเป็นด้วยมุมมองใหม่ และวิธีคิดใหม่ คนผู้นั้นจะสามารถเข้าสู่ “สุขภาวะ” ได้โดยพลัน (instant happiness) อิสรภาพ และความสุขทางจิตใจจักบังเกิดขึ้นกับผู้นั้น เดี๋ยวนั้นเลย การเกิดความสุขอย่างฉับพลัน จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้สำหรับผู้ที่ดูแลสุขภาพของตนเองด้วยมุมมองใหม่แบบนี้



นายแพทย์วิธาน ยังได้เสนออีกว่า การแพทย์แบบองค์รวม (แบบบูรณาการ) หรือสุขภาพที่มองด้วยมุมมองใหม่หรือกระบวนทัศน์ใหม่นี้ จะต้องมีองค์ประกอบทั้งหมดสามส่วนเป็นภาพรวม ไม่ใช่แยกส่วนอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้



(1) การดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง (Self-care) (ให้น้ำหนักหรือความสำคัญถึง 70% ของการดูแลสุขภาพทั้งหมด)


ข้อนี้เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญที่สุดของสุขภาพองค์รวมในมุมมองใหม่ เพราะถ้าเป็นมุมมองแบบเก่าก็จะเห็นสุขภาพเป็นเรื่องของแพทย์เท่านั้น แต่ในมุมมองใหม่จะให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพด้วยตัวเองมากที่สุด (ให้น้ำหนักถึง 70%) แต่การดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง จะต้องไม่เป็นเพียงเรื่องเดียวของสุขภาพองค์รวม เราจะต้องให้ความสำคัญกับสองส่วนที่เหลือในการดูแลสุขภาพด้วยเช่นกัน สำหรับการดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง ในมุมมองใหม่นั้นจะให้ความสำคัญทั้งเรื่องอาหาร (โภชนาการ) การออกกำลังกาย ชีวิตความเป็นอยู่ และสภาพแวดล้อม รวมทั้งการดูแลจัดการความเครียด และการยกระดับจิตวิญญาณด้วยตัวเอง ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปอย่างละเอียดในข้อเขียนชุดนี้



(2) การแพทย์แผนปัจจุบัน (Mainstream Medicine) (ให้น้ำหนัก 20% ของการดูแลสุขภาพทั้งหมด)


การแพทย์แผนปัจจุบัน ยังคงมีความสำคัญยิ่งในฐานะองค์ประกอบหนึ่งของสุขภาพแบบมุมมองใหม่ โดยควรให้น้ำหนักการแพทย์สมัยใหม่นี้ประมาณ 20% ของการดูแลสุขภาพทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น คนไข้ที่กำลังมีอาการช็อกอยู่ สิ่งที่ต้องทานในช่วงเวลาที่วิกฤตอย่างนั้นคือ การใช้ยาขยายหลอดเลือดเพื่อขยายหลอดเลือดหัวใจ มิใช่การทานอาหารสุขภาพเพื่อบำรุงหัวใจ แม้ว่าการทานอาหารสุขภาพจะมีความสำคัญในการป้องกันโรคหัวใจในระยะยาวก็ตาม


ข้อดีของการแพทย์สมัยใหม่ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ คือ มีการให้การวินิจฉัยที่ชัดเจน มีการตรวจร่างกายอย่างเป็นระบบ กับสามารถรับมือกับผู้ป่วยแบบฉุกเฉินต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่จุดอ่อนของการแพทย์สมัยใหม่ก็มีเช่นกัน กล่าวคือ ในกรณีที่คนไข้ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เช่น ไมเกรน โรคปวดหลัง อ่อนเพลียไม่ทราบสาเหตุ และข้ออักเสบต่างๆ แพทย์แผนปัจจุบันมักจะทำอะไรไม่ได้มากนัก นอกจากการใช้ยาบรรเทาอาการเท่านั้น เพราะฉะนั้น การแพทย์แบบองค์รวม หรือสุขภาพที่มองด้วยมุมมองใหม่ จะต้องใช้การแพทย์สมัยใหม่ให้เป็น และใช้อย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ ก็จะได้รับคุณประโยชน์สูงสุดจากการแพทย์แผนปัจจุบันได้



(3) การแพทย์ทางเลือก (Alternative Medicine) (ให้น้ำหนัก 10% ของการดูแลสุขภาพทั้งหมด)


การแพทย์ทางเลือกก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสุขภาพมุมมองใหม่ด้วยเช่นกัน โดยควรให้น้ำหนักการแพทย์ทางเลือกนี้ 10% ของการดูแลสุขภาพทั้งหมด การแพทย์ทางเลือกมีจุดดีตรงที่เน้นความประหยัด ไม่สิ้นเปลือง ใช้เทคโนโลยีไม่มาก กับให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาท้องถิ่น สิ่งนี้จึงตรงกันข้ามกับการแพทย์สมัยใหม่ที่สิ้นเปลือง ใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก แต่กลับแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด จะเห็นได้ว่า การแพทย์ทางเลือกจะสามารถช่วยเหลือการดูแลสุขภาพด้วยตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้ แต่มีข้อแม้ว่า การแพทย์ทางเลือกนั้น จะต้องมีมาตรฐานการวิจัยที่เชื่อถือได้มารองรับ มิใช่การแพทย์ทางเลือกแบบงมงาย หรือมีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่


ในมุมมองใหม่ อำนาจการดูแลสุขภาพจะต้องอยู่ที่คนไข้หรือประชาชนเป็นหลัก คนไข้หรือประชาชนจะต้องเป็นผู้เลือก และต้องมีอำนาจที่จะเลือกได้ด้วย อำนาจจึงไม่ได้อยู่ที่แพทย์ ไม่ได้อยู่ที่อาหาร ไม่ได้อยู่ที่วิตามินหรือสารอาหาร หรือยาวิเศษใดๆ ตามแต่จะโฆษณาไปตามวิถีของบริโภคนิยม อำนาจหรือพลังบำบัดนั้นดำรงอยู่ในตัวของคนเราทุกคนอยู่แล้ว คนเรามีหน้าที่ใช้อำนาจหรือพลังบำบัดนี้เพื่อดำรงสุขภาพที่ดีหรือเพื่อทำให้สุขภาพดีกว่าเดิม หรือแม้แต่เพื่อการรักษาในกรณีที่เกิดเป็นโรคแล้วจริงๆ เท่านั้น



ในมุมมองใหม่ คนเราทุกคนสามารถสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าขึ้นมาได้ โดยผ่านอำนาจในการดูแลสุขภาพของตนเอง โดยที่แพทย์มีหน้าที่เป็นเพียงผู้ให้คำแนะนำ และทำตามความต้องการของคนไข้ และจะต้องเคารพในการตัดสินใจของคนไข้ด้วย ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ผู้คนทั้งหลายควรตระหนักถึงความสำคัญของมุมมองใหม่ในการดูแลสุขภาพ และเริ่มลงมือปฏิบัติอย่างจริงเสียที



แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ในสถานการณ์ที่เป็นจริงของสังคมไทยปัจจุบัน ผู้คนส่วนใหญ่ยังมิได้ตระหนักถึงความสำคัญของมุมมองใหม่ในการดูแลสุขภาพแต่อย่างใดเลย ดังจะเห็นได้จาก ปัจจุบันผู้คนเป็นโรคเมตาบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) กันมาก โรคเมตาบอลิกซินโดรม เป็นโรคที่เกี่ยวเนื่องมาจากการเผาผลาญอาหารให้เป็นพลังงาน เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดัน และไขมันในโลหิตสูง มิหนำซ้ำโรคนี้ตำราการแพทย์แผนปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด



ในปี พ.ศ. 2548 องค์การอนามัยโลกถึงกับประกาศให้ โรคเบาหวานเป็นโรคที่อันตรายเทียบเท่าโรคเอดส์ เพราะมีผู้เสียชีวิตจากเบาหวานประมาณ 3.2 ล้านคนต่อปี ขณะที่ผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ราว 3 ล้านคนต่อปี นอกจากนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546-2548 ทั่วโลกมีคนเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้น 7% โดยมีผู้ป่วยวัยรุ่นเป็นเบาหวานเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในวัยรุ่นที่อ้วน



ก่อนปี พ.ศ. 2546 ในประเทศไทยพบว่า จากจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดที่ทำการสำรวจ 9,419 คน มีผู้ป่วยเบาหวานในเด็กและวัยรุ่นที่ได้รับการวินิจฉัยก่อนอายุ 18 ปีเพียง 2.66% ของผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งหมดที่ทำการสำรวจเท่านั้น แต่ในปัจจุบันพบว่า เด็กไทยมีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 (ชนิดที่ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน) ที่มักพบในผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า โดยมีสาเหตุหลักมาจากการบริโภคเกิน กับไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย คือไม่ยอมดูแลสุขภาพด้วยตัวเองให้ดีนั่นเอง



เมื่อหันไปดูประชากรไทยอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ก็พบว่า 21.4% มีความชุกของโรคความดันโลหิตสูง และ 6.9% หรือประมาณ 3.5 ล้านคน มีความชุกของโรคเบาหวาน ข้อมูลนี้ยังสอดคล้องกับผลสำรวจที่พบว่า ผู้มีภาวะอ้วนลงพุงในสตรีไทยมีจำนวนสูงถึง 45% ขณะที่พบว่า ผู้มีภาวะอ้วนลงพุงในผู้ชายไทยมีถึง 18.6% ข้อมูลเหล่านี้ล้วนบ่งชี้ว่า โรคเมตาบอลิกซินโดรม กำลังจะกลายเป็นอีกโรคหนึ่งที่คร่าชีวิตคนไทยเพิ่มมากขึ้นทุกปี และจะเป็นปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่งของสังคมเมืองในประเทศไทยอย่างแน่นอน






Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้