แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (73) (13/8/2556)

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (73) (13/8/2556)




แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ
 
เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (73)

(13/8/2556)
 




*จาก “กิริยา” สู่ตันตระ (ต่อ)*
       


       (16) “เธอผู้ได้รับพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อความรู้สึกต่างๆ ถูกดูดเข้ามาที่หัวใจ จงเข้าถึงศูนย์กลางของดอกบัวให้ได้”

       
       ขยายความ วิธีนี้เหมาะกับคนที่มีจิตใจอ่อนโยน และละเอียดอ่อน มีความรักในเพื่อนมนุษย์สูง และเป็นคนที่ใช้หัวใจดำเนินชีวิตมากกว่าใช้สมอง เป็นคนที่ใช้ความรู้สึกมากกว่าตรรกะเหตุผล วิธีการก็คือ ผู้นั้นต้องใช้การสัมผัสไปแตะตัวผู้อื่นอย่างอ่อนโยน แล้วดึงความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาที่หัวใจของตนเอง แล้วเข้าถึงการภาวนาด้วยการตระหนักถึงจักระที่ 7 ที่กลางกระหม่อมที่เชื่อมโยงกับจักรวาล ซึ่งทำให้ผู้นั้นรู้สึกปีติอย่างล้ำลึกได้ วิธีนี้ดีมากๆ ตรงที่ไม่ต้องไปหาเวลาฝึกปฏิบัติตามรูปแบบ แต่ใช้ความสัมพันธ์กับผู้คนในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะกับคนใกล้ตัว และคนใกล้ชิด เข้าถึงการภาวนาอย่างเป็นไปเองได้
       


       (17) “ใจ ที่ไม่ยึดติด จงรักษาทางสายกลางเอาไว้จนกว่าจะกระทำ...”

       
       ขยายความ ใจมีคุณสมบัติที่ชอบความสุดโต่ง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในขณะที่ถ้าอยู่ในความพอดี ใจจะหยุดนิ่ง เพราะ “ทางสายกลาง” คือสภาพที่ไร้ใจ ไร้ความคิด หากรักษาสภาวะที่ ใจนิ่ง เช่นนี้เอาไว้ได้จนถึงจุดหนึ่งที่ ไร้ใจ ได้เอง นั่นคือ “จนกว่าจะกระทำ...” หรือจนกว่าจะทำให้ใจหมดไปนั่นเอง ณ ที่ที่เป็นทางสายกลาง ความเป็นจิตวิญญาณจะดำรงอยู่ที่นั่นเสมอ
       


       (18) “เพ่งมองสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยความรักโดยไม่สนใจสิ่งอื่น ที่นี่หรือที่ใจกลางของสิ่งนั้น จะมีพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์”

       
       ขยายความ ในการฝึกตันตระนั้น ผู้ฝึกควรสำเหนียกเอาไว้เสมอว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การฝึก หาใช่ผลของการฝึกแต่อย่างใดไม่ ผู้ฝึกตันตระจะต้องปล่อยให้ผลของการฝึกเกิดขึ้นมาเอง อย่าไปมัวพะวงถึงผล มิฉะนั้นจะตกอยู่ในบ่วงของใจ เพราะฉะนั้นในโลกของตันตระ เขาไม่ถามกันหรอกว่า ฝึกสมาธิไปทำไม ภาวนาไปทำไม ฝึกแล้วจะได้อะไร จงลืมสิ่งเหล่านี้เสียให้หมดแล้วเข้าสู่การฝึกอย่างทุ่มเทชีวิตจิตใจให้แก่การฝึกนั้น วิธีฝึกต่างๆ ที่ตันตระแนะให้แก่เรานั้น ล้วนเป็นอุบายหรือกลวิธีทางอ้อมเพื่อให้ผู้ฝึกมีประสบการณ์ทางจิตวิญญาณโดยตรงด้วยตัวของเขาเองทั้งสิ้น อย่างเคล็ดการฝึกวิธีนี้ก็อยู่ที่ “ด้วยความรัก” หรือให้หัดมองสิ่งต่างๆ ด้วยสายตาของความรัก ตันตระบอกว่า การจะมองสิ่งใดด้วยความรักได้ ผู้นั้นจะต้องเป็นผู้มอบให้ ผู้นั้นจะต้องลืมตัวเอง ลืมตัวตน ลืมอัตตาของตนเสียก่อน หากเราอยู่ในสภาพนั้นได้ เราจะอยู่ในศูนย์กลางภายในตัวเราโดยไม่รู้ตัว ความรักจักกลายเป็นสมาธิอันล้ำลึกโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งเทคนิคใดๆ อีกต่อไป
       


       (19) “นั่งด้วยสะโพก โดยไม่ใช้มือหรือเท้ายันในทันทีทันใด จุดศูนย์กลางจะตั้งมั่นอยู่ได้”

       
       ขยายความ วิธีนี้ผู้ฝึกจะต้องฝึกร่างกายให้มีประสาทที่แหลมคม ด้วยการหัดผ่อนคลายตัวเองตลอดทั้งร่าง จากนั้นค่อยนั่งลงกับพื้นในท่าสิทธะอาสนะ หรือปัทมะอาสนะของโยคะที่เป็นท่านั่งด้วยสะโพก แล้วหลับตาก่อนที่จะทำความรู้สึกว่า สะโพกของตนกำลังสัมผัสกับพื้นอยู่อย่างมีดุลยภาพ ทำให้เกิดการตั้งมั่นอยู่ในศูนย์กลางข้างในได้
       


       (20) “ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่โยกตัวไปมาอย่างมีจังหวะในพาหนะที่กำลังขับเคลื่อน หรือการโยกตัวเองในพาหนะที่จอดนิ่งอยู่โดยจินตนาการ กงล้อที่มองไม่เห็นที่ค่อยๆ ชะลอความเร็วลง”

       
       ขยายความ เคล็ดในการฝึกวิธีนี้อยู่ที่การไม่ขืนตัวกับการสร้างจังหวะในการโยกตัว โดยผู้ฝึกโยกตัวเป็นวงกลมวงใหญ่ก่อนแล้วค่อยๆ ชะลอความเร็วลง พร้อมกับค่อยๆ โยกตัวเป็นวงกลมที่เล็กลงๆ เรื่อยๆ จนกระทั่งแทบไม่เห็นการเคลื่อนไหวของร่างกาย ในระหว่างนั่งโยกตัวเป็นวงกลมนั้น ต้องหลับตาด้วย กระทั่งร่างกายหยุดนิ่งแล้วแต่ข้างในยังมีการเคลื่อนไหวอยู่โดยความรู้สึกของจิต จนกระทั่งรู้สึกถึงการตั้งมั่นของศูนย์กลางภายใน วิธีการฝึกนี้ ปัจจุบันนิยมเรียกกันว่า “สมาธิหมุน” ประเด็นของการฝึกวิธีนี้อยู่ที่การ “หมุน” ภายในระหว่างนั่งโยกตัวเป็นวงกลม คือต้องหัด “หมุน” จนกระทั่งผู้ฝึกเกิดความรู้สึกได้ว่า ตัวเราไม่ใช่ร่างกายอันนี้ แต่เป็นสิ่งอื่นที่นอกเหนือไปจากร่างกาย


       
       (21) “ใช้เข็มแทงไปที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเธอที่เต็มไปด้วยน้ำอมฤต และค่อยๆ เข้าไปสู่ภายในการแทงนั้นจนบรรลุความบริสุทธิ์ภายในได้”

       
       ขยายความ วิธีนี้คือการเพ่งจิตไปที่ความเจ็บของร่างกายอย่างเดียว โดยลืมเลือนร่างกายส่วนอื่นทั้งหมด ให้เพ่งจิตจนกระทั่งบริเวณที่เจ็บปวดนั้นเล็กลงๆ เรื่อยๆ จนเท่าแค่ปลายเข็ม จากนั้นเพ่งอีกจนกระทั่งแม้จุดแค่ปลายเข็มนั้นก็หายไปในฉับพลัน วิธีฝึกนี้จะทำให้ผู้ฝึกรู้ว่า “ตัวเราไม่ใช่ร่างกายนี้” ตัวเราเป็นแค่ “ผู้ดู” หรือผู้เห็นร่างกายที่กำลังได้รับความเจ็บปวดอยู่เท่านั้น
       

       การฝึกแบบนี้จะช่วยทำลายความยึดติดในร่างกายของจิตเรา เมื่อใดก็ตามที่คนเราตระหนักได้ว่า ตัวเขาไม่ใช่ร่างกายอันนี้แล้ว ชีวิตและจิตสำนึกของเขาจะเปลี่ยนไป และโลกที่เขาอาศัยอยู่จะไม่อาจมีอิทธิพลต่อตัวเขามากเหมือนแต่ก่อนได้อีกแล้ว
       

       เป็นที่น่าสังเกตว่า การหันเหทิศทางของ “พลังงาน” ของตัวเราจาก “ภายนอก” มาสู่ “ภายใน” พร้อมๆ กับเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของ “พลังงาน” นั้นคือเป้าหมายของการฝึกตันตระ วิธีการต่างๆ ที่ตันตระพยายามถ่ายทอดนั้น ส่วนใหญ่ล้วนมีจุดประสงค์เพื่อหันเหทิศทางในการใช้ “พลังงาน” และแปรสภาพคุณสมบัติของ “พลังงาน” ในตัวคนเราทั้งสิ้น


       
       (22) “เธอกำลังมองเหตุการณ์ในอดีตอยู่ จงเพ่งความเอาใจใส่ในเหตุการณ์นั้น ถ้าทำได้แล้วแม้แต่ร่างกายของเธอก็จะสูญเสียความเป็นรูปเป็นร่างในปัจจุบันไป เพราะเธอจะเกิดการเปลี่ยนแปลง”
       

       ขยายความ เราควรตระหนักเอาไว้เสมอว่า การที่เอาตัวเองเข้าไป “อิน” หรือเข้าไปเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้น เป็นที่มาแห่งทุกข์ เพราะในช่วงนั้นตัวเราจะไม่สามารถเป็น “ผู้ดู (จิต)” หรือ “ผู้เห็น (จิต)” ได้ หากตัวเราสามารถเป็นผู้ดูอดีตของตัวเองโดยไม่เข้าไปปรุงแต่ง หรือเกิดความรู้สึกร่วมกับอดีตของตัวเอง เราก็จะสามารถกลายมาเป็นผู้ดูตัวเราเองในปัจจุบันได้เช่นกัน หากเราสามารถมองดูอดีตของตัวเองราวกับกำลังชมภาพยนตร์เรื่องหนึ่งได้ เราก็จะตระหนักได้เองว่า “การดู (จิต)” นั้น ไม่ใช่อดีต และไม่ใช่อนาคต แต่เป็นสิ่งที่อยู่ในมิติที่ไร้เวลาหรือจะเรียก “จิตขณะที่เป็นตัวรู้หรือผู้รู้อยู่” นี้อยู่ในปัจจุบันขณะ อันเป็นนิรันดร์ก็ย่อมได้ เมื่อเราทำได้เช่นนี้แล้ว สิ่งที่เราเป็นผู้ดู ผู้เห็นนั้น แทบไม่ต่างจากความฝันแต่อย่างใดเลย เพราะเราจะเห็นถึงการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป หรือความเป็นไตรลักษณ์ของสิ่งนั้นได้อย่างชัดเจน ประเด็นสำคัญของการฝึก “ดูจิต” ด้วยวิธีนี้นั้นอยู่ที่ ให้มองอดีตของตัวเองเหมือนกับเป็นเรื่องราวของชีวิตคนอื่น รักษาสติและความตื่นรู้เอาไว้เสมอ พร้อมกับรักษาระยะห่างในฐานะที่เป็นผู้ดู ผู้เห็นหรือผู้รู้เอาไว้ อย่าให้อดีตมาตามหลอกหลอนตัวเรา ทำร้ายตัวเรา ผูกมัดตัวเราเอาไว้ได้


       
       (23) “รู้สึกถึงสิ่งของอันหนึ่งที่อยู่เบื้องหน้าเธอแล้วไม่รู้สึกถึงการดำรงอยู่ของสิ่งอื่นทั้งหมด ยกเว้นสิ่งนั้น หลังจากนั้นจงขจัดความรู้สึกมีอยู่กับความรู้สึกไม่มีอยู่ให้หมดไป...แล้วรู้แจ้ง”

       
       ขยายความ วิธีนี้คือการรู้สึกถึงสิ่งที่อยู่เบื้องหน้าเรา แล้วกลายเป็นสิ่งนั้น โดยลืมเรื่องอื่นๆ ทั้งหมดให้หมดสิ้น ตันตระนิยมใช้ “ความรัก” ในการทำให้ตัวเรากลายเป็นความรักแล้วลืมเรื่องอื่นๆ ให้หมดสิ้น ขณะที่ เซน มักนิยมใช้ก้อนหิน ก้อนกรวดมาทำเป็น “สวนหิน” หรือ “จักรวาลน้อย” แล้วเข้าสมาธิโดยลืมโลกทั้งหมดอย่างสิ้นเชิง ยกเว้นก้อนหิน ก้อนกรวดที่อยู่เบื้องหน้าเท่านั้น หลังจากนั้นแม้ความรู้สึกว่ามีแต่ก้อนหิน ก้อนกรวดเท่านั้นก็ให้ทิ้งไป แล้วเข้าถึง “ความว่าง” ซึ่งเป็นความรู้แจ้ง (ยังมีต่อ)
       




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้