แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (19) (31/7/2555)

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (19) (31/7/2555)


 
แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ
เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (19)
 
(31/7/2555)
 

*วิธีกายบริหาร “5 กระบวนท่า” ของทิเบตได้ผลจริงหรือ?*
 


วิธีกายบริหาร “5 กระบวนท่า” ของทิเบต (The Five Tibetan Rites) ที่อยู่ในหนังสือ “เคล็ดลับโบราณของแหล่งน้ำพุแห่งความเป็นหนุ่มสาว” ของปีเตอร์ เคลเดอร์นั้น เป็นที่ฮือฮาและแพร่หลายมากในโลกตะวันตก จนกระทั่งแทบกลายเป็นความเชื่อกึ่งงมงายของผู้คนบางกลุ่มว่า “5 กระบวนท่า” ของทิเบตนี้สามารถเป็น “ปาฏิหาริย์” ที่จะหยุดความแก่ ช่วยลดน้ำหนักตัวลงอย่างฮวบฮาบ รักษาโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายทั้งปวงได้



ความเชื่อกึ่งงมงายที่ค่อนข้างแพร่หลายแบบนี้เอง ที่ทำให้วิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบตในโลกตะวันตกอยู่ใน สถานะพิเศษ ที่ผู้คนได้ตั้งความคาดหวังไว้สูงมากอย่างเหลือเชื่อต่อวิชานี้ตั้งแต่ก่อนที่พวกเขาจะเริ่มฝึกฝนกระบวนท่าเหล่านี้เสียอีก โดยที่วิชาโยคะหรือชี่กงแบบอื่นๆ ส่วนใหญ่ที่แพร่หลายอยู่ในโลกตะวันตก ก็ไม่มีอันไหนถูกตั้งความคาดหวังไว้สูงเหมือนกับวิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบตนี้เลย นี่อาจจะเป็นเพราะความคลาสสิกของตัวหนังสือเล่มนี้ของปีเตอร์ เคลเดอร์ ที่พิมพ์ออกมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1939 ด้วยกระมัง ที่ทำให้เกิดกระบวนการโฆษณาชวนเชื่อที่เกินจริงอย่างเหลือเชื่อเกี่ยวกับวิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบตนี้เพื่อหวังผลเชิงพาณิชย์ในการขายหนังสือเล่มนี้ทางอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะในรูปของอี-บุ๊ก ที่ตั้งราคาหนังสือเล่มนี้ไว้ค่อนข้างสูงมาก เมื่อเทียบกับราคาของหนังสือเล่มอื่นๆ









































เนื้อหาหลักๆ ของการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับ “5 กระบวนท่า” ของทิเบตนี้ได้แก่ การโฆษณาชวนเชื่อว่า


(1) ริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าจะหายไปโดยไม่ต้องผ่าตัด


(2) เส้นผมจะกลับมาดกดำเหมือนเดิมอีกครั้ง


(3) ผู้ฝึกจะดูหนุ่มสาวขึ้นอย่างน้อย 30 ปีขึ้นไป


(4) สายตาจะกลับมามองเห็นชัดเหมือนเดิมอีกครั้ง


(5) ผู้ฝึกจะมีพลังเพิ่มพูนขึ้นอย่างมหาศาล เหล่านี้เป็นต้น



ในความเห็นของผม มันเป็นความจริงที่วิธีกายบริหาร “5 กระบวนท่า” ของทิเบตนี้ ถ้าผู้นั้นสามารถฝึกฝนทุกวันอย่างต่อเนื่องภายใน 3 เดือน มันจะทำให้ผู้นั้นมีสุขภาพดีขึ้น แข็งแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่มันมิได้ทำให้เกิดปาฏิหาริย์เหมือนอย่างที่มีการอวดอ้างหรือโฆษณาชวนเชื่อแต่อย่างใด เพราะถ้าผู้นั้นฝึกกายบริหารแบบโยคะหรือชี่กงอย่างหมั่นเพียรต่อเนื่องทุกวันเป็นเวลา 3 เดือนเช่นกัน ก็น่าจะทำให้ผู้นั้นมีสุขภาพดีขึ้น แข็งแรงขึ้นในระดับเดียวกับที่ฝึกวิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบตได้เหมือนกัน



แต่มันคงเป็นปรากฏการณ์แปลกแต่จริงที่ย้อนแย้งสำหรับกรณีของวิชา “5 กระบวนท่า” แบบทิเบตที่อาจจะเหนือกว่าวิชาโยคะ หรือชี่กงอื่นๆ ตรงที่ชาวตะวันตกที่เป็นชาวบ้านธรรมดาที่ไม่ค่อยมีความรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับภูมิปัญญาตะวันออกมากนัก สามารถใช้ศรัทธาที่เป็นอุปทาน (placebo effect) ต่อวิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบตนี้ มาทำให้เกิดประสิทธิผลในการชะลอวัยได้มากกว่าการฝึกวิชาโยคะ หรือชี่กงทั่วๆ ไป เพราะพวกเขามีศรัทธาหรือตั้งความคาดหวังที่เกินจริงต่อวิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบตนี้ได้นั่นเอง



กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ อุปทานที่เป็นความเชื่อแบบงมงายของพวกเขานั่นเอง ที่ดึงศักยภาพของพลังจิตภายในตัวพวกเขาออกมาช่วยฟื้นฟูสุขภาพให้ได้ผลในระดับหนึ่ง แต่มันจะได้ผลแค่ชั่วคราวเท่านั้น เพราะเมื่อใดก็ตาม ที่ผู้นั้นเกิดความสงสัยหรือเกิดรู้ความจริงในภายหลังว่า เหตุที่สุขภาพของตัวเองดีขึ้นก็เพราะอุปทานของตัวเอง หรือจิตของตัวเองเป็นผู้หลอกร่างกายเท่านั้น ประสิทธิผลจากอุปทาน (placebo effect) นี้ก็จะหายไปทันที หลงเหลือเฉพาะประสิทธิผลจากการออกกายบริหารทุกวันเท่านั้น



ถึงแม้ว่า ประสิทธิผลจากอุปทานจะหายไป แต่ประสิทธิผลจริงๆ จากการฝึกกายบริหาร “5 กระบวนท่า” ของทิเบตนี้ที่เกิดขึ้นกับผู้คนจำนวนมากในโลกตะวันตก ในแง่ของผลดีต่อสุขภาพ และการชะลอวัย ถ้าผู้นั้นฝึกฝนอย่างต่อเนื่องทุกๆ วันได้ก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่มันจะได้ผลในระดับเดียวกับการฝึกโยคะหรือชี่กงแบบอื่นๆ เท่านั้น ดังต่อไปนี้



(1) มีพลังชีวิตหรือพลังเพิ่มขึ้นจริง


(2) รู้สึกสงบขึ้น และเครียดน้อยลงได้จริง


(3) กระบวนการคิดมีความเฉียบคม และแจ่มชัดขึ้นกว่าเดิมได้จริง


(4) รู้สึกได้ว่าตัวเองแข็งแรงขึ้น เคลื่อนไหวคล่องแคล่ว และกระฉับกระเฉงขึ้นกว่าแต่ก่อน


(5) ทำให้มีกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นบริเวณส่วนแขน หน้าท้อง สะโพก ส่วนขา และส่วนหลังได้จริง


(6) การนอนหลับดีขึ้นจริง


(7) สุขภาพโดยรวมดีขึ้นจริง และไม่เป็นหวัดง่ายเหมือนแต่ก่อน


(8) ลดอาการหดหู่ และซึมเศร้าได้จริง


(9) มีสมาธิเพิ่มขึ้น และผ่อนคลายขึ้นได้จริง


(10) มีวินัยในการฝึกตนเพิ่มขึ้น และรู้สึกว่าชีวิตมีความหมายมากขึ้นกว่าเดิมได้จริง


(11) รู้สึกเยาว์วัยขึ้นกว่าเดิมได้จริง


(12) การหายใจดีขึ้น หายใจได้ช้าลง ลึกขึ้น และสม่ำเสมอกว่าเดิม


(13) บางคนสามารถลดน้ำหนักได้ แต่ส่วนใหญ่จะสามารถควบคุมน้ำหนักได้ง่ายขึ้น และมีความอยากในการรับประทานอาหารสุขภาพมากขึ้นกว่าแต่ก่อน


(14) ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน


(15) ช่วยให้การปรับตัวเข้าสู่วัยทองได้ราบรื่นขึ้น


(16) ช่วยให้เรื่องเพศ และอารมณ์ทางเพศดีขึ้นกว่าเดิมได้จริง


(17) สามารถพัฒนาความเข้มแข็งจากภายใน อันเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการฝึกวิชาขั้นสูงแห่งการพัฒนากาย-จิต-ปราณ ในอนาคตข้างหน้าได้



จะเห็นได้ว่า ถ้าพิจารณาจากมุมมองของประสิทธิผลของวิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบตในเรื่องของสุขภาพและการชะลอวัย ผมคิดว่าไม่น่ามีข้อกังขาอีกต่อไปแล้วว่า มันได้ผลหรือไม่ กล่าวคือ มันได้ผลจริงๆ แต่เป็นความได้ผลในระดับเดียวกับการฝึกโยคะหรือชี่กงแบบอื่นๆ โดยหาได้ให้ผลเลิศแบบ “ปาฏิหาริย์” แต่อย่างใดไม่ แต่เป็นผลจากการฝึกฝนบริหารร่างกายแบบ “ดัดตน” และการฝึกลมปราณอย่างต่อเนื่อง ทุกๆ วันมิได้ขาดนั่นเอง



อย่างไรก็ดี จุดเด่นที่สุดของวิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบตนั้น อยู่ที่มันเป็นวิธีกายบริหารแบบง่ายๆ แค่ 5 กระบวนท่า แต่มีประสิทธิผลสูงอย่างน่าทึ่ง ปัจจุบันนี้ วงการสุขภาพและศาสตร์ชะลอวัย จึงจัดให้วิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบตนี้ เป็นการบริหารร่างกายแบบโยคะอย่างง่ายๆ (simplified yoga) ชนิดหนึ่งที่ใช้เวลาไม่มากนักในการฝึกฝนแต่ละวันคือแค่สิบห้านาทีเท่านั้น วิชา “5 กระบวนท่า” ของทิเบตนี้ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการฝึกกายบริหารเพื่อสุขภาพ และการชะลอวัย แต่ไม่ค่อยมีเวลาที่จะมาฝึกโยคะหรือชี่กงแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งจะให้ประสิทธิผลในเชิงบูรณาการได้มากกว่า และครอบคลุมทุกมิติแห่งตัวตนของผู้นั้นได้สมบูรณ์กว่า



ก่อนหน้านี้ เคยมีผู้ตั้งข้อสงสัยเหมือนกันว่าวิชา “5 กระบวนท่า” นี้เป็นของทิเบตจริงหรือไม่ และผู้พันแบรดฟอร์ดมีตัวตนจริงหรือไม่ หรือทั้งหมดเป็นแค่จินตนาการของปีเตอร์ เคลเดอร์ ผู้เขียนเท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้ เราได้รับรู้แล้วว่า ผู้พันแบรดฟอร์ดนี้เป็นนามแฝง แต่น่าจะมีตัวตนจริง เพราะนักวิชาการทางด้านทิเบตศึกษาได้ออกมายืนยันแล้วว่า ท่าการฝึกดัดตนของ “5 กระบวนท่า” นี้มีส่วนคล้ายคลึงกับระบบการฝึกฝนของทิเบตขนานแท้ที่เรียกว่า วิชาภูลคอร์ (phrul khor) หรือวิชา “กายวัชระแห่งจักรอาทิตย์ และจักรจันทราที่รวมเป็นหนึ่ง” (Vajra Body Magical Wheel Sun and Moon Union) วิชาภูลคอร์นี้บางทีก็เรียกกันในทิเบตว่า วิชายันตระโยคะ (yantra yoga) ซึ่งเป็น โยคะสายพุทธทิเบต ชนิดหนึ่งที่สืบทอดหรือแตกแขนงมาจากกุณฑาลินีโยคะของอินเดีย-ทิเบต



เมื่อเราทราบข้อเท็จจริงอย่างนี้แล้ว เราก็ควรจะรู้ต่อไปด้วยว่า ยังมี “กระบวนท่าที่หก” นอกเหนือไปจาก “5 กระบวนท่า” อีกด้วย ซึ่งถ้าผู้ฝึกได้ฝึกแล้ว ถึงจะเป็นการฝึกตามโมเดลโยคะโดยสมบูรณ์




 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้