แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (51) (12/3/2556)

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (51) (12/3/2556)


แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ
 
เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (51)

(12/3/2556)


 
*เคล็ดการฝึกปราณายามะ ในหทะโยคะ และกุณฑาลินีโยคะ (ต่อ)*



การจำแนกประเภทของปราณายามะจากมุมมองของการกลั้นลมหายใจ (กุมภกะ) นอกจากจะจำแนกเป็น พาหยปราณายามะ (การกลั้นหายใจหลังจากหายใจออก) กับ อาภยันตรปราณายามะ (การกลั้นหายใจหลังจากหายใจเข้า) ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังสามารถจำแนกประเภทของปราณายามะหรือกุมภกะออกเป็น



(ก) สหิตกุมภกะ หรือกุมภกะที่ตั้งใจให้เกิดกับ


(ข) เกวลกุมภกะ หรือกุมภกะที่เป็นไปเองได้อีกด้วย จะว่าไปแล้ว เกวลกุมภกะหรือการกลั้นหายใจที่เป็นไปเองโดยอัตโนมัตินี้ คือ เป้าหมายที่ควรบรรลุถึงของการฝึกปราณายามะ ก็ว่าได้ เพราะรูปแบบการฝึกสหิตกุมภกะ (การกลั้นหายใจที่ตั้งใจให้เกิด) ที่หลากหลายในระบบการฝึกปราณายามะของโยคะ ก็ล้วนแล้วแต่เพื่อฝึกฝนให้ผู้ฝึกบรรลุถึงสภาวะของเกวลกุมภกะได้ในที่สุดทั้งสิ้น



เกวลกุมภกะคือ สภาวะที่ไม่มีการหายใจเข้า และการหายใจออก หรืออาจกล่าวได้ว่า ปราณายามะที่ปราศจากการหายใจเข้า และการหายใจออกเป็นภาวะที่ลมหายใจนั้น ถูกรักษาไว้อย่างง่ายๆ และสบาย ซึ่งเรียกว่าเกวลกุมภกะ อันเป็นสภาวะที่ผู้นั้นกำลังอยู่ในฌานสมาบัติอันเป็นเป้าหมายปลายทางในการฝึกจิตของโยคะนั่นเอง



ถึงแม้ว่า ปราณายามะของโยคะจะให้ความสำคัญกับการกลั้นหายใจก็จริง ทั้งการกลั้นหายใจหลังจากหายใจเข้า หรือการกลั้นหายใจหลังจากหายใจออก หรือการกลั้นหายใจทั้งหลังจากหายใจเข้า และหลังจากหายใจออก แต่ผู้ฝึกก็ควรให้ความสำคัญกับการหายใจทั้งหมด โดยเรียงลำดับความสำคัญดังนี้คือ ก่อนอื่นต้องถือว่า การหายใจออกมีความสำคัญที่สุด เพราะจุดหมายสำคัญของโยคะคือ การกำจัดสิ่งไม่บริสุทธิ์กับอวิชชา (ความหลงผิด) การหายใจออกจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันนำพาสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ออกจากร่างกาย ทำให้มีที่ว่างมากขึ้นสำหรับปราณที่เข้ามา รองลงมาคือ การหายใจเข้า และลำดับสุดท้ายคือการกลั้นหายใจ ผู้ฝึกจึงไม่ควรสนใจเฉพาะการกลั้นหายใจเท่านั้น และไม่ควรหลงผิดคิดว่า จะมีทางลัดในการก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็วบนวิถีของโยคะ โดยการมุ่งฝึกแต่การกลั้นหายใจอย่างเดียว



ทั้งนี้ก็เพราะว่า หัวใจสำคัญที่สุดของการฝึกปราณายามะให้ได้ผลนั้น อยู่ที่การฝึกหายใจให้รุดหน้าไปอย่างเป็นธรรมชาติ และไม่รีบร้อนหรือใจร้อนที่จะเก่งเร็วๆ กล่าวคือ ผู้ฝึกควรจะสูดลมหายใจใหม่ก็ต่อเมื่อผู้ได้ปลดปล่อยตัวเองให้ว่างเต็มที่ได้แล้วด้วยการหายใจออก นอกจากนี้ ผู้ฝึกควรจะกลั้นหายใจก็ต่อเมื่อผู้ฝึกสามารถสูดลมหายใจเข้าไปภายในตัวได้อย่างเต็มที่แล้วเท่านั้น เพราะถ้าหากผู้ฝึกยังไม่สามารถหายใจออกและเข้าได้อย่างเต็มที่แล้ว ผู้ฝึกจะกลั้นลมหายใจได้อย่างไร ขอย้ำอีกครั้งว่า การกลั้นหายใจในปราณายามะ ควรทำในลักษณะที่ต้องไม่ไปรบกวนการหายใจเข้า และหายใจออกอย่างสม่ำเสมอของผู้ฝึก



เพราะฉะนั้น ผู้ฝึกจะต้องพัฒนาความสามารถในการหายใจเข้าและออกอย่างเต็มที่ ด้วยวิธีการหายใจแบบสมบูรณ์แบบภายนอกของโยคะที่ได้กล่าวไปแล้วให้ได้เสียก่อน แล้วถึงค่อยหันมาฝึกพัฒนาการกลั้นหายใจที่มีช่วงเวลายาวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ การกลั้นหายใจที่ฝึกฝนอย่างเป็นขั้นตอนเช่นนี้เอง ถึงจะมีความหมายต่อการทำให้จิตใจของผู้ฝึกได้พักและสงบลงได้



วิธีการฝึกสหิตกุมภกะ (การฝึกกลั้นหายใจที่ตั้งใจให้เกิด) ของปราณายามะที่สำคัญมีดังต่อไปนี้


(1) สูรยเภนะ คำว่า “สูรยะ” หมายถึงรูจมูกขวา วิธีการฝึกแบบนี้ จะหายใจเข้าผ่านทางรูจมูกข้างขวา หลังจากหายใจเข้าแล้ว ผู้ฝึกต้องกักลมหายใจไว้ภายในสักพัก จากนั้นจึงค่อยๆ หายใจออกโดยผ่านรูจมูกข้างซ้าย


(2) อุชชายี การฝึกหายใจแบบนี้คือ การหายใจด้วยลำคอ โดยให้ผู้ฝึกทำการเกร็งหลอดลมเล็กน้อยด้วยความจงใจ ซึ่งจะทำให้ช่องที่อากาศผ่านเล็กลง การทำเช่นนี้จะทำให้เกิดเสียงเบาๆ ในลำคอ ในขณะที่ผู้ฝึกหายใจ คำว่า “อุชชายี” แปลว่า สิ่งที่ทำให้ลำคอโล่ง และควบคุมบริเวณหน้าอก อนึ่ง การหายใจแบบอุชชายียังทำได้หลายแบบ เช่น ผู้ฝึกอาจจะหายใจเข้าผ่านลำคอ จากนั้นปิดรูจมูกข้างหนึ่งให้มิด และหายใจออกผ่านรูจมูกอีกข้างซึ่งถูกปิดไว้เล็กน้อย (อนุโลมอุชชายี) หรือผู้ฝึกจะหายใจเข้าทางจมูก และหายใจออกทางลำคอ (วิโลมอุชชายี) ก็ได้ วิธีหลังนี้ ใช้สำหรับการยืดลมหายใจเข้าให้ยาวขึ้น อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องระวังในการฝึกอุชชายีก็คือ เมื่อผู้ฝึกควบคุมลมหายใจผ่านรูจมูก ผู้ฝึกจะต้องไม่หายใจผ่านลำคอไปพร้อมๆ กัน เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่คิดจะฝึกอุชชายี ผมจึงขอแนะนำให้ฝึกแบบ “วิโลมอุชชายี” เป็นหลัก คือ ให้หายใจเข้าทางจมูก และหายใจออกทางลำคอ


(3) นาฑีโศธนะ วิธีหายใจแบบนาทีโศธนะ คือ เทคนิคในการยืดลมหายใจทั้งหายใจออกและหายใจเข้า โดยผู้ฝึกจะใช้ วิธีหายใจสลับรูจมูก โดยไม่ใช้ลำคอ หรือไม่มีการเกร็งหลอดลม แบบอุชชายี ผู้ฝึกจะหายใจเข้าทางรูจมูกข้างซ้ายที่ปิดไว้เป็นบางส่วนแล้วหายใจออกทางรูจมูกข้างขวา ซึ่งปิดไว้เป็นบางส่วน จากนั้นจึงหายใจเข้าทางรูจมูกข้างขวาซึ่งปิดไว้บางส่วน และหายใจออกทางรูจมูกข้างซ้ายที่ปิดบางส่วนไว้ วิธีนี้ ผู้ฝึกจะควบคุมการเปิดของรูจมูกโดยใช้หัวแม่มือและนิ้วนางกดเบาๆ ที่ตำแหน่งบนสุดของสันจมูก อันเป็นส่วนที่แคบที่สุดของจมูก คำว่า “นาฑีโศธนะ” มาจากคำว่า นาฑีซึ่งก็คือ ช่องทางที่ลมหายใจและพลังงานไหลผ่าน กับคำว่า โศธนะ ที่หมายถึงการชำระล้าง โดยปกติแล้ว ผู้ฝึกควรจะต้องฝึกหายใจแบบอุชชายีเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะเริ่มฝึกนาฑีโศธนะ อนึ่ง ผู้ฝึกไม่ควรฝึกนาฑีโศธนะในช่วงที่เป็นหวัดหรือจมูกตีบตัน หากผู้ฝึกจมูกตีบตัน ผู้ฝึกควรหายใจด้วยลำคอ


(4) ศีตลี เป็นวิธีหายใจเข้าด้วยการห่อลิ้น กล่าวคือ ในระหว่างที่หายใจเข้าให้ผู้ฝึกห่อลิ้นจากริมทั้งสองข้างจนมีลักษณะคล้ายท่อ จากนั้นให้หายใจออกผ่านรูจมูกทั้ง 2 ข้าง การหายใจแบบห่อลิ้นโดยให้ลมหายใจผ่านท่อที่เกิดจากการห่อลิ้นนี้ จะทำให้ลิ้นชุ่มเย็นและสดชื่น เพราะระหว่างที่หายใจเข้าลมจะผ่านลิ้นที่ชุ่มชื้น และเพื่อให้แน่ใจว่า ลิ้นของผู้ฝึกยังคงชุ่มชื้นอยู่ ให้ผู้ฝึกม้วนลิ้นไปด้านหลังให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยให้ด้านหลังของลิ้นดันเพดานปากไว้ และให้ม้วนลิ้นไว้ตลอดเวลาที่หายใจออก เพื่อว่าลมหายใจครั้งต่อไป จะได้สดชื่นเหมือนกับตอนแรก อนึ่ง ผู้ฝึกอาจหายใจออกผ่านลำคอ และ/หรือหายใจออกสลับรูจมูกก็ได้ วิธีนี้เรียกว่า “ศีตลีปราณายามะ” คำว่า “ศีตลี” แปลว่า “เย็น



สำหรับผู้ที่ไม่สามารถห่อลิ้นตามวิธีข้างต้นได้ จะสามารถได้รับผลจากความเย็นในแบบเดียวกันได้ โดยใช้วิธีเผยอริมฝีปาก และฟันเล็กน้อยในขณะหายใจเข้าทางปาก โดยให้ลิ้นแตะเบาๆ ที่ช่องว่างระหว่างฟันบนกับฟันล่าง ซึ่งจะทำให้ลมยังคงผ่านลิ้นได้ จากนั้นให้หายใจออกผ่านลำคอหรือสลับรูจมูก วิธีนี้เรียกว่า “ศีตกรีปราณายามะ”



ขอสรุปอีกครั้งหนึ่งว่า วิธีหายใจแบบอุชชายี นาฑีโศธนะและศีตลี คือ วิธีฝึกหลักๆ ที่ผู้ฝึกปราณายามะใช้ในการฝึกสหิตะกุมภกะ (การฝึกกลั้นหายใจที่ตั้งใจให้เกิด) โดยที่การฝึก 3 วิธีนี้ จะช่วยให้ผู้ฝึกมุ่งความสนใจของผู้ฝึกไปยังตำแหน่งของลมหายใจในร่างกาย และการมุ่งความสนใจนี้จะช่วยให้ผู้ฝึกมีสมาธิ ซึ่งมีส่วนเสริมที่สำคัญต่อผลทางร่างกายของปราณายามะที่ผู้ฝึกกำลังฝึกอยู่ได้ สำหรับปราณายามะวิธีอื่นๆ ที่สำคัญนั้น จะมีเป้าหมายเพื่อการชำระล้าง จึงเกี่ยวข้องกับการฝึก “มุทรา” และ “พันธะ” ที่จะได้กล่าวต่อไป (ยังมีต่อ) 
      




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้