แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ
เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (53)
(26/3/2556)
*เคล็ดการฝึกปราณายามะในหทะโยคะ และกุณฑาลินีโยคะ (ต่อ)*
มุทรา (และพันธะ) คือการล็อกและควบคุมกล้ามเนื้อกึ่งควบคุมในพื้นที่เฉพาะของร่างกาย ได้แก่ กล้ามเนื้อหูรูดทวาร กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน กะบังลม กล้ามเนื้อคอ และลูกตา เป็นต้น โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยคลายการกระจุกตัวของอวัยวะสำคัญภายในช่องท้อง พัฒนาระบบไหลเวียนเลือด ช่วยให้สารอาหารไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ร่างกายแข็งแรง มีความมั่นคงทางอารมณ์
การที่การฝึกมุทรามุ่งไปที่การล็อก และควบคุมกล้ามเนื้อกึ่งควบคุม โดยที่กล้ามเนื้อเหล่านี้มีการทำงานร่วมกันอย่างเป็นองค์รวมของทั้งระบบประสาทส่วนกลาง และระบบประสาทอัตโนมัติ การฝึกมุทราต่อเนื่องจึงมีส่วนช่วยปรับและควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติของผู้นั้นให้ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ การฝึกมุทรายังเป็นการควบคุมความดันภายในร่างกาย ซึ่งทำให้เกิดประโยชน์เชิงสุขภาพหลายอย่าง เช่น ช่วยปรับหรือฟื้นฟูอวัยวะภายใน ช่วยกระตุ้นอวัยวะภายในให้ทำงานเป็นปกติ ช่วยลดความเครียดเกร็งของอวัยยะภายใน และช่วยให้การทำงานของต่อมไร้ท่อต่างๆ เป็นไปด้วยดี นอกจากนี้ ในวิชากุณฑาลินีโยคะ ยังเชื่อว่า การฝึกมุทรา-พันธะ-กิริยา (จะได้กล่าวต่อไปในภายหลัง) ยังช่วยให้การชำระล้าง “กายทิพย์” ชั้นต่างๆ ของผู้ฝึกให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้นได้ด้วย จนอาจกล่าวได้ว่า การฝึกมุทรา-พันธะ-กิริยา คือการฝึกที่สำคัญยิ่งของกุณฑาลินีโยคะ
ก่อนหน้านี้ เราได้กล่าวไปแล้วว่า มุทราที่ใช้ฝึกกุณฑาลินีโยคะนั้น หลักๆ มีอยู่ 10 ชนิด เพื่อการชะลอวัย และการมีอายุยืน โดยเราได้ถ่ายทอดเคล็ดการฝึกมุทราไปแล้ว 3 ชนิด คือ มหามุทรา มหาพันธะมุทรา และมหาเวธะมุทรา
มุทรา 3 ชนิด หรือ 3 ท่านี้ (มหามุทรา, มหาพันธะ และมหาเวธะ) คือเคล็ดลับสุดยอดของกุณฑาลินีโยคะที่ต้องหมั่นฝึกฝนต่อไป จะขอกล่าวถึงวิธีการฝึกมุทราท่าที่เหลือ...
(4) เขจรีมุทรา คัมภีร์โยคะโบราณให้ความสำคัญกับเขจรีมุทรานี้มากถึงกับกล่าวว่า ไม่มีมุทราใดที่สำคัญไปกว่าเขจรีมุทรา และการฝึกเขจรีมุทราอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ผู้ฝึกปลอดโรคใดๆ ทั้งปวง วิธีการฝึกเขจรีมุทรา (Khechari mudra) เป็นดังนี้ ก่อนอื่น จงปิดปากแล้วม้วนลิ้นกลับไปให้แตะหลังเพดานฟันบน โดยพยายามให้ปลายลิ้นแตะให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่เกร็งหรืออึดอัด จากนั้นให้คงอยู่ในสภาพที่ม้วนลิ้นกลับไปแตะหลังเพดานฟันบนนี้ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ โดยไม่อึดอัด
หากผู้ฝึกเริ่มรู้สึกอึดอัดเมื่อใด ให้คลายลิ้นออกสักพัก แล้วม้วนลิ้นกลับไปแตะหลังเพดานฟันบนใหม่ การหายใจขอให้หายใจตามปกติ หรือจะหายใจแบบอุชชายี (การหายใจด้วยลำคอ) ก็ได้ แต่ควรหายใจให้ช้าลงเรื่อยๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป จะเห็นได้ว่า เขจรีมุทราคือ การสร้างความเคยชินในการม้วนลิ้นกลับไปให้แตะหลังเพดานฟันบนอยู่เสมอในชีวิตประจำวันนั่นเอง และยังเป็นเคล็ดที่สำคัญยิ่งในการฝึกวิชากำลังภายในของเต๋าด้วย
(5) อุทิยานะพันธะ คัมภีร์โยคะโบราณให้ความสำคัญกับการฝึกอุทิยานะพันธะว่า สามารถช่วยให้ผู้ฝึกชะลอวัย และชะลอความแก่ชราได้ วิธีการฝึกอุทิยานะพันธะ (Uddiyana bandha) เป็นดังนี้ นั่งในท่าขัดสมาธิ วางมือบนหัวเข่า หลับตา และผ่อนคลายร่างกายทั่วร่าง หายใจออกให้หมด แล้วทำการล็อกคาง โดยยกกระดูกสันหลังให้ตรง รั้งศีรษะไปด้านหลังเล็กน้อย ยืดคอให้ตรง และก้มคางลง (การล็อกคางนี้ วิชาโยคะเรียกว่า ชาลันธรพันธะ ซึ่งเป็นมุทราท่าที่ 7 นั่นเอง) หลังจากที่ล็อกคางแล้ว ให้ผู้ฝึกทำการหดกล้ามเนื้อท้องเข้าข้างใน และขึ้นข้างบนให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ จากนั้นก็ทำการกลั้นลมหายใจ หลังจากหายใจออกให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ พร้อมกับเพ่งจิตไปที่บริเวณช่องท้อง หลังจากกักลมหายใจได้นานพอสมควรแล้ว ค่อยๆ คลายกล้ามเนื้อท้องลง คลายการล็อกคาง แล้วจึงค่อยๆ หายใจเข้า จนกระทั่งลมหายใจเป็นปกติแล้ว จึงค่อยเริ่มฝึกอุทิยานะพันธะอีกได้ การฝึกอุทิยานะพันธะนี้ ควรฝึกในช่วงที่ท้องว่างเท่านั้น จึงเหมาะกับการฝึกในช่วงเช้าตรู่ก่อนรับประทานอาหารเช้า
(6) มูลพันธะ คุณประโยชน์ของการฝึกมูลพันธะก็เช่นเดียวกับ อุทิยานะพันธะ คือ ช่วยในการชะลอวัยและการชะลอความแก่ชรา การจะฝึกมูลพันธะนั้น ผู้ฝึกจะต้องฝึกอุทิยานะพันธะให้ชำนาญเสียก่อน คือต้องหัดหายใจออก พร้อมกับหดท้องเข้ามา โดยเมื่อหายใจออกจนสุดแล้ว ท้องก็ควรหดเข้าไปเต็มที่ จากนั้นให้แขม่วท้องขึ้นและหดเข้าไปหากระดูกสันหลัง โดยทำให้กะบังลมยกขึ้นด้วย ผู้ฝึกจะต้องฝึกอุทิยานะพันธะ จนกระทั่งสามารถทำให้สะดือเคลื่อนเข้าหากระดูกสันหลัง ทวารหนัก และกล้ามเนื้อหลังก็หดตัวเข้าไป และทำให้บริเวณท้องทั้งหมดกลวง จึงจะเป็นท่าอุทิยานะพันธะที่สมบูรณ์ การฝึกมูลพันธะเป็นการฝึกต่อเนื่องจากอุทิยานะพันธะ โดยผ่อนคลายท้องส่วนบน และกะบังลม แต่ท้องส่วนล่างยังคงหดอยู่ พูดอีกอย่างหนึ่งคือ บริเวณใต้สะดือ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อรอบๆ รูทวารหนักยังคงหดหรือขมิบอยู่ ในขณะที่บริเวณเหนือสะดือผ่อนคลาย การเปลี่ยนจากอุทิยานะพันธะไปสู่มูลพันธะ ให้ทำในช่วงที่ยังกลั้นลมหายใจ หลังการหายใจออกโดยย้ายจุดเพ่งจากบริเวณหน้าท้อง ไปเพ่งที่บริเวณรอยฝีเย็บ หรือบริเวณรอบๆ รูทวารหนักแทน และให้ผู้ฝึกค้างอยู่ในมูลพันธะนี้ในตอนหายใจเข้าครั้งต่อไป
(7) ชาลันธรพันธะ คุณประโยชน์ของการฝึกชาลันธรพันธะก็เช่นเดียวกับมูลพันธะ และอุทิยานะพันธะ คือช่วยในการชะลอวัย และการชะลอความแก่ชรา การจะฝึกชาลันธรพันธะนั้นก็คือ การฝึกล็อกคางนั่นเอง โดยให้ผู้ฝึกนั่งตัวตรง ยกกระดูกสันหลังให้ตรง จากนั้นรั้งศีรษะไปด้านหลังเล็กน้อย ยืดคอให้ตรงและก้มคางลง ตราบใดที่คางของผู้ฝึกยังก้มลงและหลังตรง ผู้ฝึกก็จะอยู่ในชาลันธรพันธะ
จะเห็นได้ว่า ในบรรดาการฝึกมุทรา 10 ชนิด อันเป็นการฝึกศักดิ์สิทธิ์ของกุณฑาลินีโยคะ ได้ครอบคลุมพันธะทั้ง 3 อย่างเอาไว้ในนั้นอยู่แล้วคือ ชาลันธรพันธะ มูลพันธะ และอุทิยานะพันธะ และถ้าหากเราถือว่า เขจรีมุทราก็เป็นพันธะชนิดหนึ่งคือเป็นชิวหาพันธะ (การล็อกลิ้นหรือม้วนลิ้น) เราจะพบว่า การฝึกพันธะเพื่อกักเก็บกระแสของปราณไว้ในพื้นที่เจาะจงของร่างกายนั้น ครอบคลุมตั้งแต่ลิ้น (เขจรีมุทราหรือชิวหาพันธะ) คอ (ชาลันธรพันธะ) ท้อง (อุทิยานะพันธะ) และทวารหนัก (มูลพันธะ) เลยทีเดียว
พันธะจึงเป็นกลุ่มย่อยในชุดการฝึกมุทราที่ทำการฝึกประกอบกับปราณายามะ ที่สำคัญยิ่งที่ไม่เพียงมีประโยชน์อย่างมากต่อการชำระล้างกายเนื้อ แต่ยังมุ่งชำระ “กายทิพย์” ชั้นต่างๆ ของผู้ฝึกกุณฑาลินีโยคะให้สะอาดบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นด้วย ในการฝึกพันธะนั้น ผู้ฝึกควรจะเริ่มจากชิวหาพันธะหรือเขจรีมุทราก่อน พอผู้ฝึกได้ฝึกเขจรีมุทราจนชำนาญแล้ว ต่อไปจึงค่อยเริ่มฝึกชาลันธรพันธะ โดยทำการฝึกชาลันธรพันธะประกอบกับทำท่าอาสนะต่างๆ ของโยคะ ซึ่งสามารถทำได้ในอาสนะหลายท่ามาก โดยที่ผู้ฝึกจะต้องมีสติรู้ตัวว่าขณะนี้ตัวเองกำลังทำ ชาลันธรพันธะอยู่ด้วยในขณะฝึกอาสนะท่านั้นๆ
หลังจากที่ผู้ฝึกได้ฝึกชาลันธรพันธะจนชำนาญแล้ว จึงค่อยเริ่มฝึกอุทิยานะพันธะ โดยฝึกประกอบกับอาสนะท่าต่างๆ ที่สามารถแขม่วท้อง และหดท้องเข้าไปหากระดูกสันหลังได้ด้วย ในขณะฝึกอาสนะท่านั้นๆ สุดท้ายจึงค่อยฝึกอุทิยานะพันธะร่วมกับท่าอาสนะที่เรียกว่า มหามุทรา อันเป็นท่าสำคัญที่สุดท่าหนึ่งของการฝึกมุทราของกุณฑาลินีโยคะ ในการฝึกอุทิยานะพันธะกับอาสนะท่าต่างๆ นี้ สิ่งที่สำคัญยิ่งก็คือ การหดและคลายท้องจะต้องทำอย่างช้าๆ ไม่เร่งรีบเสมอ
หลังจากที่ฝึกอุทิยานะพันธะได้คล่องแล้ว จึงค่อยเริ่มฝึกมูลพันธะ เป็นที่น่าสังเกตว่า ชาลันธรพันธะกับมูลพันธะ สามารถฝึกได้ตลอดตั้งแต่การหายใจเข้า การหายใจออก และช่วงกลั้นหายใจ รวมทั้งเขจรีมุทรา (ชิวหาพันธะ) ด้วย จะมีก็แต่อุทิยานะพันธะเท่านั้น ที่ฝึกได้เฉพาะระหว่างที่กลั้นหายใจหลังจากหายใจออกเท่านั้น
เพราะฉะนั้น ทั้ง เขจรีมุทรา (ชิวหาพันธะ) ชาลันธรพันธะ และมูลพันธะ ควรเป็นสิ่งที่ผู้ฝึกกุณฑาลินีโยคะ ควรทำให้เคยชินในชีวิตประจำวัน หรือหมั่นฝึกบ่อยๆ ในตอนที่รู้สึกตัว ไม่ใช่สิ่งที่ฝึกเฉพาะเวลาไปเรียนโยคะ ส่วนอุทิยานะพันธะ ผู้ฝึกก็สามารถฝึกให้เคยชินจนเป็นนิสัยได้ โดยหมั่นฝึกแขม่วท้อง ล็อกท้อง (ไม่ขยับหน้าท้องทั้งตอนหายใจเข้า และหายใจออก) เป็นประจำในตอนที่รู้สึกตัว (ยังมีต่อ)