แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ
เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (76)
(3/9/2556)
*จาก “กิริยา” สู่ตันตระ (ต่อ)*
(28) “จงจินตนาการว่าพละกำลัง และความรู้ของเราค่อยๆ ถูกแย่งไป ในช่วงขณะที่สูญเสียหมดสิ้นนั้น...ให้ข้ามพ้นไป”
ขยายความ วิธีนี้ให้เราฝึกนอนใน “ท่าศพ” ของโยคะ แล้วจินตนาการว่า ร่างกายของเรากำลังตายไป เราจะรู้สึกว่าร่างกายของเราหนักขึ้นเรื่อยๆ อยากจะขยับตัวก็ขยับไม่ได้ แขนขาหนักเหมือนตะกั่ว ขอให้เรารู้สึกแต่เพียงอย่างเดียวว่า ตัวเองกำลังจะตาย...กำลังจะตาย เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เราสามารถลืมร่างกายโดยฉับพลัน “การข้ามพ้น” จะเกิดขึ้นอันเป็นภาวะที่ตัวเรากลายเป็นผู้ดู ผู้รู้ ผู้เห็นร่างที่กำลัง “นอนตายอยู่” ของตัวเราเอง ช่วงนั้นเราจะสามารถข้ามพ้นใจ เพราะใจจะไม่ทำงานในร่างที่ “ตายแล้ว” ใจจะอยู่ในร่างที่เป็นเท่านั้น
(29) “การอุทิศคือการปลดปล่อย”
ขยายความ ในตันตระ ไม่มีวิธีไหนเหนือกว่ากัน มีแต่วิธีฝึกที่ผู้นั้นต้องหาให้เหมาะกับจริตและชนิดของใจตัวเอง เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดในการฝึกเท่านั้น วิธีนี้เหมาะกับคนที่ชอบใช้หัวใจมากกว่าสมอง ในขณะที่ วิธีก่อนหน้านี้ (วิธีฝึกนอนใน “ท่าศพ” ของโยคะ) เหมาะกับคนที่ชอบใช้สมองซีกซ้ายเป็นหลัก เพราะฉะนั้นในการจะฝึกตันตระ ผู้นั้นควรจะรู้จักตัวเองให้ได้ก่อนว่าเป็นคนแบบไหน จะทำให้ก้าวหน้าได้เร็วโดยเลือกวิธีฝึกของตันตระที่เหมาะสมกับตัวเอง
การอุทิศตัวคือการมุ่งไปสู่สิ่งอื่นที่ไม่ใช่ตัวเรา จะว่าไปแล้ว การอุทิศตัวมีลักษณะของคนตาบอด เพราะในการอุทิศตัวนั้น สิ่งอื่นย่อมมีความหมายมากกว่าตัวเราเสมอ การอุทิศตัวจึงเป็นความไว้วางใจขั้นสูงสุดที่คนเรามีต่อคนอื่น ทำให้คนที่ชอบใช้สมองมากกว่าหัวใจไม่อาจอุทิศตัวได้เต็มที่ เพราะไม่อาจไว้ใจคนอื่นได้อย่างสิ้นเชิง ขณะที่การอุทิศตัวคือ การก้าวกระโดดไปสู่สิ่งที่ไม่รู้อย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆ
ความรัก ถ้าพัฒนาไปถึงขีดสุด มันจะกลายเป็นการอุทิศตนอันเป็นสภาวะที่ไม่มีตัวเอง มีแต่ “ผู้เป็นที่รัก” ผู้เป็นเป้าแห่งการอุทิศตัวของเราเท่านั้น เนื่องจากที่สุดของความรัก คือการอุทิศตัวการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่เกิดขึ้นในจิตใจเรานั้น ล้วนมาจากการอุทิศตัวทั้งสิ้น การอุทิศตัวจึงสามารถ “ปลดปล่อย” ผู้นั้นได้
เมื่อใดก็ตามที่คนที่เรารักสำคัญกว่าตัวเราเอง เราจะสามารถตายเพื่อคนคนนั้นได้ และหากเราสามารถตายเพื่อคนคนนั้นได้ เราก็สามารถมีชีวิตอยู่เพื่อคนคนนั้นได้เช่นกัน คนเราหากไม่อาจตายเพื่อใครได้ก็ไม่อาจอยู่เพื่อใครได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้เอง คนเราจึงสามารถพานพบอิสรภาพจากการปลดปล่อย ปลดเปลื้องได้ท่ามกลางความรัก ความอุทิศตัว ความรักคือสิ่งที่มีความหมายเดียวกับอิสรภาพ โดยที่อิสรภาพที่สมบูรณ์แบบจะเป็นการอุทิศตัว ด้วยเหตุนี้ ความรักจึงไม่ใช่การกระทำ แต่เป็นสภาวะจิตที่เมื่อพัฒนาการไปถึงขีดสุด สภาวะจิตที่เป็นความรักนี้จะไม่พุ่งเป้าไปที่คนใดคนหนึ่ง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นการเฉพาะตัว แต่มันจะขยายไปสู่ทั้งหมด กลายเป็นความเมตตา กลายเป็นการภาวนา
เมื่อนั้น เราจะเพียงแต่รักเท่านั้น ดุจการหายใจของตัวเรา ความรักที่เป็นการอุทิศตัวแบบนี้ จักกลายเป็นการหายใจทางจิตวิญญาณที่ให้ความมีชีวิตชีวาแก่ตัวเรา
(30) “ปิดตา และมองเห็นการดำรงอยู่ของสิ่งที่อยู่ข้างในของเธออย่างละเอียด แล้วเธอจะเห็นธรรมชาติที่แท้จริงของตัวเอง”
ขยายความ วิธีนี้เกี่ยวกับ วิธีมองของตันตระ การมองของตันตระ ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ดวงตาเป็นจุดเชื่อมระหว่างตัวเรากับร่างกายของเรา ณ ที่ดวงตานี้เองเป็นที่ที่ตัวเราเข้าใกล้ร่างกายของเรามากที่สุด ตันตระจึงแนะให้ใช้ดวงตาในการเดินทางเข้าสู่ข้างในตัวเรา การเข้าสู่ศูนย์กลางภายในตัวเรา โดยใช้ดวงตาจึงเป็นหนทางที่ลัดสั้น เพราะดวงตาเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวคนที่สุด ถ้าหากเรามองดวงตาคนเป็น เราจะสามารถอ่านความล้ำลึกของคนผู้นั้นได้จากดวงตาของเขา เพราะ “ตัวเขา” อยู่ที่ดวงตานั้น การจะจ้องมองดวงตาใครตรงๆ นานๆ จึงมักกระทำต่อเมื่อเรารักคนผู้นั้นเท่านั้น หาไม่แล้วจะทำให้ผู้ถูกมองอึดอัดเหมือนเป็นการไปล่วงเกินตัวเขา การที่คู่รักสองคนต่างมองดูดวงตาของกันและกันอย่างลึกซึ้ง จึงเป็นการแสดงออกถึงการมาบรรจบพบกันของ “ตัวตน” ของทั้งคู่ที่ไม่ใช่ในทางร่างกาย แต่เป็นทางจิตวิญญาณ ทางจิตใจ
นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวของดวงตากับความคิดยังมีความสัมพันธ์กัน หากความคิดหยุด การเคลื่อนไหวของดวงตาก็จะหยุดด้วยโดยอัตโนมัติและในทางกลับกัน หากเข้าใจคุณสมบัติของดวงตาเช่นนี้ จะทำให้เข้าใจวิธีฝึกมองของตันตระได้ง่ายยิ่งขึ้น วิธีแรกในการฝึกมองของตันตระนั้น ใช้การปิดตาและหยุดการเคลื่อนไหวของดวงตาในการมอง แค่ปิดตาอย่างเดียวยังไม่พอ จะต้องหยุดการเคลื่อนไหวของดวงตาอย่างสิ้นเชิงด้วย โดยการกำหนดให้ลูกตาเพ่งไปที่หว่างคิ้วด้านในพอทำได้อย่างนี้แล้ว ผู้นั้นจะสามารถเห็นร่างกายของตัวเองแยกออกไปเป็นคนละสิ่งกัน รวมทั้งสามารถแลเห็นจิตหรือดูจิตของตนเองได้ด้วย จะเห็นได้ว่า เคล็ดสำคัญของการฝึกมองวิธีนี้ อยู่ที่การปิดตา และกำหนดเพ่งลูกตาไปที่หว่างคิ้วข้างใน หรือบริเวณตาที่สามเพื่อยุติการเคลื่อนไหวของดวงตาอย่างสิ้นเชิง
(31) “จ้องมองบาตร แต่อย่ามองเป็นส่วนๆ หรือมององค์ประกอบ ไม่นาน....ก็จงตื่นเถอะ”
ขยายความ วิธีมองของตันตระวิธี เป็นการมองสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเห็นภาพรวม ไม่จำเป็นต้องมองบาตรหรอก จะมองอะไรก็ได้ แต่ที่สำคัญจะต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในคุณภาพของการมอง คืออย่าไปมองแค่เฉพาะส่วน อย่าไปดูแค่ส่วนย่อย แต่ต้องมองให้เห็นภาพทั้งหมดของสิ่งนั้น คนทั่วไปมักติดนิสัยในการมองแค่เฉพาะส่วน มองแบบแยกส่วน ขณะที่ตันตระจะแนะให้เรามองเห็นภาพรวมโดยไม่ต้องขยับลูกตา และไม่ให้โอกาสลูกตาในการเคลื่อนไหว หากมองเห็นภาพรวมอย่างต่อเนื่องโดยไม่ขยับลูกตา และโดยไม่ใส่ใจในองค์ประกอบของสิ่งนั้นแล้วในบัดดล จะเกิดการ “ตื่น” ในตัวเองของเรา ตันตระบอกกับเราเช่นนั้น คนเราเมื่อตื่นทางจิตวิญญาณในตัวเอง “โลก” จะหายไป โลกนั้นดำรงอยู่ก็จริง แต่มันจะหายไปสำหรับผู้ตื่นแล้ว ดุจความฝัน ขณะที่คนเรารับรู้โลก ตัวตนที่แท้จริงของผู้นั้นจะหายไป ในขณะที่รับรู้โลกนั้นอยู่ เหมือนคนที่อยู่ในความฝัน แต่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังฝันอยู่ ในทางกลับกัน คนที่ตื่นทางจิตวิญญาณในตัวเอง “โลก” จะหายไป จะเห็นมันเป็นแค่รูปกับนามที่เกิดดับ เกิดดับอยู่ตลอดเวลาเท่านั้น ดุจคนที่ตื่นจากความฝัน และรู้ว่ามันไม่จริง วิธีมองทุกสิ่งทุกอย่างอย่างเห็นภาพรวมเป็นวิธีฝึกที่เหมาะกับผู้ที่เป็นปัญญาชน และมีบทบาทในการให้ปัญญาแก่สังคม
(32) “ราวกับเพิ่งมองเห็นเป็นครั้งแรก เธอผู้แสนสวยหรือมองสิ่งที่มีอยู่ดาษดื่น”
ขยายความ วิธีนี้ ตันตระแนะให้เรามองสิ่งต่างๆ ด้วยสายตาที่ใหม่สดอยู่เสมอ เพื่อให้เกิดความมีชีวิตชีวาขึ้นในจิตใจ เพราะผู้คนส่วนใหญ่มักติดอยู่กับการมองสิ่งต่างๆ ด้วยสายตาที่จำเจ ด้วยสายตาเก่า โดยเฉพาะสิ่งที่เห็นอยู่เป็นประจำจนชินตา ทำให้เกิดสภาพที่ว่า “มองก็เหมือนไม่มอง” เพราะเป็นการมองอย่างกลไก วิธีนี้ของตันตระ แนะให้คนเราหัดมองทุกอย่างด้วยความรู้สึกแปลกใหม่หมดเหมือนเด็กๆ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ให้มองราวกับว่า “เพิ่งมองเห็นเป็นครั้งแรก” แล้วเราจะเห็นความสวยงามของโลกนี้จากทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามองเห็น ดวงตาของเราจะกลับไปเป็นดวงตาที่ไร้เดียงสาอีกครั้ง แต่เต็มไปด้วยสติ
(33) “โดยการแค่มองเมฆบนท้องฟ้า ที่อยู่ไกลลิบเท่านั้น ความสงบก็จะ...”
ขยายความ วิธีนี้เป็นการฝึกมองท้องฟ้าที่ไร้ขอบเขตโดยไม่คิด หากมีความคิดเกิดขึ้นในขณะมองก็ต้องรู้ทันมัน ประเด็นสำคัญของวิธีนี้อยู่ที่การมอง “ความว่าง” หรือ “อากาศ” โดยไม่มีเป้าเฉพาะเจาะจง แม้ดูก้อนเมฆก็ให้เห็นแต่ความว่าง อย่าให้ความคิดหรือคำวิพากษ์ในใจเกิดขึ้นมา ในขณะที่กำลังมองความว่างอยู่ ถ้าความคิดหรือคำวิพากษ์ในใจเกิดขึ้นก็ต้องรู้ทัน และแค่รู้เท่านั้น หากทำได้เช่นนี้แล้วความสงบจะเกิดขึ้นมาเอง เพราะหากในใจคนเรามีสิ่งใด เราก็จะเป็นหรือคล้ายกับสิ่งนั้นโดยไม่รู้ตัว และอย่างเป็นไปเอง (ยังมีต่อ)