แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (72) (6/8/2556)

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (72) (6/8/2556)


แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ
 
เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (72)

(6/8/2556)
 



*จาก “กิริยา” สู่ตันตระ (ต่อ)*


       
       (9) “นอนราบกับพื้นราวกับตายไปแล้ว แม้โกรธอย่างรุนแรง ก็อยู่ในสภาพนั้น หรือเพ่งสายตาโดยไม่ขยับเปลือกตาเลย หรือสูดอะไรเข้าไปและกลายเป็นการสูดนั้น”
       

       ขยายความ หากฝึกหายใจแบบไม่ขยับเขยื้อนร่างกายเลย เมื่อฝึกวิธีนี้อย่างต่อเนื่อง จะทำให้ความคิดของผู้นั้นค่อยๆ หยุดลงได้ ในการฝึกจะฝึกท่าศพ (ฝึกนอนตาย) หรือฝึกเพ่งสายตาโดยไม่ขยับเปลือกตาไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานานติดต่อกัน หรือจะฝึกสูดหายใจจนตัวเรากลายเป็นตัวการหายใจนั้นก็ได้ ประเด็นสำคัญนั้นอยู่ที่ผู้ฝึกจะต้องอยู่ใน “ความรู้ตัว” บ่อยๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในระหว่างการฝึกข้างต้น


       
       (10) “เมื่อเธอถูกเล้าโลม สุดที่รักของฉัน เธอจงเข้าไปสู่ภายในการเล้าโลมนั้น และตระหนักถึงชีวิตอันเป็นนิรันดร์”

       
       ขยายความ หลังจากถ่ายทอดวิธีการหายใจแบบตันตระแล้ว พระศิวะจึงเริ่มถ่ายทอด วิธีผ่อนคลายตัวเองแบบตันตระ เป็นลำดับถัดมา ตันตระถือว่า “ภาวะผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์” ที่ไม่มีความตึงเครียดใดๆ ไม่มีความพยายามใดๆ ไม่มีความต้องการใด ไม่มีความอยากเป็นอะไร มีแต่ความเป็นเช่นนั้นเอง เป็นภาวะที่สำคัญอย่างเหลือเกิน วิธีการของตันตระนั้นมุ่งใช้การเข้าสู่ภาวะผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงภาวะของ “ความรัก” ที่ไร้ตัวตน ไร้อัตตา ไร้ความปรารถนาใดๆ วิธีการผ่อนคลายอย่างแรกของตันตระนั้น ใช้ “การรัก” มาสร้างความผ่อนคลาย โดยการ “เข้าไปสู่ภายในของการเล้าโลม และการทำรักอย่างทั้งหมดทั้งสิ้น” ในห้วงยามนั้น “การรัก” ของผู้นั้นจะเป็นดุจสมาธิภาวนา เพราะมันดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะตลอดเวลาในกระบวนการของการทำรักอย่างรู้ตัวทั่วพร้อม


       
       (11) “เมื่อรู้สึกได้ถึงการคลานของมด จงปิดทวารอวัยวะสัมผัสทั้งหลาย...เมื่อนั้นแหละ”

       
       ขยายความ คำว่า “เมื่อรู้สึกได้ถึงการคลานของมด” นี้เป็นเพียงการยกตัวอย่างอันหนึ่งเท่านั้น พระศิวะท่านต้องการจะบอกว่า ไม่ว่าเราจะรู้สึกอะไรขึ้นมาก็ตาม ให้ปิดทวารอวัยวะสัมผัสของเราให้หมด ซึ่งทำได้โดยการปิดตาก่อน จากนั้นก็ปิดหู ถ้าจะปิดทวารทั้งเจ็ดพร้อมกัน ก็ให้ปิดปากอุดรูจมูกกลั้นลมหายใจชั่วขณะ พอทำเช่นนั้นสัมผัสความรู้สึกภายนอกทั้งหลายจะถูกปิดชั่วคราว “เมื่อนั้นแหละ” ที่เราปิดตัวเองต่อโลกภายนอก และปิดตัวเองต่อร่างกายของเราด้วย เพราะร่างกายเราก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกภายนอก หาใช่โลกภายในของเราไม่ และเราจะเข้าสู่ศูนย์กลางภายในตัวเราเอง ซึ่งเป็น “ผู้รู้” ที่สามารถมองโลกจากศูนย์กลางภายในของตัวเราเองได้ นี่คือ วิธีผ่อนคลายแบบที่สองของตันตระ

 

       
       (12) “จงทำตัวเองให้ไร้น้ำหนัก ขณะที่อยู่บนเตียงหรือเก้าอี้ แล้วข้ามพ้นไป หรือความคิด”

       
       ขยายความ โดยการฝึกสมาธิในท่านั่งหรือท่ายืน เมื่อฝึกไปถึงขั้นหนึ่ง ผู้ฝึกจะรู้สึกถึงน้ำหนักตัวเองน้อยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่รู้สึกถึงน้ำหนักตัวเอง และลืมร่างกายนี้ของตัวเองในที่สุด เมื่อผู้ฝึกเริ่มรู้สึกไร้น้ำหนักหรือไร้ร่าง ภาวะที่ข้ามพ้นใจหรือความคิดจะเกิดขึ้นอย่างเป็นไปเอง วิธีการผ่อนคลายแบบที่สามของตันตระ ทำได้โดยการฝึกเช่นข้างต้น
       


       (13) “โดยจินตนาการถึงวงกลมห้าสีของแพนหางนกยูงเป็นที่ว่างที่ไร้ขอบเขตด้วยสัมผัสทั้งห้าของตนเอง จากนั้นหลอมละลายความงามอันนั้นจากด้านใน ในทำนองเดียวกัน ให้ใช้วิธีนี้กับ จุด บนผนังหรือที่ว่าง จนกระทั่ง จุด นั้น หลอมละลายไป...เมื่อนั้น ความปรารถนาของเธอที่จะกลายเป็นสิ่งอื่น จะปรากฏเป็นจริง”

       
       ขยายความ นี่คือวิธีในการเพ่งจิตทั้งหมดไปที่เป้าใดเป้าหนึ่งอันเดียวเท่านั้นโดยไม่สนใจสิ่งอื่น ซึ่งเป็นการกำหนดจุดศูนย์กลางไปที่ข้างนอกก่อนเพื่อเข้าถึงจุดศูนย์กลางภายในร่างกายทีหลัง จุดศูนย์กลางที่ข้างนอกนั้น จะเป็นฝาผนังห้อง เป็นภาพ เป็นความคิดหรืออารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งก็ได้ แต่ที่สำคัญก็คือ ถ้ากำหนดจุดศูนย์กลางภายนอกนั้นได้แล้ว ให้ลืมโลกทั้งหมดที่เหลืออย่างสิ้นเชิง และเหลือแต่จุดแห่งแสง จุดนั้นในจิตของเราเท่านั้น ถ้าทำเช่นนี้ได้ ตัวเราจะถูกจับโยนเข้าไปอยู่ที่ศูนย์กลางภายในโดยฉับพลัน
     

       วิธีจินตนาการว่ามีสีห้าสีมาบรรจบกันที่ศูนย์กลางบริเวณสะดือของผู้ทำสมาธิ และเพ่งจิตที่จุดนั้นจนกระทั่งโลกทั้งหมด สีทั้งหมดหลอมละลายที่จุดนั้น เป็นวิธีการที่เหมาะกับคนที่เป็นจิตรกรมากกว่าคนทั่วไปซึ่งไม่สันทัดในการจินตนาการเห็นเป็นสีต่างๆ อย่างชัดเจน สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ถนัดในการจินตนาการเห็นสีต่างๆ ได้อย่างชัดเจน จึงควรใช้วิธีเพ่งจุดบนผนังแทนแล้วเปิดตาเพ่ง แต่ถ้าหากจะเพ่งจุดภายในร่างกายของตนเองก็ให้หลับตาเพ่งแทน แต่ไม่ว่าจะเพ่งอย่างไร ผู้ฝึกจะต้องแน่นิ่งไม่เคลื่อนไหว “จนกระทั่งจุดนั้นหลอมละลายไป” เพราะถ้าขยับเมื่อไหร่ ใจหรือความคิดของผู้ฝึกจะทำงานทันที


       
       (14) “วางความเอาใจใส่ทั้งหมดของตนไปที่เส้นประสาทที่ละเอียดดุจใยบัว ที่อยู่ตรงศูนย์กลางของกระดูกสันหลังของตน แล้วน้อมรับการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งนั้น”
       

       ขยายความ นี่เป็นวิธีเพ่งจิตไปที่โครงกระดูกสันหลังของผู้ฝึก โดยการหลับตาให้เห็นภาพโครงกระดูกสันหลังของตัวเองอย่างชัดเจนก่อน แล้วค่อยเพ่งจิตไปที่เส้นประสาทที่อยู่ตรงกลางกระดูกสันหลังนั้นอีกที เส้นประสาทสีเงินที่ละเอียดดุจใยบัวนี้ เป็นเส้นประสาทของกายทิพย์ แต่ก็พอรู้สึกถึงความอุ่นซ่าบริเวณนั้นในทางกายภาพได้ หากเพ่งจิตไปที่บริเวณนั้นมากพอ วิธีการฝึกนี้เหมาะกับคนที่เชื่อในวิธีคิดเชิงวัตถุ และยังมีจิตสำนึกของความเป็นร่างกายสูง เคล็ดของการฝึกแบบนี้ อยู่ที่ทำให้ร่างกายและหลังตั้งตรงในตอนฝึก หากรุดหน้าในการฝึกด้วยวิธีนี้ ต่อไปผู้ฝึกก็จะสามารถสัมผัสแสงในบริเวณกระดูกสันหลังของตนเองได้


       
       (15) “ใช้สองมือปิดทวารทั้งเจ็ดบนศีรษะในตอนนั้น ที่ว่างระหว่างดวงตาทั้งสองจะครอบคลุมสิ่งทั้งหมด”

       
       ขยายความ ตันตระเชื่อว่า หากคนเราอยากจะใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมายและมีความหมาย ก่อนอื่นผู้นั้นจะต้องค้นหาศูนย์กลางภายในตนเองให้พบ และตั้งมั่นอยู่ในศูนย์กลางภายในนั้นให้ได้เสียก่อน โดยการฝึกปิดทวารทั้งเจ็ดบนศีรษะคือ สองตา สองหู สองรูจมูก และหนึ่งปากด้วย สองมือ ในตอนนั้น จิตสำนึกหรือใจของผู้ฝึกที่มักฟุ้งซ่านไหลออกไปข้างนอกอยู่เสมอ จะถูกกักโดยฉับพลันไม่อาจออกไปข้างนอกได้อีก เคล็ดของวิธีนี้อยู่ที่การกลั้นลมหายใจ เพราะในช่วงที่กลั้นลมหายใจอยู่นั้น ใจจะหยุดทำงานชั่วคราว เนื่องจากใจมีคุณสมบัติที่มักเคลื่อนที่ไปมาพร้อมๆ กับลมหายใจ เมื่อลมหายใจหยุดใจจึงพลอยหยุดด้วย

       
       โดยที่ตำแหน่งที่ใจหยุดนั้นก็คือ “ที่ว่างระหว่างดวงตา” หรือ “ตาที่สาม” นั่นเอง คำว่า “ที่ว่างระหว่างดวงตาทั้งสองจะครอบคลุมสิ่งทั้งหมด” นั้น หมายถึง การรู้ถึงความเป็นหนึ่งของสรรพสิ่ง เพราะการมองโลกด้วยตาที่สาม เป็นการมองด้วย “ปัญญาจักษุ” เป็นการมองในเชิงจิตวิญญาณ ด้วยความเข้าใจและความรักในสรรพสิ่ง โดยผู้นั้นสามารถค้นพบว่าโลกทั้งหมด (รูปนาม) ล้วนอยู่ในศูนย์กลางภายในของตัวเขาเอง (ยังมีต่อ)





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้