ลำดับขั้นฝีมือมวยไท่จี๋โดยอาจารย์โจว ซุง ฮัว

ลำดับขั้นฝีมือมวยไท่จี๋โดยอาจารย์โจว ซุง ฮัว

 
ลำดับขั้นฝีมือมวยไท่จี๋โดยอาจารย์โจว ซุง ฮัว
 


คัมภีร์มวยไท่จี๋ 13 บทของอาจารย์เจิ้งมั่นชิงได้แบ่งระดับฝีมือของมวยไท่จี๋ออกเป็น 3 ระดับใหญ่ๆคือ ระดับมนุษย์ ระดับดิน และระดับฟ้าโดยมีเนื้อหากล่าวในเชิงเทคนิค วิธีการมากกว่ากล่าวถึงคุณสมบัติหรือหลักการที่เป็นนามธรรม

แต่ต่อมาโจว ซุง ฮัว ศิษย์คนสำคัญคนหนึ่งของอาจารย์เจิ้งมั่นชิงได้กล่าวถึงระดับฝีมือของมวยไท่จี๋ได้ลุ่มลึกพิสดารยิ่งขึ้นโดยมีรายละเอียด ดังนี้
 


(ก) กฎสำหรับระดับมนุษย์


การเริ่มเรียนมวยไท่จี๋โดยยึดกฎสำหรับระดับมนุษย์สำหรับการฝึกขั้นต้นนี้ จะทำให้ผู้ฝึกมีพื้นฐานที่มั่นคงสำหรับการฝึกในขั้นสูงต่อๆไป กฎสำหรับมนุษย์มีอยู่ด้วยกัน 4 ข้อ คือ


(1) “ความเบา” ในคัมภีร์มวยไท่จี๋ได้กล่าวถึงกฎข้อแรกนี้ว่า” ในทุกๆการเคลื่อนไหว ร่างกายทั้งร่างควรจะให้เบาและคล่อง “ ในการฝึกตอนแรกจะเน้นความเบาไว้ก่อนเพราะความเบาจะฝึกได้ยากกว่าความคล่อง แม้แต่ในการฝึกศิลปะการป้องกันตัวชนิดอื่น ส่วนความคล่องนั้น หมายถึงความรวดเร็วว่องไว คนทั่วไปมักใช้แรงภายนอกหรือการเกร็งกล้ามเนื้อเพื่อให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวคล่องแคล่วว่องไว แต่ในมวยไท่จี๋นั้น ความคล่องจะมาจากความเบาหรือความผ่อนคลาย

ความเบาในมวยไท่จี๋เป็นเช่นเดียวกับความเบาของแม่แมวขณะหยอกเล่นกับลูกแมว แม่แมวจะควบคุมการเคลื่อนไหวไม่ให้รุนแรงจนทำให้ลูกแมวบาดเจ็บ ผู้ฝึกจะใช้”ความเบา”ชนิดนี้ในการเคลื่อนไหวท่าร่าง

เมื่อเข้าใจ”ความเบา”ซึ่งจัดเป็นหยินแล้วก็จะต้องเข้าใจ”ความหนัก” ซึ่งจัดเป็นหยังด้วย ในธรรมชาติเราจะพบว่าความหนักหน่วงบางอย่างเช่นในพายุทอร์นาโดนั้น เกิดจากความเบานิ่มของกระแสลมธรรมดา ความหนักของมวยไท่จี๋ก็เช่นเดียวกัน มันแปรมาจากความเบา อัน”ความเบา”นี้ นอกจากจะหมายถึงการเคลื่อนไหวของร่างกายแล้ว ในมวยไท่จี๋ยังหมายถึง ความสามารถในการควบคุมจิตสำนึกหรือการควบคุมใจด้วย ความเบาทางจิตจะเป็นตัวคอยควบคุมความเบาในการเคลื่อนไหวอีกทีหนึ่ง

จุดประสงค์ของการฝึกมวยไท่จี๋ก็คือ การบ่มเพาะให้เกิดความว่องไวภายในร่างกายมากกว่าการสร้างความแข็งแรงภายนอก ความว่องไวนี้เกิดจากการลดการใช้แรงและลดการเกร็งกล้ามเนื้อที่ไม่จำเป็นลงไป
ดังนั้นในกาฝึกขั้นแรกผู้ฝึกจึงไม่ควรใช้แรงงุ่มง่ามเกร็ง หากแต่เน้นในความผ่อนคลาย ปล่อยให้ความเคลื่อนไหวเป็นไปอย่าเบาๆและเป็นธรรมชาติดุจดังปุยเมฆ ลอยผ่านท้องฟ้าหรือกิ่งไม้ต้องสายลมอ่อนๆ การฝึกความเบาคล่องนี้ ในที่สุดจะนำไปสู่ความรู้สึกว่องไวอย่างยิ่งยวด

หลังจากที่ผู้ฝึกสามารถเคลื่อนไหวทุกท่าด้วยความเบาได้แล้ว ผู้ฝึกก็จะมีพื้นฐานที่จะเรียนวิชาขั้นสูงขึ้นไปอีกได้ แต่ในทางตรงกันข้าม การใช้แรงหรือความหนักหน่วงโดยไม่ถูกต้องจะหยุดยั้ง ความก้าวหน้าในการฝึกฝนมวยไท่จี๋


( 2 ) “ความช้า” ผู้ฝึกควรฝึกมวยไท่จี๋อย่างช้าๆโดยเฉพาะในตอนเริ่มฝึกใหม่ๆ ผู้ฝึกยิ่งเคลื่อนไหวช้าเท่าใด ก็จะยิ่งจับรายละเอียดได้มากยิ่งขึ้น การเคลื่อนไหวช้าๆในมวยไท่จี๋เป็นแบบเดียวกับการพยายามทรงตัวบนจักรยานที่เคลื่อนที่ช้ามาก ความช้าในที่นี้ไม่ใช่การเปลี่ยนท่าเร็วๆและค้างอยู่ในท่าหนึ่งๆนานๆหรือแบบถีบจักรยานเร็วๆและหยุดถีบ คือในมวยไท่จี๋นั้นนอกจากช้าแล้วยังต้องต่อเนื่องด้วยถึงจะเป็นความช้าที่สมบรูณ์

หากคนทั่วไปอยากจะทดลองให้ทราบดูว่า ความช้าของมวยไท่จี๋นั้นคืออย่างไร ก็สามารถทำการทดลองได้โดยการก้าวเดินอย่างช้าที่สุด สม่ำเสมอที่สุดโดยเอาใจใส่ในทุกๆส่วนของร่างกาย แล้วผู้นั้นจะค้นพบว่า“ความช้า” นี้ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆเลย

ในมวยไท่จี๋นั้น ผู้ฝึกจะต้องก้าวเท้าช้าๆอย่างสุขุมและต่อเนื่องคล้ายกับกำลังก้าวแทรกไปในอากาศ คล้ายกับอากาศมีความหนาแน่น และถ้าจำเป็นก็สามารถหยุดได้ทุกเวลา ผู้ฝึกควรพยายามร่ายรำมวยโดยมีความช้าอยู่ในจิตใจเสมอ จนกระทั่งว่า ไม่มีทางที่จะช้ากว่านั้นได้อีกแล้วโดยไม่เสียหลักการข้ออื่นๆ

การฝึกความช้าในมวยไท่จี๋นั้นต้องการเพียงความเข้าใจและความพากเพียรเท่านั้นโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษใดๆมาช่วยเลย การร่ายรำมวยไท่จี๋ด้วยร่างกายภายนอกที่ช้าๆและสงบนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อความคิดและอารมณ์ของผู้ฝึกนั้นเป็นอย่างมาก เมื่อผู้ฝึกนั้นได้ผ่อนคลายอย่างเต็มที่โดยผ่านการฝึกความช้าของมวยไท่จี๋แล้ว เขาผู้นั้นจะมีความสุภาพอ่อนโยนมากขึ้น
การร่ายรำอย่างช้าๆและอ่อนนุ่มแบบมวยไท่จี๋จะทำให้ผู้นั้นเกิดสภาวะจิตที่เรียกว่า “ว่องไวภายนอก ว่างเปล่าภายใน”(สภาวะเซน หรือฌาน) และ “การไม่กระทำในการกระทำ”(สภาวะของเต๋า) นั่นคือ เมื่อร่างกายภายนอกสงบ ตัวตนภายในของผู้นั้นก็จะสงบนิ่งดุจดังน้ำนิ่งในบ่อลึกด้วย

เมื่อฝึกถึงขั้นนี้ผู้ฝึกก็จะได้คุณประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกข้อหนึ่งจากการฝึกความช้าของมวยไท่จี๋คือ เมื่อเคลื่อนไหวร่างกายอย่างช้าๆและอย่างสงบ จะทำให้สติกำกับทิศทางการไหลของชี่ไปทั่วร่างกายได้และโดยการตั้งจิตที่จุดตันเถียนพร้อมกับการติดตามการไหลของชี่ที่แผ่ไปทั่วร่างกายขณะในขณะเคลื่อนไหวจะเท่ากับเป็นการเร่งให้ชี่ไหลคล่องได้เร็วยิ่งขึ้น

พึงจำไว้ในใจเสมอว่า การร่ายรำในตอนต้นของการฝึกจะต้องให้ช้าๆและต่อเนื่องดุจนกที่กำลังบินอยู่ หลังจากที่ผู้ฝึกได้วางรากฐานในเรื่องความช้าและความเบาแน่นแฟ้นดีแล้ว จะทำให้ผู้นั้นสามารถเคลื่อนไหวได้เร็วขึ้นอย่างต่อเนื่องในกิริยาที่ต้องการความรวดเร็วได้ และเมื่อก้าวขึ้นสู่ขั้นสูงแล้วความช้าก็ไม่เป็นสิ่งจำเป็นอีกต่อไป เพราะผู้ฝึกสามารถรักษาความสงบนิ่งในการเคลื่อนไหวอันรวดเร็วนั้นได้
 


(3) “การเคลื่อนไหวเป็นวงกลม” ทุกๆการเคลื่อนไหวในมวยไท่จี๋ประกอบด้วยวงกลมและเส้นตรงต่างๆ คุณประโยชน์ของการเคลื่อนไหวเป็นวงกลมที่มีต่อการรับและรุกของศิลปะการต่อสู้นั้น สามารถเทียบได้กับการขว้าง”ลูกโค้ง”ในกีฬาเบสบอล ผู้ขว้างบอลอาจจะขว้างลูกตรงแล้วได้ผลสำหรับคนตีมือใหม่ แต่สำหรับคนตีมือเก่าที่ชำนาญแล้ว ลูกบอลที่ขว้างมาตรงๆไม่ว่าจะรุนแรงและรวดเร็วแค่ไหน เขาย่อมตีโฮมรันได้เสมอ ดังนั้นผู้ขว้างที่เก่งๆจึงมักขว้างบอลเป็นลูกโค้งต่างๆซึ่งเป็นลูกที่ตีโฮมรันยากที่สุด

ตัวผู้ฝึกมวยไท่จี๋ก็เช่นกัน มักพยายามใช้”ความโค้ง”กับปรปักษ์เสมอ ซึ่งตรงข้ามกับศิลปะต่อสู้ชนิดอื่นส่วนใหญ่ที่นิยมใช้แรงเป็นเส้นตรงเป็นหลัก การใช้วงกลมของมวยไท่จี๋นั้นมักจะให้แรงมากกว่าการใช้เส้นตรง พลังแห่งวงกลมนั้นสามารถเทียบได้กับลมและน้ำ ลมที่พัดตรงๆไม่ว่าจะรุนแรงแค่ไหนก็ก่อความเสียหายได้เพียงเล็กน้อย แต่พายุทอร์นาโดนั้นมีพลังทำลายสูงมาก กระแสนำ้ที่พุ่งมาตรงๆไม่ว่าจะรวดเร็วแค่ไหนก็ยังถูกระบบชลประทานชะลอแรงจนสลายหมดได้ แต่ถ้าเป็นน้ำวนจะน่ากลัวกว่านี้

ขณะที่ผู้ฝึกใหม่เริ่มฝึกมวยไท่จี๋นั้นทุกการเคลื่อนไหวควรจะเป็นวงกลมโดยมี”ความช้า”กับ “ความเบา”อยู่ในจิตใจเสมอ ในตอนแรก วงกลมควรมีความโค้งมาก เมื่อชำนาญแล้วขนาดของความโค้งจะเล็กลงเรื่อยๆ แต่ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวเล็กแค่ไหนจะต้องมีความโค้งแฝงอยู่ด้วยเสมอ การเคลื่อนไหวเป็นวงกลมของมวยไท่จี๋ หากจะให้เป็นธรรมชาติ ผู้ฝึกจะต้องใช้ความเคลื่อนไหวเป็นวงกลมทุกอย่างตั้งแต่มือ แขน และร่างกายส่วนที่เหลือจนกระทั่งลำตัวนำมือและแขนในการเคลื่อนไหวเป็นวงกลม การเคลื่อนไหวที่เป็นวงกลมจะซึมซาบเข้าไปในตัวผู้ฝึกได้

ถ้าหากผู้ฝึกได้ฝึก”พลังรังไหม” หรือ “ฉันซือจิ้ง”อย่างขยันหมั่นเพียร จนกระทั่งซึบซาบเข้าไปในมวยไท่จี๋ซึ่งจะช่วยให้ฝีมือของผู้นั้นก้าวหน้ายิ่งขึ้นด้วย


(4) “ความสม่ำเสมอ” หมายถึงการก้าวเท้าอย่างราบรื่นในมวยไท่จี๋ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อผู้ฝึกใช้สมาธิในการเคลื่อนไหว ผู้ฝึกจึงควรตั้งสมาธิให้แน่วแน่ก่อนร่ายรำ การทำสมาธิท่ามกลางความเคลื่อนไหวนั้น คล้ายกับการฉายหลายๆภาพที่ถ่ายด้วยระยะเวลาที่ห่างกันเป็นเศษส่วนของวินาที ผู้ฝึกจะต้องฝึกจนกระทั่ง การเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอนี้เป็นไปโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องตั้งใจ แต่มันดำเนินไปโดยจิตใต้สำนึก

ในที่สุดเมื่อผู้ฝึกได้ฝึกจนสำเร็จใน”ความเบา” “ความช้า” “การเคลื่อนไหวเป็นวงกลม” และ “ความสม่ำเสมอ”แล้วก็หมายความว่าผู้ฝึกคนนั้นได้สำเร็จฝีมือระดับมนุษย์หรือขั้นต้นแล้ว

เราจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าผู้ฝึกได้สำเร็จถึงขั้นนี้แล้ว คำตอบก็คือ ทดลองไปร่ายรำนอกบ้าน ในที่ที่มีฝูงนกฝูงสัตว์อยู่ โดยใช้กฎ 4ข้อของระดับมนุษย์ ถ้าปรากฎว่าฝูงนกฝูงสัตว์ไม่มีอาการถูกรบกวน ก็แสดงว่าผู้ร่ายรำนั้นสำเร็จระดับมนุษย์แล้ว และพร้อมที่จะก้าวสู่การฝึกในระดับกลางหรือระดับดิน

โปรดระลึกเอาไว้เสมอว่าการอ่านหลักวิชาขั้นสูงใดๆนั้น อาจจะใช้เวลาไม่ถึงสิบนาที แต่การฝึกให้สำเร็จตามที่เขียนบอกไว้ได้ อาจจะต้องใช้เวลาเป็นปีๆเลยที่เดียว



(ข) กฎสำหรับระดับดิน


การบรรลุระดับมนุษย์นั้นเป็นรากฐานของระดับสูงต่อไปหลังจากที่ผู้ฝึกได้วางรากฐานที่มั่นคงแน่นแฟ้นแล้วผู้ฝึกย่อมจะก้าวเข้าสู่การฝึกขั้นสูงต่อไปเองโดยธรรมชาติ

คราวนี้ผู้ฝึกจะต้องลืมสิ่งที่ตัวเองได้บรรลุมาด้วยความยากลำบากไปเสียให้หมด เพื่อที่จะได้รวบรวมพลังจิตพลังกาย พลังความคิดทั้งหมดที่ตัวเองมีอยู่ให้กับการฝึกในระดับดินแทน

ผู้ฝึกจะต้องศึกษาทำความเข้าใจกฎข้อต่างๆในระดับดิน เพื่อนำไปใช้ฝึกในระดับนี้ให้สมบรูณ์ โดยนำกฎแต่ละข้อไปใช้ในกระบวนการท่ามวย ในที่สุดผู้ฝึกจะปฎิบัติตามกฎเหล่านั้นได้อย่างอัตโนมัติและง่ายดาย กฎสำหรับดินก็มี 4ข้อเช่นกัน
 

( 1) “ความคล่อง” ตอนที่สำเร็จระดับมนุษย์ใหม่ๆนั้น ร่างกายของผู้ฝึกจะมีความหนืด อันเป็นผลมาจากการเน้น “ ความช้า “ และ “ ความสม่ำเสมอ “ ถือเป็นข้อด้อยอย่างหนึ่งก็ได้ แต่ขณะเดียวกัน ผู้ฝึกจะมีข้อดีเกิดขึ้นคู่กัน คือ สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างเป็นหน่วยเดียวหนึ่งเดียว ความหนืดนี้สามารถลบล้างไปได้ด้วยการฝึก” ความคล่อง “

ในมวยไท่จี๋นั้นเป็นมวยคนละอย่างกัน ความคล่องชนิดนี้เป็น”การเคลื่อนไหวดุจล้อเพลา” ที่ไม่มีความหนืดอยู่เลยดุจเครื่องจักรที่มีน้ำมันหล่อลื่นดี คือหมุนได้เร็วและมีแรงเสียดทานน้อย ปลาในสระน้ำที่กว้างพอสมควรจะว่ายน้ำคล่องทันทีที่มีอะไรมาถูกน้ำ นี่คือ ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิดในเรื่องความคล่อง ของมวยไท่จี๋ ส่วนปลาในถังปลาก็เช่นเดียวกัน มันจะคอยอยู่อย่างสมดุลและเตรียมพร้อมเมื่อมีใครยื่นมือลงไปในน้ำ และจะว่ายหนีเมื่อมือนั้นไขว่คว้า แม้กระนั้นปลาก็ยังเคลื่อนไหวน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นในการหลบหลีกการจับกุม นี่คือ ความหมายของความคล่องในมวยไท่จี๋

“ความคล่อง” ในมวยไท่จี๋เป็นสมดุลระหว่างหยินกับหยัง ถ้ามีใครจะจับมือเรา มือเราก็คล้ายกับหายตัวไปแล้วกลับมาจับเขาแทน นี่คือการย้อนโจมตีที่สวยงาม นี่คือ “ ความคล่อง” ขนานแท้ ผู้ฝึกจะต้องฝึก “ ความคล่อง “ ตลอดการฝึกมวยไท่จี๋

ความคล่องนั้นได้มาจาก การฝึกพลังรังไหมหรือฉันซือจิ้ง จากการที่ทิ้งน้ำหนักลงที่เท้าเป็นการหยั่งรากที่แน่นแฟ้น ใช้เอวเคลื่อนไหวไม่ใช่ใช้เฉพาะแขน ขา มือ ไหล่ จะต้องโค้งเพื่อช่วยให้พลังส่งถึงปลายนิ้ว ในที่สุดทั้งร่างกายจะมีแต่ความคล่องตัวพร้อมที่จะตอบโต้ได้ทุกทิศทางตลอดเวลา อันเป็นการบรรลุ” ความคล่อง “ ในระดับดิน


(2 ) “ความผ่อนคลาย” แม้ผู้ฝึกมวยไท่จี๋จะได้ยินคำว่า “ความผ่อนคลาย” บ่อยกว่าคำอื่น แต่ความหมายของมันก็มักจะถูกผู้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดเสมอ โดยคิดไปว่าความผ่อนคลายของมวยไท่จี๋ หมายถึงการผ่อนคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ บางคนถึงกับคิดเลยเถิดไปว่า หมายถึง การพักผ่อนหย่อนคลายความเครียดในชีวิตประจำวันโดยเอนตัวลงไปบนเตียงหรือเก้าอี้นวมแล้ว ปล่อยวางจิตใจให้ล่องลอยไปตามสบายๆไม่ต้องระวัง ไม่ต้องป้องกัน ไม่ต้องมีปฎิกิริยาอะไรเรื่อยๆเฉื่อยๆ

สภาวะจิตเช่นนี้จะไม่พบในมวยไท่จี่เป็นอันขาด คำว่า“ความผ่อนคลาย”ในมวยไท่จี๋นั้น มันเป็นความสมดุลระหว่างหยินกับหยัง ความแข็งกับความอ่อน การผนวกสิ่งที่เป็นคู่ตรงข้ามกันนั้น แม้จะฟังดูง่ายแต่ความจริงทำได้ยากพอสมควร ยกตัวอย่างเช่น ขณะทำมือเป็นรูปหอก ถ้าหากมีลักษณะแข็งเกร็ง แสดงว่าเป็นหยังมากเกินไป ในทางตรงข้ามถ้ามีลักษณะอ่อนปวกเปียกราวกับ “ เหี่ยวตาย” แล้วก็แสดงว่าเป็นหยินมากเกินไป ซึ่งล้วนไม่ใช่สิ่งที่มวยไท่จี๋ต้องการ มือที่ถูกต้องของมวยไท่จี๋ต้องเป็นมือที่ผ่อนคลายและอยู่ในสมดุลระหว่างแข็งและอ่อน สามารถแปรเปลี่ยนไปมาระหว่างแข็งสุดและอ่อนสุดได้ นั่นคือ มือในขณะโจมตีเป็นหยัง มือในขณะหลบหลีกเป็นหยิน ทั้งนี้เป็นไปตามสถานการณ์ และจะกลับสู่สภาวะ“ความผ่อนคลาย”เสมอ

ขณะที่ฝึก“ความผ่อนคลาย”ของมวยไท่จี๋นั้น พลังหรือชี่กับจิ้งจะถูกรักษาไว้ภายในคล้ายกับการเก็บเงินในธนาคาร ผู้ฝึกไม่ต้องมีท่าทางหรือจิตใจที่วิตกกังวลเหมือนกับการซ่อนเงินไว้ใต้เตียง แต่จะปฎิบัติงานไปด้วยความสงบ สุขุม สบายใจ ขณะที่พลังของไท่จี๋ถูกเก็บรักษาไว้ภายในร่างกายและจิตใจมีความสงบนิ่งนั้น พลังจะไหลเวียนไปบำรุงเลี้ยงทุกส่วนของร่างกาย การพยายามส่งพลังนี้ผ่านร่างกายที่หนืดหน่วงเป็นจุดบกพร่องของผู้ที่เริ่มฝึกใหม่ทุกคน แต่ผู้ฝึกก็ไม่ควรตีตนไปก่อนไข้เกี่ยวกับเรื่องความผ่อนคลาย เพราะถ้ายิ่งฝึกไปอย่างถูกต้อง กล้ามเนื้อของผู้ฝึกจะยิ่งผ่อนคลายตัวมันเองอย่างอัตโนมัติ

ถ้าจิตใจของผู้ฝึกราบเรียบและอารมณ์เยือกเย็นก็จะสามารถเข้าถึง สภาวะผ่อนคลายที่ผู้ฝึกมวยไท่จี๋ทุกคนแสวงหาได้เอง เป้าหมายสูงสุดของการฝึกมวยไท่จี๋ คือให้ได้ทั้งวิธีป้องกันตัวและวิธีทำให้อายุยืนมีความกระชุ่มกระชวยไปจนตลอดชีวิต สิ่งสองสิ่งนี้ล้วนเกี่ยวข้องกับ“ความผ่อนคลาย”ทั้งสิ้น

หลังจากฝึกความผ่อนคลายสำเร็จแล้ว การฝึกขั้นต่อไปคือ” การจม” ซึ่งจะมีคุณประโยชน์ในการป้องกันตัวและช่วยชะลอความแก่เฒ่าได้ หลังจากที่ฝึก“ความผ่อนคลาย”สำเร็จแล้ว ผู้ฝึกถึงจะสามารถฝึก” สามอำนาจ” ต่อไปได้


( 3 ) ” สามอำนาจ” ผู้ฝึกมวยไท่จี๋จะต้องมี” สามอำนาจ”ไว้ภายในร่างกายและจิตใจเสมอดังนี้คือ การจมน้ำหนักตัวลงไปที่ฝ่าเท้าซึ่งสอดคล้องกับ “ดิน” การส่งเสิน(จิตวิญญาณ)ไปที่ยอดศีรษะซึ่งสอดคล้องกับ”ฟ้า” และตั้งจิตไปที่จุดตันเถียนซึ่งสอดคล้องกับ”มนุษย์”

ถ้าทำทั้งสามอย่าง (สามอำนาจ)นี้ให้ถูกต้องจริงๆแล้วร่างกายของผู้นั้นจะทรงตัวอยู่ในท่าต่างๆได้ดีจะไม่จมต่ำมากเกินไปหรือเหยียดตัวสูงเกินไป

ในปรัชญาเต๋าจะเปรียบร่างกายคนเราเหมือนจุลจักรวาล คือ ธาตุที่เบาจะลอยขึ้นข้างบนกลายเป็นบรรยากาศ และธาตุที่หนักกว่าจะจมลงล่างกลายเป็นพื้นดิน

เมื่อเข้าใจในเรื่องสามอำนาจนี้แล้ว ผู้ฝึกก็จะสามารถขบคิดความขัดแย้งของบางหลักการในมวยไท่จี๋ให้ตกไปได้ เช่น การทำ”ความผ่อนคลาย” “ ความเบา” และ “การจม” ไปพร้อมๆกันขณะร่ายรำมวย ซึ่งสามารถทำได้โดย จมน้ำหนักตัวลงไปในพื้นดินตั้งจิตที่จุดตันเถียนและส่งเสินขึ้นสู่ยอดศีรษะ ซึ่งจะทำให้ท่าร่างมีสมดุลคล่องตัว


( 4 ) “ การแปรเปลี่ยน” แนวคิดเรื่อง“ การแปรเปลี่ยน” อันเป็นเนื้อหาของคัมภีร์อี้จิงนั้นมีความสำคัญต่อมวยไท่จี๋มาก คัมภีร์อี้จิงมีการกล่าวว่า สรรพสิ่งล้วนมีการแปรเปลี่ยน ไม่มีสิ่งใดที่คงตัวมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

คัมภีร์อี้จิงจึงสอนให้คนเราค้นหาความไม่แปรเปลี่ยนในท่ามกลางความแปรเปลี่ยน ทั้งนี้เพราะ“ การแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา” เป็นสัจธรรมหรือความจริง ที่ไม่มีวันแปรเปลี่ยนนั่นเอง

หลักการแปรเปลี่ยนนี้ได้ถูกนำมาใช้ในมวยไท่จี๋เป็นอย่างดีอย่างน่าทึ่ง เพราะในมวยไท่จี๋มีการแปรเปลี่ยนเหลือคณานับสุดที่จะบรรยาย การประยุกต์ใช้ในมวยไท่จี๋จึงมีมากอย่างเหลือคณานับ แต่พอจำแนกการแปรเปลี่ยนได้เป็นสามจำพวก ดังนี้

พวกแรกมวยไท่จี๋เน้นพัฒนา “ ปัจเจกภาพ “ซึ่งตรงข้ามกับการเลียนแบบและความเป็นแบบเดียวกันหมด แน่นอนว่าในขั้นแรกผู้ฝึกจะต้องทำท่าทางซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อเลียนแบบครู เพื่อให้เหมือนครูครั้นพอฝึกเลียนแบบได้แล้วก็ต้องคำนึงถึงความแตกต่างของร่างกาย ความถนัดและจุดมุ่งหมายของผู้ฝึกแต่ละคนเพื่อให้การฝึกเป็นไปอย่างมีพลวัต มีความมีชีวิตชีวาไม่หยุดนิ่งตายซาก เพราะฉะนั้นในมวยไท่จี๋ ครูที่แท้จริงมักจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวิธีเรียนวิธีสอนอยู่เสมอ

โดยครูจะสอนศิษย์ให้ทราบถึงหลักการหรือหลักวิชาที่” ไม่อาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้”ก่อน จากนั้นจึงปล่อยให้ฝึกฝนด้วยวิธีการที่เปลี่ยนแปลงได้บ้าง เพื่อไม่เป็นการปิดกั้นโอกาสที่จะค้นพบฝีมือใหม่ๆ เทคนิคใหม่ๆที่อาจจะประเสริฐเลิศล้ำกว่าของที่มีอยู่เดิมได้

นอกจากนี้ เป้าหมายของนักเรียนที่มาเรียนมวยไท่จี๋ย่อมมีผลกระทบต่อรูปลักษณ์ของท่ามวยด้วยเช่นกัน กล่าวคือคนที่ตั้งใจจะมารำเพื่อสุขภาพ ย่อมมีท่าร่ายรำที่แตกต่างจากคนที่มาเรียนเพื่อใช้ต่อสู้ได้ด้วย ถ้าหากผู้รำยังคงรักษาหลักการพื้นฐานของมวยไท่จี๋ในคัมภีร์มวยไท่จี๋เอาไว้อยู่ ย่อมอนุโลมได้ว่ารูปแบบท่ารำทั้งสองแบบนี้ถูกต้องโดยพื้นฐาน แม้จะมีรายละเอียดที่ต่างกันมากมายก็ตาม

พวกที่สอง การปรับความเร็วให้เร็วให้ช้านั้น จะช่วยให้การฝึก” ความช้า “ ของมวยไท่จี๋ถูกต้องยิ่งขึ้น ถ้ารำช้าได้ต่อไปก็จะฝึกให้รำเร็วได้ ผู้ฝึกจะรำเร็วมากๆไม่ได้เลย ถ้าหากไม่เคยฝึกรำช้ามาก่อนเป็นปีๆ

ในกรณีนี้ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้คือ ความเร็วในการรำ แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้คือ จุดประสงค์ที่จะให้ผู้ฝึกสามารถเคลื่อนไหวได้ช้าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เมื่อได้ฝึกให้ช้าจนไม่อาจช้ากว่านั้นได้แล้ว ต่อไปก็สามารถฝึกให้เร็วขึ้นได้ แต่ก็ยังรักษาจุดประสงค์ ที่จะให้กลับมารำช้าได้อีก การเปลี่ยนแปลงความเร็วในการรำก็เพื่อให้ผู้ฝึกซาบซึ้งยิ่งขึ้นในการฝึก”ความช้า “ ของมวยไท่จี๋นั่นเอง

พวกที่สาม การยืดท่าและหดแคบ ท่าถูกออกแบบเพื่อพัฒนา” การไร้กระบวนท่า” ของผู้ฝึก ในขั้นแรกของการฝึกผู้ฝึกควรจะฝึกแบบเหยียดกว้างให้สุดเท่าที่แต่ละคนจะทำได้ จากนั้นจึงค่อยๆปรับให้หดแคบและแน่นขึ้น และถ้าขืนหดแคบกว่านั้นจะทำให้เสียหลักการพื้นฐานของมวยไท่จี๋

จากนั้นจึงฝึกแบบเหยียดกว้างขึ้นอีก นี่คือการแปรเปลี่ยนขนาดของท่ารำในมวยไท่จี๋ ขณะที่ผู้ฝึกยังคงรักษาเป้าหมายที่จะรำท่าให้แคบลงจนเป็น”จุด “ หรือจนไร้กระบวนท่าอย่างแน่วแน่

จะเห็นได้ว่าวิธีแปรเปลี่ยนทั้งสามที่กล่าวมาข้างต้นคือ การแปรเปลี่ยนในวิธีการเรียนการสอน การแปรเปลี่ยนในความเร็วของการรำและการแปรเปลี่ยนของขนาดท่ารำนี้ยังสามารถเป็นไปตามเป้าหมายและความถนัดของผู้ฝึกได้

นอกจากนี้ยังมีการแปรเปลี่ยนทำนองนี้อีกมากในมวยไท่จี๋ จนกระทั่งมีแต่ปัจเจกเท่านั้นที่จะเป็นผู้กำหนดและพัฒนาหลักการฝึกฝนของตัวเองขึ้นมาอย่างแท้จริง

จงอย่าลืมว่า ไม่มีใครสอนปรมาจารย์จางซันฟงให้รำมวยไท่จี๋ นอกจากตัวท่านเองหลังจากที่ตัวท่านได้ค้นพบหลักการพื้นฐานของมวยไท่จี๋แล้ว การศึกษาด้วยตนเอง ทำนองเดียวกับปรมาจารย์จางซันฟงนี้ จึงควรจะเป็นเป้าหมายของผู้ฝึกมวยไท่จี๋ทุกคนด้วย

ผู้ฝึกจะต้องแสวงหา “ ความไม่เปลี่ยนแปลง” (สัจธรรม) ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง( อนิจจัง ) และยึดถือเป็นหลักเพื่อก่อการแปรเปลี่ยนอื่นๆต่อไปโดยวิธีนี้ “ การแปรเปลี่ยน” จึงกลายมาเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการฝึกมวยไท่จี๋

สิ่งที่กล่าวมานี้อาจจะดูเป็นนามธรรมไปบ้าง แต่ก็อยากแนะนำให้แต่ละท่านลองนำไปปฎิบัติดูด้วยตนเอง ในทางขวามือของนักเรียนคือความสำเร็จที่จะได้จากการศึกษาฝึกฝนภายใต้คำชี้แนะของครูที่ดี และในทางซ้ายมือของนักเรียน ย่อมเป็นความสำเร็จที่จะได้จากการฝึกฝนด้วยตนเอง ถ้าทำได้เช่นนี้ ผู้ฝึกจะซาบซึ้งถึงสิ่งที่แสวงหาด้วยตนเองว่าต่างกับสิ่งที่ได้จากการเลียนแบบอย่างผิวเผินเพียงใด



(ค) กฎสำหรับระดับฟ้า
 

ในระดับมนุษย์และระดับดินจะเน้นไปที่การฝึกกระบวนท่าของมวยไท่จี๋ แต่ในระดับฟ้าหรือการฝึกขั้นสูงของไท่จี๋นี้จะเน้นการฝึกทางจิตเป็นสำคัญ ซึ่งประกอบด้วยการฝึกความว่างความเต็ม การฝึกหายใจ การฝึกจิตสำนึกและการเข้าถึงสภาวะ”สุญตา”และความนิ่ง รวม4ข้อเช่นกัน
 

(1) “การฝึกความว่างความเต็ม” ในระดับมนุษย์และระดับดินนั้น การเคลื่อนไหวของผู้ฝึกยังถูกจำกัดด้วย” ความช้า” และ “ ความสม่ำเสมอ” นอกจากนี้ยังเต็มไปด้วยกฎต่างๆที่ผู้ฝึกต้องเอาใจใส่ จนกระทั่งบางครั้งก็ยากที่จะเกิด “ ความสงบ” และ “ ความสบาย” ไร้กังวล

ในขั้นแรกของการฝึกระดับฟ้านี้มุ่งที่จะทำให้ผู้ฝึกสงบกายสงบใจลงได้ โดยสอนให้ละกฎต่างๆที่แล้วมาเสีย เพื่อทำให้สมาธิจิตดีขึ้น เรียบง่ายขึ้น มากกว่าที่จะมุ่งยัดเยียดกฎระเบียบต่างๆให้มากขึ้นกว่าเดิม

ในขั้นนี้ผู้รำจะสนใจเพียงแค่การแบ่งแยก” ความมี” กับ “ ความไม่มี” “ ความเต็ม” กับ”ความว่าง” หรือ”จริง “กับ “ลวง” ในขณะร่ายรำเท่านั้น โดยพยายามลืมกฎทั้งหมดที่มีมาก่อนหน้านั้นเสียและละทิ้งความซับซ้อนทั้งปวงไปเสีย

ผู้ฝึกมวยไท่จี๋ส่วนใหญ่มักเข้าใจความหมายของ”ความว่างความเต็ม”ว่าหมายถึงการย้ายน้ำหนักตัวเท่านั้น พวกเขารู้เพียงว่าการย้ายน้ำหนักตัวไปบนขาใดขานั้นจะเป็น”ความเต็ม” (มี) ส่วนขาที่เหลือจะเป็น”ว่าง” ( ไม่มี)

แต่ในความเป็นจริงแล้ว หลักการแบ่งแยกความว่างความเต็มนี้ลึกซึ้งกว่านั้นอีก ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่ใช้ท่าผลักมือจะ”ว่าง”ในตอนแรกเริ่ม แต่จะไป”เต็ม”ในตอนปลายของการเคลื่อนไหว ขณะที่ฝ่ามือเคลื่อนออกไปจนถึงจุดหมายนั้นและใจกลางของฝ่ามือจะค่อยๆยกขึ้นเล็กน้อยโดยเป็นไปตามหลักของพลังรังไหม (ฉันซือจิ้ง) ที่ว่า “ หยั่งรากที่เท้า ระเบิดออกที่ขา ควบคุมโดยเอว ส่งออกไปใช้ถึงปลายนิ้วมือ “ จังหวะที่ผละออกไปจนถึงเป้าหมายนี้เกิด” ความแข็งเต็มที่” ซึ่งก็คือหยังที่สุด ขณะชักมือกลับจะเปลี่ยนแปลงจากความเต็มสุดสู่ความว่าง เป็นหยิน ฝ่ามือที่เกร็งชั่วพริบตานั้นจะค่อยๆผ่อนคลายลงหรือค่อยๆเป็นหยินที่สุด

การใช้หมัดชกออกไปของมวยไท่จี๋ก็เช่นกัน ในตอนเริ่มเคลื่อนไหวหมัดจะอยู่ในสภาวะคลายตัวหรือ”ว่าง”และเมื่อชกถึงเป้าหมายจะกลายเป็นคลายตัวอีก ความเต็มเปลี่ยนกลับมาเป็นความว่าง หมัดหนึ่งๆของมวยไท่จี๋จึงมีทั้งแน่นและคลายตามการเปลี่ยนแปลงของหยินและหยังซึ่งจะพบในทุกๆการเคลื่อนไหวเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ขาและทุกส่วนของร่างกายจะต้องสอดคล้องกับความว่างความเต็มของมือด้วย ขณะที่ยกฝ่ามือขึ้นเล็กน้อยเพื่อแสดง”ความมี”เต็มที่นั้น ควรจะเกร็งทุกส่วนของร่างกายตามไปด้วย
ในท่าที่ร่างกายเหยียดกว้างออกไปคล้ายกับการเปิดบานประตูนั้น ในภาษาเทคนิคของมวยไท่จี๋เรียกว่า “ท่าเปิด” เมื่อฝ่ามือชักกลับและคลายตัวเปลี่ยนจากหยังอย่างยิ่งกลายเป็นหยิน ร่างกายจะหดแคบคล้ายกับการปิดประตู ท่านี้เรียกว่า”ท่าปิด”

นอกจากนี้เมื่อผู้ฝึกก้าวเท้าไปข้างหน้าส้นเท้าแตะพื้นก่อนแล้วจึงแนบฝ่าเท้าลงให้สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของมือนั้น ภายในร่างกายจะเปลี่ยนจากปิดมาเป็นเปิด สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของมือจากเต็มมาเป็นว่าง การเปิดและการปิดทั้งภายในและภายนอกร่างกายเป็นไปตามหลักของพลังรังไหม (ฉันซือจิ้ง) ผู้ใดที่ฝึกความว่างความเต็มสำเร็จแล้ว เมื่อเปิดฉากการโจมตี ปรปักษ์จะไม่มีทางต่อต้านหรือแก้ไขได้เลยและเมื่อปิดท่าก็ไม่ต้องหลีกการโจมตีแบบหลบหรือผลุบๆโผล่ๆหรือคิดหาหนทางเลี่ยงเลย ผู้ฝึกสามารถเปลี่ยนทิศทางของแรงปรปักษ์ราวกับถูกเกลียวสกรู

ขณะฝึกหัดผู้ฝึกควรระลึกถึงหลักต่อไปนี้เสมอว่า จงเริ่มต้นด้วยการใช้พลังจิตอันแรงกล้าของตนในการ”เปิด”หรือ”ปิด”ภายในร่างกายก่อน จากนั้นจึงขยายไปสู่การเคลื่อนไหวภายนอกร่างกาย ขณะที่ร่างกายส่วนหนึ่งเคลื่อนไหว ร่างกายส่วนอื่นๆจะเคลื่อนไหวเพื่อหนุนช่วยการกระทำนั้นด้วย กายและจิตจะต้องกลมกลืนกันอย่างยิ่ง

กล่าวโดยสรุปก็คือ ความว่างกับความเต็มในมวยไท่จี๋นั้นซับซ้อนยิ่งนัก บางครั้งด้านขวาของลำตัวว่าง ด้านซ้ายเต็มหรือกลับกัน บางครั้งแขนขวาหรือขาซ้ายเต็ม แต่แขนซ้ายหรือขาขวาว่างหรือกลับกัน บางครั้งความว่างอยู่ในความเต็ม และความเต็มอยู่ในความว่างเช่นเดียวกับการแปรเปลี่ยนไปมาของหยินกับหยัง ซึ่งไม่อาจทำนายล่วงหน้าได้

โชคดีที่คัมภีร์อี้จิงได้บอกเราถึงหลักการพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงชนิดนี้ ดังนั้นเราจึงค้นพบ กฎที่ตายตัวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงระหว่างการเปิดและการปิดดังกล่าว โดยที่มวยไท่จี๋ช่วยฝึกคนให้กลายเป็น”ทรงกลมแห่งไท่จี๋”

ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงที่นับไม่ถ้วนระหว่างการเปิดและการปิดจึงสามารถสรุปลงเป็นสองหัวข้อดังนี้ หนึ่งจงรักษาน้ำหนักจากจุดศูนย์ถ่วงให้อยู่เท้าข้างหนึ่งเสมอ เท้าข้างนี้จะเป็น”เต็ม” ขณะที่เท้าข้างที่เหลือจะเป็น” ว่าง” สอง ขณะลำตัวเคลื่อนไปข้างหน้า ข้างหลัง ด้านซ้ายหรือด้านขวา จุดศูนย์ถ่วงของร่างกายคือจุดตันเถียนจะเคลื่อนไหวไปในแนวขนานกับพื้นเสมอ ทำนองเดียวกับจุดศูนย์ถ่วงของลูกบอลขณะกลิ้งไป เมื่อใดที่ผู้ฝึกแจ่มแจ้งในข้อสรุปสองข้อนี้ เมื่อนั้นเป็นอันสำเร็จการแปรเปลี่ยนระหว่างความว่างกับความเต็มในระดับฟ้า


( 2 ) “ การฝึกลมปราณ ” มวยไท่จี๋ตั้งอยู่บนหลักปรัชญาเต๋าของท่านเล่าจื้อที่สอนว่า “ความอ่อนย่อมเอาชนะความแข็ง” ดังนั้น การเคลื่อนไหวร่ายรำของมวยไท่จี๋จึงถูกคิดค้นขึ้นมาโดยเซียนผู้มีอัจฉริยะภาพผู้บ่มเพาะความสามารถทางกายและทางจิตและเพื่อการพัฒนาชี่ (พลังชีวิตและพลังภายใน) มากกว่าความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ

ในการฝึกหายใจยาวและลึกโดยทั่วไปจะช่วยการเผาผลาญ การไหลเวียนของโลหิตและการทำงานของอวัยวะภายใน ในการฝึกระดับมนุษย์และระดับดินมักไม่เน้นการกล่าวถึงการหายใจและการฝึกลมปราณมากนัก แต่จะเน้นการเคลื่อนไหวให้มีการอ่อนนิ่ม สละสลวย เป็นจังหวะช้าๆ ซึ่งจะเป็นการป้องกันการหายใจสั้นๆหยาบๆรีบร้อนไปในตัวอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี ในระดับฟ้านี้จะมุ่งเน้นการฝึกหายใจเป็นหลักโดยทำให้ การหายใจนี้เป็นการฝึกที่ตามการเคลื่อนไหวของร่างกายที่ยิ่งอ่อนนิ่มลงไปอีก การเคลื่อนไหวของการหายใจต้องสอดคล้องกับการแปรเปลี่ยนของหยิน-หยังในการเคลื่อนไหวของมือ

ผู้ฝึกจะหายใจออกขณะที่มือแปรเปลี่ยนจากความว่างเป็นความเต็ม ขณะหายใจออกสุด ท้องน้อยจะขยายตัวออกและพร้อมกันนั้นมือก็จะ”เต็ม”ที่สุด โดยมีฝ่ามือที่ยกขึ้นเล็กน้อยขณะถึงเป้าหมาย ผู้ฝึกจะหายใจเข้า ขณะที่มือแปรเปลี่ยนจากความเต็มเป็นความว่างเมื่อมือมาถึงความว่างอย่างยิ่ง ผู้ฝึกจะกลั้นลมหายใจไว้และหดท้องน้อย

สำหรับผู้ฝึกใหม่การจะประสานการหายใจเข้ากับการเคลื่อนไหวนั้นเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนมากทีเดียว ผู้ฝึกจึงควรฝึก”ไท่จี๋ชี่กง” (ลมปราณไท่จี๋) ก่อนจะทำให้สามารถประสานการหายใจเข้ากับท่าทางการเคลื่อนไหวได้ง่ายยิ่งขึ้น มิฉะนั้นแล้วอาจต้องใช้เวลาฝึกถึงสิบปีก็เป็นได้


 
(3) “การฝึกจิตสำนึก” ขณะเริ่มฝึกมวยไท่จี๋ใหม่ๆนั้น ผู้ฝึกจะต้องใช้จิตสำนึกในการจดจำการเคลื่อนไหว และครุ่นคิดพิจารณาความถูกต้องของท่าทาง เช่นเดียวกับการฝึกศิลปะการต่อสู้หรือกีฬาชนิดอื่นๆ แต่ในการฝึกมวยไท่จี๋นั้น จะต้องใช้จิตสำนึกขั้นสูงขึ้นไปอีกเพื่อพัฒนาพลังจิตมากกว่าพลังกาย

ในกีฬาที่เน้นความเร็วและความแรงผู้ฝึกจะใช้จิตสำนึกแค่ตอนต้นกับตอนจบของแต่ละการเคลื่อนไหว แต่สำหรับมวยไท่จี๋แล้วไม่เหมือนกัน การเคลื่อนไหวของมวยไท่จี๋มีลักษณะอ่อนนิ่มและอ่อนโยน

ขณะที่ฝึกการเคลื่อนที่จาก”การไม่กระทำ” ไปสู่ “การกระทำ” และจาก“การกระทำ”ไปสู่”การไม่กระทำ” นั้น ผู้ฝึกสามารถหยุดรุดหน้าหรือถอยหลังได้ทุกเมื่อ และทุกที่ตามใจปรารถนาที่อยู่ภายใต้การควบคุมเป็นอย่างดี

การฝึกควบคุมเช่นนี้มีจุดประสงค์หลักเพื่อใช้จิตสำนึกไปเพิ่มพลังการเคลื่อนไหวของร่างกาย และเพื่อความสำเร็จในสิ่งที่วิชาเซียน(โยคะแห่งเต๋า)เรียกว่า “เลี่ยนชี่ฮว่าเสิน” (การแปรพลังทางร่างกายให้เป็นพลังทางจิตวิญญาณ)

เหตุผลข้อต่อไปคือ เพื่อเสริมสร้างนิสัยที่ดีสำหรับการเคลื่อนไหวทุกอย่างทุกอย่างแม้แต่การดำเนินชีวิตประจำวันให้มีสติสัมปชัญญะสมบรูณ์หรือมีจิตสำนึกอยู่ตลอดเวลา

อนึ่งในการส่งเสริมจิตสำนึกให้พัฒนาขึ้นขณะฝึกมวยไท่จี๋นั้น จำเป็นจะต้องใช้”จินตนาการ”ประกอบการเคลื่อนไหวของร่างกายด้วย กล่าวคือ ไม่ใช้การเคลื่อนไหวร่างกายแต่เพียงลำพัง

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ฝึกต้องการเคลื่อนไหวให้”เบา”มากๆ ผู้ฝึกควรจะจินตนาการตลอดกระบวนการนั้นให้เป็นสโลโมชั่น เพื่อให้ถึง”ความเบา”ของมวยไท่จี๋ขั้นสูงได้

ถ้าต้องการปรับปรุง”การจม” เพื่อให้หยั่งรากได้แน่นแฟ้นขึ้นโดยการทำให้ความแข็งเกร็งเลื่อนจากลำตัวท่อนบนลงไปที่ขา ผู้ฝึกก็ต้องจมจิตและใจไปที่ตลอดแนวเส้นตรงระหว่างจุดศูนย์ถ่วงกับจุดศูนย์กลางของโลก และจินตนาการว่าทุกๆการเคลื่อนไหวเกิดจากเส้นนี้

หลังจากที่สามารถประยุกต์ใช้จิตสำนึกและจินตนาการในการฝึกความเบากับความจมได้แล้วก็ย่อมสามารถนำไปใช้ในการฝึกอย่างอื่นได้ด้วยเช่นกัน



(4) “การเข้าถึงสุญตาและความสงบนิ่ง” การค้นหาความว่างในความเต็มคือ การแสวงหา”ความว่างเปล่า” ส่วนการค้นหาการไม่กระทำในการการกระทำคือการแสวงหา”ความสงบนิ่ง”

การแสวงหาสุญตา(ความว่าง)หรือความสงบนิ่งนี้เป็นการฝึกขั้นสูงของเต๋าและเป็นเป้าหมายสุดท้ายของมวยไท่จี๋ การเคลื่อนไหวในมวยไท่จี๋เน้นการใช้จิตสำนึกมากกว่าพลังกล้ามเนื้อ ในขั้นสุดท้ายของระดับฟ้านี้ผู้ฝึกจะก้าวหน้าถึงจุดที่สามารถเปลี่ยนการโจมตีของปรปักษ์ให้ย้อนกลับไปทำร้ายปรปักษ์เองได้

หลักการใช้ความสงบในการเคลื่อนไหวเพื่อให้สามารถควบคุม”การกระทำ”ด้วย”การไม่กระทำ” นั้นจะต้องมีจิตสำนึกเกี่ยวกับความสงบนิ่งแฝงอยู่ภายในการเคลื่อนไหวภายนอกของผู้ฝึกนั้น

ดังนั้นในการเข้าถึงสุญตาและความสงบนิ่ง ผู้ฝึกจะต้องทำจิตสำนึกของตนให้เรียบง่ายเป็นเอกัตตาเหลือเพียงความคิดเดียวคือสนใจแต่ความสงบนิ่งอย่างเดียว ความสงบนิ่งนี้จะแฝงอยู่ในความเคลื่อนไหวต่างๆทั้งแบบเร็วและช้า การกระทำและการไม่กระทำสามารถแทนด้วยหยังและหยินซึ่งจะต้องแปรเปลี่ยนเสมอ หลังจากที่ฝึกฝนไปมากๆสมาธิของผู้ฝึกจะเป็นตัวสั่งการแปรเปลี่ยนหยินหยังเอง

เป้าหมายของการฝึกนี้คือการบรรลุความสงบภายในซึ่งจะฉายออกมาภายนอก ความเคลื่อนไหวจะค่อยๆถูกกำกับโดยจิตภายใน เป็นผลให้จิตใจของผู้ฝึกเบ่งบานและสงบเยือกเย็นในท้ายที่สุดของการฝึกมวยไท่จี๋

เป้าประสงค์ของมวยไท่จี๋จะถูกยกระดับให้สูงจากการเป็นศิลปะการต่อสู้และการส่งเสริมสุขภาพกายใจไปสู่วิถีแห่งเต๋า(โยคะแห่งเต๋า)หรือมรรคาของเซียน ท่านเล่าจื้อเคยกล่าวว่า” การจะถึงความว่างอย่างที่สุด ผู้นั้นจะต้องเข้าถึงความมั่นคงและความสงบนิ่ง” ก่อน ผู้ใดบรรลุสุญตาและความสงบนิ่ง ผู้นั้นจะค่อยๆสามารถเข้าถึงความเป็นไปของสรรพสิ่งทั้งหลายในเอกภพไม่ว่ามันจะซับซ้อนเพียงใดก็ตาม

สุญตาและความสงบนิ่งอันเป็นสารัตถะของเต๋านี้ใช้ได้กับคนทุกคนและสิ่งทุกสิ่ง ผู้ใดที่ดำเนินตามวิถีแห่งเต๋า ผู้นั้นจะค้นพบจุดกำเนิดของสรรพสิ่ง(ผู้สร้าง) ทั้งนี้เพราะทุกสรรพสิ่งย่อมกลับคืนสู่บ่อเกิด

หลักการนี้ยังสามารถนำมาใช้กับมวยไท่จี๋ได้ เพราะการเคลื่อนไหวในมวยไท่จี๋จะไหลต่อเนื่องคล้ายกับน้ำในแม่น้ำแยงซี คล่องแคล่วไม่มีที่สิ้นสุด โดยมี“การกระทำและไม่กระทำ” “เปิดและปิด” “เต็มและว่าง” และคู่แห่งความตรงข้ามคู่อื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่ามันจะดูซับซ้อนเพียงใดก็ตาม แต่เมื่อทวนถึงจุดแรกเริ่มของไท่จี๋แล้วจะพบว่ามีแต่หยินกับหยังเท่านั้น สมดังคำกล่าวของท่านเล่าจื้อที่ว่า

“สรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์กัน
บางสิ่งปฎิภาคย้อนถอยหลัง
บางสิ่งพัฒนารุ่งเรือง
ซึ่งจะหวนกลับสู่บ่อเกิดอีก
สู่รากเหง้าของมัน นั่นคือความสงบนิ่ง
การย้อนกลับสู่บ่อเกิดของตน
คือการกลับสู่เจตนารมณ์ของเต๋า”

สรรพสิ่งเป็นของจักรวาล สรรพสิ่งจึงต้องคืนสู่จักรวาล นี่คือกฎของธรรมชาติที่ยุติธรรมอย่างยิ่ง คนเราไม่ว่าจะรวยหรือจน เมื่อตอนเกิดมาย่อมเกิดมาตัวเปล่าๆและเมื่อตอนตายย่อมตายตัวเปล่าๆเช่นกัน เอาอะไรไปก็ไม่ได้

การเข้าใจกฎข้อนี้จะทำให้มนุษย์เราอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้ เนื่องจากกฎนี้แฝงอยู่ในสรรพสิ่ง ผู้ใดเข้าใจถึงสัจธรรมข้อนี้ก็ย่อมเข้าถึงเนื้อหาของเต๋า เมื่อใดมนุษยชาติพร้อมใจกันแสวงหาเต๋าเมื่อนั้นสันติสุขอย่างถาวรย่อมเกิดขึ้น

มวยไท่จี๋ระดับฟ้านี้ยังยึดกฎของสุญตาและความสงบนิ่งอยู่แม้จะมีการเคลื่อนไหวแปรเปลี่ยนภายนอกร่างกาย แต่ภายในจิตใจยังคงสงบและว่างเปล่าไม่วุ่นวายไปกับการเคลื่อนไหวเหล่านั้น เมื่อฝึกฝนนานเข้าจะเข้าใจวิถีทางแห่งโลกุตรธรรม ผู้ใดเน้นแต่เพียงศิลปะการต่อสู้หรือสุขภาพในการฝึกมวยไท่จี๋ ผู้นั้นย่อมละเลยมองข้ามส่วนที่สำคัญยิ่งของมวยไท่จี๋นั่นคือ ปรัชญาไท่จี๋หรือปรัชญาเต๋า

การฝึกสภาวะสุญตาหรือความสงบนิ่งในระดับฟ้านี้ วิธีหนึ่งคือ เลือกหาสถานที่เงียบสงบสักแห่งหนึ่งซึ่งจะไม่ถูกรบกวนโดยสิ่งใดๆ เช่น ภูเขา สวน ชายหาด จากนั้นปล่อยวางความคิดทั้งหมดทำความสงบให้เกิดขึ้นในจิตใจ ลืมกฎต่างๆของมวยไท่จี๋ที่ฝึกมาเสียให้หมด ผู้ฝึกจะกลับไปสู่สภาวะตั้งต้นและเปลี่ยนจากความซับซ้อนไปสู่ความเรียบง่าย สนใจแค่การแปรเปลี่ยนของหยินกับหยัง กระทำและไม่กระทำ ภายในและภายนอกร่างกาย สุดท้ายคือวิปัสสนา พิจารณาการกลับคืนสู่บ่อเกิดของสรรพสิ่ง
 
 
 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้