โชต.

โชต.

ผู้เยี่ยมชม

saengchandra@yahoo.com

  ขออนุญาตแชร์ : ฟรี คอร์สเวิร์กช็อป สมาธิธรรม "วิถีเซน วิถีสู่ความว่าง" (1928 อ่าน)

22 ส.ค. 2555 19:38

[size=150%]ศูนย์ปรึกษารหัสแห่งชีวิต The Counseling Center, "Password to Happy Life" (passwordlife.com)

ขอเชิิญร่วมกิจกรรม ฟรี คอร์สกิจกรรม เวิร์กช็อปสมาธิธรรม "วิถีเซน วิถีสู่ความว่าง"





เรียนรู้วิธีอยู่กับ "ความว่าง" ทุกข์ใดก็ไม่กระทบใจ โลภ โกรธ หลง ก็วางได้ง่าย พบเคล็ดลับง่ายๆธรรมดาที่ไม่ธรรมดา คุณหรือใคร "จิตก็ว่างได้" พบปาฏิหาริย์ที่คุณสร้างได้เองจากภายใน แล้ว "เซน" จะเปลี่ยนชีวิตทั้งหมดของคุณนับจากวันนี้ !


โดยวิทยากรพิเศษ คุณสุกิจ วังจินดา ผู้ศึกษาพุทธศาสนา ปฏิบัติธรรมและเชี่ยวชาญในพุทธศาสนาแนววิถีเซน

วันเสาร์ที่ 1 กันยายน 2555

เวลา 13.00 - 15.00 น.

รับจำนวนจำกัด 18 ท่าน ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

ดูรายละเอียดจากลิงค์ : http://www.passwordlife.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539537997

ติดต่อลงทะเบียนสำรองสิทธิ์ล่วงหน้าและสอบถามรายละเอียด โทร. 090 659 1591


**************************************************************************************************************





จิต คือพุทธะ เป็นความว่างตามธรรมชาติอันเปี่ยมด้วยศานติสุข

พุทธะอยู่ภายในของทุกคน

ถึงพร้อมด้วยสัจจะพื้นฐานในทุกด้าน

จิตเป็นเสมือนความว่าง

ว่าง ไม่เคลื่อนไหว

เป็นธรรมชาติอันงดงามไร้ตำหนิ

จงปลดเปลื้องตนเองจากความคิดปรุงแต่งทั้งปวง

เพราะทุกสรรพสิ่งย่อมมี.. และเป็นอยู่ตามธรรมชาติ

จิต คือพุทธโยนิอันบริสุทธิ์ ที่ประจำอยู่ภายในของทุกคน

คือความว่าง และเป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกหนแห่ง

คือความสงบ ที่ไม่มีสิ่งใดเคลือบปน

คือศานติสุขที่รุ่งเรือง และเร้นลับ…



**************************************************************************************************************


จิตว่างไม่มีในพระไตรปิฏกจริงหรือ?

จากหนังสือเรื่อง จิตว่าง

โดย พุทธทาส อินฺทปัญฺโญ





ตาแก่คนหนึ่ง สนทนาเรื่องจิตว่าง กับหลวงตาองค์หนึ่ง มีข้อความที่พอจะบันทึกขึ้นไว้เป็นของฝากคนทั่วไปได้ตลอดกาลนานดังต่อไปนี้ :.


ตาแก่ : ที่ว่าอยู่ด้วยจิตว่างนั้นไม่อาจจะเข้าใจได้ เพราะจิตมันคิดนึกอยู่เสมอไม่ว่าง แม้แต่หลับมันก็ยังฝัน ?

หลวงตา : จิตว่าง คือจิตว่างที่รู้สึกคิดนึกอยู่ด้วยความฉลาดไม่ยอมยึดอะไรว่าเป็นตัวตนหรือของตน ด้วยอำนาจความอยากได้ ความเข้าใจผิด ความงมงายที่ถ่ายทอดกันมา หรือกระทั่งด้วยสัญชาตญาณตามธรรมดาของสัตว์ตามปกติ

ตาแก่ : พวกนักอภิธรรมเขามีจิตกันเยอะแยะไปหมด ในจำนวนนั้นมีจิตว่างบ้างหรือเปล่า ?

หลวงตา : จิตดวงไหนเป็นญาณสัมปยุต จิตดวงนั้นเป็นจิตว่างด้วยกันทั้งนั้น เพราะถ้าเป็นญาณสัมปยุตจริง จักไม่ใง่ไปยึดอะไรเข้าว่าเป็นตัวตนหรือของตน ถ้าเรียกว่าญาณสัมปยุต แต่ยังไปยึดอะไรเข้าไว้ แม้แต่ยึดสิ่งที่เรียกกันว่า มหากุศล นั่นเป็นญาณสัมปยุตเก๊ เป็นอภิธรรมเก๊ ไม่ใช่หลักธรรมของพระพุทธเจ้า เพิ่งจะว่ากันเอาเองภายหลัง

ตาแก่ : คำว่า "ยึด" นี่แปลก ฟังดูแล้วชวนให้คิดไปว่าจิตนี้มีมือ ชาวบ้านทั่วไปอย่างยายของผมนี้จะเข้าใจได้อย่างไร ?

หลวงตา : ภาษาที่ใช้พูดเรื่องทางจิตเกิดขึ้นทีหลัง จึงยืมภาษาทางวัตถุที่ใช้พูดกันอยู่ก่อนมาพูด ดังนั้นจึงดูคล้ายๆ กับเป็นวัตถุ เช่น คำว่าจิตยึด มันหมายความว่าเป็นความรู้สึกคิดนึกที่สำคัญมั่นหมายสิ่งใดสิ่งหนึ่งเอาเป็นของตน หรือเป็นตัวตนเสียเอง คล้ายกับมือที่เข้าจับกุมอะไรเข้าใจแล้ว เราเข้าใจคำว่ายึดกันมาก่อนแล้วในเรื่องเกี่ยวกับมือ พอมารู้เรื่องทางจิตเข้าเห็นมีอาการที่เป็นความหมายนั้นเหมือนกัน ก็ใช้คำๆนั้นพูดออกไป เพราะไม่มีคำอื่น ในชั้นแรกก็เข้าใจกันแต่ในพวกที่มีความคิดหรือปัญญาระดับเดียวกัน ต่อมาก็พยายามให้คนทั่วไปเข้าใจกันอีกทีหนึ่ง ครั้นต่อมาอีก คำๆ นี้ก็กลายเป็นคำบัญญัติเฉพาะในทางธรรมหรือทางจิตขึ้นมาใครศึกษาก็อาจรู้ได้ทุกคน

ตาแก่ : ทำไมท่านจึงไม่ใช้คำว่า "สำคัญมั่นหมาย" แต่ไปใช้คำว่ายึด ซึ่งทำให้รู้สึกเหมือนกับจิตมีมือ ?

หลวงตา : คำว่าสำคัญมั่นหมายเป็นภาษาทางจิต เกิดทีหลังคำว่ายึดซึ่งเป็นภาษาทางวัตถุ คำว่ายึดย่อมแสดงภาพให้เห็นได้รุนแรงกว่า ดังนั้นภาษาธรรมะจึงนิยมใช้คำประเภทนี้ซึ่งสั้นกระทัดรัดดีกว่า แต่กระทบความรู้สึกของผู้ฟังดีกว่า มีคำอีกเป็นอันมากที่มีลักษณะหรือกฎเกณฑ์อย่างนี้

ตาแก่: จิตที่คิดนึกอะไรง่วนอยู่โดยไม่มีความสำคัญมั่นหมายอะไรเลยนั้น จะมีได้อย่างไรกัน

หลวงตา : นี่แหละเป็นจุดที่จะต้องทำความเข้าใจกันให้ดี โดยสังเกตให้ดีๆ ถ้าสำคัญมั่นหมายด้วยความโง่ ก็สำคัญมั่นหมายไปในทางเป็นตัวตนหรือของตน มีอาการแห่งการยึดมั่นถือมั่นแท้ แต่ถ้าสำคัญมั่นหมายโดยสติสัมปชัญญะหรือปัญญา เพื่อทำหน้าที่ หน้าที่และเพื่อหน้าที่ (ไม่ใช่เพื่อเงิน เพื่อเกียรติ หรือแม้แต่เพื่อมหากุศล ที่กำลังถูกเพ่งเล็งด้วยญาณวิปยุต) อย่างนี้ไม่เรียกว่ายึดมั่นถือมั่น เพราะไม่ประกอบด้วยอุปาทานหรือความโง่ และอาจจะเรียกเป็น สัจจะ หรืออธิฏฐานะ อย่างอื่นไป

ตาแก่ : ก็คนเรามิได้มีความโง่หรืออุปาทานเกิดอยู่เป็นประจำดอกหรือ ? เมื่อเป็นดังนั้นเสียแล้ว จะสำคัญมั่นหมายโดยไม่มีความโง่ได้อย่างไรกัน ?

หลวงตา : คนพวกหนึ่งเขาถือว่ากิเลสเกิดอยู่เป็นพื้นฐานไม่ขาดสาย คนมีความโง่หรืออวิชชาอยู่ในจิตไม่ขาดตอนทำอะไรหรือแม้แต่อยากทำอะไรก็ต้องอยากไป ทำไป ด้วยความโง่หรือกิเลสทั้งนั้น นั่นคือพวกที่จะจมอยู่ในวัฏฏะอย่างไม่รู้จักผุดจักเกิดต่อไปอีกนานเป็นอสงไขยกัปป์ หลักธรรมในพุทธศาสนาถือว่าตามปกติจิตนี้เป็นประภัสสร คือว่างจากกิเลสหรือความโง่ต่อเมื่อมีอารมณ์มากระทบแล้วทำผิดไปในทางที่ขาดสติสัมปชัญญะหรือขาดความรู้ จึงจะเกิดโลภะ โทสะ โมหะ อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นตามสมควรแก่กรณีลักษณะประภัสสรนั้นใสกระจ่าง พอที่จะรู้จะเห็นอะไรได้ในระดับธรรมชาติของสิ่งที่เรียกว่าจิตหรือวิญญาณธาตุ ยังไม่เรียกว่าเศร้าหมอง นี้คือภาวะที่ว่างจากกิเลสอยู่โดยปกติหรือตามปกติและเป็นพื้นฐาน และเรียกว่ายังเป็นจิตที่ว่างจากอุปาทานอยู่เหมือนกัน (ไม่มีอุปาทานก็ยังไม่ทุกข์) ครั้นมีเรื่องหรือมีอารมณ์มากระทบ ก็มีปัญหาอยู่ที่ว่าภาวะประภัสสรนั้นจะสูญเสียไป เพราะกิเลสเกิดขึ้นครอบงำหรือว่ายังคงอยู่เป็นพื้นฐานของสติสัมปชัญญะหรือปัญญาต่อไปอีกหรือไม่ เท่านั้น ถ้าความเจนจัดแต่หนหลังมีมากพอ ไปในทางให้เกิดสติสัมปชัญญะหรือสมบูรณ์อยู่ด้วยความรู้ ก็อาจที่จะคิดหรือทำอะไรหรือสำคัญมั่นหมายอะไรได้ในทางที่จะไม่เกิดทุกข์ กล่าวคือไม่ต้องเกิดโลภะ โมหะ โทสะ หรือความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูหรือของกูนั่นเอง นี่แหละคือความที่เราจะทำการคิดนึกหรือสำคัญมั่นหมายอะไรได้โดยไม่ต้องมีความโง่เป็นต้นทุนหรือเป็นพื้นฐาน ดังที่คนบางพวกคิดอย่าไปบัญญัติเอาเองว่าขึ้นชื่อว่าความอยากความต้องการแล้ว จะเป็นกิเลสตัณหาไปเสียทั้งนั้น ถ้ามีปัญญาหรือวิชชาเข้าเกี่ยวข้องแล้ว สิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็นกิเลสไปไม่ได้ แต่จะกลับเป็นเครื่องประหัตประหารกิเลส หรือป้องกันกิเลสไปเสียเอง

ตาแก่ : จิตประภัสสรเป็นจิตบริสุทธิ์หรือเปล่า ?

หลวงตา : ประภัสสรมีความหมายคนละอย่างจากบริสุทธิ์ ประภัสสรตรงกับคำว่า "เรืองแสง" เป็นคุณสมบัติประจำตัวของสิ่งที่เรียกว่าวิญญาณธาตุ ตามธรรมดาแสงนั้นไม่เศร้าหมอง จะเศร้าหมองต่อเมื่อมีอะไรมาปนลงไปในแสงโดยเฉพาะก็คือกิเลส ดังนั้นจิตสูญเสียความประภัสสรเมื่อถูกกิเลสเป็นอาคันตุกะจรเข้ามา ถ้าจะเรียกประภัสสรว่าบริสุทธิ์ ก็บริสุทธิ์อย่างภาษาชาวบ้าน ไม่ใช่บริสุทธิ์อย่างความหมายของพระอริยเจ้า ทั้งนี้แล้วแต่ว่าเราจำกัดขอบเขตของคำที่พูดกันนั้นเพียงไหน แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะแห่งประภัสสรนั้น ต้องว่างจากกิเลสหรือความยึดมั่นถือมั่นด้วยความโง่นั้นเหมือนกัน ดังนั้นก็พอที่จะเรียกหรือสงเคราะห์จิตประภัสสรนี้ไว้ในพวกจิตว่างด้วยเหมือนกัน ส่วนที่มักจะบริสุทธิ์หรือไม่นั้น มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งดังที่กล่าวมาแล้ว

ตาแก่ : ถ้าเช่นนั้น จิตว่างก็มีหลายชนิด ?

หลวงตา : จะว่าชนิดเดียวก็ได้ หลายชนิดก็ได้ แล้วแต่เราจะเพ่งเล็งกันกว้างหรือแคบเพียงไร ที่ว่าชนิดเดียวนั้นหมายถึงว่าในขณะนั้นมันปราศจากอุปาทานว่าตัวตน หรือของตนก็แล้วกัน คือมันจะยังไม่ทันเกิดหรือไม่อาจจะเกิดก็ได้ทั้งนั้น ที่ว่ามีหลายชนิดนั้นก็คือว่างได้หลายอย่าง คือว่างเด็ดขาดอย่างจิตพระอรหันต์ก็มี ว่างไม่เด็ดขาดอย่างจิตผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ก็มี ว่างเองตามธรรมชาติเพราะยังไม่มีอารมณ์มากวนก็มี อารมณ์มากระทบแล้วควบคุมได้ก็มี กำลังอยู่ในสมาธิบางชนิดก็มี หรือมีอารมณ์ที่ไม่ก่อให้เกิดยึดมั่นถือมั่นอยู่ก็มี กำลังพักผ่อนนอนหลับตามปกติก็ยังมี หรือแม้ที่สุดแต่มีบทเพลงหรือดนตรี บางชนิด มาขับกล่อมแวดล้อมอยู่ก็มี เหล่านี้เรียกว่ามันมีหลายชนิดแต่อย่างไรก็ตามเมื่อสรุปเอาแต่ใจความที่มุ่งหมายในที่นี้แล้ว มีใจความสำคัญอยู่ที่ว่า เรากำลังว่างจากอุปาทานที่กำลังสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวกูของกู อยู่ก็แล้วกัน และถือว่านั่นแหละคือปรกติภาวะแท้ของจิต และไม่มีความทุกข์

ตาแก่ : แล้วจิตว่างชนิดไหนเล่าที่ประสงค์ในประโยคที่กล่าวว่า "เป็นอยู่ด้วยจิตว่าง" ?

หลวงตา : หมายถึงจิตว่างทุกชนิด เพราะเหตุผลอย่างเดียวคือ ไม่ว่าจะเป็นจิตว่างชนิดไหน ล้วนแต่ไม่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งนั้น เราเอาแต่ไม่มีทุกข์ก็แล้วกัน อย่าไปเห่อความเป็นพระอริยบุคคลชั้นนั้นชั้นนี้ เหมือนที่เขาแห่ไปทำวิปัสสนาเพื่อจะเป็นนั่นเป็นนี่แข่งกันเลย ซึ่งมีแต่จะทำจิตให้ไม่ว่างกันยิ่งขึ้น ดังที่เห็นอวดดเบ่งทับกันทะเลาะวิวาทกันยิ่งขึ้น ดังนั้นจะเป็นจิตว่างชนิดไหนก็ไม่น่ารังเกียจ ที่ว่างเองตามธรรมชาตินั้นยิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน เพราะทำให้คนมีจิตไม่ผิดปกติ ไม่เป็นโรคเส้นประสาทหรือโรคจิต เป็นต้น ส่วนที่ควบคุมให้ว่างนั้น ก็เป็นเพียงการยึดความว่างตามธรรมชาติให้ยาวออกไปหรือให้ประณีตยิ่งขึ้นเท่านั้น ส่วนการว่างเด็ดขาดโดยเป็นพระอรหันต์แล้วนั้น ไม่จำเป็นต้องพูดถึงในที่นี้ เพราะเป็นการเป็นอยู่ด้วยจิตว่างอยู่ในตัวโดยไม่ต้องพยายามอะไรอีกต่อไปแล้ว

ตาแก่ : จิตมีชื่อประหลาด ๆ เช่นจิตมหากุศลเช่นนี้ เป็นจิตว่างหรือเปล่า ?

หลวงตา : จิตมหากุศลนี้ฟังดูก็ประหลาดสมชื่อ จิตมหากุศลตามศาลาวัดนั้น ฟังดูแล้วเป็นความทะเยอทะยาน เพื่อได้อะไรที่มุ่งมาดที่สุดจนจัดเป็นมหากุศล เหมือนการลงทุนค้ากำไรเกินควรหรืออะไรทำนองนี้ทั้งนั้น ถ้าอย่างนั้นไม่ชื่อว่าเป็นจิตว่างแต่เป็นจิตวุ่นอย่างยิ่ง จิตที่เป็นมหากุศลแท้จริงควรจะเป็นจิตว่าง คือไม่ปรารถนาอะไรด้วยความยึดมั่นถือมั่น ไม่ปรารถนาแม้แต่สิ่งที่เรียกว่ามหากุศลนั้นด้วย มหากุศลที่ทำไปด้วยความอยากจะเอาเป็นตัวกูหรือของกูนั้น ไม่มีอะไรมากไปกว่าขนมหรือลูกกวาดสำหรับให้รางวัลเด็ก เพื่อจูงใจให้เขาขยันทำงานฉะนั้น มหากุศลตามศาลาวัดนั้นยังไม่ใช่จิตว่าง ควรนึกถึงเรื่องอื่นที่ชวนให้ว่างจะดีกว่า ใครเคยพบที่ไหนบ้างว่าพระพุทธเจ้าได้เคยทรงให้คำ ๆ นี้ และดื่นเหมือนคำว่า "สุญญตา" คำว่า สุญญตา กับคำว่า มหากุศล สองคำนี้คำไหนควรจะถูกจัดว่าเป็นอภิธรรมกว่ากัน หรือถึงกับว่าอันไหนไม่เป็นอภิธรรมเสียเลย ดังนั้นจิตว่างกับจิตมหากุศลจะเป็นของสิ่งเดียวกันอย่างไรได้ ท่านลองคิดดูเองเถิด ของสองอย่างนี้ อย่างไหนที่เต็มอัดอยู่ด้วยกลิ่นไอของตัณหาอุปาทาน อย่างนั้นยังไม่ใช่จิตว่าง

ตาแก่ : คำว่า "จิตว่าง" ไม่มีในพระไตรปิฏกใช่ไหม ?

หลวงตา : ข้อนี้จะเข้าใจได้ง่ายโดยการเปรียบเทียบด้วย อุปมาคนเขลาเข้าไปในป่าก็เห็นแต่ป่า ไม่เห็นต้นไม้ พอได้ฟังพระพุทธภาษิตที่ว่า "วนํ ฉินฺทถ มา รุกฺขํ" (ตัดป่าซิ อย่าตัดต้นไม้) เขาก็ฟังไม่ถูก และไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ให้ตรงตามพระพุทธประสงค์ เพราะไม่รู้จักแยกต้นไม้ออกจากป่า ที่ถูกนั้นเขาควรชำระป่าที่รกและเป็นอันตรายให้หมดไป ให้เหลือแต่ต้นไม้สวยงามร่มรื่นสะดวกสบายในการอยู่อาศัย เช่นเดียวกับที่เราไม่ต้องทำลายเบญจขันธ์อัน เป็นที่ตั้งของกิเลส เพียงแต่ทำลายกิเลสอันเกิดที่เบญจขันธ์ เขาก็โง่ไปทำลายเบญจขันธ์เข้าเท่านั้นเอง พระไตรปิฎกทั้งหมด ทั้งแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ ล้วนแต่สอนให้ทำจิตให้ว่างจากอุปาทานที่มีอยู่ในเบญจขันธ์ ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม เป็นอย่างน้อย สำหรับส่วนใหญ่หรือหัวใจของพระไตรปิฎกนั้น คือการสอนทำให้จิตว่างจากอุปาทาน ภายหลังจากที่ได้ละบาปและบำเพ็ญบุญมาเต็มที่แล้ว เรียกว่าการชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความยึดมั่นถือมั่น ในบุญและบาปนั่นเอง รวมทั้งกุศลและมหากุศลด้วย บุญ บาป กุศล อกุศลที่ยึดไว้ด้วย อุปาทานนั่นแหละคือป่า จะต้องตัดเสียให้หมด ให้เหลือแต่ต้นไม้ที่สวยๆ งาม คือ "จิตว่าง" นี่คือการที่พระไตรปิฎกทั้งหมด มุ่งหมายจะพูดแต่เรื่องการทำจิตให้ว่าง แม้จะพูดเรื่องนรกสวรรค์อะไร ก็มิได้พูดเพื่อให้ยึดถือ จนรักอยากจะได้เหมือนในจะขาด หรือกลัวและเป็นห่วงรำคาญจนหมดสุข แต่พูดเพื่อให้ละความยึดถือทั้งหมดทั้งสิ้นเสีย เพื่อความมีจิตว่าง ไม่มีการเสพติดแม้ในสิ่งที่กระลิ้มกระเหลี่ยกันว่า "มหากุศล"

คำว่า "สุญญตา" (ความว่าง) ก็มีทั่วไปในพระไตรปิฎก และยังตรัสกำชับไว้ว่า ข้อความเรื่องใดไม่เกี่ยวกับเรื่องสุญญตา ข้อความเรื่องนั้นไม่ใช่ตถาคตภาษิต เป็นเพียงเรื่องคนชั้นหลัง ๆ กล่าว และเรื่องสุญญตานี้มิใช่เล็งถึงแต่ความว่างเฉย ๆ แต่เล็งถึงการทำให้จิตว่างจากสิ่งที่มากลุ้มรุมหุ้มห่อจิตให้เศร้าหมอง ให้มีจิตว่างจากกิเลสโดยเฉพาะ คืออุปาทานอันเป็นตัวการแห่งทุกข์โดยตรง ดังพระพุทธภาษิตว่า " จงเห็นโลกโดยความเป็นของว่างทุกเมื่อเถิด" ดังนี้เป็นต้น จิตที่เห็นสิ่งทั้งปวงโดยความเป็นของว่างอยู่นั้น คือจิตที่ว่างจากอุปาทานซึ่งย่อมจะว่างทุกข์ด้วยโดยอัตโนมัติ ซึ่งในที่นี้เราเรียกว่า "จิตว่าง" เฉยๆ เพราะไม่มีคำไหนที่ดีกว่านี้กระทัดรัดกว่านี้หรืออมความได้ทั้งหมดทั้งสิ้นเหมือนคำ ๆ นี้ การปฏิบัติเพื่อทำจิตให้ว่างจากอุปาทาน ประเด็นเดี่ยวนี้เท่านั้น ที่เป็นเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนา การปฏิบัตินอกนั้นมีทั่วไปแม้ในศาสนาอื่น ดังนั้นพระไตรปิฏกที่แท้จะมุ่งสอนแต่เรื่องทำจิตให้มีสุญญตาแต่อย่างเดียว และสุญญตาถึงที่สุดนั้นคือสิ่งที่เรียกว่า นิพพาน ถ้ามีใครพูดว่าเรื่องจิตว่างไม่มีในพระไตรปิฏกแล้ว เราอยากจะพูดบ้างว่าเรื่อง "มหากุศล" นั่นแหละไม่มีในพระไตรปิฏก และเต็มไปด้วยกลิ่นไอของอุปาทาน จงรู้จักป่า รู้จักต้นไม้ และรู้จักแยกป่าออกจากต้นไม้ กันเสียบ้างเถิด มัวแต่ปนเปกันอยู่อย่างนี้แล้ว ไม่มีวันพบพระพุทธศาสนาเลย

เรื่องการทำจิตใจให้ว่างคือเนื้อแท้ของพระไตรปิฏกแล้ว คำว่าจิตว่างก็ซ่อนอยู่ในพระไตรปิฏกทั้งหมดทุกบรรทัดหรือตัวอักษร แต่คนที่เห็นแต่ป่าไม่เห็นต้นไม้นั้นก็ย่อมมองไม่เห็นอยู่นั่นเอง ย่อมจะไปเลือกเอามหากุศล ซึ่งเปรียบเสมือนป่าทึบอย่างช่วยไม่ได้ เมื่อเสพติดในมหากุศลหนักเข้า ก็เห็นเรื่องจิตว่างเป็นเรื่องมิจฉาทิฏฐิไปอีกเป็นธรรมดา เพราะเขากลัวว่าเมื่อจิตว่างแล้ว จะเป็นการขาดทุนยุบยับไม่ได้อะไรเลย โดยที่ไม่รู้ว่า "ว่าง" นั่นแหละคือการใด้ทั้งหมด และได้สิ่งสูงสุดในระดับที่เรียกว่า นิพพาน มหากุศลของความยึดมั่นนั้น รังแต่จะเวียนอยู่ในวัฏฏสงสารเท่านั้นเอง

ตาแก่ : ทำไมท่านจึงไม่ใช้คำอื่นที่ไม่ใช่คำว่า "จิตว่าง" ?

หลวงตา : เพราะคนพวกนี้หลับมานานด้วยอำนาจยาเสพติดมากเกินไป ถึงกับต้องปลุกกันด้วยการปลุก ชนิดที่เป็นการถลกหนังหัว อย่างน้อยสักเท่าฝ่ามือ จึงจะตื่นได้ เหตุนี้แล จึงได้ใช้คำว่าความว่างหรือจิตว่าง ซึ่งพวกที่มากไปด้วยสักกายทิฏฐิเขากลัวกันยิ่งกว่าสิ่งใด แม้ท้าวมหาพรหมก็ยังกลัวคำ ๆ นี้มากกว่าคำพูดคำไหนหมดในโลกนี้ และอีกทางหนึ่งนั้นก็เพราะว่า เรื่องสุญญตาอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาหรือพระไตรปิฎกนั้น ได้นอนเป็นของมหากุศลในประเทศไทย อันเป็นประเทศที่ถูกอุปโลกน์ให้เป็นเอกในทางพระพุทธศาสนา ถ้าไม่รู้เรื่องนี้กันเสียเลย สักวันหนึ่งในเร็ว ๆ นี้ จะพิสูจน์ความไม่มีอะไรที่เป็นพุทธศาสนาเลยของตัวออกมาให้โลกเห็น ดังนั้นจึงชวนให้หยิบเอาเรื่องความว่างขึ้นมาศึกษากันไว้บ้าง จะไม่ต้องเดินตามก้นพวกอื่นที่เขาไปกันไกลในเรื่องสุญญตา ในวันข้างหน้า

ตาแก่ : เรื่องความว่างนี้ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิก็มีอยู่เหมือนกัน มิใช่หรือ ?

หลวงตา : ถูกแล้ว นั่นคือพวกที่ถือว่าอะไร ๆ ไม่มีเลยนอกความต้องการของเขาเท่านั้น ตายแล้วก็เลิกกัน ส่วนเรื่องความว่างในพุทธศาสนานั้นถือว่าอะไร ๆ ก็มี บุญบาปสุขทุกข์ ชั่วดี ฯลฯ มีอยู่ทั้งนั้น แต่เราอย่ามีจิตไปยึดมั่นต่อสิ่งเหล่านั้นเข้าก็แล้วกัน เมื่อจิตว่างจากความยึดมั่นแล้ว ก็มีพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์อันแท้จริงอยู่ในความไม่ยึดมั่นนั้นเอง นอกไปจากนั้นมักเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ชั้นที่เป็นเปลือกนอก ต้องพยายามเข้าให้ถึงของจริงชั้นในด้วยการทำจิตให้ว่างจากอุปาทานในการที่จะไปเกาะเกี่ยวสิ่งทั้งปวงไว้ โดยความเป็นตัวกูหรือของกู ต้องไม่ยึดถือมหากุศลว่าเป็นของกูจึงจะเป็นจิตว่าง ถ้าจะมีหรือปฏิบัติในมหากุศลก็เพียงเพื่อเอามาใส่ฝ่ามือดูให้รู้ว่าเป็นของที่ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ เรามีพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์เพื่อสอนความไม่ยึดมั่นถือมั่นให้แก่เรา เรามีทรัพย์สมบัติเพียงเพื่อเป็นอุปกรณ์แก่การมีชีวิต และมีชีวิตอยู่ก็เพื่อศึกษาเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นหรือเรื่อง "ความว่าง" นั่นเอง ความว่างที่เป็นสัมมาทิฏฐินั้นก็เพื่อสละตัวตนออกไป ไม่เอาอะไรมายึดไว้เป็นอุปาทาน ส่วนความว่างที่เป็นมิจฉาทิฏฐินั้นเป็นอุบายหลอกลวงตัวเองหรือผู้อื่น เพื่อจะเอาอะไรเป็นของตัวโดยไม่ให้ผู้อื่นคัดค้าน หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตัวด้วยอุบายตลบตะแลงของทิฏฐินั่นเอง

ตาแก่ : เป็นอยู่อย่างไรเรียกว่าเป็นอยู่ด้วยจิตว่าง ?

หลวงตา : เป็นอยู่ด้วยจิตว่างนั้นมิใช่เป็นอยู่ด้วยการนั่งหรือนอนตัวแข็งทื่อเป็นท่อนไม่ดังที่เข้าใจกันเอาเอง ตามความเขลาเพราะไม่เข้าใจคำว่าสุญญตาของพระพุทธเจ้า คำว่า "ว่าง" หมายถึงว่างจากความรู้สึกว่ามีตัวกู หรือของกู ดังที่กล่าวมาแล้ว ตัวเรามีขึ้นมาก็เพราะเรามีความรู้สึกว่าตัวเรามี ความรู้สึกว่าตัวเรามีอยู่นั้น จะมีแต่ชั่วขณะที่เรารู้สึกอย่างนั้น ความรู้สึกอย่างนั้นเรียกว่าอุปาทาน เมื่อจิตกำลังมีอุปาทานอย่างนี้ เรียกว่าเป็นจิตโง่หรือการเป็นอยู่ด้วยความโง่ เมื่อใดไม่มีอุปาทาน ก็เรียกได้ว่าไม่มีความโง่ แต่เป็นการอยู่ด้วยสติปัญญา หรืออย่างน้อยก็มีผลเท่านั้นกับการเป็นอยู่ด้วยสติปัญญา มีผลเป็นความไม่มีทุกข์เลย มีแต่สติปัญญา และการเคลื่อนไหวไปตามอำนาจของสติปัญญานั้น นี่แหละควรจะเรียกว่ามหากุศลแปลว่าดี ว่าฉลาด ว่าตัดเสียซึ่งอกุศล มหาแปลว่าใหญ่หลวง กุศลใหญ่หลวงคือการเป็นอยู่ด้วยจิตที่ไม่ยึดอะไรไว้ว่าเป็นตัวตนหรือของตน ไม่มีความทะเยอทะยานด้วยตัณหาในสิ่งใด ทำงานเพื่องาน ทำงานเพื่อธรรม บริโภคผลงานเพียงเพื่อมีชีวิตอยู่สำหรับบรมธรรม คือนิพพาน ซึ่งเป็น "ความว่าง" อย่างสุดยอด นี่แหละคือใจความของการมีชีวิตอยู่ด้วยจิตว่าง ซึ่งขอสรุปเป็นคำกลอนสำหรับจะจำไว้ได้ง่าย ๆ แก่การนึกว่า :-

จงทำงาน ทุกชนิด ด้วยจิตว่าง
ยกผลงาน ให้ความว่าง ทุกอย่างสิ้น
กินอาหาร ของความว่าง อย่างพระกิน
ตายเสร็จสิ้น แล้วในตัว แต่หัวที

ตาแก่ : ดู ๆ ยิ่งพูดไปจะยิ่งฟังยากสำหรับคนทั่วไปเข้าทุกที ?

หลวงตา : อีก 5-10 ปี จะง่ายเหมือนเรื่อง "มหากุศล" ในเวลานี้

ตาแก่ : ช่วยเทศน์ให้เข้าใจกันเดี๋ยวนี้ไม่ได้หรือ ?

หลวงตา : ได้เหมือนกัน แต่ต้องขอเครื่องกัณฑ์ที่มากสมกัน คือนั่งฟังนิ่ง ๆ ไม่เอ่ยปากพูดอะไรหมด ติดต่อกันไม่ลุกเป็นเวลา 3 เดือน

ตาแก่ : ถ้าอย่างนั้นวันนี้ต้องขอลาก่อน ขอเอาไปตรึกตรองในส่วนที่พอจะตรึกตรองได้ด้วยตนเอง ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ให้เหลือส่วนที่จะต้องถามให้น้อยที่สุดแล้วจึงค่อยมาถาม

หลวงตา : นั่นแหละคือวิธีที่สุดสำหรับศึกษาธรรมะขั้นนี้ในพระพุทธศาสนา


พุทธทาสภิกขุ
โมกขพลาราม ไชยา
8 เมษายน 08


***************************************************************************************************************


ศูนย์ปรึกษารหัสแห่งชีวิต The Counseling Center, "Password to Happy Life" (passwordlife.com)


ขอเชิิญร่วมกิจกรรม ฟรี คอร์สกิจกรรม เวิร์กช็อปสมาธิธรรม "วิถีเซน วิถีสู่ความว่าง" ครั้งที่ 1


เรียนรู้วิธีอยู่กับ "ความว่าง" ทุกข์ใดก็ไม่กระทบใจ โลภ โกรธ หลง ก็วางได้ง่าย พบเคล็ดลับง่ายๆธรรมดาที่ไม่ธรรมดา คุณหรือใคร "จิตก็ว่างได้" พบปาฏิหาริย์ที่คุณสร้างได้เองจากภายใน แล้ว "เซน" จะเปลี่ยนชีวิตทั้งหมดของคุณนับจากวันนี้ !


โดยวิทยากรพิเศษ คุณสุกิจ วังจินดา ผู้ศึกษาพุทธศาสนา ปฏิบัติธรรมและเชี่ยวชาญในพุทธศาสนาแนววิถีเซน

วันเสาร์ที่ 1 กันยายน 2555

เวลา 13.00 - 15.00 น.

รับจำนวนจำกัด 18 ท่าน ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

ดูรายละเอียดจากลิงค์ : http://www.passwordlife.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539537997

ติดต่อลงทะเบียนสำรองสิทธิ์ล่วงหน้าและสอบถามรายละเอียด โทร. 090 659 1591


เราขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สังคมแห่งความสุขเพื่อเพื่อนของเรา

ศูนย์ปรึกษารหัสแห่งชีวิต The Counseling Center, "Password to Happy Life"

passwordlife.com [/size]

110.171.154.240

โชต.

โชต.

ผู้เยี่ยมชม

saengchandra@yahoo.com

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้