ในชีวิตงานเขียนหนังสือหลายสิบเล่มของผู้เขียนในช่วงกว่า 25 ปีมานี้ผู้เขียนได้เขียนหนังสือในแนว ‘ฉบับท่าพระจันทร์’ หรือแนวประวัติของจิตใจออกมาเพียง 2 เล่มเท่านั้นจนถึงบัดนี้ เล่มหนึ่งคือ มูซาชิฉบับท่าพระจันทร์ (ค.ศ. 1995) ซึ่งผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจจากอมตะนิยายญี่ปุ่นเรื่อง มิยาโมโต้ มูซาชิของนักเขียนนามอุโฆษ คุณโยชิคาว่า เอญิ
อีกเล่มหนึ่งคือพุทธทาสฉบับท่าพระจันทร์ (ค.ศ. 2007) เล่มที่ท่านผู้อ่านกำลังถืออยู่ในมือนี้
งานเขียนทั้งสองเล่มนี้มีความเป็นมาที่คล้ายกันและมีความเชื่อมโยงกันอย่างน่าประหลาด เพราะงานเขียนทั้ง 2 เล่มถือกำเนิดขึ้นมาท่ามกลางความร้อนแรงของบรรยากาศการต่อสู้ทางการเมืองของการเมืองภาคประชานซึ่งผู้เขียนได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเอาการเอางานด้วยในระดับหนึ่ง
โดยเฉพาะพุทธทาสฉบับท่าพระจันทร์ เล่มนี้ ผู้เขียนได้เขียนขึ้นมาสดๆ ร้อนๆ หลังจากงานเขียน 36 เพลงดาบสยบมาร: จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (ค.ศ. 2006) ที่ผู้เขียนทำการวิพากษ์ระบอบทักษิณอย่างเอาเป็นเอาตายจนถึงกับออกไปกรำศึกกับระบอบทักษิณในเชิงปฏิบัติการมวลชนด้วยเลยทีเดียว
ถ้าหากมูซาชิฉบับท่าพระจันทร์ถือว่าเป็นภาคโลกียะของความเป็นนักกลยุทธ์ของตัวผู้เขียน
หนังสือพุทธทาสฉบับท่าพระจันทร์ เล่มนี้ก็คงถือได้ว่าเป็นภาคโลกุตตระแห่งความเป็นนักกลยุทธ์ หรือเป็น ‘วิถีแห่งฟ้าของนักกลยุทธ์’ ของตัวผู้เขียนก็เห็นจะไม่ผิดนัก
ในตอนที่ผู้เขียนผลิต มูซาชิฉบับท่าพระจันทร์ ออกมาผู้เขียนได้ใช้ปากกาของตัวเองผนึกแนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวกับดาบของท่านอาจารย์มูซาชิอย่างทุ่มเทจิตใจทั้งหมดทั้งปวงให้เยี่ยงไรระหว่างที่ผู้เขียนกำลังถ่ายทอด พุทธทาสฉบับท่าพระจันทร์ ออกมาผู้เขียนก็ได้ทุ่มเทพลังแห่งชีวิตจิตใจและพลังแห่งจิตวิญญาณทั้งปวงของผู้เขียนอุทิศให้กับการบูรณาการหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับ ‘พุทธธรรม’ ของท่านอาจารย์พุทธทาสเยี่ยงนั้น หรือยิ่งกว่าสมัยนั้น
- สุวันัย ภรณวลัย -