ภูมิปัญญาหมากล้อมกับ วิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ (4) 2/8/2548

ภูมิปัญญาหมากล้อมกับ วิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ (4) 2/8/2548


ภูมิปัญญาหมากล้อมกับ วิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ (4)



"กลยุทธ์เป็นสิ่งที่ไม่มีวันตาย" ตราบใดที่ลึกๆ ในจิตใจของผู้คน ยังปรารถนาที่จะเป็น "ผู้สั่งการ" ให้ใครต่อใครทำในสิ่งที่ตนปรารถนาอยู่


ความทะเยอทะยานที่ไม่มีที่สิ้นสุดของ ปุถุชน ที่รวยเท่าไหร่ก็ไม่พอ ยังอยากรวบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเอาไว้ในมือคนเดียวอยู่อีก ไม่ว่าจะอ้างวาทกรรมอันสวยหรูว่า "เพื่อชาติ เพื่อประชาชน" อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดแล้ว มันก็มาจากตัวกิเลสตัณหาทะยานอยากที่จะเป็น "ผู้สั่งการ" ที่บัญชาให้ใครต่อใครทำตามอัตตาของตนโดยไม่หือนั่นเอง สำหรับ บุคคลเช่นนี้ กลยุทธ์เป็นเรื่องของ "การเอาชนะในระดับชาติ" เป็นเรื่องของอัตตาของรัฐ ที่รวมศูนย์อยู่ที่อัตตาของผู้นำ ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ของรัฐ


เนื่องจาก กลยุทธ์เป็นเรื่องของการคิดค้นวิธีการในการบรรลุจุดประสงค์หรือเป้าหมายที่กำหนดไว้แน่นอนหนึ่งๆ ภายใต้เงื่อนไขที่มีความเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น หากปุถุชนผู้มีความทะเยอทะยาน แต่ไม่สามารถมีโอกาสยึดกุมอำนาจรัฐสูงสุดได้ การเป็นเถ้าแก่ เป็นเจ้าของธุรกิจ หรือเป็นผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มธุรกิจที่มีอำนาจการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ หรือเป็นข้าราชการระดับสูงที่มีอำนาจสั่งการผู้คนให้ทำในสิ่งที่ตนปรารถนา ภายในกรอบขององค์การที่ตนสังกัด จึงเป็นสิ่งที่สนองตัณหา สนองความอยากของผู้นั้นได้เหมือนกัน สำหรับบุคคลในระดับนี้ กลยุทธ์เป็นเรื่องของการเอาชนะในระดับกลุ่มธุรกิจ หรือระดับบริษัท ระดับองค์กร เป็นเรื่องของอัตตาของบริษัทที่รวมศูนย์อยู่ที่อัตตาของผู้นำในบริษัทหรือหน่วยงานนั้น


ข่าวสารต่างๆ ที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ แทบทุกวัน ล้วนแล้วแต่เป็นการ "โฆษณาชวนเชื่อ" ของ อัตตา ของ "ผู้นำ" ในระดับชาติ ในระดับกลุ่มธุรกิจ ในระดับบริษัท และในระดับองค์กรหน่วยงานต่างๆ เป็นส่วนใหญ่ทั้งสิ้น ทั้งหมดล้วนเคลื่อนไหวผลักดันภายใต้ วิธีคิดเชิงกลยุทธ์เพื่อเอาชนะ ของผู้คนในระดับต่างๆ บางเรื่องก็เป็นแค่การคุยโม้ เพ้อฝัน ขายฝัน ความคาดหวัง บางเรื่องก็มีหลักเหตุผลพอที่จะเป็นไปได้ แต่ ความเป็นจริงคืออะไรนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หรืออาจกล่าวได้ว่าข่าวสารต่างๆ ที่ออกมาโดย "นักกลยุทธ์จอมปลอม" (pseudo-strategist) เหล่านี้กับความเป็นจริงของกระบวนการที่กำลังเกิดขึ้น มันเป็นคนละเรื่องกัน เพราะ สังคมนี้ใส่ใจกับการเรียนรู้ความจริงน้อยเกินไป สังคมนี้ จึงตกอยู่ในกำมือของ "ผู้นำจอมปลอม" อย่างแทบจะเรียกได้ว่า หลงเชื่ออย่างงมงาย อย่างยอมจำนนโดยว่าง่าย


แท้ที่จริงแล้ว กลยุทธ์กับการคิดใหญ่ทำใหญ่เพื่อสนองอัตตา มันไม่เหมือนกัน และไม่ใช่สิ่งเดียวกัน การเชื่อว่า การทำงานใหญ่ ให้ความพึงพอใจมากกว่า การทำงานเล็ก เป็น มายาคติที่ถอนออกได้ยากอย่างหนึ่งในวิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ ความเชื่อที่ว่า การมีอำนาจสั่งการผู้คน สิ่งของ เงินทองในปริมาณที่มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งให้ความพึงพอใจแก่คนผู้นั้นมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ก็เป็นมายาคติชนิดหนึ่ง เป็นความเชื่อแบบหลงผิดอย่างงมงายเลยทีเดียวก็ว่าได้


เพราะถ้าคนเราสามารถสั่งการผู้คน สิ่งของ และเงินทองในชีวิตของตน อย่างมีสติ ได้ในระดับหนึ่งอย่างเพียงพอไม่ขัดสนแล้ว ข้อแตกต่างระหว่างการมีอำนาจเบ็ดเสร็จ หรือการมีอำนาจในขอบเขตที่ใหญ่โตระดับชาติกับการมีอำนาจใน "อาณาจักรส่วนตัว" ของตนเอง จะมีความต่างที่บางเบาเท่านั้น เพราะมันเป็นเรื่องของ ความพอใจของคนผู้นั้นล้วนๆ เป็นเรื่องของ ความรู้จักเพียงพอของคนผู้นั้น เท่านั้น ในทางกลับกัน คนที่มีอำนาจล้นฟ้า แต่ไม่รู้จักพออาจจะมีความสุขสงบ มีความมั่นคงในจิตใจในอารมณ์น้อยกว่าคนที่มีอำนาจน้อยนิด แต่รู้จักพอก็เป็นได้


กลยุทธ์ที่บริสุทธิ์ จะต้องเป็นสิ่งที่สร้าง "ความพึงพอใจ" ให้กับความปรารถนาที่จะควบคุมบัญชาการเพื่อการเอาชนะของคนผู้นั้น โดยไม่เกี่ยวข้องกับขนาด ปริมาณ และขอบเขตของการควบคุมบัญชาการ เพื่อการเอาชนะแต่อย่างใด


กล่าวในความหมายนี้ หมากล้อมคือ ศิลปะแห่งกลยุทธ์บริสุทธิ์ขั้นสูงที่มาจากภูมิปัญญาของมนุษยชาติในระดับอัจฉริยบุคคล เพราะหมากล้อมสามารถสนองความปรารถนาที่จะควบคุมบัญชาการเพื่อการเอาชนะของคนเราได้ เนื่องจากหมากล้อมแบ่งเป็นสีดำ และสีขาวฝ่ายละ 180 เม็ด เปรียบเสมือนต่างฝ่ายต่างนำขุนศึกที่คอยรับคำบัญชาจากตัวเราผู้เป็นผู้เล่น 180 นายออกศึก


เม็ดหมากจำนวน 180 เม็ด เป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นถึงจำนวนขุนศึกที่มีอยู่มากมายมหาศาลในมือของเรา เม็ดหมากจำนวน 180 เม็ดนี้ จึงก่อตัวเป็นกองทัพของเราขบวนหนึ่ง และสามารถเติมเต็มแรงปรารถนาในการออกบัญชาการรบ และการเป็นผู้นำทัพของตัวเราที่เป็นผู้เล่นได้ เนื่องจากหมากทุกหมากมีหน้าตาเหมือนกัน และมีสถานะที่ทัดเทียมกัน (ซึ่งต่างจาก หมากรุก ที่มีหมากรูปร่างต่างๆ และสถานะต่างๆ ร่วมกันสู้รบ) โดยผู้เล่นเป็นขุนพลแม่ทัพใหญ่คอยบัญชาการในการทำศึกสงคราม เพราะฉะนั้น สภาพจิตใจของผู้เล่นในฐานะจอมทัพ จึงอยู่ในสภาวะที่ดีที่สามารถเติมเต็มความรู้สึก อยากเป็นผู้นำสูงสุดของคนเราได้ และช่วยขจัดความรู้สึกขมขื่นจากชีวิตจริงที่ต้องดำรงชีวิตอยู่อย่างคอยให้ "ผู้อื่น" จูงจมูกอยู่ร่ำไปได้


แต่การเล่นหมากล้อมเพื่อแค่ชดเชยปมด้อยในความรู้สึกเก็บกดจากชีวิตจริง จะเป็นแค่ การหนีโลกชั่วคราว อย่างหนึ่งเท่านั้น ตราบใดที่คนผู้นั้นยังเห็นหมากล้อมเป็นแค่เกมการละเล่น กีฬาการแข่งขันสิ่งหย่อนใจคลายเครียดเท่านั้น โดยไม่ได้ตระหนักว่า หมากล้อมเป็นศิลปะแห่งกลยุทธ์บริสุทธิ์ชั้นสูงของเหล่าอัจฉริยะแห่งเต๋าที่ใช้หมากล้อมเป็นส่วนหนึ่งแห่ง "วิถี" หรือ "อภิมรรค" เพื่อบรรลุถึงสภาวะแห่งจิตที่แน่วแน่ สงบนิ่ง โดยไม่รู้สึกยินดียินร้ายกับลาภยศสรรเสริญใดๆ ในโลก


จงเล่น จงฝึกฝนหมากล้อมเพื่อขจัดมายาคติเกี่ยวกับกลยุทธ์ และความอยากคิดใหญ่ ทำใหญ่ ที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น และเข้าสู่ มรรคาแห่งกลยุทธ์บริสุทธิ์ เพื่อบรรลุถึง สภาวะจิตแห่ง "จิตปกติ" ที่อยู่เหนือโลกธรรมทั้งหลายๆ อันได้แก่ อำนาจ ลาภ ยศ สรรเสริญกันเถิด



หวางจีซิง ซึ่งเป็นปรมาจารย์หมากล้อม และยอดคนในยุคถังคนหนึ่งได้ถ่ายทอด "หลัก 10 ประการของหมากล้อม" ที่มี ความลึกล้ำในหลักกลยุทธ์ เป็นอย่างมาก ดังต่อไปนี้ (ขยายความโดย ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์)


(1) อย่าโลภต่อชัยชนะ

ผู้เล่นขณะวางหมาก ควรหลีกเลี่ยงตำแหน่งที่ไม่สมเหตุสมผล ไม่ควรโหมบุกฝ่ายตรงข้ามอย่างบ้าระห่ำ เพราะการเดินเพื่อหวังไล่จับกินคู่ต่อสู้จนเกินพอดีนั้น นอกจากจะส่งผลให้ไม่สามารถกำชัยชนะได้แล้ว ยังเป็นบ่อเกิดแห่งความพ่ายแพ้ ซึ่งจะค่อยๆ คืบคลานเข้ามาหาอีกด้วย


(2) ต้องระมัดระวังเมื่อบุกลิดรอนพื้นที่ฝ่ายตรงข้าม

หมากลิดรอนต้องสุขุม ไม่รีบร้อนล่วงเข้าลึกจนเกินไป การทะลวงฝ่าเข้าไปอย่างหักโหม จะทำให้เสียทีได้โดยง่าย


(3) โจมตีพร้อมป้องกันในคราวเดียว

หมากเม็ดหนึ่ง ควรสร้างประโยชน์หลายทาง ยามโจมตีก็ต้องพร้อมป้องกันกลุ่มของตนเองไปพร้อมๆ กันด้วย อย่างนี้จึงจะเป็นหมากชั้นเลิศ


(4) สละหมากเพื่อให้ได้มือนำ

"มือนำ" นั้นสำคัญมาก กระทบถึงผลแพ้ชนะโดยรวมเลยทีเดียว หมากเพียงไม่กี่เม็ดเราต้องกล้าสละทิ้ง เพื่อให้ได้มือนำ เราไม่ควรวนเวียนอยู่กับกลุ่มหมากตามจุดย่อยๆ จนเป็นผลให้เสียสิทธิ์ในการเป็น "มือนำ"


(5) ปล่อยเล็กเลือกใหญ่

ในหมากแต่ละตาเดินนั้น ต่างต้องเผชิญการตัดสินใจเลือกตำแหน่งที่วางหมาก ซึ่งต่างก็มีทั้งประโยชน์มากน้อยลดหลั่นไปตามลำดับ ผู้เล่นหมากล้อมชั้นยอด จะเลือกวางหมากแต่หมากสำคัญพื้นที่ใหญ่ ไม่มีใครเลือกสร้างพื้นที่เล็กเลย คำพูดนี้ฟังดูง่าย ทุกคนก็อยากเลือกหมากใหญ่ แต่ในทางปฏิบัติจริง ไม่ง่ายดังคำพูด เมื่อเผชิญหน้าสถานการณ์จริง ทุกสิ่งล้วนล่อตา มุมมองที่จำกัดเพียงจุดใดจุดหนึ่งล้วนลวงหลอกให้เราหลงผิดเห็นหมากเล็กเป็นหมากใหญ่ไปได้ทั้งสิ้น เราต้องเลือกเดินหมากที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุกๆ ตาเดินเสมอ จึงจะเป็นหนทางนำไปสู่ชัยชนะได้


(6) ต้องรู้จักตัดใจ

เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์อับจน การตัดใจสละหมากถือเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะถ้าสละหมากได้เร็วเท่าไร ความเสียหายก็จะลดน้อยลงมากเท่านั้น ใครไม่รู้จักตัดใจ หวงหมาก ไม่ยอมทิ้ง พยายามดิ้นหนีแต่ยิ่งดิ้นก็ยิ่งแย่ ความตายขยายวงกว้างขึ้นตามแรงดิ้น สุดท้ายก็ต้องทิ้งทั้งกระดาน การหวงแหนโดยไม่คำนึงเหตุผล จุดจบคือความล้มเหลว


(7) จงคิดก่อนวางหมาก

ไม่ควรวางหมากด้วยความบุ่มบ่าม ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจวางหมาก โดยเฉพาะในช่วงโรมรัน แม้ได้โจมตีคู่ต่อสู้จนกองทัพหมากแตกเป็นเสี่ยงๆ แล้ว ยิ่งต้องทวีความระมัดระวังให้มากขึ้น ต้องใคร่ครวญเป็นอย่างดีแล้วจึงดำเนินการขั้นต่อไป อย่าหลงระเริง อย่ารีบร้อนจนเกินควร


(8) จงวางหมากให้สอดรับกัน

ขณะที่วางหมากนั้น ต้องมองให้กว้างออกไปถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นตลอดเกมการแข่งขัน ในหมากล้อมนั้นมีกลยุทธ์ กลยุทธ์ร้อยเรียงตามนโยบาย การวางเค้าโครงของรูปเกมบังเกิดขึ้นภายในใจ จงเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างหมากในแต่ละส่วนกับสถานการณ์ทั้งกระดาน หมากทุกเม็ดที่วางลงไปจะต้องมีความสอดคล้อง สอดรับกันเป็นอย่างดี


(9) ยามคู่ต่อสู้แข็งแกร่งให้ป้องกันตนเอง

ข้อนี้จะใช้หลังจากดำเนินมาถึงการขับเคี่ยวตรงกลางกระดาน หรือไม่ก็ในกรณีที่มีการช่วงชิงพื้นที่ว่างของทั้งสองฝ่าย ขณะที่จะบุกเข้าไปในพื้นที่ฝ่ายตรงข้ามที่มีอิทธิพลแข็งแกร่งนั้น ส่วนตนต้องรีบพยายามกู้หมากที่กำลังอยู่ในสภาพที่อ่อนแอให้ได้เสียก่อน ทำให้หมากที่อยู่โดดเดี่ยวมีหนทางเป็นหมากรอด ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงแลก ทั้งๆ ที่ยังไม่พร้อม


(10) เมื่อเป็นรองต้องอดทน

ในสภาวะที่หมากตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นรอง ไม่ควรจะหวังลมๆ แล้ง คิดรอให้ฝ่ายตรงข้ามวางหมากพลาด แต่ควรพยายามหาทางรักษาตัวเอง หาวิธีที่ทำให้ฝ่ายตนเพลี่ยงพล้ำน้อยที่สุด เพราะสถานการณ์เช่นนี้ การไม่ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบก็เท่ากับชนะแล้วนั่นเอง แต่ในยามเสียเปรียบ น้อยคนจะใจเย็นได้ ต่างถูกความกดดันบีบคั้นให้เดินหมากอย่างมุทะลุหุนหันพลันแล่น การทำเช่นนั้นไยไม่ต่างจากการพาตนเข้าสู่หายนะ ดังนั้น ผู้เป็นรองจึงต้องอดทน ตั้งรับให้มั่นคง รอเวลาจังหวะ เพื่อหวนกลับมาด้วยจิตสงบ


"หลัก 10 ประการของหมากล้อม" ของหวางจีซิงข้างต้นนี้ แม้เป็นของโบราณแต่ก็เป็นหลักกลยุทธ์ที่ทรงคุณค่า ล้ำสมัยอยู่เสมอ สะท้อนให้เห็นถึง ความลึกล้ำของวิถีหมากล้อม อันเป็นศิลปะแห่งกลยุทธ์บริสุทธิ์ชั้นสูงของเหล่าอัจฉริยะเต๋า ที่ไม่ควรมองข้าม ตราบใดที่ "กลยุทธ์เป็นสิ่งที่ไม่มีวันตาย" สำหรับสังคมมนุษย์




 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้