ภูมิปัญญามูซาชิกับวิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ (1) 3/5/2548

ภูมิปัญญามูซาชิกับวิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ (1) 3/5/2548


ภูมิปัญญามูซาชิกับวิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ (ตอนที่หนึ่ง)

 


"เลี้ยงทหารพันวันก็เพื่อใช้งานใน วันเดียว
ฝึกกลยุทธ์และวิทยายุทธ์พันวันก็เพื่อใช้ใน พริบตาเดียว"

(มูซาชิ)




ใน วิชัน ของผู้เขียน การที่สังคมไทยจะก้าวไปสู่ สังคมแห่งความรู้ และ สังคมแห่งการเรียนรู้ ได้อย่างยั่งยืนแท้จริงนั้น จำเป็นจะต้อง มีการบูรณาการภูมิปัญญาสามยุค เข้าด้วยกัน คือ ภูมิปัญญาก่อนทันสมัย (Premodern wisdom) ภูมิปัญญายุคทันสมัย และ ภูมิปัญญายุคหลังทันสมัย (Postmodern wisdom)


การบูรณาการภูมิปัญญาสามยุคนี้จะต้องดำเนินไปทั้งใน แนวนอน กับ แนวตั้ง ทั้งในมิติปัจเจก และมิติรวมหมู่ ควบคู่กันไป การบูรณาการภูมิปัญญาสามยุคใน แนวนอน นั้นผู้เขียนหมายถึง การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้เชิงกลยุทธ์แบบบูรณาการ โดยเรียกร้องให้ผู้คนสนใจ ศาสตร์และศิลปะแห่งกลยุทธ์ทั้งปวง เพื่อเป็น ผู้ชนะ ใน "สงครามชีวิต" ระดับปัจเจก และเป็น ผู้ชนะ ใน "สงครามเพื่อความอยู่รอดของชาติ" ระดับรวมหมู่ เพราะภาวะสงครามการค้า สงครามเศรษฐกิจที่ทุนนิยมไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงนั้น การชี้นำทางยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาด ของ "ผู้นำเดี่ยว" ภายใต้ ระบอบทักษิณ อาจหมายถึง ความล่มจมของประเทศชาติ เอาได้ง่ายๆ นี่ยังไม่นับรวมภัยจาก "สงครามเย็นใหม่" ในรูปของลัทธิก่อการร้าย และลัทธิเคร่งศาสนาหัวรุนแรง (fundamentalism) ที่เห็นได้ชัดว่าล้มเหลว เพราะมุ่งแก้ปัญหาความรุนแรงด้วยความรุนแรงอย่างมิติเดียวที่ตื้นเขิน


ส่วนการบูรณาการภูมิปัญญาสามยุคใน แนวตั้ง นั้น ผู้เขียนหมายถึง การเปลี่ยนแปลง โครงสร้างเชิงลึก ของสังคม โดยการ ยกระดับจิตสำนึก ของสังคม โดย การพัฒนาระดับจิต ของผู้คน และเพิ่มขยาย มิติทางจิตวิญญาณ ในทั่วทุกบริบทของการดำเนินชีวิต (ในเรื่องนี้ ผู้เขียนได้เขียนเป็นหนังสือออกมาแล้วชื่อ "การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึก" จัดพิมพ์โดย Openbooks ซึ่งเป็น ภาคสุดท้าย ของ ไตรมาส ต่อจาก "แกะรอยทักษิโณมิกส์" และ "การเมืองเชิงบูรณาการ")


ปัจจุบัน การเรียนรู้เชิงกลยุทธ์ในสังคมไทย ยังถูกครอบงำโดย นักการตลาด และ ลัทธิการตลาด ที่มี ความโลภ เป็น แรงจูงใจหลัก สิ่งนี้มีนัยว่า พวกนักการตลาดและพวก ลัทธิบริโภคนิยม ที่เป็นตัวแทนของ โลกทัศน์แบบทันสมัยนิยม ได้ฉกฉวยใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาโบราณ (ก่อนทันสมัย) โดยละเลยแก่นแท้เรื่อง คุณธรรม หรือ หลักธรรม ซึ่งเป็น หัวใจคำสอน ของ ภูมิปัญญาโบราณ แต่มุ่งเอาภูมิปัญญาเหล่านั้นมารับใช้ตอบสนองความโลภ ความเชื่อแบบวัตถุนิยมอย่างสุดโต่ง ของพวกตนเป็นสำคัญ สิ่งนี้เห็นได้ชัดเจนในเรื่อง การนำเอาภูมิปัญญาโบราณเรื่องกลยุทธ์มารับใช้การตลาดอย่างไม่พยายามทำความเข้าใจให้ลุ่มลึกว่า วิญญูชนคนโบราณนั้น เขามีวิถีแห่งกลยุทธ์ที่แท้จริงเช่นไร ขณะเดียวกัน ก็ขาดวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลแบบโพสต์โมเดิร์น ที่ตระหนักถึงภัยอันตรายที่ลัทธิบริโภคนิยมกำลังบ่อนทำลายระบบนิเวศของโลก ซึ่งอาจนำมาซึ่งการล่มสลายแห่งเผ่าพันธุ์ของมนุษยชาติในอนาคตที่ไม่นานนักได้


สังคมนี้กำลังตกอยู่ในเงื้อมมือของศาสนาใหม่แห่งลัทธิบริโภคนิยม โดย เจ้าลัทธิใหม่ นี้เป็นนักการตลาดตัวยง แต่วิถีแห่งกลยุทธ์ของเจ้าลัทธิใหม่คนนี้ ทั้งเบี่ยงเบนออกจากภูมิปัญญาโบราณ และภูมิปัญญาโพสต์โมเดิร์นอย่างเห็นได้ชัด


ความสำคัญของการหันกลับมาศึกษา ภูมิปัญญามูซาชิ จากมุมมองของ วิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ เพื่อ ปลดปล่อยโลกทัศน์ ของเราให้เป็นอิสระจากลัทธิการตลาดที่มีแต่ความโลภ คลั่งไคล้เงินทองเป็นสรณะไปสู่ โลกทัศน์ของนักกลยุทธ์ที่แท้ที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย สมถะ แต่เปี่ยมไปด้วยปณิธานความมุ่งมั่น เพื่อกอบกู้ความอยู่รอดของประเทศชาติ และกอบกู้ความเป็นมนุษย์ ความเป็นจิตวิญญาณของเพื่อนร่วมชาติให้กลับคืนมา จึงเป็นเรื่องที่พึงตระหนักยิ่งเรื่องหนึ่งในสายตาของผู้เขียน


ใน ปรัชญาชีวิตของมูซาชิ เท่าที่เห็นได้จาก "คัมภีร์ห้าห่วง" ของเขานั้น เขาให้คุณค่าความสำคัญของ การตั้งจิตมีปณิธานที่แน่วแน่ในชีวิตคนเราไม่ว่าจะริเริ่มทำสิ่งใดก็ตาม การตั้งจิตอย่างมุ่งมั่นแรงกล้าที่จะประสบความสำเร็จเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ตัวมูซาชิโดยเฉพาะในช่วงบั้นปลายของชีวิตที่เขาหันมาปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังนั้น เป็นผู้ที่เคารพศรัทธาในพระพุทธเจ้า เทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวงก็จริงอยู่ แต่เขาก็ ไม่เคยคิดอ้อนวอนขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายช่วย เขาถือหลักว่า "ตนต้องเป็นที่พึ่งแห่งตน" อย่าไปคิดหวังพึ่ง "ความเอื้ออาทร" จากอัศวินม้าขาวหรือ "เทวดา" หน้าไหน


การทำชีวิตในแต่ละวันของตนเองให้ดีที่สุด ที่เหลือปล่อยให้เป็นลิขิตของฟ้า การมี ระยะห่างที่สมดุล ระหว่างตัวเรากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างที่มูซาชิประพฤติเป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้ยิ่ง


มันเป็นความเชื่อส่วนตัวของมูซาชิว่า คนเราควรใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตของตน เพื่อการฝึกปรือตนเอง โดย ฝึกฝนทุกเช้าค่ำ หมั่นปรับปรุงแก้ไข ดัดแปลงทักษะความเชี่ยวชาญของตนอยู่เสมอ โดยไม่เหนื่อยหน่ายต่อการเดินอยู่บนวิถีแห่ง อภิมรรค


ขงจื้อเคยกล่าวว่า "ตัวเองอายุสิบห้า ตั้งจิตปณิธานในการศึกษา อายุสามสิบเริ่มยืนได้ด้วยลำแข้งตนเอง อายุสี่สิบเริ่มไม่ลังเลสงสัย อายุห้าสิบจึงทราบเจตนารมณ์ของฟ้า" ตัวมูซาชิก็เช่นกัน หลังจากที่ตัวเขาได้พากเพียรฝึกปรือตนเองมาไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นวัน หรือไม่ต่ำกว่าสามสิบปี พอเขาอายุห้าสิบก็เข้าถึงมรรคแห่งกลยุทธ์และวิทยายุทธ์เช่นกัน


อาจกล่าวได้ว่า นี่คือความเป็นสากลของวิถีตะวันออก ที่ไม่ว่าผู้ใดก็ตามที่ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับวิถีของตนอย่างบากบั่น ไม่ย่อท้อ สักวันหนึ่ง มันย่อมก่อให้เกิดมรรคผล วันที่ดอกบัวเริ่มผลิบานในใจของผู้นั้น


ก่อนอายุห้าสิบ มูซาชิคงมุ่งมั่นเฝ้าแสวงหาวิถีแห่งกลยุทธ์และวิทยายุทธ์ที่ "ข้างนอก" ด้วยความพากเพียรพยายามเกินคนธรรมดาสามัญอย่างมุ่งมั่นแรงกล้า แต่แล้วพออายุห้าสิบมูซาชิคงพลันได้คิด พลันคิดตกแล้วค้นพบว่า ใจของตัวเขาที่กำลังแสวงหาอภิมรรคอยู่นั้น มันคือ อภิมรรค คือหลักแห่งกลยุทธ์และวิทยายุทธ์ที่เพียบพร้อมสมบูรณ์อยู่แล้ว


นับจากบัดนั้น มูซาชิมิได้แสวงหาอภิมรรคอีกต่อไป มูซาชิไม่จำเป็นต้องแสวงหาใดๆ อีกต่อไป "ภายใน" ของเขาหยุดแล้ว มีศานติแล้ว! แม้ว่าหลังจากนั้น มูซาชิจะยังคงศึกษาฝึกฝนศิลปะต่างๆ อีกหลายแขนง แต่เขาไม่ได้และไม่จำเป็นต้องแสวงหาอภิมรรคอีกแล้ว อาจกล่าวได้ว่า หลังจากอายุห้าสิบ มูซาชิสามารถถูกนับเป็นหนึ่งใน "มหาบุรุษ" ได้อย่างเต็มภาคภูมิแล้ว ต่อให้การประเมินคุณค่าของมูซาชิในวัยก่อนสามสิบจะถูกพวกนักประวัติศาสตร์ "มองต่างมุม" ได้ต่างๆ นานา เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ได้หลายแง่ก็จริง แต่เราน่าจะยอมรับได้ว่า หลังจากอายุห้าสิบแล้ว มูซาชิ "เปลี่ยนไป" แทบเป็นคนละคน ความเปลี่ยนแปลงอันนี้แน่นอนว่า เกิดจาก ความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างเชิงลึก หรือการเปลี่ยนแปลงในระดับจิต ในสภาวะจิตของมูซาชินั่นเอง


ความเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจของมูซาชิครั้งใหญ่ของมูซาชิในวัยห้าสิบ ทำให้ ตัวเขาสามารถปลดปล่อยตัวเองจากพันธนาการของความขัดแย้งที่ต้องมีปฏิปักษ์หรือคู่ต่อสู้ในวิถีแห่งกลยุทธ์และวิทยายุทธ์ แล้วล่วงล้ำเข้าสู่ โลกแห่งเอกจิต หรือ โลกของ "เอกบุรุษ" ที่ข้ามพ้น "ความเป็นคู่" อันเป็น โลกที่เขาสามารถมองสรรพสิ่งด้วยสายตาแห่งความจริง ความดี และความงามได้อย่างสมบูรณ์พร้อม และเป็น โลกที่ภาวะสมาธิกับกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันผนึกรวมกันเป็นเนื้อเดียวอย่างแนบแน่น


ภาพวาดของมูซาชิ งานแกะสลักของมูซาชิ งานช่างของมูซาชิ รวมทั้งงานเขียนของมูซาชิในช่วงหลังจากอายุห้าสิบ ล้วนเป็นความหลากหลายในการใช้วัสดุอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ เพื่อ สะท้อนโลกทัศน์ใหม่ และชีวทัศน์ใหม่ ที่ "ผุดบังเกิด" ขึ้นมาภายหลังอายุห้าสิบของมูซาชินั่นเอง


หลังจากที่มูซาชิกลายเป็น "เอกบุรุษ" เมื่ออายุห้าสิบแล้ว เขากลับเรียกชื่อ วิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการของเขา ว่า สำนัก "ฟ้าคู่"


"ฟ้าคู่" ในความหมายที่ว่า เหนือฟ้ายังมีฟ้า ไม่ว่าผู้ใดในใต้หล้า ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่เพียงไหน มีศักดาอำนาจ ความมั่งคั่งมากล้นเพียงใด ก็ไม่อาจอยู่ค้ำฟ้า ล้วนแล้วแต่ถูกฟ้าค้ำจุนด้วยกัน ทั้งหมดทั้งสิ้น


"ฟ้าคู่" ในความหมายของ "มังกรคู่" หรือ "มังกรบูรณา ที่มุ่งเชี่ยวชาญทั้งบุ๋น และบู๊ไปพร้อมๆ กัน


"ฟ้าคู่" ในความหมายของ เอกภาพระหว่างการทำตัวเป็นปกติกับการคงความเป็นนักรบอย่างประสานกลมกลืน


"ฟ้าคู่" ในความหมายของ การเป็นหนึ่งเดียว ระหว่างสิ่งหนึ่งกับทุกๆ สิ่ง ระหว่างโลกียธรรมกับโลกุตรธรรมระหว่างทักษะกับวิถี ระหว่างชีวิตกับความตาย ทั้งหมดล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน


มูซาชิคือ เสรีชนคนกล้าที่แท้จริง คนหนึ่ง ความเป็นเสรีชนของมูซาชิเห็นได้ชัดจากคำกล่าวของตัวเขาเองที่ว่า ตัวเขา ใจเขา ไม่เคยห่างจากวิถีของฟ้า แต่ก็ไม่เคยถูกผูกมัดด้วยวิถีของฟ้า นี่คืออิสรภาพ และเสรีภาพขั้นสูงสุดอย่างแท้จริง หลังจากกลายเป็นเสรีชนที่แท้จริง การดำเนินชีวิตหลังจากนั้นของมูซาชิล้วนเป็น "ลีลาสมาธิ" ของตัวเขาเท่านั้น


วิถีของมูซาชินั้น เริ่มต้นจากวิถีของดาบ ที่ตัวเขาฝึกฝนเจาะลึกราวกับขุดค้นลงลึกใต้ดินเข้าไปลึกสุดลึก จวบจนกระทั่งเมื่ออายุห้าสิบ ตัวเขาจึงสามารถค้นพบ "ตาน้ำ" หรือแหล่งน้ำพิสุทธิ์ที่อยู่ล้ำลึกใต้พิภพนั้นได้ หลังจากค้นพบแหล่งน้ำใสอันนี้แล้ว เขาจึงนำมันไปใช้ประโยชน์กับศิลปะแขนงอื่นๆ ที่ตัวเขาฝึกฝนศึกษาอย่าง "พหุปัญญา" จนกลายเป็น "โลกของมูซาชิ" ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว


...ชีวิตนี้ของข้าพเจ้า มีวาสนาได้รู้จักเรื่องราวและผลงานของท่านนับว่ามิเสียชาติเกิดแล้ว!











Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้