หลวงปู่ : ทางรอดอันศักดิ์สิทธิ์
("หลวงปู่" ผู้เป็นคุรุของผมได้บอกกับผมว่า ข้อเขียนของท่านที่ชื่อ "พลังบุญ พลังจิต" ที่ผมจะนำมาถ่ายทอดต่อไปนี้ ได้แฝงไว้ซึ่งเคล็ดวิชาชั้นสูงสุดของพระพุทธศาสนาเอาไว้ จึงขอให้พวกผมอ่านและศึกษาซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกระทั่งตีความหมายที่แฝงเร้นไว้ในข้อเขียนอันนี้ออกมาให้ได้)
พลังบุญ พลังจิต
โดย "เฒ่าไม้แห้ง" (นามปากกาของ "หลวงปู่")
(1) คนที่รู้จักพลังอมตะและพลังอนันต์นั้นไม่มีหรอก หาได้น้อย ส่วนใหญ่เขาจะสอนให้เราทำบุญเฉยๆ ไม่ให้เราเข้าใจถึงพลังอันวิเศษเหล่านั้นหรอกว่ามันมีคุณชาติความสามารถที่จะช่วยปลดปล่อยเราได้อย่างไร ถ้าจะบอกว่ามันเป็นเคล็ดลับของธรรมะแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์หรือไม่ ก็ต้องบอกว่ามันยิ่งกว่าเคล็ดลับ มันคือหัวใจของพระพุทธเจ้าหรือเปล่า ? มันไม่ใช่หัวใจของพระพุทธเจ้าแต่มันคือไขกระดูกของพระพุทธเจ้า มันอยู่ลึกยิ่งกว่าหัวใจของพระพุทธเจ้าและมันคือหัวใจของพระพุทธะผู้ยิ่งใหญ่ทุกองค์ที่อยู่ในจักรวาล มันคือไขกระดูกของพระพุทธะผู้ยิ่งใหญ่ทั้งปวง มันคือโครงสร้างของพระโพธิ์ญาณ มันคือจิตวิญญาณของพระปัจเจกโพธิ และมันคือเลือดเนื้อของพระสาวกสัมมาสัมพุทธผู้ที่ต้องทำหน้าที่ถ่ายทอดสู่อนุชนรุ่นหลังต่อไป
(2) สติคือประตู เมื่อเห็นลมพัดมา มักจะเอาฝุ่นละอองเข้ามา มันจะพาเอาฝุ่นสาดเข้ามา มันจะพาเอาโจรเข้ามา ถ้ารู้ว่ามันเป็นโจร เราก็รีบปิดประตูผู้นั้นมีสติ แต่ถ้าลมพัดมา ฝนสาดมา โจรเข้ามา แต่ไม่มีประตูจะปิด นั่นคือคนไม่มีสติ และเราก็จะโดนปล้นสดมภ์ความเป็นไทของเราออกไปพวกนี้มันจะมาทำให้เราเปียก ฝุ่นเปรอะเรา ขยะก็เต็ม และเป็นมลภาวะภายใน เพราะฉะนั้นถ้าจะถามหลวงปู่ว่า สติคืออะไร มันคือประตูกับหน้าต่าง คนมีสติก็คือคนที่คอยปิดประตู ปิดหน้าต่าง คนไม่มีสติก็คือคนที่ไม่มีประตู ไม่มีหน้าต่าง พอมันไม่มีประตู ไม่มีหน้าต่าง มันก็มีแต่ช่องโล่งๆ ที่อะไรจะเข้ามาก็ได้ และอะไรมันจะออกไปก็ได้โดยไม่ใส่ใจ ไม่สนใจ หรือไม่รู้จักไม่เข้าใจ จนสุดท้ายก็กลายเป็นว่าเสียใจ ขาดใจ ไม่หายใจ
(3) เพราะฉะนั้นการที่พระศาสดาให้เรามีสติ ก็คือ รู้จักเปิดปิดประตูหน้าต่างนั่นเอง ถ้าเรารู้ว่าคนข้างหน้าเรามันเป็นโจร ถ้าเราต้องการจะพูดกับโจรว่าอย่าให้โจรมันมาปล้นเราเราก็ต้องเตรียมเนื้อเตรียมตัวที่จะระแวดระวังภัยจากโจร นั่นแสดงว่า เราเริ่มจะมีสติ แล้วคอยปิดประตูหน้าปิดหน้าต่าง แล้วคอบแง้มทองหาทางหนีทีไล่ แต่ถ้าเราคุยกับใครไม่ว่าเขาจะพูดดีก็ตาม ชมก็ตาม หรือนิยมนินทาก็ตาม เราเปิดให้เขาเข้ามานั่งในบ้านแล้วฝอยจนกระทั่งน้ำลายเป็นฟอง พอเขากลับไป แต่เรายังมีหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคำพูดของเขาอยู่ นั่นแสดงว่า เราไม่มีประตู ไม่มีหน้าต่างไม่รู้จักเลือกว่าให้ใครเข้าบ้าน ไม่รู้จักปฏิเสธว่าใครควรจะออก เพราะฉะนั้น คนคนนั้นไม่มีพลัง เสียพลัง ไม่รู้จักใช้พลัง
(4) ก่อนที่เราจะมาพูดถึงพลัง จึงควรจะต้องพูดถึงประตูกับหน้าต่างก่อน ก่อนที่จะมาพูดถึงสมบัติในบ้าน ถ้าจะมาบอกว่าเปรียบระหว่างพลังกับประตูกับหน้าต่าง สมาธิก็คือพลัง พลังก็คือสมบัติในบ้าน สติก็คือประตูหน้าต่าง คือรั้ว คือข้างฝา คือหลังคา คือพื้น คือสิ่งแวดล้อมที่รักษาพลัง ถ้าหากมันไม่มีรั้ว ไม่มีหลังคา ไม่มีฝา ไม่มีประตู ไม่มีหน้าต่าง มีแต่เพชรวางไว้กลางแจ้งอยู่ไม่ได้เดี๋ยวใครก็ขโมยไป เปรียบเหมือนคนที่อยากฝึกพลัง แต่ไม่มีสติก็ใช้ไม่ได้
(5) เพราะฉะนั้น หลวงปู่จึงพูดได้ว่า พระที่วิเศษไม่ใช่พระหลวงพ่อ ไม่ใช่พระเหรียญห้อยคอ แต่มันคือพระสติ คนที่มีพระสติไม่เตะแก้วแตก คนที่มีพระสติไม่เดินแล้วให้ชาวบ้านเขามาตีหัวเราแตก คนที่มีพระสติมักไม่ทำตัวแปลกให้ใครตำหนิ ติหรือชม คนมีสติไม่ทำให้ใครนิยม ยอมรับ คนที่มีสติคือคนที่ทำตัวให้เป็นตัวของตัวเอง รักษาพลัง สั่งสมพลัง ดูแลพลัง และค่อยๆ จะใช้พลัง เรื่องของพลังอนันต์ พลังอมตะ พระสติ พระจิตวิญญาณนั้น ฟังเผินๆ เหมือนมันอยู่ในเรื่องเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วมันทำหน้าที่กันคนละเรื่อง ต้องเข้าใจให้ถ่องแท้
(6) มีผู้คนถามว่า บุญถ้ามีพลังจะเขียนออกมาได้เป็นสมการได้ไหม ? หลวงปู่ก็ตอบไปว่า มันคงจะไม่ได้ เหตุผลก็เพราะสมการเป็นตัวเลข มันเป็นการแสดงสิ่งวัตถุ เป็นค่าของวัตถุ แต่บุญคือพลังงาน เราไม่สามารถเอาสมการมาเทียบเคียงวัดค่าของบุญได้ แต่เราสามารถสัมผัส สามารถรับรู้ถึงพลังแห่งบุญได้ ตัวอย่างเช่น ผู้มีบุญ คนมีบุญ ผู้ใจบุญ ถ้าอยู่ใกล้ใคร เขาก็จะให้พลังที่สงบสุขและสันติต่อผู้อยู่ร่วมและอยู่ใกล้ รวมความแล้ว ผู้มีบุญอยู่ใกล้กับสัตว์ตนใดสัตว์ตนนั้นก็จะสงบสุข สันติ และฉลาด คำว่าสันติ สุข สงบ และฉลาด ไม่สามารถสร้างเอาสมการมาเปรียบเทียบและวัดได้ ซึ่งมันต่างจากวัตถุ หากถามว่า ระหว่างพลังบุญกับพลังจิตเหมือนหรือต่างกันอย่างไร คำตอบก็คือต่างกัน บุญมีกรรมเป็นเจ้านาย บุญมีกรรมเป็นผู้ควบคุม กรรมคือการกระทำของคนและสรรพสัตว์ เป็นผู้ควบคุมพลังบุญ
(7) ระหว่างนิวตรอน โปรตรอน และอิเล็กตรอน เราว่ามันละเอียดอ่อนลุ่มลึก และก็มีพลังเยี่ยมแล้วมันก็ไม่สามารถเทียบเท่าค่า ราคา และความละเอียดอ่อนของบุญ ซึ่งเป็นพลังงานอนันต์ของสรรพสัตว์ พระพุทธเจ้าแผ่นดิน บุญมีความละเอียดอ่อนยิ่งกว่าโปรตรอน นิวตรอน และอิเล็กตรอน และพลังของบุญก็มีความละเอียดอ่อนยิ่งกว่า
(8) มีผู้ถามต่ออีกว่าระหว่างบุญกับจิต อันไหนมีพลังเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร ? คำตอบก็คือ ไม่เหมือนต่างกัน พลังบุญเป็นอาหารของต้นไม้ บุญเป็นอาหารของจิต แต่พลังจิตเหนือกว่าพลังของบุญ พลังแห่งจิตเป็นพลังอมตะ พลังแห่งจิตไม่มีใครทำลายได้ พลังแห่งจิตเหนือกว่าพลังอนันต์ จิตทุกตนมีพลังอมตะและเท่าเทียมกัน ต่างกันที่คนคนนั้นจะเข้าถึงจิตมากน้อยแค่ไหน ต่างกันตรงที่คนคนนั้น สัตว์เหล่านั้น บุคคลนั้นจะเปิดประตูแห่งวิญาณไปรู้จักหน้าตาแห่งจิตแท้ๆ อย่างละเอียด หยาบ สุขุม ลึก หรือรู้จักแบบความไม่มี เพราะฉะนั้นพลังจิตเป็นพลังอมตะไม่มีพลังใดในโลกจักรวาลสามารถมาทำลายได้
(9) บุญมีลักษณะพิเศษคือ น้ำท่วมไม่หายโจรปล้นไม่ได้ ไฟไหมไม่หมด แต่จิตพิเศษยิ่งกว่า เพราะไม่สามารถเอามาเป็นประโยค เป็นตัวอย่างได้เลย เหตุผลก็เพราะจิตไม่มีรูปร่าง มันเหมือนกับสุญญากาศ จิตยิ่งกว่าสุญญากาศพระพุทธเจ้าเรียกมันว่าสุญตา คือ ความว่าง ความโปร่ง ความโล่ง ความเบาและสบาย มันยิ่งกว่าสุญญากาศ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เข้าถึงพลังจิตก็คือผู้ที่เข้าถึงพลังแห่งสุญตา เป็นอมตะ เป็นนิรันดรไม่มีผู้ใดทำลายล้างได้
(10) พลังจิต ผู้เข้าถึงมันก็คือ ผู้เข้าถึงจักรวาลผู้ที่ถึงกาแลคซี่ทางช้างเผือก และก็ถึงอนันต์จักรวาล เพราะพระศาสดาเป็นผู้เข้าถึงพลังจิตพระองค์จึงเรียกขานตัวเองว่า เราคือโลก โลกคือเรา จิตคือโลก โลกคือจิต จิตคือเรา เราคือโลก เรา เพราะฉะนั้นผู้ที่เข้าถึงจิต ซึ่งเป็นพลังอมตะ ย่อมแจ่มแจ้งและเข้าใจ และแสดงพลังแห่งโลกได้ เปรียบประดุจดังชี้ให้คนดูลายมือในฝ่ามือตน ซึ่งต่างจากผู้เข้าถึงพลังอนันต์ นั่นก็คือ คำว่า "บุญ" เพราะผู้เข้าถึงพลังแห่งบุญ ก็คือ ผู้ที่เข้าถึงอาหารแห่งจิต ต้องบอกกันตรงๆ ชัดๆ ก็คือ บุญเป็นอาหารแห่งจิต เหมือนดั่งแสงแดดเป็นตัวการหรือเป็นตัวกลางสำหรับปรุงอาหารให้กับต้นไม้เหมือนดั่งธาตุอาหารที่อยู่ในต้นไม้ เปลือกไม้ รากไม้ เยื้อไม้ และลำต้นแห่งไม้ เพราะฉะนั้นบุญจึงเป็นเหตุแห่งจิต บุญจึงเป็นเหตุแห่งพลังในจิตและจิตเป็นผลแห่งบุญ ทั้งจิตและบุญถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน ตัวอย่างเช่นผู้มีบุญ ผู้มีใจบุญ ผู้เจริญในบุญย่อมมีจิตที่สะอาด สงบ และก็สว่างเพราะว่าจิตแห่งผู้ที่เปี่ยมล้นด้วยบุญ ย่อมเป็นจิตที่ไม่อาฆาต ไม่พยาบาท ไม่ริษยา ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ละโมบ ไม่เป็นคนมักหลง และไม่เป็นคนขี้โกรธ จิตที่ปราศจากขยะเหล่านี้ ย่อมเป็นจิตที่เปล่า เข้าขั้นสุญตา แต่ยังไม่ถึงสุญตา เพราะเหตุยังมีอัตตา (ความมีตัวตน)
(11) สุญญากาศ ไม่ใช่สุญตา เพราะระหว่าง สุญญากาศกับสุญตายังห่างไกลกันหลายอสงไขย (นับไม่ถ้วน)แห่งแสง ซึ่งมันต่างกันมาก แต่เราไม่สามารถใช้ศัพท์อันใดเรียกขานมันได้ว่า อะไรคือสุญตา อะไรคือสุญญากาศ ซึ่งในที่นี้ต้องบอกว่า มันมีเวลาที่ห่วงไกลเนิ่นนานกันขนาดนั้น ผู้ที่มีจิตเป็นบุญ มีบุญอยู่ในจิต หรือมีบุญอยู่ในใจ เป็นผู้มีบุญอยู่ในวิญญาณ ในชีวิต ในการกระทำในการที่พูด และสูตรที่ตนคิด ย่อมมีพลังจิตที่อยู่สูงกว่า พลังอนันต์ แห่งบุญนั้นก็คือเข้าถึงพลังแห่งอมตะซึ่งไม่มีใครสามารถทำลายล้างมัน ให้ตายดับสูญลงไปได้ ผู้ที่มีพลังจิตย่อมมีอำนาจพลิกโลกให้ดำเป็นขาว ให้มืดเป็นสว่าง ให้ยาวเป็นสั้น ผู้มีพลังจิตย่อมมีอำนาจเหนือสรรพสิ่ง สรรพวัตถุ สรรพชีวิต และสรรพธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวง ผู้ที่เข้าถึงพลังจิตย่อมเหนือกว่ามัจจุราชทั้งปวงในโลกและในจักรวาล
(12) พระศาสดาจึงอาจที่จะอยู่ได้เป็นพันปี ตัวอย่างเช่น ก่อนพระองค์จะปรินิพพาน พระองค์ได้แสดงบุพนิมิตเพื่อเตือนให้พระนนท์ทูลอาราธานาให้พระองค์มีชีวิตอยู่ พระองค์เตือนพระอานนท์หลายครั้งเรื่องบุพนิมิต ด้วยอาธาน ด้วยกิริยาอาการ และสุดท้ายด้วยวาจา แต่พระอานนท์มีปัญญาที่ไม่แจ่มชัดมีญาณอันไม่หยั่งทราบได้ จึงได้กราบทูลอาราธนาให้พระองค์มีชีวิตอยู่ และพระองค์ก็แสดงไว้ในมหาปรินิพพานสูตรว่า
"ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ดูกรสารีบุตร เราตถาคตมีอำนาจเหนือมัจจุราชทั้งปวง
อาจกล้าและสามารถอยู่ได้เป็นหมื่นปีแสง เป็นพันไขย โดยไม่ดับสูญและตายจากร่างกายหรืออัตตาภาพปัจจุบัน"
นั่นเป็นการแสดงออกว่า พลังแห่งจิตยิ่งใหญ่เหนือสรรพวัตถุ สรรพธรรมชาติ สรรพวิญาณ และสรรพมัจจุราชทั้งปวงของผู้ที่เข้าถึงพลังอมตะ ซึ่งก็คือพลังจิต ดังนั้น พลังจิตกับพลังบุญจึงต่างกัน แต่เป็นเหตุและผลของกันและกันบุญเป็นพลังงานอนันต์ ทำให้คนเป็นพระเจ้า ทำให้ยาจกเป็นพระราชา ทำให้คนธรรมดาเป็นคนเหนือคนธรรมดา ทำให้คนใกล้ตายกลับไม่ตาย บุญเป็นพลังงานอนันต์ที่ทำอะไรๆ ของใครๆ ที่ปรารถนาให้สำเร็จลุล่วงไปได้ตามความประสงค์ แต่บุญก็ยังเป็นพลังที่รองลงมาจากพลังงานอมตะแห่งจิต เพราะฉะนั้น
"ผู้ที่เข้าถึงจิต ผู้ที่รวมจิต ผู้ที่รู้จักจิต ผู้ที่เข้าใจจิต
ก็คือ ผู้ที่เข้าใจโลกและมัจจุราช"
(13) ถึงแม้ว่าเราจะปฏิเสธการเรียนรู้เรื่องจิต แต่ทุกคนมีพลังจิต แต่ไม่ได้พัฒนา ถึงแม้เราจะบอกเราไม่รู้จักพลังจิต แต่ทุกคนก็มีพลังชนิดนั้นอยู่แต่ไม่รู้จักวิธีใช้ ถึงแม้เราจะบอกกับใครๆ ว่าเราไม่รู้ว่าอะไรคือจิต อะไรคือพลังแห่งจิต แต่จริงๆ แล้วเราใช้มันอย่างฟุ่มเฟือย และไม่รู้จักรักษาเพิ่มเติมสะสม เพราะฉะนั้น พระศาสดาจึงสอนให้เราเข้าถึงจิตของตนและพระองค์ก็ทรงชี้ประโยชน์แห่งการเข้าถึงจิตของตนว่าคนคนนั้น สัตว์ประเภทนั้น ท่านเหล่านั้นจะดับและเย็น นั้นคือ นิพพาน ซึ่งผู้มีบุญไม่มีนิพพาน พลังอนันต์ไม่สามารถผลักดันให้ถึงนิพพานอันแปลว่าดับและเย็นได้ มีพลังงานชนิดเดียวเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงนิพพานได้ นั่นคือ พลังแห่งจิตซึ่งต้องได้รับการฝึกปรือ ขัดเกลาพัฒนา ได้มาจากอัตภาพร่างกายและวาจาใจแห่งนี้ พลังงานวิเศษซึ่งเป็นพลังงานอมตะนั้น ไม่ใช่ได้มาจากที่อื่น ไม่ใช่ได้มาจากครูคนใด ไม่ใช่ได้มาจากพระพุทธเจ้าประทานให้แต่ได้มาจากหัวใจที่เอื้ออารีและหัวใจที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณงามความดี ที่เราเรียกขานกันว่าผู้มีบุญ และมันก็ได้มาจากการทำกรรมดีที่เรียกว่า ทำบุญ สุดท้ายไม่ยึดติดในคำว่าบุญ ไม่หลงไหลในคำว่าบุญ จนกระทั่งสุญญากาศ และก็ยกระดับขึ้นไปสู่คำว่าสุญตา อันแปลว่า ว่างและไม่มีอะไร
(14) กระบวนการฝึกปรือจิตต้องเริ่มจากการดัดกาย วาจา ใจ ของตนให้เปี่ยมเต็มไปด้วยคำว่าบุญ เพราะบุญเป็นอาหารแห่งจิต และเราจะนำเอาร่างกายไปออกรบเราจะนำเอาร่างกายไปอดตาหลับขับตานอน ไปฝึกปรือ ไปทำกิจกรรมใดๆ แต่ถ้าร่างกายขาดสารอาหาร เราก็มิอาจนำเอาร่างกายและอัตภาพนี้เดินทางไกล หรือไปทำอะไรๆ รบแล้วไปเอาชนะใครได้เลย พระศาสดาจึงสอนให้เราปฏิบัติหลักธรรมซึ่งเรียกว่า กุศล อันแปลว่า ทำดี ทำด้วยความชาญฉลาด และเลือกที่จะทำบุญ พอฉลาดแล้วก็ทำดี พอทำดีแล้วก็เป็นบุญ ซึ่งแปลว่า อิ่ม เต็ม สุขสบายในหัวใจ เมื่อเรามีอาหารเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิต มีอาหารเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงร่างกาย ย่อมเป็นที่แน่นอนเกินกว่าว่า ร่างกายของเราจิตของเราย่อมเดินไปสู่ประตู แห่งวิญญาณ ไปสู่พลังอมตะ และไปสู่จุดมุ่งหมายแห่งจิตวิญาณของตนได้ อย่างชนิดที่ไม่ย่นย่อ ไม่ท้อแท้ท้อถอย ไม่เหนื่อยหน่าย และไม่อ่อนแอ เพราะเรามีพลังฝึกพร้อม มีอาหารเต็มเปี่ยมในหัวใจ ในกระเพาะ และในวิญญาณของเรา เพราะฉะนั้น " จงสะสมบุญเพื่อฝึกจิต" นี่คือประโยชน์ของพระพุทธะยิ่งใหญ่ ที่สอนให้เราทั้งหลายได้กระทำ
(15) เราจึงต้องมีนักบวช มีปฏิคาหก(ผู้รับทาน) ผู้รับที่จะทำหน้าที่จะพัฒนาบุญ ทำหน้าที่บริหารบุญ และทำหน้าที่ให้บุญต่อทายก คือผู้ให้เพื่อจะนำที่ต้องการไปสู่พลังงานอมตะ ข้ามก้าวล่วงพ้นพลังงานอนันต์ที่มี นั่นคือ หน้าที่ของสาวกแห่งพระศาสดาที่จะมาพาลูกหลาน ญาติ และพุทธบริษัททานทั้งหลาย เข้าสู่ประตูแห่งธัญญาชาติ ประตูแห่งอาหาร ประตูแห่งความมั่นคงอุดมสมบูรณ์ คือ ประตูแห่งคำว่าบุญ แล้วก็อาศัยจิตที่เอื้ออาทรและอารีสุดชีวิตทึ่อยู่ในหัวใจของคำว่าสาวกของพระศาสดา สอนให้ผู้ที่เข้าสู่ประตูของคำว่าบุญ ก้าวล่วงล้ำไปในคลังบุญ เข้าไปสู่ประตูแห่งวิญญาณสุญตา คือ ความว่างเปล่า เมื่อนั้นวิญาณนั้น สัตว์ตนนั้น เขาผู้นั้น คนคนนั้น ท่านท่านนั้น ก็จะถึงคำว่านิพพานอันแปลว่า ดับและเย็น
(16) ผู้มีบุญเท่านั้นจึงจะถึงพลังแห่งจิตพระพุทธเจ้าจึงสอนให้เราทำบุญ 10 อย่าง คือ
1. ให้ทาน 2. รักษาศีล
3. ฟังธรรม 4. แผ่เมตตา
5. เจริญภาวนา 6. ทำหน้าที่ของ พ่อ แม่ ลูกๆ
7. อ่อนน้อมถ่อมตน 8. ยินดี เมื่อ เห็น คน อื่น ทำดี
9. ปฏิบัติธรรม 10. ทำความเห็นของตนให้ตรง ถูกต้อง
นี่คือวิธีเข้าถึงพลังอนันต์ ถ้าเปรียบเป็นวิทยาศาสตร์ มันก็เหมือนกับกระสวยอากาศ ยานอวกาศที่ไปพ้นจากแรงดึงดูดของโลก เพื่อก้าวล่วงข้ามไปสู่โคจรแห่งจักรวาลได้ ก็ต้องอาศัยเชื้อเพลิงมันผลักดันเอากระสวยอวกาศให้หลุดออกไปได้แล้ว นักวิทยาศาสตร์ก็จะใช้วิธีคำนวณเพื่อจะให้สกัดหลุดจากแหล่งเชื้อเพลิงอันนั้น ต่อไปก็จะเดินทางด้วยพลังอีกชนิดหนึ่ง นั่นก็คือ พลังบุญ เป็นพลังงานที่จะผลักดันเอากระสวยอวกาศให้พ้นจากแรงดึงดูดของโลกจิต เมื่อกระสวยอวกาศพ้นจากแรงดึงดูดของโลกแล้ว ผู้ควบคุมยานอวกาศลำนั้นก็จะทำหน้าที่กดปุ่ม เพื่อสลัดเอาเชื้อเพลิงที่ติดมากับกระสวยอวกาศนั้น สลัดให้หลุดและทิ้งไป และก็จะใช้พลังงานชนิดใหม่ เพราะในอวกาศไม่มีแรงดึงดูดเป็นระบบสุญญากาศ ต้องใช้เชื้อเพลิงชนิดใหม่ที่เบา แข็งแรง มีพลัง และต้านแรงกดดันได้เป็นเยี่ยม และเชื้อเพลิงชนิดนี้ต้องเปียบได้ว่าเป็นพลังจิตเพราะฉะนั้นพวกเรามีหน้าที่ที่จะทำให้หลุดไปจากโลกนี้ให้ได้ แล้วพลัง 2 ชนิดนี้จะทำให้เราหลุดออกไปจากโลกนี้ก็คือ พลังอนันต์ คือพลังบุญ กับพลังแห่งจิต นั้นคือพลังอมตะ พวกเราก็เหมือนกันมีหน้าที่ที่จะพัฒนาชีวิตไปสู่พลัง 2 ชนิดนี้แล้วก็เป็นหน้าที่ที่พระศาสดาองค์พระสัมมาสัมพุทธะผู้ยิ่งใหญ่สืบทอดและสั่งการกันต่อๆ มาในตระกูลศากยะ และชาวพุทธะทั้งหลายให้รู้และเข้าใจ
(17) ความเกิดเป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ไม่สบายเป็นทุกข์ ความสมหวังและไม่สมหวังเป็นทุกข์ นี่คือความทุกข์ที่อยู่ในโลกนี้ ถ้าเราเห็นว่าโลกนี้เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าให้พลังวิเศษ 2 ชนิด เพื่อที่จะให้พ้นจากโลกนี้ เหมือนนักวิทยาศาสตร์เห็นว่า โลกนี้แคบไม่ต้องไปหาโลกใหม่ที่จะอยู่อาศัย ก็สร้างจรวจขึ้นมาและหาพลัง 2 ชนิดขึ้นมาใช้ ซึ่งเหมือนกับพระพุทธเจ้าเมื่อ 2,000 กว่าปีก่อนพระองค์ก็ทรงคิดขึ้นมาว่า พลังที่จะผลักเอาจิตวิญาณของมนุษย์ให้พ้นจากโลกนี้ได้มีอยู่ 2 ชนิด ชนิดแรกคือพลังอนันต์ ซึ่งเรียกกันว่าบุญ ชนิดที่ สองเรียกกันว่าพลังจิต หรือพลังอมตะ เพราะฉะนั้นเรามีหน้าที่ที่จะพัฒนา พลัง 2 ชนิดนี้ ให้อยู่ในจิตวิญาณของเราให้ได้เรามีหน้าที่ตรงนั้นอย่างนั้น เราสาวกแห่งศากยะทั้งปวงก็มีหน้าที่ที่ทำการชี้นำ อบรม สั่งสอนและเผยแผ่วิธีทางแห่งความหลุดพ้นชนิดนี้ให้กับหมู่สรรพสัตว์ สรรพชีวิตทั้งหลาย ได้รับรู้ เพื่อจะนำเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตของตนกับคนทั้งปวง นี่คือหน้าที่เท่านั้นแหละ มันไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ เหมือนนักวิทยาศาสตร์ซึ่งมีหน้าที่พัฒนาวัตถุให้ลอยหลุดออกไปนอกโลกให้ได้เท่านั้นเอง
(18) นักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะมาคิดค้นหาวิธีการที่จะเอาสสารผลักดันสสารให้หลุดออกไปนอกโลก เขาเพิ่งจะคิดค้นได้ไม่กี่สิบปีมานี้ แต่จริงๆ แล้วพระองค์ทรงคิดค้นหลักการที่จะนำเอาจิตวิญาณและสสาร รวมทั้งพลังงานให้หลุดออกนอกโลกนี้ได้เมื่อสองพันกว่าปีก่อน พระองค์จึงเป็นสัพพัญญู (ผู้รู้หมด) เป็นมนุษย์ที่ยอดมนุษย์ เป็นผู้ที่ทรงไว้ซึ่งพลัง 2 ชนิดอันวิเศษสุดในโลกและจักรวาล นั่นคือพลังงานอนันต์กับพลังงานอมตะ เราจึงไม่กล้าปฏิเสธพระองค์ได้เลยว่า พระองค์เป็นยอดมนุษย์เหนือมนุษย์ทั้งปวง ระบบวิทยาศาสตร์ที่มาคิดค้นกันทีหลังก็เป็นแค่ตามก้นพระองค์ หรือรอยเบื้องยุคบาทพระองค์เท่านั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นความรู้เรื่องแสง ความไวของเสียง และความเร็วของพลังทั้งปวงในจักรวาลพระองค์ทรงรู้คิดค้นและก็เข้าใจมาก่อนเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว เพราะฉะนั้นคนยุคนี้กำลังเดินตามก้นคนโบราณ
(19) จึงขอให้รู้ว่าเรามีพ่อเรามีลูกหลานของตระกูลผู้ยิ่งใหญ่ในจักรวาล เมื่อใดที่เราเอ่ยนามของพระองค์ อรหันสัมมาสัมพุทธะ เมื่อนั้นเราก็กลายเป็นลูกหลานของพระผู้ยิ่งใหญ่ พระองค์ทรงเป็นผู้มีพระคุณอันประเสริฐสูงสุดในจักรวาล เราจะไม่รู้สึกกระดากปาก ไม่รู้สึกละอายที่จะกล่าวนามของพระองค์ถ้าเราทำตามที่พระองค์สอน ถ้าเราไม่ทำตามสิ่งที่พระองค์บอก ไม่พิสูจน์ทดสอบสิ่งที่พระองค์ทรงสอน จะมีประโยชน์อันใดเล่าที่เราจะ เอ่ยนามของพระองค์วันละหลายล้านครั้ง มันคงไม่มีประโยชน์อันใดกับเราเลย ชั่วชีวิตหลวงปู่รู้สึกภาคภูมิเป็นอย่างยิ่งกล้าที่จะประกาศให้คนทั้งโลกและจักรวาลได้รับรู้ว่า เราคือตระกูลศากยะเราคือชาวศากยะ ซึ่งแปลว่า ผู้อาจ ผู้กล้า และไม่มีใครอาจจะกล้าเกินชาวศากยะไปได้เลยในจักรวาลนี้ ผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้สืบทอดจิตวิญญาณของพระพุทธะและส่งทอดกันต่อๆ ไป ถ่ายทอดกันต่อๆ ไป ก็คือ ผู้กล้าและผู้องอาจ ผู้มีความสามารถในจิตวิญาณของตน ยากและหาได้น้อยมากที่จะเข้าถึงสัจธรรมแห่งพลังงานอนันต์ ยากและหาได้น้อยมากในยุคปัจจุบันที่จะอธิบาย ชี้แจงและกล่าวแสดงเงื่อนไขแห่งพลังวิเศษ 2 ชนิดที่มีอยู่ในพระวรกายแห่งพระพุทธะผู้ยิ่งใหญ่ในอดีต
(20) หลวงปู่ไม่รู้สึกกระดากเลยที่จะพูดถึงพลังของพระพุทธะ จะไม่รู้สึกลำบากที่จะอธิบายในจิตวิญญาณที่มีอยู่ในพลังพุทธะ เพราะถือว่าเป็นการกล่าวนามประกาศเกียรติคุณในจิตวิญาณของพระองค์ให้ยิ่งใหญ่แผ่กว้างออกไปเพราะฉะนั้นหน้าที่ของพวกเราทุกคนก็คือ ถ่ายทอดจิตวิญญาณเข้าไปสู่จิตดวงหนึ่งและส่งทอดต่อๆกันไปกับจิตดวงหนึ่งเรื่อยๆ อย่างชนิดไม่จบสิ้น และพลังชนิดนี้มันก็จะยืนหยัดอยู่ในโลกได้อย่างชนิดช่วยสรรพสัตว์ ทำให้คน สัตว์ และสรรพชีวิตพ้นจากโลกนี้ไปได้