ไวยากรณ์พุทธะอิสระ

ไวยากรณ์พุทธะอิสระ


ไวยากรณ์พุทธะอิสระ

ในช่วงเวลาสี่เดือนที่ผมได้กลายเป็นศิษย์ของ "หลวงปู่" ผมได้ยินและได้ฟัง "หลวงปู่"
พูดถึงวิชาลม 7 ฐานอันเป็นสุดยอดวิชาของท่านใน 3 แง่มุมหรือ 3 แบบด้วยกันคือ

หนึ่ง วิชาลม 7 ฐาน ในฐานะที่เป็น วิชาเพื่อกายศักดิ์สิทธิ์ จิตศักดิ์สิทธิ์ และธรรมศักดิ์สิทธิ์


สอง วิชาลม 7 ฐาน ในฐานะที่เป็น ศิลปะในการดำรงชีวิต

สาม วิชาลม 7 ฐาน ในฐานะที่ประกอบขึ้นมาจากหลาย ๆ วิชาสำหรับการเป็นนักรบชัมบาลา คือวิชามวยแปดทิศ วิชาขันธมาร วิชาเท้านารี และวิชานิรรูป

ผมจะขอทบทวนวิชาลม 7 ฐานของ "หลวงปู่" จากแง่มุม 3 แง่มุมข้างต้นอีกครั้ง โดยพยายามอ้างอิงคำพูดของ "หลวงปู่" ที่กล่าวถึงสิ่งเหล่านี้ไว้อย่างกระจัดกระจายตามที่ต่าง ๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และจะพยายามนำเสนอในรูปของไวยากรณ์พุทธะอิสระ เพื่อเข้าใจวิธีคิดหรือกระบวนทัศน์ของ "หลวงปู่"

(ก) วิชาลม 7 ฐาน ในฐานะที่เป็นวิชาเพื่อกายศักดิ์สิทธิ์ จิตศักดิ์สิทธิ์ และธรรมศักดิ์สิทธิ์

"หลวงปู่" เคยกล่าวว่า วิธีการที่จะทำให้กายศักดิ์สิทธิ์นั้น เริ่มมาจากการฝึกปรือทุกอย่างให้เป็นกระบวนการของกาย จนกระทั่งมันกลายเป็นความกล้าแข็งแห่งจิต ทำให้จิตใจกล้าแข็ง มีอำนาจ ตบะ และพลังอยู่ในตัว ซึ่งเป็นจิตศักดิ์สิทธิ์ ก็จะเข้าถึง ธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ได้ เกี่ยวกับกาย หลวงปู่ได้เปรียบกาย เป็นเหมือนเมืองเมืองหนึ่งเรียกว่า นครกาย เอาไว้ดังนี้ว่า ศัตรูคืออุปทานอันร้ายกาจที่จะคอยมาดึงเอานครกายเป็นของมันตลอดเวลา เมื่อใดที่เจ้าเมือง(ใจ)ออกไปเที่ยวหลงระเริงอยู่นอกเมือง จะทำให้เกิดช่องว่างเปิดประตูในอุปทาน(ขุนโจรชาติ ชรา มรณะ) ยึดเมืองนี้ได้ ดังนั้น ถ้าเจ้าเมืองไม่มาดูแลปิดป้องสู้รบกับขุนโจรที่มีบริวารมหาศาลคือ นายราคะ โทสะ โมหะ ซึ่งมีฝีมือร้ายกาจก็จะโดนโจมตีโดยไม่รู้ตัว

เจ้าเมืองต้องกลับเข้ามาอยู่ในเมืองให้ได้ก่อน และทำความสงบให้เกิดขึ้นเพื่อ

(1) รักษาพลัง เอาความสงบสยบความวุ่นวายของพญามาร ต้องใช้ความสงบ สยบอานุภาพของโจรให้ได้รู้ว่า เจ้าเมืองไม่ได้ประหวั่นพรั่นพรึงเลย

(2) ใช้พลังที่ได้มาจากความสงบมาฝึกปรือองค์รักษ์ทั้งหลาย เพื่อส่งไปคุมตามประตูเมืองต่าง ๆ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ว่ามีอะไรคือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส มาแอบซุ่มอยู่หรือไม่ ส่งทหารเอกคือความสงบไปคุมประตูทั้ง 6 ไว้ก่อน

(3) สร้างความรู้แจ้งเห็นจริงให้เกิดแก่นายทหารเอก ว่าศัตรูทั้งหลายเข้ามาได้ ก็เพราะเราเองขาดความระมัดระวัง นั่นคือ ขาดความรู้ตัวทั่วพร้อมจนเกิดเป็นความปรุงแต่ง และเมื่อใดที่ใจไร้ความปรุงแต่ง ศัตรูก็ไม่สามารถจะเข้ามายึดครองนครกายนี้ได้เลย

เคล็ดของการฝึกกายให้ศักดิ์สิทธิ์นั้นอยู่ที่ การฝึกตน "หลวงปู่" บอกว่า

"ถ้าจะฝึกตน จงอย่าไปสนใจฟองน้ำลายบนปลายลิ้นใคร"

"ใคร ๆ ก็พูดได้แต่ใคร ๆ ก็ทำไม่ค่อยได้"

"รู้จริงทำจริงจึงเห็นผลจริง"

"ฝึกบ่อย ๆ ทำเรื่อย ๆ ทำเป็นนิจศีล ถึงเวลาพระธรรมก็เต็มเปี่ยมในภาชนะคือหัวใจที่ใสสะอาด"

"จงฝึกตนให้เป็นผู้มีใจเป็นเพชร แกร่ง และกล้า"

"อย่ามัวหาเวลาในการฝึกจิต แต่จงฝึกให้ได้ทุกเวลา ทุกอิริยาบถ"

"พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญการปฏิบัติบูชาว่า มีอานิสงส์ยิ่งใหญ่กว่าอะไรทั้งปวง จะทำให้เราหลุดพ้นจากภัยของวัฏฏะได้"

"น้ำไม่มีใครตักหยดเดียวแล้วเต็มตุ่ม ทุกสิ่งต้องใช้การสะสมตัวมันเอง การฝึกปรืออบรมจิตวิญญาณจึงต้องใช้เวลา"

"การจะทำสิ่งใดให้สำเร็จต้องสร้างกำลังใจแก่ตัวเองให้ได้ตลอดเวลา
อย่าฝากกำลังใจไว้กับอะไร ๆ วิธีคือทำทุกอย่างต้องทำจริง"

"เรียนรู้ตัวเอง รู้จักตัวเอง แจ่มแจ้งในตัวเอง สุดท้ายไม่มีในตัวเอง"

"รู้จักยังประโยชน์ตนได้เมื่อใด ประโยชน์ท่านก็ถึงพร้อมไปเอง"

"คนเรามีสมองอันกว้างไกล แต่มักชอบสร้างทฤษฎีมาเป็นกรอบกักขังตัวเอง ทำให้ไร้อิสระ
ในการพูด การกระทำและการคิด สุดท้ายก็ไร้สาระในการมีชีวิต"

"หากเธอมีใจอันหนักแน่น กายเธอจะเบาเหมือนสำลีที่ต้องลม"

"พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เราทำลายกิเลส แต่สอนให้ละตัดวางกิเลส
โดยไม่ยอมให้กิเลสมาใช้หรือมามีอำนาจเหนือเรา"

"ครูอาจารย์ที่ยิ่งใหญ่อยู่ในใจเราเอง"

"บ้านคือกาย เจ้าของบ้านคือใจ นครกายนี้เต็มไปด้วยหยากไย่ แถมเจ้าของบ้านยังปิดประตู
หน้าต่างเสียอีก จงเปิดใจให้กว้างเพื่อรับแสงสว่างจากครูผู้มีใจอารีภายในใจเรา"

"รู้จากใจนั้นมันได้มาจากการกระทำ มิใช่จากการทรงจำ คนที่รู้จากสมองจากการทรงจำ ถ้า
ไม่กระทำ ก็ไม่ซึมเข้าใจ"

เคล็ดการฝึกจิตให้ศักดิ์สิทธิ์นั้นขึ้นอยู่ที่สมาธิ "หลวงปู่" บอกว่าสมาธิเป็นการจัดระเบียบของสภาวะจิตให้เป็นระบบ สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างไม่สับสน เปรียบเหมือนดอกไม้ที่กระจัดกระจายอยู่แล้วนำมาเรียงร้อยจัดให้เป็นพวงมาลัย การมีชีวิตยืน เดิน นั่ง นอนได้นั้นแสดงว่าเรามีสมาธิกันอยู่แล้วแต่เป็นสมาธิทางโลก ไม่สามารถทำให้เราหยุดโกรธ อาฆาต ริษยา ฉุนเฉียว โง่ หลง หรือระงับความทุกข์ที่เก็บอยู่ลึก ๆ ได้ พระพุทธเจ้าจึงสอนสมาธิชนิดที่ทำให้หลุดพ้นจากอำนาจเกิดที่เป็นสมาธิแบบโลกุตระ โดยเริ่มจากการฝึกปรือ อบรม พัฒนา ลด ละ เลิก เว้นกรรมกิเลสที่เกิดจากโลภะ โทสะ โมหะ ค่อย ๆ พัฒนาจากคนสู่ความเป็นมนุษย์ผู้มีความเยือกเย็น สะอาด สงบ และไม่สับสน

สมาธิ คือ การสลัดให้พ้นจากบ่วง จากความร้อยรัดทั้งปวง โดยทำใจให้โปร่ง ว่าง ๆ สบาย ๆ ไม่ต้องบังคับชี้นำอะไรให้เกิดขึ้น เป็นสภาวะที่เกิดจากประสบการณ์ทางวิญญาณที่ปล่อยวาง เป็นความตั้งมั่นของอารมณ์ที่ไม่มีอะไรมารของสมาธิคือ เมื่อย เหนื่อย เพลีย ง่วง ร้อน หนาว ความงี่เง่าของอารมณ์ ลองหายใจลึก ๆ แล้วขังลมไว้จนทนไม่ได้ แล้วจึงค่อย ๆ ผ่อนออกมา การฝึกควาย เราจำต้องเอามันกลับเข้ามาในคอกก่อนจึงจะสนตะพายแล้วใช้งานมันเหมือนดั่งการฝึกจิต ต้องเอามันกลับมาอยู่กับกายให้ได้ก่อน

หลวงปู่บอกว่า เคล็ดสุดยอดของสมาธิแบบพระพุทธเจ้าคือ กายรวมกับใจ ใจที่ผูกไว้กับอะไร ๆ นั่นคือมารของสมาธิ "เมื่อเจอพระพุทธเจ้าในระหว่างสมาธิ ให้ฆ่าพระพุทธเจ้าให้ตาย" เรากำลังหาความสงบจากสมาธิ แต่กลับไปพบพระพุทธเจ้าเสียแล้ว นี่คือสิ่งที่ทำให้เราสับสน ใจเราแตกแยก เป็นตัวดึงใจออกจากกาย เราต้องดึงใจกลับมาอยู่กับกาย เพื่อดูตัวเองให้กระจ่ายชัดอย่างรวดเร็วและเฉียบขาด จงทำตัวดังภูเขาไท้ซานที่ตั้งตระหง่านโดยไม่ใส่ใจต่อแรงลมและพายุร้าย นั่นแหละคือ ผู้รู้จักสมาธิ ถึงแม้จิตจะตะลอน ๆ ออกไป แต่เมื่อใดที่กายได้รับความกระทบกระเทือน จิตจะกลับมาสู่กายเสมอ ตราบใดที่อิริยาบถยังสกปรกอยู่ อย่าได้มานั่งหลับตาเป็นสมาธิเลย อิริยาบถทุกลมหายใจต้องสะอาด หรือสะอาดทุกขณะจิตเกิดดับ อาการของการข่มให้เกิดสมาธินั้นพอมีอะไรปรากฏขึ้นมาทำให้คิดว่าเป็นสภาวะของการเข้าถึงตัวสมาธิ เช่น อาการตัวลอย นั่นไม่ใช่ของจริง เป็นเพียงมายานิมิต เป็นเครื่องหมายที่ได้มาจากการข่มไม่ใช่สมาธิล้วน ๆ ของพุทธะ หลวงปู่ได้ค้นพบว่าในขณะที่หลวงปู่มีชีวิตและจิตใจรวมเป็นสมาธินั้น ทุกสรรพสิ่ง สรรพชีวิต สรรพวัตถุ รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่มีแม้แต่กาลเวลา คงไว้แต่อารมณ์สมาธิ

วิธีหนึ่งของการฝึกสมาธิของ "หลวงปู่" ก็คือ การปล่อยใจไปตามอำนาจของธรรมชาติ ไม่มีอดีต……. ไม่มีอนาคต ให้ปรากฏแต่ธรรมชาติอันเป็นปัจจุบันเท่านั้น เช่น ลมพัดใบไม้ กลิ่นอายของแผ่นดิน หินผา เสียงลมพัดใบไม้ไหว ให้มันเป็นธรรมชาติที่เป็นธรรมชาติจริง ๆ โดยไม่ต้องไปเปรียบกับสิ่งอื่น เราเพียงแต่รู้สัมผัสมัน ลึกซึ้งมัน เข้าใจมัน แต่ไม่ต้องปรุงมัน ไม่ต้องเติมแต่งแต้มสี นี่คือ "การซึมซับพลังและวิถีทางของธรรมชาติ" สมาธิที่ดีไม่ควรจะมีเฉพาะตอนนั่งหลับตามันควรจะอยู่กับทุกอิริยาบถอย่างสม่ำเสมอ จนกลายเป็นปกติธรรมดา วิธีการก็คือ ไม่ควรจะไปดูผู้อื่น สิ่งอื่น ควรเพ่งความรู้สึกทั้งหมดลงไปภายในตัวและสิ่งที่ตนกำลังกระทำ การนั่งหลับตาหาได้นำพาชีวิตให้พ้นจากวัฏฏะไม่ แต่มันต้องเป็นอิริยาบถที่สะอาด หรือเป็นกรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่อความชั่วช้าเศร้าหมองโดยยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อม อารมณ์ในสมาธิจะต้องเป็นหนึ่งเดียวกับกาย ไม่ใช่หนึ่งเดียวกับสิ่งอื่น ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า พระสงฆ์ ธรรมชาติ จักรวาล โลก พลัง หรืออะไร ๆ แต่เป็นปฏิปักษ์ต่อกายตัวเองนั้นใช้ไม่ได้

เคล็ด กายรวมใจ อันเป็นสุดยอดวิชาสมาธิของลม 7 ฐาน ที่ "หลวงปู่" ถ่ายทอดไว้มีดังนี้

"กายรวมใจ คือการนำใจหรืออารมณ์เข้าไปซึมสิงในอิริยาบถ ซึ่งก็คือการกระทำที่เต็มไปด้วยความเอื้ออาทร ความเสียสละ การุณย์ต่อสรรพสัตว์และการนำใจเข้าไปซึมสิงในวาจา เป็นการพูดในสิ่งที่เจริญ เพื่อทำลายความเสื่อมเพื่อให้เกิดความรื่นเริงในธรรม"

"กายรวมใจ คือการกระทำกุศลกรรมอย่างรู้เนื้อรู้ตัว หรือจะเรียกว่าการทำอิริยาบถให้สะอาด"

"กายรวมใจ คือ การใส่อารมณ์เข้าไปในการกระทำ (กาย) และคำพูด (วาจา) ซึ่งเป็นอารมณ์ล้วน ๆ ที่ไม่มีอะไร"

"กายรวมใจ คือ วิธีเปิดประตูของธรรมชาติและนิพพาน"

"ในสภาวะที่กลัวที่สุดที่อาจจะทำให้ประสาททุกส่วนตึงเครียด ถึงขั้นหัวใจวายตาย หากใครเอาชนะได้ มันจะกลายเป็นสภาวะที่กล้าที่สุด เพราะกายได้รวมกับใจอย่างสนิทแนบแน่นจนกลายเป็นพลัง"

"หลวงปู่" เคยกล่าวไว้ว่า กายศักดิ์สิทธิ์ จิตศักดิ์สิทธิ์ และธรรมศักดิ์สิทธิ์ เป็นคุณธรรมเบื้องสูงของผู้ที่คงแก่การฝึกปรือ ไม่ใช่ผู้ที่คงแก่เรียนเป็นคุณธรรมเบื้องสูงของเหล่าพระโพธิสัตว์ทั้งหลายผู้ที่มีกายอันศักดิ์สิทธิ์ ผู้มีจิตอันศักดิ์สิทธิ์และผู้ที่ถึงซึ่งธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ กายศักดิ์สิทธิ์ คือ ระเบียบวินัยที่เป็นวิถีทางที่จะนำให้เราเข้าถึงประตูแห่งความมีระเบียบแห่งกายและเป็นระบบในจิต การที่พวกเธอทั้งหลายได้ฝึกปรือตนเองให้มีความตื่นตัวของกายอยู่ทุกขณะจิตนี้แหละคือสภาวะของกายศักดิ์สิทธิ์ คำว่าตื่นตัวในที่นี้หมายถึง สภาวะที่เราเพียบพร้อมเต็มเปี่ยม ถูกต้องรวดเร็ว รวบรัด แต่เรียบร้อย เมื่อเราปลุกกายของเราให้เป็นผู้ตื่นตัว สุดท้ายก็เป็นผลแห่งใจที่จะต้องตื่นตามไปด้วย เราจะรู้สึกมีเสรีภาพมีอิสระที่กว้างไกล มีความสามารถอันยิ่งใหญ่ต่อขบวนการแห่งกายและใช้พลังงานของกายได้อย่างชนิดหมดจด คนที่มีระเบียบทางกาย หรือมีกายศักดิ์สิทธิ์แล้วมันจะเกิดระบบชนิดหนึ่งให้แก่จิต จิตตนจะเป็นผู้ที่มีความกล้าแข็ง อาจหาญ สุขุม รอบคอบ หนักแน่น มั่นคง ยิ่งใหญ่อยู่ในกระบวนการแห่งจิตที่เกิดจากกายที่เป็นระเบียบ กายกับใจจึงเป็นสายใยที่สัมพันธ์กันดุจดอกบัว เหง้าบัว สายบัว ใยบัว ถ้าเธอรู้จักการฝึกปรือทั้งกายและใจไปพร้อม ๆ กัน ก็จะเกิด ธรรมศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นผลจากขบวนการศักดิ์สิทธิ์ทั้งสองที่ประสมประสานสอดคล้องกลมกลืนสนับสนุน จึงเป็นพลังพิเศษผลักดันให้เกิดธรรมศักดิ์สิทธิ์ขึ้น ซึ่งไม่ใช่ธรรมที่เกิดจากอักษรภาษาหรือจากนิยามสัญญาความทรงจำ

เคล็ดของการทำให้ธรรมศักดิ์สิทธิ์เผยแจ้งออกมานั้นอยู่ที่การทำงาน "หลวงปู่" บอกว่าการทำงานเป็นการหล่อหลอมวิญญาณ ชีวิต ความรู้สึกนึกคิดรวมกับร่างกายให้เป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล เมื่อเราทำงาน งานจะสอนให้เราแกร่งมีจิตใจอาจหาญ อดทน มานะ เป็นผู้กล้า แต่ถ้าให้งานมันทำเรา ไม่นานงานก็จะโทรมเรา จงทำให้การทำงานของตนกลายเป็นธรรมะของตน กลายเป็นการพัฒนาพลังในกาย พัฒนาพฤติกรรม เปลี่ยนแปลงพลังในกายจากดำเป็นขาว จนถึงที่สุดคือ ความอิ่ม เต็ม ดับ และเย็น ธรรมะแท้ ๆ ไม่ได้มาจากสมองแต่มาจากใจล้วน ๆ ที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ทฤษฎีต่าง ๆ ที่มาจากสมองนั้นเปลี่ยนแปลงได้ตามเวลา ไม่เป็นสัจธรรม แต่อะไรที่เกิดจากจิตล้วน ๆ ไม่มีการโดนทำลาย ผู้ที่มีธรรมะจะไม่มีข้อแม้มาขีดคั่นระหว่างดี ชั่ว เลว หยาบ แต่จะอยู่ได้ทั้งสองสิ่งนั้น โดยสามารถหาประโยชน์ได้จากสิ่งเหล่านั้นในการใช้ชีวิต การทำงานต้องเปี่ยมไปด้วยสติ มีความเข้าใจระลึกรู้ต่อกิจที่ทำ คำที่พูด สูตรที่คิด อยู่ทุกขณะ รู้เท่าทันอารมณ์ตน ไม่เป็นทาสของอารมณ์ใด ๆ สามารถปลดปล่อยตัวเองได้ในพริบตาที่ต้องการ นี่แหละคือยอดคน

(ข) วิชาลม 7 ฐานในฐานะที่เป็นศิลปะในการดำรงชีวิต ได้แก่ การหายใจอย่างมีศิลปะ การคิดอย่างมีศิลปะ สำเนียกรับทราบแบบมีศิลปะ สัมผัสซึมสิงแบบมีศิลปะ ดูแบบมีศิลปะ ฟังแบบมีศิลปะ และสุดท้ายไม่ยึดติดในศิลปะนั้น ๆ เคล็ดเหล่านี้จะต้องเรียนรู้จาก "หลวงปู่" โดยตรง หรือเอาการดำเนินชีวิตของ "หลวงปู่" เป็นแบบอย่างถึงจะซึมซับได้

(ค) วิชาลม 7 ฐาน ในฐานะที่ประกอบขึ้นมาจากหลาย ๆ วิชาสำหรับการเป็นนักรบชัมบาลา (ธิเบต) อาทิ มวยแปดทิศ วิชาขันธมาร วิชาเท้านารี และวิชานิรรูป รายละเอียดเกี่ยวกับวิชาเหล่านี้ พวกเราหรือแม้แต่พวกลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดเองก็ทราบกันน้อยมาก เท่าที่รวบรวมได้มีดังนี้

เกี่ยวกับมวยแปดทิศ หลวงปู่บอกว่า "มันคือมวยแปดเซียน บางครั้งเบา บางครั้งนุ่ม บางครั้งอ่อน บางครั้งแข็ง สุดแท้แต่จิตใจ มันแสดงปราณภายในใจเรา มีเด็ก มีผู้ใหญ่ มีคนแก่ มีคนเมา มีผู้หญิง มีขอทาน มีคนพิการ"

เท่าที่ผมทราบในวิชามวยจีนนั้น มีมวยแปดเซียนเมา ซึ่งเป็นมวยหมัดเมาชนิดหนึ่ง จัดเป็นมวยดินที่เน้นการกลิ้งตัว ม้วนตัวเลียดดินต่อสู้เป็นหลัก มวยชนิดนี้เป็นมวยเลียนแบบรูปลักษณ์ เช่นเดียวกับมวยตั๊กแตน มวยงู แต่มวยแปดเซียนเมานี้ในวงการมวยจีนเขายังถือว่าเป็นมวยภายนอก และเป็นมวยคนละชนิดกับมวยแปดทิศ หรือมวยฝ่ามือมังกรแปดทิศ ซึ่งจัดเป็นมวยภายในชนิดหนึ่ง ตัวผมเองไม่ทราบว่ามวยแปดเซียนนี้ไปโยงกับธิเบตได้อย่างไร ตัวผมเองมีความสนใจในมวยฝ่ามือมังกรแปดทิศ ไม่ใช่มวยแปดเซียนเมานี้ ดังนั้นพอรู้ว่า มวยแปดทิศของหลวงปู่เป็นคนละมวยกับมวยฝ่ามือมังกรแปดทิศ จึงเลิกเซ้าซี้ให้หลวงปู่ถ่ายทอดมวยชนิดนี้ให้แก่พวกผม

เกี่ยวกับวิชาขันธมาร หลวงปู่เคยบอกว่า "เคล็ดวิชาขันธมารเบื้องต้น คือจงทำใจให้เหมือนดาบที่อยู่ในฝัก จงลับดาบให้คมกริบ จงถือดาบนั้นกวัดไกวไปมา วิธีปฏิบัติขั้นที่ห้า ใช้ดาบนั้นทำลายศัตรู เมื่อศัตรูหมดไป ความเป็นไทก็เกิดขึ้น"

ถ้าดูตามนี้วิชาขันธมารน่าจะเป็นเคล็ดในการฝึกจิตให้คมกล้าดุจดาบรู้จักซ่อนคนและรู้จักใช้ดาบแห่งจิต ทำลายศัตรูที่เป็นมายาอุปทาน เพื่อให้ตัวเองเป็นไท หรือเป็นพุทธะที่อิสระ

เกี่ยวกับวิชาเท้านารี หลวงปู่ไม่เคยกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ท่านบอกแต่เพียงว่า เป็นวิชาตัวเบาของพระธิเบต ที่ใช้ในการเดินย่นย่อระยะทาง

เกี่ยวกับ วิชานิรรูป หลวงปู่เคยบอกว่า

"จงนึกถึงความอัศจรรย์ของสภาวะที่ปราศจากความคิด และติดตามร่องรอยของมันเข้าไปจนถึงแสงสว่างแห่งจิตอันไม่มีที่สิ้นสุด ขณะที่ความคิดหยุดลง และกลับสู่ต้นตอของมัน ธรรมชาติและปรากฏการณ์จะคงอยู่ตลอดไป ความจริงและเหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่ถูกแบ่งแยก ณ ที่นั้นเป็นที่อยู่ของใคร ๆ"

ถ้าดูตามนี้ วิชานิรรูปน่าจะเป็นการเข้าสู่สมาธิระดับฌานสมาบัติขึ้นไป จนเห็นจิตเดิมแท้ของตนเองได้ ข้อความข้างต้นเป็นประสบการณ์ทางจิตวิญญาณของหลวงปู่มากกว่าจะเป็นเคล็ดวิชาโดยตรง

เมื่อทบทวนเคล็ดวิชาลม 7 ฐาน ทั้ง 3 แบบ 3 แง่มุมแล้ว จึงเห็นได้ว่าการจะฝึกวิชาลม 7 ฐานอย่างเป็นรูปธรรมนั้น ถ้าฝึกวิชานี้ในฐานะที่เป็นศิลปะในการดำรงชีวิต และวิชาเพื่อกาย-จิต-ธรรม อันศักดิ์สิทธิ์ควบคู่กันไป น่าจะให้ผลมากที่สุดกว่าการแยกฝึกอย่างโดด ๆ และไม่เป็นระบบ



 




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้