แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (5) (28/6/2554)

แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (5) (28/6/2554)



แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ
เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (5)


(28/6/2554)
 



*ป่วยเพราะโฆษณา*



ยิ่งสังคมไทยกลายเป็น “พาณิชยานุวัตร” (commercialization) มากยิ่งขึ้นเพียงใด โอกาสที่ผู้คนจะเจ็บป่วยเป็นโรคเรื้อรังอันเนื่องมาจาก “การตลาดและการโฆษณา” ก็ยิ่งจะมีมากยิ่งขึ้นเพียงนั้น
ลองเหลียวไปดูโฆษณาตามสื่อโทรทัศน์ และสื่อภาพยนตร์รอบๆ ตัวเราอย่างพินิจพิเคราะห์ดูเถิด แล้วเราจะพบความจริงที่น่าตกใจประการหนึ่งว่า ชะตากรรมของบริษัทอาหารแปรรูปจำนวนไม่น้อย ล้วนต้องพึ่งพาอาศัยความสามารถของนักการตลาดในการทำให้พวกเด็กๆ “เซ้าซี้” พ่อแม่ของพวกเขาในการซื้อสินค้าเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพแทบทั้งสิ้น



ปัจจัย “การเซ้าซี้” (Nag Factor) คือยุทธศาสตร์การตลาดแนวใหม่อันชาญฉลาด โดยอาศัยการปลุกเร้ากระตุ้นพวกเด็กๆ และพวกวัยรุ่นอย่างสุดขีด เพราะนี่คือทางออกทางหนึ่งต่อปัญหาที่กวนใจพวกนักการตลาดมานานหลายปีแล้วว่า ทำอย่างไรถึงจะได้เงินจากพวกเด็กๆ และพวกวัยรุ่นที่อยากซื้อสินค้า แต่ไม่มีเงินของตัวเอง? ที่ผ่านมา พวกนักการตลาดประสบความสำเร็จในการปลุกเร้ากิเลสของลูกค้าผู้ใหญ่ให้เกิดความต้องการ และซื้อสินค้าได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่เด็กเล็กๆ รวมทั้งวัยรุ่น คือ ความท้าทายที่ต่างออกไป และพวกนักการตลาดได้เริ่มตระหนักและเข้าใจความสำคัญที่อยู่เบื้องหลัง “ปัจจัยการเซ้าซี้” นั่นคือ สำหรับเด็กๆ เป้าหมายของการโฆษณาไม่ใช่การกระตุ้นให้เด็กๆ ซื้อสินค้า แต่เป็นการกระตุ้นให้เด็กเซ้าซี้พ่อแม่ให้ซื้อสินค้าให้ต่างหาก



พวกนักการตลาดภายใต้ความร่วมมือของนักจิตวิทยาเด็ก ได้วิเคราะห์จำแนกการเซ้าซี้แบบต่างๆ ที่เด็กๆ ใช้ และผลกระทบที่แตกต่างกันไปต่อผู้ปกครองประเทศต่างๆ ซึ่งพวกเขาได้ค้นพบว่า วิธีที่เด็กเซ้าซี้ไม่ได้มีแบบเดียว แต่มีอยู่สองแบบคือ


(1) การเซ้าซี้ด้วยการตื๊อ โดยการอ้อน การงอแง การคร่ำครวญ


(2) การเซ้าซี้ด้วยการให้ความสำคัญ โดยการที่เด็กเชื่อมโยงความสำคัญบางอย่างทางจิตใจกับสินค้าชิ้นนั้น


จะเห็นได้ว่า วิธีที่เด็กเซ้าซี้พ่อแม่จะส่งผลกระทบที่ทำให้พ่อแม่ซื้อสินค้านั้นๆ หรือไม่ โดยที่ความมีประสิทธิภาพของการเซ้าซี้แต่ละแบบ ก็ขึ้นอยู่กับผู้ปกครองที่ถูกเซ้าซี้ว่าจัดอยู่ในประเภทไหนในสี่ประเภทคือ


(ก) ผู้ปกครองประเภท “ความจำเป็นล้วนๆ” เป็นพ่อแม่ที่มีฐานะดี และมีกำลังซื้อสูง แต่ไม่ตอบสนองต่อการงอแงของเด็กๆ ผู้ปกครองกลุ่มนี้ต้องการเหตุผลที่ดีในการซื้ออะไรก็ตามให้ลูกหลาน การโฆษณาจึงต้องมุ่งทำให้เด็กเซ้าซี้พ่อแม่ด้วยการให้ความสำคัญ เพื่อแสดงให้พ่อแม่เห็นถึงคุณค่าหรือคุณประโยชน์ที่สินค้านั้นๆ มีต่อตน และสำคัญต่อเด็กๆ อย่างไร ถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่เหมาะสม พ่อแม่ก็จะสนองตอบ


(ข) ผู้ปกครองประเภท “เพื่อนของเด็ก” มักตกเป็นเหยื่อของการเซ้าซี้แบบกระจองอแงมากกว่า เพราะผู้ปกครองประเภทนี้ มักเป็นพ่อแม่อายุน้อย ชอบซื้อสินค้าจำพวกเกมคอมพิวเตอร์ และของเล่นบังคับด้วยวิทยุให้ลูกเท่าๆ กับซื้อให้ตัวเอง


(ค) ผู้ปกครองประเภท “ชอบตามใจ” มักเป็นพ่อแม่ที่ไม่ค่อยมีเวลาให้แก่ลูก เพราะต้องออกไปทำงานนอกบ้าน การซื้อของต่างๆ ให้แก่ลูกเมื่อถูกเซ้าซี้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ก็เพื่อชดเชยความรู้สึกผิดที่ไม่มีเวลาให้ลูกมากพอ


(ง) ผู้ปกครองประเภท “ขัดแย้งในใจ” มักเป็นพ่อแม่ที่แม้จะรู้สึกว่าไม่ควรซื้อของไร้สาระให้ลูก แต่ก็อดซื้อให้ไม่ได้เพราะใจอ่อน เมื่อถูกลูกเซ้าซี้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม


ว่ากันว่า ประมาณ 20-40% ของสินค้าจำพวกอาหารขยะ และอาหารฟาสต์ฟูดจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าไม่ใช่เพราะเด็กเซ้าซี้พ่อแม่ ที่สำคัญ เด็กที่อายุต่ำกว่า 8 ขวบ ยังไม่มีพัฒนาการเพียงพอที่จะเข้าใจจุดมุ่งหมายของการโฆษณา และมักยึดถือคำกล่าวอ้างในโฆษณาว่าเป็นความจริงตามนั้น เพราะเด็กอายุต่ำกว่า 8 ขวบลงไป ที่ดูโทรทัศน์ยังไม่สามารถแยกแยะระหว่างโฆษณากับรายการโทรทัศน์ได้ พวกนักโฆษณาที่เขี้ยวระดับเทพ จึงมักเลี่ยงหลบพ่อแม่ที่ “รู้ทัน” สื่อ แล้วหันไปใช้พลังโน้มน้าวที่มีมากมายมหาศาลของเด็กพิชิตใจพ่อแม่แทน เพราะเวลาเด็กดูทีวี พวกเด็กๆ จะตั้งใจดูโฆษณาอย่างจริงจังมากกว่าผู้ใหญ่มาก



ด้วยเหตุนี้ การที่เด็กตกเป็นเหยื่อโฆษณาง่ายๆ จึงกลายเป็นคุณสมบัติที่ทำให้เด็กตกเป็นเป้าหมายสำคัญของนักโฆษณา และนักการตลาด สุดท้ายพวกเด็กๆ จึงป่วยเป็นโรคอ้วนหรือโรคเรื้อรังอย่างโรคเมตาบอลิกซินโดรมเพราะโฆษณา!!



ในโลกวิปลาสของทุนนิยม แม้แต่ความเปราะบางของวัยเยาว์ ก็กลับกลายเป็นสิ่งที่เชิญชวนให้พวกนักการตลาดฉกฉวยแสวงผลประโยชน์ มิใช่เป็นเหตุผลให้ควรทะนุถนอมคุ้มครอง เพราะสำหรับพวกเขาแล้ว เด็กๆ คือผู้บริโภคในอนาคตที่กำลังเจริญวัย ความเคยชินในการกินอาหารขยะ และอาหารฟาสต์ฟูดตั้งแต่วัยเด็ก เพราะอิทธิพลจากโฆษณาย่อมทำให้พวกเขาเติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคร้ายแรงเรื้อรังอย่างโรคเมตาบอลิกซินโดรม ซึ่งกลายเป็นวิกฤตสุขภาพของสังคมโดยรวมในเวลาต่อมา



ต้องขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า การที่อาหารขยะกับอาหารฟาสต์ฟูดมุ่งเป้าไปที่เด็กโดยตรงเป็นเรื่องร้ายแรงกว่าที่คนทั่วไปคาดคิดมากนัก เมื่อคำนึงถึงวิกฤตสุขภาพของผู้คนจำนวนมากในสังคมไทยปัจจุบัน โดยปกติแล้ว เด็กๆ มักอยากกินอาหารที่ไม่ดีต่อร่างกายซึ่งพ่อแม่ทุกคนรู้ดี ถ้าปล่อยให้เด็กกินลูกกวาด ขนมหวาน เค้ก น้ำอัดลม และอาหารฟาสต์ฟูดตามใจชอบ เด็กๆ คงไม่ยอมกินดื่มอาหารอย่างอื่นที่ดีต่อสุขภาพ บริษัทอาหารแปรรูปทั้งหลายจึงมักฉวยโอกาสจากความเปราะบางนี้ โดยอาศัยการโฆษณาอย่างถี่ยิบ ทำให้อาหารที่มีน้ำตาล แป้ง และไขมันสูง กลายเป็นสิ่งที่ยั่วยวนใจเด็กจนอดไม่ได้ และทำให้ความพยายามของพ่อแม่ที่จะควบคุมอาหารการกินของลูกๆ ทำได้ยาก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ในสังคมไทยยุคนี้ โรคอ้วนเริ่มเข้าขั้นระบาดในเด็กๆ กันแล้ว รวมทั้งเกิดปัญหาเกี่ยวเนื่องทางสุขภาพของเด็กเพิ่มขึ้นในระยะหลัง



เด็กไทยทั้งประเทศกำลังตกอยู่ท่ามกลางภาพเร้าใจจากโฆษณาเกี่ยวกับอาหารที่มีแป้ง น้ำตาล และไขมันสูงที่ไม่ดีต่อสุขภาพเต็มไปหมด โฆษณาเหล่านี้ล้วนแต่สื่อสารเหมือนกันว่า กินนี่สิแล้วจะรู้สึกดี รู้สึกมีความสุข และรู้สึกเท่ ซึ่งเข้าข่าย “การมอมเมา” อย่างหนึ่งเลยทีเดียว เราต้องไม่ลืมว่า การตลาดของอาหารฟาสต์ฟูด และขนมหวานที่รุกล้อมเด็ก ย่อมมีอิทธิพลต่อการเลือกรับประทานอาหารตั้งแต่วัยต้นของชีวิต และทำให้เด็กมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะกลายเป็นโรคอ้วน หรือโรคเมตาบอลิกซินโดรมในช่วงวัยต่อมา



การที่โรคเมตาบอลิกซินโดรม โดยเฉพาะโรคอ้วน และโรคเบาหวานประเภทสองเพิ่มขึ้นอย่างน่าตระหนกในหมู่คนไทยทุกวัย รวมทั้งเด็กจึงเป็นวิกฤตสุขภาพ และวิกฤตสาธารณสุขอย่างหนึ่งที่มีเหตุผลเชื่อได้ว่ามันน่าจะมีส่วนเชื่อมโยงกับการตลาด และการโฆษณาจากอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ซึ่ง “ไม่ผิดกฎหมาย” แต่ประการใด



สิ่งเดียวที่จะคุ้มครองปกป้องเด็กจากโฆษณาได้ คือ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องมีจิตสำนึกใน “การเลือก” อาหารให้แก่ตนเอง และแก่เด็กๆ ให้ได้ก่อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และดูเหมือนจะยากกว่าสมัยก่อนด้วยซ้ำ เพราะในด้านหนึ่งเด็กถูกโฆษณาที่ยุยงให้เซ้าซี้พ่อแม่ซื้ออาหารขยะ และพาไปกินร้านฟาสต์ฟูด จนทำให้เด็กยุคนี้ “แข็งข้อ” ต่ออำนาจของผู้ปกครองในการเลือกอาหารมากกว่าสมัยก่อน เพราะเด็กๆ ถูกโน้มน้าวให้หลงเชื่อไปแล้วว่า “จำเป็น” ต้องบริโภคสินค้าในโฆษณานั้น ภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้ ผลลัพธ์ของการพูดว่า “ไม่” ของพ่อแม่จึงมักได้รับปฏิกิริยาตอบกลับเป็นความน้อยใจ ขุ่นเคือง เก็บกด และความขัดแย้งในครอบครัว ซึ่งมักนำไปสู่การ “ตามใจ” ของพ่อแม่ในที่สุด



“จิตสำนึก” ในการเลือกอาหารของพ่อแม่ผู้ปกครอง จะมีขึ้นมาได้นั้น จึงต้องมีปัญญา และ องค์ความรู้ในการเข้าใจกลไกการเกิดโรคในระดับโมเลกุล เสียก่อน







Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้