แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (34) (24/1/2555)

แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (34) (24/1/2555)


แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ
เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (34)

(24/1/2555)




*โรคหัวใจกับการแพทย์เชิงโภชนาการ*



ในมุมมองของการแพทย์เชิงโภชนาการ (Nutrional Medicine) นั้น เชื่อว่าร่างกายของคนเราสามารถรักษาตัวเองได้ หากสารอาหารทุกอย่างที่จำเป็นต่อร่างกายมีความพร้อมบริบูรณ์พอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคของความเสื่อมเรื้อรังจะมีทางป้องกันได้ดีขึ้นมาก หากผู้นั้นหาทางป้องกันเสียแต่เนิ่นๆ โดยใช้โภชนาการ (โภชนบำบัด) เป็นหลักในการบำรุงรักษาในระดับหน่วยเซลล์ของร่างกาย เพื่อรับมือกับ Oxidative Stress (หรือการที่เซลล์ในร่างกายถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระ) ซึ่งถ้าเกิดขึ้นที่ดวงตา ก็อาจทำให้เป็นต้อกระจก



ถ้าเกิดขึ้นในเส้นเลือดก็อาจทำให้เป็นโรคหัวใจ ถ้าเกิดขึ้นในช่องข้อต่อ ก็อาจทำให้เป็นโรคข้อต่ออักเสบ และถ้าเกิดขึ้นในสมอง ก็อาจทำให้เป็นโรคอัลไซเมอร์หรือพาร์กินสันได้



เราอาจกล่าวได้อย่างค่อนข้างฟันธงไปเลยว่า ปัจจัยที่มีชื่อว่า Oxidative Stress นี้ เป็นพื้นฐานของสาเหตุของโรคความเสื่อมเรื้อรังแทบทุกประเภทในปัจจุบัน โดยที่ Oxidative Stress นี้มีที่มาจากความเครียดสะสม มลพิษทางอากาศ มลพิษในอาหารและน้ำ รังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดด และควันบุหรี่ โดยเฉพาะควันบุหรี่นี้ ผมขอเน้นย้ำว่า ไม่มีพฤติกรรมใดหรือผลจากการเสพติดใดๆ ที่มีผลต่อร่างกายมากเท่ากับการสูบบุหรี่ โดยที่ควันจากบุหรี่นี้มีความเกี่ยวพันกับการเป็นโรคหืด ถุงลมโป่งพอง หลอดลมอักเสบเรื้อรัง มะเร็งปอด และโรคหลอดเลือดหัวใจ จึงควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง



ในที่นี้ ขอให้เรามาดูเรื่อง โรคหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในสหรัฐอเมริกา และกำลังจะเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประเทศไทย ผลการวิจัยที่นายแพทย์เรย์ แสตนด์ ผู้เขียนหนังสือ “เมื่อคุณหมอไม่รู้จักอาหารเสริมบำบัดโรค...ความตายอาจกำลังครอบงำคุณ” (สำนักพิมพ์อนิเมทกรุ๊ป, พ.ศ. 2549) ได้ศึกษามานั้น พบว่า สิ่งที่อยู่เบื้องหลังโรคหัวใจมิใช่คอเลสเตอรอล แต่เป็นความอักเสบของหลอดเลือด และปัจจัยที่มีผลมากต่อการลดหรือกำจัดอาการอักเสบของหลอดเลือดได้คือ การบริโภคอาหารเสริม



คนทั่วไปมักไม่ค่อยรู้กันว่า เมื่อคนเรารับประทานอาหารมื้อหนักที่มีไขมันสูง จะทำให้เกิดการไหลเวียนของเลือดลดลงนาน 1-2 ชั่วโมง ทั้งนี้ก็เพราะว่า อาหารไขมันสูงส่วนหนึ่งจะไปสังเคราะห์กรดอารัชชิโดนิคส่งเสริมการสังเคราะห์ไอโคซานอยด์ชนิดไม่ดี ทำให้ผนังหลอดเลือดผลิตเอนไซม์ที่มีผลทำให้หลอดเลือดแดงบีบตัว และเกิดการจับตัวของเกล็ดเลือด อันเป็นผลทำให้เกิดภาวะหัวใจถูกจู่โจมได้ จึงมักมีเรื่องเล่าขานในบ้านเราว่า ผู้ที่เป็นโรคหัวใจวาย มักเกิดอาการหัวใจหยุดเต้นหลังกินอาหารมื้อหนัก แล้วตามด้วยข้าวเหนียวมะม่วงหรือทุเรียนจนเสียชีวิต



ในหลักการแพทย์เชิงโภชนาการนั้น มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจรับประทานอาหารเสริมอย่างโคเอนไซม์คิว 10 (Coenzyme Q 10 ต่อไปจะเรียกย่อๆ ว่า โค-คิว 10) เป็นประจำ โค-คิว 10 เป็นสารคล้ายวิตามิน มีโครงสร้างคล้ายวิตามินละลายในไขมัน และทำหน้าที่เป็นตัวช่วยเอนไซม์ที่มีอยู่ในกลุ่มเอนไซม์หลายตัวของไมโตคอนเดรีย ที่ทำหน้าที่เปรียบเสมือนตัวก่อเกิดพลังงานให้เซลล์ เพราะฉะนั้นเซลล์ที่ต้องทำงานมาก หรือใช้พลังงานสูง เช่น เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiac Myocyte) จึงต้องใช้โค-คิว 10 มาก



นอกจากนี้ โค-คิว 10 ยังทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ทรงพลัง และทำหน้าที่อีกหลายอย่าง ช่วยทำให้การไหลของผนังเซลล์ดีขึ้น ลดความหนืดของเลือด มีงานวิจัยที่บ่งชี้ชัดว่า กล้ามเนื้อหัวใจที่บีบตัวไม่ดีในภาวะหัวใจล้มเหลวนั้น สัมพันธ์โดยตรงกับปริมาณการขาดโค-คิว 10 ทั้งในเลือดและกล้ามเนื้อหัวใจ การได้รับ โค-คิว 10 จากภายนอกโดยผ่านอาหารเสริม จะไปช่วยเซลล์ที่ขาดโค-คิว 10 ในการเข้าไปประกอบในไมโตคอนเดรียของเซลล์นั้น (ข้อมูลจากหนังสือ “รู้สู้โรค” ของ ศ.นพ.เฉลียว ปิยะชน, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, พ.ศ. 2552)



เนื่องจากเป็นตัวช่วยให้เกิดพลังงานภายในเซลล์ โค-คิว 10 จึงมีประโยชน์มาก เมื่อได้รับเป็นอาหารเสริม จะช่วยป้องกันและบำบัดโรคความเสื่อมเรื้อรังเกือบจะทุกโรคได้ เพราะโค-คิว 10 จะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เพิ่มการไหลเวียนของเลือด มีผลต่อต้านการแก่ชรา ใช้ในการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว เลือดคั่ง มีประโยชน์ในการรักษามะเร็ง เอดส์ โรคภูมิแพ้ เบาหวาน ฯลฯ โดยรวมช่วยให้เซลล์ทุกชนิด ทำหน้าที่เต็มที่จึงใช้ได้ในทุกกรณี



นายแพทย์เฉลียว ปิยะชน บอกว่า ในญี่ปุ่นแพทย์ให้ผู้ป่วยมากกว่า 12 ล้านคน รับประทานโค-คิว 10 เป็นอาหารเสริม เพื่อรักษาโรคหัวใจ (กล้ามเนื้อหัวใจทำงานไม่ดี หัวใจล้มเหลว) หรือทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง แต่เป็นเรื่องที่แปลกมาก เพราะเท่าที่นายแพทย์เฉลียวทราบ แพทย์ในประเทศไทยเกือบจะไม่ใช้โค-คิว 10 กันเลย แม้แต่ในโรงเรียนแพทย์ แต่ที่ผู้ป่วยใช้กันเองนั้นมีพอสมควร อนึ่ง แหล่งของโค-คิว 10 นั้น มีในปลาโอ ปลาแซลมอน เนื้อวัว ถั่วลิสง และผักขม



เวย์น เป็นเพื่อนของนายแพทย์เรย์มาตั้งแต่สมัยเด็ก ทั้งคู่เติบโตมาด้วยกัน ในตอนหนุ่ม เวย์นเป็นนักกีฬาที่มีสมรรถภาพทางร่างกายที่ดีมาก แต่เมื่อเวย์นย่างเข้าสู่วัยกลางคน เขามีอาการหัวใจเต้นรุนแรงและเร็วผิดปกติ ทำให้เขาเหนื่อยล้า มีอาการเคลื่อนไหวที่อ่อนแรงดูปวกเปียก เมื่อเวย์นไปโรงพยาบาลให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านหัวใจและหลอดเลือดตรวจดูอาการ ผลจากการเอกซเรย์พบว่า หัวใจของเวย์นมีขนาดใหญ่ขึ้นผิดปกติ เมื่อศึกษาหัวใจของเวย์นด้วยคลื่นเสียง ผลที่ออกมาเป็นที่น่าตกใจว่า ความแข็งแรงในการเต้นของหัวใจของเวย์นมีค่าเพียง 17% เท่านั้น โดยที่ค่าความแข็งแรงของการเต้นของหัวใจปกตินั้น มีค่าอยู่ระหว่าง 50-70% สถานการณ์ของเวย์นถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤต



แม้ผู้เชี่ยวชาญได้ตรวจพบว่า หลอดเลือดหัวใจของเวย์นเป็นปกติ แต่หัวใจของเวย์นนั้น กำลังประสบกับภาวะบาดเจ็บ เพราะติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ทำให้เวย์นเป็นโรค Cardiomyopathy (โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอขั้นวิกฤต หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ) ผู้เชี่ยวชาญได้สั่งยาให้แก่เวย์น และให้การรักษาแก่เวย์นด้วยหลายวิธีการเพื่อทำให้หัวใจของเขามีความแข็งแรงขึ้น แต่อาการที่ดีขึ้นเล็กน้อยของเวย์น เป็นแค่ระดับที่สูงที่สุดเท่าที่ร่างกายของเวย์นในตอนนั้นจะทำได้ หัวใจของเวย์นยังเต็มไปด้วยเลือดที่จับตัวเป็นก้อน และยังมีอาการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติอยู่ วิธีการรักษาทางเลือกสุดท้ายที่เหลืออยู่คือ การส่งตัวเวย์นไปเข้าคิวรอการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจเท่านั้น



แต่เวย์นไม่ต้องการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ และตัดสินใจทดลองรักษาตามแนวทางการแพทย์เชิงโภชนาการของนายแพทย์เรย์แทน หลังจากที่เวย์นได้ทานอาหารเสริมต้านอนุมูลอิสระ โดยเฉพาะโคเอนไซม์คิว 10 (โค-คิว 10) อย่างต่อเนื่องทุกๆ วัน ภายในเวลาเพียงสี่เดือน หลังจากนั้น ค่าความแข็งแรงในการเต้นของหัวใจของเวย์นได้กลับมาอยู่ในค่าปกติที่ 51% และสามารถออกกำลังกายได้บ้างแล้ว แน่นอนว่า หัวใจของเวย์นยังไม่ได้หายจากโรคนี้โดยสิ้นเชิง เขายังคงเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแออยู่ แต่การบริโภคสารอาหารโคเอนไซม์คิว 10 เข้าไปได้เข้าไปเติมพลังให้แก่หัวใจของเวย์นจนสามารถชดเชยกับภาวะผิดปกติที่เป็นอยู่ได้



อันที่จริง หัวใจไม่ได้เป็นอวัยวะที่มีความซับซ้อน มันเป็นเพียงกล้ามเนื้อธรรมดาที่ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย โรคหัวใจล้มเหลวและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จึงเป็นโรคที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจ โรคหัวใจล้มเหลวจากสภาวะเลือดคั่ง และกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบสามารถเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ อาทิ ความดันโลหิตสูง การติดเชื้อไวรัส เป็นต้น



นายแพทย์เรย์ บอกว่า มีงานวิจัยที่ระบุว่า โค-คิว 10 มีความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างความรุนแรงของการล้มเหลวของหัวใจ และความสัมพันธ์ของการลดลงของโค-คิว 10 ไม่แต่เท่านั้น การลดลงของปริมาณโค-คิว 10 ที่สำคัญจะพบได้กับโรคเกี่ยวกับเยื่อหุ้มฟัน มะเร็ง และโรคเบาหวานอีกด้วย



การขาดสารโค-คิว 10 อาจเป็นผลมาจากหลายเงื่อนไข เช่น การขาดสารอาหาร ความไม่สมบูรณ์ของร่างกายในการสังเคราะห์โค-คิว 10 และ/หรือการใช้โค-คิว 10 ของร่างกายที่มากเกินไป สารโค-คิว 10 จึงเป็นอาหารเสริมที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ แม้ว่ามันอาจไม่ได้รักษาโรคหัวใจให้หายขาดก็ตาม แต่มันสามารถช่วยสกัดกั้นไม่ให้กระบวนของโรคหัวใจให้เลวร้ายลงไปกว่าเดิม



จะเห็นได้ว่า เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจเกิดภาวะความอ่อนแอ มันย่อมต้องการอาหารบำรุงเซลล์หัวใจเพื่อผลิตพลังงาน การใช้สารเหล่านั้นจนมากเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจสูญเสียโค-คิว 10 ในร่างกายซึ่งเป็นสารอาหารที่สำคัญที่สุดในการสร้างพลังงาน เพราะฉะนั้น เมื่อผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจได้รับสารอาหารนี้เป็นอาหารเสริม กล้ามเนื้อหัวใจที่อ่อนแอของผู้ป่วยจึงสามารถกลับมาทำงานได้ดีขึ้น สามารถสร้างพลังงานได้มากขึ้น และสามารถชดเชยส่วนที่อ่อนแอไปได้




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้