"ทำอย่างไรให้ธรรมะปรากฏขึ้น" โดย ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์

"ทำอย่างไรให้ธรรมะปรากฏขึ้น"  โดย ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์



"ทำอย่างไรให้ธรรมะปรากฏขึ้น"

(ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์)



หากเรามองในแง่มุมประวัติศาสตร์ ภาวะที่เป็นทุนนิยมไม่ได้น่ากลัวอะไรมากมายจะเกิดวงรอบของการล่มสลายอยู่เสมอๆ ถ้าเราดูการขึ้นมาเรืองอำนาจของกรีกซึ่งแทบจะครองโลกได้ อย่างโรมก็เช่นกัน แต่สุดท้ายมหาอาณาจักรถูกทำลายหมด

สิ่งเหล่านี้ถึงแม้จะไม่มีคู่ต่อสู้ที่เป็นรูปธรรมภายนอก แต่ในขณะเดียวกันคู่ต่อสู้ของสิ่งเหล่านี้ก็คือตัวมันเอง เพราะว่าเบื้องหลังการล่มสลายของอาณาจักรใหญ่ๆ ที่มุ่งไปทางวัตถุ ท้ายที่สุดแล้วมันจะเกิดอาการเดียวกันคือจะขาดความรู้สึกทางจิตใจ ถ้าหากมองดูในประวัติศาสตร์ลักษณะอย่างนี้เหมือนกับการปฏิบัติที่คนแสวงหาทางออกทางจิตวิญญาณผู้ที่อยู่ในสังคมวัตถุมากๆ มักจะหันไปหาลัทธิรหัสยนิยม หรือลัทธิความเชื่อแปลกๆ ซึ่งตอนนี้ก็เกิดขึ้นแล้วเช่นในญี่ปุ่นซึ่งเกิด "ลัทธิใหม่" ตั้งสามแสนกว่าลัทธิ

สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนถึงความล่มสลายสะท้อนถึงจุดจบภายในตัวของมันเอง คู่ต่อสู้ของมันไม่ใช่บินลาดิน คู่ต่อสู้ของมันอาจจะไม่ใช่นักศาสนาที่ไหนแต่เป็นตัวของมันเอง ซึ่งเชื่อว่ามนุษย์เป็นอย่างนี้คือ พัฒนาการของมนุษย์เป็นสิ่งที่จะโค่นล้มตัวมันเองอยู่เสมอ

ในมุมมองของศาสนาชัขรินทร์ได้ให้ความเห็นว่า "การสู้ของศาสนาบางทีมันไม่ได้มีลักษณะอย่างที่เราเห็นภาพแบบที่บินลาดินสู้กับอเมริกา" อย่างการก่อเกิดของพระเยซุแทบไม่ได้มีการต่อสู้เลย หรือว่าการแทรกซึมของพระพุทธศาสนาเข้าไปในจีน มันไม่ได้มาด้วยการต่อสู้เหมือนกองทัพ ที่ต่างหน่อยก็คืออิสลาม แต่ในอิสลามลึกๆแล้วการแพร่ขยายของศาสนานี้โดยเฉพาะในหลายที่ในเอเซียก็ไม่ได้เป็นเรื่องของการรุกรานทางกองทัพ อย่างเช่นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เจ้าองค์หนึ่งฝันไปแล้วก็ไปรับศาสนานี้เข้ามา

ถ้าเรามองดูในอเมริกาขณะที่บินลาดินแพ้ในอัฟกานิสถาน แต่หากมองดูข่าวเล็กๆ บางชิ้น จะพบว่ามีการบริจาคสร้างวัดธิเบตในรัฐโคโลราโด ซึ่งเป็นรัฐใหญ่อันดับสองในอเมริกา ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลก เพราะธิเบตสู้กับจีน แต่ผลปรากฏว่าคนที่รับเอาศาสนากลับเกิดขึ้นในอเมริกาเพราะฉะนั้นภาพการต่อสู้ในระหว่างศาสนากับวัตถุ เราต้องมองว่ามันเป็นสงครามที่อยู่ในจิตใจ ไม่ใช่สงครามเชิงรูปแบบที่จะมายิงกัน เพราะฉะนั้นการแพ้ของบินลาดินมันไม่ได้หมายความว่าสงครามระหว่างฝ่ายจิตกับฝ่ายวัตถุ ฝ่ายวัตถุจะชนะฝ่ายจิตเสมอไป แท้ที่จริงสงครามมันแทรกลงไปในใจกลางของกรุงนิวยอร์คเองและแทรกซึมลงไปในทุกพื้นที่ที่มีวัตถุนิยมปรากฏตัว โดยเริ่มก่อตัวในจีนที่หันไปใช้วัตถุนิยม และโผล่ขึ้นมาใหม่เป็นกรีกออโธดอกซ์ ในรัสเซียที่หันไปใช้ทุนนิยม ถ้ามองปริมาณอย่างนี้แล้ว ฝ่ายจิตเพิ่มขึ้นมาไม่น้อยไม่ได้แพ้ไปหมดเพราะบินลาดินแพ้สงครามทางวัตถุ

 

จุดอ่อนของฝ่ายศาสนา "มีศาสนาแต่ไม่มีธรรมะ"


ชัชรินทร์ยังได้ให้ความเห็นอีกว่า "ในการสู้กันของแต่ละฝ่ายก็ต้องหาวิธีการสู้ที่ดีขึ้น ในแง่ของวัตถุคงไม่ต้องพูดถึงเพราะมีการพัฒนาเทคโนโลยีไปมากแต่จุดอ่อนของฝ่ายศาสนามันมีจุดสังเกตอยู่คือ " การมีศาสนาแต่ไม่มีธรรมะ" คือการเอาศาสนามาใช้ประโยชน์"

ส่วนในประเด็นที่ว่าทุนนิยมสามารถชนะฝ่ายจิตวิญญาณได้ไหม ชัชรินทร์ได้ให้ความเห็นว่า "ทุนนิยมจะไม่ชนะอย่างเด็ดขาดเสียทีเดียว เพราะทุกวันนี้ความรู้สึกของผู้คนที่โดนระบบทุนนิยมมันกลืนกินจะทำให้ความรู้สึกทางจิตวิญญาณดิ้นรนมากขึ้น แต่หากดิ้นรนผิดคือดิ้นรนหา "รูปแบบ" ของศาสนา เช่นว่าพวกอเมริกกันอาจดิ้นรนจนถึงขั้นเกิดลัทธิแวมไพร์ที่มีอำนาจทางจิตอะไรบางอย่าง ของบ้านเราก็อาจดิ้นรนไปคว้าเอารูปแบบของพระที่ผิดๆ ซึ่งก็มีให้เห็นเยอะแยะ ขึ้น และปรากฏภายในรูปแบบต่างๆจุดสำคัญที่สุดถ้าเราเป็นนักสู้ทางจิตวิญญาณ เราจะทำอย่างไรให้ธรรมะมันปรากฏขึ้น และปรากฏภายในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะปรากฏกายในรูปแบบของคริสต์ พุทธ อิสลาม หรือแม้กระทั่งฝ่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ก็คือธรรมะที่เราจะแผ่สร้าง แล้วฝ่ายจิตวิญญาณก็จะเป็นฝ่ายนำของศาสนา"

ชัชรินทร์ได้กล่าวให้ความคิดเห็นอีกว่า "ศาสนาที่แพร่กระจายแต่ขาด "ธรรมะ" มันจะทำให้การต่อสู้ทางจิตวิญญาณบางทีก็ล้มเหลวเพราะมีรูปแบบศาสนาอย่างนี้ บางรายถึงกับปฏิเสธ "คนที่มีธรรมะแต่ไม่มีศาสนา" หรือ " ผู้ที่มีธรรมะแต่อยู่ในศาสนาอื่น" ไปเลย อย่าง "พุทธ" ก็ปฏิเสธ "คริสต์" "อิสลาม" คือปฏิเสธทุกรูปแบบเชิงศาสนา ทั้งที่ว่าศาสนาทุกศาสนาคือ "ธรรมะ" อันเดียวกันและไม่ใช่ศาสนาเสียด้วยซ้ำ แม้กระทั่ง "วัฒนธรรม" ลัทธินับถือ "ผี" พวกคนไทยสมัยก่อนที่นับถือผี ในส่วนลึกมักจะซ่อนอยู่ด้วยธรรมะ คือความผูกพันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติเพราะฉะนั้นถ้าจะถามว่าการรุกรบของฝ่ายจิตวิญญญาณคืออะไรมันไม่ใช่การเผยแผ่ศาสนาออกไป แต่หมายถึงการทำให้ธรรมะมันปรากฏตัวขึ้น"

 


"ธรรมะมีอยู่ก่อนศาสนา"


จุดสำคัญก็คือ "ธรรมะ" ซึ่งน่าสนใจกว่า "รูปแบบ" ทาง ศาสนาหลายเท่า เพราะ หากศึกษากันจริงๆ แล้วจะเป็นเรื่องแปลกมากที่ทุกศาสนามีหัวใจสูงสุดที่คล้ายกันแบบไม่เชื่อ ตัวอย่างที่ชัดคือท่านพุทธทาสที่พูดถึงเรื่อง "อตัมยตา" ในพุทธศาสนาในขณะเดียวกันท่านก็พูดจนถึงเรื่องราวของ"โอลด์เทสตาเมนต์" (Old Testament) ซึ่งเป็นเรื่องพระเจ้าที่สร้างโลกว่ามันก็เป็นการสอนธรรมะในขั้น "อัตมยตา" ซึ่งเป็นเรื่องแปลกประหลาด แต่ท่านสามารถเรียงเหตุให้เห็นได้อย่างชัดเจน

ชัชรินทร์ยังได้ให้ข้อสังเกตอีกว่าภายใต้ทุนนิยมที่ต่อสู้กับตัวเอง ทุนนิยมเองก็กำลังสูญเสียความเป็นทุนนิยมไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างมีคนได้รับลิทธิ "รหัสยนิยม" เยอะ แต่มันจะแตกกระจายไปเสียก่อนที่จะรุ่งเรือง

ลัทธิ "รหัสยนิยม" จะไม่สามารถเอาชนะฝ่ายวัตถุได้ แต่จะแผ่ได้ในหมู่ปัจเจกเป็นกลุ่มๆ ไป อย่างลัทธิพวกนับถือเทพเจ้ามิทราที่เกิดขึ้นในจีนแต่สุดท้ายแล้ว สิ่งที่จะผงาดขึ้นมาคือสิ่งที่มี "ธรรมะ" สูงๆ เช่นการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมของพระเยซูคริสต์ แผ่ไปถึงโรมันความรู้สึกทางธรรมะจะแทรกซึมอย่างมหาศาล

ทำยังไงให้ธรรมะมันปรากฎมา มันไม่ใช่ทำยังไงศาสนามันรุ่งเรืองมันคนละอันกัน ที่จริงถ้าธรรมะรุ่งเรือง ศาสนาทุกศาสนารุ่งเรือง

จุดสำคัญว่าสิ่งที่เรารู้มันเป็นธรรมะจริงไหม เขาว่ากันว่าเมื่อรู้แล้ว มันพ้นจากโลกไปแล้วมันอยู่เหนือความขัดแย้ง มันจะเข้าใจความเป็นไปของโลกจนไม่คิดอธิบายก็เป็นไปได้ แต่ว่าถ้าผู้รู้ในทางทฤษฎีที่รู้แล้วพร้อมจะเผยแพร่อธิบายมันอีกแบบ มันไม่ขัด "ธรรมะ" ความหมายมันคือสากล ถ้าพูดลึกๆ คือ "ความจริงแท้" ที่เขาว่ามีก่อนมนุษย์เกิด ก่อนจักรวาลเกิดเสียด้วยซ้ำที่เขาว่ากัน เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้มันจะเข้าได้หมดกับผู้คนโดยรูปแบบอะไรมันจะไม่สามารถกั้นได้

ประเด็นที่ว่า คนมีธรรมะแต่ไม่มีศาสนา คือก็ก่อนศาสนาจะเกิด ธรรมะได้เกิดขึ้นก่อน พระพุทธเจ้าได้บอกว่า ก่อนที่ตถาคตจะเกิดขึ้น สิ่งๆ หนึ่งได้คำรงอยู่ก่อนที่ข้าพเจ้าจะตรัสรู้เสียอีก ทางคริสต์ก็เหมือนกัน ก่อนที่พระเยซูเกิด ก็มีคำกล่าวว่าครั้งปฐมกาลพระวาทะบังเกิดขึ้น ไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากพระวาทะก็คือสิ่งนั้นที่มันเกิดขึ้นมาก่อน ก่อนจะเกิดเล่าจี๊อ ก็เกิดเต๋าขึ้นมาก่อน นั่นคือความหมายตัว "ธรรมะ"

อย่างพระพุทธเจ้าหรือพระเยซู ก็คือเหมือนกับที่มนุษย์ไปค้นพบแล้วทำให้ปรากฎเห็นจริงที่สำคัญคือได้พบจริง "ธรรมะ" จริงหรือเปล่า ถ้าพบจริงแล้วเขาถึงจริงแล้ว ก็จะกลายเป็นคนที่ไม่อารมณ์อะไรเลย คนที่เข้าถึงนี่เราไม่ต้องไปพูดถึงเลยว่าเขาจะทำอย่างไรต่อไป คือธรรมะได้เลือกเขาแล้ว ไม่มีอาการรวนเรหรือมีอารมณ์ให้เห็นเลย แล้วอะไรบางอย่างในตัวเขาก็จะนำธรรมะเข้าไปได้โดยอาศัยรูปแบบของเขาเอง เพราะฉะนั้นถ้าเกิดมีใครพบและสัมผัสธรรมะได้จริงแทบไม่ต้องพูดถึงเลยว่าเขาจะใช้วิธียังไง แต่สำหรับเรา ทางทฤษฎีเป็นการเข้าถึงระดับพื้นฐาน ซึ่งมันสามารถทำได้โดยวิธีการอธิบายด้วยตรรกะ ด้วยเหตุผล อะไรต่างๆ หรือด้วยจิตใจของเราที่มีดีขึ้น ที่เราสามารถสัมผัสมันได้ก็พอแล้ว"

 

สะท้อนธรรมจากวัฒนธรรม

"การทำดีไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย พระท่านบอกว่ามันเป็นเรื่องง่าย ชัชรินทร์กล่าวเพราะคนดีจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องง่ายในการทำดี แต่เราบอกว่าการทำดีเป็นเรื่องยากเพราะการทำดีคือการกำจัดรากเหง้าความเป็นตัวตนของเราซึ่งทรมานมากพอสมควร เราก็พยายามทำเท่าที่เราทำได้ เพราะความพยายามที่เร่งร้อน คิดว่าสิ่งนี้ดี บางทีอาจจะทำลายผู้อื่น เราให้มันเบาๆ สบายๆ ทำเท่าที่ทำได้เราอาจจะเกิดมาเพื่อบางอย่างแต่ๆไม่ได้เกิดมาเพื่อทุกอย่าง ยังไม่ต้องไปเคร่งเครียด เพราะถ้าเราเคร่งเครียดกับความดีหรืออะไรบางอย่างมาก โอกาสที่เราจะขยายความรู้ความคิดจะยากขึ้นคนบางคนรับไม่ได้ เราพูดเรื่องพระกลางวงสนทนาเมื่อไหร่ ก็ไม่มีใครเอาด้วย"

คำๆ หนึ่งของพระพุทธเจ้าที่ต้องยอมรับว่าเฉียบแหลมกว่ามรรควิธีอื่นๆ ในการเข้าถึงธรรมะก็คือ ทางสายกลาง แล้วบางทีการเร่งเร้าจนเกินไปก็ไม่เป็นผลตรงตามที่เราหวัง ต้องเป็นตามทางสายกลาง อย่างศาสนามันประกอบด้วย ศีล สมาธิ ปัญญาซึ่งบางทีในโลกสมัยใหม่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพ แต่บางทีปัญญาที่เกิดขึ้นก็สำคัญ โดยเฉพาะการอธิบายถ้าไม่มีพลังพอก็จะเกิดปัญหา

อย่างอาจารย์ชานั้นท่านเข้าถึงแล้ว เกิดรังสีอะไรของท่านแล้ว ถ้าเรายังไม่มียังไม่เกิดรังสีอะไรก็ต้องเน้นสมาธิ คิดว่าสามัญชนปกติ เราค่อยๆ ทำไปดีกว่า ถ้ามีปัญญาก็ใช้ปัญญาถ้าควบคุมศีล แล้วแต่บุคลิก







Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้