การข้ามพัน "อัตตา" ของตนเองเพื่อ Future Generation
สืบเนื่องจากการที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปร่วม ประชุมระหว่างประเทศเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวัฒนะ เพื่ออนุชนในอนาคต (Conservation of Environment and Culture for Futrue Generations) จัดโดยมหาวิทยาลัยมหิดลและ Future Generations Alliance Foundation แห่งประเทศญี่ปุ่น ในระหว่างวันที่ 29-30 สิงหาคม ที่ผ่านมานี้ ในระหว่างนั้นผมได้โอกาสฟังบรรยายธรรมจากพระเซนรูปหนึ่งที่ชื่อ ท่านอิโนะอุเอะคิโด เกี่ยวกับตัวตนของ "อัตตา" และวิธีข้ามพ้นอัตตาแบบเซน ซึ่งจะมีสาระที่น่าสนใจมาก จนผมอยากจะนำใจความสำคัญของการบรรยายธรรม ที่เป็นภาษาญี่ปุ่น ในวันนั้นออกมาถ่ายทอดเป็นภาษาไทยสู่วงกว้างให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังต่อไปนี้
การเกิดของอัตตา
ความก้าวหน้าทางสติปัญญาของมนุษย์ เริ่มจากการที่มนุษย์สามารถยืนสองขาได้ จึงทำให้มนุษย์สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดีเยี่ยมกว่าสรรพสัตว์ทั้งปวง จนสามารถรักษาเผ่าพันธุ์และวิวัฒนาการตัวเองมาได้จนถึงบัดนี้ มนุษย์ต่างกับสัตว์ตรงสามารถพัฒนามันสมองของตนให้ก้าวหน้าจนสามารถเรียนรู้ เข้าใจสภาพแวดล้อมได้อย่างถูกต้อง ก่อนที่จะปรับตัวเอง ซึ่งแตกต่างกับสัตว์ประเภทอื่นที่ใช้สัญชาติญาณแห่งสัตว์ ทำการปรับตัวเองเข้ากับสิ่งแวดล้อมโดยตรง แต่นอนว่ามนุษย์ย่อมเหมือนกับสัตว์ประเภทอื่นตรงที่แรงขับเคลื่อนผลักดันให้มันชีวิตรอดมาได้จนทุกวันนี้นั้นคือ สัญชาตญาณในการเอาตัวรอด กับสัญชาตญาณในการรักษาเผ่าพันธุ์
สัญชาตญาณเช่นที่ว่านี้เป็นพลังขั้นฐานขั้นรากเหง้าและเป็นพลังชีวิตแห่งธรรมชาติที่ดำรงอยู่ ก่อนที่มนุษย์จะมีสติปัญญาเสียอีก เมื่อใดก็ตามที่สัญชาตญาณอันนี้ทำงานอย่างเต็มพิกัด มันจะกลายเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัวและปฏิเสธผู้อื่นอย่างสิ้นเชิง พลังอันนี้แหละคือที่มาของ "อัตตา" (ego)
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่ามนุษย์ คือ สัตว์ที่มี "อัตตา" กับ "สติปัญญา" เติบโตขึ้นมาเคียงคู่กัน พร้อม ๆ กันโดยที่ "อัตตา" มีพลังอำนาจที่รุนแรงมากอย่างยากที่ "สติปัญญา" จะสามารถควบคุมได้โดยง่ายเพราะมันคือพลังชีวิตขั้นมูลฐาน ขั้นรากเหง้าของตัวมนุษย์นั่นเอง
การเกิดของสติปัญญา
ในช่วงระยะเวลา 10 เดือนกับอีก 10 วัน ที่มนุษย์อยู่ในครรภ์มารดามนุษย์จะต้องผ่านประสบการณ์แห่งกระบวนการวิวัฒนาการของมนุษยชาติ หลายพันล้านปีที่ผ่านมาทั้งหมดเสียก่อนที่คลอดออกมาลืมตาดูโลกใบนี้ มนุษย์เมื่อยามแรกเกิดยังไม่ค่อยรู้อะไร และการรับรู้ตัวเองก็ยังไม่แจ่มแจ้งจนถึงขนาด รู้ถึงการดำรงอยู่ของสรรพสิ่ง เพียงแต่ทารกจะ "ถูกจัด" ให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้เท่านั้น โดยที่การร้องอุแว้ของทารกแรกเกิด เป็นการแสดงออกของความพยายามในการมีชีวิตอยู่ทารก ในขณะที่บิดามารดาก็ "ถูกจัด" ขึ้นมาให้ทำหน้าที่รักษาเผ่าพันธุ์ของตนด้วยการแสดงความรัก ความอ่อนโยนต่อทารกแรกเกิดของตน ตามความเป็นไปแห่งธรรมชาติ
ภายหลังจากที่ลืมตาดูโลกได้ไม่กี่เดือน ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ของทารกก็จะค่อยๆ ทำงานอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ทารกจะเริ่มเปลี่ยนแปลงสภาพจากความไม่รู้อะไร ไปสู่โลกมนุษย์โดยผ่านการเรียนรู้ หรือการทำงานของสติปัญญาทารกจะเริ่มเรียนรู้ภาษาก่อน เมื่อทารกสามารถสะสมข่าวสารได้มากพอจนถึงระดับหนึ่งก็จะสามารถเริ่มพูดเริ่มสนทนาได้ การเริ่มพูดเริ่มสนทนาได้คือ การเริ่มต้นของวงจรความคิดขั้นแรก ๆ ที่ทารกรู้จักใช้การเชื่อมโยง "มโนทัศน์" (Concept) กับ "มโนทัศน์" เข้าด้วยกัน เพื่อแสดงออกซึ่งเจตนารมณ์ของตัวเองปรากฎการณ์ทางจิตใจของทารกเช่นนี้ จะเติบโตขึ้นพร้อม ๆ กับการตระหนักถึงตัวเอง และผู้อื่น
ความรู้สึก กับ ความเป็นมนุษย์
ทารกแรกเกิดที่ยังพูดไม่ได้ ก็มีความต้องการพื้นฐานในระดับหนึ่งเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ ไม่มีทารกคนไหนหรอกที่เพลิดเพลินกับการร้องไห้ หากทารกได้รับการเลี้ยงดูอย่างอบอุ่นด้วยความรัก จิตใจในด้านลบจำพวกความไม่ชอบความไม่เชื่อ ความหวาดกลัว ความหวั่นวิตกถึงวิกฤติ ก็จะเติบโตขึ้นภายในจิตใจของทารก แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่ทารกต้องเผชิญกับความหิวโหย ไม่ช้า ความขาดแคลน ความไม่พอใจ ความยากแค้นทางจิตใจ ก็จะเติบโตขึ้นภายในจิตใจของเด็กน้อย
จงอย่าลืมว่าความรู้สึกเป็นปรากฎการณ์ทางจิตใจที่ส่งอิทธิพลอย่างลึกซึ่งต่อความเป็นมนุษย์ของผู้คนมากกว่าสติปัญญาเสียอีก การจะบ่มเพาะสร้างบุคลิกนิสัยคนให้คน ๆ นั้นกลายเป็นคนที่เข้มแข็ง รักความเป็นธรรม อ่อนโยนใจงามเชื่อมั่นในคนอื่นและรักในสรรพสิ่งได้ ก่อนอื่นเราจะต้องบ่มเพาะจิตใต้สำนึกของพวกเขาให้สมบูรณ์เสียก่อน การส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาลตั้งแต่ยักเล็ก ไม่เพียงแต่ก่อผลเสียต่อการเจริญเติบโตของเด็กเท่านั้น แต่ยังทำให้ทารกขาดความอบอุ่นผูกพันที่ควรจะได้รับจากความดูแลของพ่อแม่ จนทำให้เขาไม่สามารถเติบโตในฐานะที่เป็นมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์เต็มที่ ปัญหาการพังทะลายของระบบครอบครัวที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูง ส่วนใหญ่ก็มาจากการที่เด็ก ๆ เติบโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่นแต่เพียงร่างกายเท่านั้น ในขณะที่บุคลิกภาพแห่งความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์กลับไม่ได้โตตามอย่างได้สมดุลกันนั่นเอง
การบ่มเพาะจิตใจ
ธรรมชาติของมนุษย์นั้นเมื่อท้องหิว ก็จะมีความอยากอาหาร แล้วจึงรับประทานอาหาร เมื่อรับประทานเสร็จจนท้องอิ่มแล้ว ความอยากอาหารก็จะค่อย ๆ หมดไป ด้วยเหตุนี้ การเป็นธรรมชาติจึงหมายถึงการที่กายกับใจมีความสัมพันธ์กันอย่างพลวัต และทำงานประสานกันอย่างมีชีวิตชีวานั่นเอง และสภาพเช่นนี้แหละที่ก่อให้เกิดความหวังและแสงสว่างในการใช้ชีวิตของมนุษย์ ก่อให้เกิดความปิติพอใจในการมีชีวิตอยู่ รวมทั้งความภาคภูมิใจในการบรรลุเป้าหมายในชีวิต การที่มนุษย์เราจะสามารถดื่มด่ำกับชีวิตเช่นนี้ได้ ก่อนอื่นมนุษย์จะต้องมีความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนสมบูรณ์เช่นนี้ ดำรงอยู่เป็นพื้นฐานของจิตใจเสียก่อนกล่าวคือ มนุษย์จะต้องรู้สึกกลัวบาป รู้จักในบาปบุญคุณโทษ เพราะมีแต่มนุษย์ผู้มีความละอายต่อบาปเท่านั้น ที่จะเห็นคุณค่าความภาคภูมิใจในความเป็นคน "ความสูงส่งทางจิตใจ" ของมนุษย์จึงมิได้มาจากสติปัญญาของมนุษย์ แต่จากจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนสมบูรณ์เข้มแข็งเช่นนี้ต่างหาก และตราบใดก็ตามที่มนุษย์เติบโตขึ้นอย่างมีทัศนะต่อจริยธรรมที่ชัดเจน รู้จักเกรงกลัวละอายต่อบาป ก็อย่าได้วิตกไปเลยว่าจะถูก "อัตตา" ครอบงำได้อย่างสิ้นเชิง
แต่สิ่งที่จะบ่มเพาะจิตใจที่ละเอียดอ่อนสมบูรณ์เข้มแข็ง อย่างเป็นธรรมชาตินี้ได้ ก็มีแต่ตัว "ธรรมชาติ" เองเท่านั้น ครั้นเมื่อมนุษย์หันมาอยู่ในสังคมศิวิไลซ์ ที่อยากได้อะไรหากมีเงินก็สามารถซื้อหาความต้องการได้ทุกอย่าง จนไม่ต้องฝึกฝนความอดทน อดกลั้น และความสำนึกในบุญคุณอันยิ่งใหญ่ของ "ธรรมชาติ" เลยแม้แต่น้อย นั่นก็หมายความว่า "ความมีน้ำใจ" หรือ ลักษณะแห่ง "จิตใจ" อันเป็นแก่นกลางของบุคลิกภาพองมนุษย์ก็ได้เสื่อมโทรมตามไปด้วย และความรู้สึกที่จะซาบซึ้งเมื่อยามข้ามพ้นอุปสรรคความเชื่อมั่นที่ได้เรียนรู้มาจากความล้มเหลว ความหวังอันเปี่ยมล้นต่อจุดมุ่งหมายอันงดงามในอนาคต ก็พลอยเหือดแห้งตามไปด้วย
ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาความสัมพันธ์ที่เป็นพลวัตรระหว่างกายกับจิต ซึ่งจะก่อให้เกิด แรงบันดาลใจที่มาจากความสูงส่งของสภาวะจิตใจ อันจะเป็นสาเหตุสำคัญในการสร้างสรรค์เพื่ออนุชนในอนาคต (Future Generations) จึงมีความสำคัญมากในปัจจุบัน สำหรับประเทศพัฒนาแล้วรุ่นก่อน ๆ ก็ไม่อยู่ในสภาพที่จะบ่มเพาะจิตใจที่สมบูรณ์แข็งแรงให้แก่พวกเด็ก ๆ ได้ ดังจะเห็นได้จากมีเด็กเป็นจำนวนมากที่เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ทั้ง ๆ ที่แก่นกลางของจิตใจที่จะค้ำจุนชีวิตของแต่ละคนยังไมเติบโตแข็งแกร่งพอ พวกนี้จึงง่ายต่อการเข้าหายาเสพติด ทินเนอร์ รวมตัวเป็นแก๊งค์สร้างปัญหา และปฏิปักษ์กับสังคม
เมื่อใดก็ตาม ที่จำนวนของเยาวชนที่ขาดวุฒิภาวะแห่งความเป็นคนนี้ มีจำนวนมากเกินกว่าที่สังคมจะบำบัดเยียวยาได้ทัน และเกินกว่าที่พวกผู้ใหญ่ที่ยังมีจิตใจดีอยู่จะค้ำจุนประเทศได้อีกต่อไปแล้ว เมื่อนั้นแหละที่ความกังวลความหวาดระแวง จะก่อให้เกิดความวุ่นวาย และความวุ่นวายจะก่อให้เกิดกลียุคความทะเยอทะยานในทางชั่วร้ายจะก่อตัวลุกลามไปทั่วสังคม จนทำให้สังคมถูกคอรบงำด้วย ความรุนแรง ความบ้าอำนาจ และความหลอกลวงในที่สุด ยิ่งถ้าหากสิ่งนี้เกิดขึ้นในสังคมที่มีความศิวิไลซ์ ความร้ายกาจของความเลวร้าย ก็จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจนยากที่จะควบคุมเอาไว้ได้
เราไม่ปฏิเสธหรอกว่า ความอุดมสมบูรณ์ทางวัตถุได้นำ "ความสะดวกสบาย" มาให้แก่ชีวิตของพวกเราอย่างประเทศพัฒนาแล้ว ที่บรรลุถึงจุดสุดยอดแห่งความศิวิไลซ์ ก็ได้ผ่านรุ่นของผู้คนมานับเป็นรุ่นที่สามแล้ว แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นคืออะไรหรือ? เราไม่เห็นดอกหรือว่า เหล่าประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายต่างล้วนกำลังกำลังประสบกับปัญหาภัยอันตราย และความไร้เสถียรภาพที่นับวันมีแต่จะเพิ่มมากขึ้นทุกทีเหมือน ๆ กันทั้งสิ้น สาเหตุแห่งปัญหา
เราเชื่อว่ามาจากความเสื่อมทรามในความเป็นคน กับความป่วยอย่างรุนแรงของสภาวะจิตใจ ที่ไม่ได้รับการพัฒนานั่นเอง เมื่อผนวกกับความเชื่อมั่นในอารยธรรมสมัยใหม่อย่างมากจนเกินไปและความผยองลำพองของตัวมนุษย์เอง จึงยิ่งทำให้ปัญหาต่าง ๆ เลวร้ายยิ่งขึ้นทุก ๆ ที เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์สูญเสียเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการเติบโตอย่างสมบูรณ์แข็งแรง ย่อมนำไปสู่วิกฤตของชาติ และอาจนำไปสู่วิกฤตแห่งการสูญเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ในที่สุด
สิ่งที่ครอบงำมนุษย์อยู่ในเบื้องลึกนั้นที่แท้ก็คือ "อัตตา" หรือ ตัวกู-ของกู ที่เติบโตมาจาก สัญชาตญาณในการเอาตัวรอดของมนุษย์ การที่จะกระตุ้นจิตใจของมนษย์ให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่นได้จำเป็นจะต้องพึ่งบทบาทของ "การศึกษา" และการฝึกฝนตนเอง" ซึ่งจะต้องไม่ใช่การศึกษาที่มุ่งเน้นแต่การเพิ่มหรือยัดเยียดวิชาความรู้ให้แก่ผู้รับการศึกษาด้วย ทั้งนี้ก็เพราะว่า แม้ว่า "สติปัญญา" จะมีความสามารถในการวิเคราะห์ถึงความรู้สึก จิตใจที่รักความเป็นธรรม จริยธรรมได้ก็จริง แต่ตัวมันเองกลับไม่มีความสามารถที่จะหยั่งรู้ จะภาวนา จะปรารถนาดี จะรักผู้อื่นได้ กล่าวคือ ผู้ที่ควรเป็นใหญ่ในปรากฏการณ์ทางจิตนั้น หาควรใช่ "สติปัญญา" ไม่ สติปัญญาเป็นแค่เครื่องมือที่ถูกนำมาใช้เพื่อให้ความร่วมมือกับ "จิต" เท่านั้นเอง และถ้ายิ่ง "สติปัญญา" ถูกครอบงำด้วย "อัตตา" แล้ว ก็จะยิ่งเป็นภัยอันตรายอย่างใหญ่หลวง
ช่วงเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางประวัติศาสตร์
ขณะนี้โลกของเรากำลังยืนอยู่ตรงทางแพร่ง อันเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ อย่างไม่เคยประสบมาก่อน และโลกเราก็กำลังแสวงหา "ทางออก" จาก "ตะวันออก" คำว่า ช่วงเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางประวัติศาสตร์นี้ เราหมายถึง ช่วงแห่งการเปลี่ยนความคิด คือถ้าหากเราไม่เปลี่ยนความคิด วิธีคิด ค่านิยมเสียใหม่ เราก็ไม่มีทางที่จะเปลี่ยนทิศทางของโลกที่กำลังก้าวไปสู่ความหายนะได้
ลัทธิเหตุผลนิยมสมัยใหม่ (Rationalism) พัฒนาตัวเองขึ้นมาจากการสถาปนาเสรีภาพของปัจเจกชน และขยายเสรีภาพนี้ออกไปเรื่อย ๆ เมื่อประกอบกับความสะดวกสบายที่ความศิวิไลซ์ เป็นผู้ทำให้ จึงทำให้มนุษย์กระตุ้นความทะเยอทะยานอยากของตนเองออกมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งผลลัพธ์ของมันก็คือ การสร้างและใช้อาวุธนิวเคลียร์ เพื่อบรรลุเจตนารมณ์ของตนโดยไม่คำนึงถึงผลข้างเคียงใด ๆ ของประเทศมหาอำนาจ
สิ่งที่พวกเรามุ่งมั่น แสวงหาทางออก ในช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางประวัติศาสตร์ จึงคือ "การข้ามพ้น" แต่เราจะข้ามพ้นอะไรหรือ? ตั้งแต่เมื่อ 2,500 ปีก่อน พระพุทธเจ้าได้ทรงชี้ทางออกในการช่วยสรรพสัตว์ทั้งปวงให้พวกเราได้เห็นแล้วว่า ถ้าหากคนแต่ละคนสามารถกลายเป็น "ผู้ตื่น" ได้ คือสามารถทบทวนตัวเองในสิ่งที่ผิดพลาดในชีวิตประจำวันได้ เราก็มีทางที่จะข้ามพ้นมุมมองอันคับแคบที่เต็มไปด้วยตัวตนเล็ก ๆ ของเราไปได้
เพราะฉะนั้นการถ่อมตัวปรับปรุงตัวเองก่อนแก้ไขตัวเองก่อน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทำก่อน ส่วนการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมหรือเงื่อนไขต่าง ๆ นั้น ค่อยมาทำทีหลัง แนวคิดเช่นนี้ จึงตรงกันข้ามกับค่านิยมแบบตะวันตกที่ มุ่งจะเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้มารับใช้ตนเองของมนุษย์ซึ่งเป็นศูนย์กลางของโลก
แนวคิดเช่นนี้จึงยืนกรานถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ โดยไม่เป็นปฎิปักษ์กับธรรมชาติ เพราะการข้ามพ้นตัวเราเองย่อมหมายความว่า ตัวเราจะไม่เป็นสิ่งที่ปฏิปักษ์กับคนอื่นอีกต่อไป แต่จะสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเอกภพ ด้วยจิตใจที่เมตตาต่อกันและกัน เพราะความคิดแบบตะวันตกนั้น ยากที่จะหลีกเลี่ยงการเป็นปฎิปักษ์กับ "ข้างนอก" ได้ จึงยากที่จะเชื่อได้ว่ามีสันติภาพถาวรจากความคิดแบบนี้ได้ความคิดแบบนี้จึงไม่ลึกล้ำพอ และมีพลังมากพอ ที่จะช่วยชำระจิตใจของผู้คนให้สะอาด และยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นได้
เพราะฉะนั้นจึงยากที่จะกู้โลกให้พ้นจากความเสื่อมที่กำลังประสบอยู่ได้
สิ่งจำเป็นที่สุดในช่วงเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางประวัติศาสตร์ อันเป็นช่วงวิกฤตนี้ก็คือ การตระหนักถึง "สิ่งสูงสุด" ในฐานะที่เป็น "ชาวโลก" ร่วมกัน ด้วยการข้ามพ้นอัตตาของตนเอง หรือข้ามพ้นความขัดแย้งปลีกย่อยทั้งปวง โดยมุ่งที่จะผลึกจิตใจของตัวเอง ให้แนบแน่นกับสิ่งสูงสุดอันยิ่งใหญ่ไร้ขอบเขต ความตื่นในจักรวาลทัศน์เช่นนี้แหละ ที่จะทำให้ มนุษย์ผู้ฝึกฝนตนเองแต่ละคนสามารถบรรลุความเป็นคนของตนเองให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้ ด้วยการขจัดสิ่งร้าย ๆ ภายในตัวเราเองให้หมดไปเรื่อย ๆ
เพราะฉะนั้น Future Generations จึงหมายถึง การสถาปนาสิ่งสูงสุด หมายถึง การช่วยเหลือมนุษย์ชาติทั้งปวง หมายถึงความรัก ความเมตตา กรุณาที่ไม่มีขีดจำกัด และหมายถึงความปรารถนากับความใฝ่ฝันของมนุษยชาติ
มีวิถีทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้ปรากฏเป็นจริงได้ นั่นคือ "การข้ามพ้นอัตตาของตนเอง ความวิริยะพากเพียรเพื่อข้ามอัตตาของตนเองและการทบทวนข้อผิดพลาดในตัวเองของแต่ละคน
การข้ามพันอัตตา แบบเซน
การข้ามพ้นทุกสิ่ง คือจุดประสงค์หลักของการปฏิบัติธรรม หรือ การฝึกฝนตนเองแบบเซน
คำว่า "การข้ามพ้น" ของเราในที่นี้ไม่ได้หมายความถึง การละทิ้งโดยไม่มีความเกี่ยวข้องผูกพันแต่อย่างใด หากหมายถึงมีความเกี่ยวข้องผูกพันโดยไม่ยึดติดต่างหาก
การข้ามพ้นยุคสมัย การข้ามพ้นลัทธิความเชื่อทางการเมือง การข้ามพ้นรัฐ ฯลฯ ต่าง ๆ เหล่านี้ จะกลายเป็นเรื่องจิ๊บจ้อยทันที ถ้าหากเราสามารถละจุดยืนอันคับแคบของตัวเองและหันมา "ตื่น" ในจักรวาลทัศน์แห่งสิ่งสูงสุดอันยิ่งใหญ่ไร้ขอบเขต อันเป็นโลกที่ตรรกะเหตุผลไม่อาจเข้ามารบกวนตอแยได้
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าต้องการสันติภาพ ความจริงง่ายนิดเดียวคือ ยุติการทำสงครามเสียในทันที แต่ครั้นพอมนุษย์หันมาใช้ตรรกะลวดลายทางเหตุผลกันแล้ว
ต่างฝ่ายต่างก็จะเริ่มนิยามความหมายของ "สันติภาพ" ของตัวเอง และพอยึดติดกับนิยามของตัวเอง เชื่อว่าตัวเองเป็นฝ่ายชอบธรรม เมื่อนั้น ปัญหาสันติภาพก็จะถูกละเลย ปล่อยให้ความคิดของฝ่ายตน ความทะเยอทะยานทางอำนาจ และความเกลียดชัง เข้ามาเป็นตัวก่อให้เกิดสงครามขึ้นมาจนได้
ดังนั้น "การข้ามพ้น" จึงต้องหมายถึง การละทิ้งการใช้ตรรกะลวดลายทางเหตุผล หรือเลิกนิสัยการเล่นลิ้น เล่นสำนวน เล่นลวดลายในการใช้เหตุใช้ผล เพราะถ้าหากไม่มีการเล่นลวดลายในการใช้เหตุผลกันแล้ว โอกาสที่มนุษย์จะมาห้ำหั่นประหัตประหารกันเองอย่างโง่เขลา ก็คงมีขึ้นได้ยาก
สรุปสั้น ๆ ก็คือ "การข้ามพ้น" ที่เราใช้อยู่ในที่นี้นั้น มุ่งไปที่การข้ามพ้นการเล่นลวดลายใช้เหตุผลของตัวเราเอง ถ้าหากเราสามารถข้ามพ้นมันได้เราก็จะสามารถข้ามพ้นอัตตาของตัวเราได้
ของเพียงคนแต่ละคน สามารถเลิกนิสัย การเล่นลวดลาย ในการใช้เหตุผลกันได้ คนทุกคนย่อมสามารถพัฒนาตัวเองให้กลายเป็น "ผู้ยิ่งใหญ่แห่งมหาจักรวาล" ได้เหมือนกันหมดทุกคน
พวกเราทุกคนจะสามารถเชื่อถือไว้ใจซึ่งกันและกันเคารพซึ่งกันและกัน และมีชีวิตอย่างสงบสุขเปี่ยมไปด้วยปิติได้ ทั้งนี้เพราะการจะใช้ลวดลายในการใช้เหตุผลได้นั้น จำเป็นจะต้องมี "มโนทัศน์" (Concept) เสียก่อน ซึ่งตัวมโนทัศน์เองนี้ ก็จำเป็นจะต้องนิยามอีกต่อหนึ่งจะเห็นได้ ผลสรุปใด ๆ ของตัวเราที่มาจากความคิดที่ถูกนิยามของมโนทัศน์ต่าง ๆ สั่งสมกันขึ้นมานี้แหละ ที่แท้ก็เป็นลวดลายในการใช้เหตุผลที่ถูกนิยามอีกต่อหนึ่งทั้งสิ้น
ฉะนั้น มันจึงกลายเป็นกรงที่คับแคบที่กักขังตัวเราและความคิดของเราเอาไว้
แต่ความเชื่อความศรัทธาของคนเรานั้น ไม่จำเป็นต้องมีคำนิยามมีเหตุผลหรือมีวิธีคิดแต่อย่างใดทั้งสิ้น ความรัก ความเคารพก็เช่นกัน ของเพียงแต่เรามีศรัทธา มีความรัก มีความมุ่งที่จะก้าวข้ามพ้น "อัตตา" ของตัวเราเท่านั้นก็พอ สิ่งนี้แหละคือ ความรักอันไร้ขอบเขต คือความเชื่อมั่นที่มหาจักรวาลมีต่อพวกเรา และเพราะไม่มีการนิยาม เราจึงเป็นอิสระเสรีอย่างสิ้นเชิง
"การข้ามพ้น" จึงหมายถึง การเป็นอิสระเสรีอย่างสิ้นเชิง เพราะมันครอบคลุมทั้งสิ้น โดยไม่ยึดติดด้วย
ถ้าหากพวกท่านมีความวิตกห่วงถึง "อนุชนในอนาคต" (Future Generations) จริง ก็ไม่จำเป็นต้องคิดมาก คิดใช้ลวดลายเหตุผลใด ๆ เพียงแค่ขอให้แต่ละคนตระหนักว่า นี่เป็นโลกทีเราอาศัยอยู่ จึงควรช่วยกันดูแลปกป้องรักษาให้เสื่อมโทรมไปก็พอแล้ว โดยที่แต่ละคนให้ความร่วมมือกัน คนละไม้ คนละมือ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมจากส่วนของตนเอง ก็คงจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นได้
มนุษย์ จะต้องข้ามพ้นความยึดติดที่ตนเองมีอยู่ให้ได้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
มนุษย์ จะต้องเลิกละโมบ หันมาให้แทน
มนุษย์ จะต้องเลิกปฏิเสธซึ่งกันและกัน หันมาร่วมมือกันแทน
มนุษย์ จะต้องเลิกฆ่าแกงกัน หันมาช่วยเหลือกันแทน เพื่อสร้างสันติสุข ขึ้นในโลกใบนี้
"การข้ามพ้น" จึงคือ การข้ามพ้นตัวเองที่มีแต่ความยึดติด
"การข้ามพ้น" จึงคือการเปลี่ยนความเกลียดชังให้กลายเป็นความรัก
"การข้ามพ้น" จึงคือการเปลี่ยนการขูดรีดให้กลายเป็นการให้
"การข้ามพ้น" จึงคือการเปลี่ยนความระแวงสงสัย ให้กลายเป็นความเชื่อมั่นในผู้อื่น
ขอเพียงถ้าหากมนุษย์สามารถช่วย "ใจ" ของตัวมนุษย์เองได้ โลกนี้จะกลายเป็นโลกที่น่าอยู่ เป็นโลกแห่งความหวังภายในบัดดล ในความคิดแบบตะวันตกนั้น พวกเขาได้พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อมาเป็นเครื่องมือในการบรรลุตัวตนของพวกเขา แต่ในจิตใจแบบมหายานของตะวันออกนั้น ก่อนที่เราจะไปเรียกร้องเงื่อนไขต่อผู้อื่น เราจะต้องทบทวนตัวเอง ปรับปรุงตัวเองให้ดีเสียก่อน
ยามศึกษาข้อบกพร่องของผู้อื่น ก็เพื่อระมัดระวังมิให้ข้อบกพร่องเหล่านั้นเกิดขึ้นกับตนเอง มุ่งที่จะใช้ชีวิตที่มีอยู่จำกัดของเรานี้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเองและผู้อื่น ทั้งในรุ่นนี้และอนุชนรุ่นหลังในอนาคตมุ่งผนึกแนบแน่นตัวเองเข้ากับชีวิตอันยิ่งใหญ่ของมหาจักรวาล มอบชะตาชีวิต ความเป็นความตายไว้กับชีวิตอันเป็นนิรันดร์ของมัน
การฝึกนั่ง "ซะเซน" คือ สุดยอดแห่งแก่นความคิดแบบมหายานของตะวันออกอันนี้ เพราะไม่ว่าใครก็ตามถ้าหากได้ฝึกนั่ง "ซะเซน" แล้ว ก็ย่อมที่จะสามารถข้ามพ้นตัวเองได้ทุกคน ย่อมสามารถที่จะ "ตื่น" ได้ทุกคน
การฝึกนั่ง "ซะเซน"
การข้ามพ้นแบบเซนคือ การเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับแต่ละสิ่งในขณะนั้น ๆ อันเป็นสภาวะอิสระอย่างสิ้นเชิง เพราะไม่ยึดติดกับอะไรและเพราะสามารถหลุดพ้นจากกรงแห่ง "สติปัญญา" และ "อารมณ์" ของตนเองได้
"เซน" คือ การมุ่งสู่ความง่ายอย่างเป็นที่สุด อย่างบริสุทธิ์ที่สุด อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสิ่งสูงสุด การนั่ง "เซน" (นั่งฌาน หรือ ซะเซน) ก็คือ การนั่งเซน คือ การเข้าสู่โลกอิสระที่ข้ามพ้นทุกสิ่ง
ขอเพียงถ้าเรา เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการนั่งเซน (นั่งฌาน) ได้ เราก็ สามารถที่จะทำลายต้นตอแห่ง "อัตตา" ที่ทำให้เรายึดติดได้
เวลาแต่ละเสี้ยววินาทีที่ผ่านไปแล้วเรารับรู้ได้นั้น เนื่องจากมันเพิ่งผ่านพ้นไปแล้วมันเพียงเพิ่งผ่านแค่เสี้ยววินาทีเดียวก็ตาม แต่นั่นก็หมายความว่าตัวเราไม่เคยมีวันรู้ "ความจริง" แห่งความจริงได้เลย เพราะสิ่งที่เรารู้นั้นคือ "ความคิด" แห่งความจริงที่ได้ผ่านพ้นไปแล้วต่างหาก เซนจึงบอกว่า พวกเราล้วนอยู่ ใน "ความหลง" ในความไม่รู้โดยพื้นฐาน การนั่งเซน (ซะเซน) มุ่งที่จะขจัดความไม่รู้อันนี้ ด้วยการมุ่งที่จะทำให้ตัวเรา "ตื่น" ในความจริงของธรรมชาติโดยตรงในทันที เป็นการมุ่งช่วยตัวเราเองจากอัตตาของเราเอง โดยการมีชีวิตอยู่กับความจริง และของจริง
"การข้ามพ้น" ของเซน คือการมุ่งเป็นสิ่งนั้นในขณะนั้น ๆ อย่างบริสุทธิ์ใจจนกระทั่งสามารถลืมตนเอง ลืมเวลา ลืมสถานที่ คือลืมการดำรงอยู่ของตัวเราในขณะนั้นได้ นั่นแหละคือ การข้ามพ้นตนเองในแบบของเซน คือการเข้าถึง "สุญญตา" (ความว่าง) คือการเข้าถึง "สิ่งสูงสุด" คือการรู้แจง คือการหลุดพ้น
ในยาม "นั่งเซน" ขณะนั้นก็คือ จักรวาลหรือโลกแห่งการนั่งเซนเท่านั้น และก็เป็นการเหนือโลกอย่างอื่นในขณะเดียวกันด้วย ในการสั่งเซน เราจะทุ่มเทพลังงาน สมาธิใจของเราทั้งมวลไปที่ "ขณะนี้" อันเป็นช่วงขณะแห่งความสุดสูง โดยละทิ้ง "อดีต" ทั้งปวงของปัจจุบันขณะเอาไว้เบื้องหลัง ด้วยการทำให้จิตตื่นอยู่กับ ขณะนี้ที่เป็นจริงและของจริง
"ขณะนี้" ย่อมเป็น "ขณะนี้" อยู่เสมอ "ขณะนี้" จึงข้ามพ้นได้ แม้กระทั่งการนั่งเซน ไม่มีช่วงไหนเลยที่ไม่ใช่ขณะนี้ "ขณะนี้" จึงเป็นปัจจุบันขณะที่เป็นนิรันดร์ และเป็นความสูงสุดของจักรวาล และของทุกคน
ความจริงอันยิ่งใหญ่ในข้อนี้เราเรียกว่า พุทธธรรม และวิถีเพื่อการหลุดพ้นแบบนี้คือ พุทธมรรค
ว่าแต่ว่า คนเราจะแก้นิสัยของใจเราที่ชอบยึดติดอยู่นี้ได้อย่างไร?
ในการจะขจัดนิสัย ชอบ "คิด" ชอบฟุ้งซ่านของใจเรานี้วิธีที่ได้ผลที่สุด ก็คือ การฝึกฝนนิสัยอันนั้น ไม่ให้โอกาสมันขยายใหญ่ฝังรากลึก
โดยมุ่งขุดไปให้ถึงต้นตอที่จะทำให้เกิดความฟุ้งซ่านที่จะเติบใหญ่มาเป็นความคิด นิยาม มโนทัศน์
ทำได้อย่างไร?
ทำได้ก็ด้วย การทุ่มเทพลังงานทั้งหมดของเราในแต่ละขณะ ไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งในขณะนั้น ก่อนที่ใจจะเริ่มวอกแว่กไปในเรื่องอื่น ทำได้ก็ด้วย การมุ่งเจริญสติ ขจัดความฟุ้งซ่านที่กำลังจะเริ่มเกิดในแต่ละขณะ วิธีการฝึกการขจัดการฟุ้งซ่านที่ได้ผลดีที่สุด คือ การลดความเร็วในอากัปกิริยา การเคลื่อนไหวของตัวเราให้ช้าลงกว่าเดิมสิบเท่า โดยไม่ใช่มโนทัศน์ ไม่ใช้ความคิด แต่มีสติที่ชัดเจนอยู่เสมอในทุกขณะจิต
เคล็ดลับ ในการฝึกข้ามพ้นอัตตาแบบเซน มีดังต่อไปนี้
1.) น้อมใจรับเอาจิตใจของพระพุทธองค์มาใส่ไว้กับใจตนเอง โดยมุ่งที่จะบรรลุธรรม มุ่งทำใจให้สะอาดบริสุทธิ์ มุ่งช่วยเหลือแก้ไขความผิดพลาดของมนุษยชาติ มุ่งหวังให้สันติสุขของสรรพสัตว์ เพื่อการนี้จำเป็นจะต้องแสวงหา "ครูที่แท้" มาช่วยนำทางเรา
2.) เมื่อได้เจอ "ครู" ที่แท้แล้ว จงศรัทธาเคารพเชื่อถือในคำสอนของท่านอย่างไม่ระแวง
สงสัย
3.) จงมุ่งมั่นปฎิบัติธรรมฝึกฝนตนเอง ด้วยใจที่ถ่อมตนไม่หยิ่งผยอง ไม่ฝืนธรรมชาติของ
สังขาร
4.) ฝึกตัดความคิดที่ฟุ้งซ่านออกไปโดยเร็ว แล้วกลืบคันมาสู่สติดังเดิม
5 ). การทำร่างกายให้ผ่อนคลายอยู่เสมอ จะช่วยขจัดความฟุ้งซ่านได้ง่ายขึ้น
6.) ให้ความสำคัญกับการฝึกลมหายใจเข้า-ออก มุ่งที่จะให้ตัวเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับลมหายใจเข้า-ออก ในแต่ละครั้งให้ได้
7.) ฝึกจนกระทั่งชำนาญ เชี่ยวชาญ หลังจากนั้นก็จะสามารถคงสภาพจิตเช่นนี้ได้ ไม่ว่าในการเดิน การกิน คือ สามารถ "เห็น" การเดินการกินของเราได้ โดยไม่ต้อง "คิด" หรือสามารถที่จะ "คิดโดยไม่คิดอะไร" ได้
8.) หากฝึกได้ถึงขันนี้ ที่เหลือก็คือการขยันฝึกปรือ ในแต่ละ "ปัจจุบันขณะ" อย่างเป็นธรรมชาติเท่านั้น
"เมื่อเรา พูดคำว่า ขณะนี้ ออกมานั้น
เจ้าตัวช่วงเวลา ขณะนี้ ก็ไม่ได้อยู่กับเราแล้ว
เมื่อคำว่า นี้ มาถึง คำว่า ขณะ ก็จากเราไปแล้ว
ดอกเหมย ต้องผ่านความหนาวเหน็บทารุณเสียก่อน
ถึงจะโชยกลิ่นหอมออกมาได้
หากคนเรามีชีวิตอยู่ โดยไม่ได้ตั้งปณิธาน
ชีวิตก็จะมีแต่ความว่างเปล่า ที่รอความแก่เฒ่ามาถึงเท่านั้น
เธอควรจะคิดบ้างว่า ชีวิตนี้เราอยู่เพื่อใคร?
ต้นไผ่เขียวสะอาดริมหน้าต่าง โบกตัวไปมาท่ามกลางสายลม
แต่หาร่องรอยให้จับต้องไม่ได้"
อิโนะอุเอะ คิโด