แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (8) (19/7/2554)

แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (8) (19/7/2554)



แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ
เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (8)

(19/7/2554)





*การเสียสมดุลของร่างกายทำให้ป่วย*



การมีชีวิตอยู่ของคนเราในทางชีวเคมี เป็นการดำเนินไปของระบบชีวเคมีในร่างกายของเรานั่นเอง โดยที่มันเป็นปฏิกิริยาทางเคมีที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ระดับโมเลกุลเป็นจำนวนนับล้านครั้งต่อวินาที โดยเป็นการบริหารจัดการของธรรมชาติอันน่าทึ่งที่ทำให้ชีวิตดำเนินไป เพราะมีความสมดุลของระบบ แต่หากมีปัจจัยต่างๆ มาทำให้เสียสมดุลของระบบนี้ไป จะนำไปสู่การเกิดโรคต่างๆ โดยเฉพาะ โรคเรื้อรังที่คร่าชีวิตผู้คนในอันดับต้นๆ อย่างมะเร็ง และโรคหัวใจ-หลอดเลือด



แต่กลุ่มโรคเรื้อรังประเภทนี้ มิได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันใด แต่ต้องใช้เวลายาวนานกว่าโรคจะปรากฏ เพราะมีการเสียสมดุลของร่างกายทีละเล็กทีละน้อย ค่อยๆ เป็นไป การเสียสมดุลของร่างกายนั้น นอกจากเกิดจากความเครียดแล้ว ยังเกิดจากการที่ร่างกายได้รับสิ่งที่ควรได้รับ โดยเฉพาะสารอาหารไม่เพียงพอ ไม่เท่าทันการเสื่อมสลาย การเสียสมดุลก็ค่อยๆ เกิดขึ้น ทำให้ระบบภูมิชีวิตของร่างกายอ่อนแอลง ไม่สามารถซ่อมแซมปรับแต่งให้คงสภาพดีได้ดังเดิม และในหลายกรณีไม่สามารถต่อสู้ป้องกันอนุมูลอิสระได้ ความเสื่อมสภาพจึงเกิดขึ้น และนำไปสู่การเกิดโรคร้ายแรงอย่างเต็มขั้นในที่สุด



ในที่นี้จะขอยกตัวอย่าง กลไกเกื้อหนุนการเกิดพยาธิสภาพของโรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดแข็ง จากหนังสือของนายแพทย์เฉลียว ปิยะชน เรื่อง “รู้สู้โรค-โมเลกุลเพื่อชีวิต ชีวิตเพื่อสุขภาพ” (พ.ศ. 2552) มาอธิบายอย่างเป็นรูปธรรมโดยละเอียดว่า การเสียสมดุลของร่างกายทำให้คนเราป่วยเป็นโรคเรื้อรังที่ร้ายแรงได้อย่างไร



โรคหัวใจ คือ โรคที่มาจากหลอดเลือดแข็งตีบ และมีการอุดตันตามมา โรคหัวใจเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 และน่าจะเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอย่างฉับพลันไม่ทันได้ตั้งตัว เป็นอันดับ 1 เพราะ 1 ใน 3 ถึง 30% ของผู้ป่วยโรคหัวใจนั้น อาการแรก คือ การเสียชีวิตทันที โดยไม่รู้ตัวมาก่อน มิหนำซ้ำ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยที่เกิดอาการหัวใจถูกจู่โจม (heart attack) ครั้งแรกนั้นไม่มีอาการมาก่อนเลย



โรคหลอดเลือดแข็งเป็นภาวะที่เกิดได้กับหลอดเลือดแดงทุกเส้น หากเกิดกับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจหรือสมอง ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญจะทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ง่ายหรือเป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ตามมา หากเกิดกับอวัยวะที่ไม่สำคัญ อาจมีอาการไม่มากและไม่ถึงกับชีวิต โรคหลอดเลือดแข็งเป็นได้ตั้งแต่เด็ก แต่ใช้เวลาเป็นสิบๆ ปีกว่าจะมีอาการ หรือไม่มีอาการแต่ปรากฏตัวก็ทำให้เสียชีวิตเลย อย่างไรก็ดี โรคหลอดเลือดแข็งนี้ เป็นโรคที่ป้องกันได้ และเมื่อเป็นแล้วก็บำบัดให้ฟื้นคืนสภาพได้ทุกระยะของโรค



ปัจจุบัน วงการแพทย์ได้ยอมรับกันแล้วว่า การอักเสบในระดับเซลล์ เป็นกระบวนการที่ทำให้หลอดเลือดแข็ง มิใช่ความชราภาพดังที่เคยเข้าใจผิดกัน ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการอักเสบอันนำไปสู่ภาวะหลอดเลือดแข็ง ได้แก่


(1) มีแอลดีแอล คอเลสเตอรอล (LDL Cholesterol) สูง


(2) มีไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) สูง


(3) มีน้ำตาลในเลือด (Glucose) สูง


(4) มีอินซูลิน (Insulin) สูง


(5) มีอนุมูลอิสระไหลเวียนสูง


(6) มีโฮโมซิสเตอีน (Homocystein) สูง


(7) มีภาวะต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ต่ำ


(8) ขาดกรดไขมันจำเป็น และขาดวิตามินซี เป็นต้น



หลอดเลือดแดงเป็นท่อนำเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย โดยหัวใจต้องทำงานสูบฉีดเลือดวันละ 7,500 ลิตร หลอดเลือดไม่เหมือนท่อน้ำทั่วไป เพราะหลอดเลือดมีความยืดหยุ่น อ่อนนุ่มปรับเปลี่ยนยืดหดตัวได้แล้วแต่สถานการณ์ เพราะหลอดเลือดเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีโครงสร้างเป็นเนื้อเยื่อ 3 ชั้น ชั้นใน (intima) เป็นเซลล์เยื่อบุ (endothelium) เรียบลื่น ทำให้เลือดไหลผ่านได้ดี ชั้นกลาง (media) ประกอบด้วยกล้ามเนื้อชนิดเรียบ เป็นชั้นที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว-ขยายตัวได้ ส่วนชั้นนอกเป็นแผ่นใยปกคลุม (adventitial) ระหว่างชั้นใน และชั้นกลางมีเนื้อเยื่อเชื่อมประสานที่เรียกว่า คอลลาเจน (collagen) แทรกอยู่ ช่วยให้หลอดเลือดมีคุณภาพแข็งแรง ยืดหยุ่น กลมกลืนปรับเปลี่ยนได้ตามสถานภาพ การจะบำรุงให้หลอดเลือดทรงสภาพ จึงต้องทำองค์ประกอบเหล่านี้โดยเฉพาะคอลลาเจนให้สมบูรณ์ด้วย จึงจะเป็นการป้องกันการอักเสบมิให้เกิดขึ้นโดยง่าย แน่นอนว่า การป้องกันและรักษาที่สาเหตุของการอักเสบโดยตรงเป็นสิ่งจำเป็นอยู่แล้ว



ปัจจุบันแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ เชื่อกันว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดหลอดเลือดแข็ง (atherosclerosis) นั้น มาจากการอักเสบ โดยที่ต้นเหตุหลักของการอักเสบนั้น มีสมมติฐานอยู่ 2 อย่างคือ


(1) สมมติฐานคอเลสเตอรอล (cholesterol Hypothesis) สมมติฐานนี้ อธิบายว่า เนื่องจากแอลดีแอลถูกออกซิไดซ์เกิดออกซิไดซ์แอลดีแอล (Oxidized LDL) ที่เป็นดังนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง


(2) สมมติฐานผนังหลอดเลือดทำหน้าที่บกพร่อง (Endothelial dysfunctioning Hypothesis)


สมมติฐานนี้ลงลึกไปอีกว่า การที่หลอดเลือดจะอักเสบได้นั้น เป็นเพราะผนังหลอดเลือดอ่อนแอ ทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะชั้นในที่เป็นชั้นเยื่อบุ (intima) ซึ่งสัมผัสกับเลือดตลอดเวลา ทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย เมื่อเกิดขึ้นก็เริ่มกระบวนการอักเสบตามมา ดังสมมติฐานคอเลสเตอรอล สมมติฐานผนังหลอดเลือดทำหน้าที่บกพร่องนี้ เป็นการอธิบายจาก การเสียสมดุลของสภาพแวดล้อมภายในหลอดเลือด จึงเป็นคำอธิบายที่ทรงพลังกว่าสมมติฐานแรกมาก



เพราะเป็นการอธิบายจากหลักการของแพทย์แบบองค์รวมที่บอกว่า การเจ็บป่วย การเกิดโรค หรือพยาธิสภาพจะเกิดได้ เมื่อร่างกายหรืออวัยวะใดอวัยวะหนึ่งของคนเราอ่อนแอ หรือทำหน้าที่บกพร่องอันเนื่องมาจาก การเสียสมดุลของสิ่งแวดล้อมภายใน จึงทำให้เกิดการติดเชื้อหรือการบาดเจ็บต่ออวัยวะเนื้อเยื่อ คำอธิบายแบบนี้ เป็นคำอธิบายที่มุ่งลงลึกไปที่พื้นฐานของปัญหาในระดับเซลล์ (cellular level) เลยทีเดียว โดยที่ในกรณีของภาวะหลอดเลือดแข็ง ก็มุ่งลงลึกไปถึงระดับเซลล์เยื่อบุ (endothelial) และลงไปถึงผนังเซลล์ และใยคอลลาเจนอันเป็นองค์ประกอบของเซลล์ด้วย จึงอาจเรียกได้ว่า ลงลึกไปถึงระดับที่ต่ำกว่าเซลล์หรือระดับโมเลกุลเลยทีเดียว



คำอธิบายในระดับเซลล์และโมเลกุลเกี่ยวกับการเกิดพยาธิสภาพ จึงเป็นคำอธิบายที่ทรงพลัง เพราะในกรณีของการติดเชื้อ ก็จะไม่ดูแค่ติดเชื้ออะไรเท่านั้น แต่จะมองไปถึงว่า เหตุที่มีการติดเชื้อก็เพราะเนื้อเยื่อ-อวัยวะ-ร่างกายอ่อนแอ เนื่องจากในความเป็นจริง ตัวเชื้อโรคตัวนี้อาจอยู่ที่นั่นอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมา ไม่เกิดโรคก็เพราะเนื้อเยื่อ-อวัยวะ-ร่างกายแข็งแรงต่างหาก



สำหรับ กรณีของภาวะหลอดเลือดแข็ง การเสียสมดุลของสภาพแวดล้อมภายใน จนทำให้ผนังเยื่อบุหลอดเลือดทำหน้าที่บกพร่อง น่าจะเกี่ยวข้องกับการไม่ได้รับสารอาหาร วิตามิน แร่ธาตุอย่างพอเพียง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขาดวิตามินซี เพราะการจะทำให้คอลลาเจนในหลอดเลือดมีสุขภาพดีได้นั้น นอกจากร่างกายต้องได้รับสารอาหารที่สมบูรณ์แล้วที่สำคัญ ควรได้รับวิตามินซีในปริมาณที่มากพอด้วย



เนื่องจาก การสังเคราะห์คอลลาเจนในร่างกายของคนเรานั้น จำเป็นต้องมีวิตามินซี กรดอะมิโนไลซีน และโพรลีน วิตามินบี 6 และแร่ธาตุกำมะถันกับทองแดงด้วย จึงจะทำให้มีคอลลาเจนที่มีคุณภาพดี คือ แข็งแรง และสานใยกันอย่างแน่นหนา ทำให้สามารถทนทานต่อความเครียดเค้นทั้งทางเคมี และกายภาพได้ ซึ่งไม่เช่นนั้นแล้ว ก็จะทำให้เกิดบาดแผลที่ผนังเลือดขึ้นได้ง่าย แม้มีรอยถลอกเพียงเล็กน้อย ก็จะเป็นการเริ่มต้นของกระบวนการอักเสบที่ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตามมาในที่สุด



คอลลาเจนเป็นโปรตีนพื้นฐานของร่างกาย ทำหน้าที่เชื่อมยึดระหว่างเซลล์ทำให้เนื้อเยื่อ อวัยวะ และแม้แต่กระดูกทรงรูปร่างได้ ถ้าปราศจากคอลลาเจน ร่างกายของเราคงแตกเป็นเสี่ยง เนื่องจากคอลลาเจนเป็นโครงสร้างเส้นใย ส่วนใหญ่ในอวัยวะต่างๆ เช่น หลอดเลือด ผิวหนัง กระดูก หมอนกระดูก กระดูกอ่อน เอ็น ฟัน และเลนส์ตา เป็นต้น โชคไม่ดีที่คนยุคปัจจุบันตกอยู่ในสภาพขาดวิตามินซีเรื้อรัง จึงทำให้คอลลาเจนมีสุขภาพย่ำแย่ด้วย





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้