จาก “ปุ” มา “ปู” ถึง “วิจิตร” ตอนแรก (15/6/2554)

จาก “ปุ” มา “ปู” ถึง “วิจิตร” ตอนแรก (15/6/2554)

 


จาก “ปุ” มา “ปู” ถึง “วิจิตร” ตอนแรก


(15/6/2554)




บุคคลที่จะเป็นตัวแทนใช้อำนาจแทนประชาชนได้ ต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญคือ



ต้องถือเอาจริยธรรมให้อยู่เหนือกฎหมาย



“ปุ” ในที่นี้คือ ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ผู้เสนอตัวเข้ามาให้ประชาชนเลือกเป็น ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้



เป็น “ปุ” เดียวกับที่ได้ฉายาว่า “ไม้บรรทัด” “คนดีไม่มีเสื่อม” และเคยเป็นหนึ่งในกรรมการคณะกรรมการตำรวจ หรือ ก.ตร.ที่ออกมติว่า พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้เป็นเพื่อน “ปุ” ไม่มีความผิดจากการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อ 7 ต.ค. 51 จนมีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก



“ปุ” ได้ให้สัมภาษณ์สื่อ (ไทยโพสต์ 5 มิ.ย. 54) เมื่อเร็วๆ นี้เกี่ยวกับมติ ก.ตร.ที่ขัดแย้งกับที่ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงจนต้องถูกผู้บังคับบัญชาคือ นายกฯลงโทษปลดออกจากตำแหน่ง ผบ.สตช.และให้ออกจากราชการว่า เพื่อนของ “ปุ” คนนี้ไม่ผิดตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูล เพราะเป็นเรื่องของการควบคุมฝูงชน จะมีการบาดเจ็บล้มตาย เช่นกรณีของคุณโบว์ว่า “ชัดเจนหรือไม่ว่าเป็นการกระทำของตำรวจ ข้อสรุปก็คือไม่ใช่” มิใช่เป็นเรื่องทุจริต การอุทธรณ์ของพัชรวาทต่อ ก.ตร.ฟังขึ้น ไม่ควรที่จะต้องรับโทษถึงขนาดปลดออกจากราชการ



“ปุ” กล่าวถึงการลงโทษพัชรวาทเพื่อนเขาไว้อย่างน่าสนใจว่า “ถ้าจะลงโทษคนมันต้องมีข้อเท็จจริง มันต้องมีข้อกฎหมาย แต่ไม่ใช่ลงโทษเพราะอยากลงโทษ... อย่างนี้ไม่ได้ครับ ประเทศมันถึงแตกเป็นเสี่ยงเพราะเอาความยุติธรรมมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง”



แนวคิดของ “ปุ” ในเรื่องนี้จึงน่าสนใจวิเคราะห์ต่อไปว่า คนแบบนี้หากได้เป็นตัวแทนประชาชนจะนำพาประเทศชาติไปสู่จุดใด



เริ่มต้นจาก ป.ป.ช.มีอำนาจหน้าที่หรือไม่ที่จะชี้มูลความผิดในเรื่องที่มิใช่ทุจริต ประเด็นเรื่องนี้น่าจะชัดเจนว่าอำนาจตาม ม. 19 (3) ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจในการไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งรวมตำแหน่ง ผบ.สตช.ด้วยนั้นกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ มิใช่มีอำนาจเฉพาะการทุจริตตามที่นักกฎหมาย “หัวสี่เหลี่ยม” บางจำพวกที่ชอบอ้างว่าต้องมีกฎหมายตามชื่อความผิด เช่น กฎหมายก่อการร้าย จึงจะลงโทษผู้ก่อการร้ายได้ ทั้งๆ ที่สามารถปรับใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วมาใช้ได้แม้จะต่างชื่อก็ตาม



ดังนั้นแม้พัชรวาทมิได้ถูกไต่สวนในฐานความผิดทุจริต แต่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ผบ.สตช.ที่ตนเองดำรงตำแหน่งอยู่มิใช่หรือ ทำไม ป.ป.ช.จึงไม่มีอำนาจ



ประเด็นต่อมาก็คือ หากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดร้ายแรงทางวินัยแล้ว พัชรวาทสามารถไปอุทธรณ์กับ ก.ตร.ได้หรือไม่ และ ก.ตร.มีอำนาจที่จะกลับมติที่ ป.ป.ช.ชี้มูลมาแล้วหรือไม่



คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีของนายวีรพล ดวงสูงเนินที่ขออุทธรณ์มติ ป.ป.ช.ที่ชี้มูลความผิดและกำหนดโทษให้ไล่ออกจากราชการต่อ ก.พ.ที่วินิจฉัยขัดแย้งกับมติ ป.ป.ช.ว่า นายวีรพลไม่ได้กระทำผิดวินัยร้ายแรงก็น่าจะเทียบเคียงกันได้



ศาลปกครองได้วินิจฉัยว่า ก.พ.ได้ใช้อำนาจล่วงล้ำอำนาจที่เป็นของ ป.ป.ช.เป็นการเฉพาะโดย ก.พ.ไปวินิจฉัยในประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงใหม่อีกครั้งทั้งๆ ที่กฎหมาย ป.ป.ช.ก็ได้ห้ามเอาไว้ เพราะหากให้หน่วยงานต้นสังกัดสามารถวินิจฉัยมติ ป.ป.ช.ที่ได้มีมติไปแล้วได้ใหม่ก็จะเกิดการช่วยเหลือและเปลี่ยนฐานความผิดเป็นไม่ผิดวินัยร้ายแรงเพื่อกำหนดโทษเสียใหม่ได้โดยง่ายเหมือนเช่นความล้มเหลวที่ ปปป.ในอดีตประสบมา



หากพัชรวาทถูกชี้มูลและป.ป.ช.มีคำแนะนำให้หัวหน้าส่วนราชการที่เป็นผู้บังคับบัญชาซึ่งในที่นี้ก็คือนายกฯ เป็นผู้ออกคำสั่งลงโทษ เหตุใดเมื่อเห็นว่าไม่ได้รับความยุติธรรมทำไมพัชรวาทจึงไม่ฟ้องคนกลาง เช่น ศาลฯ ดังที่คนอื่นๆ เขาทำกันเพื่อให้ศาลฯ เป็นผู้วินิจฉัยว่า มติ ป.ป.ช.ถูกต้องหรือไม่เพียงใด



แต่กลายเป็นว่าเมื่อศาลปกครองไม่รับฟ้อง พัชรวาทจึงยื่นอุทธรณ์ต่อ ก.ตร.แทนศาล และ ก.ตร.ก็นำเรื่องที่ถือเป็นอำนาจเฉพาะของ ป.ป.ช.มาวินิจฉัยใหม่อีกครั้งเหมือนเช่นที่วีรพลและ ก.พ.เคยทำ ทั้งๆ ที่หากกฎหมายประสงค์จะให้อำนาจในการวินิจฉัยชี้มูลกับ ก.ตร.แล้วทำไมเมื่อมีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษกับตำรวจจึงไม่ให้อำนาจตำรวจเป็นผู้สอบสวนและให้ ก.ตร.วินิจฉัยชี้มูลเสียตั้งแต่ต้นมือ ทำไมจึงให้เป็นอำนาจของ ป.ป.ช.ในการไต่สวนตาม ม. 19 ของกฎหมาย ป.ป.ช. เหตุก็เพราะจะมีการขัดกันของผลประโยชน์มิใช่หรือ จะมีตำรวจหน้าไหนในประเทศกล้ามาสอบสวนกล่าวโทษเจ้านายตนเองได้



ประเด็นกฎหมายจึงไม่น่าสนใจเท่ากับประเด็นในเรื่องจริยธรรมที่อยู่สูงกว่ากฎหมายที่กำหนดไว้



สำนักงานตำรวจแห่งชาติตาม พ.ร.บ.ตำรวจ พ.ศ. 2547 มีการบริหารงานโดยองค์กร 2 องค์กร กล่าวคือ ในเรื่องของนโยบายอยู่ในการควบคุมกำกับดูแลโดยคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติหรือ กตช. ผบ.สตช.จึงรับเอานโยบายจาก กตช.มาปฏิบัติ



องค์กรอีกอันหนึ่งก็คือ ก.ตร.ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นคณะกรรมการบริหารก็ว่าได้เพราะมีอำนาจในการบริหารโดยอาศัยการบริหารงานบุคคลด้วยการ “ปรับลดปลดย้าย” ข้าราชการตำรวจทุกระดับเป็นเครื่องมือ ด้วยการออกเป็นระเบียบ ก.ตร.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยกเว้นแต่เพียง ผบ.สตช.เพียงตำแหน่งเดียวที่เป็นอำนาจของ กตช.เป็นผู้แต่งตั้ง
สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานหนึ่งในไม่กี่หน่วยงานที่มีขอบข่ายและกำลังคนครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศไทย ดังนั้นตำรวจที่ปฏิบัติงานที่สุไหงโก-ลกกับที่แม่สายต่างก็มีโอกาสถูกย้ายไปที่ใดก็ได้ที่ห่างจากแหล่งภูมิลำเนาที่ตนคุ้นเคยหรืออยู่อาศัยด้วยการเลื่อนตำแหน่ง โยกย้าย หรือปลดออก ซึ่งเป็นมาตรการหรือเครื่องมือที่สำคัญที่ ก.ตร.มีอยู่ในการควบคุมดูแลหรือใช้เพื่อแทรกแซงการปฏิบัติงานของตำรวจนอกเหนือจากภารกิจตำรวจที่กำหนดไว้ในกฎหมาย



ด้วยเหตุนี้เองแม้ ก.ตร.จะไม่สามารถออกกฎหมายให้ตำรวจปฏิบัติได้เอง แต่ก็สามารถควบคุมตำรวจให้ปฏิบัติในทิศทางที่ ก.ตร.ต้องการได้ ตำรวจจึงมีแนวโน้มที่จะ “ฟัง” ก.ตร. มากกว่า ผบ.สตช.หรือแม้กระทั่งนายกฯ เพราะ 2 คนหลังไม่สามารถให้คุณให้โทษได้โดยตรงเหมือน ก.ตร.แม้จะเป็นผู้บังคับบัญชาตามกฎหมายก็ตาม



ก.ตร.ตาม พ.ร.บ. ตำรวจ ม. 30 มีที่มาจาก 2 ช่องทางคือ (1) โดยตำแหน่ง และ (2) จากการเลือกตั้งภายในหน่วยงานซึ่งจะเป็นไปในกล่องซ้ายมือรูปล่างคือเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากอดีตนายตำรวจในตำแหน่งผู้บัญชาการหรือเทียบเท่า แต่พ้นจากความเป็นข้าราชการตำรวจไปแล้วเกิน 1 ปี โดยทั้ง 2 ส่วนจะร่วมกันเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อนำมาคัดเลือกร่วมกันอีกครั้งหนึ่งให้เหลือจำนวน 6 คนที่มีความเชี่ยวชาญใน 6 สาขาๆละไม่เกิน 1 คน




โครงสร้างและที่มาของ ก.ตร.






 อาจกล่าวได้ว่า ก.ตร.ส่วนใหญ่ จะมาจากการเลือกตั้งภายในหน่วยงานโดยนายตำรวจบางระดับเท่านั้นที่มีสิทธิลงคะแนนเลือกจากผู้สมัครที่มักเป็นนายตำรวจที่ยศสูงกว่าตนเองที่เกษียณอายุไปแล้วที่ขาดเหตุผลรองรับว่าทำไมจึงต้องเอากลับมา ในขณะที่ ก.ตร.โดยตำแหน่งก็ต้องพึ่งพาให้ ก.ตร.เห็นชอบ ดังนั้นผู้รับผิดชอบงานของ สตช.โดยตรงคือนายกฯ จึงกลายเป็น ก.ตร.ส่วนน้อย



ซ้ำร้าย เนื่องจากอยู่ในรูปแบบของคณะกรรมการและนายกฯ ไม่สามารถแต่งตั้ง ก.ตร.ด้วยตนเองทั้งหมด แม้แต่ ผบ.สตช.ก็ถูกตั้งโดย กตช.ที่นายกฯ เป็นเพียง 1 ใน 11 เสียง นอกจากนี้ พ.ร.บ.ตำรวจยังกำหนดให้ ก.ตร.และ กตช.แยกจากกันโดยมีกรรมการคนละชุดกันยกเว้นแต่เพียงกรรมการโดยตำแหน่ง 2 คนคือ นายกฯ และผบ.สตช.เท่านั้นที่สามารถเป็นกรรมการทั้ง 2 ชุดได้



นายกฯ ในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรงผ่าน ผบ.สตช. จึงมีอำนาจในการกำกับดูแลตำรวจน้อยกว่า ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 5 คนที่เคยเป็นเจ้านาย ก.ตร.ในตำแหน่งมาก่อนและยังเข้ามามีส่วนคัดเลือก ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้เชี่ยวชาญได้อีก 6 คน อำนาจของ ก.ตร.ส่วนใหญ่จึงมี “มาก” เพราะควบคุมตำรวจทั้งประเทศด้วยการปรับลดปลดย้าย แต่ความรับผิดชอบมี “น้อย” เพราะอยู่ในรูปคณะกรรมการ



สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงถูกบริหารด้วยระบบแบบ “อุปถัมภ์” จากรุ่นสู่อีกรุ่นโดยแท้ ด้วยการอาศัยสายสัมพันธ์ในแบบ “เจ้านายกับลูกน้อง” พึ่งพาซึ่งกันและกัน โดยกันฝ่ายการเมืองเป็น “คนนอก” ให้มีขอบเขตตั้งได้เฉพาะ ผบ.สตช.แต่เพียงตำแหน่งเดียวซึ่งก็ไม่มีผลอันใดเพราะอำนาจที่แท้จริงยังอยู่ที่ ก.ตร.



หากนายกฯ จะลงโทษตำรวจสักคนหนึ่งตามข้อมูลที่ได้มา แต่ถ้า ก.ตร.ไม่เห็นด้วยก็ทำอะไรไม่ได้ ดังเช่นในกรณีของพัชรวาทเพราะอำนาจไม่ได้อยู่ในมือผู้ที่รับผิดชอบตามกฎหมายแต่อย่างใด สตช.จึงกลายเป็นเสมือน “รัฐอิสระ” ที่ตัวแทนประชาชนไม่สามารถเข้าไปกำกับดูแลได้แต่อย่างใด ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่พัชรวาทจะเลือกไปอุทธรณ์กับ ก.ตร. และ ก.ตร.จึงถือตัวว่ามีอำนาจที่จะกลับมติที่ ป.ป.ช.ชี้มูลมาแล้ว ทั้งๆ ที่หากตำรวจถูกกล่าวโทษก็ควรให้หน่วยงานอื่น เช่น ศาลเป็นผู้พิจารณาแทน เพื่อมิให้ถูกครหาว่าปกป้องช่วยเหลือกันเอง



“ปุ” บอกว่า ตำรวจต้องรับใช้ประชาชน แต่ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ “ปุ” ก็ยังอยู่ได้ด้วยดีกับโครงสร้างของตำรวจที่มี ก.ตร.เป็นใหญ่ในแผ่นดิน แต่อยู่ห่างไกลข้อมูลว่าตำรวจทำดีหรือไม่ดีและอาศัยระบบอุปถัมภ์ที่พึ่งพาระหว่างตำรวจด้วยกันเองมากกว่ารับใช้ประชาชน



“ปุ” เคยถามตนเองดูบ้างไหมว่า ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิที่เกษียณไปแล้ว มีเหตุผลอะไรจึงต้องกลับเข้ามามีบทบาทมีอำนาจในสถานที่ทำงานเดิมอีก



“ปุ” บอกว่าประสบการณ์การบริหารของผมไม่น้อยกว่าใคร เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย รองนายกฯ รองหัวหน้าพรรค แต่ “ปุ” ก็อยู่ได้และอาศัยพรรคไทยรักไทยที่มีทักษิณผู้ทรยศโกงกินบ้านเมืองเป็นหัวหน้าตนเองในการเข้าสู่ตำแหน่งดังกล่าวมาก่อนใช่ไหม



นี่คือ “ปุ” ผู้เสนอตัวเองมาเป็นตัวแทนประชาชน







Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้