แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (41) (13/3/2555)

แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (41) (13/3/2555)


แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ
เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (41)

(13/3/2555)




*ศาสตร์ชะลอวัยกับการป้องกัน ‘เซลล์แก่’*



ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจิตร บุณยะโหตระ ผู้เขียนหนังสือ “ศาสตร์ชะลอวัย” (สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์, พ.ศ. 2553) กล่าวว่า ในปัจจุบันถึงแม้ผู้คนจะมีอายุยืนขึ้น จำนวนประชากรผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น แต่ปรากฏว่าโรคที่เกิดกับผู้สูงวัยไม่ได้ลดลง แต่กลับเพิ่มสูงขึ้น ปัญหาที่คนเรา “แก่เร็ว” “ตายเร็ว” นั้นเกิดจากการที่ผู้นั้นดูแลสุขภาพอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้เซลล์ของผู้นั้นกลายเป็น “เซลล์แก่” (Senescent cells) ที่เสื่อมเร็วและเป็นเซลล์ที่ไม่สามารถสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทนได้เมื่อตายไป



อีกทั้งยังเป็นบ่อเกิดของโรคเสื่อมอีกมากมาย เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ โรคสมองเสื่อม และโรคมะเร็ง เป็นต้น นายแพทย์วิจิตรยังบอกอีกว่า เดิมทีที่เรามักเข้าใจกันว่า โรคชราเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาตินั้น ดูท่าจะไม่เป็นความจริงเสียแล้ว เพราะศาสตร์สมัยใหม่ได้พิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า การป้องกันเซลล์แก่นั้น ทำได้และโรคชราเป็นโรคที่ป้องกันได้ ถ้าผู้นั้นมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับศาสตร์ชะลอวัย (Anti-Aging)



อนึ่ง การจะเป็นผู้สูงวัยยุคใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 อย่างมีศักดิ์ศรีและสง่างามได้นั้น คือ การเป็นคนที่รอบรู้ ทันยุคทันสมัย เป็นคนที่ดูดี มีความสุข แข็งแรง ดูอ่อนวัย มีสมาธิ มีความจำดี ช่วยตัวเองได้ มีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และมีความสามารถในการทำงานสูงแม้จะเลยวัยเกษียณไปนานมากแค่ไหนแล้วก็ตาม นั่นเอง



ผู้คนทั่วไปอาจจะยังไม่ค่อยได้รับทราบกันว่า สมาคมเวชศาสตร์ชะลอวัยของสหรัฐอเมริกาได้ประเมินไว้แล้วว่า ความรู้ด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยแขนงต่างๆ จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 250 เท่าของปัจจุบัน ในอีกยี่สิบปีข้างหน้า และอายุเฉลี่ยของคนเราน่าจะเพิ่มเป็น 150 ปีได้ในปี ค.ศ. 2030 เพราะแม้แต่ความรู้ทางการแพทย์เท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังทำให้อายุขัยของคนเราเพิ่มขึ้นเป็น 100 ปี หรือ 120 ปีได้ไม่ยาก ขณะที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้จำนวนหนึ่ง เชื่อว่าเด็กที่เกิดในวันนี้มีโอกาสอายุยืนได้ถึง 150 ปีเลยทีเดียว



เหตุผลก็คือ หลังจากที่ร่างกายมนุษย์เจริญเติบโตเต็มที่ เมื่อครบอายุ 25 ปีแล้ว ร่างกายของคนเราจะค่อยๆ เสื่อมลงทุกปีๆ ในอัตราเพียง 1% ต่อปีเท่านั้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ร่างกายของคนเราสามารถสร้างเซลล์สดใหม่ขึ้นมาแทนเซลล์ที่ตายไปได้ถึง 99% ในทุกๆ ปี ซึ่งเกือบจะพูดได้ว่า คนเราเกิดใหม่เป็นคนใหม่ได้ทุกปี หากผู้นั้นรู้จักดูแลร่างกายของตนให้อยู่ในสภาพที่สมดุลและสมบูรณ์อยู่เสมอ แต่ปัญหาที่ทำให้คนเราแก่เร็วและตายเร็วกว่าที่ควรนั้นเกิดจากการที่เซลล์ของเราหยุดสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทนเซลล์เก่าที่ตายไป เพราะเซลล์ของผู้นั้น “แก่เกินไป” คือนอกจากไม่มีพลังพอที่จะสร้างเซลล์สดใหม่ขึ้นมาได้แล้ว ยังเป็นบ่อเกิดของโรคเรื้อรังร้ายแรงต่างๆ อีกด้วย



“เซลล์แก่” คือเซลล์ที่ชำรุดจนหมดสภาพ หยุดสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทนตัวเองเมื่อเซลล์ตายลง เซลล์แก่เกิดขึ้นจากสาเหตุดังต่อไปนี้ โดยปกติ เมื่อสารอาหารที่คนเรารับประทานเข้าไปจะถูกดูดซึมและนำไปเผาให้เกิดพลังงานเรียกว่า ATP (Adenosine Triphosphate) ซึ่งเป็นพลังงานชีวิตที่ใช้ขับเคลื่อนเซลล์ของร่างกาย เปรียบเสมือนเป็นแบตเตอรี่ลอยอยู่ในเซลล์



ในแต่ละวัน ร่างกายของคนเราจะผลิต ATP ได้ปริมาณถึง 60 กิโลกรัม โดยที่การเผาไหม้เกิดขึ้นในโรงไฟฟ้าของเซลล์ที่เรียกว่า ไมโทคอนเดรีย (Mitochondria) ซึ่งมีจำนวนนับพันๆ โรงภายในเซลล์ หลังจากเผาไหม้อาหารแล้ว ร่างกายของคนเราจะเกิด “ขยะ” ขึ้นเรียกว่า อนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นขยะพิษที่จะถูกส่งไปรีไซเคิลในโรงงานอื่นคือ ไลโซโซม (Lysosome) สารที่รีไซเคิลแล้วจะถูกนำไปซ่อมสร้างส่วนต่างๆ ของเซลล์ที่ชำรุด เช่น เยื่อหุ้มเซลล์ เป็นต้น



ด้วยเหตุนี้ หากมี “ขยะ” (อนุมูลอิสระ) มากเกินไปจนเซลล์กำจัดไม่ทัน จะมีขยะสะสมภายในเซลล์อย่างมาก ทำให้เซลล์ชำรุด เป็นเซลล์แก่หรือบวมเป่งจนแตกออก นิวเคลียสของเซลล์ถูกทำลายและอาจเกิดผลกระทบต่อดีเอ็นเอทำให้เกิดโรคเสื่อมต่างๆ ของวัยชราขึ้นมากมาย เนื่องจากคนวัยหกสิบปีจะมีไมโทคอนเดรียที่มีประสิทธิภาพเหลือเพียง 60% เท่านั้น



ในทัศนะของศาสตร์ชะลอวัย “ความชรา” จะมีอยู่ 3 ระยะด้วยกันคือ


(1) ระยะไม่มีอาการ (subclinical phase) (ในช่วงอายุระหว่าง 22-35 ปี) การทำงานของเซลล์ร่างกายจะเริ่มลดประสิทธิภาพลงตั้งแต่อายุ 22 ปีเป็นต้นไป ทำให้มีสารพิษสะสมอยู่ในร่างกายเพิ่มขึ้นทุกวัน ฮอร์โมนในร่างกายก็เริ่มลดลงตั้งแต่อายุ 22 ปี และลดลง 14% เมื่ออายุ 35 ปี ความเสื่อมสะสมเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่ยังไม่แสดงอาการออกมา


(2) ระยะเปลี่ยนผ่าน (transitional phase) (ในช่วงอายุระหว่าง 35-45 ปี) เซลล์ต่างๆ จะเสื่อมลงมากขึ้นเรื่อยๆ และฮอร์โมนลดลงเรื่อยๆ จนลดลง 25% เมื่ออายุ 45 ปี ร่องรอยความชราเริ่มปรากฏให้เห็น เช่น ตามองไม่ชัด ผมหงอก ใบหน้ามีริ้วรอย เป็นต้น


(3) ระยะแสดงอาการ (clinical phase) (ในช่วงอายุ 45 ปีขึ้นไป) ฮอร์โมนต่างๆ ลดลงอย่างรวดเร็ว ตัวที่สำคัญได้แก่ DHEA (dehydroepiandrosterone), เมลาโทนิน, โกรทฮอร์โมน, ฮอร์โมนเพศ เป็นต้น อาการข้อเสื่อม ผิวหนังแห้งเหี่ยวย่น และโรคเสื่อมต่างๆ จะปรากฏออกมา


จะเห็นได้ว่า ช่วงอายุ 50 ปีเป็นต้นไป ของคนเราในมุมมองของศาสตร์ชะลอวัย มิใช่ช่วงเวลาแห่งการสะสมประสบการณ์ ความชำนาญและความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่ชีวิตเหมือนในช่วง 50 ปีแรกของชีวิตอีกต่อไปแล้ว แต่ควรจะเป็น ช่วงปรับแต่งชีวิต โดยการนำความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญที่สั่งสมไว้ในช่วง 50 ปีแรกของชีวิตมา บูรณาการ กับสิ่งที่ได้เรียนรู้ใหม่หลังจากนี้ เพื่อมีชีวิตอย่างสร้างสรรค์ให้มากที่สุด และดำรงความสามารถในการสร้างผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ ตราบจนสิ้นอายุขัยของผู้นั้น



การมีชีวิตที่ยืนยาวอีกสี่สิบปีขึ้นไปเป็นอย่างน้อย หลังจากเกษียณอายุ ในมุมมองของศาสตร์ชะลอวัย ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำชีวิตของตนในช่วงที่เหลืออยู่ให้เป็นช่วงชีวิตที่ดีที่สุด โดยการใช้ชีวิตอย่างอิสระเพื่อตนเอง ทำในสิ่งที่ตนเองอยากทำและถนัด หรือทำในสิ่งที่ตนเองเคยใฝ่ฝันเมื่อวัยเด็กแต่ไม่มีโอกาส โดยใช้ช่วงเวลาสี่สิบปีนี้ให้เป็นโอกาสทองของชีวิต ในการสร้างความสมดุลให้แก่ชีวิตเพื่อให้มีสุขภาพดี มีความสุข และยิ่งถ้าผู้นั้นสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเองด้วยความคาดหวังใหม่ๆ และวิสัยทัศน์ใหม่ๆ เพื่อส่วนรวมได้ก็ยิ่งวิเศษเข้าไปอีก



ศาสตร์ชะลอวัยยังบอกอีกว่า ช่วงอายุ 50 ปีเป็นต้นไป ควรจะเป็นช่วงเวลาของการได้เกิดใหม่ มีชีวิตใหม่ โดยเปลี่ยนวิถีชีวิตที่เคยทำร้ายตนเอง มาเป็นวิถีชีวิตที่สร้างสรรค์อย่างเต็มศักยภาพของมนุษย์ กลายเป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรง จิตใจสงบ มั่นคงเข้มแข็ง เป็นช่วงชีวิตที่ทำให้ผู้นั้นมีชีวิตชีวาเหมือนเด็กวัยรุ่น สามารถสนุกสนานเบิกบานใจกับชีวิตประจำวันได้ทุกวัน รู้สึกอ่อนวัย คึกคัก และมีพลังชีวิตเต็มเปี่ยม ไม่ว่าตัวเองจะมีอายุเท่าใดก็ตาม



แก่นความคิดของศาสตร์ชะลอวัยนั้นอยู่ที่กระบวนทัศน์ใหม่ที่เชื่อว่าคนเราสามารถกำหนดชีวิตใหม่ได้ โดยการตั้งโปรแกรมใหม่ให้แก่ตนเองว่า เราจะไม่แก่ ไม่เจ็บป่วย ไม่ตายง่ายๆ และใช้ชีวิตไปตามจินตภาพใหม่นี้ โดยการเปลี่ยนความเชื่อเก่าที่มองว่า ร่างกายย่อมเสื่อม และตายไปตามธรรมชาติของมัน ไปเป็นความเชื่อใหม่ ที่มองว่า ร่างกายสร้างเซลล์ใหม่และชีวิตใหม่ทุกวัน จึงต้องมีการปรับปรุง ต้อนรับชีวิตใหม่ทุกวัน และมีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่ดีงามเกิดขึ้นทุกวันอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด เพื่อทำให้ตัวเองกระฉับกระเฉงแข็งแรง ไม่แก่และมีอายุยืนยาว



ศาสตร์ชะลอวัยยังมองอีกว่า ในตัวมนุษย์เรามี พลังมหัศจรรย์ ซึ่งมีศักยภาพสูงมากในการบำรุง ส่งเสริมอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ให้ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดอยู่ตลอดเวลา และเป็นพลังมหัศจรรย์ที่จะซ่อมแซม ดูแลรักษาให้อวัยวะเหล่านั้นอยู่ในสภาพที่ดีอยู่เสมอ โดยไม่ต้องพึ่งหมอ พึ่งยา ทั้งนี้ก็เพราะว่า ร่างกายมนุษย์มีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถสกัดดึงดูดเอาสิ่งสุดยอดจากอาหารที่คนเราทานเข้าไปมาเปลี่ยนเป็นพลังงานคุณภาพสูง (super-energy) ที่เรียกว่าพลังชีวิต (vital power) เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายเสื่อม ทำให้อัตราการเสื่อมของร่างกายมนุษย์มีต่ำมากเพียง 1% ต่อปีเท่านั้นเอง



ดังนั้น การดูแลตนเองไม่ให้เสื่อมหรือแก่เร็ว จึงสามารถทำได้ด้วยการเลือกทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง กับการดูแลจิตใจให้ดีที่สุด ผสานกับการฝึกลมปราณหรือพลังปราณ เพื่อกระตุ้นพลังชีวิตที่เป็นพลังมหัศจรรย์ภายในตัวเราให้ทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณ์เต็มร้อยอยู่เสมอ




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้