แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ
เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (38)
(21/2/2555)
*ปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพสมอง*
โดยทั่วไป คนเราจะเริ่มเผชิญกับปัญหาเรื่อง ความเสื่อมถอยในกระบวนการคิด เมื่อย่างเข้าสู่วัยห้าสิบปีขึ้นไป ความเสื่อมนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการสูญเสียเซลล์สมอง และการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมองทำให้พลังสมองของคนเราเสื่อมถอยลง จะเห็นได้ว่า ความหนาแน่นของเซลล์ประสาท และปริมาณการเชื่อมต่อเซลล์ประสาทในสมอง เป็นตัวกำหนดความสามารถในการรับรู้ของคนเรา หรืออาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า ยิ่งสมองของเรามีขนาดใหญ่ และเชื่อมต่อกันมากเท่าใดในวัยเยาว์ ตัวเราก็จะสามารถต้านทานการสูญเสียเซลล์สมอง และสามารถรักษาการทำงานของสมอง เมื่อแก่ชราได้มากเท่านั้น จะเห็นได้ว่า สุขภาพสมองเป็นเรื่องที่คนผู้นั้นควรเอาใจใส่ในทุกช่วงวัยของชีวิต
หากยกเว้นเรื่อยีนหรือกรรมพันธุ์แล้ว “สภาพแวดล้อม” ที่ส่งผลต่อสุขภาพสมองของคนเรานั้น เป็นสิ่งที่สามารถปรับเปลี่ยนได้แทบทั้งสิ้น หากผู้นั้นตื่นตัวและต้องการรักษาสุขภาพสมองของตนเอาไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ “สภาพแวดล้อม” ในที่นี้ มิได้หมายถึงอิทธิพลจากสารพิษในโลกรอบตัวเราเท่านั้น แต่ยังรวมอาหารและอาหารเสริมที่เราเลือกว่าจะรับประทานหรือไม่รับประทาน อุปนิสัยที่เราทำเป็นประจำ กิจกรรมทั้งทางร่างกายและสมองที่เราทำตลอดชีวิต ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อสุขภาพสมองของคนเราในระยะยาวทั้งสิ้น อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพสมอง ที่สำคัญที่คนเราควรรับรู้และตระหนักมีอยู่ 10 อย่างด้วยกัน ดังต่อไปนี้
(1) ภาวะดื้ออินซูลิน ภาวะก่อนเป็นเบาหวานและโรคเบาหวาน
งานวิจัยชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การมีน้ำตาลในเลือดสูง การเป็นโรคเบาหวาน หรือการมีภาวะดื้ออินซูลินจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการสูญเสียความทรงจำ หรือแม้กระทั่งโรคอัลไซเมอร์เมื่ออายุมากขึ้น การควบคุมระดับกลูโคสในร่างกายไม่ดีจะทำให้ในสมองมีกลูโคสมากขึ้น ในที่สุด กลูโคสที่คงอยู่ในระดับสูงนานๆ จะทำให้ระดับอินซูลินสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้การตอบสนองต่ออินซูลินช้าลงหรือเกิดภาวะดื้ออินซูลินขึ้น ซึ่งจะทำให้กลูโคสมีปริมาณสูงขึ้นไปอีก
ขณะที่ระดับน้ำตาลสูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป โมเลกุลของน้ำตาลกับโปรตีนในเลือดและในสมอง จะทำปฏิกิริยาเคมีแบบย้อนกลับไม่ได้เกิดเป็นสาร AGE (ย่อมาจาก advanced glycation and product) ซึ่งไปเพิ่มอนุมูลอิสระแก่สมอง และนำไปสู่การทำลายเซลล์สมองหรือการหดตัวของสมอง โรคเบาหวานยังมีความสัมพันธ์กับภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ซึ่งทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง และทำให้สารอาหารที่จำเป็นหลายชนิดไปไม่ถึงสมอง ส่งผลให้สมองได้รับพลังงานอันเป็นที่ต้องการอย่างมหาศาลเพื่อจะทำหน้าที่อย่างดีที่สุดได้ยากขึ้น
นอกจากนี้ โรคเบาหวานชนิดทั่วไปที่สัมพันธ์กับโรคอ้วน จะทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้นอย่างรวดเร็วในร่างกายและสมอง ทั้งนี้ก็เพราะว่า ร่างกายที่เป็นเบาหวาน และมีน้ำหนักมากเกินไป คือ ร่างกายที่อักเสบ การอักเสบนี้ส่งผลกระทบต่อสมองโดยเป็นสาเหตุของการสูญเสียความทรงจำ และการหดตัวของสมองเมื่ออายุมากขึ้น จะเห็นได้ว่า ในบรรดาปัจจัยเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้ เพื่อให้สมองมีสุขภาพดีนั้นคงไม่มีสิ่งใดสำคัญไปกว่าโรคเบาหวานจากความอ้วนอีกแล้ว
(2) การรับประทานอาหารขยะ (ฟาสต์ฟูด)
โดยทั่วไป เรากินอะไรก็มักเป็นอย่างนั้น คุณภาพของอาหารที่เรารับประทานจึงมีอิทธิพลต่อสมอง อาหารขยะคุณภาพต่ำจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการสูญเสียความทรงจำ โภชนาการที่ดีจะช่วยให้สมองทำงานได้ดีขึ้นและแข็งแรง ปัจจุบันคุณภาพอาหารที่ผู้คนรับประทานกันทั้งประเทศลดลง เพราะผู้คนเสพติดความสะดวกสบายและความรวดเร็วจึงทานอาหารสดที่ปรุงจากเครื่องปรุงสดใหม่น้อยลง แต่กลับรับประทานอาหารห่อพลาสติก อาหารแช่แข็ง อาหารอุ่นด้วยไมโครเวฟ และอาหารใส่กล่องโฟมมากขึ้น มิหนำซ้ำยังรับประทานอย่างเร่งรีบไปพร้อมกับการทำกิจกรรมอื่น การรับประทานอาหารที่มีแป้ง น้ำตาล ไขมันค่อนข้างมากซึ่งเป็นอาหารขยะ หรืออาหารกินสะดวกเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้สมองได้รับวัตถุดิบที่มีคุณภาพอย่างที่ต้องการเพื่อให้ทำงานได้อย่างเหมาะสม อย่าว่าแต่จะให้ดีถึงที่สุดเลย
(3) ความเครียดเรื้อรัง
แม้ว่าธรรมชาติจะออกแบบมนุษย์มาให้รับมือกับความเครียดฉับพลันได้เป็นระยะเวลาสั้นๆ เช่น การวิ่งหนีเอาตัวรอดจากสัตว์ที่พยายามจับเรากินเป็นอาหาร แต่ร่างกายตั้งแต่ยุคหินของเราไม่ได้เตรียมการมาให้ทนทานต่อแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากเรื่องที่ทำงาน เรื่องที่บ้าน รวมทั้งข้อมูลอันท่วมท้นที่เราต้องเผชิญทุกวี่วัน ความเครียดเรื้อรังชนิดนี้จะไปทำลายบริเวณอันบอบบางในสมองซึ่งเกี่ยวข้องกับความทรงจำ และการเรียนรู้ อนึ่งระดับกลูโคสที่สูงยังกระตุ้นให้เกิดคอร์ติซอล (cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียดเพิ่มขึ้น ซึ่งจะไปทำลายเซลล์สมองมากขึ้นอีก
(4) การอดนอน
การอดหลับอดนอนทำงานต่อเนื่องนานๆ ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพกายและสมอง ร่างกายต้องการการพักผ่อน ส่วนสมองต้องการการนอนหลับ เพราะการนอนหลับคือสิ่งที่ช่วยให้สมองทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ได้ต่อเนื่อง การอดนอนเป็นประจำ จะทำให้คนผู้นั้นอ่อนล้า สับสน และไม่สามารถทำงานซึ่งต้องการความคิดที่เฉียบแหลม มีสมาธิหรือการตอบสนองที่รวดเร็วได้อย่างเหมาะสม การนอนหลับให้เพียงพอจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรวบรวมเสริมสร้างความทรงจำ และการเรียนรู้ การอดนอนเรื้อรังไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ทำให้สมองเกิดความเครียด และไปรบกวนฮอร์โมน เช่น คอร์ติซอล ซึ่งปกติจะต้องลดลงในเวลากลางคืนให้เพิ่มขึ้นจนสูงกว่าระดับปกติ
การมีฮอร์โมนความเครียดนี้ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน จะส่งผลให้สมองในส่วนของฮิปโปแคมปัสซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับความทรงจำที่แม่นยำนั้นหดตัวลง และยังไปทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน และระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอีกด้วย เท่านั้นยังไม่พอ มันยังไปบั่นทอนความสามารถในการสร้างพลังงานของเซลล์สมอง รบกวนการเผาผลาญพลังงานจากแคลเซียม ทำให้เซลล์สมองมีความเสี่ยงมากขึ้นต่ออันตรายจากสิ่งแวดล้อมทั้งทางกายภาพและความเป็นพิษ การกลับไปนอนหลับให้สนิทตามธรรมชาติอย่างเพียงพอ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับสุขภาพสมอง
(5) หลอดเลือดแข็งตัวและความดันโลหิตสูง
โครงข่ายหลอดเลือดแดงขนาดมหึมานำเลือดจากหัวใจไปยังทุกซอกหลืบในร่างกายตั้งแต่ปลายจมูกจดปลายเท้า โดยส่งทั้งสารอาหารและออกซิเจนที่เนื้อเยื่อของเราต้องการใช้ในการมีชีวิตและเจริญเติบโต แต่กาลเวลาทำให้สังขารเสื่อมโทรมสำหรับคนส่วนใหญ่ที่ไม่ค่อยดูแลสุขภาพ อาหารการกิน การพักผ่อน และการออกกำลังกาย หลอดเลือดของคนเหล่านั้นจะแคบลงจากการมีตะกอนมาจับและเริ่มแข็งตัว เกิดเป็นภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัว (arterioscierosis) ที่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น โดยที่ความดันโลหิตที่สูงขึ้นอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การสูญเสียความทรงจำเมื่ออายุมากขึ้น
ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัว อาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมองตีบ หรือสมองขาดเลือด (ischemic stroke) กับโรคหลอดเลือดสมองแตก หรือเลือดออกในสมอง (hemorrhagic stroke) สิ่งที่ทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัวคือ การอักเสบเล็กๆ น้อยๆ แต่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรังจนเป็นสาเหตุของตะกอนในหลอดเลือดแดง ซึ่งการป้องกันหลอดเลือดแดงแข็งตัว ควรเป็นการป้องกันในระดับเซลล์ด้วยโภชนาการ
(6) การสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคมากมายหลายโรค รวมทั้งเป็นอันตรายต่อความทรงจำด้วย เพราะสิ่งใดก็ตามที่ไม่ดีกับหัวใจ ปอด ผิวหนัง และร่างกายโดยทั่วไปย่อมไม่ดีกับสมองด้วย การสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์เป็นสองเท่า และยังเพิ่มโอกาสที่จะทำให้เกิดอาการความจำเสื่อมในรูปแบบที่รุนแรงน้อยกว่าด้วย เนื่องจากสมองของคนเราประกอบด้วยไขมันที่ละเอียดอ่อน สารพิษหลายชนิดจากควันบุหรี่สามารถผ่านทางปอดหรือกระเพาะเข้าไปยังโลหิต และขึ้นสู่สมองได้ โดยมันสามารถละลายได้ในเยื่อหุ้มเซลล์หรือเนื้อเยื่ออื่นๆ ที่เป็นไขมันส่งผลให้เซลล์สมองเป็นพิษ หรือทำลายเซลล์สมองนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าหากห่วงใยสมอง จงเลิกสูบบุหรี่เถิดหรืออย่าคิดสูบบุหรี่เป็นอันขาด
(7) การดื่มสุรา
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพียงเล็กน้อยในแต่ละวัน สามารถลดความเสี่ยงต่ออาการความจำเสื่อมได้ก็จริง แต่หากดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป หรือเกินกว่าวันละหนึ่งแก้วกลับเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการสมองเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้น จึงเห็นได้ชัดว่า การดื่มสุรามากๆ เป็นอันตรายต่อสมองซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยไขมัน เพราะแอลกอฮอล์เป็นสารพิษและเป็นตัวทำละลายไขมัน
(8) การใช้ยา
แม้แต่ยาที่ดีที่สุดก็อาจมีผลข้างเคียงที่ร้ายแรงได้ ยาบางชนิดส่งผลกระทบต่อสมอง และไปบั่นทอนความคิด และความทรงจำโดยตรง สมองส่วนใหญ่ประกอบด้วยไขมันที่ละเอียดอ่อนซึ่งไวต่อการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน เพื่อป้องกันมิให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ร่างกายจะต้องป้อนสารต้านอนุมูลอิสระแก่สมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สารต้านอนุมูลอิสระตามธรรมชาติที่ชื่อ โคเอนไซม์คิวเท็น (CoQ10) สารปกป้องตัวสำคัญนี้ ไม่เพียงทำหน้าที่รักษาไขมันที่ละเอียดอ่อนในสมองให้บริสุทธิ์ และทำงานได้เท่านั้น แต่ยังจำเป็นต่อการสร้างพลังงานในบริเวณสร้างพลังงานของเซลล์สมอง เนื่องจากการขาดพลังงานในเซลล์จะทำให้สมองทำงานช้าลง มีปฏิกิริยาตอบสนองช้าลง เหนื่อยง่ายและสูญเสียความเฉียบคม
(9) ยาเสพติด
ยาเสพติดนั้นทำลายสมอง โดยเฉพาะ แอมเฟตามีน หรือ ยาบ้า เป็นยาเสพติดในอันดับต้นๆ ที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสมอง เพราะยาบ้าทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ แม้ในสมองที่ยังเยาว์วัยก็ตาม นอกจากนี้ ยาบ้ายังทำให้เซลล์สมองเปลี่ยนแปลงไป โดยทิ้งตะกอนโปรตีนลักษณะคล้ายกับโปรตีนที่พบในสมองคนที่มีภาวะสมองเสื่อม เช่น โรคอัลไซเมอร์ โคเคน ทำให้ผู้เสพมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคพาร์กินสันมากขึ้น ยาอี ทำให้ผู้เสพเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น และจะทรมานจากอาการความจำเสื่อมหากเสพอย่างต่อเนื่อง
(10) การกระแทกบริเวณศีรษะ
การบาดเจ็บที่ศีรษะ เป็นปัจจัยเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมต่อการเกิดอาการความจำเสื่อม แม้กระทั่งโรคอัลไซเมอร์ได้อุบัติเหตุเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยในการเล่นกีฬาบางชนิด เช่น ชกมวย รักบี้ ฟุตบอล เป็นต้น รวมทั้งการขี่มอเตอร์ไซค์โดยไม่สวมหมวกกันน็อก เพราะฉะนั้นจึงควรระวังในการทำกิจกรรมที่ไม่ทำให้ศีรษะได้รับการกระทบกระเทือน
เมื่อเราเข้าใจเรื่องปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพสมองแล้ว ต่อไปเราควรทำความเข้าใจว่าเราควรจะดูแลสุขภาพสมองของเราอย่างไรให้แข็งแรงตราบนานเท่านาน