พระหัตถ์ของกวนอิม
แก่นความคิดของโดเง็นในงานเขียนหลักที่เป็นอมตธรรมของเขาเรื่อง โชโบเก็นโซ ที่เราเลือกเฟ้นมานำเสนอเป็นอันดับแรกคือบทที่ชื่อว่า คันอ็อน (พระโพธิสัตว์กวนอิม) อันเป็นบทที่ 18 ของ โชโบเก็นโซ (ฉบับที่มีทั้งหมด 75 บท) ซึ่งโดเง็นเขียนออกมาในปีค.ศ.1242 ซึ่งเป็นช่วงกลางของงานเขียนชุดนี้และเป็นช่วงที่โดเง็นสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นอมตธรรมออกมาอย่างกระตือรือร้นที่สุดด้วยวัยเพียงสี่สิบต้นๆเท่านั้นเอง
โดเง็นเริ่มต้นบท คันอ็อน ของเขาด้วยบทสนทนาระหว่างพระเซน 2 รูปคือท่านอุนงันกับท่านโดโงะทั้งสองท่านล้วนเป็นอาจารย์เซนในสายโซโตก่อนอาจารย์เนียวโจซึ่งเป็นอาจารย์ของโดเง็นประมาณ 4 รุ่นท่านอาจารย์อุนงัน (ค.ศ.782-841) กับท่านอาจารย์โดโงะ (ค.ศ.769-835) เป็นศิษย์รุ่นเดียวกันของท่านอาจารย์ยากุซัง (ค.ศ.751-834) ที่ปฏิบัติธรรมร่วมกันมาหลายสิบปี
อุนงันไต้ซือถามโดโงะไต้ซือว่า
พระโพธิสัตว์กวนอิมผู้มีพันมือท่านใช้มือจำนวนมาก
เหล่านี้ของท่านในการช่วยเหลือสัตว์โลกอย่างไรหรือ?
โดโงะไต้ซือตอบว่า
การใช้มือของท่านอุปมาดั่งคนที่นอนหลับในตอน
กลางคืนแล้วเอามือช้อนศีรษะควานหาหมอน
โดยไม่ตั้งใจยังไงยังงั้นแหละ
เข้าใจแล้วหละ
เข้าใจยังไง
กายที่แผ่ไปทั่วคือพระหัตถ์ของกวนอิม
ตอบได้ดีนี่ตรงเป้าถึงแปดหรือเก้าในสิบส่วน
ผมมีความสามารถตอบได้แค่นี้แหละ
ถ้าเป็นศิษย์พี่จะตอบอย่างไรหรือ ?
เราจะตอบว่ามือที่ทะลวงกายของกวนอิม
คือพระหัตถ์ของกวนอิม
พระโพธิสัตว์กวนอิมหรือพระอวโลกิเตศวรคือผู้ดูและฟังความทุกข์ยากของสรรพสัตว์ด้วยหัวใจที่เปี่ยมเมตตาเนื่องจากท่านมีพระหัตถ์ถึงพันมือท่านย่อมสามารถยื่นพระหัตถ์ของท่านออกไปช่วยเหลือผู้ที่ภาวนาร้องขอความช่วยเหลือจากท่านได้เสมอโดยที่วิธียื่นความช่วยเหลือของท่านนั้นดุจดัง คนที่นอนหลับอยู่แล้วยื่นมือออกไปคลำหมอนโดยไม่รู้ตัว (โดโงะไต้ซือ) พออุนงันไต้ซือได้ยินท่านโดโงะไต้ซืออธิบายเช่นนั้นจึงกล่าวเสริมว่ามือของพระโพธิสัตว์กวนอิมที่คอยช่วยเหลือสรรพสัตว์นั้นไม่ใช่แค่พันมือหรอกแต่ตัวท่านทั้งตัวนี่แหละหรือกายที่แผ่ไปทั่วสากลโลกของท่านนี่แหละคือพระหัตถ์ของกวนอิม!
ในบริบทของศาสนาพุทธมหายานที่โดเง็นศึกษาอยู่มือที่หยิบยื่นออกมาช่วยเหลือสรรพสัตว์คือพระหัตถ์ของพระโพธิสัตว์กวนอิมก็จริงอยู่แต่ถ้ากล่าวในขอบเขตที่กว้างออกไปเราย่อมกล่าวได้ว่าคือพระหัตถ์ของ พระเจ้านั่นเอง! เพราะ กวนอิม คือ พระเจ้า ในบริบทของมหายาน
โดเง็นกล่าวว่าเท่าที่ผ่านมามีครูบาอาจารย์หลายท่านพูดถึงพระโพธิสัตว์กวนอิมก็จริงแต่ที่กล่าวได้อย่างถูกต้องตรงจุดเห็นจะไม่มีอันใดเทียบเท่าบทสนทนาระหว่างท่านอุนงันกับท่านโดโงะข้างต้นผู้ที่คิดจะศึกษาพระโพธิสัตว์กวนอิมจึงควรวิปัสสนาคำพูดของท่านทั้งสองข้างต้นนี้ให้จงดี
เริ่มจากคำพูดของท่านอุนงันที่ถามว่า พระโพธิสัตว์กวนอิมผู้มีพันมือท่านใช้มือจำนวนมากเหล่านี้ของท่านในการช่วยเหลือสัตว์โลกอย่างไรหรือ?... อุนงันนับถือกวนอิมโดโงะก็เช่นกันทั้งคู่น้อมจิตเข้าหากวนอิมเมื่อทั้งคู่มีจิตเช่นนั้นกวนอิมนับร้อยนับพัน (จำนวนนับไม่ถ้วน) ก็เป็นฝ่ายน้อมจิตเข้าหาทั้งคู่ด้วยการที่โดเง็นกล่าวเช่นนี้ก็เท่ากับว่าเซนของโดเง็นไม่ได้ปฏิเสธเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือการดำรงอยู่ของโลกทิพย์เพราะโดเง็นเองก็กล่าวว่าสิ่งที่ทำให้กวนอิมเป็นกวนอิมอย่างแท้จริงมิใช่เป็นแค่รูปปั้นหรือรูปแกะสลักเท่านั้นก็คือการที่กวนอิมมีมือที่ไม่จำกัดนับจำนวนไม่ถ้วนไม่ใช่มีแค่พันมือเท่านั้น
พระหัตถ์ของกวนอิมหรือพระหัตถ์ของพระเจ้าไม่มีทางถูกจำกัดจำนวนได้ความเข้าใจเกี่ยวกับ กวนอิม เช่นนี้ของอุนงันรวมทั้งโดเง็นผู้เป็นศิษย์รุ่นหลังย่อมทำให้พวกเขาก้าวล่วงเข้าสู่ โลกที่ไม่อาจประมาณจำนวนได้ซึ่งไม่ใช่โลกหยาบๆที่เห็นได้ด้วยตาเนื้ออย่างโลกวัตถุ
ในโลกวัตถุที่นับประมาณจำนวนได้ย่อมมีการเปรียบเทียบดีเลวมากน้อยอันเป็นโลกของ ทวิคติ แต่ในโลกที่ไม่อาจประมาณจำนวนได้นี้เป็นโลกที่ข้ามทวิคติไปแล้วถ้าเราไม่เข้าใจประเด็นนี้การศึกษาเซนด้วยสายตาจาก โลกที่นับประมาณจำนวนได้ ย่อมล้มเหลวและเข้าไม่ถึงอย่างแน่นอน
โดเง็นกล่าวว่าคำถามที่อุนงันถามโดโงะว่าพระโพธิสัตว์กวนอิมใช้มืออันประมาณมิได้ของท่านอย่างไรนั้นไม่ใช่คำถามธรรมดาอย่างคำถามของนักค้นคว้าแต่มันเป็นคำถามที่ตัวมันเองก็เป็นคำตอบและเป็นคำถามที่เป็นพระหัตถ์ของกวนอิมด้วยเนื่องเพราะคำถามที่คนเราเฝ้าถามซ้ำอย่างต่อเนื่องยาวนานนั้นในที่สุดแล้วตัวคำถามนั้นก็จะกลายเป็นตัวคำตอบที่เปิดเผยเนื้อหาหรือโฉมหน้าของคำถามนั้นซึ่งตอนแรกผู้ถามก็ไม่รู้คำถามจะกลายเป็นคำถามที่แท้จริงก็ต่อเมื่อตัวมันเองกลายเป็นคำตอบด้วยการมีคำถามในใจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแต่จะให้เยี่ยมกว่านั้นต้องดำรงรักษาคำถามไว้ให้ยาวนานจนกระทั่งตัวเองกลายเป็นคำตอบเองนี่แหละคือหัวใจของโคอานหรือปริศนาธรรมของเซน
โดเง็นกล่าวอีกว่ากวนอิมใช้พระหัตถ์อันประมาณมิได้ของท่านผ่านผู้คนเพื่อช่วยคนการที่กวนอิมทำอะไรให้โดยตรงกับการที่มีใครบางคนที่หวังดีมาช่วยเตือนสติทำให้ฉุกคิดได้แล้วก่อผลลัพธ์เหมือนกันมันต่างกันตรงไหน?
ผู้ที่ไม่เชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์มักจะคิดว่า หากกวนอิมมีจริงก็สำแดงให้ข้าดูสิว่าทำอะไรให้ข้าได้บ้าง? แต่ต่อให้กวนอิมทำให้ดูจริงๆในรูปของ อะไรบางอย่าง หรือ ใครบางคน มาพูดมาผลักดันให้ก็ไม่แน่ว่าคนๆนั้นจะมีปัญญาแยกแยะออกหรือตระหนักถึงพระหัตถ์ของกวนอิมได้
ในการฝึกนั่งสมาธิ (ซะเซน) ของโดเง็นนั้นจากประสบการณ์ของเขายืนยันว่ามีพลังบางอย่างที่นอกเหนือจากตัวเอง (พลังของพระโพธิสัตว์กวนอิม) เข้ามากระทำต่อผู้ฝึกนั่ง ซะเซน จนกระทั่งทำให้ผู้นั้นมีญาณและปัญญาที่จะเข้าถึงพุทธธรรมได้เมื่อเป็นเช่นนี้ก็คงพอเห็นได้แล้วกระมังว่าแม้ในขณะนั่งสมาธิฝึกปฏิบัติธรรมก็ยังมี พระหัตถ์ของกวนอิม เข้ามากระทำกับตัวผู้นั้นเพื่อช่วยให้ผู้นั้นเข้าสู่กระแสแห่งพุทธธรรมได้ถ้าหากเขาผู้นั้นนั่งสมาธิโดยไม่คาดหวังสิ่งใดๆไม่ว่าลาภยศสรรเสริญฤทธิ์ยกเว้นแต่นั่งเพื่อนั่งเพื่อสำแดงความเป็นหนึ่งเดียวกับพุทธะในขณะนั่งสมาธิอยู่เท่านั้นเซนของโดเง็นจึงเป็นการปฏิบัติธรรมที่ไม่อาจละเลย ด้านเร้นลับ ที่ปรากฏออกมาในรูปของ พระหัตถ์ของกวนอิม
โดเง็นเชื่อว่าการช่วยเหลือสรรพสัตว์ของกวนอิมมักกระทำทางอ้อมโดยไม่ให้รู้ตัวดุจคนที่เอามือควานหาหมอนในขณะนอนหลับอย่างเป็นไปเองโดเง็นเลือกการนอนหลับในตอนกลางคืนมาเป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบกับการทำงานของพระหัตถ์ของกวนอิมในความหมายของ ความมืด เพราะปุถุชนรับรู้โลกของกวนอิมไม่ได้โลกนี้จึง มืด ในสายตาของปุถุชนและทำให้พระหัตถ์ของกวนอิมต้องทำงานท่ามกลางความมืดนั้น
แต่เหล่าพุทธะย่อมมองเห็นพระหัตถ์ของกวนอิมและมองเห็นกวนอิมในโลกที่ปุถุชนไม่อาจรับรู้ได้คนเราน้อยคนนักที่จะตระหนักได้ว่าพระหัตถ์ของกวนอิมเข้ามากระทำต่อตัวเองเพื่อให้ไปช่วยคนอื่นมีแต่พุทธะจึงมองเห็นได้ว่าโลกนี้ที่แท้คือโลกแห่งพระหัตถ์ของกวนอิมที่มีจำนวนไม่อาจประมาณได้กำลังเคลื่อนไหวทำงานอยู่ปุถุชนยังไม่อาจมีสายตาอย่างนี้ได้