มีแต่พุทธะเท่านั้นที่บรรลุธรรมได้
ในข้อเขียนของโดเง็นเรื่อง “ยุยบุทสุโยะบุทสุ” (พุทธะและพุทธะเท่านั้น) ซึ่งเป็นบทที่ 38 ของ “โชโบเก็นโซ” โดเง็นเริ่มต้นด้วยการยืนยันว่าพุทธธรรมไม่อาจรู้ได้โดยปุถุชนผู้มิได้บำเพ็ญผู้ที่จะตรัสรู้ในพุทธธรรมได้มีแต่พุทธะเท่านั้นเพราะฉะนั้นจึงมีแต่ “พุทธะและพุทธะเท่านั้น” ที่สามารถบรรลุพุทธธรรมได้กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือจะมีก็แต่ผู้ที่สามารถสะบั้นรากเหง้าของวิธีคิดแบบทวิคติกับสามารถปลุกโพธิจิตให้ตื่นขึ้นได้แล้วเท่านั้นถึงจะสามารถเข้าถึงพุทธธรรมได้
โดเง็นกล่าวว่าผู้ที่เข้าถึงพุทธธรรมแล้วเขาผู้นั้นจะไม่คิดว่า “อ้อ! การรู้แจ้งเป็นอย่างนี้เองเหมือนอย่างที่ตัวเราคาดเอาไว้ไม่ผิดเลย” การรู้แจ้งไม่มีทางเหมือนกับสิ่งที่เราเคยคาดคิดเกี่ยวกับมันเลยและไม่มีทางบัญญัติได้ด้วยว่าจะรู้แจ้งได้อย่างไรมิหนำซ้ำสิ่งที่เราเคยคิดเอาไว้เกี่ยวกับการรู้แจ้งมันไม่ได้ช่วยการรู้แจ้งของเราเลยที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าความคิดเกี่ยวกับการรู้แจ้งเป็นสิ่งไม่ดีเพียงแต่มันเป็นอุปสรรคต่อการรู้แจ้งของเราเมื่อเราไปยึดติดกับมันทั้งๆที่สิ่งต่างๆที่หลั่งออกมาจากใจเราที่บริสุทธิ์ล้วนเป็นพุทธธรรมทั้งสิ้นแต่เพราะตัวเราคาดไม่ถึงยังคงไปแสวงหาอยู่จึงไม่อาจรู้แจ้งได้
ยิ่งแสวงหาความรู้แจ้งมันจะยิ่งหนีไปจากเรายิ่งเราพุ่งเป้าไปที่มันมันจะยิ่งทำให้เราห่างไกลจากเป้ายิ่งขึ้นแต่เมื่อเรารู้เช่นนี้ก่อนที่จะรู้แจ้งได้จริงความรับรู้เช่นนี้ก็จะกลายเป็น “แนวคิด” อย่างหนึ่งและอาจทำให้เกิดมิจฉาทิฐิได้ว่าทางที่ดีไม่ควรดิ้นรนพากเพียรเพื่อการบรรลุธรรมอะไรเลยสู้รอให้ถึงเวลารู้แจ้งเองจะดีกว่าผู้ที่คิดเช่นนี้คงต้องรออีกนานแสนนานทีเดียวกว่าที่จิตของเขาจะวิวัฒนาการได้สูงพอจนบรรลุธรรมได้เองเพราะการรู้แจ้งไม่มีทางเกิดขึ้นได้โดยปราศจากวิริยะบารมีแต่ผู้นั้นจะต้องสลัดวิธีคิดแบบทวิคติให้หลุดร่วงเสียก่อนและจะมีก็แต่ “ครูผู้มีใจอารี” อย่างครูเซนเท่านั้นที่สามารถทำลายและเต็มใจช่วยทำลายวิธีคิดทั้งหมดที่เป็นแบบทวิคติของผู้เป็นศิษย์ได้
การรู้แจ้งไม่ได้ขึ้นอยู่กับความคิดความเชื่อความศรัทธาของผู้นั้นจะมีก็แต่ตัวความรู้แจ้งเองนี่แหละที่จะสามารถนำความรู้แจ้งมาสู่ผู้นั้นได้พุทธธรรมเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดกันได้ระหว่างพุทธะด้วยกันเท่านั้นปุถุชนผู้ไม่ได้บำเพ็ญไม่ได้สดับไม่อาจถ่ายทอดพุทธธรรมได้และพุทธะก็ไม่อาจถ่ายทอดพุทธธรรมให้แก่ปุถุชนได้ถ่ายทอดกันได้จากพุทธะสู่พุทธะเท่านั้น
ภาษาไม่อาจบรรยายการรู้แจ้งของพุทธะได้แต่ถ้าผู้นั้นไม่สามารถบรรยายการรู้แจ้งของตนได้นั่นย่อมแสดงว่าการตื่นรู้ในความเป็นพุทธะของผู้นั้นยังไม่ชัดแจ้งวิถีปฏิบัติของพระโพธิสัตว์จึงมีไว้เพื่อบรรยายสิ่งที่ไม่อาจบรรยายได้โดเง็นกล่าวว่า “ไม่มีใครยกเว้นปลาที่จะรู้หัวใจของปลาไม่มีใครยกเว้นนกที่จะบินตามร่องรอยของนก” เพราะฉะนั้นจึงมีแต่พุทธะเท่านั้นที่สามารถรู้จักพุทธะมีแต่พุทธะเท่านั้นที่เข้าใจหัวใจของพุทธะและมีแต่พุทธะเท่านั้นที่สามารถถ่ายทอดพุทธธรรมไปสู่พุทธะและก็มีแต่พุทธะเท่านั้นที่สามารถรับพุทธธรรมจากพุทธะได้
วิถีของพุทธะจึงเป็นวิถีของคุรุ(ครู)มิอาจเป็นอย่างอื่นได้ครูที่เป็นพุทธะคือครูที่แท้คือผู้ที่อุทิศตัวเองให้กับการตระหนักรู้อย่างต่อเนื่องในความเป็นพุทธะของตนจนไม่มีสิ่งใดในชีวิตที่หลงเหลือของเขาให้เขาทำอีกนอกจากการเป็นพุทธะนี้เท่านั้นสำหรับโดเง็นแล้ววิถีของพุทธะเป็นวงกลม (โดคัน) หรือวัฏมรรคที่ดำเนินทับซ้อนไปบนวิถีที่เป็นเส้นตรงโดยที่แต่ละขณะที่ปฏิบัติธรรมอยู่มันได้ครอบคลุมความรู้แจ้งเอาไว้อยู่แล้วและแต่ละขณะของความรู้แจ้งก็แฝงการปฏิบัติธรรมเอาไว้ด้วยการปฏิบัติกับการรู้แจ้งหรือกระบวนการกับเป้าหมายจึงไม่เคยแยกจากกันวงกลมของการปฏิบัติธรรมมันสมบูรณ์อยู่แล้วตั้งแต่เริ่มต้นวงกลมแห่งการปฏิบัติ-การรู้แจ้งมันเกิดขึ้นใหม่ทุกๆปัจจุบันขณะอย่างไม่เคยขาดตอนถ้ากล่าวจากมุมมองนี้ตัวเราที่เป็นผู้แสวงธรรมไม่เคยเดินทางเพื่อเข้าถึงความรู้แจ้งเลยแต่ตัวเราปล่อยให้ความรู้แจ้งค่อยๆเผยตัวคลี่คลายตัวเองออกมาให้เรารับรู้เข้าถึงและแจ่มแจ้งเองต่างหาก
สำหรับโดเง็นแล้วความปรารถนาที่จะเป็นพุทธะการปฏิบติเพื่อบรรลุความเป็นพุทธะการรู้แจ้งและนิพพานจึงไม่เคยมีช่องว่างระหว่างกันและกันเลยการเป็นพุทธะจึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับใครก็ตามที่สำเหนียกและตระหนักได้ว่าที่แท้ตัวเองเป็นใครจึงสร้างชีวิตใหม่และวิถีใหม่ของตนเองอันเป็นวิถีของพุทธะอย่างมีสติอย่างมีจิตสำนึกจริงๆ
คนเราต่างกันแค่นี้เอง! ต่างกันที่มีชีวิตอย่างมีจิตสำนึก (รู้ตื่นเบิกบาน) หรือไม่มีเท่านั้น !พุทธะคือผู้ที่มีชีวิตด้วยจินตภาพที่สูงส่งที่สุดเกี่ยวกับตัวเขาเองโดยยอมเปลี่ยนความคิดคำพูดและการกระทำของตนให้สอดคล้องกับจินตภาพอันยิ่งใหญ่เกี่ยวกับตัวเองที่ตัวเองได้ตระหนักรู้แล้วแน่นอนว่าการจะทำเช่นนี้ได้ผู้นั้นจะต้องใช้ความพยายามทางกายและจิตใจอย่างมหาศาล (ในช่วงแรกๆ) ในการดำรงสติเฝ้าดูความคิดคำพูดและการกระทำของตัวเองอยู่ทุกขณะจิตจนกระทั่งมันเป็นไปเองพุทธะกับมหาสติจึงเป็นสิ่งเดียวกันและแยกจากกันไม่ได้เลย