การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึก

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึก

 คุณประโยชน์จากการเข้าใจโลกด้วย จตุรภาค แห่ง ภาคซ้ายบน (มิติปัจเจก-ด้านใน), ภาคขวาบน (มิติปัจเจก-ด้านนอก), ภาคซ้ายล่าง (มิติรวมหมู่-ด้านใน) และ ภาคขวาล่าง (มิติรวมหมู่-ด้านนอก) ของ ภูมิปัญญาบูรณาการ ในการมาประยุกต์ใช้กับ โมเดลการพัฒนาคนและพัฒนาสังคม นั้นมีมากมายหลายประการทีเดียว เพราะมันช่วยทำให้เรา "ตาสว่าง และกระจ่างแจ้งในความจริงหลายๆ เรื่อง ยกตัวอย่างเช่น

(1) ทฤษฎีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ (องค์ความรู้ซีกขวาล่าง) ของลัทธิมาร์กซ์ที่เชื่อว่า ฐานเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดโครงสร้างส่วนบน (อุดมการณ์ จิตสำนึก) นั้น เป็นความจริงเพียงส่วนเดียวเท่านั้นคือ มีส่วนจริงอยู่บ้าง แต่ไม่ถูกต้องทั้งหมด

(2) การที่ จิต จะพัฒนาได้อย่างมีสมดุล คนเราจะฝึกแค่ สมาธิ (องค์ความรู้ซีกซ้ายบน) อย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องคำนึงถึงการพัฒนา โลกทัศน์ (องค์ความรู้ซีกซ้ายล่าง) การ รับใช้ เพื่อนมนุษย์ โดยการเข้าไปช่วยปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบ (องค์ความรู้ซีกขวาล่าง) และการปรับปรุง พฤติกรรม ในการดำเนินชีวิต (องค์ความรู้ซีกขวาบน) ของตนเองควบคู่กันไปด้วย

(3) ในทางกลับกัน การดำเนิน นโยบาย ที่มุ่งพัฒนาปรับปรุงระบบต่างๆ ในสังคม (องค์ความรู้ซีกขวาล่าง) ก็ดี การดำเนินนโยบายที่มุ่งยกระดับส่งเสริมวัฒนธรรมของชุมชน (องค์ความรู้ซีกซ้ายล่าง) ก็ดี และการรณรงค์ให้มีการปรับปรุงพฤติกรรมของผู้คน (องค์ความรู้ซีกขวาบน) ก็ดี ล้วน ส่งผลทางอ้อม ต่อการพัฒนา จิตใจ (องค์ความรู้ซีกซ้ายบน) ของคนเราให้สามารถพัฒนาไปถึง ระดับเฉลี่ยของจิต ที่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมได้ไปถึงแล้วโดยง่าย โดยที่คนผู้นั้นยังไม่จำเป็นต้อง ฝึกจิต แต่อย่างใดเลย

(4) แต่ถ้าหาก ปัจเจก ผู้นั้นต้องการ จะยกระดับ หรือ พัฒนาจิตสำนึก ของตนเองให้รุดหน้าสูงกว่า ระดับเฉลี่ย ของจิตสำนึกของสังคมโดยทั่วไป คนผู้นั้นก็ต้องเริ่มฝึกฝนจิต ปฏิบัติสมาธิภาวนาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยจะต้องฝึก จิต (องค์ความรู้ซีกซ้ายบน) อย่างคำนึงถึงสามภาคที่เหลือประกอบไปด้วยอย่างให้ได้สมดุล

(5) นั่นคือ การพัฒนาอย่างบูรณาการที่แท้จริงและยั่งยืนนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทั้ง 4 ภาค หรือ 4 มิติ ได้รับการพัฒนาไปอย่างมีสมดุลควบคู่กันไปอย่างพร้อมเพรียงกันเท่านั้น (tetra-evolve) หากเน้นการพัฒนาแค่ด้านใดด้านหนึ่ง หรือภาคใดภาคหนึ่ง หรือมิติใดมิติหนึ่งแต่เพียงด้านเดียว ภาคเดียวมิติเดียว ก็จะเกิดความขัดแย้งไม่สมดุล ที่อาจนำไปสู่วิกฤตได้

(6) อย่างเช่นใน ยุคปัจจุบัน ที่มีความโน้มเอียงที่จะให้ความสำคัญกับความจริงทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เชิงประจักษ์นิยมจนเกินพอดี ทั้งๆ ที่ความจริงเชิงประจักษ์นิยม เป็นแค่ความจริงภาคซีกขวาบนของจักรวาฬเท่านั้น อย่างที่ได้เคยกล่าวไปแล้ว และถึงต่อให้รวมความจริงเชิงสังคมศาสตร์ เชิงเศรษฐศาสตร์ เชิงระบบ ซึ่งเป็นความจริงภาคซีกขวาล่าง ก็ยังเป็นความจริงแค่ซีกขวาทั้งหมดแค่สองภาคเท่านั้น นี่ก็แสดงให้เห็นว่า หลักการทางวิทยาศาสตร์แบบประจักษ์นิยมอย่างดีที่สุดก็บอกความจริงได้แค่ครึ่งเดียวของความจริงของจักรวาฬเท่านั้น ยังไม่ใช่คำตอบที่สมบูรณ์ชี้ขาดได้ทุกเรื่องเสมอไป เหมือนอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดกัน

(7) แม้แต่ ผู้นำแห่งระบอบทักษิณ ที่เป็นที่กล่าวขานกันว่า ทั้งเก่งและฉลาด ก็ยังไม่พ้นที่พลัดติด กับดักทางความคิดที่เชื่อว่า วิทยาศาสตร์ (องค์ความรู้ซีกขวาบนและล่าง) คือความจริงอย่างเดียวเท่านั้น จึงทำให้การนำและการบริหารประเทศของเขา ก่อให้เกิดปัญหาที่ไปลดทอนคุณค่า มิติมนุษย์ด้านอื่นๆ หรือละเลยไม่เห็นความสำคัญ ความหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจิตใจ คุณธรรม จิตวิญญาณ วัฒนธรรม ทำให้ความขัดแย้งทั้งปวงเกิดขึ้น ปะทะปะทุออกมาอย่างรวดเร็วกว่าที่ควรจะเป็นดังที่เห็นๆ กันอยู่ในปัจจุบัน

ลำพังแค่มีความเข้าใจเรื่อง จตุรภาคของความจริงของจักรวาฬ แม้เป็น เงื่อนไขที่จำเป็น สำหรับการมี ภูมิปัญญาแบบบูรณาการ ก็จริง แต่ยังไม่ใช่ เงื่อนไขที่เพียงพอ เราจำเป็นจะต้องมีความเข้าใจว่า มนุษย์ทุกคนล้วนมี โครงสร้างวิวัฒนาการทางจิต เป็น โครงสร้างเชิงลึก ที่เป็น ศักยภาพแฝง อยู่ในตัวทุกคน โดยที่ มนุษย์ทุกคนจะมีพัฒนาการผ่านระดับขั้นตอนของจิตไต่ขึ้นเป็นขั้นๆ ไปตามโครงสร้างวิวัฒนาการของจิตนี้เสมอ โดยไม่มีข้อยกเว้น

ความแตกต่าง ที่บังเกิดขึ้นใน กระบวนการพัฒนาของปัจเจก คือ ความแตกต่าง ใน ระดับความเร็ว ในการผ่านแต่ละขั้นตอนของโครงสร้างของจิตที่ไม่เหมือนกันในแต่ละคน กับ ความแตกต่าง ใน ระดับความสูง (ความลึก) ที่แต่ละคนสามารถไต่ขึ้นไปได้ใน ชีวิตนี้ ไม่เท่ากันเท่านั้น

การมีความเข้าใจเรื่อง ระดับโครงสร้างวิวัฒนาการทางจิตของมนุษย์ จึงเป็น เสาหลักอีกเสาหนึ่ง ของ โมเดลการพัฒนาแบบบูรณาการ ควบคู่ไปกับการมีความเข้าใจเรื่อง จตุรภาคของความจริงของจักรวาฬ ที่เราได้กล่าวไปแล้ว

คำอธิบายของภูมิปัญญาบูรณาการเกี่ยวกับ ระดับโครงสร้างวิวัฒนาการทางจิตของมนุษย์ ที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นผลพวงของการค้นคว้าอย่างกว้างขวางและยาวนานของนักจิตวิทยาสำนักต่างๆ เป็นจำนวนมาก ที่ถูกนำมาสังเคราะห์กันจนเป็น 10 ขั้นตอนแห่งระดับวิวัฒนาการของจิต โดยที่ โมเดลของจิตวิทยาบูรณาการ นั้น ไม่เพียงแต่ศึกษาพัฒนาการเชิงจิตวิทยาของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตายเท่านั้น แต่ยังศึกษาครอบคลุม พัฒนาการเชิงจิตวิทยาของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนบรรลุธรรมด้วย เพราะฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า โมเดลการพัฒนาแบบบูรณาการ ที่อิงอยู่กับหลักจตุรภาคแห่งความจริงของจักรวาฬ และระดับโครงสร้างวิวัฒนาการทางจิตของมนุษย์นี้เป็น โมเดลการพัฒนาที่สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่องค์ความรู้ของมนุษย์เคยมีเลยทีเดียว

10 ขั้นตอนแห่งระดับวิวัฒนาการทางจิตของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนบรรลุตาม โมเดลของจิตวิทยาบูรณาการ มีดังต่อไปนี้ อนึ่ง การอธิบาย 10 ขั้นตอนนี้จะอธิบายจากขั้นตอนที่พัฒนาน้อยที่สุดไปจนถึงขั้นตอนที่พัฒนาสูงสุด โดยมี ตัวตน หรือ ตัวรู้ (self) เป็นผู้นำทางในการพัฒนาทางจิตไปตามลำดับ

ขั้นที่ 1 sensoriphysical หรือ sensorimotor

เป็นการรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสในระดับกายภาพ ระดับวัตถุอันเป็น ระดับจิตของทารกแรกเกิด ที่เอาจิตของตัวเองรวมเป็นหนึ่งเดียวกับโลกวัตถุภายนอก เพราะตัวทารกเองยังไม่สามารถจำแนก "ภายนอก" กับ "ภายใน" ได้ สำหรับทารกแล้วร่างกายทั้งหมดของเขาก็คือ "ปาก" และ "โลก" ของทารกก็คือ "อาหาร" เท่านั้น

ขั้นที่ 2 phantasmic-emotional

เป็นระดับจิตที่ถูกกระตุ้นด้วยอารมณ์ ความรู้สึกหรือแรงผลักดันทางฮอร์โมน โดยยังไม่สามารถคำนึงถึงเหตุผล หลักศีลธรรม จิตระดับนี้เริ่มเข้าใจเรื่อง จินตภาพ (image) ได้บ้างแล้ว เป็นจิตในระดับทารกหลังคลอดได้ 15-24 เดือน

ขั้นที่ 3 rep-mind หรือ magic

เป็นขั้นตอนที่ "ใจ" (mind) เริ่มปรากฏออกมาเป็นรูปร่างแล้ว เป็นระดับจิตที่เริ่มสามารถคิดในเชิงสัญลักษณ์อย่างง่ายๆ ได้ เริ่มมีตัวตนในเชิงมโนทัศน์ (concept) สามารถนิยามตัวเองอย่างง่ายๆ ได้ เป็นระดับจิตของเด็กอายุตั้งแต่ 2-4 ขวบ (สามารถคิดในเชิงสัญลักษณ์ได้) ไปจนถึง 7 ขวบ (เริ่มสามารถคิดในเชิงมโนทัศน์ได้) แต่จิตในระดับนี้ยังเป็นจิตที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง (egocentrism) และหลงตัวเอง (narcissism) อยู่ คือคิดว่าโลกจะเป็นดังใจนึกของตัวเองทุกประการอยู่ จึงยังเป็นจิตในระดับ มายาคติ (magic) คิดและมองโลกแบบการ์ตูนอยู่

ขั้นที่ 4 rule/role mind หรือ Conop หรือ mythic

เป็นจิตระดับกลางๆ ที่ความเชื่อเรื่อง อำนาจวิเศษ (magical power) ได้ย้ายจากตัวเองแบบเด็กๆ ในขั้นตอนก่อนไปสู่ความเชื่อเรื่องอำนาจวิเศษของเทพเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวงที่อยู่นอกตน จึงเรียกจิตในระดับนี้ว่า ปรัมปราคติ (mythic) ในอีกด้านหนึ่ง จิตในระดับนี้เป็นจิตที่เริ่มเข้าใจแล้วว่า ตัวเองไม่สามารถทำอะไรได้ทุกอย่างตามความอยาก ความปรารถนา และแรงผลักดันภายในของตัวเอง แต่คนเราจะต้องปฏิบัติตามกฎและหน้าที่หากต้องการจะอยู่ในสังคมอย่างราบรื่น จิตระดับนี้โดยปกติจะเริ่มเกิดในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 7 ขวบขึ้นไป สำหรับประเทศด้อยพัฒนา หรือประเทศกำลังพัฒนาที่คนส่วนใหญ่จบการศึกษาแค่ระดับชั้นประถม ระดับจิตของพวกเขาจะหยุดอยู่แค่ระดับนี้เท่านั้น ยกเว้นเสียแต่ว่า พวกเขาจะดิ้นรนไขว่คว้าหา ความรู้ ใส่ตัวเองอยู่ตลอดเวลา จึึงจะสามารถยกระดับตัวเองให้มีพัฒนาการทางจิตต่อไปได้ จิตในระดับนี้จึงยังเป็นจิตของ มีมสีน้ำเงิน

ขั้นที่ 5 formal-reflexive หรือ formop หรือ rational

เป็นจิตที่พัฒนาขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง โดยผ่านระบบการศึกษาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษา ไปจนถึงระดับปริญญาตรีที่เป็นการฝึกจิตให้เริ่มคิดเป็น เริ่มรู้จักใช้เหตุผลเป็นในการวิเคราะห์ จนสามารถมีวิจารณญาณเป็นของตัวเองได้ กระทั่งเกิดเป็น โลกทัศน์เชิงวิทยาศาสตร์ ที่เชื่อว่า หากมีความปรารถนาในสิ่งใดก็จงไปบรรลุสิ่งนั้นด้วยหลักฐาน เหตุผล ข้อมูล และความเข้าใจ มิใช่ด้วยการอ้อนวอนร้องขอต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยที่ยังคงงอมืองอเท้าอยู่ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว จิตในระดับนี้จะถูกอบรมบ่มเพาะด้วยระบบการศึกษา และสังคมให้บังเกิดขึ้นกับเยาวชนในช่วงอายุ 10-15 ปี สำหรับในประเทศไทย เนื่องจากระบบการศึกษาที่ด้อยประสิทธิภาพ จึงต้องใช้เวลานานกว่าโลกตะวันตกในการพัฒนาจิตระดับนี้ให้แก่เยาวชน คนไทยส่วนใหญ่ ที่ทำงานใน ภาคสมัยใหม่ หรือ ชนชั้นกลาง ไม่ว่าภาคเอกชนหรือภาคราชการ จะสามารถพัฒนาระดับจิตของพวกเขาได้แค่ระดับนี้เท่านั้น หากปัจเจกชนคนไหนต้องการจะยกระดับจิตของตนให้สูงขึ้นไปกว่านี้ คนผู้นั้นจะต้องเป็นผู้รักการอ่านหนังสือที่หลากหลาย รักการคิดอย่างรอบด้านและลึกซึ้ง จนเป็น ปัญญาชน ผู้มีระบบการคิดที่ลุ่มลึกซับซ้อนพิสดารจริงๆ ถึงจะเป็นไปได้ จิตในระดับนี้จึงยังเป็นจิตของ โลกทัศน์แบบทันสมัยนิยม (มีมสีส้ม)

ขั้นที่ 6 vision-logic

เป็นจิตที่สามารถ คิดอย่างเห็นภาพรวมทั้งหมดได้ (totality) เป็นจิตที่สามารถเห็น เอกภาพท่ามกลางความแตกต่าง เป็นจิตที่แลเห็นความหลากหลายของมุมมอง และสามารถเข้าใจมุมมองต่างๆ ที่แตกต่างกันได้อย่างไม่บิดเบือน และเคารพอย่างจริงใจในความต่างนั้นได้ เป็นจิตที่สามารถใช้ ตรรกะขั้นสูงอย่างวิภาษวิธี (dialectic) และอย่างไม่เป็นเส้นตรง (nonlinear) ได้อย่างเชี่ยวชาญ และเป็นจิตที่สามารถสังเคราะห์บูรณาการ "ความจริงที่แยกส่วน" ให้ประสานกันได้อย่างสมดุล เป็นจิตของ โลกทัศน์แบบพหุนิยม (โพสต์โมเดิร์น) (มีมสีเขียว) และ แบบบูรณานิยม (มีมสีเหลือง) จิตระดับนี้จึงเป็นระดับจิตของ ปัญญาชนและนักคิดชั้นนำ หรือชั้นแนวหน้า ของประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนสูงสุดของการพัฒนาจิตในระดับโลกียะแล้ว ข้อเขียนชุดนี้ทั้งหมดของผู้เขียน ได้เขียนออกมาจากจิตในระดับ vision-logic นี้ ท่านผู้อ่านที่สามารถ "ทนอ่าน" ข้อเขียนชุดนี้ของผู้เขียนมาได้จนถึงบรรทัดนี้ ผู้เขียนต้องขอคารวะท่านจากใจจริง และยินดีต้อนรับท่านเข้าสู่ โลกแห่ง vision-logic ซึ่งยังเป็น โลกของคนส่วนน้อย สำหรับประเทศนี้อยู่

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้