ถ้าหากมีใครสักคนเข้ามาคาดคั้นกับผมว่า "สุวินัย ! คุณจงยกสาเหตุเพียงหนึ่งเดียวสั้น ๆ เท่านั้นว่า อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้มนุษชาติต้องเผชิญกับความทุกข์ ? "
ผมก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องตอบตรง ๆ ว่า สิ่งนั้นก็คือ "ความโง่เขลา" ที่มีอยู่ในตัวของมนุษชาตินั่นเอง !!
ขอเพียงแต่ถ้ามนุษย์ชาติมี "ปัญญา" (WISDOM) มากกว่าในปัจจุบันนี้แม้อีกเพียงเล็กน้อย บางทีโลกนี้อาจจะไม่มีสงคราม อาจจะไม่มีการเข่นฆ่ากันอย่างป่าเถื่อนโหดร้ายและอาจจะไม่มีการทำลายธรรมชาติกับสิ่งแวดล้อมเหมือนอย่างที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้
ผมรู้สึกอยู่เสมอว่า โศกนาฏกรรมที่กำลังเกิดขึ้นกับสังคมไทยขณะนี้นั้น แท้จริงแล้วน่าจะมาจากการที่ระบบเทคโนโลยีสิ่งภายนอกรอบ ๆ ตัวที่มนุษย์ล้วนเป็นผู้คิดค้นขึ้นมาเองนั้นได้เติบใหญ่กล้าแข็งกระด้างกระเดื่องจนเกินความสามารถของมนุษย์ที่เป็นปัจเจกชนแต่ละคนจะ "ควบคุม" เอาไว้ได้
เราจะเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า "กระแสของสังคม" "อำนาจของระบบ" หรืออะไรก็ได้ตามแต่สิ่งที่แน่ ๆ ก็คือ สิ่งเหล่านี้กำลังทำลายความดี ความงาม ความรัก ความสุข ความตื่นรู้ เบิกบาน ภายในตัวของมนุษย์แต่ละคนลงไปทุกที ๆ
สิ่งที่จำเป็นที่สุดในขณะนี้ก็คือ การที่ปัจเจกชนแต่ละคนต้องรีบเร่ง "พัฒนาตนเอง" พัฒนาความสามารถของตนเองในการควบคุม "กระแสของสังคม" หรือ "อำนาจของระบบ" มิให้มาบั่นทอนชีวิตและจิตใจของแต่ละคนได้
ผมเรียกบุคคลที่สามารถกระทำเช่นนั้นได้ คือ สามารถเป็น "นาย" เหนือชีวิตจิตใจและความนึกคิดของตนเองได้ว่า "อภิมนุษย์" (Homo Excellens)
ผมได้แต่หวังว่า หนังสือเล่มนี้จะสามารถเป็นส่วนหนึ่ง แม้เป็นเพียงส่วนน้อยนิดในการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ "พวกเรา" ที่แสวงหาความเป็น "อภิมนุษย์" ให้กับตนเองเพื่อร่วมกันนำมาซึ่งสันติสุขให้กับสังคมนี้
......................................
ภาค "ปฏิกิริยา"
พลันที่นกฟีนิกส์
นามสุวินัย ภรณวลัย
โถมร่างลงสู่กองเพลิงแห่ง
"ความรักกับจอมยุทธ์"
นามของคน เงาไม้
สุวินัย ภรณวลัย ได้เชื่อว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ระดับแนวหน้าคนหนึ่งของประเทศเกิดที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2499
"ชาวพฤษภมีความระมัดระวังตัว สงบเสงี่ยม มีน้ำอดน้ำทนและรู้จักอดกลั้นได้เป็นพิเศษ เป็นผู้มีความคิดฉับไว มีความกระตือรือร้นสูง มีความทรงจำเป็นเลิศ เป็นผู้มีระเบียบแบบแผน รู้จักกระเหม็ดกระแหม่ เก็บหอมรอมริบชั้นยอดที่สุด"
พระเคราะห์ซึ่งครองเรือนอยู่ในราศีนี้คือ พระศุกร์
"พระศุกร์มีความรู้สูง ถ้าจะเทียบกับสมัยนี้ก็เห็นจะได้ปริญญาเอก" ("ชลันธร",แววตะวันวาดฟ้า, หน้า 52-59)
ภายหลังสำเร็จชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เดือนมีนาคม 2517 ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่นทางด้านเศรษฐศาสตร์ในระดับปริญญาตรี โท และเอกที่มหาวิทยาลัยเกียวโต
ได้รับปริญญาเอกแบบ "รอบบุนฮาคาเซะ" จากมหาวิทยาลัยโฮเซในเดือนมีนาคม 2535 อันถือกันว่าเป็นปริญญาเองระดับสูงสุดและยากที่จะได้รับเป็นที่สุดในวงการวิชาการของญี่ปุ่น
มิหนำซ้ำ ยังเป็นปริญญาเอกที่มีคนต่างชาติน้อยคนนักที่จะได้รับปริญญาแบบนี้
วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกที่ สุวินัย ภรณวลัย เสนอจนได้อักษรย่อ "ดร." นำหน้าคือ เรื่อง "ทุนนิยมไทยกับบรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่น"
เริ่มรับราชการเป็นอาจารย์ในสังกัดภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปีพุทธศักราช 2527 (ทำเนียบอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,หน้า 243)
นอกจากสนใจอย่างยิ่งต่องานวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองแล้ว ยังมีความสามารถพิเศษทางด้างกังฟู (มวยจีน) คาราเต้ (มวยญี่ปุ่น) และวิชาดาบอิไอโด (ซามูไร)ในระดับที่ได้รับอนุญาตให้ก่อนตั้งสำนักมวย "เซบุกัง" สาขากรุงเทพมหานครได้ในปีพุทธศักราช 2531
อันเป็นพื้นฐานให้เขียน "มวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า" (2533) และล่าสุดคือ "ความรักกับจอมยุทธ์" อันถือเป็นภาคที่2 ของ "มวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า"
ฉาน บรรณฉันท์ ซึ่งเคยรีวิวหนังสือใน "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ระยะหนึ่ง กล่าวถึงหนังสือ "มวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า" ในเชิงเปรียบเทียบให้เห็นว่า
"ตำราจีนประเภทที่ท่วมตลาดอยู่ในขณะนี้ล้วนเป็นกระแสน้ำประเภทที่พลิกพลิ้วไปตามสายลมแห่งกิเลศตัณหา ส่วนหนังสือของอาจารย์สุวินัยมาจากความลึกสุดของหัวใจซึ่งไม่น่าจะแพ้ความลึกของท้องทะเล
อาจารย์สุวินัยได้ทำเรื่องยากเรื่องหนึ่งได้สำเร็จคือ สามารถประสานแก่นหลักของปรัชญาเข้ากับประสบการณ์ที่เป็นจริง ประสานชั่วโมงบินในการฝึกมวยจีนเข้ากับทฤษฎีอันล้ำลึก ประสานความรู้โบราณเข้ากับการแสวงหาในยุคปัจจุบัน"
แล้วสรุปด้วยความเชื่อมั่นยิ่ง
"สิ่งที่เด่นที่สุดเกี่ยวกับ "มวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า" อ่านแล้วรู้สึกอบอุ่นราวได้รับการปลอบประโลมหรือถ้าพูดอีกแบบหนึ่งคือ ได้รับความรู้สึกสงบนิ่งซึ่งหาได้ยากนักในสังคมปัจจุบัน"
จุดเด่นอย่างยิ่งของ สุวินัย ภรณวลัย ก็คือ เขามิได้เป็นเพียงนักเศรษฐศาสตร์และอาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองแห่งสำนักท่าพระจันทร์ผู้เอาจริงจังอย่างเดียว หากที่ยอดเยี่ยมอย่างยิ่งเขาเป็นคนที่เรียนรู้ "มวยจีน"และมวยญี่ปุ่นอย่างผู้ลงมือกระทำด้วยตนเอง
เด็กเรียนที่เรียนได้ที่ 1 มาตลอดจากชั้นมัธยมศึกษาจนเข้ามหาวิทยาลัย น่าสนใจยิ่งที่ในความเป็นเด็กเรียนนั้นเขากลับหาเวลาไปศึกษาค้นคาราเต้และกังฟู
ศึกษาจนกระทั่งวิชาฝีมือและความคิดจิตใจได้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว
"เมื่อจิตใจไม่ซ่านแส่ ปราโมทย์ย่อมเกิด
เมื่อมีปราโมทย์แล้ว ปีติก็ย่อมเกิด
เมื่อใจมีปีติ กายก็สงบระงับ
ผู้มีสุข จิตย่อมเป็นสุข
ผู้มีสุข จิตย่อมเป็นสมาธิ
เมื่อจิตเป็นสมาธิ ธรรมทั้งหลายก็จะปรากฏ" (พุทธพจน์)
หากเทียบกับ "มวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า" หนังสือ "ความรับกับจอมยุทธ์" (สำนักพิมพ์หยิ่งยาง, หน้า 215 หน้า, ราคา 90 บาท) ได้พัฒนาขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประสานปรัชญาแห่งการต่อสู้วิชามวยเข้ากับความเป็นจริงของชีวิตนี่ย่อมมิใช่ "วิชามวย" อย่างธรรมดา หากแต่ประการสำคัญเป็นอย่างมาก "…..เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับเมืองเกียวัตนะ คัมภีร์วิทยายุทธ์เล่มหนึ่งและผู้ชายที่มีไฟในดวงใจคนหนึ่งกับ ความรักของเขา
….เรื่องรามที่เกี่ยวกับการจุติขึ้นและแตกสลายไปของความรักของเขา"
ทั้งยังมิได้เป็นความรักระหว่างหนุ่มสาวอันเป็นภาพสะท้อนของอารมณ์ในลักษณะทั่วไปหากแต่ในวิถีดำเนินไปของความรักนั้นชำแรกชึกลงไปในความจริงทางสังคมและการเมือง เป็นหัวใจที่แตกสลายเมื่อความคาดหวังในทางอุดมการณ์ได้แตกสลาย
นี่จึงมิใช่วรรณกรรมแห่งการชำระล้างในทางอารมณ์อย่างธรรมดา หากแต่เกาะเกี่ยวแนบแน่นยิ่งกับการจำแนกวิเคราะห์ในทางความคิด
การทำงานของ สุวินัย ภรณวลัย คล้ายกับเป็นการทดลอง
แต่กระบวนการทดลองของเขาแทบไม่แตกต่างไปจากนกฟีนิกซ์ที่โถมร่างลงไปในกองเพลิงเพื่อการเกิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง และเหินบินไปในโลกกว้างอย่างองอาจหฤหรรษ์สง่างามและด้วยความเป็นไท
.........................................
"ความรักกับจอมยุทธ์
"ความรักที่แท้ย่อมไม่มีการแย่งชิง"
"ความรักที่แท้ย่อมไม่มีศัตรู"
ในบรรดาหนังสือพ็อกเกตบุ๊คที่ผมชื่นชอบมากเป็นพิเศษในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา จับมาเรียงดูแล้ว ผมชอบงานของคนอยู่ 2 คน
คนหนึ่งคือคุณสุขสันต์ วิเวกเมธากร ผู้ใช้นามปากกาว่า "เล่าชวนหัว" สลัดปากกาวิพากษ์และค้นหาความจริงในนิยาย "สามก๊ก" แล้ว "ฟันธง" ด้วยลีลาสำนวนโวหารที่ผมศิโรราบ ทั้งกร้าว แกร่ง ท้าทาย ให้ข้อมูล แฝงไว้ด้วยอารมณ์ขันปกคันที่เข้าได้กับเหตุการณ์บ้านเมือง
อีกคนหนึ่งคือเจ้าของสำนวน 2 ประโยคข้างต้น ที่หลังจากหายหน้าไปตาไปนานก็กลับมาอีกครั้งในพ็อกเกตบุ๊คชื่อเดียวกับที่ผมนำเป็นหัวเรื่องวันนี้
ครับ ไม่ใช่คนอื่นหรอก ผู้เขียนเรื่อง "มวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า" หรือ "KUNGFU FOR A BETTER LIFF" เมื่อเดือนนี้ของเมื่อ 2 ปีก่อนนั่นแหละ
ดร. สุวินัย ภรณวลัย
สมัยนั้นผมยังเป็นบรรณาธิการเซกชั่น "ปริทัศน์" ของ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" อยู่คอลัมน์ที่ผมพยายามจะทำมากเป็นพิเศษคือ บุคคลกับความคิด ไม่ใช่สัมภาษณ์พิเศษแต่เป็นการพูดคุยและเขียนถึง "คนบางคน" ด้วยมุมมองและความคิดของตัวผม
คุณสุขสันต์ วิเวกเมธากร เป็นคนแรกที่ผมเลือก ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่าคงมีน้อยคนที่จะบอกว่าขงเบ้งเป็นคนเจ้าเล่ห์เพทุบาย กวนอูเป็นคนโง่ที่คบไม่ได้ เตียหุยเป็นไอ้ขี้เมามุทะลุ และเล่าปี่คือนักเล่นกลฉวยโอกาส และแน่นอนว่าสามก๊กคือ เรื่องโกหก
คอลัมน์ที่ว่าผมไม่ได้ตั้งใจมีทุกอาทิตย์ อาจสักเดือนละครั้ง หมายตาไว้ว่าบุคคลที่สองต้องเป็นเขาคนนี้
ดร. สุวินัย ภรณวลัย
น่าเสียดายที่คลาดกันไปกันมา จนท่านไปญี่ปุ่นเสียก่อนและจากนั้นผมก็ลดการทำงานลง เตรียมตัวลงมารับศึกหนักกับหน้าข่าวการเมืองใน "ผู้จักการรายวัน" อีกฝันหนึ่งของคำทำหนังสือพิมพ์และคนเขียนหนังสือ
เมื่อผมมาดูแลหน้าบทความ เคยถามคุณวิรัตน์ แสงทองคำว่าทำไมไม่เชิญท่านผู้นี้มาร่วมขบวนทัพคอลัมนิสต์ด้วย บรรณาธิการการบริหารของผมบอกว่าเชิญไปแล้ว แต่ยังเงียบอยู่
กรณีเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 จอมยุทธ์ผู้นี้ไม่เงียบแล้ว !
อย่างน้อย เสียงหนึ่งที่ยับยั้งการนำทัพบุกรัฐสภาของคุณครูประทีป อึ้งทรงธรรมฮาตะที่หน้ารัฐสภาเมื่อเย็นวันที่ 6 พฤษภาคม มีเสียงของท่านผ่านออกลำโพงมาด้วย ทำให้ปฏิบัติการยุติลงอย่างใจหายใจคว่ำ
"ความรักกับจอมยุทธ์"
เป็นอะไรบางอย่างที่ควรประดับไว้บนหิ้ง (หนังสือ) หัวนอน แน่ละมันคงจะไม่สมบูรณ์หากขาดงานอมตะหลายชุดของโกวเล้งและกิมย้ง เพราะหากคุณไม่เคยรู้ว่าผู้ชายเต็มตัวอย่างลี้คิมฮวงต้องเจ็บปวดอย่างไร, อาฮุยต้องฝ่าฟันอุปสรรคขวากหนามสาหัสเพียงใดกว่าจะเป็นผู้ชายเต็มตัว, เซียวจับอิดนึ้งกลัวคนรู้จักตนมากที่สุดเพราะอะไร คุณอาจจะได้อรรถรสจากงานของสุวินัย ภรณวลัยได้ไม่เต็ม
ระยะหลัง ผมมองความรักแตกต่างออกไปจากเดิม
กล่าวสำหรับตัวเอง เหมือนต้องการความรัก เหมือนปฏิเสธความรัก เหมือนกลัวความรักแต่มิอาจไม่รัก เหมือนง่ายเหมือนยาก อาจจะกำลังพ้นจาก "โรค 30 " เข้าข่ายรับเชื้อ "โรค 40" ตามคำคมต่อไปนี้ก็เป็นได้
"THE MAN IS LIKE THE TRAIN…
AT 30 YEARS: HE IS LIKE THE SPECIAL.
IT STOPS ONLY AT THE LARGE TOWN.
AT 40 YEARS : HE IS LIKE THE EXPRESS.
IT STOPS AT THE BIG CITY ONLY."
ที่อาจจะหายเป็นปลิดทิ้งหากได้พบกับเพศตรงข้ามที่กำลังก้าวสู่ "โรค 30" ในลักษณ์นี้
"THE WOMAN IS LIKE THE WORLD…..
AT 20 YEARS : SHE IS LIKE AFRICA.
SEMI-EXPLORED.
AT 30 YEARS : SHE IS LIKE INDIA
WARM, NATURE AND MYSTERIOUS…."
สำหรับ "ชาวยุทธจักร" ที่ไม่ใช่ "จอมยุทธ์" อย่างผม ก็ไปได้เรื่อย ๆ เปื่อย ๆ แบบนี้ละครับคือแม้จะมอง "ความรัก" เป็นสิ่งสวยงาม แต่ยังคงมิอาจบรรลุถึงขั้นเอา "ใจของฟ้า" เข้ามาเป็นหัวใจของตนเองอย่าง "จอมยุทธ์" ที่แท้จริงทั้งหลาย ดังที่สุวินัย ภรณวลัยกล่าวไว้ตอนหนึ่งในหนังสือเล่มล่าของเขาว่า
"ใจของฟ้าคืออะไร"
"สิ่งนั้นคือ ความรักที่ยิ่งใหญ่ ที่แผ่คลุมไปกว้างทุกสารทิศ ทุกหนทุกแห่งในมหาสากลจักรวาล อย่างไม่มีการจำแนกลำเอียง เลือกที่รักมักที่ชัง อย่างไม่มีวัน หมดสิ้น อย่างเป็นนิรันดร์กาล
"ความรักที่แท้ย่อมไม่มีการแย่งชิง"
"ความรักที่แท้ย่อมไม่มีศัตรู"
"ถ้าหากเราคิดจะแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกับใคร ถ้าหารเราคิดร้ายกับใครก็ตามก็จงให้รู้ด้วยเถอะว่า เมื่อนั้นใจของเรามิได้เป็น ใจของฟ้า อีกต่อไปแล้ว เมื่อนั้นใจของเรามิได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับมหาสากลจักรวาลอีกต่อไปแล้ว
"บุคคลที่ไม่มี ใจของฟ้า ย่อมไม่อาจปรองดองกับจักรวาลได้"
"และวิทยายุทธ์ของผู้ที่ไม่อาจปรองดองกับจักรวาลได้ ก็เป็นได้เพียงแค่วิทยายุทธ์ของ การทำลาย เท่านั้น ยังมิใช่วิทยายุทธ์ที่แท้จริง และผู้นั้นก็ยังมิใช่ จอมยุทธ์ ที่แท้จริงด้วย"
สุวินัย ภรณวลัยก้าวหน้าในวิทยายุทธ์ไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว เป็นขั้นที่เสมือนหลุดพ้นออกโลกีวิสัย แต่ไม่ได้ล่องลอยออกจากโลกีวิสัยแม้ผมจะมิได้อยู่ในสถานะที่จะกล่าวได้ว่าใครบรรลุถึงขั้น
"สูงสุดคืนสู่สามัญ"
แต่วินัย ภรณวลัยก็เป็นอะไรที่ใกล้เคียงมากทีเดียว
เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 และปรากฏการณ์ทางการเมืองตลอดระยะเวลา 3-4 เดือนที่ผ่านมา จวบจนผลเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านพ้นวิวาทะเพื่อประชาธิปไตยบนหน้าบทความของ "ผู้จัดการรายวัน" อาจจะรวมกันส่งผลให้เขากลับมาเขียนบทความเชิงเศรษฐศาสตร์การเมืองอีกครั้งหนึ่ง
หลังจากที่ตั้งใจไว้เหมือนกับ "ซาเสียวเอี้ย" ว่าจะไม่ขอจับ "กระบี่เล่มนั้น" ขึ้นมาอีก
.......................................
ความรักที่แท้ย่อมไม่มีการแย่งชิง
ในโลกนี้มีใครบ้างที่ไม่รู้จักทุกข์โศกรันทด มีใครบ้างที่ไม่เคยขัดแย้งกับโลกหรือขัดแย้งกับตัวเอง
คำตอบคือ ไม่มี…ความแตกต่างของผู้คนอาจจะอยู่ที่วิธีหาทางออกเท่านั้น
ในนิยายเรื่องความรักกับจอมยุทธ์ ความทุกข์โศกของ "สันติชาติ" ไม่ว่าจะจำลองมาจากชีวิตจริงของผู้ประพันธ์หรือไม่ก็ตาม ล้วนโยงใยอยู่กับการพลัดพรากสูญเสียผู้คนอันเป็นที่รักเริ่มตั้งแต่การจากไปของพ่อเมื่อครั้งยังเยาว์วัย การเสียชีวิตของพี่ชายในเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม มาจนถึงการสูญเสียหญิงสาวทุกคนที่เขาใกล้ชิดผูกพัน
คนเราเมื่อต้องพลัดพรากครั้งแล้วครั้งเล่า จิตวิญญาณย่อมเหมือนถูกแบ่งเป็นส่วนเสี้ยวหาความสงบอันใดไม่ได้
และในการเยียวยาหัวใจที่ร้าวรานเยี่ยงนี้ บางที่อาจต้องไต่ถามถึงแก่นแท้ของชีวิต
สันติชาติ ของสุวินัย ภรณวลัย อาจจะโชคดีอยู่บ้างตรงที่มีรากตะวันออกค่อนข้างหยั่งลึกและนั้นทำให้เขาโชคดีกว่านั้นคือ พื้นฐานความเป็นนักแสวงหา นิสัยใจคอที่ด้านหนึ่งประณีตละเอียดอ่อนอีกด้านหนึ่งเคร่งครัดเอาจริงเอาจัง
บุคลิกภาพดังกล่าวทำให้ สันติชาติ ค้นพบสัจธรรมแห่งการสลายตัวตน ขณะฝึกวิทยายุทธ์เพื่อค้นหาตัวเอง
บางที เราอาจถือได้ว่านี่คือปมเงื่อนไขของเรื่องทั้งหมด
โดยผ่านเรื่องราวของหนุ่มไทยที่ไปเรียนอยู่ในญี่ปุ่น สุวินัย ภรณวลัยไม่เพียงแสดงความรู้เกี่ยวกับวิชามวยจีนออกมาอย่างน่าเลื่อมใสศรัทธาเท่านั้น หากยังสามารถประสานความคิดตะวันออกจากต้นธารต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างแนบเนียน
ยังมิพักต้องเอ่ยถึงการนำแก่นหลักของพุทธศาสนามาผนึกผนวนเข้ากับปรัชญาคริสเตียนได้อย่างลงตัว ไร้รอยต่อ
ความหมายแห่งตะวันออกนั้นได้มาด้วยการเพ่งพินิจความตาย ขณะที่ความหมายแห่งตะวันตกได้มาจากการยกระดับความรักขึ้นถึงขั้นจิตวิญญาณ คนเราเมื่อรู้จักทั้งความตายและความรัก ไฉนเลยจะไม่รู้ความลับแห่งการดำรงอยู่
"ความรักที่แท้ย่อมไม่มีการแย่งชิง " และ "ที่สุดของความรัก" จะปรากฎขึ้นก็ตรง "ปลายต่อของสุญตา" ถ้อยคำดังกล่าวเป็นดั่งบทสรุปสุดท้ายของหนังสือ ซึ่งดูผิดเผินแล้วช่างขัดแย้งกับเรื่องของหมัดมวยจนสุดเข้าใจได้
อย่างไรก็ตาม วิชากำลังภายในนั้นแท้จริงแล้ว คือการเพ่งพิจารณ์กฎเกณฑ์การเคลื่อนไหวของชีวิต และใครก็ตามเมื่อเข้าใจกฎเกณฑ์ของตัวเอง ก็ย่อมเข้าใจกฎเกณฑ์ของเอกภพ…ในทางกลับกันมีแต่เข้าใจกฎเกณฑ์ของเอกภพ จึงจะเข้าใจตัวเองอย่างถึงราก
ด้วยเหตุนี้ จงได้อย่าแปลกใจไปเลยว่าทำไมการฝึกมวยจีนจึงได้นำ "สันติชาติ" มาถึงข้อสรุปดังกล่าว
ถึงที่สุดแล้วคนกับ "ฟ้า" ควรต้องสัมพันธ์กันแน่นแฟ้น และเมื่อกล่าวสำหรับนักรบที่แท้จริงวิทยายุทธ์ของเขาย่อมไม่อาจเป็นอย่าอื่นไปได้ นอกจากเป็นหนทางต่อสู้กับ "ศัตรูภายใน" ซึ่งคอยขัดขวางความปรองดองระหว่างสองฝ่าย
ครับถ้าถามว่าโลกนี้มีใครบ้างที่ไม่รู้จักทุกข์โศกรันทด…คำตอบยังคงต้องยืนยันว่าไม่มี
ดังนั้น ความทุกข์จึงมิใช่เครื่องจำแนกมนุษยชาติ หนทางที่แต่ละคนดูแลตัวเองต่างหากที่นำไปสู่ความแตกต่างหลากหลาย
บางคนมีทุกข์แล้วเกะกะระราน บ้างชอบสร้างกำแพงปิดล้อมหัวใจ บางคนผ่านพ้นวันเวลาด้วยการเสแสร้งแกล้งมีความสุข และมีอยู่ไม่น้อยที่หนีทุกข์ด้วยการสะสมยึดครองเพราะรู้ว่าสิ่งที่ปรารถนาจริง ๆ นั้น ถึงอย่างไรก็คงไม่ได้มา ฯลฯ
ทางออกเหล่านี้ไม่ใช่ "ทาง" ในความหมายของสุวินัย ภรณวลัย
..............................
การยืนยันสัจจะแห่งชีวิต
ต่อโลกภายนอก
หนังสือ ซึ่งในที่นี้หมายถึงการเขียนหนังสือ สำหรับบางคนอาจหมายเพียงการประกอบสัมมาอาชีพ สำหรับคนบางคนอาจหมายถึงการถ่ายทอดความรู้สึกต่อเรื่องราวต่าง ๆ ออกมาให้ผู้อ่านได้รับรู้
สำหรับบางคนหนังสืออาจหมายถึงการถ่ายทอดความคิดอันทรงพลังของตนออกมาเพื่อส่งผลต่อสังคม แต่สำหรับอีกบางคนการเขียนหนังสืออาจหมายถึงการสะท้อนถ่ายสิ่งที่เขาพบเห็นจากก้นบึ้งของมหาสมุทรแห่งชีวิต หากในขณะเดียวกันก็เปี่ยมไปด้วยขุมพลังแห่งความคิดที่วาดหวังให้ส่งผลต่อสังคมในวงกว้าง
สุวินัย ภรณวลัย เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น
เขาเป็นหนึ่งในลูกคลื่นที่สาดซัดทำลายป้อมปราการแห่งเผด็จการในสมัย 14 ตุลา แม้จะเป็นคลื่นลูกเล็ก ๆ เขาเป็นหนึ่งในผู้เจริญรอยตามลัทธิมาร์กซ์ แม้จะให้ทางความคิดมากกว่าปฏิบัติการ เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์วิชาการที่ประสบความสำเร็จในวิชาชีพของตน
แต่ภายหลังจากหรือเกือบจะขณะเดียวกันกับการดำรงสถานะทั้งหมด เขาก็คือจอมยุทธ์ที่อาศัยวิชาโบราณกาลกว่า 2,000 ปี สู้รบตบมือกับกระบวนการทางสังคม
"ปี 2529 ก่อนที่ระบบสังคมนิยมจะล่มถึง 4 ปี ผมเคยพูดไว้ว่ากรอบที่ใช้ในการวิเคราห์อธิบายการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกนี้ไม่ได้ แต่ปัญหาคือตอนนั้นคนบางคนยังไม่เข้าใจ แต่ผมเห็นแล้ว และส่วนที่ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด คือ INFORMATION REVOLUTION การปฏิวัติสารสนเทศ และการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่ง ก็คือ การที่บริษัทข้ามชาติเปลี่ยนโฉมหน้าของเศรษฐกิจเอเชีย"
สุวินัย ภรณวลัย เกริ่นถึงความคิดของเขาอย่างเป็นระบบกับ WEEKEND เขาเล่าว่า เขาให้ความสนใจกับบริษัทข้ามชาติ และได้ผลผลิตงานเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาหลายชิ้น ก่อนที่ญี่ปุ่นจะมาลงทุนในเมืองไทยด้วยซ้ำ โดยในช่วงหลัง ๆ เขาก็ให้ความสนใจกับเศรษฐศาสตร์การเป็นนิกส์ด้วย และเห็นว่าเมืองไทยจะต้องเป็นนิกส์เพื่อแก้ปัญหาหลายอย่าง
"ตอนนี้มีปัญหาอยู่ว่าตอนที่เขียนเรื่องเศรษฐศาสตร์การเป็นนิกส์นี่ ผมบอกว่ามีปัญหาเศรษฐศาสตร์อยู่ 7 ประการ สำหรับการแก้ปัญหาด้วยการเป็นนิกส์ของประเทศไทย ที่สำคัญที่สุดคือปัญหาคนฮะ ผมพบว่าทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่ผมเรียนมาทั้งหมดนั้นตอบปัญหานี้ไม่ได้ คือ จะทำอย่างไรให้คนนี่ตื่นตัวขึ้นมาพัฒนาตัวเองเข้าสู่อารยธรรมใหม่ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งผมเห็นว่าอารยธรรมรุ่นที่ 3 นั้นมาแน่ ๆ อยู่แล้ว"
สุวินัยเห็นว่า ศตวรรษที่ 19 และ 20 นั้นเป็นศตวรรษแห่งเทคโนโลยีซึ่งคนแสวงหาความเป็นเหตุเป็นผล และความเป็นสุดยอดในเชิงเทคโนโลยี แต่สิ่งที่ต่อไปมนุษย์จะขาดแคลนมากคือ ความยากจนทางจิตใจ ดังนั้นเขาจึงค่อนข้างเชื่อมั่นว่า ศตวรรษที่ 21 เป็นจุดเริ่มต้นของศตวรรษแห่งจิตวิญญาณ แล้วในอารยธรรมใหม่ที่เกิดขึ้นในคลื่นลูกที่ 3 นี่ มันท้าทายมนุษย์มากในหลาย ๆ เรื่อง ปัญหาระดับโลกทั้งหลายไม่สามารถจะแก้กันด้วยนโยบายการคลังนโยบายการเงิน หรือใช้กำลังเข้ามาจัดการ แต่ต้องแก้ด้วยคนที่สว่างแล้ว คนที่ตื่นแล้ว
นั่นหมายความว่าระบบทุนนิยมสามารถที่จะชำระล้างรากฐานที่ไม่เท่าเทียมกันตรงนั้นได้ใช่หรือไม่
สุวินัยปฏิเสธโดยทันควัน "โดยตัวมันเองไม่ได้สติ แต่หมายความว่ามันบีบเรา มันสร้างเงื่อนไขให้เราต้องมาขจัดปัญหาทางจิตวิญญาณ ไม่ใช่ว่าคุณแก้ปัญหาในเชิงเทคนิคได้นะ…ปัญหาคือคุณชำเราธรรมชาติแบบเดิมไม่ได้แล้วนะ คุณต้องเปลี่ยนค่านิยมใหม่"
และการเปลี่ยนค่านิยมใหม่นั้น สุวินัยเห็นว่าก็คือเปลี่ยนไปสู่ระบบซึ่งไม่ทำลายธรรมชาติแต่อยู่ร่วมกับธรรมชาติ ระบบที่สังคมเน้นเรื่องสิ่งที่สร้างสรรค์มากขึ้น โดยที่ทุกคนความจะมีความสุขแบบ SELF REALIZATION คือทำงานในสิ่งที่ตัวเองรัก โดยไม่ได้มีความสุขจากสิ่งที่ตัวเองครอบครอง
"ผมเห็นด้วยกับอัลวิน ทอฟเลอร์ เขาใช้ศัพท์คำหนึ่งในหนังสือ คลื่นลูกที่ 3 คานธีกับจานดาวเทียมหรือกระท่อมอิเล็กทรอนิกส์ นั่นก็คือว่าสิ่งที่ล้ำยุคกับสิ่งที่เป็นธรรมชาติต้องประสานกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ แล้วเทคโนโลยีของคลื่นลูกที่ 3 นี่มันรับกันได้ แต่เทคโนโลยีของคลื่นลูกที่ 2 นี่มันทำลายธรรมชาติ อย่างเช่นขบวนการต่อสู้ของอหิงสธรรมในพฤษภาทมิฬก็ใช้ FAX หรือใช้โทรศัพท์มือถือ"
นั่นคือภาพทัศน์ต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงโลกของสุวินัย ซึ่งถ้าจะมองให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโยงกับหนังสือ มวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า และ ความรักกับจอมยุทธ์ อย่างไรก็คงต้องตีวงให้แคบเข้า โดยกลับมาที่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ซึ่งสุวินัยวาดหวังไว้ว่าจะนำมาแก้ปัญหาของชาติในระยะหนึ่ง เขากลับพบว่า ความคิดดังกล่าวนั้น กลับอธิบายเรื่องของคนไม่ได้
"คนในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่พบมากที่สุดคือ คนในฐานะที่เป็นทฤษฎีเกม คือเล่นเกม ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีคุณธรรม แสวงหาอรรถประโยชน์สูงสุด แล้วบางทีก็หักหลังคนอื่นหรือฉวยโอกาส แต่ผมไม่ยอมรับอันนี้ คือผมดูจากความสำเร็จของคนญี่ปุ่น คือ เขาเสียสละผมคือพยายามหา MOTIVATION ที่ไม่ได้มาจากเงิน"
เมื่อเป็นการลงทุนที่ไม่ได้มาจากเงิน สุวินัยก็เห็นว่าต้องปลูกจากภายใน ให้เติบโตจากภายใน ซึ่งงานในลักษณ์นี้ ผู้ที่ทำประสบความสำเร็จคนแรกในสมัยก่อนก็คือหลวงวิจิตรจากภายใน ซึ่งงานในลักษณ์นี้ ผู้ที่ทำประสบความสำเร็จคนแรกในสมัยก่อนก็คือหลวงวิจิตรวาทการ โดยใช้แนวทางของศาสนาพุทธ สุวินัยเจริญรอยตาม หลวงวิจิตรวาทกร ด้วย SELF HELP LITERATURE ทั้ง 2 เล่มที่ชื่อว่า มวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า และ ความรักกับจอมยุทธ์ อันกลั่นมาจากประสบการณ์ในชีวิตการฝึกมวยจีนของเขาเอง
"ผมอยากให้ทุกคนเป็นผู้ที่ประสบความยิ่งใหญ่ โดยผลที่ได้นั้น จะเป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน เป้าหมายก็คือเพื่อไปสู่อารยธรรมใหม่ แก้ทั้งปัญหาการเมืองปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาความยากจน ปัญหาเรื่องการศึกษา"
นั่นคือความหวังอันสูงส่งของสุวินัย ต่อสังคม แต่เมื่อถามถึงความเป็นตัวของเขาเองสุวินัยเล่าถึงตัวเขาเองด้วยเสียงรัวเร็วตามวิสัยว่า พื้นฐานของเขาคือผู้ที่แสวงธรรมหรือผู้แสวงหา ซึ่งก็คือการแสวงหาความเป็นเลิศภายในไม่ว่า จะเรียนเก่งหรือเล่นกีฬา ตอนที่เขาเป็นมาร์กซิสต์ เขาก็เลื่อมใสบุคลิกภาพแบบเลนินและทรอตสกี้ ในฐานะที่เป็นนักวิชาการหรือนักคิด หรือในช่วงที่เป็นอาจารย์ เขาก็ปรารถนาที่จะเป็นอาจารย์ที่ดีแบบปรีดี พนมยงค์ หรือนักเศรษฐศาสตร์ที่ดีแบบป๋วย อึ๊งภากรณ์ หรือรังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
ในขณะที่เขาขุดประสบการณ์ขึ้นมาเรียบเรียงเป็นตัวหนังสือ ตัวหนังสือก็เรียบเรียงความคิดของเขาให้ชัดเจนขึ้นเช่นกัน
"พอเขียน (มวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า) ออกมาเสร็จแล้วมันมีความหมายที่ว่า ตัวเองเริ่มรู้แล้วว่ามนุษย์ในอุดมคติของตัวเองเป็นอย่างไร …ผมพบว่า อุดมคติในชีวิตที่เป็นความใฝ่ฝันของผมมีอยู่ 3 ด้านด้วยกัน ด้านหนึ่งคือความเข้มงวดในการปฏิบัติธรรม ดุจพระ ดุจนักบวช คือฝึกฝนเข้มงวดทางจิตมาก อันที่สอง คือหมกมุ่นในศิลปะ คือทุ่มเทให้กับศิลปะเหมือนศิลปิน สาม มีภูมิปัญญาแบบบัณฑิต ศึกษาวิชาการแบบบัณฑิต บุคลิก 3 อย่าง คือ มนุษย์ในอุดมคติของผม ผมอยากจะบรรลุ 3 อย่างนี้ได้ในเวลาเดียวกัน ผมพบว่ามวยไทยเก๊กหรือ มวยภายในที่ผมฝึกมามันตอบสนองความต้องการอันนี้ของผมได้"
เนื่องจากการฝึกมวยภายในที่ผ่านมา แม้ในด้านหนึ่งจะทำให้เขามีความสุขกับการเคี่ยวกรำตนเอง และในอีกด้านหนึ่ง การฝึกดังกล่าวเป็นงานศิลปะ เป็น MARTIAL ART โดยให้ร่างกายของตนเป็นผลงานสร้างสรรค์ศิลปะของตน ซึ่งถึงแม้จะยืนยันศิลปะชิ้นนี้กับโลกภายนอกแล้ว แต่งานยังไม่สมบูรณ์ สุวินัยเห็นว่าในที่สุดเขาก็คนต้องพ่ายแพ้สังขาร สังขารคงเสื่อมไป
"เราก็อยากมีอะไรหลงเหลือ มันก็เป็นบันทึก ถ้าเป็นมุซาชิ เขาก็เขียนคัมภีร์ห้าห่วง ผมก็อยากเขียนออกมาเหมือนกับโลกตะวันออกเหมือนขงจื้อเขียน สรุปก็คือผมอยากมีงานแบบมวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า และความรักกับจอมยุทธ์ แล้วต่อไปก็จะมูซาชิฉบับท่าพระจันทร์ ภาค 2 ของความรักกับจอมยุทธ์ ก็จะเป็นเรื่องท้องฟ้าและทะเล เพื่ออะไร เพื่อบรรลุเป้าหมายของอุดมคติ 3 อย่างที่ผมต้องการ…ถ้ามองในแง่ FUNCTION ผมตั้งเป้าหมายเพียง 2 อย่างในชีวิต คือ 1. อยากเป็นจอมยุทธ์ 2. อยากเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ดีเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยตามแบบอาจารย์รุ่นพี่ที่ผมศรัทธา"
ในฐานะที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์และผู้ศึกษาวิทยายุทธ์ WEEKEND อดสงสัยไม่ได้ว่า สิ่งใดเรียนรู้ยากกว่ากัน สุวินัยให้คำตอบอย่างชัดเจนว่า "ในความรู้สึกที่ผมเรียนถึงปริญญาเอกแล้ว มวยจีนยากกว่าเศรษฐศาสตร์ ยากมากจริง ๆ ยากเพราะว่า 1. คนรู้น้อย เศรษฐศาสตร์ถึงขั้นหนึ่ง ถ้ามีตำรา คุณใช้ปัญญาของตัวเองก็ได้ แต่มวยจีน ไม่มีครูไม่ได้ พอมีครูแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะบรรลุผมที่ตัวเองต้องการ 1. มีคำสอนที่ถูกต้องจากครูที่รู้จริง 2. มีความศรัทธาต่อวิชานี้ และฝึกฝนอย่างต่อเนื่องยาวนาน 3. ต้องมีเชาว์ปฏิภาณ สามอย่างนี้ ขาดอย่างเดียวก็ได้ผลน้อย คือได้ผลไม่เต็มที่ ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย"
"แล้วที่ยากก็คือการยากแบบซาโตริ" สุวินัยเน้นย้ำอีกครั้งหนึ่ง "ในการฝึกเซ็นไม่มีอาจารย์คนไหนรับปากลูกศิษย์ว่าคุณจะบรรลุได้ในกี่ปี แต่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ถ้าขยันไม่เกิน 3 ปี 5 ปี บอกได้ อาจารย์กังฟูจะบอกว่า การเรียนกังฟูเหมือนผ้าเช็ดหน้า 4 มุมอาจารย์ที่เก่งเลอเลิศอย่างไร ก็เป็นได้แค่มุมเดียว คือจับได้แค่มุมเดียว อีก 3 มุมเป็นเรื่องของศิษย์"
แล้ว WEEKEND ก็อดที่จะอยากรู้ไม่ได้ว่า เท่าที่ฝึกมา ผู้เขียนคิดว่าตนเองได้บรรลุซาโตริหรือยัง ซึ่งก็ได้รับคำตอบที่ขึงขังกลับมาว่า "ถ้าอ่านหนังสือผม คุณจะนึกออกผมไม่พูดด้วยปากเอง ผมเขียนอย่างนี้ออกมาก็คิดว่าผมเจออะไรแล้วกัน คำถามนี้ผมไม่ตอบ ถ้าภาษาพระก็อวดอุตริมนุสธรรม ผมไม่ตอบ"
ที่สุดก็มาถึงคำถามที่ค้างคอในใจของผู้อ่าน ซึ่ง WEEKEND ก็ช่วยถามแทนแล้วว่า ความรัก กับ จอมยุทธ์ นั้นมาจากชีวิตจริงของเขาหรือไม่
"ไม่ใช่ ผมเขียนเป็นนิยาย" เจ้านำนักเซบุคังสาขากรุงเทพฯ กล่าวตอบอย่างแข็งขันเพราะต้องการให้คิดว่าดูสมจริงเท่านั้นเอง ผมถามว่าเออเนสต์ เฮมมิ่งเวย์ เขียนเรื่องออกมานี่ถามว่ามีตัวตนของเขาอยู่มั้ย ผมก็บอกว่าใช่ ผมต้องการให้มีตัวตนอย่างนั้นออกมา เพราะพวกเรา ถ้าจะเขียน หนังสือที่มี IMPACT ต่อคนอื่นได้ ก็ต้องมีประสบการณ์บางอย่างอยู่เท่านั้นเอง"
แล้วประสบการณ์ความรักที่ใกล้เคียงกับหนังสือล่ะ
"ผมถามคุณนะ มีใครบ้างเกิดมาไม่เคยรักคน มีใครบ้างเกิดมาไม่เคยถูกใครรัก ถ้าหากทุกคนมีประสบการณ์อันนี้ ก็เขียนอย่างนี้ได้ ผมเชื่อว่าผมเสนอเรื่องที่เป็นสากล ถ้าผมเพียงแต่เขียนเรื่องว่าคนเราควรจะรักกันมันก็จบ มันไม่สามารถเป็นอย่างนี้ออกได้ การเขียนนิยายออกมานี่ เป็นการประสานกันระหว่างรูปธรรมกับนามธรรม เวลานำเสนอนี้ก็คล้ายว่าต้องปรุงแต่งในเชิงรูปธรรมด้วย หนังสือเล่มนี้ผมเขียนเป็นสัญลักษณ์ คำถามคำตอบต้องอยู่ในนี้หมด ถ้าถามผม ผมต้องบอกว่าเป็นนิยาย ตัวตนอย่างนี้ไม่มีนักเขียนมาใช้วิธีนี้ คือเอาเรื่องของหลาย ๆ คนมาเขียนเป็นคนเดียว"
สุวินัยหยิบ มวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า ขึ้นมา "ผมเขียนเรื่องนี้ ผมพูดถึงพลังความสำเร็จ" และหยิบ ความรักกับจอมยุทธ์ "เรื่องนี้ผมพูดถึงความปวดร้าว แต่ถ้าถามว่าสันติชาติคือด้านหยินที่ผมขยายมาหรือเปล่าก็อาจจะใช่ แต่ทุกคนมีใครบ้างที่ไม่มีด้านหยินทุกคนก็มีด้านที่ปวดร้าวของตัวเองทั้งนี้เลยใช่มั้ย"
แต่เพราะมีความปวดร้าว จะสันติชาติหรือสุวินัยก็ตาม ก็เยียวยาหัวใจที่ร้าวรานเยี่ยงนี้ด้วยการไต่ถามถึงแก่นแท้ของชีวิต ตามคำของฉาน บรรณฉันท์ คนไม่ใกล้ไม่ไกลจากตัวเขา
และแล้วก็ถ่ายทอดสัจจะแห่งชีวิตออกมาในรูปหนังสือ 2 เล่ม เพื่อให้คนที่หัวใจร้าวราน แต่ขาดยาจะเยียวใจ ได้ไต่ตามเพื่อถามหาแก่นแท้ ก่อนจะปรับแปรตนเองเข้าสู่สังคมนิกส์ต่อไป