(9) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (1/6/53)

(9) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (1/6/53)

วิชันพันธมิตรฯ กับอัจฉริยะแห่งจิต

9. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ)




หากปราศจากพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลแล้ว อารยธรรมในปัจจุบัน ของมนุษย์เรา ซึ่งเป็น อารยธรรมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ จะไม่สามารถตั้งอยู่ได้เลย เพราะระบบขนส่งของเราก็ต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แม้แต่ไฟฟ้าซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับความเป็นเมือง และการใช้ชีวิตสมัยใหม่ ก็ยังผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นส่วนใหญ่

ภาชนะพลาสติก และบรรจุภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ก็ผลิตมาจากปิโตรเคมีทั้งสิ้นจนแทบกล่าวได้ว่า ทั้งชีวิตสมัยใหม่ และแม้แต่ชีวิตหลังสมัยใหม่ (โพสต์โมเดิร์น) ของคนเราล้วนดำรงอยู่ และดำเนินไปได้ด้วยดีก็เพราะมีพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลนี้หนุนหลังอยู่ทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่การใช้ชีวิตแบบนี้เพิ่งมีมาได้เพียงร้อยกว่าปีเท่านั้นเอง

อารยธรรมปัจจุบันอันเกิดจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะ น้ำมัน เป็นที่พึ่งหลักได้ทำให้อารยธรรมของเราจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนมากขึ้น มีลำดับชั้นมากขึ้น และมีลักษณะรวมศูนย์มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์

น้ำมัน เกิดจากกองพืชซากหนาที่หมักหมมกองทับซ้อนกันเป็นชั้นๆ จนลึกหลายร้อยฟุตหรือหลายพันฟุต เมื่อหลายร้อยล้านปีก่อนในยุคที่โลกของเรามีทวีปใหญ่อยู่เพียงทวีปเดียวเท่านั้นคือ ทวีปแพนเกีย (Pangaea) ในตอนแรกกองพืชซากเน่านี้กองสุมอยู่บนผิวดิน ก่อนที่จะเกิดการชนของลูกอุกกาบาตบนโลกเมื่อ 300 ล้านปีก่อนที่ทำให้แผ่นเปลือกโลกปริแตกทวีปแพนเกียจึงถูกฉีกแยกออกเป็นหลายส่วน เกิดการเปลี่ยนแปลงในสิ่งแวดล้อมของโลกทำให้กองพืชหมักหมมเป็นซากหนาจำนวนมหาศาลนี้จมลงสู่ใต้ดินลึก นานวันเข้าหลังจากที่ถูกแรงกดดันจำนวนมหาศาลมาเป็นเวลาหลายสิบล้านปี ในที่สุดมันก็กลายสภาพเป็นของเหลวที่ต่อมาชาวโลกรู้จักกันดีในชื่อของ น้ำมัน

ก่อนที่ชาวโลกจะรู้จักนำ น้ำมัน มาบริโภค ชาวโลกรู้จักบริโภค ถ่านหิน ก่อนตั้งแต่เมื่อ 900 ปีก่อน อันที่จริง ถ่านหิน ก็คือ เปลือกนอกสุดของกองพืชซากหมักหมมโบราณที่ดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์มาสะสมเอาไว้ในตัวเองตั้งแต่เมื่อ 300 ล้านปีที่แล้วนั่นเอง

ก่อนหน้าที่ชาวโลกจะค้นพบถ่านหิน ชาวโลกดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วย การบริโภคพลังงานจากแสงอาทิตย์รายวัน (current sunlight) คือ เข้าป่าไปเก็บฟืนมาให้พลังงานหุงต้มเป็นหลัก แต่การหันมาบริโภคถ่านหินทำให้ชาวโลกสามารถลดการพึ่งพาแสงอาทิตย์รายวันลงได้เป็นอย่างมาก พวกเขาจึงสามารถขยายการเพาะปลูกได้มากขึ้น ผลิตอาหารได้มากขึ้น ผลที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ ประชากรโลกซึ่งมีแค่ 500 ล้านคนในปี ค.ศ. 1000 ได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 1 พันล้านคนในปี ค.ศ. 1800

นี่เป็นจุดหักเหครั้งใหญ่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เพราะ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ชาวโลกเริ่มใช้ชีวิต โดยเอา “พลังงานจากแสงอาทิตย์สะสม” มาใช้ในการสร้างระบบเศรษฐกิจและสร้างอารยธรรมของตน เพราะฉะนั้นชาวโลกที่ “ฉลาดขึ้น” เหล่านี้จึงสามารถบริโภคทรัพยากรได้มากขึ้น และมากกว่าปริมาณพลังงานจากแสงอาทิตย์รายวันที่มอบให้ในแต่ละวัน การที่ชาวโลกเริ่มก้าวเดินบน แนวทางบริโภคนิยม เช่นนี้ได้ ก็เพราะชาวโลกเริ่ม “กินบุญเก่า” คือ เริ่มบริโภคพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่ได้สะสมไว้ในกองซากพืชหมักหมมเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อนนั่นเอง

แนวโน้มใหม่ที่เริ่มเกิดขึ้นหลังจากที่ชาวโลกเริ่ม “เสพติด” ถ่านหินแล้วก็คือ การที่พวกเขาสามารถบริโภคเชื้อเพลิง (ถ่านหิน) ได้อย่างไม่อั้นซึ่งนำไปสู่การขยายตัวของประชากรโลกอย่างก้าวกระโดด และชาวโลกทั้งหลายจะลำบากอย่างแสนสาหัส ถ้าขาดเชื้อเพลิงถ่านหินให้บริโภคอีกต่อไป แต่ชาวโลกก็ได้แก้ไขวิกฤตของการขาดแคลนเชื้อเพลิงถ่านหิน ด้วยการสูบ “น้ำมัน” ซึ่งก็เป็นพลังงานจากแสงอาทิตย์สะสมตั้งแต่เมื่อ 300 ล้านปีก่อนเอามาใช้แทน

“น้ำมัน” ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1850 ที่โรมาเนีย แต่น้ำมันเริ่มถูกใช้และบูมจริงๆ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1859 เป็นต้นมา เมื่อมีการขุดพบน้ำมันที่เพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา การค้นพบปริมาณน้ำมันจำนวนมหาศาลที่สะสมอยู่ใต้พื้นผิวโลกได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นปฏิวัติในระบบเศรษฐกิจของมนุษย์อย่างเทียบไม่ได้เลยกับการค้นพบถ่านหิน เพราะเมื่อย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 มนุษย์ยังได้ค้นพบอีกว่า น้ำมันเป็นมากกว่าเชื้อเพลิง เพราะน้ำมันสามารถถูกนำไปแปรรูปเป็นใยสังเคราะห์ (ไนลอน) เป็นเรซินสำหรับสร้างที่อยู่อาศัย เป็นพลาสติกสำหรับผลิตสินค้าต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ การแปรรูปน้ำมันให้กลายเป็นปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลงยังทำให้มนุษย์สามารถผลิตอาหารได้มากขึ้นอย่างเหลือเชื่อ พร้อมๆ กับที่มนุษย์ได้เลิกใช้แรงงานสัตว์ในการเพาะปลูก แต่หันมาใช้เครื่องจักร (รถแทรกเตอร์) อย่างเป็นล่ำเป็นสันแทน

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมน้ำมัน (อุตสาหกรรมปิโตรเลียม) ยังเป็นธุรกิจขนาดยักษ์ที่มีมูลค่ามหาศาล เพราะธุรกิจดังกล่าวเป็นระบบธุรกิจขนาดใหญ่ที่ประกอบไปด้วย บ่อน้ำมัน แท่นขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่ง ท่อส่งน้ำมันที่มีความยาวหลายพันไมล์ ถังเก็บน้ำมันขนาดยักษ์ โรงกลั่นน้ำมัน ตลอดจนบริษัทผลิตสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับปิโตรเคมีอีกเป็นจำนวนมาก อุตสาหกรรมน้ำมันจึงเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีที่หลากหลาย และต้องการทรัพยากรบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญที่หลากหลายกว่าอุตสาหกรรมประเภทอื่น เพราะกิจกรรมที่เกี่ยวข้องมันครอบคลุมตั้งแต่ การค้นหาแหล่งน้ำมัน การขุดเจาะ การขนส่ง การกลั่น และการจัดจำหน่าย ฯลฯ ทำให้ต้องใช้องค์ความรู้ที่หลากหลายมาก ทั้งดาวเทียม ธรณีวิทยา ธรณีเคมี ธรณีฟิสิกส์ วิศวกรรมศาสตร์ เคมีอินทรีย์ ลอจิสติกส์ การตลาด เป็นต้น

จึงมิใช่เรื่องแปลกอะไรที่ โครงสร้างการจัดองค์กรของธุรกิจน้ำมันสะท้อนให้เห็นถึงการกระจุกตัว และการรวมศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจของบรรษัทข้ามชาติ ซึ่งเป็นปลายยอดพีระมิดของโครงสร้างเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมในศตวรรษที่ 20

สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดของระบบทุนนิยมในช่วง 150 ปีที่ผ่านมานี้ ตามมาด้วยการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลกอย่างก้าวกระโดดด้วยเช่นกัน เพราะกว่าที่ประชากรโลกจะมีจำนวนถึง 1 พันล้านคน ในปี ค.ศ. 1800 นั้น ต้องใช้เวลานานถึง 200,000 ปี กว่าที่ประชากรโลกจะมีจำนวนเป็น 2 พันล้านคน ในปี ค.ศ. 1930 นั้น ใช้เวลาเพียง 130 ปี

แต่มนุษย์ใช้เวลาเพียงแค่ 30 ปีเท่านั้น ในการเพิ่มประชากรเป็น 3 พันล้านคน ในปี ค.ศ. 1960 และใช้เวลาเพียง 14 ปีเท่านั้น ในการเพิ่มประชากรเป็น 4 พันล้านคน ในปี ค.ศ. 1974 โดยที่ได้เพิ่มประชากรเป็น 5 พันล้านคน ในอีก 13 ปีต่อมาคือปี ค.ศ. 1987 จากนั้นก็เพิ่มประชากรกลายเป็น 6 พันล้านคน ในปี ค.ศ. 1999 หรือแค่ 12 ปี หลังจากนั้นเท่านั้น

การแพร่ขยายของประชากรโลกอย่างรวดเร็วเช่นนี้จะเป็นไปไม่ได้เลย หากมนุษย์มิได้บริโภค น้ำมัน ซึ่งเป็น มรดกโบราณ ที่จักรวาลหรือธรรมชาติได้มอบให้แก่มนุษย์ อันเป็นพลังงานจากแสงอาทิตย์สะสมตั้งแต่เมื่อ 300 ล้านปีก่อน แต่ด้วยความต้องการของมนุษย์ที่ไม่รู้จักพอ ที่ไม่รู้จักบันยะบันยังในการบริโภคน้ำมัน จึงใช้มันอย่างพร่ำเพรื่อราวกับว่า น้ำมันเป็นมรดกที่ไม่มีวันหมดสิ้น ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้นเลย

ขณะนี้ผู้คนเป็นจำนวนมากก็ยังไม่ได้เฉลียวใจ ไม่ได้ตระหนัก ไม่ได้สนใจ ไม่ได้ใส่ใจเลยว่า ขณะนี้เรากำลังอยู่ในห้วงเวลาที่การผลิตน้ำมันของโลกกำลังใกล้จะถึงขีดสูงสุด (peak oil) ภายในช่วงเวลาไม่กี่ปีข้างหน้านี้แล้ว นั่นย่อมหมายความว่า ชาวโลกใกล้กำลังจะเผชิญกับวิกฤตพลังงานหรือวิกฤตการขาดแคลนน้ำมันในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า หรือในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าเป็นอย่างช้าสุด เหมือนอย่างที่ชาวโลกได้เคยเผชิญกับวิกฤตการขาดแคลนเชื้อเพลิงถ่านหินมาแล้ว มิหนำซ้ำชาวโลกกำลังเผชิญกับ ภาวะโลกร้อน อันเนื่องมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลอีกด้วย

สองสาเหตุนี้ย่อมส่งผลต่อกันและกันจนกลายเป็นปัจจัยวิกฤตที่จะกำหนด โฉมหน้าของอารยธรรมมนุษย์ในช่วงกึ่งศตวรรษที่ 21 นี้อย่างแน่นอน

วิชันของพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) ของพวกเราชาวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในส่วนที่เกี่ยวกับ วิกฤตพลังงานจึงจะต้องคำนึงถึงเรื่องความไม่มั่นคงด้านพลังงาน และภาวะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงควบคู่กันไปอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ เพื่อการนี้ พวกเราต้องหันมาทบทวนความเข้าใจของพวกเราเกี่ยวกับ ขีดสูงสุด (peak oil) ของการผลิตน้ำมันของโลก เสียก่อน






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้