(11) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (15/6/53)

(11) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (15/6/53)

วิชันพันธมิตรฯ กับอัจฉริยะแห่งจิต

11. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ)

 

ในความเข้าใจของผม ผู้ที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศใน ยุคหลังทักษิณ ควรจะต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า อวสานของยุคน้ำมัน กำลังจะมาถึงภายในระยะเวลาไม่เกินสามสิบปีข้างหน้านี้แล้ว ซึ่งก็หมายความว่า ประเทศของเราเหลือเวลาอีกไม่กี่สิบปีเท่านั้นที่จะผลักดัน ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจออกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อทำให้ชาติของเราอยู่รอดได้ในยุคหลัง Peak Oil และยุคหลังน้ำมันหมดโลกได้

เพราะฉะนั้น พรรคการเมืองใหม่ ของพวกเราชาวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะต้องมี วิชันและแนวทางที่จะผลักดัน และสถาปนาระบบเศรษฐกิจหลังยุคเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะเศรษฐกิจไฮโดรเจนขึ้นในประเทศของเราในอนาคตอันใกล้ เพื่อรับมือกับสถานการณ์อวสานของยุคน้ำมันที่จะมาถึงในอีกสามสิบปีข้างหน้านี้ ถึงจะสามารถนำพาประเทศนี้ให้รอดปลอดภัยได้ เพราะเมื่อทอดตาสำรวจขุมพลังทางการเมืองกลุ่มต่างๆ ทั่วแผ่นดินนี้แล้ว ผมก็แลเห็นแต่พรรคการเมืองใหม่ และขุมพลังของพวกเราชาวพันธมิตรฯ เท่านั้น ที่พอจะเป็นขุมพลังทางการเมืองที่ทรงพลังพอที่จะสามารถแบกรับ “งานใหญ่” ที่เป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ และระยะยาวขนาดนี้ได้

ในหนังสือ “เศรษฐกิจไฮโดรเจน” (The Hydrogen Economy) (ค.ศ. 2002) ของเจเรมี ริฟกิน (Jeremy Rifkin) (ฉบับแปลภาษาไทยโดยโครงการจัดพิมพ์คบไฟ, พ.ศ. 2549) ที่ผมได้เคยบอกไปแล้วว่า เป็นหนึ่งในหนังสือที่ “ต้องอ่าน” ของชาวพันธมิตรฯ และชาวพรรคการเมืองใหม่ ในหนังสือ “เศรษฐกิจไฮโดรเจน” เล่มนี้ เจเรมี ริฟกิน ได้นำเสนอว่า...

ระบบพลังงานชนิดใหม่ที่จะมาแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ย่อมมีลักษณะและธรรมชาติที่ต่างไปจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมากพอๆ กับที่เชื้อเพลิงฟอสซิลต่างจากพลังงานจากไม้ฟืนที่ใช้มาก่อนหน้า ระบบพลังงานชนิดใหม่นี้ จึงน่าจะมาจากไฮโดรเจน เพราะไฮโดรเจนเป็นธาตุที่เบาที่สุด และพบได้มากที่สุดในจักรวาล เมื่อนำมาใช้ในรูปของพลังงาน ไฮโดรเจนจะกลายเป็น “เชื้อเพลิงอมตะ” เพราะไฮโดรเจนไม่มีวันหมดไป และเนื่องจากไม่มีอะตอมคาร์บอนเลยจึงไม่ปล่อนคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นตัวการของภาวะโลกร้อน ไฮโดรเจนเป็นสิ่งที่พบได้ทุกที่บนโลก ทั้งในน้ำ แต่ไฮโดรเจนจะไม่ปรากฏตามธรรมชาติในรูปที่แยกตัวเป็นอิสระ ดังนั้น เวลาจะนำไฮโดรเจนมาใช้ จึงต้องสกัดจากแหล่งธรรมชาติ

ในทางทฤษฎี เนื่องจากไฮโดรเจนมีอยู่ในทุกหนทุกแห่ง และจะไม่มีวันหมดไปหากมีระบบการจัดการที่ดี เพราะฉะนั้นมนุษย์บนโลกจึงมี “อำนาจ” เหมือนกัน ไฮโดรเจน จึงจะกลายเป็นระบบพลังงานชนิดแรกที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในประวัติศาสตร์พลังงานของมนุษย์ ปัจจุบันการวางรากฐาน ระบบเศรษฐกิจไฮโดรเจน ได้เริ่มขึ้นแล้ว ในประเทศที่เจริญแล้วที่มีวิชัน และมีความตื่นตัวในเรื่องวิกฤตพลังงาน และวิกฤตสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจไฮโดรเจนจะเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจนวัตกรรม (innovative economy) และจะเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจเขียว (green economy) ซึ่งจะเป็นอนาคตของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 21 อย่างค่อนข้างแน่นอนแล้ว

รูปแบบของเศรษฐกิจไฮโดรเจน ที่ควรจะผลักดันให้เกิดขึ้นมานั้น ควรจะเป็น ระบบผสมผสาน ที่เป็น เครือข่ายพลังงานทางเลือก และไฮโดรเจน แบบเดียวกับเครือข่ายเวิลด์ไวด์เว็บที่ก่อให้เกิดการปฏิวัติอินเทอร์เน็ตมาแล้ว เครือข่ายพลังงานทางเลือกและไฮโดรเจนนี้ จะต้องเป็น การปฏิวัติรูปแบบการใช้พลังงาน ในแง่ที่ว่า มันจะต้องสลายการรวมศูนย์อำนาจในการผลิตพลังงาน และจะต้องทำให้มีการปันส่วนพลังงานแบบที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นกว่าเดิม

กล่าวโดยรูปธรรมก็คือ ประเทศทั้งหลายควรจะหันมาสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่ใช้พลังงานทางเลือก และไฮโดรเจนในพื้นที่ของผู้ใช้พลังงานที่เรียกกันว่า “การผลิตแบบกระจายส่วน” (distributed generation) โดยที่ผู้ใช้พลังงานจะเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค (prosumer) ในเวลาเดียวกัน

เมื่อโรงไฟฟ้าเล็กๆ ที่ใช้พลังงานทางเลือก และไฮโดรเจนนับล้านๆ โรงเชื่อมต่อเข้าด้วยกันเป็นเครือข่ายพลังงานอันกว้างใหญ่ไพศาล โดยใช้หลักการออกแบบทางสถาปัตยกรรม และเทคโนโลยีอันชาญฉลาดแบบเดียวกับที่ใช้สร้างเครือข่ายเวิลด์ไวด์เว็บ ผู้คนก็จะสามารถแบ่งปันพลังงานระหว่างกันหรือขายพลังงานให้แก่กันได้ เกิดเป็นการแบ่งปันพลังงานแบบเพื่อนสู่เพื่อน และจะพังทลาย “การผูกขาดพลังงาน” ที่บริษัทพลังงาน และบริษัทผลิตไฟฟ้ายักษ์ใหญ่เคยสร้างเอาไว้อย่างเป็นการถาวร

จะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจไฮโดรเจนจะเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจผลิต-บริโภค (the prosumer economy) ซึ่งอัลวิน ทอฟเลอร์ ได้เขียนไว้ในหนังสือ “ความมั่งคั่งปฏิวัติ” ที่ผมเคยกล่าวถึงแล้วตอนหนึ่งมีใจความว่า โลกเรามี เศรษฐกิจซ่อนเร้น ที่เป็น เศรษฐกิจผลิต-บริโภค ที่มี กิจกรรมทางเศรษฐกิจปริมาณมหาศาลซึ่งเกิดขึ้นในทางที่ไม่มีใครติดตาม และไม่มีใครวัดมาก่อน

จึงเป็นที่แน่ชัดว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไฮโดรเจนหลังจากนี้ โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายส่วนด้วย เครือข่ายพลังงานทางเลือกและไฮโดรเจนที่ผู้ใช้พลังงานจะเป็นทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภคในเวลาเดียวกัน จะทำให้ ขนาดของเศรษฐกิจผลิต-บริโภค ในอนาคตโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด จนกระทั่งแม้แต่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักก็ไม่อาจมองข้าม ภาคเศรษฐกิจผลิต-บริโภค นี้ได้อีกต่อไป

ปัญหาของการสร้างเศรษฐกิจไฮโดรเจนนั้น คงอยู่ที่ นวัตกรรมในการบริหารการจัดการทางธุรกิจและทางสังคม มากกว่าอยู่ที่ตัวเทคโนโลยีเอง เพราะ การจะเชื่อมโยงมวลมนุษยชาติทั้งหมดเข้าด้วยกันเป็นเครือข่ายพลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen Energy Web) ได้นั้น มันก็เหมือนกับกรณีที่เกิดการปฏิวัติอินเทอร์เน็ตมาแล้ว คือ มันต้องการความร่วมแรงร่วมใจจากภาคเอกชนในระดับโลก เพราะภาคเอกชนจะต้องเป็นหัวหอกในการคิดค้น และผลิตทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ใน การปฏิวัติการผลิตพลังงานแบบกระจายส่วน และจะต้องมีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการ เป็นศูนย์รวมการให้บริการพลังงาน และประสานงานให้เกิดการไหลเวียนของพลังงานในเครือข่ายพลังงานไฮโดรเจน

ข้อดีประการแรก ที่เห็นได้ชัดจากการขยายตัวและเติบโตของเครือข่ายพลังงานไฮโดรเจน และเศรษฐกิจไฮโดรเจนก็คือ มันจะทำให้โลกพึ่งพา ระบบพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งจะไปช่วยจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือเพียงสองเท่าของระดับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม และจะช่วยบรรเทาผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่มีต่อระบบนิเวศโลกอย่างได้ผลยิ่ง

ข้อดีประการที่สอง ที่เราจะเห็นได้จากการเคลื่อนย้ายระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่ระบบเศรษฐกิจไฮโดรเจนก็คือ จะเกิดการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน และเทคโนโลยีมาผลิตไฮโดรเจนและสร้างเครือข่ายพลังงานการผลิตแบบกระจายส่วนที่จะใช้เชื่อมโยง และโยงใยชุมชนต่างๆ ทั่วโลกเข้าด้วยกัน ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะช่วยผู้คนหลายพันล้านคนให้หลุดออกจากวงจรอุบาทว์แห่งความยากจน ช่วยลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนให้น้อยลงได้โดยที่ผู้คนส่วนใหญ่บนโลกนี้สามารถมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ อันเป็นการยกระดับและประกันคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ในระดับหนึ่งด้วย

เศรษฐกิจไฮโดรเจนจะนำมาซึ่ง แนวคิดใหม่เกี่ยวกับชีวิตทางสังคม เหมือนอย่างที่เศรษฐกิจเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ทำให้เกิดรูปแบบการจัดองค์กรทางสังคมแบบใหม่ที่รวมศูนย์ ที่เกิดการกระจุกตัวของชุมชนเมืองที่อยู่กันอย่างหนาแน่นมาแล้ว แต่เนื่องจากไฮโดรเจนแตกต่างจากพลังงานไฮโดรเจนทุกชนิดเป็นอันมาก เพราะฉะนั้น มันจะก่อให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานรูปแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง รวมทั้งจะก่อให้เกิดสถาบันทางเศรษฐกิจ และรูปแบบการลงหลักปักฐานของมนุษย์ที่แตกต่างไปจากเดิมด้วย

เพราะฉะนั้น รูปแบบธุรกิจการค้าก็จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างถอนรากถอนโคนเช่นกัน เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกระจายตัว และแพร่หลายมากกว่าในปัจจุบัน การพาณิชย์ที่แตกตัวออกเป็นส่วนเล็กส่วนน้อย จะทำให้การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์จะกระจายตัวออกไป การรวมศูนย์อำนาจ และการประหยัดของขนาดอันเนื่องมาจากการผลิตแบบแมส หรือการผลิตแบบปริมาณมาก อันเป็นลักษณะเด่นของยุคเชื้อเพลิงฟอสซิลที่นำไปสู่การกระจุกตัวของประชากรในมหานคร ซึ่งใช้พลังงานมหาศาลและไม่ยั่งยืนจะเปลี่ยนโฉมตามไปด้วยเช่นกัน

การสร้างเครือข่ายพลังงานไฮโดรเจนแบบกระจายศูนย์อำนาจ ซึ่งเชื่อมโยงผู้ใช้พลังงานขั้นสุดท้ายทุกคนเข้าหากัน จะทำให้การลงหลักปักฐานของผู้คนกระจายตัวออกไป และยั่งยืนมากขึ้นเมื่อคำนึงถึงในแง่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค ภายใต้เครือข่ายพลังงานไฮโดรเจนที่มนุษย์ทุกคนบนโลกสามารถเชื่อมต่อกับมนุษย์คนอื่นๆ ภายใต้โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีลักษณะพึ่งพาซึ่งกันและกัน โดยไม่มีการแบ่งแยกจะทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์สามารถ กลายเป็นชุมชนมนุษย์ที่สามารถบูรณาการเข้ากับระบบนิเวศของโลกได้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ความมั่นคงของปัจเจกและชุมชนจะถูก นิยามใหม่ โดยมีฐานอยู่ที่เครือข่ายทางสังคม เครือข่ายการค้า และเครือข่ายระบบนิเวศอันหลากหลาย โดยที่ชุมชนมนุษย์ ชุมชนทางชีววิทยา (ระบบนิเวศ) และชุมชนทางธรณีวิทยาจะเชื่อมประสานเป็นเนื้อเดียวกัน การก่อเกิดและเติบโตของเศรษฐกิจไฮโดรเจนในระดับโลก ในอนาคตอันใกล้จะช่วยยกระดับจิตสำนึกของผู้คนจำนวนมากให้ตระหนักถึงความเป็นส่วนหนึ่งขององคาพยพโลกที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่แต่ละคนเป็นอยู่แล้ว





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้