18. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ)
อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อโลกร้อนขึ้น 3 องศา? (จากหนังสือ “6 องศาโลกาวินาศ” ของมาร์ก โลนัส)
(1) ทุพภิกขภัยในแอฟริกาตอนใต้
เมื่อโลกร้อนขึ้น 3 องศา ภัยแล้งที่เรื้อรัง จะเกิดขึ้นที่ประเทศบอตสวานา และพื้นที่อีกหลายแห่งในแอฟริกาตอนใต้ แม้ว่าทางแอฟริกาตอนเหนือจะมีแนวโน้มที่จะมีฝนกลับมาตกอีกครั้งก็ตาม แต่แอฟริกาตอนใต้จะแห้งแล้งลงเรื่อยๆ โดยจะแห้งแล้งอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 เป็นต้นไป โดยค่อยๆ สูญเสียฝนไป 10-20% มิหนำซ้ำ ความแห้งแล้งที่เพิ่มขึ้นในโลกที่ร้อนขึ้น 3 องศานี้จะเกินกว่าขีดจำกัดใดๆ ที่มนุษย์จะปรับตัวได้ ผลของมันคือ ทุพภิกขภัยโดยที่ประเทศบอตสวานาจะเป็นศูนย์กลางของภัยพิบัตินี้ เพราะเมื่อโลกร้อนขึ้น 3 องศา จะทำให้อุณหภูมิทะเลทรายกาลาฮารีสูงขึ้น ตามมาด้วยพายุทราย และการหายไปอย่างรวดเร็วของพืช จนทะเลทรายแห่งนี้กลายเป็นทะเลทรายที่มีความแห้งแล้งอย่างแท้จริง เพราะมีแต่พายุทรายรุนแรงเท่านั้น
(2) บทเรียนจากยุคไพลโอซีนเมื่อ 3 ล้านปีก่อน
การจะจินตนาการถึงโลกที่ร้อนขึ้น 3 องศาได้ บางทีการกลับไปศึกษาอดีตในยุคไพลโอซีนเมื่อ 3 ล้านปีก่อน อาจจะช่วยให้เห็นภาพชัดขึ้นได้ ยุคไพลโอซีนมีความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะมันค่อนข้างเหมือนกับโลกที่เราอยู่ในปัจจุบันอยู่หลายอย่างในเชิงภูมิศาสตร์โลก เพียงแต่ความอบอุ่นในเชิงภูมิอากาศของยุคไพลโอซีนแตกต่างจากโลกทุกวันนี้มาก โดยเฉพาะในแถบขั้วโลก แม้แต่เขตศูนย์สูตรก็อุ่นกว่า โดยมีสาเหตุมาจากคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในยุคไพลโอซีนที่มีความหนาแน่นใกล้เคียงกับโลกยุคปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้ อุณหภูมิเฉลี่ยในยุคไพลโอซีน จึงสูงกว่าโลกยุคปัจจุบันเกือบ 3 องศา ยุคไพลโอซีนที่นักวิทยาศาสตร์จำลองขึ้นมา โดยใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์จึงเป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนมากสำหรับโลกยุคปัจจุบัน เพราะในยุคนั้น ทั้งมหาสมุทรอาร์กติก และทะเลรอบๆ แอนตาร์กติกไม่มีน้ำแข็งเลยในบางฤดู น้ำแข็งในฤดูหนาวก็ลดลงมาก เนื่องจากน้ำแข็งขั้วโลกทำปฏิกิริยาเหมือนกระจกยักษ์ที่สะท้อนความร้อนของดวงอาทิตย์ออกไป เนื่องจากปริมาณ CO2 ในปัจจุบันใกล้เคียงกับในยุคไพลโอซีน ชาวโลกจึงมีเวลาไม่เกินหนึ่งศตวรรษเท่านั้นที่จะยืดเวลาไม่ให้โลกร้อนขึ้นถึง 3 องศา แต่ถ้าหากชาวโลกยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกอาจพุ่งสูงขึ้นเกิน 3 องศาตั้งแต่ ค.ศ. 2050 เป็นต้นไป
(3) การกลับมาของเอลนีโญ
ในโลกที่ร้อนขึ้น 3 องศา ปรากฏการณ์เอลนีโญจะรุนแรงขึ้น บ่อยขึ้น และอาจคงอยู่อย่างถาวร ไม่ใช่แค่เกิดขึ้นชั่วครั้งคราวแล้วกลับสู่ภาวะปกติเหมือนอย่างแต่ก่อน หากเป็นเช่นนั้นจริง ยุโรปคงเผชิญกับฤดูหนาวที่แห้งแล้งยิ่งขึ้น การก่อตัวของพายุใหญ่ น้ำท่วมหนัก และโคลนถล่มอาจเกิดขึ้นทั่วบริเวณที่เคยแห้งแล้งในแคลิฟอร์เนีย ลมมรสุมอินเดียจะหายไปซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชีวิตหลายล้านชีวิตในอนุทวีปอินเดีย หนึ่งในพื้นที่ซึ่งชุ่มชื้นที่สุดอย่างแอ่งป่าดงดิบอะเมซอน ทางด้านตะวันออกของเทือกเขาแอนดีสจะกลายเป็นพื้นที่ซึ่งแห้งแล้งที่สุดอย่างรวดเร็ว
(4) จุดจบของอะเมซอน
ในโลกที่ร้อนขึ้น 3 องศา “เตาความร้อนหลัก” ที่เกิดจากปฏิกิริยาสะท้อนกลับของคาร์บอน และเป็นวงจรย้อนกลับไปมา มันจะไม่ได้ “เผา” เมืองหลวงแห่งอุตสาหกรรมโลก แต่มันไปส่งผลในดินแดนที่ห่างไกลอย่างป่าดงดิบอะเมซอนที่อาจหมดสิ้นไปแทน เพราะในโลกที่ร้อนขึ้น 3 องศา นอกจากทะเลที่อุ่นขึ้นจะดูดซับ CO2 น้อยลง ปล่อยให้ก๊าซจำนวนมากรวมตัวกันอยู่ในบรรยากาศแล้ว คาร์บอนปริมาณมากที่ถูกกักเก็บอยู่ในดิน และซากที่ย่อยสลายไประดับหนึ่งแล้วของพืชที่ตายมานาน
เมื่อดินอุ่นขึ้นแบคทีเรียจะทำงานเร็วขึ้นเพื่อย่อยสลาย คาร์บอนที่สะสมไว้แล้วปล่อยมันกลับออกมาสู่บรรยากาศในรูปของ CO2 อีก ทำให้วัฏจักรของคาร์บอนย้อนกลับอย่างเต็มที่ เพราะแทนที่พืชและดินจะดูดซับ CO2 มันกลับเริ่มปล่อยก๊าซนี้ออกมาในปริมาณมากแทน ปฏิกิริยาสะสมของคาร์บอนนี้ จึงอาจทำให้โลกตกอยู่ในวังวนที่กู่ไม่กลับของภาวะโลกร้อน เมื่อถึง ค.ศ. 2050
อันที่จริง ลุ่มน้ำอะเมซอนก็ตกอยู่ในอันตรายอยู่แล้ว แม้ไม่นับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนดังข้างต้น เพราะพื้นที่ป่ากว่าหนึ่งล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งมีขนาดเท่าประเทศฝรั่งเศสถูกรุกราน และไม้จำนวนมากถูกตัดในแต่ละปีเพื่อถางพื้นที่สำหรับเลี้ยงสัตว์ และทำไร่ถั่วเหลือง เพราะฉะนั้น ต่อให้มีการหยุดการทำลายป่าอย่างสิ้นเชิงในวันนี้ ป่าดงดิบอะเมซอนก็ยังคงตกอยู่ในอันตรายอยู่ดี หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 องศา
(5) ไฟป่าของออสเตรเลีย
ในโลกที่ร้อนขึ้น 3 องศา พื้นที่ในออสเตรเลียจะถูกไฟป่าเผามากขึ้น และถี่มากขึ้น ไฟป่า ความร้อน และภัยแล้งรวมกันจะทำให้ชีวิตในออสเตรเลียดำรงอยู่ได้ยากลำบากขึ้น เพราะออสเตรเลียเป็นทวีปที่แห้งแล้งที่สุดในโลกอยู่แล้ว
(6) ภัยจากซูเปอร์เฮอริเคน
ในโลกที่ร้อนขึ้น 3 องศา ความสงสัยใดๆ ที่ยังเหลืออยู่เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างโลกร้อนกับซูเปอร์เฮอริเคน หรือเฮอริเคนที่รุนแรงขึ้นจะถูกกำจัดไปสิ้นด้วยความเป็นจริงอันโหดร้ายของบรรยากาศที่เปลี่ยนแปลงรุนแรง พายุเฮอร์ริเคนที่มีพลังทำลายสูง จะพัดเข้าถล่มแนวชายฝั่งทั่วโลก
นอกจากนี้ เฮอริเคนที่รวมตัวกับชั้นบนของมหาสมุทรเขตร้อนและลมแรง จะผลักดันให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่ที่นำน้ำอุ่นไปยังขั้วโลกในที่สุด ซึ่งจะทำให้น้ำแข็งที่ทะเลอาร์กติกลดลง ในโลกที่ร้อนขึ้น 3 องศานี้ น้ำแข็งทะเลจะหายไปถึง 80% เหลือเพียงบริเวณเล็กๆ ระหว่างขั้วโลก และชายฝั่งด้านเหนือของกรีนแลนด์เท่านั้น
นี่เป็นการประเมินขั้นต่ำเกินไปด้วยซ้ำ เพราะสถานการณ์ที่น่าจะเป็นไปได้มากกว่าคือ น้ำแข็งทะเลทั้งหมดจะหายไป ขณะที่บนพื้นทวีป พืดน้ำแข็ง และธารน้ำแข็งก็จะละลายอย่างรวดเร็วเช่นกัน น้ำจะหลั่งไหลจากกรีนแลนด์ในปริมาณมากจนเป็นปรากฏการณ์แล้วมาบรรจบกันเป็นแม่น้ำน้ำแข็งขนาดใหญ่ ขณะที่ขอบของแผ่นน้ำแข็งก็จะถอยร่นเข้าไปตรงกลางเกาะยักษ์แห่งนี้ เมื่อธารน้ำแข็งหดหายไป ผืนดินใหม่ที่เคยอยู่ใต้น้ำแข็งมาหลายแสนปีก็จะโผล่ออกมา
(7) ภัยแล้งในอเมริกากลาง อินเดีย และปากีสถาน
ในโลกที่ร้อนขึ้น 3 องศา ภัยแล้งในแถบอเมริกากลางจะรุนแรงขึ้น และถี่ขึ้นจนเกิดการขาดแคลนอาหาร เนื่องจากผลผลิตการเกษตรถูกทำลาย ส่วนอินเดียก็จะประสบปัญหาภัยแล้งเช่นกัน อันเนื่องมาจากลมมรสุมพึ่งพาได้น้อยลง ทำให้พื้นที่ที่ฝนตกจะเกิดน้ำท่วมรุนแรง แต่พื้นที่ที่แล้งฝนกลับมีฝนตกน้อยลง สำหรับปากีสถานจะประสบกับปัญหาการหายไปของน้ำที่ละลายจากธารน้ำแข็ง อันเป็นแหล่งน้ำของแม่น้ำสินธุ ทำให้ประเทศปากีสถานประสบกับปัญหาการสูญเสียแหล่งอาหารหลัก เมื่อแม่น้ำสินธุ และสาขาของมันเหือดแห้งลง
(8) การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสายพันธุ์สัตว์และพืช
ในโลกที่ร้อนขึ้น 3 องศา การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่หกของชีวิตบนโลกใบนี้จะเกิดขึ้น สถานที่ซึ่งจะประสบกับการสูญพันธุ์รุนแรงที่สุด จะเป็นที่เดียวกับที่ที่มีพืชและสัตว์เจริญงอกงามในจำนวน และความหลากหลายมากที่สุด
(9) วิกฤตการขาดแคลนอาหารระดับโลก
ในโลกที่ร้อนขึ้น 3 องศา เมื่อผู้คนหลายพันล้านคนประสบภัยจากฝนแล้ง และความอดอยากในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน สถานการณ์ของเสบียงโลกจะอันตรายขึ้นเรื่อยๆ การขาดแคลนอาหารทั่วโลกจะทำให้ราคาตลาดสูงขึ้น เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นเกินขีดจำกัดของพืชที่ 2.5 องศาเซลเซียส
สำหรับในประเทศที่กำลังพัฒนา การสูญเสียจะหนักหนากว่านี้ เพราะอาจเกิด ปัญหาความอดอยากในวงกว้าง วิกฤตด้านการผลิตอาหารจะทวีคูณจนกลายเป็นวิกฤตด้านเศรษฐกิจที่ลุกลามไปค่อนโลก ขณะเดียวกัน สงครามแย่งน้ำจะกลายเป็นเรื่องปกติ รัฐต่างๆ จะกลายเป็น “รัฐที่ล้มเหลว” การบริหารจัดการของรัฐจะพังทลายลง กลุ่มติดอาวุธจะแย่งอาหารที่เหลืออยู่น้อยนิด กฎหมู่จะเข้าแทนที่กฎหมาย