21. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ)
อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อโลกร้อนขึ้น 6 องศา? (จากหนังสือ “6 องศาโลกาวินาศ” ของมาร์ก ไลนัส)
มาร์ก ไลนัส บอกว่า เมื่อเราเข้าสู่โลกซึ่งอุณหภูมิสูงกว่าปัจจุบัน 6 องศา มีเบาะแสเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่บ่งบอกว่า อะไรจะเกิดขึ้นกันแน่ เพราะ เหล่านักวิทยาศาสตร์ผู้สร้างแบบจำลองสภาพภูมิอากาศเกือบทั้งหมดยังทำได้แค่การจำลองสภาวะที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกือบ 6 องศา ภายในปี ค.ศ. 2100 เท่านั้น มิหนำซ้ำการออกแบบจำลองส่วนใหญ่ ก็มีความโน้มเอียงในเชิงอนุรักษ์อยู่แล้ว ดังนั้น ผลที่ได้จากแบบจำลองนี้จึงไม่สามารถลดทอนลงได้อีก
ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องพึ่งข้อมูลทางธรณีวิทยาอย่างหยาบๆ จากอดีตอันไกลโพ้น เพื่อให้เห็น แต่ละฉากของภาวะเรือนกระจกในสภาพสุดขั้ว หากโลกในอนาคตของพวกเราร้อนขึ้นถึง 6 องศา
ฉากของภาวะเรือนกระจกสุดขั้วอันยาวนานที่สุดได้แก่ ยุคครีเทเชียส ซึ่งอยู่ระหว่าง 144 ถึง 65 ล้านปีก่อน ในยุคนั้นระดับคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดคาดว่าอยู่ระหว่าง 3 ถึง 6 เท่าของระดับปัจจุบัน แต่เราจะเอามาเปรียบเทียบกันโดยตรงไม่ได้ เพราะในยุคนั้น อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเรือนกระจกถูกชดเชยด้วยการมีแสงแดดเบาบางกว่ายุคปัจจุบัน แต่เนื่องจากระบบของโลกพยายามปรับสู่ความสมดุลเสมอมา เพราะฉะนั้น จึงมี การทำงานของวัฏจักรคาร์บอนโบราณ เพื่อดูดซับคาร์บอนเข้าไป ถ้ามันมีอยู่สูงเกินไป และปลดปล่อยคาร์บอนออกมา หากมันมีต่ำเกินไป
บทเรียนที่เราได้จากการทำงานของวัฏจักรคาร์บอนในยุคครีเทเชียสก็คือ สิ่งมีชีวิตในโลกต้องออกแรงเป็นเวลานับล้านๆ ปี เพื่อกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศที่อยู่ในระดับสูงเข้าขั้นอันตราย จึงจะรักษาอุณหภูมิของโลกไว้ให้จำกัดอยู่ภายในขอบเขตที่ยอมรับได้
คาร์บอนในยุคครีเทเชียสนี้ ส่วนใหญ่เป็นคาร์บอนเดียวกับที่มนุษย์ในปัจจุบันได้ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ด้วยการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อบริโภคพลังงาน แต่มนุษย์เราปล่อยคาร์บอนได้รวดเร็วกว่าที่สิ่งมีชีวิตยุคครีเทเชียสใช้เวลาทำมาตลอดบรมยุคราวๆ 1 ล้านเท่า แต่เนื่องจากสภาวะเรือนกระจกแบบยั่งยืนอย่างค่อยเป็นค่อยไปของยุคครีเทเชียสยังไม่ใกล้ ความเป็นจริงที่โลกใบนี้ในอนาคตจะต้องเจอ นั่นคือ การเกิดสภาวะโลกร้อนอย่างรวดเร็ว นักวิทยาศาสตร์จึงมุ่งศึกษา และหาสมมติฐานที่อธิบายช่วงเหตุการณ์อุณหภูมิโลกสูงสุด และมหาสมุทรขาดออกซิเจนครั้งใหญ่ที่สุด เมื่อ 183 ล้านปีก่อนในยุคจูราสสิกเป็นสำคัญ
ในช่วงนั้น ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศพุ่งขึ้นไปอีก 1,000 ppm ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นราว 6 องศา เท่ากับสถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่คาดการณ์ไว้ในแบบจำลองของ IPCC ผลกระทบเกิดขึ้นกว้างขวาง เกิดการสูญพันธุ์ขนานใหญ่ครั้งรุนแรงที่สุดตลอดยุคจูราสสิก และครีเทเชียส (กินเวลา 140 ล้านปี) สาเหตุที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากน้ำแข็งแห้งมีเทนจากชั้นใต้มหาสมุทรได้ปลดปล่อยก๊าซที่อาจมากถึง 9 ล้านล้านตันจากใต้ทะเล หรือไม่ก็มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นจำนวนมากจากภูเขาไฟเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ หรือเกิดจากทั้งสองอย่าง ทำให้เกิดอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็วได้
ผลที่เกิดขึ้นคือ ความหายนะ นี่ไม่ใช่การคาดเดาทางทฤษฎี เพราะกระบวนการคล้ายกันในระดับย่อส่วนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานเท่าไรนัก คือในปี ค.ศ. 1986 ในทะเลสาบนีโยส ประเทศแคเมอรูน ภูเขาไฟที่อยู่ใต้ทะเลสาบได้ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งตอนเย็นของวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 1986 ก๊าซก็ระเบิดขึ้น ทำให้เกิดน้ำพุของก๊าซปนกับน้ำพุ่งสูงขึ้นไปในอากาศสูง 120 เมตร ปลดปล่อยกลุ่มหมอกควันคาร์บอนไดออกไซด์มรณะที่คร่าชีวิตคนกว่า 1,700 คน ในบริเวณโดยรอบ เพราะขาดอากาศหายใจ
ลองคิดดูว่า ถ้าหากเกิดหมอกควันก๊าซมีเทนที่เกิดจากการระเบิดในมหาสมุทรมันจะทำให้อาวุธสงครามสมัยใหม่ชนิดรุนแรงที่สุดของมนุษย์กลายเป็นของกระจอกไปเลย ด้วยเหตุนี้ การระเบิดที่ค่อนข้างเล็ก โดยเปรียบเทียบของก๊าซมีเทนในมหาสมุทร จึงเป็นตัวการที่มีประสิทธิผลมากของการสูญพันธุ์ขนานใหญ่ในยุคเพอร์เมียน ถ้าหากเหตุการณ์ถ่านหินปลดปล่อยก๊าซในยุคจูราสสิกคือ การที่ฟิวส์ภูมิอากาศของโลกขาด จนทำให้อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น การสูญพันธุ์อย่างขนานใหญ่ตอนสิ้นยุคเพอร์เมียนราว 251 ล้านปีก่อน ก็เหมือนกับการที่บ้านทั้งหลังถูกเผาจนราบเป็นหน้ากลอง อันเนื่องมาจาก การระเบิดของก๊าซมีเทนในมหาสมุทร นั่นเอง
การระเบิดของก๊าซมีเทนครั้งใหญ่ จึงเหมือนกับการเกิดไฟล้างโลก เพราะมันจะปลดปล่อยพลังงานเท่ากับระเบิด TNT 108 เมกะตันมากกว่าอาวุธนิวเคลียร์สะสมของโลกประมาณหมื่นเท่า ไฟล้างโลกนี้อาจทำให้อุณหภูมิเย็นลงในระยะสั้นเหมือนฤดูหนาว นิวเคลียร์ก่อนที่จะกลับไปเร่งให้โลกร้อนต่อไป ด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ก๊าซมีเทน ส่วนก๊าซมีเทนที่ไม่ได้เผาไหม้ ก็จะยิ่งสร้างผลกระทบจากภาวะโลกร้อนให้รุนแรงยิ่งขึ้น
ก๊าซมีเทนอาจจะไม่ได้ทำหน้าที่สังหารโดยลำพัง ในปลายยุคเพอร์เมียน เพราะไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือกำมะถันปริมาณมหาศาลได้ก่อตัวขึ้นในระดับลึกของมหาสมุทร เมื่อถูกปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ มันจะทำลายสัตว์ไม่ให้เหลือรอดชีวิตได้ ไม่ว่าในสถานที่ใดๆ แม้ว่ามันอาจจะรอดมาจากการระเบิดของก๊าซมีเทนก็ตาม แน่นอนว่า กำมะถันที่หมักอยู่ในมหาสมุทร ย่อมเป็นตัวการให้เกิดการสูญพันธุ์ที่มีประสิทธิผลมากกับสิ่งมีชีวิตในน้ำ
นอกจากนี้ หมอกควันไฮโดรเจนซัลไฟด์กับก๊าซมีเทนเข้มข้นสูง ยังทำลายชั้นโอโซนเปิดช่องให้รังสีอัลตราไวโอเลตอันตรายจากดวงอาทิตย์แผ่ลงมายังพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าด้วย จึงไม่น่าประหลาดใจแต่ประการใด ที่การสูญพันธุ์เมื่อสิ้นยุคเพอร์เมียนนั้น นำโด่งทิ้งห่างจากครั้งอื่นๆ ทั้งหมด คือ มีการสูญพันธุ์ไปถึง 95% ของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆ ทั้งบนบกและบนน้ำ
วิกฤตการณ์ปิดยุคเพอร์เมียน ซึ่งเป็น มารดาแห่งภัยพิบัติทั้งปวง จึงเป็น บทเรียนที่พวกเราน่าจะได้เรียนรู้ หากโลกของเรามุ่งหน้าไปสู่การเพิ่มความร้อนอีก 6 องศา หากพิจารณาเฉพาะคาร์บอนอย่างเดียว แน่นอนว่า ปัจจุบันเรายังห่างไกลจากยุคดังกล่าวมากก็จริง แต่ทว่าความเร็วของการเปลี่ยนแปลงนั้น เหนือความคาดหมาย และผลักเราให้เข้าไปอยู่ในดินแดนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน
จริงอยู่ที่การปลดปล่อยคาร์บอนของพวกเราไม่ได้มาจากเจตนาร้าย แต่เพราะการบริโภคพลังงานมหาศาลได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตสมัยใหม่ของพวกเราไปแล้ว แต่มันมีข้อเท็จจริงที่พวกเราไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ หากพวกเราต้องการทำลายล้างสิ่งมีชีวิตบนโลกให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ไม่มีวิธีอื่นดีไปกว่า การขุดเชื้อเพลิงฟอสซิลขึ้นมาเผาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะทุกลมหายใจที่มนุษย์ทุกวันนี้สูดเข้าไปมีคาร์บอนไดออกไซด์ปนอยู่มากกว่าที่มนุษย์ยุคใดๆ ก่อนหน้านี้เคยสูดหายใจเข้าไปในประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของสายพันธุ์มนุษย์ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเช่นกัน ถ้าหากภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
บทเรียนอีกข้อหนึ่งที่มนุษย์ยุคปัจจุบันควรได้จากการสิ้นยุคเพอร์เมียนก็คือ โลกใบนี้สามารถเปลี่ยนไปเป็นปฏิปักษ์ได้อย่างรวดเร็วมาก เมื่อมันถูกกดดันหนักเกินกว่าจะรับไหว ทุกวันนี้ น้ำแข็งแห้งมีเทนจำนวนมากถูกฝังอยู่ในชั้นทวีปใต้ทะเลอีกครั้ง เฝ้ารอคอยเวลาที่จะจุดติดด้วยอุณหภูมิมหาสมุทรที่สูงขึ้นเหมือนในช่วงสิ้นยุคเพอร์เมียน ไม่มีใครบอกได้ว่า อีกนานแค่ไหนที่มันยังคงถูกเก็บกักไว้โดยปลอดภัย ขณะเดียวกัน ยังไม่มีเหตุผลใดๆ มายืนยันได้ว่า ฉากแห่งภัยพิบัติอันเกิดจากการปล่อยสารพิษไฮโดรเจนซัลไฟด์จะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นอีก
นอกจากนี้ กระแสน้ำอุ่นกัลป์สตรีมซึ่งค่อยๆ หยุดไหล อาจจะเป็นเพียงเฟืองตัวหนึ่งในเครื่องจักรที่ใหญ่โตกว่ามาก ขณะที่มหาสมุทรหยุดหมุนเวียนน้ำที่อุ่น และมีออกซิเจนน้อยกว่าจะแผ่ขยายลึกลงข้างใต้ กำจัดสิ่งมีชีวิตที่ต้องการอากาศหายใจทีละน้อย สรุปสั้นๆ ก็คือ ในโลกที่ร้อนขึ้น 6 องศา อันเป็นภาวะโลกร้อนสุดขั้วแล้วในทางวิทยาศาสตร์ อาจจะไม่ใช่วิกฤตแห่งการสูญพันธุ์ของมนุษย์ ในฐานะที่เป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์หนึ่งก็จริง แต่มันจะเป็น วิกฤตแห่งความเป็นความตาย
สำหรับมนุษย์ส่วนใหญ่ที่โชคร้ายดันมามีชีวิตอยู่ในดาวเคราะห์ที่ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว และมันจะเป็นโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญอย่างไม่ต้องสงสัย เนื่องจากทั้งๆ ที่ผลลัพธ์เช่นนั้น ยังคงเป็นสิ่งที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หากพวกเราพร้อมใจกันทั่วโลกเริ่มแก้ไขภาวะโลกร้อนตั้งแต่บัดนี้ แต่ก็ยังไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจังเกิดขึ้นในหมู่รัฐบาลของประเทศมหาอำนาจ
ขณะนี้ พวกเราแต่ละคนยังมี “อำนาจ” ที่จะแก้ไข ตอนจบของละคร “6 องศาโลกาวินาศ” อันน่าสะพรึงกลัวนี้ ไม่ให้มันจบลงด้วยโศกนาฏกรรม แม้ว่าอำนาจนี้จะเริ่มลดน้อยถอยลงทุกวันก็ตาม สิ่งที่พวกเราจะต้องพิจารณาต่อไปคือ การตรวจสอบทางเลือกของพวกเราที่มีอยู่ เพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มอุณหภูมิโลกแต่ละองศาอย่างต่อเนื่อง และทางเลือกเหล่านั้นจะต้องอยู่ในวิชันของพรรคการเมืองใหม่ของพวกเราชาวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพราะในประเทศนี้มีแต่พรรคการเมืองใหม่ของพวกเราเท่านั้นที่มีวิชันที่มุ่งแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง และอย่างมียุทธศาสตร์ระยะยาว พรรคการเมืองใหม่ของพวกเราจึงเป็นความหวังเดียวของบ้านเมืองนี้ในการแก้ไขวิกฤตอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน