23. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ)
ทำไมผมถึงเสนอให้ วิชันการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน เป็นทั้งพันธกิจ และวิชันที่สำคัญยิ่งของพวกเราชาวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และชาวพรรคการเมืองใหม่?
วิชันของพันธมิตรฯ และวิชันของพรรคการเมืองใหม่ของพวกเรา ควรจะเป็นวิชันที่ออกมาจากแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่พวกเราจะจินตนาการได้ เนื่องเพราะจิตใจของเราจะบงการชะตาชีวิตของเรา และ ความคิดเด่น หรือ ความคิดหลัก ที่ยึดครองจิตใจเราจะกำหนดโลกของเรา โดยที่เราจะต้องไม่แค่พูดย้ำมันออกมาแค่ปาก แต่เราจะต้องทำมันออกมาให้ได้ด้วย
เพื่อการนี้ เราจึงต้องพูดมันออกมาให้เหมือนกับว่า นั่นคือชีวิตของเราหรือเป็นจิตวิญญาณของเรา เพราะ เงื่อนไขแห่งวิวัฒนาการที่แท้จริงนั้น มาจากการเสพวิชันที่ใหญ่ขึ้นของมวลมหาประชาชน เพื่อให้เกิดสติปัญญาที่แก่กล้ากว่าเดิมแบบรวมหมู่ขึ้นมาได้ และจะมีก็แต่คนที่ยินยอมให้เสียงเรียกร้องภายในดังกล่าว เหนือกว่าเสียงอื่นใดๆ ทั้งหมดที่อยู่ภายนอกเท่านั้น ที่จะก้าวข้ามอุปสรรคทั้งปวงและทั้งผลงานที่ยิ่งใหญ่เอาไว้ได้
คนเราจักไม่สามารถก้าวพ้นสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ได้ ถ้าปราศจากเหตุผลใดเหตุผลหนึ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง คราใดก็ตามที่ตัวเราเข้าใจพันธกิจของเราอย่างเด่นชัด และขจัดอารมณ์ลบต่างๆ อันเป็นอุปสรรคทางจิตใจของเราออกไปได้ วิชันของเราจะแจ่มชัดยิ่งขึ้น เหตุผลของเราจะยิ่งขยายเพิ่มขึ้น เวลาและพื้นที่ที่อยู่ลึกสุดในความคิดหลักของเราจะแผ่ขยายออกไป พร้อมกับวิชันที่เพิ่มขึ้น ทำให้เราสามารถมีอำนาจเหนือ “โลก” ที่เราได้ก้าวข้ามหรือก้าวพ้นมาได้
คนที่มุ่งทำแต่การปฏิบัติเพียงอย่างเดียว จะไม่สามารถพัฒนาวิชันได้ไกลพอที่จะคิดออกไปนอกตัวได้ เราจึงต้องพยายามฝึกฝนการคิด และวิธีคิดของเราให้แหลมคมอยู่เสมอ เพื่อจะได้อยู่เหนือวิธีคิดแบบปกติที่เคยชินของตัวเอง เราแต่ละคนจึงควรเป็นปัจเจกที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง และพร้อมที่จะพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา
เราไม่จำเป็นที่ต้องเดินตามรอยเท้าของเหล่ามหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ และปราดเปรื่องในสมัยโบราณทุกย่างก้าวแบบเลียนแบบทำตามทุกอย่าง แต่เราต้องค้นหาหรือแสวงหาในสิ่งที่มหาบุรุษเหล่านั้นได้เคยทุ่มเทชีวิตจิตใจแสวงหามาแล้ว และแผ้วถางบุกเบิกชีวิต และวิถีของเราอันเป็นพันธกิจของเราขึ้นมาเอง
เพื่อการนี้ คนเราจึงต้องพยายามที่จะอยู่เหนือโลกของอำนาจ และผลประโยชน์ให้จงได้ เพราะเราจะไม่มีทางบังคับหรือควบคุมมันได้ ถ้าเราไม่อยู่เหนือมัน ผมเชื่อว่า ถ้าเราต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เราต้องมีวิชันที่ใหญ่เท่ากับครอบครัวของเราเป็นอย่างน้อย ถ้าเราต้องการเปลี่ยนแปลงครอบครัวของเรา เราต้องมีวิชันที่ใหญ่เท่ากับเมืองที่เราอยู่
ถ้าเราต้องการเปลี่ยนเมืองของเรา เราต้องมีวิชันที่ใหญ่เท่ากับรัฐบาลของเรา จึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงเมืองของเราได้
ถ้าเราต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลของเรา เราต้องมีวิชันที่ใหญ่เท่ากับประเทศของเรา จึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงรัฐบาลของเราได้
ถ้าเราต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศของเรา เราต้องมีวิชันที่ใหญ่เท่ากับโลกของเรา จึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศของเราได้
สุดท้าย ถ้าเราต้องการเปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบ เราก็ต้องมี วิชันที่ใหญ่เท่ากับเอกภพ เราจึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ของเราได้
จะเห็นได้ว่า การที่ตัวผมเสนอให้ชาวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และชาวพรรคการเมืองใหม่ มี วิชันการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็น วิชันในระดับโลก ก็เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศของเรานั่นเอง ส่วน วิชันในระดับเอกภพ เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ทั้งใบนั้น ผมจะขอยกยอดไปกล่าวถึงในภาคหลังของข้อเขียนชุดนี้ที่ว่าด้วย “อัจฉริยะแห่งจิต”
เพื่อให้วิชันในระดับโลกของพวกเราชาวพันธมิตรฯ และชาวพรรคการเมืองใหม่แจ่มชัดยิ่งขึ้น ผมเห็นว่า การศึกษาบทเรียนการล่มสลายของอารยธรรมต่างๆ ในอดีตจากหนังสือ “ล่มสลาย” (Collapse) ของ จาเร็ด ไดมอนด์ (พิมพ์เป็นภาษาไทย โดยสำนักพิมพ์ Oh My God) อย่างละเอียด มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
หนังสือ “ล่มสลาย” ของจาเร็ด ไดมอนด์ เล่มนี้ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษออกมาในปี ค.ศ. 2005 และก็กลายเป็นหนังสือขายดีติดอันดับในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะหนังสือเล่มก่อนหน้าของเขาที่ชื่อ “Guns, Germs and Steel” (แปลเป็นภาษาไทยชื่อ “ปืน, เชื้อโรค และเหล็กกล้ากับชะตากรรมของสังคมมนุษย์” สำนักพิมพ์คบไฟ, พ.ศ. 2547) ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ ในปี ค.ศ. 1998
ส่วนหนังสือ “ล่มสลาย” เล่มนี้ของเขาได้กลายเป็นหนังสือแนะนำให้อ่านประกอบหลักสูตรสาขาวิชาสิ่งแวดล้อม ในมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งในยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยที่อาจารย์นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำได้เลือก หนังสือ “ล่มสลาย” เล่มนี้ให้เป็นหนังสือ “ต้องอ่าน” สำหรับนักศึกษาเพื่อนำมาถกเถียงอภิปรายในห้องเรียน
ความน่าทึ่งของหนังสือ “ล่มสลาย” เล่มนี้อยู่ที่ความน่าทึ่งในความรอบรู้แบบสรรพวิชาหลายแขนงของตัวจาเร็ด ไดมอนด์ เอง จาเร็ด ไดมอนด์เกิดในครอบครัวชาวยิวเชื้อสายโปแลนด์ที่มาตั้งรกรากในบอสตัน สหรัฐอเมริกา บิดาของเขาเป็นหมอ มารดาของเขาเป็นครูสอนดนตรี และนักภาษาศาสตร์ ตัวเขาในวัยหนุ่มศึกษาวิชาชีววิทยา และสรีรวิทยา แต่ก็หลงใหลในเรื่องนิเวศวิทยา และวิวัฒนาการของนกในปาปัวนิวกินีด้วย จากนั้นตัวเขาได้พัฒนาความรู้ ความสนใจในประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อม จนได้เป็นศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์อีกแขนงหนึ่ง ณ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียที่มหานครลอสแองเจลิส (UCLA)
ในหนังสือ “ล่มสลาย” จาเร็ดได้ศึกษาการล่มสลายของอารยธรรมต่างๆ ในอดีต โดยวิเคราะห์ความเป็นไปจากการตั้งสมมติฐานล้อมรอบปัจจัยที่ชัดเจน 5 ประการคือ
(1) การทำลายสิ่งแวดล้อม (2) การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (3) ทางเลือกตอบสนองต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมของแต่ละสังคม (4) ศัตรูข้างบ้าน และ (5) มิตรคู่ค้า
ปัจจัย 5 ประการนี้คือ กรอบความคิดในการวิเคราะห์ของหนังสือ “ล่มสลาย” เล่มนี้ จะเห็นได้ว่า 3 ปัจจัยแรก คือ การทำลายสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และทางเลือกตอบสนองต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมของแต่ละสังคม เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่เป็น “บทเรียนร่วม” สำหรับอารยธรรมปัจจุบันของเรา เพื่อให้รอดพ้นจากการฆ่าตัวตายทางนิเวศ หรือนิเวศวินิบาตกรรม (ecocide) โดยไม่ตั้งใจ
จาเร็ดบอกว่า การนิเวศวินิบาตกรรมโดยไม่ตั้งใจของอารยธรรมที่ล่มสลายในอดีต ได้รับการยืนยันจากการค้นพบหลักฐานข้อเท็จจริงจำนวนมากในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา โดยนักโบราณคดี นักภูมิอากาศวิทยา นักประวัติศาสตร์ นักบรรพชีวินวิทยา และนักเรณูวิทยา โดยที่ กระบวนการที่สังคมในอดีตบ่อนทำลายตนเอง ด้วยการทำลายสิ่งแวดล้อม นั้น แบ่งได้เป็น 8 ประเภทด้วยกัน ดังต่อไปนี้
(1)การทำลายป่า และการทำลายถิ่นที่อยู่ของพืชและสัตว์ป่า
(2) ปัญหาเกี่ยวกับดิน (ปัญหาดินถูกกัดกร่อน ปัญหาดินเค็ม และปัญหาดินสูญเสียความอุดมสมบูรณ์)
(3) ปัญหาด้านการจัดการน้ำ
(4) ปัญหาการล่าสัตว์มากเกินไป
(5) ปัญหาการจับสัตว์น้ำมากเกินไป
(6) ปัญหาผลกระทบจากสัตว์หรือพืชต่างถิ่นที่นำเข้ามา และก่อปัญหาต่อพืชหรือสัตว์พื้นเมือง
(7) ปัญหาการเติบโตของประชากร
(8) ปัญหาผลกระทบจากประชากรที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม
จาเร็ด บอกว่า ความล่มสลายในอดีต แม้ว่าจะดำเนินไปตามวิถีทางที่หลากหลาย เพราะประกอบด้วยตัวแปรมากมายก็จริง แต่ล้วนมีใจความหลัก (theme) เหมือนกันคือ มันเป็นโศกนาฏกรรมของทรัพย์สินสาธารณะ (Tragedy of the Commons)