34. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ)
*สังคมไทยจะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จเพื่อหลีกเลี่ยงการล่มสลายในอนาคต อันเนื่องมาจากหายนภัยของโลกร้อนได้หรือไม่? (ต่อ)*
(4) ประเทศออสเตรเลีย
ในด้านนิเวศวิทยา สภาพแวดล้อมของออสเตรเลียค่อนข้างเปราะบางเป็นพิเศษ ถือได้ว่าเปราะบางยิ่งกว่าประเทศพัฒนาแล้วใดๆ เพราะออสเตรเลียกำลังประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงในเรื่องการเลี้ยงสัตว์กินหญ้ามากเกินไป ดินเค็ม ดึนสึกกร่อน การนำพืชและสัตว์ต่างถิ่นเข้ามาในพื้นที่ การขาดแคลนน้ำ และภัยแล้งที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ แม้ว่าออสเตรเลียยังไม่แสดงให้เห็น สัญญาณของการล่มสลาย อย่างที่เราได้เห็นในกรณีของรวันดา และเฮติที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่ ออสเตรเลียกำลังลิ้มรสปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ล่วงหน้า
นอกจากนี้ เราไม่อาจพิจารณาได้ว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของออสเตรเลียเป็นผลผลิตที่เกิดจากการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ผิดพลาดซึ่งกระทำโดยประชาชนที่ยากจนและสิ้นหวัง ไร้การศึกษา รวมทั้งรัฐบาลและบริษัทธุรกิจที่ฉ้อฉล ดังเช่นที่มักใช้อธิบายปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศอื่นๆ โดยทั่วไป เพราะออสเตรเลียยังมีประชากรที่มีการศึกษา และมาตรฐานการดำรงชีพสูง รวมทั้งมีสถาบันทางเศรษฐกิจ-การเมืองที่ซื่อสัตย์ โดยเปรียบเทียบเมื่อวัดจากมาตรฐานโลก
ด้วยเหตุนี้ จาเร็ด ไดมอนด์ ผู้เขียนหนังสือ “ล่มสลาย” จึงเห็นว่า กรณีของออสเตรเลียน่าสนใจเพื่อใช้เปรียบเทียบกับกรณีของรวันดา และเฮติที่มีสัญญาณของการล่มสลายชัดเจน รวมทั้งใช้เปรียบเทียบกับกรณีของจีนที่มีสัญญาณอันตรายที่น่าเป็นห่วงอย่างชัดเจนยิ่ง
ปัญหาสิ่งแวดล้อมในออสเตรเลีย นอกจากสภาพความขาดแคลนน้ำ และท้องทะเลทรายแล้ว คือ ปัญหาดิน เพราะออสเตรเลียเป็นทวีปซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลผลิตการเกษตรมากที่สุด เพราะมีระดับธาตุอาหารในดินโดยเฉลี่ยต่ำที่สุด พืชก็มีอัตราการเจริญเติบโตต่ำที่สุด และมีประสิทธิภาพในการผลิตต่ำที่สุด ทั้งหมดนี้เนื่องมาจากดินของทวีปออสเตรเลียส่วนใหญ่มีอายุเก่าแก่มาก ดินถูกฝนชะล้างธาตุอาหารเป็นเวลานานหลายพันล้านปี แต่กลับไม่ได้ธาตุอาหารใหม่ๆ ทั้งจากการระเบิดของภูเขาไฟ หรือจากธารน้ำแข็งที่เคลื่อนตัวและหดตัว หรือจากการยกตัวของเปลือกโลกเหมือนในทวีปอื่นๆ
นอกจาก ปัญหาความไม่สมบูรณ์ของดิน แล้ว ปัญหาใหญ่เกี่ยวกับดินในออสเตรเลียอีกประการหนึ่ง คือ ปัญหาดินเค็ม หรือการมีปริมาณเกลือในดินสูงกว่าปกติในพื้นที่หลายแห่งที่เกิดจากการสั่งสมของเกลือที่ถูกลมพัดพาไอเกลือจากบริเวณมหาสมุทรอินเดียเข้ามาทางตอนในทวีปเป็นเวลานานหลายล้านปี กับเกิดจากพื้นที่ที่มีสภาพเป็นแอ่งถูกน้ำทะเลหนุนท่วมแล้วก็ลดแห้งลงครั้งแล้วครั้งเล่า โดยทิ้งเกลือจำนวนมากตกค้างอยู่ในดิน จากนั้นเมื่อมีการแผ้วถางที่ดิน และทำการเกษตรแบบชลประทาน เกลือจึงขึ้นมาอยู่บริเวณผิวดินได้ง่าย ส่งผลให้ผิวหน้าดินเต็มไปด้วยเกลือ จนกระทั่งพืชผลใดๆ ไม่อาจเติบโตได้
ปัญหาน้ำ ในออสเตรเลีย นอกจากจะมีปัญหาเรื่องปริมาณฝนโดยเฉลี่ยที่ค่อนข้างต่ำแล้ว ยังมี ปัญหาเรื่องความไม่แน่นอน และไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าว่าฝนจะตกลงเมื่อใด อันเป็น ปรากฏการณ์เอนโซ (Enso) ซึ่งหมายถึง ปรากฏการณ์ที่ฝนตกไม่แน่นอนในแต่ละปีในทศวรรษเดียวกัน และยิ่งไม่แน่นอนมากขึ้นระหว่างทศวรรษต่อทศวรรษ
การที่ฝนในออสเตรเลียไม่ตกต้องตามฤดูกาล และตกไม่ต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี จึงส่งผลให้การเกษตรของออสเตรเลียมีค่าใช้จ่ายสูง และไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจในระยะสั้น อีกทั้งยังก่อให้เกิดสภาพดินสึกกร่อนในระยะยาวอีกด้วย จึงเห็นได้ว่า ออสเตรเลียเป็นทวีปที่มีสภาพแวดล้อมเปราะบางเป็นอย่างยิ่ง เมื่อผนวกกับทัศนคติทางวัฒนธรรมของชาวออสเตรเลียจำนวนมาก รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลเอง จึงมีส่วนทำให้เกิดความเสียหายทั้งในอดีตและต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
แต่โชคยังดีที่มี สัญญาณแห่งความหวัง อยู่หลายประการเกิดขึ้นกับประเทศนี้ ได้แก่
(1) การเปลี่ยนทัศนคติและการเริ่มคิดทบทวนใหม่ของเกษตรกรชาวออสเตรเลีย ที่เริ่มตระหนักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่า วิธีการเกษตรในอดีตไม่อาจและไม่เอื้อให้พวกเขารักษาสภาพไร่นาของตนให้ส่งทอดสืบต่อไปยังคนรุ่นหลังอย่างยั่งยืนได้
(2) ความคิดริเริ่มในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากภาคเอกชนจำนวนมากในออสเตรเลีย ที่มุ่งมั่นต้องการปรับปรุงพื้นที่การเกษตรที่เสื่อมโทรมให้ฟื้นคืนสู่สภาพเดิม กับมุ่งพัฒนารูปธรรมของการใช้ที่ดินซึ่งจะช่วยให้สภาพแวดล้อมอยู่ได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
(3) การริเริ่มแนวคิดใหม่ๆ ด้านการเกษตรอย่างชนิดถอนรากถอนโคนจากรัฐบาล เพื่อตอบสนองต่อความตื่นตัว และตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในออสเตรเลียมากขึ้น
จากกรณีของสังคมสมัยใหม่ 4 แห่ง ในหนังสือ “ล่มสลาย” ของจาเร็ด ไดมอนด์ ที่ผมได้ยกมาเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบในการพิจารณาปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย เพื่อตอบโจทย์ที่ตัวผมได้ตั้งขึ้นมาว่า สังคมไทยจะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จเพื่อหลีกเลี่ยงการล่มสลายในอนาคตอันเนื่องมาจากหายนภัยของโลกร้อนได้หรือไม่? ผมคิดว่า สถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทยในปัจจุบัน แม้จะยังไม่มี สัญญาณของการล่มสลาย อย่างชัดเจนแบบที่เกิดขึ้นกับกรณีของรวันดาและเฮติ แต่มันมี สัญญาณอันตรายที่เริ่มน่าเป็นห่วงอย่างชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ คล้ายๆ กับที่กำลังเกิดขึ้นกับกรณีของงประเทศจีนมากกว่า
เพราะในด้านนิเวศวิทยา สภาพแวดล้อมของไทยไม่ได้เปราะบางเหมือนอย่างในกรณีของประเทศออสเตรเลียที่เพิ่งกล่าวมา ประเทศไทยของเราโชคดีมากเหลือเกินที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่าอีกหลายๆ ประเทศจำนวนมากบนโลกใบนี้ แต่ประเทศไทยกลับระดมใช้ทรัพยากรอันมีค่าของตนอย่างทิ้งๆ ขว้างๆ อย่างไม่บันยะบันยัง จนน่าเป็นห่วงว่า หากเกิดหายนภัยอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนขึ้นอีก 2-4 องศาเซลเซียส ในอีก 30-40 ปีข้างหน้า ตามงานวิจัยล่าสุดของทีมนักวิจัยอังกฤษที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษ สังคมไทยของเราจะตัดสินใจผิดพลาดหรือประสบความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะคนไทยส่วนใหญ่ตกอยู่ในกับดักแห่งโศกนาฏกรรมของทรัพย์สินสาธารณะ (tragedy of the commons) หรือไม่?
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ลูกหลานของเราในอีก 50 ปีหรือ 100 ปีข้างหน้า จะสงสัยในความมืดบอด และความโง่เขลาของพวกเราชาวไทยในยุคปัจจุบัน เช่นเดียวกับที่พวกเราได้ส่ายหัวในความมืดบอด และความโง่เขลาของชาวเกาะอีสเตอร์หรือชาวมายาในอดีต รวมทั้งชาวรวันดาหรือชาวเฮติในยุคสมัยใหม่ ดังที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ “ล่มสลาย” ของจาเร็ด ไดมอนด์ ที่ผมได้นำมาถ่ายทอดอีกทีหรือไม่?
เพราะมันเป็นไปได้อย่างไร ในโลกใบนี้ที่สังคมแห่งหนึ่ง ทั้งในอดีตและในปัจจุบันได้ตัดสินใจกระทำสิ่งที่เห็นได้ชัดว่าเป็นความหายนะรออยู่ตรงหน้า โดยเห็นได้อย่างชัดเจนว่าฐานทรัพยากรของสังคมของพวกตนกำลังเสื่อมโทรมลงทุกขณะ แต่สมาชิกหรือผู้บริหารในสังคม ก็ยังปล่อยให้ตัวเองล่มสลายลงไปพร้อมๆ กับความล้มเหลวในการจัดการทรัพยากรของตนเอง อันเป็นความล้มเหลวที่สังคมจำนวนไม่น้อยตั้งแต่ในอดีตจนถึงยุคปัจจุบัน ก็ยังคงกระทำความผิดพลาดที่เลวร้ายแบบนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
สิ่งนี้เป็น ความล้มเหลวจากการตัดสินใจของกลุ่มซึ่งเกิดขึ้นโดยสังคมนั้นๆ เอง และวิชาเศรษฐศาสตร์เรียกมันว่า “โศกนาฏกรรมของทรัพย์สินสาธารณะ” ซึ่งเกี่ยวพันกับความขัดแย้งที่ชื่อว่า “ภาวะหนีเสือปะจระข้ของนักโทษ” (the prisoner’s dilemma) อันโด่งดังใน ทฤษฎีเกม (game theory) และ ตรรกะของการกระทำรวมหมู่ (the logic of collective action)
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ สถานการณ์ที่ผู้บริโภคจำนวนมากเก็บเกี่ยวทรัพยากรที่ชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกัน เช่น ชาวประมงจับปลาในมหาสมุทร กล่าวคือ ถ้าทุกคนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมากเกินไป ทรัพยากรนั้นๆ ก็จะลดลง หรือกระทั่งหมดสิ้นไปจากการจับปลามากเกินไปนั่นเอง และผู้บริโภคต่างก็เดือดร้อนจากการกระทำนั้นๆ ดังนั้น จึงถือเป็นประโยชน์ร่วมกันของผู้บริโภคทุกคนที่จะรู้จักยับยั้งควบคุมตนเอง และไม่ใช้ทรัพยากรมากเกินไป แต่ตราบเท่าที่ยังไม่มีกฎเกณฑ์ใดมาควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพว่า ผู้บริโภคแต่ละคนสามารถใช้ทรัพยากรได้มากแค่ไหน ผู้บริโภคแต่ละคนก็จะมี “ข้ออ้างที่ฟังขึ้น” เมื่ออ้างว่า “ถ้าฉันไม่จับปลา เดี๋ยวชาวประมงคนอื่นๆ ก็จะจับปลาอยู่ดี จึงไม่มีเหตุผลที่จะกำหนดให้ฉันต้องงดเว้นไม่จับปลามากเกินไป”
เมื่อเป็นเช่นนี้ พฤติกรรมที่สมเหตุสมผล เมื่อเอาผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้งของผู้บริโภคแต่ละคนคือ จะต้องเร่งรีบเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ก่อนที่จะถูกคนอื่นชิงตัดหน้าเอาไป แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะนำไปสู่การทำลายทรัพยากรร่วมกันของทั้งชุมชน ซึ่งในที่สุดจะก่อความเสียหายร้ายแรงแก่ผู้บริโภคทุกคนในระยะยาว คือ ปลาหมดทะเลก็ตาม ตรรกะอัน “สมเหตุสมผล” แต่เห็นแก่ตัว สายตาสั้น และโง่เขลาเช่นนี้เองที่ก่อให้เกิด โศกนาฏกรรมของทรัพย์สินสาธารณะ และส่งผลให้ทรัพยากรที่ชาวโลกเป็นเจ้าของร่วมกันถูกใช้ประโยชน์มากเกินไป และถูกทำลายไปแล้วมากมาย
เพราะฉะนั้น ผมจึงเห็นว่า เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจ “บริบท” ของปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับโลก ตามมุมมองของจาเร็ด ไดมอนด์ ผู้เขียนหนังสือ “ล่มสลาย” เสียก่อน จากนั้นจึงค่อยมา พิจารณาปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยที่โยงกับหายนะภัยจากภาวะโลกร้อน เพื่อนำเสนอเป็นนโยบายและวิชันให้แก่พรรคการเมืองใหม่ของพวกเรา เพื่อใช้ชี้นำและบริหารประเทศในอนาคตอันใกล้ได้ถูกทาง